ฉบับที่ 274 ข้อสัญญาที่กำหนดว่า “ไม่คืนเงินมัดจำทุกกรณี” ใช้บังคับได้หรือไม่ (ตอนที่ 2)

        จากความเดิมในฉบับที่แล้ว ผู้ประกอบธุรกิจบางรายมักจะเขียนเงื่อนไขในสัญญาว่า ไม่คืนเงินมัดจำทุกกรณี สามารถกระทำได้หรือไม่ เรื่องนี้มีตัวอย่างปัญหาผู้บริโภคขึ้นสู่ศาล และศาลฏีกามีการวินิจฉัยเกี่ยวกับการกำหนดลักษณะข้อสัญญาดังกล่าว โดยถือว่าเป็นการใช้ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ให้ใช้บังคับได้เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น  ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 8424/2563         ...ดูก่อนหน้าจากฉบับ 273         อย่างไรก็ตามหากการซื้อขายระหว่างจำเลยกับนาย  ศ. ไม่เกิดขึ้นเพราะเหตุอันเกิดแต่การกระทำของนาย ศ.  และจำเลยไม่อาจริบเงินได้  เท่ากับจำเลยต้องรับผิดคืนเงินแก่นาย  ศ. แม้เป็นกรณีที่นาย  ศ. ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งเป็นการต้องรับภาระที่หนักกว่าของจำเลยเมื่อเปรียบเทียบกับของนาย  ศ.  ดังนี้  ข้อตกลงไม่คืนเงินจองกรณีสั่งซื้อรถที่มีคำสั่งซื้อพิเศษที่จำเลยกำหนดให้ตนไม่ต้องคืนเงินจองแก่นาย ศ. ในทุกกรณี  ซึ่งย่อมรวมถึงกรณีที่การซื้อขายมิได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของฝ่ายจำเลยและด้วยเหตุอันจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้รวมอยู่ด้วยนั้น  จึงเป็นข้อตกลงที่ทำให้นาย  ศ. ซึ่งเป็นผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญารวมอยู่ด้วย  ข้อสัญญาส่วนนี้จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม  พ.ศ.  ๒๕๔๐  มาตรา  ๔ มีผลให้ใช้บังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น  ซึ่งหมายถึงหากการซื้อขายระหว่างจำเลยกับนาย  ศ. ไม่เกิดขึ้นเฉพาะเหตุอันเกิดแต่การกระทำของนาย  ศ.  จำเลยชอบจะใช้สิทธิริบเงินซึ่งเป็นมัดจำตามข้อตกลงส่วนนี้ได้ เมื่อการซื้อขายระหว่างจำเลยกับนาย  ศ. ที่ไม่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการที่นาย  ศ. ปฏิเสธคำเสนอที่อนุมัติให้สินเชื่อและเกิดจากการที่นาย  ศ. ละเลยไม่เสนอขอให้บริษัทเมอร์ซิเดส  เบนซ์  ลีสซิ่ง  จำกัด  พิจารณาสินเชื่อแก่ตนในเงื่อนไขอื่นแล้วทำคำเสนอใหม่แก่ตน ซึ่งนำไปสู่การยกเลิกสัญญาจองระหว่างนาย  ศ. กับจำเลย เมื่อการซื้อขายระหว่างจำเลยกับนาย  ศ. ไม่เกิดขึ้นเพราะเหตุอันเกิดแต่การกระทำของนาย  ศ.  จำเลยจึงมีสิทธิริบเงินมัดจำ  200,000  บาท  ได้          อย่างไรก็ตามกรณีอยู่ใต้บังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม  พ.ศ. 2540 มาตรา 7 ที่บัญญัติว่า  “ในสัญญาที่มีการให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ  หากมีกรณีที่จะต้องริบมัดจำ  ถ้ามัดจำนั้นสูงเกินส่วน  ศาลจะลดลงให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้” แม้การดำเนินการเพื่อให้ได้สินเชื่อไม่เกิดขึ้นโดยเหตุอันเกิดแต่การกระทำของนาย  ศ.  แต่ผู้ประกอบธุรกิจในฐานะเช่นจำเลยซึ่งเป็นผู้ให้บริการแก่ลูกค้า  ชอบที่จะแจ้งเตือนให้นาย  ศ. ดำเนินการเพื่อให้ขอสินเชื่อภายใต้เงื่อนไขใหม่  ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจเช่นจำเลย  นอกจากจะรักษาผลประโยชน์ในทางธุรกิจของตนตามที่ควรจะได้รับโดยชอบแล้ว  ยังมีหน้าที่ต้องคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ที่นาย ศ. ผู้ซื้ออันเป็นผู้บริโภคสินค้าและบริการจากตนพึงได้รับตามสมควรด้วย  การที่จำเลยละเลยไม่แจ้งเตือนนาย  ศ. ว่าสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการอนุมัติสินเชื่อได้เพื่อให้นาย ศ. ทราบถึงสิทธิที่จะต่อรองเจรจาเพื่อขอสินเชื่อต่อไปซึ่งอาจทำให้การขอสินเชื่อสำเร็จได้ในเงื่อนไขที่เห็นชอบทั้งสองฝ่าย แต่จำเลยไม่กระทำ  จำเลยกลับใช้สิทธิริบเงินมัดจำตามข้อตกลงแล้วขายรถยนต์พิพาทให้แก่ผู้อื่นไปโดยไม่ได้ให้โอกาสแก่นาย  ศ. ที่จะรักษาประโยชน์ของตนซึ่งเป็นผู้บริโภคตามสมควร  ทั้งจะเป็นการรักษาประโยชน์ของจำเลยไปในขณะเดียวกันเพื่อให้ขายรถยนต์พิพาทที่มีอุปกรณ์พิเศษแก่นาย  ศ. ได้โดยไม่ขาดทุน         การกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมไม่ใช่มาตรฐานปกติประเพณีการค้าที่พึงปฏิบัติต่อผู้บริโภค  ดังนี้  การที่จำเลยต้องขายรถยนต์พิพาทไปในราคาขาดทุนดังจำเลยอ้าง  จำเลยจึงมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายอยู่ด้วย  เมื่อคดีไม่ปรากฏความเสียหายที่แท้จริงจากข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบและเมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ที่จำเลยมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายอยู่ด้วย จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยริบเงินมัดจำได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงที่กำหนดให้  120,000 บาท  จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำ  80,000 บาท  แก่นาย  ศ.  และกรณีเป็นเรื่องการคืนมัดจำที่สูงเกินส่วนตามที่ศาลกำหนด  หาใช่กรณีจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือเป็นกรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมจากการเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  224  วรรคหนึ่ง  และมาตรา  391  วรรคสองไม่  จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในค่าดอกเบี้ยนับแต่รับเงินมัดจำไว้  อย่างไรก็ตาม  เมื่อเป็นหนี้เงินและความรับผิดเกิดแต่คำพิพากษาของศาล  จึงกำหนดให้จำเลยรับผิดค่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละ  7.5 ต่อปี  ของต้นเงิน  80,000 บาท  นับแต่วันอ่านคำพิพากษาเป็นต้นไป        สรุปว่า หากการซื้อขายระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจไม่เกิดขึ้นเฉพาะเหตุอันเกิดแต่การกระทำของนาย  ศ.  ผู้ประกอบธุรกิจชอบจะใช้สิทธิริบเงินซึ่งเป็นมัดจำตามข้อตกลงส่วนนี้ได้  และในคดีนี้ ศาลยังเห็นว่า เงินมัดจำนั้น หากผู้ประกอบธุรกิจเรียกเก็บสูงเกินไป ศาลมีอำนาจศาลจะลดลงให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 การขอสินเชื่อของผู้บริโภค กับข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน  ในฉบับนี้ เราจะมาคุยกันถึงเรื่องสิทธิผู้บริโภคด้านสัญญากันครับ ก่อนอื่นต้องถามก่อนว่าใครไม่เคยยืมเงินบ้าง เชื่อว่าส่วนใหญ่ก็คงมีประสบการณ์ในการไปกู้หนี้ยืมสินกันบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ แต่สำหรับวันนี้ผมขอกล่าวถึงการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน  ซึ่งเวลาที่เราจะไปซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ เรามักจะไปทำเรื่องขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินกันใช่ไหม แต่ก่อนลงชื่อในสัญญา มีท่านใดอ่านเอกสารตอนทำสัญญาทุกข้อบ้าง ผมเชื่อว่าน้อยคนนักจะอ่านโดยละเอียด ซึ่งก็แน่นอนว่า สถาบันการเงินมักจะซ่อนข้อสัญญาที่ทำให้เราเสียเปรียบอยู่ด้วย เช่นกันกับคดีที่จะยกตัวอย่างมาให้ทุกท่านศึกษา เป็นเรื่องของลูกค้าธนาคารแห่งหนึ่งที่ไปขอสินเชื่อกับธนาคาร และได้ทำสัญญากู้เงิน สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี และสัญญากู้เงินประเภทวงเงินกู้หมุนเวียนในการใช้วงเงินสินเชื่อ โดยได้ทำบันทึกข้อตกลงยินยอมชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ ให้แก่ธนาคาร และก็ได้ชำระเงินกู้และใช้วงเงินสินเชื่อโดยเบิกถอนจากบัญชีและชำระหนี้ตลอดมา จนอยู่มาวันหนึ่ง เขาไม่ประสงค์จะกู้เงินและใช้วงเงินสินเชื่ออีกต่อไป จึงแจ้งธนาคารขอชำระหนี้ปิดบัญชีและไถ่ถอนหลักประกัน ธนาคารจึงได้แจ้งยอดหนี้และคิดค่าธรรมเนียมการยกเลิกวงเงินสินเชื่อกู้เบิกเงินเกินบัญชี เงินกู้หมุนเวียนและหนังสือค้ำประกัน ในอัตราร้อยละ 2 ของวงเงินสินเชื่อที่ขอยกเลิก  ลูกค้าท่านนี้เขาเห็นว่าการคิดค่าธรรมเนียมการยกเลิกวงเงินดังกล่าวไม่เป็นธรรม จึงทำหนังสือโต้แย้งธนาคารและขอสงวนสิทธิที่จะเรียกคืน แต่เมื่อได้มีการชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวไป จึงได้มีหนังสือทวงถามให้ธนาคารคืนเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าว แต่ปรากฎว่าธนาคารก็เพิกเฉยไม่คืน ทำให้เขาไปฟ้องคดีต่อศาล และศาลฏีกาได้ตัดสินให้ธนาคารคืนเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าว เนื่องจากข้อตกลงให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการยกเลิกวงเงินไม่เป็นธรรม ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 4904/2557คำพิพากษาฎีกาที่ 4904/2557“ พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น ตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวได้แยกข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ กับข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูป เป็นคนละส่วนกัน ทั้งนี้โดยคู่สัญญาในสัญญาสำเร็จรูปไม่จำต้องเป็นสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ เมื่อพิจารณาเอกสารสัญญาสินเชื่อแต่ละประเภทและบันทึกแล้ว เห็นได้ว่าเป็นการจัดทำโดยใช้แบบพิมพ์สัญญา และบันทึกข้อตกลงที่จำเลยเป็นผู้กำหนดขึ้นล่วงหน้าและนำไปใช้ได้กับลูกค้าทั่วไปที่ขอสินเชื่อประเภทเดียวกันจึงเป็นสัญญาสำเร็จรูป ซึ่งการจะพิจารณาว่าข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูปดังกล่าวเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าข้อตกลงนั้นเป็นผลให้ผู้กำหนดสัญญาแต่ละประเภทและบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งกำหนดให้จำเลยเรียกค่าธรรมเนียมการยกเลิกวงเงินสินเชื่อ เป็นข้อตกลงที่ให้สิทธิจำเลยผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปเรียกค่าธรรมเนียมจากโจทก์คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้ทุกกรณี ไม่ว่าโจทก์จะใช้วงเงินสินเชื่อหรือไม่ อย่างไร  จึงเป็นข้อตกลงที่ให้สิทธิจำเลยเรียกร้องหรือกำหนดให้โจทก์ต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญามีผลให้โจทก์รับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้จำเลยได้เปรียบโจทก์ ตาม พ.รบ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคสาม (5) จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรม และพอสมควรแก่กรณีนั้น แม้โจทก์จะทำสัญญาสินเชื่อแต่ละประเภทและบันทึกข้อตกลงด้วยความสมัครใจ โดยจำเลยคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยประกาศเรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไป และโจทก์ได้รับประโยชน์ในรูปของดอกเบี้ยที่ลดลงตลอดมา แต่เมื่อพิจารณาบันทึกข้อตกลงในส่วนของวงเงินตามสัญญากู้เงินที่ตกลงให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 1 ของจำนวนเงินกู้ หากโจทก์ชำระคืนต้นเงินก่อนครบกำหนดระยะเวลา 3 ปี ซึ่งดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินดังกล่าว จำเลยคิดในอัตราต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยประกาศเรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปเช่นเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าโจทก์ใช้วงเงินสินเชื่อแต่ละประเภทมาเกินกว่า 3 ปี โดยเสียดอกเบี้ยให้จำเลยมาตลอด ถือได้ว่าจำเลยได้รับผลตอบแทนจากการใช้วงเงินสินเชื่อของโจทก์มาพอสมควรแก่กรณีแล้ว หากกำหนดให้โจทก์ต้องชำระค่าธรรมเนียมการยกเลิกวงเงินสินเชื่อให้จำเลยอีกย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าธรรมเนียม การยกเลิกวงเงินสินเชื่อให้แก่โจทก์” จากตัวอย่างคดีข้างต้น  ชี้ให้เห็นความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิด้านสัญญา  โดยเฉพาะสัญญาสำเร็จรูปที่ผู้ประกอบธุรกิจทำขึ้นฝ่ายเดียว โดยเราไม่มีโอกาสแก้ไขข้อสัญญา เราต้องตรวจสอบสัญญาก่อนลงลายมือชื่อทุกครั้ง และหากพบว่ามีข้อสัญญาไม่เป็นธรรม ทำให้เราเสียเปรียบ ก็ควรเรียกร้องโต้แย้งไว้โดยทำเป็นหนังสือให้ปรากฎหลักฐาน อย่างเช่นในคดีนี้ที่โจทก์พบว่าหลังจากทำสัญญาสินเชื่อกับธนาคาร  ตนถูกธนาคารเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการยกเลิกวงเงินสินเชื่อที่ไม่เป็นธรรม ก็ต่อสู้จนได้เงินคืนในที่สุด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 ถูกเรียกค่าเช่าห้องก่อนย้ายออกไม่เป็นธรรม

ปรารถนา ทำสัญญาเช่าห้องกับอพาร์ทเม้นท์แห่งหนึ่งย่านอ้อมน้อย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2555สัญญาระบุค่าเช่าห้องและค่าเช่าเฟอร์นิเจอร์ราคา 3,900 บาทต่อเดือน เก็บค่าประกันเฟอร์นิเจอร์ 5,000 บาท กำหนดพักอาศัยไม่ต่ำกว่า 6 เดือนนับแต่วันที่เช่า  หากเช่าไม่ครบกำหนด อพาร์ทเม้นท์จะไม่คืนเงินค่าประกันให้ในขณะที่ปรารถนาได้ให้ข้อมูลว่า ห้องที่เข้าพักเป็นห้องวีไอพี สัญญาจึงต้องอยู่ขั้นต่ำ 3 เดือน โดยจะครบกำหนดวันที่ 4 มิถุนายน 2555 (ตรวจสอบสัญญาแล้วไม่มีข้อความไหนที่ระบุตามเงื่อนไขนี้) พอเข้าพักอาศัยปรารถนาบอกว่าพบความไม่สะดวกหลายอย่างในการเข้าพักที่อพาร์ทเม้นท์แห่งนี้ เช่น เสียงดังจากถนนใหญ่ การเก็บค่าไฟฟ้ามากเกินจริง ร้านซักรีดรีดเสื้อผ้าไม่ประณีต และเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญที่สกปรก รวมไปถึงเรื่องการจราจรที่ต้องใช้เวลารอการข้ามถนนนานมากทำให้ไปงานสาย จึงอยากย้ายออกก่อนกำหนดที่เข้าใจว่าคือวันที่ 4 มิถุนายน 2555 แต่ต้องการเงินประกันคืนในวันที่ 11 พฤษภาคม 2555 ปรารถนาจึงไปปรึกษากับเสมียนสำนักงานอาคารว่าอยากขอย้ายออกก่อนกำหนด โดยให้เหตุผลแบบเนียนๆ ว่า ต้องเดินทางไปต่างประเทศ ดูเท่ไม่เบา เสมียนก็เห็นใจแจงว่า หากย้ายออกก่อนกำหนดและต้องการเงินประกันคืน ทางอาคารจะคิดค่าเช่าถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2555 แล้วถึงจะได้เงินประกันคืนหลังจากนั้น ซึ่งปรารถนาก็ยินยอมวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 จึงได้ไปกรอกแบบฟอร์มแจ้งความจำนงขอย้ายออก พบเงื่อนไขในแบบฟอร์มว่า “กรณีผู้เช่าออกไม่เกินวันที่ 15 ของเดือน จะเก็บค่าเช่าห้องพักถึงวันที่ 15 เท่านั้น โดยสามารถรับเงินค่าประกันห้องพักคืนได้ตั้งแต่วันที่ 20 ของเดือนที่ย้ายออกเป็นต้นไป กรณีผู้เช่าย้ายออกหลังจากวันที่ 15 ของเดือน จะเก็บค่าเช่าห้องพักเต็มเดือน โดยสามารถรับเงินค่าประกันห้องพักคืนได้ตั้งแต่วันที่ 10 ของเดือนถัดไปเป็นต้นไป” จากเงื่อนไขที่ว่า ทำให้ปรารถนาต้องถามย้ำกับเสมียนอพาร์ทเม้นท์ว่า ตนเองจะต้องเสียค่าเช่าถึงวันที่เท่าไหร่ ก็ได้รับคำตอบยืนยันเหมือนเดิมว่า คิดค่าเช่าถึงวันที่ 4 มิถุนายนเท่านั้นและเงินประกันห้องจะได้คืน พอถึงวันย้ายของออก ได้มีเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานมาแจ้งกับปรารถนาว่าจะต้องจ่ายค่าเช่าถึงวันที่ 15 มิถุนายนหรือจ่ายอีกครึ่งเดือนตามเงื่อนไขที่ได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วถึงจะได้เงินประกันคืน ปรารถนาเลยไม่ยอมเพราะเจรจาและเข้าใจมาโดยตลอดว่าจ่ายถึงวันที่ 4 มิถุนายนเท่านั้น แล้วนำเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาได้ฟังเรื่องราวแล้วดูชุลุมุนอีรุงตุงนังเหมือนกัน เนื่องจากการสื่อสารที่ไม่ได้ยึดข้อสัญญาที่ทำไว้ และด้วยความปรารถนาดีของเสมียนอพาร์ทเม้นท์ที่อยากจะช่วยเหลือผู้ร้องเรียนทั้งๆ ที่ตนเองไม่มีอำนาจ ก็เลยทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนห่างไกลไปจากข้อสัญญาที่ทำไว้มากขึ้นเรื่อยๆอพาร์ทเม้นท์แห่งนี้แม้จะมีข้อเสียหลายประการ แต่จุดดีอย่างหนึ่งก็คือการเปิดโอกาสให้ผู้เช่าแจ้งย้ายออกได้โดยให้บอกกล่าวล่วงหน้าก่อน 15 วันเท่านั้น เพราะที่เห็นมาบางแห่งต้องแจ้งก่อนเป็นเดือน และอีกประการคือหากแจ้งย้ายก่อนวันที่ 15 ของเดือนก็จะคิดค่าเช่าแค่ครึ่งเดียวบางแห่งก็ฟาดซะเต็มเดือนดังนั้นเมื่อปรารถนาแจ้งย้ายเป็นทางการด้วยการกรอดแบบฟอร์มแจ้งความจำนงขอเลิกสัญญาเช่าในวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 ตามสัญญาที่ถือกันอยู่ปรารถนาก็มีสิทธิที่จะอยู่พักในห้องเช่าได้ไปจนถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2555 เพราะมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าเช่าอีกครึ่งเดือนตามสัญญาอยู่แล้ว ที่ว่ามานี้เป็นไปตามสัญญาทั่วไปที่ใช้ปฏิบัติกันอยู่แต่ทั้งนี้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ออกประกาศ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าที่อยู่อาศัยที่เรียกเงินประกันเป็นธุรกิจควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2549 ซึ่งกำหนดให้ผู้เช่ามีสิทธิได้รับคืนเงินประกันทันทีเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาเช่าที่อยู่อาศัย หรือเมื่อสัญญาเช่าเลิกกัน เว้นแต่กรณีที่ผู้ให้เช่าประสงค์จะตรวจสอบความเสียหายที่ผู้เช่าต้องรับผิดชอบ หากผู้เช่าไม่ได้ทำความเสียหาย ผู้เช่ามีสิทธิได้รับคืนเงินประกันภายใน 7 วัน โดยให้ผู้ให้เช่ารับภาระค่าใช้จ่ายในการนำส่งคืนเงินประกันตามวิธีการที่ผู้เช่าแจ้งให้ทราบดังนั้น เมื่อปรารถนาบอกเลิกสัญญาในวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 และแจ้งจะขนย้ายของออกในวันที่ 27 พฤษภาคม 2555  ส่วนผู้ให้เช่าขอตรวจสอบความเสียหาย แล้วไม่พบความเสียหายก็จะต้องคืนเงินประกันภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2555 ซึ่งสามารถที่จะหักค่าเช่าห้องครึ่งเดือนที่ค้างอยู่ตามสัญญาได้หากอพาร์ทเม้นท์หรือห้องเช่าแห่งไหนที่มีการเรียกเก็บเงินประกันไม่มีข้อความหรือรายการแจ้งสิทธิตามประกาศของ สคบ. ผู้บริโภคสามารถแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ให้เช่าได้ทันที ฐานความผิดคือมีใบเสร็จรับเงินที่ไม่มีรายการตามที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกำหนด มีความผิดตามมาตรา 57 ของพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ประกอบธุรกิจสามารถไปซื้อแบบหลักฐานการรับเงินที่ถูกต้องตามกฎหมายได้ที่กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โทรติดต่อสอบถามได้ที่ 02-1430377-83

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 แอร์การ์ดทรู เรียกเก็บค่าบริการไม่เป็นธรรม

เรื่องมีอยู่ว่า...เมื่อเดือนธันวาคม 2555 ผมเดินทางไปเชียงใหม่ จำเป็นต้องส่งข่าวกลับ กทม.ผมจึงซื้อแอร์การ์ดของทรูมาใช้ในราคา 990 บาท ตอนซื้อมานึกว่าจะใช้ได้เลย ก็กลับใช้ไม่ได้ทันที โดยต้องสมัครอะไรไม่รู้วุ่นวาย จากนั้น Call Center 1331 แนะนำว่าถ้าจะใช้งานทันที ต้องสมัครแบบคิดค่าบริการรายเดือน..ผมต้องการรีบส่งข่าวก็เลยยอมเวลาผ่านไปการใช้งานแอร์การ์ด ก็ดีบ้างไม่ดีบ้าง..โดยวันที่ 21 ธันวาคม 2555 ผมโทรไป 1331 อีกครั้ง เพื่อถามว่า..จะขอยกเลิกบริการต้องทำอย่างไร เจ้าหน้าที่บอกว่า..โปรโมชั่นจากยอด 990 ที่ซื้อมาสามารถใช้ได้ถึงเดือนมิถุนายน โดยถ้าไม่ใช้ก็ไม่มีค่าบริการ ซึ่งผมก็คิดว่า..ใกล้ๆ เดือนมิถุนายนค่อยไปยกเลิกก็ยังทันปรากฏว่าเดือนมีนาคมมีบิลมาเรียกเก็บค่าบริการ 4 ร้อยกว่าบาท ทั้งๆ ที่ไม่ได้ใช้แอร์การ์ดเลยตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม ผมโทรไป 1331 สอบถาม ได้คำตอบว่า...ค่าใช้จ่ายมีเดินทุกเดือน แต่ที่ไม่ส่งบิลมาให้ เพราะจะใช้วิธีหักจากยอด 990 บาทให้หมดก่อน เมื่อยอดเกินค่อยส่งใบเรียกเก็บ กรณีนี้..ทรูส่อพฤติกรรมซุ่มเงียบตีกินโดยไม่รู้ตัว เพราะถ้าส่งใบเสร็จมาให้ตั้งแต่เดือนธันวาคมหรือมกราคม ถึงแม้จะเป็นยอดที่หักจาก 990 บาท ก็ควรส่งใบเรียกเก็บทุกเดือนให้ลูกค้าเข้าใจได้ว่ามีค่าใช้บริการเดินอยู่ เพราะอย่างน้อยถ้ามีการเรียกเก็บเงินตั้งแต่แรกผมก็จะได้ไปดำเนินการปิดบริการตั้งแต่เดือนมกราคมแล้วหลังจากนั้น..ผมพยายามติดต่อทั้งทาง 1331 ทั้งทางเว็บไซต์ เพื่อขอฟังเทปสนทนาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ถ้าผมผิดจริงก็ยินดีจ่ายให้ แต่ถ้าพนักงานแนะนำไม่ให้ปิดบริการจริง ทางทรูก็ต้องรับผิดชอบโดยไม่คิดค่าบริการส่วนเกินที่เรียกเก็บ..ก็เท่านั้น ซึ่งระหว่างหาเทปสนทนามายืนยันไม่ได้ ผมก็ขอให้ทรูระงับค่าบริการไม่ให้เดินหน้าต่อไปอีก ซึ่งคำตอบก็คือ..ต้องจ่ายค่าบริการที่ค้างอยู่ก่อนจึงจะปิดบริการได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตอบได้แค่เบสิกพื้นฐานตามระเบียบอย่างเดียวแล้วถ้าผมยอมจ่ายส่วนเกินที่ไม่เป็นธรรมแล้วให้ปิดบริการ ก็เท่ากับผมยอมรับยอดเงินส่วนเกินอย่างงั้นเหรอ..มันไม่ถูกต้อง ถึงจะไม่กี่ร้อยบาท แต่ถ้าลูกค้าเจอแบบนี้เข้าไปหลายๆ ราย..จะเป็นเงินเท่าไหร่(เคยตัว) จนป่านนี้..ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ระดับตัดสินใจได้หรือแก้ปัญหาเป็น มาแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จ คงปล่อยให้เวลาเนิ่นนานไปเรื่อยๆ..ถ้าเดาไม่ผิด เพื่อจะเอาค่าบริการที่ยังเดินอยู่นั่นเอง แนวทางแก้ไขปัญหาหลักการในการแก้ไขปัญหาสำหรับคนที่เจอปัญหาการบอกเลิกสัญญาบริการโทรคมนาคมในลักษณะเดียวกันนี้...เมื่อผู้บริโภคไม่ประสงค์จะใช้บริการอีกต่อไป และไม่มีค่าบริการติดค้างกันอยู่ ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะบอกเลิกการใช้บริการได้ทุกเมื่อ ส่วนใหญ่มักจะถูกสาวคอลเซนเตอร์หรือพนักงานบริการปฏิเสธไว้ก่อนว่าบอกเลิกไม่ได้ ดังนั้น การบอกเลิกสัญญาบริการโทรคมนาคมที่ดีที่สุดคือ การบอกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรส่งไปถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่ของผู้ให้บริการ แล้วเก็บรายละเอียดการบอกเลิกสัญญาไว้เป็นหลักฐาน หากผู้ให้บริการยังมาเรียกเก็บอีก ผู้บริโภคอาจจะเรียกร้องค่าเสียหายกับผู้ให้บริการได้ โทษฐานเบาะๆ คือ การก่อความเดือดร้อนรบกวนรำคาญ แต่หากระหว่างการบอกเลิกสัญญากันนั้น หลังจากที่ได้หักค่าบริการที่ได้ใช้บริการกันไปแล้ว ยังมีค่าบริการเหลืออยู่ ผู้บริโภคสามารถเรียกร้องให้ผู้ให้บริการคืนค่าบริการที่เหลืออยู่ได้อีกด้วยนอกจากปัญหาทำนองนี้แล้ว ปัญหาในบริการของทรูที่มีการร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิฯ จนเป็นเรื่องร้องเรียนที่ซ้ำซากเอามากๆ คือ ซิมทรูมูฟแจกฟรี แล้วมาลักไก่เก็บค่าบริการรายเดือนในภายหลัง เมื่อผู้บริโภคเจอปัญหาแบบนี้คำตอบเดียวคือ ไม่ต้องจ่ายเงินครับ และให้มีหนังสือแจ้งไปที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของทรูด้วยตัวเองได้เลย ทางจดหมาย (Mail) ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเลขที่ 1252 ชั้น 14 อาคารทรูทาวเวอร์2 ถนนพัฒนาการ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กทม.10250 ทางโทรศัพท์ (Call Center) (ไม่คิดค่าบริการ) ผ่านเลขหมาย 0-2900-8088 เวลาทำการ: ทุกวัน เวลา 08.00น.-20.00น. ไม่มีเวลาพัก ทางโทรสาร (Fax) (คิดอัตราค่าใช้จ่ายตามอัตราปกติ) ผ่านเลขหมาย 0-2699-4338 ทางจดหมายอิเลคทรอนิคส์ (Email) Email Address: voc@truecorp.co.th ทางเว็บไซต์ (Website) www.trueinternet.co.th ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของผู้ให้บริการโทรคมนาคมทุกรายถูกกำหนดขึ้นตาม ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง “กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาเรื่อง ร้องเรียนของผู้ใช้บริการ” ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2549 ได้กำหนดไว้ในข้อ 20 บทเฉพาะกาลว่า “ ให้ผู้รับใบอนุญาตจัดให้มีหลักเกณฑ์การรับเรื่องร้องเรียนและการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน...” และในข้อ 15 วรรคหนึ่งได้ระบุว่า “ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นแยกออกจากหน่วยงาน ตอบคำถามหรือข้อสงสัยทั่วไป เพื่อทำหน้าที่ดูแลการรับเรื่องร้องเรียนและการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน” และในวรรคที่ 2 ระบุต่อว่า “การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ผู้ได้รับใบอนุญาตอาจดำเนินการด้วยตัวเองหรือจัดจ้างให้บุคคลอื่นดำเนินการ โดยผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายอาจร่วมกันจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นเพื่อทำหน้าที่ก็ได้…”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 สัญญาแบบใด ไม่เป็นธรรม ?

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านครั้งนี้ เราจะมาพูดถึงเรื่องสัญญากันครับ  สังเกตไหมครับว่า เวลาเราไปซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือไปเช่าบ้าน เช่าหอพัก ฝ่ายผู้ขายหรือผู้ให้เช่า มักจะนำฟอร์มสัญญาที่ตนได้เขียนข้อสัญญาต่างๆ ไว้ มาให้เราเซ็นชื่อ เพื่อทำสัญญา ซึ่งสัญญาประเภทนี้  ภาษากฎหมายเรียกว่า “สัญญาสำเร็จรูป” ซึ่งด้วยในการทำสัญญาดังกล่าว บ่อยครั้ง จะพบว่าผู้บริโภคมักจะเสียเปรียบ เนื่องจากคนกำหนดข้อสัญญาเป็นฝั่งผู้ประกอบธุรกิจที่มักเขียนเงื่อนไขในสัญญาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตน หรืออีกความหมายคือเป็น สัญญาจำยอม(adhesive contract) สัญญาจำยอม คือ สัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายที่มีอำนาจในทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่ากำหนดในข้อสัญญา ในลักษณะที่เอาเปรียบหรือไม่เป็นธรรมตู่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง และคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งก็มีเพียงเสรีภาพที่จะเลือกว่า จะทำสัญญาหรือไม่ทำสัญญา ถ้าทำสัญญาก็ต้องทำตามเนื้อหาที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า มีลักษณะมัดมือชก ทั้งนี้ ให้ศาลใช้ดุลพินิจปรับลดข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมให้มีผลเพียงเท่าที่เป็นธรรม ด้วยเหตุนี้ เมื่อเกิดสัญญาสำเร็จรูปเพิ่มมากขึ้น จึงเกิดกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคฉบับหนึ่งขึ้นมาเรียกว่า “พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540”คำถามที่เกิดขึ้นต่อมาคือ แล้วข้อสัญญาแบบใดบ้างที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งก็มีคดีฟ้องขับไล่คดีหนึ่งที่ขึ้นสู่ศาล โดยในสัญญาเช่า ข้อหนึ่งระบุว่า “ตกลงให้สิทธิแก่ผู้ให้เช่าที่จะบอกเลิกสัญญาได้แม้สัญญาเช่ายังไม่สิ้นสุดแต่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนไม่ต่ำกว่า 30 วัน” ปรากฎว่า ผู้ให้เช่าก็ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่า ทำให้ผู้เช่าต้องย้ายออกไป ซึ่งผู้เช่าเห็นว่าข้อสัญญาดังกล่าวไม่เป็นธรรม จึงฟ้องให้ศาลชี้ขาด ซึ่งสุดท้ายศาลฏีกาก็ตัดสินว่าข้อสัญญาเช่นนี้ไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ตามคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2298/2553“ข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูปใดๆ อาจเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมได้ หากปรากฏว่าข้อตกลงนั้นมีผลทำให้ผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร ทั้งนี้โดยคู่สัญญาในสัญญาสำเร็จรูปไม่จำต้องเป็นสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพแบบพิมพ์สัญญาเช่าที่โจทก์เป็นผู้กำหนดขึ้นล่วงหน้าและโจทก์นำมาใช้กับผู้เช่าทุกคนจึงเป็นสัญญาสำเร็จรูป เมื่อไม่ปรากฏจากข้อนำสืบของจำเลยว่าข้อตกลงตามสัญญาเช่า ข้อ 8 เป็นการเอาเปรียบฝ่ายผู้เช่าเกินสมควรอย่างไร เพราะเหตุใด ลำพังเพียงการตกลงให้สิทธิแก่ผู้ให้เช่าที่จะบอกเลิกสัญญาได้แม้สัญญาเช่ายังไม่สิ้นสุดแต่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนไม่ต่ำกว่า 30 วันนั้น ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่ทำให้ฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าได้เปรียบฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าเกินสมควร ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540  ตามสัญญาเช่าข้อ 8 ไม่มีลักษณะเป็นข้อความอันบังคับไว้ให้สัญญาเช่าเป็นผลหรือสิ้นผลต่อเมื่อมีเหตุการณ์อันไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ในอนาคตตาม ป.พ.พ. มาตรา 182 แต่เป็นเรื่องของการตกลงให้สิทธิแก่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งที่จะใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ก่อนที่อายุสัญญาตามที่ตกลงกันไว้จะสิ้นสุด โดยคู่สัญญาฝ่ายนั้นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าชั่วระยะเวลาหนึ่ง จึงไม่ใช่เงื่อนไขของสัญญาเช่า  โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยโดยอ้างเหตุว่า จำเลยกับ พ. หลอกลวงโจทก์จนหลงเชื่อเข้าทำสัญญาเช่ากับจำเลยขอให้เพิกถอนสัญญาเช่า ประการหนึ่ง กับโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลยโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่า ข้อ 8 ทำให้สัญญาเช่าสิ้นสุดลง อีกประการหนึ่ง สิทธิของโจทก์ทั้งสองประการแยกจากกันได้ไม่เป็นการขัดกัน แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยหลอกลวงโจทก์ในการทำสัญญาเช่าก็หาเป็นการตัดสิทธิโจทก์ที่จะใช้สิทธิตามสัญญาเช่าข้อ 8 เพื่อเลิกสัญญาแก่จำเลยไม่”อีกเรื่องที่น่าสนใจ เป็นกรณีสัญญาจ้างงาน โดยมีการกำหนดข้อตกลงในทำนองว่า ระหว่างจ้างงานจะไม่ดำเนินการหรือมีส่วนได้เสียในธุรกิจอื่น เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากผู้ว่าจ้าง และภายหลังการจ้างสิ้นสุดลง ภายใน 6เดือน ต้องไม่ดำเนินการหรือมีส่วนได้เสียในกิจการหรือเป็นคู่แข่งผู้ว่าจ้าง ซึ่งศาลได้วินิจฉัยว่า ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นไปเพื่อปกป้องข้อมูลความลับทางการค้าของผู้ว่าจ้างให้อยู่รอดต่อไปได้ เป็นข้อตกลงที่ชอบด้วยกฎหมายไม่เกินสมควรหรือเอาเปรียบกัน  ( คำพิพากษาที่ 4123/2549 )อีกเรื่องเป็นกรณี สัญญาใช้หนี้แทน ที่เจ้าหนี้ให้พี่น้องของผู้ตายทำขึ้น มีข้อตกลงให้ผู้ทำสัญญาชำระหนี้ส่วนต่างจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนอง และหากขายทอดตลาดไม่ได้ภายใน 1 ปี ผู้ทำสัญญาจะชำระหนี้ให้เป็นงวดจนกว่าจะครบ ศาลตัดสินว่าข้อสัญญาดังกล่าว เป็นข้อตกลงที่ทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายเกินสมควร จึงเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ให้มีผลบังคับได้เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11731/2555จำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากับผู้ตาย และจำเลยกับผู้ตายเป็นลูกหนี้สินเชื่อของโจทก์เช่นเดียวกัน การที่จำเลยทำสัญญารับใช้หนี้ตามคำพิพากษาศาลแพ่ง โดยจำเลยยอมรับผิดร่วมกับกองมรดกของผู้ตาย โดยมีข้อตกลงและเงื่อนไขสำคัญว่า เมื่อโจทก์ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้เพียงใด จำเลยจะชำระหนี้ในส่วนต่างระหว่างหนี้ตามคำพิพากษาและดอกเบี้ยจนถึงวันชำระเสร็จและค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองคดีกับเงินสุทธิที่ได้รับจากการขายทอดตลาด และหากขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไม่ได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาจำเลยจะชำระหนี้แก่โจทก์เป็นงวดจนกว่าจะครบนั้นก็เนื่องจากในขณะนั้นสินเชื่อในส่วนของจำเลยเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ หากจำเลยไม่เข้ารับใช้หนี้ของผู้ตายแล้วโจทก์ก็จะไม่ปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมให้แก่จำเลยอีก ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นการเพิ่มเติมความรับผิดของจำเลยในฐานะทายาทเกี่ยวกับหนี้สินของผู้ตายที่ทายาทไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ตกได้แก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601 ดังนั้น สัญญารับใช้หนี้จึงเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 154 สัญญาที่ไม่เป็นธรรมของบริการผ่านอินเตอร์เน็ตโปรแกรม SKYPE

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการปัจจุบันการใช้บริการโทรศัพท์ติดต่อผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เพราะสะดวก และประหยัด เช่น การใช้ บริการผ่านโปรแกรมของบริษัทไมโครซอฟท์ ที่มีชื่อว่า SKYPE ซึ่งเป็นบริการที่ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้ ผ่านทางอินเตอร์เนต และมีโปรโมชันให้เลือกเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนีก็ได้ทำหนังสือเตือนไปยังผู้ให้บริการของ SKYPE เนื่องจากมีสัญญา 20 ข้อที่เข้าข่าย เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ละเมิดสิทธิและเอาเปรียบผู้บริโภค  ยกตัวอย่างเช่น “การที่ผู้ให้บริการ SKYPE สามารถยกเลิก และเปลี่ยนแปลงสัญญาการให้บริการได้ทุกกรณี และตลอดเวลา โดยไม่จำเป็นต้องให้ผู้บริโภคยินยอม” “วงเงินเครดิตในการใช้โทรศัพท์ ก็จะมีอายุเพียง 6 เดือน นับจากวันที่ผู้บริโภคได้ชำระเงินซื้อบริการ” “กรณีการฟ้องร้องต่อศาล ก็ต้องไปขึ้นศาลที่ประเทศลักเซมเบิร์ก และใช้กฎหมายของประเทศลักเซมเบิร์กเป็นฐานในการดำเนินคดี” “บริษัทจะไม่รับผิดใด ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากทางบริษัทไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ก็ตาม”   นอกจากนี้ทางผู้ให้บริการก็สามารถเปลี่ยนแปลงอัตราค่าโทรศัพท์ได้ฝ่ายเดียว ซึ่งข้อความดังกล่าวได้ระบุไว้เป็นอักษรที่มีขนาดเล็ก ที่ผู้บริโภคมักมองข้ามไป การทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังบริษัทผู้ให้บริการนั้น นับว่าประสบความสำเร็จในเบื้องต้น ทางไมโครซอฟท์ ก็ได้เปลี่ยนแปลงสัญญาการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นในประเด็นเรื่องการบอกยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงสัญญาที่ต้องแจ้งล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 30 วัน หรือการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าบริการก็ต้องแจ้งล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 30 วันเช่นกัน และยกเลิกการหมดอายุของวงเงินเครดิตในการใช้งาน การเปลี่ยนแปลงสัญญาที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าวนั้น ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคเองก็ได้ชื่นชมผู้ให้บริการที่ ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค เพราะถ้าเป็นคดีความฟ้องร้องกว่าที่จะมีคำตัดสินของศาลเพื่อการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคนั้นก็จะกินเวลาหลายปีทีเดียว สำหรับการให้บริการประเภทนี้ ทางหน่วยงาน กำกับดูแลทางด้านโทรคมนาคม คือ กสทช. คงจะต้องลงไปดู รายละเอียดของสัญญา ผู้ให้บริการรายอื่นๆ ด้วยว่าเข้าข่ายละเมิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคไทยหรือไม่ เพราะปัจจุบันการให้บริการหลายๆ ประเภท จะเป็นการดำเนินธุรกรรมผ่านทางโลกออนไลน์ที่ไร้พรมแดน แต่ถ้าเกิดคดีฟ้องร้องกัน นั้น คงเกิดปัญหาขึ้นแน่นอนว่าจะใช้กฎหมายของประเทศอะไร ในเบื้องต้น ทาง กสทช. ก็คงต้องรีบตรวจสอบสัญญาการให้บริการ เพื่อที่จะป้องกันการละเมิดสิทธิผู้บริโภคคนไทยครับ ที่มา http://www.vzbv.de/12564.htm วันที่ 5.12.2013   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 177 แฟร์เทรด (การค้าที่เป็นธรรม) เรื่องที่มักเข้าใจผิด

ในช่วง 2-3 ปีมานี้ เริ่มมีการพูดกล่าวถึงเรื่องแฟร์เทรด หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “การค้าที่เป็นธรรม” กันมากขึ้น แม้ว่าในประเทศพัฒนาแล้ว แฟร์เทรดเป็นเรื่องที่ผู้บริโภครู้จักและให้ความสนใจ ในการเลือกซื้อสินค้าแฟร์เทรดมานานพอควร โดยเฉพาะประเทศในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา  “ฉลาดซื้อ” เล่มนี้จึงมีบทความพิเศษสำหรับผู้อ่าน เพื่อทำความเข้าใจประเด็นสำคัญ ที่มักจะเข้าใจผิด และการกล่าวอ้างที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับแฟร์เทรดในประเทศไทยใครทำธุรกิจแฟร์เทรด    ผู้คนจำนวนไม่น้อย ทั้งผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค มักจะมีความคิดและความเชื่อของตัวเองว่า อะไรคือการทำธุรกิจการค้าที่เป็นธรรม  หลายคนมักจะบอกว่า ธุรกิจของฉัน หรือธุรกิจนี้นั้นเป็นแฟร์เทรด  บางคนบอกว่า แฟร์เทรดต้องเป็นธรรมกับผู้ผลิต บางคนบอกว่า ต้องเป็นธรรมกับผู้บริโภค บางคนบอกว่า ทั้งสองอย่างเท่าๆ กัน และบางคนก็ตั้งคำถามต่อว่า แล้วไม่ต้องเป็นธรรมกับธรรมชาติ/สิ่งแวดล้อมหรือ  ก่อนที่จะพูดถึงหลักการของแฟร์เทรด ลองมาพิจารณากันดูก่อนว่า ธุรกิจข้างล่างนี้ ท่านคิดว่า ธุรกิจใดน่าจะเข้าข่ายธุรกิจแฟร์เทรดกันบ้าง1) บริษัท ก. ซื้อผลผลิตข้าวหอมมะลิทั่วไป (ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์) จากกลุ่มเกษตรกร โดยให้ราคาสูงกว่าราคาในท้องตลาดเท่าตัว แต่ซื้อตามปริมาณที่ลูกค้าสั่งซื้อ ซึ่งประมาณเท่ากับ 5% ของผลผลิตทั้งหมดของกลุ่มเกษตรกร2) บริษัท ข. ซื้อผลผลิตข้าวหอมมะลิทั่วไป (ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์) จากกลุ่มเกษตรกร โดยให้ราคาสูงกว่าราคาในท้องตลาด 5% แต่ซื้อผลผลิตทั้งหมดของกลุ่มเกษตรกร3) สามีภรรยาที่เป็นคนเมืองตัดสินใจผันตัวไปเป็นเกษตรกร ทำเกษตรอินทรีย์ในชนบท มีการจ้างงานชาวบ้านจากชุมชนรอบฟาร์ม โดยจ่ายค่าแรงตามกฎหมายแรงงาน และขายผักออร์แกนิคที่ปลูกได้โดยตรงให้กับผู้บริโภคในเมือง4) บริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ขายสินค้าอุปโภคทั่วไป ซื้อข้าวสารออร์แกนิค ที่ปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ จากกลุ่มเกษตรกร เพื่อปรุงเป็นอาหารกลางวันให้กับลูกจ้างในโรงงาน/บริษัท ที่เป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการให้กับลูกจ้าง5) สหกรณ์การเกษตร ที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรสมาชิก ที่ปลูกพืชในระบบเกษตรทั่วไป/อาหารปลอดภัย โดยมีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีการเกษตร แล้วนำมาสีที่โรงสีของตัวเอง หรือไปจ้างโรงสีเอกชนให้สีข้าวให้ แล้วขายผลผลิตให้กับห้างซูเปอร์มาร์เก็ต โดยบางส่วนขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง 6) บริษัทธุรกิจการเกษตร ที่ทำสัญญาการผลิตและซื้อขายล่วงหน้ากับกลุ่มเกษตรกร โดยการกำหนดราคารับซื้อผลผลิตที่สูงกว่าราคาทั่วไปในท้องตลาด     เมื่องลองอ่านหลักการแฟร์เทรดข้างล่างนี้ดู แล้วกลับไปทบทวนดูใหม่ว่า ธุรกิจแบบใดบ้างที่เป็นธุรกิจแฟร์เทรดจริงหลักการแฟร์เทรด1. สร้างโอกาสสำหรับผู้ผลิตที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ     องค์กรมีวัตถุประสงค์หลักในการแก้ไขปัญหาความยากจนของผู้ผลิตด้วยการทำการค้า  องค์กรสนับสนุนผู้ผลิตรายย่อยที่อยู่ชายขอบ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจครอบครัว หรือมีการรวมกลุ่มกันเป็นสมาคมหรือสหกรณ์  องค์กรพยายามที่จะยกระดับผู้ผลิตที่ยากจนและขาดความมั่นคงทางรายได้ให้มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคม  องค์กรมีแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ข้างต้น     2. มีความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติงาน     องค์กรมีการบริหารจัดการและการทำธุรกิจที่โปร่งใส มีความรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติงานกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งความเคารพต่อความอ่อนไหวและความลับของข้อมูลทางการค้า     องค์กรมีแนวทางที่เหมาะสมและสร้างการมีส่วนร่วมให้กับพนักงาน สมาชิก และผู้ผลิต ในกระบวนการตัดสินใจ  องค์กรสื่อสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้กับคู่ค้าต่างๆ รวมทั้งมีช่องทางการสื่อสารที่ดีและเปิดเผยในทุกระดับของห่วงโซ่อุปทาน 3. ดำเนินการค้าอย่างเป็นธรรม     เป้าประสงค์ คือ องค์กรทำการค้าโดยให้ความใส่ใจกับสภาพความเป็นอยู่ทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ของผู้ผลิตรายย่อยที่อยู่ชายขอบ และไม่แสวงหากำไรสูงสุด โดยไม่ใส่ใจถึงผลกระทบต่อผู้ผลิต ความมุ่งมั่นทางการค้า     เป็นความรับผิดชอบและความเป็นมืออาชีพขององค์กรในการที่จะดำเนินการปฏิบัติให้ตามความมุ่งมั่นขององค์กรโดยไม่ชักช้า  ซัพพลายเออร์เคารพข้อตกลงและส่งมอบสินค้าตรงเวลา มีคุณภาพ และเป็นไปตามข้อกำหนด การจ่ายเงินล่วงหน้า     ผู้ซื้อแฟร์เทรดตระหนักถึงข้อเสียเปรียบทางการเงินของผู้ผลิตและซัพพลายเออร์ และพยายามในการชำระเงินเมื่อได้รับเอกสารการค้า  สำหรับสินค้าหัตถกรรมแฟร์เทรด ผู้ซื้อแฟร์เทรดจะจ่ายเงินล่วงหน้าอย่างน้อย 50% โดยไม่คิดดอกเบี้ย ถ้าได้รับการร้องขอ  ส่วนสินค้าอาหารแฟร์เทรด ผู้ซื้อแฟร์เทรดจะจ่ายเงินล่วงหน้าอย่างน้อย 50% โดยคิดดอกเบี้ยที่สมเหตุสมผล ถ้าได้รับการร้องขอ อัตราดอกเบี้ยที่ซัพพลายเออร์จ่ายจะต้องไม่สูงกว่ามูลค่าที่ผู้ซื้อกู้ยืมจากบุคคลที่สาม การคิดดอกเบี้ยไม่ได้เป็นข้อกำหนด    ถ้าซัพพลายเออร์แฟร์เทรดในประเทศกำลังพัฒนาได้รับการจ่ายเงินล่วงหน้าจากผู้ซื้อ องค์กรจะต้องนำเงินดังกล่าวไปจ่ายต่อให้กับผู้ผลิตหรือเกษตรกร ที่เป็นผู้ผลิตสินค้าแฟร์เทรด การยกเลิกการสั่งซื้อและการจัดการเมื่อเกิดปัญหา     ผู้ซื้อจะปรึกษากับซัพพลายเออร์ก่อนที่จะมีการยกเลิกหรือปฏิเสธการสั่งซื้อ  ถ้ามีการยกเลิกการสั่งซื้อโดยไม่ใช่ความผิดของผู้ผลิตหรือของซัพพลายเออร์ จะมีต้องการชดเชยให้กับการทำงานของผู้ผลิตและซัพพลายเออร์ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว  เช่นกัน ซัพพลายเออร์และผู้ผลิตจะปรึกษากับผู้ซื้อ ถ้ามีปัญหาในการจัดส่งสินค้า และจะทำการชดเชยให้ เมื่อสินค้าที่ส่งมอบมีปริมาณหรือคุณภาพที่ไม่ต้องกันกับที่เรียกเก็บเงิน คู่ค้าระยะยาว     องค์กรรักษาความสัมพันธ์ระยะยาวกับคู่ค้า โดยความสัมพันธ์นั้นตั้งอยู่บนความสามัคคี เชื่อมั่น และการเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งนำไปสู่การส่งเสริมและการขยายตัวของการค้าที่เป็นธรรม  องค์กรมีการสื่อสารที่มีประสิทธิผลกับคู่ค้า  ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าต่างก็พยายามที่จะเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกัน รวมทั้งมูลค่า และความหลากหลายของสินค้า ซึ่งเป็นหนทางที่จะช่วยให้การค้าที่เป็นธรรมสำหรับผู้ผลิตขยายตัว ส่งผลต่อการเพิ่มรายได้ให้กับผู้ผลิต การแข่งขันอย่างเป็นธรรม     องค์กรทำงานโดยให้ความร่วมมือกับองค์กรแฟร์เทรดอื่นในประเทศและหลีกเลี่ยงการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม  องค์กรหลีกเลี่ยงการก๊อปปี้แบบลวดลายขององค์กรอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและการเคารพหัตถฝีมือท้องถิ่น     แฟร์เทรดตระหนัก ส่งเสริม และคุ้มครองเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและหัตถฝีมือท้องถิ่นของผู้ผลิตรายย่อย ที่สะท้อนออกมาในการออกแบบสินค้าหัตถกรรม อาหาร และบริการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ 4. ให้ราคาที่เป็นธรรมราคาที่เป็นธรรม     ราคาที่เป็นธรรมคือ ราคาที่ได้มีการตกลงยินยอมร่วมกันระหว่างทุกฝ่าย ผ่านการพูดคุยปรึกษาและการมีส่วนร่วม ซึ่งราคานี้ทำให้ผู้ผลิตมีรายรับอย่างเป็นธรรมและมีความยั่งยืนทางธุรกิจ  ในกรณีที่มีการกำหนดโครงสร้างราคาแฟร์เทรดไว้อยู่แล้ว ให้ใช้ราคาดังกล่าวเป็นฐานราคาขั้นต่ำ รายรับที่เป็นธรรม (fair pay)     รายรับที่เป็นธรรมหมายถึง รายได้ที่ผู้ผลิตยอมรับได้ว่า มีความเป็นธรรมในทางสังคม (ภายใต้บริบทท้องถิ่น) และได้คำนึงถึงหลักการในเรื่องค่าจ้างที่เท่าเทียมกันของผู้หญิงและผู้ชาย พัฒนาความสามารถในการกำหนดราคา     องค์กรแฟร์เทรดที่ทำหน้าที่การตลาดและผู้นำเข้าจะสนับสนุนการพัฒนาความสามารถให้กับผู้ผลิตตามที่จำเป็น เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถกำหนดราคาที่เป็นธรรมได้ 5. ต้องมั่นใจว่า ไม่มีแรงงานเด็กและแรงงานบังคับ แรงงานเด็ก     องค์กรเคารพต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก รวมทั้งกฎหมายของประเทศและท้องถิ่นเกี่ยวกับการจ้างแรงงานเด็ก  องค์กรที่ซื้อสินค้าแฟร์เทรดจากกลุ่มผลิตจะต้องดำเนินการเองโดยตรงหรือผ่านหน่วยงานอื่นในการสร้างหลักประกันว่า ผู้ผลิตได้ปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก รวมทั้งกฎหมายของประเทศและท้องถิ่นเกี่ยวกับการจ้างแรงงานเด็ก  การมีส่วนร่วมของเด็กในการผลิตสินค้าแฟร์เทรด (รวมทั้งการเรียนรู้หัตถกรรมพื้นบ้าน) ต้องเป็นไปอย่างเปิดเผยและมีการติดตามตรวจสอบ รวมทั้งจะต้องไม่มีผลเสียต่อสภาพความเป็นอยู่ ความปลอดภัย การศึกษาภาคบังคับ และการสันทนาการของเด็ก แรงงานบังคับ     องค์กรต้องมีหลักประกันว่า ไม่มีการบังคับแรงงานในหมู่ลูกจ้าง และ/หรือองค์กรแฟร์เทรด หรือคนงานที่ทำงานอยู่กับบ้าน (home workers)  องค์กรที่ซื้อสินค้าแฟร์เทรดจากกลุ่มผู้ผลิตจะต้องดำเนินการเองโดยตรงหรือผ่านหน่วยงานอื่นในการสร้างหลักประกันว่า ไม่มีการบังคับแรงงานในการผลิตสินค้าที่ได้จัดซื้อมา 6. ความมุ่งมั่นในการไม่เลือกปฎิบัติ, ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equity) และเสรีภาพในการรวมตัว  ไม่เลือกปฏิบัติ     องค์กรไม่เลือกปฏิบัติในการจ้างงาน การจ่ายค่าตอบแทน การฝึกอบรม การก้าวหน้าทางตำแหน่ง การเลิกจ้าง หรือการเกษียณอายุ เพราะปัจจัยด้านเชื้อชาติ วรรณะ สัญชาติ ศาสนา ความพิการ เพศ ความนิยมทางเพศ สมาชิกของสหภาพแรงงาน สมาชิกทางการเมือง การติดเชื้อเอดส์ หรืออายุ ความเท่าเทียมทางเพศ     องค์กรจะให้โอกาสผู้หญิงและผู้ชายอย่างเท่าเทียมในการพัฒนาทักษะ รวมทั้งกระตุ้นให้ผู้หญิงได้สมัครงานในตำแหน่งที่ว่าง และการได้รับตำแหน่งผู้นำในองค์กร  องค์กรจะใส่ใจถึงความจำเป็นทางสุขภาพและความปลอดภัยเป็นพิเศษสำหรับสตรีที่ตั้งครรภ์และแม่ที่อยู่ในระหว่างการให้นมบุตร  ผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการตัดสินใจเรื่องผลประโยชน์ที่เกิดจากกระบวนการผลิต ค่าจ้างที่เท่าเทียม     องค์กรที่ทำงานโดยตรงกับผู้ผลิตจะต้องสร้างหลักประกันว่า ผู้หญิงได้รับค่าจ้างจากการมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตเสมอ และในกรณีที่ผู้หญิงทำงานแบบเดียวกับผู้ชาย ผู้หญิงจะได้รับค่าจ้างในอัตราเดียวกัน   และในกรณีที่สภาพการผลิตที่งานของผู้หญิงถูกประเมินมูลค่าต่ำกว่าการทำงานของผู้ชาย องค์กรพยายามที่จะมีการประเมินงานของผู้หญิงใหม่และปรับค่าตอบแทนให้มีอัตราเท่าเทียมกับของผู้ชาย  รวมทั้งผู้หญิงได้รับอนุญาตให้ทำงานตามศักยภาพของตัวเอง เสรีภาพในการรวมตัวเป็นสมาคม     องค์กรเคารพสิทธิของลูกจ้างทุกคนในการที่จะรวมตัวและเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานตามที่ลูกจ้างเลือก เพื่อที่จะมีการต่อรองร่วมกัน  ในกรณีที่สิทธิการเข้าร่วมสหภาพแรงงานและการต่อรองถูกจำกัดโดยกฎหมาย และ/หรือ สภาพการณ์ทางการเมือง องค์กรจะเปิดโอกาสให้มีการรวมกลุ่มอย่างเสรีและเป็นอิสระ รวมทั้งการต่อรองกับนายจ้าง  องค์กรสร้างหลักประกันว่า ตัวแทนของลูกจ้างจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงาน 7. หลักประกันสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี สุขภาพและความปลอดภัยในที่ทำงาน     องค์กรจะจัดสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะให้กับลูกจ้างและ/หรือสมาชิก  องค์กรจะปฏิบัติตามข้อกำหนดขั้นต่ำของกฎหมายของประเทศและท้องถิ่น รวมทั้งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสุขภาพและความปลอดภัย เงื่อนไขและชั่วโมงการทำงาน     ชั่งโมงการทำงานและสภาพเงื่อนไขของการทำงานของลูกจ้างและ/หรือสมาชิก (รวมทั้งคนงานที่ทำงานอยู่ที่บ้านของตัวเอง) เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎหมายของประเทศและท้องถิ่น รวมทั้งอนุสัญญาของสหประชาชาติ สภาพการทำงานที่ปลอดภัยของผู้ผลิต     องค์กรแฟร์เทรดตระหนักถึงสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะสำหรับกลุ่มผู้ผลิตที่องค์กรซื้อสินค้า  องค์กรพยายามที่จะยกระดับความรับรู้เกี่ยวกับสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะกับกลุ่มผู้ผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการดำเนินการปรับปรุงสภาพการทำงานของกลุ่มผู้ผลิตที่มีความปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ 8. พัฒนาศักยภาพ     องค์กรพยายามที่จะทำให้เกิดผลกระทบในการพัฒนาด้านบวกต่อผู้ผลิตรายย่อยที่อยู่ชายขอบโดยการทำการค้าที่เป็นธรรม     องค์กรจัดให้มีการพัฒนาทักษะและความสามารถของลูกจ้างและสมาชิก  องค์กรที่ทำงานโดยตรงกับผู้ผลิตรายย่อยมีกิจกรรมการพัฒนาเฉพาะสำหรับช่วยให้ผู้ผลิตได้ปรับปรุงทักษะในด้านการบริหาร ศักยภาพในการผลิต และการเข้าถึงตลาด ทั้งตลาดท้องถิ่น ภูมิภาค ระหว่างประเทศ ตลาดแฟร์เทรด และตลาดทั่วไป ตามความเหมาะสม 9. เผยแพร่การค้าที่เป็นธรรม     องค์กรยกระดับความรับรู้ให้กับสาธารณชนเกี่ยวกับเป้าหมายของแฟร์เทรดและความจำเป็นในการทำให้การค้าโลกมีความเป็นธรรมมากขึ้น  องค์กรผลักดันเป้าหมายและกิจกรรมแฟร์เทรดตามขอบเขตกำลังขององค์กร     องค์กรให้ข้อมูลกับลูกค้าเกี่ยวกับองค์กรเอง สินค้าที่จำหน่าย และองค์กรผู้ผลิตหรือสมาชิกที่เป็นผู้ผลิตสินค้านั้น     การประชาสัมพันธ์และเทคนิคด้านการตลาดจะต้องตั้งอยู่บนฐานของความซื่อสัตย์ 10. สิ่งแวดล้อม การจัดหาวัตถุดิบที่มีความยั่งยืน     องค์กรที่ผลิตผลิตภัณฑ์แฟร์เทรดจะพยายามเลือกใช้วัตถุดิบที่มาจากแหล่งที่มีการจัดการอย่างยั่งยืนให้มากที่สุด และพยายามเลือกซื้อวัตถุดิบในท้องถิ่นเท่าที่เป็นไปได้ เทคนิคการผลิต     องค์กรใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ลดการใช้พลังงาน และเลือกใช้พลังงานหมุนเวียนเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด จัดการกับขยะ     องค์กรพยายามลดผลกระทบจากขยะต่อสิ่งแวดล้อมให้มีน้อยที่สุด  ผู้ผลิตสินค้าการเกษตรที่เป็นแฟร์เทรดจะพยายามลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยการทำเกษตรอินทรีย์ หรือเลือกใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ นโยบายการจัดซื้อ     ผู้ซื้อและผู้นำเข้าสินค้าแฟร์เทรดให้ความสำคัญก่อนกับการเลือกซื้อสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบที่มาจากแหล่งที่มีการจัดการอย่างยั่งยืน และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมต่ำสุด บรรจุภัณฑ์และการขนส่ง     องค์กรทั้งหมดพยายามเท่าที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติเลือกใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เป็นวัสดุรีไซเคิลหรือสามารถย่อยสลายได้ และการขนส่งสินค้าทางทะเล    เชื่อว่า ผู้อ่านส่วนใหญ่ ในครั้งแรกก่อนที่จะได้อ่านหลักการ จะคิดว่า ทั้ง 6 กรณีเป็นแฟร์เทรด แต่เมื่อได้อ่านหลักการโดยละเอียด ก็จะเริ่มสงสัยว่า ไม่น่าจะใช่ หรือมีข้อมูลไม่พอที่จะบอกว่า ใช่ธุรกิจแฟร์เทรดหรือไม่  จริงๆ แล้วก็เป็นเช่นนั้น คือ การด่วนสรุปเร็วๆ ว่า ธุรกิจขององค์กรผู้ผลิตเป็นแฟร์เทรด หรือธุรกิจการค้ากับเกษตรกรรายย่อยเป็นแฟร์เทรด หรือการรับซื้อสินค้าการเกษตรในราคาสูงกว่าตลาดเป็นแฟร์เทรด (เช่น ในกรณีของการประกันราคาข้าวของรัฐบาลก่อนหน้านี้) ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง เพราะมีองค์ประกอบหลายประการที่ต้องพิจารณาว่า โดยภาพรวมธุรกิจการค้าใดบ้างที่เป็นแฟร์เทรดจริงๆแฟร์เทรดในต่างประเทศ แฟร์เทรดในประเทศไทย     ถ้าจะนับต้นกำเนิดจริงๆ ของการค้าที่เป็นธรรม สามารถนับย้อนหลังไปได้กว่า 180 ปีก่อน ตั้งแต่ปลายคริสต์ทศวรรษ 1820 ที่มีกลุ่มคนในประเทศสหรัฐอเมริกาได้พยายามต่อสู้กับระบบทาส โดยการรณรงค์ให้ผู้บริโภคบอยคอต ไม่ซื้อสินค้าที่ผลิตโดยใช้ทาส (เช่น ฝ้าย น้ำตาล)  แต่ระบบแฟร์เทรดที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ เริ่มต้นประมาณเมื่อ 50 – 60 ปีก่อน ที่เริ่มต้นโดยคนหนุ่มสาว (ในสมัยนั้น) กลุ่มเล็กๆ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา มุ่งหวังที่อยากจะเห็นระบบการค้า/ตลาดทางเลือก ซึ่งเน้นความเป็นชุมชนท้องถิ่น ไม่แสวงหากำไร ต่อต้านระบบทุนนิยม และแสวงหาทางเลือกใหม่ให้กับสังคม  คนหนุ่มสาวเหล่านี้ได้สละเวลามาทำงานเป็นอาสาสมัครให้กับร้านค้าทางเลือกที่พวกเขาร่วมกับจัดตั้งขึ้นในชุมชน/เมืองของตัวเอง ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นการค้าเพื่อช่วยสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตรายย่อยในประเทศโลกที่สาม (ประเทศกำลังพัฒนา/ด้อยพัฒนา) ที่นำสินค้าดังกล่าวไปขายในช่องทางตลาดพิเศษในประเทศพัฒนาแล้ว และเริ่มมีการจัดทำระบบการตรวจรับรองแฟร์เทรดขึ้นในช่วงต้นพุทธทศวรรษ 2530     ในปัจจุบัน มีตลาดสินค้าแฟร์เทรดใน 125 ประเทศ ซึ่งในปี พ.ศ. 2547 มีมูลค่ารวมกันกว่า 5,900 ล้านยูโร (ประมาณ 236,288 ล้านบาท) โดยตลาดแฟร์เทรดใหญ่มักจะอยู่ในประเทศที่พัฒนาเศรษฐกิจ เช่น ประเทศในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แต่เริ่มตลาดแฟร์เทรดเริ่มขยายตัวในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ เช่น บราซิล แอฟริกาใต้ เคนยา และอินเดีย     สำหรับแฟร์เทรดในประเทศไทยนั้นถือกำเนิดมานานหลายสิบปีเช่นกัน ซึ่งอาจแบ่งกระแสการพัฒนาแฟร์เทรดในประเทศไทยได้ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ    กระแสแรกเป็นกลุ่มหน่วยงานด้านคริสตจักรจากยุโรปที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ที่เริ่มกิจกรรมแฟร์เทรดไปพร้อมๆ กับที่กลุ่มแฟร์เทรดในยุโรปที่ได้เริ่มการนำเข้าสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนา เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภคยุโรป เช่น มูลนิธิ Christian Service Foundation (ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาเป็น Thai Tribal Craft) ที่ได้เริ่มส่งออกผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของชาวเขาในภาคเหนือ เพื่อไปจำหน่ายให้กับเครือข่ายคริสเตียนในยุโรป ตั้งแต่ปี 2516  ในปัจจุบัน องค์กรเหล่านี้มีจำนวนหนึ่งที่ยังทำงานอยู่ในประเทศไทย แต่ไม่ค่อยได้ทำงานเกี่ยวกับแฟร์เทรดอีกแล้ว    กระแสที่สองคือกลุ่มแฟร์เทรดไทย ที่เริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงพุทธทศวรรษ 2523 - 2533 โดยบางองค์กรก็เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยหน่วยงานในกลุ่มแรก แต่ได้ผันตัวเป็นองค์กรไทย ที่เป็นอิสระจากองค์กรเดิม  หน่วยงานงานเหล่านี้มีเป้าหมายในการพัฒนาท้องถิ่นมากขึ้น แต่ยังคงกิจกรรมการรับซื้อผลผลิต (ส่วนใหญ่ยังคงเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรม) จากชาวบ้าน เพื่อส่งออกไปจำหน่ายให้กับกลุ่มแฟร์เทรดในต่างประเทศ  รวมทั้งมีชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ที่ได้จัดตั้งองค์กรเพื่อให้บริการด้านการตลาดกับผู้ผลิตรายย่อยอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งบางกลุ่มก็ประสบความสำเร็จ แต่ก็มีหลายกลุ่มที่ล้มเหลว และเลิกองค์กรไป  สมาคมไทยคราฟท์เป็นหนึ่งในองค์กรในกระแสที่สองนี้    ส่วนกระแสที่สามเป็นองค์กรแฟร์เทรดไทย ที่เริ่มจากองค์กรพัฒนาเอกชน ที่เห็นความจำเป็นและโอกาสในการพัฒนาตลาดเพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตรายย่อย รวมทั้งเป็นการหารายได้เพื่อเลี้ยงตัวเอง  กลุ่มองค์กรในกระแสนี้ส่วนใหญ่เป็นองค์กรที่ทำงานด้านการเกษตร ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มนี้จึงเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเป็นหลัก  นอกจากนี้ กระแสความตื่นตัวเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ที่ได้ก่อตัวขึ้นในประเทศไทย พร้อมๆ กันกับการเกิดขึ้นของระบบการตรวจรับรองมาตรฐานแฟร์เทรดในต่างประเทศ ทำให้องค์กรเหล่านี้ส่วนใหญ่ทำการผลิตและการค้าที่มีการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และแฟร์เทรดไปพร้อมกัน  กรีนเนทเป็นหนึ่งในองค์กรหลักของกระแสแฟร์เทรดไทยในกลุ่มนี้    เริ่มต้นจากความสัมพันธ์โดยบุคคล หน่วยงานแฟร์เทรดไทยได้เริ่มทำงานร่วมกันในกิจกรรมต่างๆ เป็นเวลาหลายปี ก่อนที่จะมีการรวมกลุ่มกันเป็นขบวนการแฟร์เทรดไทยในช่วงประมาณกลางพุทธศตรวรรษ 2540 ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้ง "ไทยแฟร์เทรดฟอรั่ม" ขึ้นในเดือนกันยายน 2550 และต่อมาได้พัฒนามาเป็น “เครือข่ายไทยแฟร์เทรด”    เนื่องยังไม่ได้มีการสำรวจข้อมูลกันอย่างเป็นระบบ แต่จากการประมาณการของกรีนเนท เชื่อว่า มีกลุ่มผู้ผลิตและผู้ประกอบการเกือบ 100 องค์กร/หน่วยงาน ที่ทำธุรกิจแฟร์เทรด ทั้งสินค้าหัตถกรรมและอาหาร ซึ่งน่าจะมีผู้ผลิตรายย่อย (เกษตรกรและช่างฝีมือหัตถกรรม) ที่ผลิตสินค้าแฟร์เทรดนับหมื่นครอบครัว  สินค้าแฟร์เทรดของประเทศไทยโดยส่วนใหญ่จะจำหน่ายไปตลาดแฟร์เทรดในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหภาพยุโรป  ส่วนในประเทศไทยเอง เนื่องจากผู้บริโภคไทยมีความตื่นตัวเรื่องแฟร์เทรดน้อยมาก จึงไม่ค่อยพบว่า มีการทำตลาดแฟร์เทรดในประเทศไทย แม้ว่ากลุ่มผู้ผลิต/ผู้ประกอบการแฟร์เทรดที่ส่งออกเหล่านี้จะจำหน่ายสินค้าแฟร์เทรดเหล่านั้นในตลาดในประเทศไทยด้วยก็ตามแล้วผู้บริโภคไทยควรจะทำอย่างไร    ในปัจจุบันทราบกันดีว่า พลังของผู้บริโภคในการเลือกซื้อ (และเลือกบริโภค) มีผลอย่างมากต่อพฤติกรรมในการผลิตและการค้า  การเลือกบริโภคอาหารออร์แกนิค/เกษตรอินทรีย์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการเกษตร จากเดิมที่มุ่งเน้นแต่การเพิ่มผลผลิตโดยการใช้สารเคมีการเกษตร มาเป็นระบบการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  การเลือกบริโภคอาหารทะเลจากการประมงอย่างรับผิดชอบทำให้ธุรกิจประมงต้องเปลี่ยนวิธีการจับปลาทูน่า โดยไม่สร้างผลกระทบต่อสัตว์น้ำอื่น  ส่วนตลาดแฟร์เทรดนี้ ก็เป็นกลไกหนึ่งของการพยายามเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจให้มีความรับผิดชอบต่อเกษตรกรผู้ผลิตรายย่อยและชุมชนท้องถิ่น ซึ่งผู้บริโภคสามารถแสดงบทบาทสำคัญในกระบวนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้  ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดในการสนับสนุนแฟร์เทรด ก็คือ การเลือกซื้อสินค้าแฟร์เทรด    แต่สินค้าแฟร์เทรดโดยปกติจะมีราคาที่สูงกว่าสินค้าที่ไม่ใช่แฟร์เทรด เพราะการทำธุรกิจแฟร์เทรดมีต้นทุนที่สูงกว่า  สำหรับผู้บริโภคบางคนที่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจ ก็คงไม่มีปัญหาที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างสนับสนุนธุรกิจการค้าแฟร์เทรด แต่สำหรับผู้บริโภคบางส่วนที่ไม่มีความพร้อม การเลือกที่จะไม่ซื้อสินค้าจากธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม (เช่น ธุรกิจที่ใช้แรงงานทาส ใช้แรงงานเด็ก เอาเปรียบเกษตรกร หรือทำลายสิ่งแวดล้อม) ก็เป็นวิธีการหนึ่งในการแสดงพลังผู้บริโภค    รวมทั้งการสนับสนุนให้มีการออกกฎหมายและนโยบายทางการเงินและภาษี เพื่อสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคมและแฟร์เทรด ซึ่งอาจช่วยทำให้สินค้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point