ฉบับที่ 107 ลูกอมเรืองแสง แรงฤทธิ์

 “ตอนนี้ลูกอมเรืองแสงกำลังเป็นที่นิยมในหมู่เด็กๆ มาก ที่อื่นไม่ทราบว่ากำลังเป็นที่นิยมหรือเปล่า”คุณหทัยชนก สมาชิกฉลาดซื้อเขียนจดหมายมาถามไถ่โดยให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ที่แถวบ้านแถบปทุมธานีเจ้าลูกอมเรืองแสงกำลังได้รับความนิยมสูง“ตอนแรกก็ไม่ทราบว่าเป็นอะไรเห็นลูกขอเงินไปซื้อลูกอมเรืองแสง แล้วบ่นว่าหาซื้อไม่ค่อยได้ แม่ค้าขายหมดไวเลยลองสอบถามลูก ลูกก็บอกว่าด้ามจับจะเรืองแสงได้ แต่เคยมีเพื่อนกัดลูกอมแล้วด้ามพลาสติกแตก น้ำเรืองแสงเกือบเข้าปาก” ฟังแล้วก็รู้สึกหวาดเสียวจริงๆ ครับลูกของคุณหทัยชนกบอกกับแม่ว่า คุณครูที่โรงเรียนบอกว่าให้กินแบบระมัดระวังอย่ากัดให้ด้ามแตก ต้องบอกว่าน่าตกใจจริงๆ กับคำแนะนำลักษณะนี้ เพราะไม่ว่าจะเป็นน้ำเรืองแสงหรือเศษพลาสติก มันไม่ควรเข้าปากเด็กได้ทั้งสิ้นเพราะมันไม่ใช่อาหาร “ดิฉันพยายามหาซื้อเพื่อส่งมาให้มูลนิธิฯ ดูว่าเป็นอันตรายหรือเปล่า แต่ก็เจอแค่กล่องเพราะแม่ค้าบอกว่าขายดีมาก เห็นกล่องพอจะทราบว่ามาจากจีนแต่ไปซื้อกี่ครั้งก็ไม่เคยได้เพราะว่าของหมดตลอด อันที่ส่งตัวอย่างมาให้ดูนี่ลูกไปหามาให้จากโรงเรียน เมื่อวานดิฉันไปเดินตลาดไทสำรวจว่ามีขายหรือเปล่าปรากฏว่าขายส่ง 30 อันต่อกล่อง ราคา 60 บาท มีขายตามร้านขายส่งทั่วไป และเมื่อหาข้อมูลจากเน็ตก็มีขายทั่วไปอีกเหมือนกัน” คุณหทัยชนกให้ข้อมูลมาด้วยความเป็นห่วง แนวทางแก้ไขปัญหาถ้าพูดถึงเรื่องความปลอดภัยในอาหารการกินคงไม่พ้นไปจากความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศน.พ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ว่า ได้มีการสั่งการและประสานงานไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศแล้วตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธันวาคม เพื่อกำชับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ช่วยเป็นหูเป็นตาดูการจำหน่ายลูกอมหรืออมยิ้มเรืองแสง ซึ่งเข้าข่ายผิดกฎหมาย เนื่องจากมีการลักลอบนำเข้าจากประเทศจีนมาจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตและประชาชนที่พบการจำหน่ายอมยิ้มหรือลูกอมเรืองแสง สามารถแจ้งเบาะแสมายัง อย. ได้ที่สายด่วน 1556 หรือจะแจ้งเจ้าหน้าที่ สสจ.ทั่วประเทศ เพื่อ อย.จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดดร.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผอ.กองควบคุมอาหาร อย. เปิดเผยว่า ขณะนี้ลูกอมหรืออมยิ้มเรืองแสง ทางกองควบคุมอาหาร ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว ทั้งตัวอมยิ้มและก้านอมยิ้ม ที่นำมาหักแล้วจะเกิดเป็นสารเรืองแสงว่ามีส่วนผสมของสารที่เป็นอันตรายหรือไม่ โดยเกรงว่าเด็กๆ อาจจะได้รับอันตราย ซึ่งคงจะทราบผลในเร็วๆ นี้ว่าข้างในมีสารอะไรบ้าง สำหรับความผิดของผู้จำหน่ายเบื้องต้น คือ 1.ขายอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต เพราะไม่ได้มีการขออนุญาตนำเข้า 2.ฉลากอาหารไม่ถูกต้อง โทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท และ 3.ถ้าตรวจพบว่ามีสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายจะเข้าข่ายขายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านเพิ่มเติม >