ฉบับที่ 257 คนกรุงเทพฯ ต้องการระบบขนส่งมวลชนแบบไหน

        ผ่านมาสักระยะหนึ่งแล้วที่ประเทศไทยเรามี “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งตำแหน่งนี้อาจเป็นความหวังอีกครั้งหนึ่งที่มวลชนชาวกรุงเทพฯ คาดหวังว่าระบบขนส่งมวลชนของเมืองแห่งนี้ น่าจะดีขึ้นเสียที แต่ความคาดหวังเป็นเรื่องหนึ่งส่วนผลลัพธ์อาจเป็นอีกเรื่องหนึ่งก็ได้ เพราะว่าลำพังแค่อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาระบบขนส่งมวลชนเมืองซึ่งดำรงอยู่มาอย่างยาวนานนี้ได้  อย่างไรก็ตามก่อนจะไปถึงเรื่องว่าแก้ได้หรือแก้ไม่ได้ เรามาทบทวนกันสักนิดว่า คนกรุงเทพฯ เขามีความหวังหรือความต้องการในเรื่องใดบ้างของบริการขนส่งมวลชนสำรวจกับใคร เมื่อไร         นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้บริการขนส่งมวลชน ในกรุงเทพมหานคร โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,200 กลุ่มตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 8 - 17 กันยายน 2564    ผลสำรวจน่าสนใจ         คนกรุงเทพฯ มีขนส่งมวลชนให้เลือกได้อย่างเพียงพอ (ร้อยละ 85) อย่างไรก็ตามระยะทางที่สามารถเดินเท้าไปถึงจุดใช้บริการต้องเดินในระยะทางประมาณ 1,000 เมตร ถึงร้อยละ 38.2 ระยะทาง 500 เมตร ร้อยละ 27.1 ระยะทาง 1,500 เมตร ร้อยละ 18.5 และมากกว่า 1,500 เมตร ร้อยละ 16.2         ขนส่งมวลชนที่มีให้เลือกใช้บริการ (จากที่พักอาศัย) มากที่สุดคือ รถโดยสารประจำทาง ขสมก (รถเมล์) ร้อยละ 84 อันดับที่สองคือ รถจักรยานยนต์รับจ้าง ร้อยละ 72.7 อันดับที่สามคือ รถไฟฟ้า ร้อยละ 51.7 อันดับที่สี่คือ รถเมล์เอกชนร่วมบริการ ร้อยละ 48.4 อันดับที่ห้าคือ รถสองแถว ร้อยละ 44.7 และอันดับสุดท้ายคือ เรือโดยสาร ร้อยละ 33.5         ดังนั้นการเดินทางของกลุ่มตัวอย่างจึงตอบว่าใช้บริการ รถโดยสารประจำทาง ขสมก (รถเมล์) มากที่สุด ร้อยละ 68 อันดับที่สองคือ รถจักรยานยนต์รับจ้าง ร้อยละ 42.6 อันดับที่สามคือ รถไฟฟ้า ร้อยละ 45.5 อันดับที่สี่คือ รถเมล์เอกชนร่วมบริการ ร้อยละ 30 อันดับที่ห้าคือ เรือโดยสาร ร้อยละ 28.2 และอันดับสุดท้ายคือ รถสองแถว ร้อยละ 23 โดยจุดประสงค์ของการใช้ขนส่งมวลชนนั้นคือ ไปทำงาน ร้อยละ 61.5 ทำธุระส่วนตัว ร้อยละ 54 ซื้อสินค้า ร้อยละ 37.1 ท่องเที่ยว ร้อยละ 27 และอันดับสุดท้ายคือ เรียนหนังสือ ร้อยละ 16.2         ในส่วนของความถี่ คำตอบส่วนใหญ่คือ 5-6 ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 23 อันดับที่สองคือ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 22.5 และอันดับที่สามคือ ใช้ทุกวัน ร้อยละ 21.8  เรื่องที่คนกรุงเทพฯ ต้องการจากระบบขนส่งมวลชน        -        รถโดยสารประจำทาง ขสมก. (รถเมล์)             อันดับที่หนึ่งคือ ด้านความสะดวกในการเข้าถึงบริการ และจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนได้ไม่ติดขัด ร้อยละ 34.6 อันดับที่สองคือ ราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทุกระบบรวมกัน ต้องไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ (กรุงเทพมหานคร) หรือ 30 บาท ร้อยละ 30.6 อันดับที่สามคือ บริการของรถเมล์มีมาตรฐานตรงเวลา ไม่ล่าช้า ร้อยละ 29.7 อันดับที่สี่คือ รถเมล์มีบริการที่มีคุณภาพ ในการรับส่งผู้โดยสาร ร้อยละ 27.7 อันดับที่ห้าคือ อัตราค่าโดยสารเหมาจ่ายรถร้อน 10 บาท (ทั้งวัน) ร้อยละ 26.7         -        รถไฟฟ้า             อันดับที่หนึ่งคือ ด้านราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทุกระบบรวมกัน ต้องไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ (กรุงเทพมหานคร) หรือ 30 บาท ร้อยละ 47.1 อันดับที่สองคือ ความสะดวกในการเข้าถึงสถานี และเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนได้ไม่ติดขัด ร้อยละ 43.1 อันดับที่สามคือ การเชื่อมต่อรถไฟฟ้าทุกสายเพื่อลดค่าแรกเข้าเหลือครั้งเดียว (ขึ้นหลายสายก็จ่ายครั้งเดียว) ร้อยละ 41.6 อันดับที่สี่คือ การออกแบบพื้นที่เพื่อรองรับการเข้าถึงรถไฟฟ้าของกลุ่มผู้พิการ ร้อยละ 39.4 อันดับที่ห้าคือ ต้องการให้รถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชนที่รัฐต้องดำเนินการเพื่อประชาชน ร้อยละ 38.9        -        เรือโดยสาร             อันดับที่หนึ่งความสะดวกในการเข้าถึงบริการ และจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนได้ไม่ติดขัด ร้อยละ 32 อันดับที่สองคือ มีท่าเรือโดยสารที่ปลอดภัยในทุกจุดที่ให้บริการ ร้อยละ 20.6 อันดับที่สามคือ ราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทุกระบบรวมกัน ต้องไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ (กรุงเทพมหานคร) หรือ 30 บาท ร้อยละ 19.4 อันดับที่สี่คือ มีการจัดการการขึ้นลงเรืออย่างเป็นระบบ ร้อยละ 18.6 อันดับที่ห้าคือ สามารถใช้ตั๋วร่วมสำหรับรถเมล์ ขสมก. รถเมล์ร่วมเอกชนได้ และรถไฟฟ้าทุกสายได้ (บัตรใบเดียว) ร้อยละ 18.1

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 เรือโดยสารคลองแสนแสบคือทางเลือกจริงหรือ

        สถานการณ์ปัญหาจราจรที่ติดขัดในกรุงเทพมหานคร ไม่ได้เพียงสร้างปัญหาให้กับประชาชนผู้บริโภคจำนวนมากที่ต้องเสียเวลาไปกับการจราจรที่ติดขัดบนท้องถนนเท่านั้น แต่สำหรับคุณภาพชีวิตของสังคมภาพรวมก็พลอยได้รับผลกระทบที่ย่ำแย่ไปด้วย ทางเลือกรูปแบบอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางที่ติดขัดของคนเมืองจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมา การเดินทางด้วยเรือโดยสาร เช่น เรือโดยสารคลองแสนแสบ ที่สะดวกรวดเร็วไม่ต้องเจอปัญหาติดขัดบนท้องถนน กลายเป็นทางเลือกหนึ่งที่นิยมของประชาชนจำนวนมาก         แต่การเดินทางด้วยเรือโดยสารแม้จะมีข้อดีที่สะดวกรวดเร็วประหยัดราคาถูกเมื่อเทียบกับการเดินทางด้วยรถยนต์บนท้องถนน แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยหลายประการ เช่น ปัญหาความแออัดของผู้โดยสารบนเรือในช่วงเวลาเร่งด่วน ปัญหาความไม่ปลอดภัยของท่าเรือหรือจุดจอดรับส่งผู้โดยสาร ปัญหาโครงสร้างและการไม่มีอุปกรณ์ป้องกันบนเรือโดยสารที่ไม่ปลอดภัย ตลอดจนปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมทางน้ำในคลองที่มีกลิ่นเหม็น ทางอากาศที่มาจากการเผาผลาญเชื้อเพลิง และทางเสียงที่ดังของเครื่องยนต์เรือโดยสาร        หลายปัญหาที่เกิดจากบริการเรือโดยสารไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนจากผู้ประกอบการเรือโดยสาร คือ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ราคาค่าโดยสารยังอยู่เท่าเดิม ขณะที่เสียงสะท้อนของผู้โดยสารที่ใช้บริการ ทั้งหมดตอบเกือบเป็นเสียงเดียวกันว่า จำใจต้องใช้บริการเพราะไม่มีทางเลือกอื่น ยอมรับว่าสะดวกกว่ารถโดยสารประจำทาง ในแง่ของการบริหารเวลาเท่านั้น ถ้าราคาแพงกว่านี้คงไม่ใช้ เป็นต้น         กว่า 30 ปีที่เรือโดยสารคลองแสนแสบเปิดให้บริการ พบว่า มีผู้บริโภคที่ใช้บริการเรือโดยสารคลองแสนแสบตั้งแต่ปี 2560 - 2562 จำนวน 60,607,648 คน ต่อเที่ยวเรือ 377,395 เที่ยว และเมื่อเปรียบเทียบ พบว่า ปี 2562 มีผู้ใช้บริการมากที่สุด ถึง 22,573,874 คน (ข้อมูลกรมเจ้าท่า 2562) ซึ่งถือว่าปัจจุบันมีผู้บริโภคที่ต้องการใช้บริการเรือโดยสารคลองแสนแสบเป็นจำนวนมาก ส่วนราคาค่าบริการเรือโดยสารกลุ่มเรือโดยสารคลองแสนแสบอยู่ในอัตราตามระยะทางตั้งแต่ 9 – 19 บาท (กลุ่มสถิติวิเคราะห์ สำนักแผนงาน กรมเจ้าท่า ปีงบประมาณ 2562)           ขณะที่ผู้ใช้บริการเรือโดยสารหลายคนอาจไม่รู้ว่าเลย ทุกคนมีสิทธิอะไรบ้างเมื่อเกิดอุบัติเหตุขณะใช้บริการเรือโดยสาร เพราะข้อมูลเหล่านี้ไม่ถูกเผยแพร่หรือประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนผู้บริโภคทั่วไปให้ทราบก่อนใช้บริการ เช่น ทุกคนมีสิทธิความคุ้มครองจากประกันภัยภาคบังคับของเรือโดยสาร กรณีเสียชีวิต สูญเสียดวงตา สายตา แขน ขา ทั้งสองข้าง หรือทุพพลภาพถาวร (ไม่สามารถทำงานเลี้ยงชีพอย่างหนึ่งอย่างใดได้ตลอดไป) จะได้รับค่าชดเชยเยียวยา คนละ 100,000 บาท กรณีสูญเสียดวงตา สายตา แขน ขา หรือสมรรถภาพในการใช้แขนหรือขาหนึ่งข้าง จะได้รับค่าชดเชยเยียวยา คนละ 60,000 บาท และกรณีบาดเจ็บได้ค่ารักษาพยาบาล คนละไม่เกิน 15,000 บาท          แม้อุบัติเหตุที่เกิดกับเรือโดยสารจะเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนักเมื่อเทียบกับอุบัติเหตุทางถนน แต่การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลสิทธิประโยชน์สำหรับผู้บริโภคที่ใช้บริการนั้นมีสำคัญและจำเป็นสำหรับการใช้บริการ ตลอดจนข้อมูลช่องทางการร้องเรียนเพื่อให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาการให้บริการเรือโดยสารที่มีความปลอดภัย จากข้อมูลกรมเจ้าท่าปี 2561 มีเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคในการใช้บริการเรือคลองแสนแสบจำนวน 47 เรื่อง ส่วนใหญ่เกี่ยวกับมารยาทในการให้บริการของพนักงาน บรรทุกผู้โดยสารเกิน การขับเรือเร็ว ไม่จอดเรือเทียบท่า เป็นต้น ขณะที่ผลสำรวจผู้บริโภคในการใช้บริการเรือโดยสารคลองแสนแสบ ปี 2561(ข้อมูลกรมเจ้าท่า 2562) พบว่า ผู้บริโภคไม่พึงพอใจต่อความเพียงพอของที่นั่งบริเวณท่าเรือ ร้อยละ 57.20 ความพร้อมของอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยบนท่าเรือ ร้อยละ 59.67 และมารยาทในการให้บริการของพนักงานเรือ ร้อยละ 59.96         กล่าวโดยสรุป ปัญหาที่เกิดกับการใช้บริการเรือโดยสารคลองแสนแสบ ณ ปัจจุบัน อาจจะไม่ใช่เรื่องราคาค่าบริการเนื่องจากอัตราค่าบริการในปัจจุบันยังมีอัตราที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับระยะเดินทางและความสะดวกที่ผู้บริโภคได้รับ แต่สิ่งที่ผู้บริโภคเรียกร้องเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงปรับปรุง คือ คุณภาพบริการและมาตรฐานความปลอดภัยของเรือโดยสารมากกว่า การเปลี่ยนเรือน้ำมันเป็นเรือไฟฟ้าเพื่อลดมลพิษรักษาสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพดี จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่รัฐควรส่งเสริมควบคู่ไปกับการกำกับมาตรฐานของพนักงานขับเรือและมาตรการป้องกันความปลอดภัยทางน้ำอย่างเป็นระบบ สนับสนุนให้คนใช้บริการทางเรือเพิ่มมากขึ้น เชื่อมต่อกับระบบขนส่งทางบกและจุดจอดบริการรถโดยสารสาธารณะเพื่อการเข้าถึงของผู้บริโภคที่ใช้บริการอย่างเป็นระบบและปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >