ฉบับที่ 262 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม ปี 2565

เชียงใหม่อันดับ 1 เสี่ยงสารเคมีการเกษตรตกค้างในร่างกาย        สสส.ระบุ เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่พบว่ามีสารเคมีตกค้างในเลือดสูงเป็นอันดับ 1         นางประภาศรี บุญวิเศษ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่าเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่พบว่ามีสารเคมีตกค้างในเลือดสูงเป็นอันดับ 1 จำเป็นต้องเร่งสร้างความรู้ด้านอาหารให้แก่เกษตรกรร่วมมือกับร้านอาหาร ตลาด โรงแรม ช่วยกันพัฒนาแหล่งอาหารที่ปลอดภัยในชุมชน เลือกซื้ออาหารที่มีโภชนาการที่เหมาะสมจากการปลูกผักที่ปลอดภัยด้วยตนเอง         จากข้อมูลของ รศ.ดร.วินิตา บุณโยดม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุภาคเหนือ คือภาคที่มีสารเคมีตกค้างในร่างกายของประชาชนในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัยมากกว่า 10 ปีแล้ว โดยปี 2565 มีสารเคมีตกค้างกว่า 70.3% ภาคใต้ 58.65%  ภาคกลางและภาคตะวันออก 41.19% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 37.14% และข้อมูลจาก ศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. อีกเช่นกันระบุว่า พืชผักที่มีสารเคมีตกค้างมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ คะน้า ผักกาดขาว มะเขือเทศ กะเพรา พริกขี้หนู และส่งผลให้สารเคมีในเลือดอาสาสมัคร 189 คน อยู่ระดับเสี่ยงถึง 56.25% ระดับไม่ปลอดภัย 28.08% แต่ระดับปลอดภัยและปกติ อยู่เพียง 9.18 และ 6.49 เท่านั้น พบเนื้อสัตว์แช่ฟอร์มาลิน ส่งขายร้านหมูกระทะ         นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 จากด่านกักกันสัตว์ชลบุรีว่า เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบสถานประกอบกิจการผลิตภัณฑ์แปรรูปวัตถุดิบเนื้อและเครื่องในสัตว์ จ.ชลบุรี เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า มีการลักลอบผลิตเนื้อสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากการเข้าตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ พบว่าไม่มีการขออนุญาตผลิตอาหารและใบอนุญาตอื่นๆ ซึ่งมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคระบาด พ.ศ.2558 พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 นอกจากนี้  วัตถุดิบชิ้นส่วนเครื่องในโค เครื่องในสุกร มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ซึ่งประกอบไปด้วย ฟอร์มาลิน โซดาไฟ ไฮโดรเจนเปอร์อ๊อกไซด์ ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ยึดของกลางดังกล่าวไว้ เช่น ชิ้นส่วนเนื้อและเครื่องในสุกรและโค จำนวน 25,000 กิโลกรัม พร้อมด้วยแกลลอนบรรจุสารเคมีฟอร์มาลิน 50 แกลลอน และใบเสร็จที่มีการขายให้กับร้านหมูกระทะและร้านอาหารอีสานกว่า 66 ราย    6 แอปพลิเคชันเรียกรถถูกกฎหมาย         นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า ทางรัฐบาลได้ส่งเสริมการผลักดันให้บริการทางเลือกรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยกระทรวงคมนาคมได้ออกกฎกระทรวงรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2564 ให้ภาครัฐสามารถควบคุมและกำกับการดูแลการให้บริการที่ปลอดภัย รวมทั้งเกิดการแข่งขันในการพัฒนาใต้กติกาเดียวกัน          ทั้งนี้ บริการทางเลือกรถยนต์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชันคือการให้บริการผ่านแอปฯ ที่กระทรวงคมนาคมให้การรับรอง มีความปลอดภัย ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ แสดงค่าโดยสารล่างหน้าชัดเจน ตรวจสอบได้ มีประกันครอบคลุมตามกฎหมายคุ้มครองประสบภัยกำหนด ซึ่งปัจจุบันได้ให้การรับรองแอปพลิเคชันแล้ว จำนวน 6 ราย ได้แก่ แกร็บ,โรบินฮู้ด,ฮัลโหลภูเก็ต เซอร์วิส,บอนกุ,เอเชีย แค็บ,และ “Airasia Super App” นอกจากนี้ ผู้ขับรถต้องมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ สามารถอบรมทางออนไลน์ได้ที่ www.dlt-elearning.com ชาวไอทีแนะอย่าโหลดแอปพลิเคชันแปลกนอก Store ดีสุด         จากโพสต์ของผู้ใช้ทวิตเตอร์  Chanon Ngernthongdee  ซึ่งทดลองเป็นเหยื่อของแกงค์คอลเซนเตอร์เพื่อทดสอบว่าอะไรคือสิ่งที่แกงค์ดังกล่าวใช้เล่นงานผู้บริโภค โดยเขาออกมาเตือนว่า วิธีป้องกันอย่างง่ายที่สุดคือ ไม่โหลด app นอก Store หรือ Block installation of unmanaged mobile apps          ทั้งนี้ผู้ใช้ทวิตเตอร์ท่านนี้บอกว่า ตนเองพยายามตกเป็นเหยื่อ call center อยู่นานมากเพื่อจะได้รู้ว่าเขาหลอกยังไง ให้ลง app (แอปพลิเคชัน) อะไร สุดท้ายในที่สุดก็ได้ app นั้นมา ทำให้ตนเข้าใจแล้วว่าทำไม app นั้นถึงสามารถไปดึงข้อมูลและสั่งให้ app ธนาคารทำธุรกรรมทางการเงินของเหยื่อได้ คนเขียน app นั้นใช้ AccessibilityService เพื่อควบคุมนั่นเอง มพบ.จัดอบรมให้เยาวชนเท่าทันทางการเงินจากโลกออนไลน์                   วันที่ 1-2 ธันวาคม 2565 ณ โรงเรียนวัดสุทธาโภชน์ กรุงเทพมหานคร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้จัดกิจกรรมฝึกอบรมหลักสูตร “เยาวชนเท่าทันการเงิน” เพื่อเสริมทักษะให้การเยาวชนไทยเรื่องการเงิน โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ซึ่งจากข้อมูลที่ทางมูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียน เช่น บัตรเครดิต การชำระหนี้ การจัดการหนี้ การทวงหนี้ไม่เป็นธรรม มากเป็นลำดับต้นๆ ส่วนใหญ่สาเหตุหลักคือ ประชาชนไทยยังขาดทักษะ ความเข้าใจการใช้บัตรเครดิต การวางแผนทางการเงิน การเท่าทันภัยการเงินทางออนไลน์         ทั้งนี้ นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ กล่าวว่า โครงการเยาวชนรู้เท่าทันทางการเงิน เริ่มดำเนินการอบรมมาตั้งแต่ ปี2563  เข้าร่วมกว่า 30 โรงเรียน ทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคอีสาน มูลนิธิฯ ยังคงดำเนินการด้วยความเชื่อมั่นว่า ถ้าเด็กและเยาวชนไทยมีความรู้เท่าทันทางการเงิน วางแผนการจัดการรายได้และรายจ่าย ย่อมเป็นทักษะสำคัญที่สร้างชีวิตที่มีคุณภาพได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 ลูกเสียชีวิตหลังคลอด เรียกร้องอะไรได้บ้าง

หนึ่งในเรื่องไม่คาดคิดที่ทำให้หลายคนใจสลาย คือการที่เด็กเสียชีวิตหลังการคลอด ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้ เราลองไปดูกันว่าเธอจะสามารถเรียกร้องสิทธิอะไรได้บ้างคุณนภาอยู่ในช่วงระยะเวลาใกล้คลอด จึงใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพเข้ารับการผ่าคลอดที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร ซึ่งหลังจากได้รับการผ่าคลอดแล้วเรียบร้อยและได้ยินเสียงเด็กร้องแล้ว ทางพยาบาลก็เดินมาเรียกชื่อ ถามสิทธิต่างๆ พร้อมนำเด็กมาให้กินนมของเธอ ภายหลังคุณนภาหลับและตื่นมาอีกครั้ง ทางพยาบาลก็ได้เข้ามาแจ้งว่าจะวัคซีนให้ พร้อมเดินเข้ามาอุ้มเด็ก แต่ทันใดนั้นก็ส่งเสียงร้องตกใจและรีบนำเด็กออกไปจากห้อง ซึ่งเมื่อกลับเข้ามาอีกครั้งก็ได้แจ้งเรื่องที่ไม่คาดคิดว่า ลูกของเธอได้เสียชีวิตแล้ว โดยอาจมีสาเหตุจากโรคประจำตัวอย่างไรก็ตามหลังออกจากโรงพยาบาล คุณนภาตัดสินใจส่งเรื่องมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ ด้วยเหตุที่เธอไม่แน่ใจสาเหตุการเสียชีวิตของลูก นอกจากนี้ยังอยากทราบว่าจะสามารถเรียกร้องความรับผิดชอบอะไรจากโรงพยาบาลได้บ้างหรือไม่แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นสามารถเรียกร้องให้ทางโรงพยาบาลชดใช้เยียวยาความเสียหายได้ตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 41 ซึ่งกำหนดให้ผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นโดยเงินช่วยเหลือเบื้องต้น หมายถึง เงินที่จ่ายให้ผู้รับบริการหรือทายาทหรือผู้อุปการะ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับค่าเสียหายจากการรักษาพยาบาลในหน่วยบริการ โดยมิต้องรอการพิสูจน์ถูกผิด แต่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด  ทั้งนี้เกณฑ์การพิจารณาเงินช่วยเหลือ คือ 1. กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร จ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท 2. กรณีพิการหรือสูญเสียอวัยวะ จ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 240,000 บาท 3. กรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกิน 100,000 บาท 4. กรณีฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องและได้รับการดูแลตามมาตรฐานการฝากครรภ์ จนอายุครรภ์ตั้งแต่ 37 สัปดาห์ขึ้นไป และทารกเสียชีวิตในครรภ์ระหว่างการดูแลในหน่วยบริการ ให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้เท่ากรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร และหากมารดาได้รับความเสียหายด้วยก็ให้ได้รับเงินช่วยเหลือได้อีกตามประเภทความเสียหายนั้น สำหรับกรณีนี้ศูนย์ฯ ได้ช่วยผู้ร้องทำหนังสือถึงโรงพยาบาลเพื่อให้มีการเยียวยาผู้ร้องก่อนเบื้องต้น พร้อมแนะนำให้รอผลการชันสูตรการเสียชีวิตเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามภายหลังผู้ร้องได้แจ้งกลับมาว่า ทางประกันสังคมได้ติดต่อมาแนะนำผู้ร้องว่า ขอให้ผู้ร้องให้ความร่วมมือกับทางโรงพยาบาลว่า มีการดูแลรักษาเป็นอย่างดี เพื่อจะให้เบิกเงินประกันสังคมได้ และนัดให้ผู้ร้องไปรับฟังคำชี้แจงจากโรงพยาบาล ส่งผลให้ผู้ร้องไม่แน่ใจว่าควรจะเข้าไปฟังเองเพียงคนเดียวหรือไม่ ศูนย์ฯ จึงช่วยประสานงานให้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ไปร่วมฟังคำชี้แจงด้วย ซึ่งผลชันสูตรพบว่าเด็กมีอาการไหลตาย และทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพจะชดเชยเยียวยาผู้ร้องเป็นจำนวน 320,000 บาท ด้านผู้ร้องไม่ติดใจอะไรเพิ่มเติมกับผลการชันสูตรและตกลงรับข้อเสนอดังกล่าว จึงยินดียุติการร้องเรียน ทั้งนี้ขอเพิ่มเติมเล็กน้อย สำหรับผู้ที่ต้องการยื่นเรื่องร้องเรียน สามารถยื่นคำร้องได้ 2 วิธี  คือ ด้วยตนเองที่หน่วยรับคำร้อง หรือส่งคำร้องทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสาขาจังหวัด(สสจ.) ที่เกิดเหตุ หรือกรณีในกรุงเทพฯ สามารถส่งไปที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำกรุงเทพมหานคร โดยเตรียมเอกสารที่ดังนี้ 1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 2. สำเนาทะเบียนบ้าน 3. หนังสือมอบอำนาจ(กรณีที่มีการมอบอำนาจ) 4. เอกสารหรือหลักฐานแสดงรายละเอียดข้อมูลอื่นที่อาจใช้เป็นประโยชน์ประกอบการพิจารณา(ถ้ามี) และข้อสำคัญคือต้องยื่นเรื่องภายใน 1 ปี นับจากทราบความเสียหาย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 นายจ้างเรียกค่ารักษาพยาบาลคืนจากผู้ทำละเมิดลูกจ้าง “ไม่ได้”

สวัสดีครับ ครั้งนี้มาคุยกันเรื่องของสิทธินายจ้าง ลูกจ้างกันนะครับ เรื่องเหล่านี้ก็เป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกท่าน ซึ่งบางท่านอาจจะเป็นทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เช่นเดียวกับที่ท่านอาจเป็นทั้งผู้บริโภคที่ซื้อและขายสินค้าในคนเดียวกัน โดยมีคดีเรื่องหนึ่งน่าสนใจมาก เป็นเรื่องของนายจ้างคนหนึ่งซึ่งมีลูกจ้างไปขับรถตักยกสินค้าประมาท โดยขับรถตักยกสินค้าเพื่อยกเยื่อกระดาษอัดลงจากรถยนต์บรรทุก โดยไม่ตรวจสอบก่อนว่าเยื่อกระดาษอยู่ในตำแหน่งที่อาจหล่นได้หรือไม่ เป็นเหตุให้เยื่อกระดาษหล่นจากรถยนต์บรรทุกมาทับลูกจ้างอีกคนตาย หลังเกิดเหตุ นายจ้างก็รับผิดชอบต่อครอบครัวของผู้ประสบเหตุ จ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าโลงศพ และค่าฉีดยาศพ พร้อมค่าขนศพมายังภูมิลำเนาลูกจ้างผู้ตาย รวมเป็นเงินกว่าแสนบาท   และต่อมา นายจ้างและครอบครัวของลูกจ้างที่ตาย ลูกจ้างที่ขับรถตักยก ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแต่ไม่ยอมชดใช้เงินให้นายจ้าง นายจ้างจึงมาฟ้องคดีต่อศาล  ซึ่งฝั่งจำเลยที่เป็นครอบครัวของลูกจ้างที่ตายก็สู้ว่าผู้ตายเป็นลูกจ้างของโจทก์ประสบเหตุขณะทำงานให้โจทก์ ผู้ตายเข้ารับการรักษาและโดยความยินยอมของโจทก์ โจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าทำศพ ขอให้ยกฟ้อง ท้ายที่สุด ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า การที่นายจ้างจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นเงินทดแทนแก่ลูกจ้าง กรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้าง กฎหมายไม่ได้ให้สิทธิแก่นายจ้างเรียกเอาเงินทดแทนที่จ่ายไปนั้นคืนจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้าง เพราะไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทน ดังนั้นนายจ้างจึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลที่นายจ้างจ่ายไปคืนได้คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7630/2554          การรับช่วงสิทธิจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยอำนาจของกฎหมาย จึงต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้รับช่วงสิทธิได้ การที่โจทก์จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นเงินทดแทนแก่ลูกจ้างตามกฎหมายแรงงานอันเป็นกฎหมายพิเศษซึ่งใช้บังคับระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างกรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้างโดยเฉพาะ มิใช่การจ่ายค่าสินไหมทดแทนความเสียหายและกฎหมายก็ไม่ได้บัญญัติให้สิทธิแก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างเรียกเอาเงินทดแทนที่จ่ายไปนั้นคืนจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้างโจทก์ได้แต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์จ่ายไปคืนจากจำเลยที่ 7 ได้ โดยสรุปคือ การจ่ายเงินของนายจ้างกรณีตามคดีนี้ เป็นการจ่ายเงินทดแทนตามกฎหมายแรงงานอันเป็นกฎหมายพิเศษที่ใช้บังคับกรณีลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายจากการทำงานให้นายจ้างโดยเฉพาะ ไม่ใช่การจ่ายค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย และกฎหมายก็ไม่ได้ให้สิทธินายจ้างเรียกเอาเงินที่จ่ายทดแทนไปนั้นจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้างโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้นนายจ้างซึ่งเป็นโจทก์จึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายไปคืนได้

อ่านเพิ่มเติม >