ฉบับที่ 274 ข้อสัญญาที่กำหนดว่า “ไม่คืนเงินมัดจำทุกกรณี” ใช้บังคับได้หรือไม่ (ตอนที่ 2)

        จากความเดิมในฉบับที่แล้ว ผู้ประกอบธุรกิจบางรายมักจะเขียนเงื่อนไขในสัญญาว่า ไม่คืนเงินมัดจำทุกกรณี สามารถกระทำได้หรือไม่ เรื่องนี้มีตัวอย่างปัญหาผู้บริโภคขึ้นสู่ศาล และศาลฏีกามีการวินิจฉัยเกี่ยวกับการกำหนดลักษณะข้อสัญญาดังกล่าว โดยถือว่าเป็นการใช้ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ให้ใช้บังคับได้เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น  ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 8424/2563         ...ดูก่อนหน้าจากฉบับ 273         อย่างไรก็ตามหากการซื้อขายระหว่างจำเลยกับนาย  ศ. ไม่เกิดขึ้นเพราะเหตุอันเกิดแต่การกระทำของนาย ศ.  และจำเลยไม่อาจริบเงินได้  เท่ากับจำเลยต้องรับผิดคืนเงินแก่นาย  ศ. แม้เป็นกรณีที่นาย  ศ. ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งเป็นการต้องรับภาระที่หนักกว่าของจำเลยเมื่อเปรียบเทียบกับของนาย  ศ.  ดังนี้  ข้อตกลงไม่คืนเงินจองกรณีสั่งซื้อรถที่มีคำสั่งซื้อพิเศษที่จำเลยกำหนดให้ตนไม่ต้องคืนเงินจองแก่นาย ศ. ในทุกกรณี  ซึ่งย่อมรวมถึงกรณีที่การซื้อขายมิได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของฝ่ายจำเลยและด้วยเหตุอันจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้รวมอยู่ด้วยนั้น  จึงเป็นข้อตกลงที่ทำให้นาย  ศ. ซึ่งเป็นผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญารวมอยู่ด้วย  ข้อสัญญาส่วนนี้จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม  พ.ศ.  ๒๕๔๐  มาตรา  ๔ มีผลให้ใช้บังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น  ซึ่งหมายถึงหากการซื้อขายระหว่างจำเลยกับนาย  ศ. ไม่เกิดขึ้นเฉพาะเหตุอันเกิดแต่การกระทำของนาย  ศ.  จำเลยชอบจะใช้สิทธิริบเงินซึ่งเป็นมัดจำตามข้อตกลงส่วนนี้ได้ เมื่อการซื้อขายระหว่างจำเลยกับนาย  ศ. ที่ไม่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการที่นาย  ศ. ปฏิเสธคำเสนอที่อนุมัติให้สินเชื่อและเกิดจากการที่นาย  ศ. ละเลยไม่เสนอขอให้บริษัทเมอร์ซิเดส  เบนซ์  ลีสซิ่ง  จำกัด  พิจารณาสินเชื่อแก่ตนในเงื่อนไขอื่นแล้วทำคำเสนอใหม่แก่ตน ซึ่งนำไปสู่การยกเลิกสัญญาจองระหว่างนาย  ศ. กับจำเลย เมื่อการซื้อขายระหว่างจำเลยกับนาย  ศ. ไม่เกิดขึ้นเพราะเหตุอันเกิดแต่การกระทำของนาย  ศ.  จำเลยจึงมีสิทธิริบเงินมัดจำ  200,000  บาท  ได้          อย่างไรก็ตามกรณีอยู่ใต้บังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม  พ.ศ. 2540 มาตรา 7 ที่บัญญัติว่า  “ในสัญญาที่มีการให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ  หากมีกรณีที่จะต้องริบมัดจำ  ถ้ามัดจำนั้นสูงเกินส่วน  ศาลจะลดลงให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้” แม้การดำเนินการเพื่อให้ได้สินเชื่อไม่เกิดขึ้นโดยเหตุอันเกิดแต่การกระทำของนาย  ศ.  แต่ผู้ประกอบธุรกิจในฐานะเช่นจำเลยซึ่งเป็นผู้ให้บริการแก่ลูกค้า  ชอบที่จะแจ้งเตือนให้นาย  ศ. ดำเนินการเพื่อให้ขอสินเชื่อภายใต้เงื่อนไขใหม่  ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจเช่นจำเลย  นอกจากจะรักษาผลประโยชน์ในทางธุรกิจของตนตามที่ควรจะได้รับโดยชอบแล้ว  ยังมีหน้าที่ต้องคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ที่นาย ศ. ผู้ซื้ออันเป็นผู้บริโภคสินค้าและบริการจากตนพึงได้รับตามสมควรด้วย  การที่จำเลยละเลยไม่แจ้งเตือนนาย  ศ. ว่าสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการอนุมัติสินเชื่อได้เพื่อให้นาย ศ. ทราบถึงสิทธิที่จะต่อรองเจรจาเพื่อขอสินเชื่อต่อไปซึ่งอาจทำให้การขอสินเชื่อสำเร็จได้ในเงื่อนไขที่เห็นชอบทั้งสองฝ่าย แต่จำเลยไม่กระทำ  จำเลยกลับใช้สิทธิริบเงินมัดจำตามข้อตกลงแล้วขายรถยนต์พิพาทให้แก่ผู้อื่นไปโดยไม่ได้ให้โอกาสแก่นาย  ศ. ที่จะรักษาประโยชน์ของตนซึ่งเป็นผู้บริโภคตามสมควร  ทั้งจะเป็นการรักษาประโยชน์ของจำเลยไปในขณะเดียวกันเพื่อให้ขายรถยนต์พิพาทที่มีอุปกรณ์พิเศษแก่นาย  ศ. ได้โดยไม่ขาดทุน         การกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมไม่ใช่มาตรฐานปกติประเพณีการค้าที่พึงปฏิบัติต่อผู้บริโภค  ดังนี้  การที่จำเลยต้องขายรถยนต์พิพาทไปในราคาขาดทุนดังจำเลยอ้าง  จำเลยจึงมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายอยู่ด้วย  เมื่อคดีไม่ปรากฏความเสียหายที่แท้จริงจากข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบและเมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ที่จำเลยมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายอยู่ด้วย จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยริบเงินมัดจำได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงที่กำหนดให้  120,000 บาท  จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำ  80,000 บาท  แก่นาย  ศ.  และกรณีเป็นเรื่องการคืนมัดจำที่สูงเกินส่วนตามที่ศาลกำหนด  หาใช่กรณีจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือเป็นกรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมจากการเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  224  วรรคหนึ่ง  และมาตรา  391  วรรคสองไม่  จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในค่าดอกเบี้ยนับแต่รับเงินมัดจำไว้  อย่างไรก็ตาม  เมื่อเป็นหนี้เงินและความรับผิดเกิดแต่คำพิพากษาของศาล  จึงกำหนดให้จำเลยรับผิดค่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละ  7.5 ต่อปี  ของต้นเงิน  80,000 บาท  นับแต่วันอ่านคำพิพากษาเป็นต้นไป        สรุปว่า หากการซื้อขายระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจไม่เกิดขึ้นเฉพาะเหตุอันเกิดแต่การกระทำของนาย  ศ.  ผู้ประกอบธุรกิจชอบจะใช้สิทธิริบเงินซึ่งเป็นมัดจำตามข้อตกลงส่วนนี้ได้  และในคดีนี้ ศาลยังเห็นว่า เงินมัดจำนั้น หากผู้ประกอบธุรกิจเรียกเก็บสูงเกินไป ศาลมีอำนาจศาลจะลดลงให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 ข้อสัญญาที่กำหนดว่า “ไม่คืนเงินมัดจำทุกกรณี” ใช้บังคับได้หรือไม่ (ตอนที่ 1)

        ปัจจุบันเราจะพบว่า ปัญหาการเอาเปรียบผู้บริโภคส่วนใหญ่เกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจใช้สัญญาที่ตนเขียนขึ้นมาฝ่ายเดียวและมีการกำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค กรณีที่พบเจอบ่อยๆ คือ เรื่องของการริบเงินมัดจำ ซึ่งแน่นอนว่ามัดจำเป็นเงินที่ผู้ประกอบธุรกิจอาจริบได้ หากผู้บริโภคไม่เข้าทำสัญญา อย่างไรก็ตามเราจะพบว่า ผู้ประกอบธุรกิจบางรายมักจะเขียนเงื่อนไขในสัญญาว่า ไม่คืนเงินมัดจำทุกกรณี จึงมีประเด็นว่าการกำหนดไว้เช่นนี้ใช้บังคับได้หรือไม่เพียงใด  ซึ่งเรื่องนี้ก็มีตัวอย่างปัญหาผู้บริโภคขึ้นสู่ศาล และศาลฏีกาได้มีการวินิจฉัยเกี่ยวกับการกำหนดลักษณะข้อสัญญาดังกล่าว โดยถือว่าเป็นการใช้ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ให้ใช้บังคับได้เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น  ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 8424/2563          คำพิพากษาฎีกาที่ 8424/2563         ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา  เรื่อง  ให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา  พ.ศ. 2551   เอกสารหมาย  จ.13  ออกโดยคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา  ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค  พ.ศ.  2522  มาตรา  35  ทวิ  จึงมีผลใช้บังคับตามกฎหมาย ความตามข้อ  3  (4)  ของประกาศกำหนดว่า  “ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญา  หากมีข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับทราบว่า  ผู้บริโภคต้องขอสินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์ และผู้บริโภคไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อตามที่ขอภายในกำหนดเวลาตาม  (2)” ความตามข้อ  3  (2)  กำหนดว่า  “กำหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์”  ความตามข้อ  3  (5)  กำหนดว่า  “เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาตาม  (3)  หรือ  (4)  แล้ว  ผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินหรือสิ่งใดที่รับไว้เป็นมัดจำทั้งหมดแก่ผู้บริโภคภายใน  15  วัน”  และความตาม  ข้อ  4  กำหนดว่า  “ข้อสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคต้องไม่ใช้ข้อสัญญาที่มีลักษณะหรือมีความหมายทำนองเดียวกัน  ดังต่อไปนี้  ...(2)  ข้อสัญญาที่ให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาการส่งมอบรถยนต์หรือเงื่อนไขต่าง ๆ  ตามที่กำหนดในสัญญาจองรถยนต์  ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญา...” ดังนี้          การวินิจฉัยว่า  ข้อตกลงไม่คืนเงินจองกรณีสั่งซื้อรถที่มีคำสั่งซื้อพิเศษเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่  จึงต้องพิจารณาว่า  เป็นข้อตกลงที่ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญาหรือไม่         เมื่อได้ความว่าขณะสั่งจองรถยนต์นาย  ศ. ทราบดีว่า  จำเลยต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นต้นทุนพิเศษต่างหากจากรถยนต์รุ่นปกติทั่วไปที่จำเลยต้องเสียไปในการสั่งรถยนต์นำเข้ามาให้แก่นาย  ศ. เป็นการเฉพาะ  และทราบดีถึงการที่จำเลยไม่อาจจำหน่ายรถยนต์นั้นเป็นการทั่วไปในท้องตลาดได้ดังเช่นรถยนต์รุ่นปกติ  แต่นาย ศ. ก็ยังยืนยันประสงค์จะให้จำเลยสั่งรถยนต์ที่มีอุปกรณ์พิเศษเช่นนั้นจากผู้ผลิตและประกอบรถยนต์ในต่างประเทศเข้ามาเพื่อความประสงค์ของตนเป็นการเฉพาะเจาะจง  โดยนาย ศ. ยินยอมตกลงกับจำเลยในเงื่อนไขไม่ต้องคืนเงินจองให้ไม่ว่ากรณีใด  ซึ่งหมายความว่า  ในกรณีการซื้อขายไม่เกิดขึ้น  นาย ศ. ยินดีให้จำเลยริบเงินจองนั้นได้         เมื่อพิเคราะห์ถึงความรู้  ความเข้าใจ  สถานะของนาย  ศ. ที่เป็นกรรมการของบริษัทจำกัด  ตลอดจนอำนาจต่อรองและทางเลือกอย่างอื่นรวมทั้งทางได้เสียทุกอย่างของทั้งสองฝ่าย  ประกอบปกติประเพณีของการทำสัญญาจองรถยนต์กับโอกาสที่นาย  ศ.  มีในการไตร่ตรองทบทวนข้อตกลงไม่คืนเงิน  เวลาและสถานที่ในการทำสัญญาของนาย  ศ.  แล้ว  เห็นว่า  หากการซื้อขายระหว่างจำเลยกับนาย ศ. ไม่เกิดขึ้นเพราะความผิดของฝ่ายจำเลยก็ดีหรือด้วยเหตุอันจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้ก็ดี  ย่อมเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจที่จำเลยต้องรับผิดชอบและจำเลยจะแสวงประโยชน์จากข้อตกลงให้ริบเงินนั้นมิได้  เพราะมิได้เกิดแต่การกระทำของนาย  ศ. อย่างไรก็ตามหากการซื้อขายระหว่างจำเลยกับนาย  ศ. ไม่เกิดขึ้นเพราะเหตุอันเกิดแต่การกระทำของนาย ศ.  และจำเลยไม่อาจริบเงินได้  เท่ากับจำเลยต้องรับผิดคืนเงินแก่นาย  ศ. แม้เป็นกรณีที่นาย  ศ. ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งเป็นการต้องรับภาระที่หนักกว่าของจำเลยเมื่อเปรียบเทียบกับของนาย  ศ.  ดังนี้  ข้อตกลงไม่คืนเงินจองกรณีสั่งซื้อรถที่มีคำสั่งซื้อพิเศษที่จำเลยกำหนดให้ตนไม่ต้องคืนเงินจองแก่นาย ศ. ในทุกกรณี  ซึ่งย่อมรวมถึงกรณีที่การซื้อขายมิได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของฝ่ายจำเลยและด้วยเหตุอันจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้รวมอยู่ด้วยนั้น  จึงเป็นข้อตกลงที่ทำให้นาย  ศ. ซึ่งเป็นผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญารวมอยู่ด้วย  ข้อสัญญาส่วนนี้จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม  พ.ศ.  ๒๕๔๐  มาตรา  ๔ มีผลให้ใช้บังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น...อ่านตอนที่ 2 ได้ที่ฉบับ 274   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 เครื่องบินบินไม่ได้ ขออะไรคืนได้บ้าง

        ช่วงสถานการณ์โควิด 19 ระบาดหนัก มีคำสั่งล็อกดาวน์ หรือคำขอความร่วมมือไม่ให้เดินทางข้ามจังหวัด หรือประกาศให้พื้นที่ในจังหวัดเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม การเดินทางต่างๆ ยากลำบาก ถ้าได้จองรถโดยสาร เครื่องบิน เราจะสามารถยกเลิกหรือขอเงินคืนได้ไหม เราไปตามไปดูผู้บริโภครายนี้กันว่าเขาจะได้อะไรคืนบ้างในการขอยกเลิกการเดินทาง         คุณภูผาต้องการไปทำงานที่จังหวัดสตูลกับเพื่อนร่วมงานอีก 2 คน เขาวางแผนเลือกเดินทางโดยเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ไปหาดใหญ่และต่อรถไปจังหวัดสตูล จึงได้จองตั๋วเครื่องบินของสายการบินหนึ่ง เที่ยวบินกรุงเทพฯ ถึงหาดใหญ่ วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 และจองขากลับเที่ยวบินหาดใหญ่ ถึงกรุงเทพฯ วันที่ 3 พฤษภาคม 2564 รวมเป็นเงิน 10,030 บาท แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ระบาด รัฐบาลได้ประกาศขอความร่วมมืองดเว้นการท่องเที่ยวและการเดินทาง และจังหวัดสตูลประกาศ ให้ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงสีแดงต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน เพื่อให้ความร่วมมือในการปฎิบัติตามกฎหมายและมาตรการของรัฐ ช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เขาและเพื่อนร่วมงานจึงไม่สามารถเดินทางตามวันเวลาที่จองตั๋วของสายการบินไว้ได้ จึงต้องการยกเลิกการจองและขอเงินจำนวน 10,030 บาท คืน จึงมาปรึกษามูลนิธิว่าเขาควรดำเนินการอย่างไรต่อไป แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำผู้ร้องว่า ให้ผู้ร้องทำหนังสือถึงบริษัทสายการบิน เพื่อยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน โดยส่งแบบไปรษณีย์ตอบรับ     หลังจากนั้นศูนย์พิทักษ์ได้ติดต่อสอบถามไปยังสายการบิน เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับผู้ร้อง สายการบินแจ้งว่าผู้ร้องไม่ได้แจ้งความประสงค์ว่าจะขอเงินคืน สายการบินจะคืนผู้ร้องเป็นเครดิตในเที่ยวบินกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ โดยยืดระยะเวลาออกไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยสายการบินได้แจ้งเงื่อนไขนี้ให้ผู้ร้องทราบแล้ว ผู้ร้องตกลงยอมรับในเงื่อนไขที่สายการบินเสนอ ส่วนเที่ยวบินหาดใหญ่-กรุงเทพฯ ผู้ร้องได้รับเงินคืนเรียบร้อยแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 มีสิทธิยกเลิกสัญญาหรือไม่

หากเราตกลงทำสัญญาใดๆ ไปแล้ว แต่ต้องการยกเลิกในภายหลังจะสามารถทำได้หรือไม่ ลองไปดูเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้กันคุณสมพรได้รับการเชิญชวนให้ตรวจสุขภาพฟรี ซึ่งภายหลังการตรวจเลือด พนักงานก็แจ้งว่าเลือดในร่างกายไม่ปกติ เพราะมีการสะสมของไขมันและโลหะหนัก ทำให้เลือดขาดออกซิเจน โดยอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ ได้ในอนาคต นอกจากนี้เมื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดก็ยังพบอีกว่า ระบบทางเดินอาหารไม่ดีและตับเสื่อม ด้วยผลการตรวจเช่นนั้น ทำให้คุณสมพรวิตกกังวลอย่างมาก จึงยินดีเข้ารับการรักษาแบบคีเลชั่น (Chelation) เพื่อเอาสารพิษออกจากเลือดตามที่พนักงานแนะนำ ในราคาพิเศษเหลือ 149,000 บาท สามารถใช้บริการได้ 50 ครั้ง อย่างไรก็ตามในอีกอาทิตย์ถัดมา เมื่อคุณสมพรได้เข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษาดังกล่าว แพทย์กลับแจ้งว่าการทำ 50 ครั้งมากเกินไป ควรทำแค่ 10 ครั้งก็เพียงพอแล้ว เพราะหากทำมากเกินไปสามารถส่งผลให้ไตวายได้ คุณสมพรจึงยังไม่เข้ารับการรักษาทันที เพราะเห็นว่าแพทย์และพนักงานให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกัน และไปหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำคีเลชั่นเพิ่มเติมจากในอินเทอร์เน็ต ซึ่งเธอพบว่าแพทย์สภาไม่รับรองการรักษาดังกล่าว จึงต้องการยกเลิกการรักษาและขอเงินคืนทั้งหมด แต่พนักงานกลับต่อรองให้ทำการรักษาตามที่แพทย์แนะนำต่อไป ทำให้คุณสมพรส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำปรึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า หลักในการยกเลิกสัญญามี 3 วิธีดังนี้ 1. คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องการยกเลิกสัญญา 2. คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งต้องการยกเลิกสัญญา แล้วทำคำเสนอขอยกเลิกสัญญา เมื่อคู่สัญญาเห็นพ้องด้วย ทำคำสนองตอบกลับมา 3. การบอกเลิกสัญญาเพียงฝ่ายเดียว โดยอีกฝ่ายไม่ต้องเห็นพ้องด้วยโดยในกรณีที่การบอกเลิกสัญญาเพียงฝ่ายเดียวนั้น คู่สัญญาที่ต้องการยกเลิกสัญญา ต้องมีสิทธิในการบอกเลิก คือ ในข้อสัญญามีการระบุไว้ว่าถ้ามีการผิดสัญญา อีกฝ่ายสามารถยกเลิกสัญญาได้ หรือตามบัญญัติของกฎหมาย กรณีที่ไม่ได้มีข้อสัญญาระบุไว้ ดังนี้ 3.1 สิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อคู่สัญญาอีกฝ่ายไม่ชำระหนี้3.2 สิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อคู่สัญญาอีกฝ่ายไม่ชำระหนี้ตามเวลา ในกรณีที่เวลาเป็นสาระสำคัญ และ 3.3 สิทธิบอกเลิกสัญญาเพราะการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย โดยโทษลูกหนี้ได้อย่างไรก็ตามในกรณีนี้ ผู้ร้องอาจเจรจาต่อรองและรับการรักษาตามที่แพทย์แนะนำคือ 10 ครั้ง โดยจ่ายราคาตามจริงได้ ส่วนการรักษาแบบคีเลชั่นนั้น เป็นการขจัดโลหะหนักที่เป็นพิษออกจากร่างกาย ซึ่งเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับโลหะหนักเข้าสู่ร่างกายเป็นประจำ หรือผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียที่มีปัญหาธาตุเหล็กเกินในร่างกายแต่หากพบว่าสถานบริการหรือโรงพยาบาลใด ที่ระบุว่าการทำคีเลชั่นสามารถช่วยรักษาโรคหลอดเลือด โรคหัวใจหรือออทิสติคได้ จะถือว่าเป็นการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง และไม่ได้อยู่ในการรับรองของแพทยสภา ซึ่งผู้บริโภคสามารถเข้าไปสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม หรือสามารถสอบถามข้อมูลต่อได้ที่สมาคมแพทย์คีเลชั่นไทย (http://www.cmat.or.th/)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 ห้องชำรุด ยังไม่ต้องรับโอน บอกเลิกสัญญาขอเงินคืนได้

ฉบับนี้เป็นปัญหาของผู้บริโภคที่ซื้ออาคารชุดแล้วห้องไม่เรียบร้อย เมื่อแจ้งโครงการให้แก้แล้ว แต่โครงการแก้ไขไม่เสร็จ และไม่สามารถให้ผู้บริโภครับโอนกรรมสิทธิ์ได้ ปัญหาลักษณะนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดจวบจนถึงปัจจุบัน เพียงแต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตนเองมีสิทธิในการบอกเลิกสัญญา กรณีนี้เช่นนี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาเป็นตัวอย่างมาแล้ว เรามาดูกันครับ คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดในโครงการทรัพย์แก้วทาวเวอร์ ของบริษัท ทรัพย์แก้ว จำกัด กับจำเลยในราคา 740,000 บาท ตกลงชำระเงินในวันจอง 5,000 บาท ในวันทำสัญญา 5,000 บาท และระหว่างการก่อสร้างอาคารชุดจำนวน 24 งวด งวดละ 5,750 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 148,000 บาท โดยให้ถือว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินมัดจำ จำเลยตกลงจะส่งมอบห้องชุดในสภาพเรียบร้อยให้แก่โจทก์ประมาณเดือนเมษายน 2539 สำหรับเงินส่วนที่เหลืออีกจำนวน 592,000 บาท มีข้อตกลงให้ชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์ได้ชำระเงินครบถ้วนตามสัญญาและยังได้ชำระค่าตกแต่งเพิ่มเติมห้องชุดให้แก่จำเลยอีกจำนวน 1,470 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยทั้งสิ้นจำนวน 149,470 บาท เมื่อครบกำหนดส่งมอบปรากฏว่าผนังของห้องชุดดังกล่าวมีรอยร้าวเป็นแนวยาวจากเพดานถึงพื้นห้อง จำเลยจึงขอเลื่อนวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เป็นวันที่ 26 ธันวาคม 2539 แต่จำเลยก็ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ตามที่ตกลงได้ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและทวงถามขอเงินคืน แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยต้องรับผิดคืนเงินจำนวน 149,470 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2540 อันเป็นวันครบกำหนดให้จำเลยชำระเงินคืน คำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 1,627.78 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 151,097.78 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 151,097.78 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 149,470 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 148,000 บาท คืนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง(วันที่ 30 กันยายน 2540) ต้องไม่เกิน 1,627.78 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 7,500 บาท คำขออื่นให้ยก จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 1,500 บาท จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการจำหน่ายห้องชุดเพื่อบุคคลภายนอกในโครงการอาคารชุดพักอาศัยทรัพย์แก้วทาวน์เวอร์ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2536 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับจำเลยในราคา 740,000 บาท โจทก์ได้ชำระเงินในวันจอง 5,000 บาท ในวันทำสัญญา 5,000 บาท และชำระในระหว่างก่อสร้างห้องชุดจำนวน 24 งวด งวดละ 5,750 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ได้ชำระไปแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 148,000 บาท สำหรับเงินที่เหลืออีกจำนวน 592,000 บาท มีข้อตกลงให้ชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยได้รับเงินจำนวน 148,000 บาท แล้ว แต่จำเลยมิได้โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดแก่โจทก์ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การบอกเลิกสัญญาของโจทก์ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ จำเลยอ้างว่าจำเลยบอกเลิกแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2539 ก่อนที่โจทก์จะบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยระงับสิ้นไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยอีก เห็นว่า ก่อนที่จำเลยจะบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ ปรากฏว่าผนังของห้องชุดพิพาทมีรอยแตกร้าว ซึ่งจำเลยรับกับโจทก์ว่าจะแก้ไขรอยแตกร้าวในห้องชุดพิพาทให้เรียบร้อย และข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2539 จำเลยได้ให้โจทก์ตรวจรับห้องชุดพิพาท ซึ่งพบว่าห้องชุดพิพาทมีรอยแตกร้าวต้องซ่อมแซม และในวันที่ 29 ธันวาคม 2539 ได้มีการนัดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทซึ่งเป็นวันหลังจากที่จำเลยอ้างว่าได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว การที่มีการนัดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทหลังจากที่จำเลยอ้างว่าได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้วนั้น แสดงให้เห็นว่า จำเลยมิได้มีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์ในเดือนกันยายน 2539 ทั้งหลังจากนั้นจำเลยยังได้ยินยอมให้โจทก์เข้าไปตรวจรับห้องชุดพิพาทและจำเลยได้นัดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดกับโจทก์ในวันที่ 26 ธันวาคม 2539 แต่ในวันดังกล่าวไม่ได้มีการโอนกรรมสิทธิ์กัน เนื่องจากจำเลยเรียกเงินจากโจทก์อีก 50,000 บาท โดยอ้างว่าโจทก์รับโอนห้องชุดพิพาทล่าช้า หลังจากนั้นจำเลยก็ไม่ได้แจ้งให้โจทก์มารับโอนห้องชุดพิพาทอีก เมื่อสัญญายังไม่เลิกกันและจำเลยไม่โอนห้องชุดพิพาทให้โจทก์ตามสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยได้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้. (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8390/2549) //

อ่านเพิ่มเติม >