ฉบับที่ 174 เลือดมังกร เสือ สิงห์ กระทิง แรด หงส์ : “Looking East” ไปสู่จีนาภิวัตน์

กว่าครึ่งศตวรรษผ่านไป นับแต่มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 พ.ศ. 2504 (ปีเดียวกับที่ผู้ใหญ่ลีเคยตีกลองประชุม) สังคมไทยได้ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากที่เคย “looking west” หรือปลาบปลื้มกับอารยธรรมความทันสมัยตามรีตตามรอยชาติตะวันตก หันมา “looking east” หรือมองอะไรใกล้ๆ ภายใต้ยุคสมัยที่ความเป็นตะวันตกถูกมองว่า อาจเป็นแค่ “ทันสมัย” แต่ “ไม่พัฒนา” จริงๆ     และคำตอบในการ “looking east” ของคนไทย ก็คือ การเปลี่ยนจากการชื่นชมลัทธิตลาดเสรีและจักรวรรดินิยมแบบตะวันตก มาสู่การเติบโตของทุนไทยที่หันไปจูบปากประสานมือกับทุนจีนกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันในยุคนี้ หรือที่บางคนอาจเรียกว่าเป็นการก่อร่างของกระแส “จีนาภิวัตน์” กันอย่างเข้มข้น    ความปรองดองกับกระแสจีนาภิวัตน์ เห็นได้จากประจักษ์พยานที่ทุนจีนขยายตัวเข้ามาในแทบจะทุกอณูของสังคมไทย ตั้งแต่กิจกรรมเศรษฐกิจการเมืองที่ไทยต้องอิงไปกับการขยับตัวของทุนจีน ภาคธุรกิจใหญ่น้อยที่มีทุนจีนสนับสนุนอยู่ด้านหลัง ประเพณีพิธีกรรมแบบจีนที่เข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตผู้คน หรือแม้แต่รายการสอนภาษาทางโทรทัศน์ ที่สอนแค่ภาษาอังกฤษอย่างเดียวไม่ได้อีกแล้ว ต้องฝึกพูดและ “ดูปาก” การออกสำเนียงภาษาจีนของน้องพรีเซ็นเตอร์ไปด้วย    ริ้วรอยการเติบโตของกระแสจีนาภิวัตน์แบบนี้ ก็ได้รับการขานรับเข้าสู่โลกของละครโทรทัศน์ด้วยเช่นกัน และอาจถือเป็นครั้งแรกที่หน้าประวัติศาสตร์ละครไทย มีการผลิตซีรีส์เนื้อหาของกลุ่มทุนจีนเป็นตัวละครเอกแบบยาว 5 เรื่อง 5 รส กันเลยทีเดียว    ซีรีส์ละครชุด “เลือดมังกร” 5 ตอน คือ เสือ สิงห์ กระทิง แรด และหงส์ นั้น ผูกโครงเรื่องขึ้นจากชีวิตของเพื่อนรัก 5 คน ที่มีเชื้อสายจีนหรือเติบโตมาในขนบประเพณีแบบจีนในช่วงยุคปี 2500 หรือช่วงของการเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับแรกนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ ตัวละครหลักทั้ง 5 ไม่ว่าจะเป็น “ภรพ” จากแก๊งเสือ “ทรงกลด” แห่งแก๊งเขี้ยวสิงห์ “ธาม” จากแก๊งกระทิง “คณิน” จากแก๊งเหยี่ยวแดง และ “หงส์” จากแก๊งหงส์ดำ ก็คือตัวแทนของกลุ่มทุนจีนรุ่นใหม่ ที่เติบโตและมีบทบาททางเศรษฐกิจของไทยมาจนถึงปัจจุบัน    เมื่อเทียบกับการเข้ามาของกลุ่มชาวจีนรุ่นแรกหรือจีนโพ้นทะเล ที่เริ่มต้นด้วยทุนติดตัวอันน้อยนิดเพียงแค่ “เสื่อผืนหมอนใบ” พอสังคมไทยเข้าสู่ยุคการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย คนจีนในเจนเนอเรชั่นถัดๆ มา ได้มีการสั่งสมทุนเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นผ่านกิจการและธุรกิจภาคต่างๆ     ในแง่นี้ ละครก็ได้ชี้ให้เห็นว่า รากฐานหลักที่เป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญของชาว “เลือดมังกร” กลุ่มนี้ ก็อยู่ที่การเข้าไปจับจองธุรกิจใหญ่หลายประเภทในระบบเศรษฐกิจไทย นับตั้งแต่การถือครองสัมปทานธุรกิจรังนก การเป็นเจ้าของธุรกิจเซียงกงหรืออุตสาหกรรมยานยนต์ การยึดครองธุรกิจการค้าขายทองคำแท่ง การผูกขาดธุรกิจค้าข้าวและโรงสีข้าว และการเป็นเจ้าของกิจการโรงงิ้วและศาลเจ้าที่เยาวราช    ภายใต้การถือครองทุนและตัวอย่างกิจการใหญ่ๆ ในมือของกลุ่มชาวจีนเช่นนี้ ละครได้เซาะให้เห็นเบื้องหลังว่า อำนาจของกลุ่มทุนจีนอาจไม่ได้ดำเนินไปตามสัมมาอาชีวะเสมอไป เพราะบ่อยครั้งอำนาจดังกล่าวก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของมิจฉาทิฐิ เช่น การใช้ความรุนแรง การขูดรีดเพื่อช่วงชิงผลประโยชน์บนความขัดแย้งระหว่างกัน     จากคนรุ่นบุพการีของตัวละครทั้ง 5 ที่มารวมตัวกันเป็น “สมาคมเลือดมังกร” ด้านหนึ่งก็คือการผนวกผสานทุนและผลประโยชน์เอาไว้ในมือของกลุ่มตน แต่อีกด้านหนึ่ง ก็สะท้อนการได้มาซึ่งผลประโยชน์ที่มีการใช้อาวุธและความรุนแรงประหัตประหารไม่ต่างจากมาเฟียหรืออั้งยี่แต่อย่างใด    แต่เมื่อมาถึงคนรุ่นลูก ละครเองก็กำลังบอกเราว่า ลึกๆ แล้วคนรุ่นหลังก็ไม่ได้เห็นพ้องกับการสั่งสมทุนที่เกิดจากวิถีการขูดรีดบนกองเลือดเท่าใดนัก ตัวละครอย่างภรพ ทรงกลด หรือคณิน ที่ขัดแย้งกับบิดาเพราะไม่อยากสืบต่อธุรกิจของสายตระกูล หรือตัวละครอย่างธามและหงส์ที่มีบาดแผลอันเนื่องมาแต่สถาบันครอบครัว สะท้อนให้เห็นแรงบีบคั้นของกลุ่มทุนจีนรุ่นใหม่ว่า เป็นภาวะจำยอมเข้าสู่อำนาจ มากกว่าจะมาจากความปรารถนาจริงๆ ของปัจเจกบุคคลเหล่านั้น    ในฟากหนึ่ง ละครก็มีมุมเล็กๆ เรื่องปมความรักของตัวละครอย่างภรพกับ “วันวิสา” ทรงกลดกับ “อาจู” ธามกับ “ย่าหยา” คณินกับ “แพน” และหงส์กับ “อาหลง” ซึ่งนั่นก็เป็น “จุดขาย” ของละครที่ต้องใช้โรมานซ์เป็นกลไกของการดำเนินเรื่องให้มีปมขัดแย้งและดึงดูดความสนใจของผู้ชม    แต่ในอีกฟากหนึ่ง การที่ตัวละครต้องเข้าไปอยู่ในสนามการแข่งขันเพื่อสร้างความจำเริญเติบโตของทุนจีนรุ่นใหม่ ก็ยังมีด้านที่ใช้ความรุนแรงและอาวุธประหัตประหารไม่ต่างจากหัวหน้าแก๊งในรุ่นพ่อ แต่ทว่า “เลือดมังกร” รุ่นหลังก็พยายามสร้างความชอบธรรมขึ้นมาใหม่ว่า ไม่เพียงแต่พวกเขาและเธอจะไม่มีทางเลือกอื่นที่จะหลุดพ้นไปจากอำนาจ แต่การขึ้นสู่อำนาจของคนกลุ่มนี้ก็พยายามสถาปนาโฉมหน้าใหม่จากระบอบทุนนิยมเดิมไปสู่ระบอบทุนนิยมแบบ CSR    ถึงแม้จะก่อรูปอำนาจของทุนขึ้นมาจากการใช้อาวุธ ใช้ความรุนแรง หรือใช้การขูดรีดอันเป็นพื้นฐานของระบอบทุนไม่ว่าจะที่ใดก็ตาม แต่กลุ่มสหายทั้ง 5 คนกลุ่มนี้ก็คือ ทุน “เลือดมังกร” ที่ใช้อำนาจดังกล่าวเพื่อผดุงคุณธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีพื้นฐานเพื่อตอบแทนคุณแผ่นดินที่ให้ข้าวให้น้ำกับบรรพชนของคนเหล่านี้ตั้งแต่ยุค “เสื่อผืนหมอนใบ”    ขณะเดียวกัน การตัดสินใจขึ้นสู่อำนาจของพวกเขาก็ถูกประเมินว่า น่าจะดีเสียกว่าที่จะปล่อยให้มาเฟียในกลุ่มก๊วนและแก๊งอื่นๆ ขึ้นมามีอำนาจแทน เพราะไม่ว่าจะเป็นตัวละครอย่าง “เถ้าแก่เฮ้ง” “เสี่ยเคี้ยง” “เสี่ยเล้ง” “เสี่ยบุ๊ง” และสหพรรคพวกลิ่วล้อและตัวร้ายอีกมากมาย ก็คือตัวแทนอีกปีกหนึ่งของทุนจีนที่ขาดซึ่งคุณธรรมใดๆ     ภายใต้วิถีการเติบโตของทุนจีนในกระแสจีนาภิวัตน์เยี่ยงนี้ ละคร “เลือดมังกร” ก็คือภาพสัญลักษณ์ที่ไม่เพียงฉายให้เราเห็นการสั่งสมอำนาจของคนกลุ่มนี้ แต่ละครก็ยังมีนัยอีกด้านหนึ่งว่า ถึงแม้กลุ่มทุน “เลือดมังกร” รุ่นใหม่จะดำเนินชีวิตไปด้วยอำนาจเศรษฐกิจที่สั่งสมอยู่ในมือ แต่นั่นก็เป็นอำนาจที่ “ฟอกขาว” ไว้ด้วยสำนึกแห่งความรับผิดชอบและคุณธรรมแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในระบอบเศรษฐกิจยุคใดสมัยใด                                 

อ่านเพิ่มเติม >