ฉบับที่ 127 เวทีนี้ไม่มีแพ้คัดออก

  เมื่อวันก่อน ขณะที่ผมกำลังเผชิญชะตากรรมรถติดเป็นแพอยู่บนท้องถนนของกรุงเทพมหานครอยู่นั้น ผมได้เหลือบไปเห็นป้ายสติ๊กเกอร์ท้ายรถแท็กซี่คันหนึ่ง เขียนข้อความว่า “ไม่ต้องเร่ง...กูก็รีบ”  ผมอ่านสติ๊กเกอร์แผ่นนั้นไป ก็ขำไป ทำไมมนุษย์เราช่างมีอารมณ์ขันจนสร้างสรรค์ข้อความเสียดสีล้อเลียนบรรยากาศที่เกิดทุกช่วงเช้าและเย็นในเมืองหลวงของเรากันได้ขนาดนี้???  แต่ในขณะเดียวกัน แผ่นสติ๊กเกอร์ก็สะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งด้วยว่า สังคมไทยทุกวันนี้ น่าจะทำให้มนุษย์เราอยู่ในวังวนของ “การแข่งขัน” ที่จะเอาชนะกันอย่างสูง แข่งขันกันในภาระหน้าที่การงาน แข่งกันกินแข่งกันอยู่ แข่งกันดังแข่งกันเด่น แข่งกันในทุกที่ทุกเวลา ไม่วายเว้นแม้แต่จะแข่งขันเร่งรีบกันอยู่บนท้องถนนขนาดนี้  แต่อย่างไรก็ดี คำว่า “แข่งขัน” ที่แปลว่า ต่อสู้ช่วงชิงชัยเพื่อเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่ง และเพื่อจะไม่เราต้องกลายเป็น “the weakest link” ที่จะถูก “กำจัดจุดอ่อน” ออกไปเช่นนี้ ดูเหมือนจะไม่ใช่นิยามเดียวที่ผูกขาดความหมายของคำว่า “การแข่งขัน” เสมอไปนะครับ ในระบบวิธีคิดของคนไทย เรายังมีชุดความหมายอื่นๆ ของคำว่า “แข่งขัน” ได้อีกเช่นกัน ในโฆษณาน้ำอัดลมอัดกระป๋องยี่ห้อหนึ่ง ได้ผูกเล่าเรื่องราวการแข่งขันประชันเสียงดนตรีร็อคของคนสองกลุ่มเอาไว้ กลุ่มแรกเป็นคณะนักดนตรีร็อคชื่อก้องอย่างวงบอดี้สแลม ที่นำโดยพี่ตูนและคณะ กับอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ กลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ที่นำโดยดาราหนุ่มสุดหล่ออย่างน้องเก้าจิรายุและผองเพื่อน  เปิดฉากมา พี่ตูนและคณะนักดนตรีบอดี้สแลมเดินทางมาที่เขาชนไก่ พร้อมอาวุธเครื่องดนตรีครบมือ และระหว่างทางนั้น ทั้ง 4 ชีวิตก็มาพานพบเจอกับกลุ่มศิลปินรุ่นน้องอีก 4 คนที่ดักรออยู่  จากนั้น เสียงดนตรีร็อคก็ดังกระหึ่มขึ้น เมื่อศิลปินทั้งสองกลุ่มต่างประชันกันด้วยอาวุธในมืออย่างเป็นพัลวัน ไม่ว่าจะเป็นการดีดกีต้าร์ไฟฟ้า การรัวไม้กลองห้ำหั่น หรือการกระหน่ำยิงเสียงดนตรีใส่กัน ประหนึ่งการโคจรมาเจอกันในสนามเล่นบีบีกันยังไงยังงั้น  ต่างฝ่ายต่างวิ่งหลบเข้าหลังบังเกอร์บ้าง หลบหลังกำแพงอิฐบ้าง ในหลืบตึกบ้าง หรือหลบอยู่หลังหอคอยกระโดดสูงบ้าง พร้อมๆ กับที่ทุกชีวิตต่างก็สาดกระสุนตัวโน้ตดนตรีร็อคกระจายไปทั่วสนามฝึกที่เขาชนไก่ หลังจากที่พี่ตูนและน้องเก้าหลบออกมาจากหลังบังเกอร์กำแพงแล้ว ต่างก็รัวกีตาร์ไฟฟ้าสาดห่ากระสุนตัวโน้ตเข้าใส่กัน ศิลปินรุ่นพี่ใช้ไหวพริบหลอกล่อรุ่นน้องวิ่งตามไปจนติดกับบ่วงเชือกที่กระตุกขาของเขาขึ้นไปห้อยติดอยู่บนต้นไม้ ก่อนที่พี่ตูนจะยกนิ้วเป็นสัญญาณว่า “เป็นต่อ” อยู่ในขณะนั้น   ภาพตัดมาที่พี่ตูนและศิลปินบอดี้สแลมทั้งวงวิ่งตรงมายังเวทีคอนเสิร์ตกลางแจ้ง พี่ตูนกระโดดขึ้นไปบนเวทีและเตรียมเริ่มต้นการแสดงของพวกเขา แต่ปรากฏว่าสี่เท้ายังรู้พลาด นักดนตรีร็อคยังรู้พลั้ง พี่ตูนของมิตรรักแฟนเพลงกลับเผลอลืมหยิบปิ๊กเล่นกีตาร์ไฟฟ้าขึ้นมาเวทีเสียนี่  น้องเก้าจิรายุที่คราวนี้มายืนเชียร์อยู่ด้านล่างเวที ก็เลยเปิดฝากระป๋องน้ำอัดลม แล้วโยนฝาขึ้นไปบนเวที ให้พี่ตูนได้ใช้แทนปิ๊กเล่นกีตาร์ ก่อนโฆษณาจะจบลงด้วยภาพศิลปินทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้องโดดขึ้นไปร่วมแจมดนตรีกันบนเวทีอย่างมีความสุข  ในขณะที่คนเราทุกวันนี้อาจจะรับรู้ว่า “การแข่งขัน” ก็คือ การพยายามเอาชนะหรือห้ำหั่นกันให้ตายไปข้างหนึ่ง แต่ทว่า ความหมายอีกชุดหนึ่งของ “การแข่งขัน” แบบในโฆษณา ก็อาจจะแปลความได้ด้วยว่า เป็นการประชันฝีมือ ลับเหลี่ยมลับคมอย่างมีมิตรภาพ  บนเวทีของระบบการผลิตแบบทุนนิยมสมัยใหม่นั้น พยายามทำให้คนจำนวนมากเชื่อว่า วิธีคิดเรื่อง “การแข่งขัน” นั้นมีอยู่เพียงความหมายเดียว นั่นคือ ในสนามแข่งขันนั้น “ม้าตัวสุดท้าย” ต้องถูกคัดออกเสมอ เพราะฉะนั้น หากใครก็ตามคิดจะมาลงแข่งขันกันในสนามของระบบนี้แล้วล่ะก็ ต้องพยายามถีบตัวเองให้เป็นเบอร์หนึ่งที่เข้าวิน และต้องทำทุกวิถีทางแม้จะต้องห้ำหั่นทำลายกันเพื่อไม่ให้ตนตกเป็น “ม้าตัวสุดท้าย” ที่จะวิ่งเข้าสู่เส้นชัยในการแข่งขัน  แต่ทว่า ในอีกแง่หนึ่ง หากเราย้อนกลับยังวิถีการผลิตของสังคมในยุคก่อนทุนนิยมแล้วนั้น คำว่า “การแข่งขัน” อาจมิได้เป็นไปเพื่อการประหัตประหารกันและกันให้ม้วยสิ้นไปข้างหนึ่ง ตรงกันข้าม การแข่งขันถือเป็นกิจกรรมทางสังคม เพื่อลับเหลี่ยมลับคมลับฝีมือกันมากกว่าจะทำลายกัน  ตัวอย่างศิลปินในสมัยก่อนนั้น กว่าที่จะมีชื่อเสียงขจรขจายขึ้นมาได้ พวกเขาไม่ใช่แค่จะร่ำเรียนฝึกฝนความรู้อยู่กับตัวเองเท่านั้น แต่พวกเขามักจะชอบออกตระเวนท่องยุทธภพไปแสวงหาความรู้และฝึกฝนประชันกับศิลปินที่มีความสามารถสมน้ำสมเนื้อหรือพอเหมาะพอฝีมือกัน   ด้านหนึ่ง การออกไปตระเวนร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำของบรรดาศิลปินโบราณ ก็เพื่อสานมิตรสร้างเครือข่ายของศิลปินด้วยกัน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็คงเป็นเพราะว่า การได้ประชันฝึกฝีมือกับศิลปินคนอื่น ๆ ก็เหมือนกับการเอามีดไปฝนลับกับหิน ยิ่งลับก็จะยิ่งคมมากขึ้นเรื่อยๆ  ก็เหมือนกับศิลปินร่วมสมัยรุ่นพี่รุ่นน้องที่อยู่ในโฆษณานั่นแหละครับ ที่นานๆ ครั้งก็ต้องมีจังหวะท้าดวลท้าประลองดนตรีร็อคกันให้สนั่นภูเขา ทั้งนี้ก็เพราะฝีมือกีตาร์ไฟฟ้ากับการรัวไม้กลองดนตรีนั้น จะ “คม” ขึ้นไม่ได้เลย หากขาดการ “ลับ” ฝีมืออยู่เป็นเนืองๆ  ไหวพริบ ลีลา และตัวโน้ตที่บรรเลง จึงต้องมาจากการฝึกฝนกันอยู่ในสนามประลอง ผลัดกันรุกผลัดกันรับ หรือแม้แต่การพลาดท่าติดบ่วงเชือกไปห้อยอยู่บนต้นไม้ ก็เป็นบทเรียนที่ดีของศิลปินรุ่นน้องที่จะใช้ความผิดพลาดเป็นครูที่ดี ก่อนจะขึ้นเวทีเติบใหญ่เป็นศิลปินที่เข้มแข็งในอนาคต  และที่สำคัญ หลังจากสาดกระสุนตัวโน้ตกันจนเขาชนไก่แทบแตกแล้ว เกมจบก็คือการแข่งขันก็ต้องจบลงเช่นกัน เพราะเป้าหมายของการประชันในเกมนี้ก็คือ การสร้างสายสัมพันธ์และมิตรภาพ มิใช่การพยายามทำลายล้างกันและกันจนราบกันไปทุกๆ ฝ่าย “ไม่คิดจะลงแข่ง แย่งความเป็นหนึ่ง ไม่ดึงดันกับใคร...” แบบที่โฆษณาน้ำอัดลมก็บอกเราด้วยว่า หากทุกวันนี้ เราลองย้อนกลับไปหาความหมายเก่าๆ ความหมายดีๆ ของ “การแข่งขัน” แบบที่เคยมีมาในอดีตบ้าง ต่อไปสติ๊กเกอร์ท้ายรถแท็กซี่ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นเขียนข้อความใหม่ว่า “คุณไม่เร่ง...ผมก็เลยไม่รีบ” เพราะเวทีนี้เขาไม่มีการแพ้คัดออกกันอีกแล้ว  

อ่านเพิ่มเติม >