ฉบับที่ 263 อาการป่วยกำเริบ จากอาหารเสริมในโลกออนไลน์

        ปัจจุบันในโลกออนไลน์มีสินค้าหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมขายอย่างมากมาย พร้อมทั้งมีคำโฆษณาแบบเกินจริงของสรรพคุณที่นำมาหลอกล่อและกระตุ้นให้ผู้บริโภคอย่างเราซื้อสินค้า  โดยที่ผู้ซื้อหลายคนก็คงไม่ทราบเลยว่า “ผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาสรรพคุณเกินจริงเหล่านั้น จะสามารถช่วยได้จริงอย่างที่โฆษณาไหม และมีผลอันตรายอะไรไหมหากเรากินเข้าไป” และยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริโภคหลายคนมักเลือกที่จะกินอาหารเสริมมากกว่าที่จะไปพบแพทย์เพื่อหาวิธีรักษาที่ถูกต้อง         เหมือนเรื่องราวของคุณเอก ที่มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยเรื่องราวมีอยู่ว่าคุณเอกซึ่งมีอายุมากแล้ว มีอาการปวดข้อเข่ามาก วันหนึ่งเผอิญไปเห็นโฆษณาในเฟซบุ๊ก เป็นอาหารเสริม “เม็ดฟู่” มีชื่อขึ้นต้นด้วยตัว “B” มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการปวดข้อเข่า พร้อมทั้งในเฟซบุ๊กที่ขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมตัวนี้นั้น มีรูปนายแพทย์ท่านหนึ่งโปรโมทอยู่เลยทำให้คุณเอกนั้น รู้สึกมั่นใจและเชื่อที่จะซื้ออาหารเสริมตัวนั้นเป็นจำนวน 3 หลอด แถมอีก 1 หลอด เป็นเงิน 3,490 บาท เมื่อเขาได้อาหารเสริมมารับประทานได้ 2 วัน ก็มีคุณพลอยซึ่งอ้างว่าเป็นพยาบาลโทรมาสอบถามถึงผลลัพธ์ของยา         ต่อมาอีก 3-4 วัน ปรากฏว่าอาการของคุณเอกนั้นไม่ดีขึ้นเลยกลับมีผลข้างเคียง คือ ปัสสาวะบ่อยขึ้น 5-6 ครั้ง/คืน ซึ่งทางคุณเอกก็ได้บอกว่าเขารู้สึกว่ามันรบกวนเวลานอนพักผ่อนของเขาเป็นอย่างมาก  เขาจึงพยายามที่จะติดต่อนายแพทย์ท่านนั้น ก็ไม่สามารถติดต่อได้ ซึ่งเมื่อเขาติดต่อนายแพทย์ท่านนั้นไม่ได้ก็เลยติดต่อคุณพลอยที่อ้างว่าเป็นพยาบาลและได้บอกกล่าวถึงอาการปัสสาวะบ่อยของเขา ทางพยาบาลคุณพลอยก็บอกว่ายอมรับว่าผลข้างเคียงคืออาการปัสสาวะบ่อย...อ้าวตอนขายไม่เห็นบอก และเธอบอกว่าจะแจ้งให้นายแพทย์ท่านนั้นทราบอีกครั้ง         คุณเอกนึกสงสัยเลยถามถึงที่อยู่ของนายแพทย์ท่านนั้นและนำไปเช็กกับทางนิติบุคคลสถานที่ที่ได้ข้อมูลจากคุณพลอย แต่พบว่าไม่มีชื่อดังกล่าวอยู่ที่ตึกแห่งนั้นประกอบกับข้อมูลเดิมที่ทางคุณเอกไปเช็กว่าไม่ได้มีบุคคลดังกล่าวอยู่ในทำเนียบแพทย์สภาอีกด้วย ทำให้คุณเอกคิดได้ว่าเขาคงถูกหลอกลวงแน่ๆ พร้อมทั้งเมื่อลองดูทั้งผลิตภัณฑ์ก็พบว่าไม่มีเครื่องหมาย อย. และไม่มีเอกสารกำกับอะไรเลย ทางคุณเอกแน่ใจล่ะว่าโดนหลอกแน่นอน จึงได้ร้องเรียนมาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคควรจะทำอะไรอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นทางคุณเอกได้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจแล้ว พร้อมทั้งทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังออกหนังสือไปถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และกองบังคับการปราบปรามการ กระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป         ทั้งนี้ ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยากให้ผู้บริโภคหลายๆ คน ลองศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่างๆ ทางออนไลน์ สังเกตว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่กำลังจะซื้อ หรือมาแล้วนั้นมีเครื่องหมาย อย. หรือไม่ หากไม่มีก็ควรหลีกเลี่ยงที่จะรับประทาน นอกจากนี้ ถ้ามีการอ้างถึงบุคลากรทางการแพทย์ก็ควรตรวจสอบก่อนที่จะซื้อว่าในแพทย์สภา มีบุคคลดังกล่าวจริงหรือไม่ โดยส่วนมากอาหารเสริมหลอกลวงต่างๆ มักจะมีโฆษณาที่เกินจริงหายได้ภายในไม่กี่วันหรือในระยะเวลาสั้นๆ หากใครที่เห็นแบบนี้ก็ควรจะระมัดระวังและไม่หลงเชื่อโดยง่ายเพื่อความปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >