ฉบับที่ 114 เฟรนช์ฟราย จานด่วน อันตราย

  เฟรนช์ฟราย ของอร่อยที่มากับความน่ากลัว (รึเปล่า) หากพูดถึงร้านอาหารจานด่วนหรือร้านฟาสต์ฟู้ด ผมมั่นใจได้ว่าเฟรนช์ฟรายจะมาเป็นลำดับต้น ๆ ของรายการอาหารในร้านอาหารจานด่วนที่ท่านผู้อ่านจะนึกถึง เฟร้นช์ฟรายหรือมันฝรั่งแท่งทอดมีต้นกำเนิดมาจากประเทศเบลเยียมในปี ค.ศ. 1680 ภายหลังได้แพร่กระจายไปหลายประเทศในยุโรปจนมาถึงประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1856 โดยพ่อครัวชาวฝรั่งเศสท่านหนึ่งทำอาหารชนิดนี้และนำไปเสิร์ฟให้กับประธานาธิบดีโธมัส เจฟเฟอร์สัน และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา ในชื่อสั้น ๆ ว่า ฟราย (Fries) และกลายเป็นรายการอาหารหลักในร้านฟาสต์ฟู้ด จัดว่าเป็นหนึ่งในอาหารที่ทำกำไรได้มากที่สุดของร้านอาหารจานด่วนต่างๆ ทั่วโลกรวมไปถึงประเทศไทย   เพื่อทดสอบความปลอดภัยของเฟรนช์ฟรายที่บริโภคกันอยู่ในปัจจุบัน ทางโครงการพัฒนากลไกการ เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภคจึงได้เก็บตัวอย่างเฟรนช์ฟราย จำนวน 30 ตัวอย่าง ในการเก็บตัวอย่างจำนวน 3 ครั้ง ครั้งแรกเดือนพฤศจิกายน 2552 เก็บตัวอย่างจากร้านอาหารจานด่วน หรือฟาสต์ฟู้ดเฟรนไชส์ใหญ่ จำนวน 6 ยี่ห้อ ได้แก่ เคเอฟซี แมคโดนัลด์ เชสเตอร์กริลล์ เบอร์เกอร์คิง เอแอนด์ดับบลิว และมอสเบอร์เกอร์ ในกรุงเทพมหานคร กับ ร้านเคเอฟซี จำนวน 2 สาขาในจังหวัดสมุทรสงคราม นอกจากนี้ยังได้เก็บตัวอย่างเฟรนช์ฟรายจากร้านอาหารจานด่วนขนาดเล็ก อีก 2 ร้าน คือร้านยูเฟรนและร้านอีสานคลาสสิคในจังหวัดสมุทรสงคราม การเก็บตัวอย่างครั้งที่ 2 ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างเมื่อเดือนมีนาคม 2553 จากร้านอาหารจานด่วนเฟรนไชส์ขนาดใหญ่ จำนวน 4 ยี่ห้อ ได้แก่ เคเอฟซี แมคโดนัลด์ เชสเตอร์กริลล์ และเบอร์เกอร์คิง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กับ ร้านเคเอฟซี จำนวน 2 สาขาในจังหวัดสมุทรสงคราม การเก็บตัวอย่างครั้งที่ 3 เก็บตัวอย่างซ้ำของครั้งที่ 1 และ 2 ในเดือนเมษายน 2553 ดำเนินการเก็บตัวอย่างจากร้านอาหารจานด่วนเฟรนไชส์ขนาดใหญ่จำนวน 6 ยี่ห้อที่เก็บเมื่อการเก็บตัวอย่างครั้งแรกเดือนพฤศจิกายน 2552 รวม 9 ตัวอย่าง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และตัวอย่างจากร้านเคเอฟซีอีก 2 สาขา จำนวน 4 ตัวอย่าง กับตัวอย่างจากร้านยูเฟรน และร้านทีสเต็ก รวม 4 ตัวอย่าง ในจังหวัดสมุทรสงคราม โดยตรวจหาปริมาณเกลือ (Salt) ไขมันทรานส์ (Trans fat) และค่าของกรด (Acid Value) ผลการทดสอบ(3 ครั้ง) พบว่า• เกลือหรือโซเดียมยังสูง...น่าห่วงการทดสอบปริมาณเกลือหรือโซเดียมในเฟรนช์ฟรายขนาดใหญ่ที่เก็บเมื่อเดือนมีนาคม 2553 นั้นทั้ง 6 ตัวอย่างของเฟรนช์ฟรายที่ทดสอบ มีปริมาณเกลือในระดับที่สูงและจัดว่ามีความเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อไตได้หากมีการบริโภคติดต่อกันในระยะยาว โดยมีปริมาณเฉลี่ยอยู่ที่ 1.48 กรัม/100 กรัม เทียบน้ำหนักต่อห่อของเฟรนช์ฟรายจะพบว่า 1 ห่อมีน้ำหนักอยู่ที่ 150 – 200 กรัม ซึ่งหากใช้ปริมาณเฉลี่ยที่ตรวจพบเป็นฐานคิดจะพบว่าในการบริโภคเฟรนช์ฟราย 1 ห่อจะได้รับเกลือเข้าร่างกายประมาณ 2.2 กรัม – 2-9 กรัม/หน่วยบริโภค ซึ่งเกือบจะเทียบเท่าหรือสูงกว่าปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวันสำหรับคนไทย(Thai RDI) ที่ระบุไว้ว่าควรบริโภคโซเดียมน้อยกว่า 2,400 มิลลิกรัมหรือ 2.4 กรัมต่อวัน   • ไขมันทรานส์ ต่ำกว่าเกณฑ์เป็นอันตรายการทดสอบไขมันทรานส์ (Trans fat) ที่เป็นตัวเพิ่มระดับโคเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL: low-density lipoprotein) ในเลือดและลดระดับโคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL: high-density lipoprotein) ในเลือด อันก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดนั้น พบว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัยในการบริโภค โดยพบไขมันทรานส์ในทั้ง 10 ตัวอย่างที่สุ่มตรวจในการเก็บตัวอย่างเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ด้วยอัตราเฉลี่ย เท่ากับ 0.09 กรัม/100 กรัม หรือเท่ากับ 0.14 – 0.18 กรัม/หน่วยบริโภคที่ 150 – 200 กรัม ในการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 2 เมื่อเดือนมีนาคม 2553 พบไขมันทรานส์ในตัวอย่างจำนวน 5 จาก 6 ตัวอย่างที่ทดสอบด้วยอัตราเฉลี่ยเท่ากับ 0.04 กรัม/100 กรัม หรือเท่ากับ 0.06 – 0.08 กรัม/หน่วยบริโภค 150 – 200 กรัมซึ่งค่าเฉลี่ยของไขมันทรานส์ที่พบในการทดสอบทั้งสองครั้งนั้นต่ำกว่าค่ามาตรฐานการบริโภคไขมันทรานส์ที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริการแนะนำให้บริโภคไม่เกิน 0.7 กรัม/หน่วยบริโภคอยู่อย่างน้อยกว่า 3 เท่า     • น้ำมันทอดซ้ำ ยังเข้าข่ายเฝ้าระวังการทดสอบค่าของกรด (Acid Value) [จำนวนมิลลิกรัมของโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ ที่ทำปฏิกิริยาเป็นกลาง (Neutralize) พอดีกับกรดไขมันอิสระที่มีอยู่ในน้ำมันหรือไขมัน 1 กรัม] ซึ่งค่าของกรดจะเป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพของน้ำมันที่ใช้ในการทอดอาหาร โดยหากค่าของกรดต่ำหมายความว่าน้ำมันที่ใช้มีคุณภาพดีและหากค่าของกรดสูงหมายความว่าน้ำมันที่ใช้ผ่านการใช้ซ้ำมาแล้วหลายครั้ง จากการทดสอบพบว่า มีค่าเฉลี่ยของค่าของกรดจากการทดสอบครั้งที่ 3 เดือนเมษายน 2553 เท่ากับ 2.06 มิลลิกรัมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อน้ำมัน 1 กรัม (mgKOH/g oil) โดยมีตัวอย่างจำนวน 2 ตัวอย่าง จาก 15 ตัวอย่างส่งตรวจ ที่พบค่าของกรดสูงกว่า 3 มิลลิกรัมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อน้ำมัน 1 กรัม (mgKOH/g oil) [อ้างอิงโดยอนุโลมจากค่ามาตรฐานตามกฎหมายสาธารณสุขด้านอาหารของประเทศญี่ปุ่น (Japan Food Sanitation Act) เรื่อง น้ำมันในอาหารซึ่งสกัดออกจากอาหารของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป]       ได้แก่ ตัวอย่างจากร้าน เคเอฟซี สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าวที่ปริมาณ 5.44 มิลลิกรัมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อน้ำมัน 1 กรัม (mgKOH/g oil) และตัวอย่างจากร้านเบอร์เกอร์คิง สาขามาบุญครอง ที่ปริมาณ 4.47 มิลลิกรัมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อน้ำมัน 1 กรัม (mgKOH/g oil) นอกจากนั้นยังมีตัวอย่างอีก 3 ตัวอย่างที่มีปริมาณค่าของกรดใกล้เคียงกับมาตรฐาน (สูงกว่า 2 แต่ไม่ถึง 3 mgKOH/g oil โดยอ้างอิงเกณฑ์พึงระวังจากมาตรฐานกลางหรือโคเด็กซ์ - Codex Commodity Standard) คือตัวอย่างจากร้านแมคโดนัลด์ สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว ที่ปริมาณ 2.52 มิลลิกรัมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อน้ำมัน 1 กรัม (mgKOH/g oil) ในการเก็บตัวอย่างเดือนมีนาคม 2553 ตัวอย่างจากร้านเคเอฟซี สาขาเซ็นเตอร์วัน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่ปริมาณ 2.3 มิลลิกรัมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อน้ำมัน 1 กรัม (mgKOH/g oil) และ ตัวอย่างจากร้านแมคโดนัลด์ สาขาเซ็นเตอร์วัน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่ปริมาณ 2.22 มิลลิกรัมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อน้ำมัน 1 กรัม (mgKOH/g oil) ในการเก็บตัวอย่างเดือนพฤศจิกายน 2552         บริโภคแต่น้อย เพื่อสุขภาพที่ดีเมื่อดูภาพรวมหลังการทดสอบ การบริโภคเฟรนช์ฟรายขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคไตอันเนื่องมาจากได้รับโซเดียมเกินความต้องการของร่างกาย นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็ง ความดันโลหิต และหลอดเลือดหัวใจอันเนื่องมาจากการบริโภคน้ำมันทอดซ้ำ แต่ถ้ายังรู้สึกว่า ชีวิตจะไร้สีสันไปสักนิดหากงดบริโภคไปเลย ก็มีข้อแนะนำดังนี้  • ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคเฟรนช์ฟรายที่ขายในร้านอาหารจานด่วนทั้งหลาย โดยเฉพาะเฟรนช์ฟรายขนาดใหญ่ เพราะโอกาสที่จะกินให้หมดเนื่องจากเสียดายมีสูง • หากจะบริโภคจริงๆ ก็เลือกขนาดเล็ก กินให้น้อยและไม่ควรบริโภคติดต่อกันเป็นประจำ ถ้าเป็นไปได้ก็ขอให้เจ้าของร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดเปลี่ยนน้ำมันที่ใช้ทอดอาหารในร้านบ่อยๆ และใส่เกลือลงในเฟรนช์ฟรายให้น้อยลง • ทำกินเองที่บ้านก็ดีนะครับ เพราะสามารถควบคุมปริมาณเกลือที่จะใช้และอุณหภูมิในการทอดและคุณภาพของน้ำมันที่ใช้ทอดได้------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------  “น้ำมันทอดซ้ำ” น้ำมันทอดซ้ำ ถือเป็นภัยใกล้ตัวคนไทย เพราะบ้านเรามีพวกอาหารทอดๆ ขายเยอะแยะเต็มไปหมด น้ำมันทอดซ้ำก็คือน้ำมันที่ผ่านการทอดมาหลายครั้งจนเสื่อมคุณภาพและเกิดการแตกตัวเป็นสารโพลาร์ ซึ่งทำให้น้ำมันเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล มีกลิ่นเหม็นหืน และเป็นต้นเหตุทำให้เกิดมะเร็งในกระเพาะอาหาร ทำให้ตับเสื่อม นอกจานี้ยังก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด วิธีที่จะเลี่ยงภัยเสี่ยงจากน้ำมันทอดซ้ำ ก็ต้องพยายามสังเกตน้ำมันที่ร้านค้านั้นใช้ ต้องไม่มีกลิ่นเหม็นหืน หรือมีสีดำคล้ำ เวลาทอดต้องไม่มีฟองกับควันมากเกินไป เพราะนั้นแสดงว่าน้ำมันใช้มานาน ส่วนใครที่ทำกับข้าวกินเองที่บ้าน มีหลายวิธีหลีกหนีจากภัยน้ำมันทอดซ้ำ เช่น ไม่ควรใช้น้ำมันทอดอาหารซ้ำเกิน 2 ครั้ง หรือหากจำเป็นต้องใช้จริงๆ ให้เทน้ำมันเก่าทิ้ง 1 ใน 3 แล้วเติมน้ำมันใหม่ลงไปแทน ไม่ควรทอดไฟแรงเกินไป อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 160 – 180 องศาเซลเซียส หรือซับน้ำส่วนที่เกินบริเวณผิวหน้าอาหารดิบก่อนทอด ก็ช่วยชะลอการเสื่อมสลายตัวของน้ำมันได้ เฟรนช์ฟราย จานด่วน อันตราย!โดย นายพชร แกล้วกล้าผู้ประสานงานโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >