ฉบับที่ 157 “รถโดยสารไทย” รู้ไว้ก่อนเที่ยวสงกรานต์

“สยอง!! ทัวร์กทม.-ร้อยเอ็ด ชนรถพ่วงไฟลุกท่วมคลอก 19 ศพ เจ็บ 23” 23 กรกฎาคม 2556 “รถตู้เถื่อนซิ่งมรณะอัดท้ายรถพ่วงตายเกลื่อน 9 ศพ” 26 สิงหาคม 2556 “บัสโรงงานซิ่งแข่งกันตกข้างทางตายสยอง 8 ศพ ที่ศรีราช ชลบุรี” 6 มิถุนายน 2555 "รถพ่วงชนรถทัศนศึกษานักเรียนโคราช เสียชีวิต 15 เจ็บกว่า 30 ราย” 28 กุมภาพันธ์ 2557 “รถทัวร์ตกสะพานห้วยตอง เพชรบูรณ์ ดับ 29 เจ็บ 4” 26 ธันวาคม 2556 ข้อความด้านบนคือส่วนหนึ่งของพาดหัวข่าวที่ชวนให้สลดใจจากเหตุการณ์อุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะในบ้านเราที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่น่ากังวลไม่ใช่แค่เรื่องความรุนแรงและความสูญเสียจากอุบัติเหตุเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องจำนวนอุบัติเหตุที่เกิด ซึ่งดูเหมือนแนวโน้นมีแต่จะสูงขึ้น คำถามที่อยู่ในใจของผู้บริโภคไทยที่ต้องใช้บริการรถโดยสารสาธารณะตอนนี้ก็คือ “เกิดอะไรขึ้นกับระบบความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะในประเทศไทย?” “หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างไรกันบ้าง?” และ “มาตรฐานความปลอดภัยในชีวิตของคนไทยในการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะมีมากน้อยแค่ไหน?”   ผลสำรวจทางสถิติชี้ชัด ความปลอดภัยของรถโดยสารไทยเข้าขั้นวิกฤติ ศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้สรุปตัวเลขอุบัติเหตุ จำนวนผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต จากเหตุการณ์อุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ โดยรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2557 พบว่ามีจำนวนอุบัติเหตุเกิดขึ้นทั้งหมด 334 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 5,069 ราย และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 472 ราย ส่วนพื้นที่ที่มีการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะบ่อยครั้งที่สุด คือ พื้นที่ภาคกลาง มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นทั้งหมด 108 ครั้ง คิดเป็น 30% ของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมด       องค์การอนามัยโลกได้จัดอันดับให้ประเทศไทยเรา เป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจาอุบัติเหตุบนถนนสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่า ในแต่ละวันคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ถึง 38 คน โดย 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิต เป็นกำลังหลักของครอบครัว  ยังไม่นับรวมถึงจำนวนผู้ที่ได้รับเจ็บรุนแรงที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งข้อมูลเมื่อปี 2554 มีสูงถึง 136,544 ราย โดยในจำนวนนี้ 5% หรือราวๆ 6,827 ราย ต้องลงเอยด้วยความพิการ สำหรับกลุ่มผู้ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน กลุ่มหลักๆ ยังคงเป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 50% ขณะที่ผู้ใช้รถโดยสารสาธารณะจะอยู่ประมาณ 10%   มีกฎหมายบังคับ...แต่กลับใช้ไม่ได้ผล จากสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยของรถโดยสารในปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมการขนส่งทางบก ก็ไม่ได้นิ่งเฉยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ได้มีความพยายามกำหนดข้อบังคับต่างๆ เพื่อเป็นตัวควบคุมและป้องกันปัญหาความไม่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นข้อกำหนดเรื่องการตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยของรถโดยสารใหม่ที่จดทะเบียน ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องความแข็งแรงของโครงตัวถังรถ ความยึดแน่นของเก้าอี้ที่นั่ง การบังคับให้มีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยที่เบาะนั่ง โดยมีการออกข้อกำหนดเรื่องมาตรฐานเข็มขัดนิรภัย รวมถึงการให้รถโดยสารสาธารณะติดตั้งระบบ RFID ซึ่งเป็นระบบเก็บข้อมูลความเร็วขณะรถวิ่ง เพื่อเป็นการควบคุมความเร็วของรถโดยสาร แต่ดูเหมือนข้อบังคับต่างๆ ที่ออกมาจะใช้ไม่ได้ผลดูได้จากปริมาณของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต สาเหตุมาจากความประมาท และละเลยของผู้ประกอบการ พนักงานขับรถ หน่วยงานที่มีหน้าบังคับใช้กฎหมาย ไม่เว้นแม้แต่ตัวผู้โดยสารเอง เรายังคงเห็นปัญหาเรื่องรถโดยสารขับซิ่ง รถตู้บรรทุกผู้โดยสารเกิน รถผี รถเถื่อน การไม่ยอมคาดเข็มขัด ฯลฯ ฝั่งผู้ประกอบการก็คิดแต่การสร้างผลกำไรจนมองข้ามที่จะควบคุมคุณภาพการบริการ คุมเข้มเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ส่วนพนักงานขับรถก็เจอปัญหาต้องทำรอบในการขับรถขนส่งผู้โดยสาร ทำให้ต้องขับเร็วขับซิ่ง เลือกฝ่าผืนกฎหมายบรรทุกผู้โดยสารเกิน ไปจนถึงการฝืนร่างกายขับรถในระยะเวลาหรือระยะทางเกินจากที่กฎหมายกำหนด เพื่อต้องการรายได้ที่มากขึ้น ท้ายที่สุดการฝ่าฝืนต่างๆ ก็นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ ผู้โดยสารในฐานะผู้บริโภคก็หลงลืมที่จะรักษาสิทธิและความปลอดภัยในชีวิตของตัวเอง เพราะอยากจะเดินทางสะดวก เดินทางไว มองข้ามความปลอดภัย เพราะความคุ้นชิน และคิดว่าไม่เป็นอะไร ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้นก็สายเกินไปแล้วที่จะแก้ไข ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มองค์กรต่างๆ จำนวนไม่น้อยในสังคมที่พยายาม ผลักดันให้เกิดกฎหมายหรือการบังคับใช้ข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวกับมาตรฐานรถโดยสารปลอดภัยที่เข้มแข็งจริงจังในสังคมไทย สำหรับเราในฐานะผู้โดยสารคนใช้บริการ ก็ต้องจริงจังกับการรักษาสิทธิของตัวเอง คำนึงความปลอดภัยของชีวิตมาเป็นอันดับแรก สิทธิของเรา ชีวิตของเรา เราเลือกได้ หากพบเห็นหรือรู้ว่ารถโดยสารที่เราใช้บริการอยู่ เสี่ยงต่อความปลอดภัย เราต้องรีบรักษาสิทธิ เลือกที่จะปฏิเสธ และร้องเรียนเพื่อนำไปสู่การแก้ไข และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่อไปในอนาคต   เรื่องที่ยังเป็นปัญหาของรถโดยสารสาธารณะไทย -มาตรฐานของรถโดยสารยังต่ำกว่ามาตรฐานของรถโดยสารสากล -ผู้ประกอบการรถโดยสารส่วนใหญ่(โดยเฉพาะผู้ประกอบการรถร่วมบริการ) ยังมีความใส่ใจต่อมาตรฐานความปลอดภัยค่อนข้างน้อย -ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต ขาดการกำกับดูแลคุณภาพการให้บริการของผู้ประกอบการรถร่วมบริการ -ระบบประกันภัยและการชดเชยเยียวยาสำหรับผู้ประสบอุบัติเหตุรถโดยสารยังมีการใช้งานอย่างไม่เต็มที่ -ขาดกลไกการเชื่อมโยงความรับผิดชอบของผู้ประกอบการในระดับต่างๆ ที่มา: “ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย” สุเมธ องกิตติกุล สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (tdri)   ความปลอดภัยในรถโดยสาร เริ่มต้นที่ตัวเราเอง -เลือกใช้รถโดยสารสาธารณะที่เป็นรถที่ถูกกฎหมาย ไม่ใช่บริการรถเสริม รถผี ซึ่งจะมีระบาดมากในช่วงเทศกาลโดยเฉพาะรถตู้ ต้องเลือกรถที่เป็นทะเบียนป้ายเหลือง แสดงว่าได้รับการจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก เพราะรถที่ถูกกฎหมายจะมีหน่วยงานรับรองมีบริษัทต้นสังกัดคอยตรวจสอบควบคุมดูแล นอกจากนี้ต้องสังเกตข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับผู้โดยสาร ซึ่งรถที่ถูกกฎหมายจะต้องมีบอกไว้ให้ผู้โดยสารมองเห็นชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น ชื่อ-นามสกุลพนักงานขับรถ ข้อมูลเส้นทาง เบอร์โทรศัพท์สำหรับติดต่อกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน -สภาพของรถต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ แข็งแรง ดูแล้วเหมาะสมกับการใช้งาน โดยสารแล้วรู้สึกมั่นใจปลอดภัย โดยเฉพาะเบาะที่นั่งต้องยึดเน้นอยู่กับตัวรถ รวมถึงอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยต่างๆ ต้องพร้อมสำหรับการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นเข็มขัดนิรภัย ค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง และประตูทางออกฉุกเฉิน -คาดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลา -คอยสังเกตพฤติกรรมของพนักงานขับรถขณะขับขี่รถโดยสาร ว่าอยู่ในสภาพพร้อมขับรถหรือไม่ หรือหากมีพฤติกรรมขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย เช่น ขับเร็วหวาดเสียว ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร ให้รีบโทรแจ้งข้อมูลของรถคันดังกล่าวไปที่สายด่วนศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ 1584 -พยายามมีสติและสังเกตสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัว เพื่อเฝ้าระวังและรู้ตัวได้ทันท่วงทีหากเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุฉุกเฉิน โดยเฉพาะผู้ที่โดยสารรถตู้หรือรถทัวร์โดยสารที่วิ่งระยะทางไม่ไกลมาก ใช้เวลาไม่นาน ถ้าเป็นไปได้ไม่ควรหลับขณะนั่งรถ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุตอนที่หลับอยู่อาจทำให้สลบไปในทันที เสี่ยงต่อการบาดเจ็บหนัก   เบอร์โทรติดต่อเมื่อเกิดปัญหาเรื่องรถโดยสาร 1584 ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ 1348 ศูนย์รับร้องเรียนขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ 1193 ตำรวจทางหลวง 1186 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย 1166 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค 02 – 6291430 สภาทนายความ 02 – 2483737 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค     --------------------------------------------------------------------- การเรียกร้องค่าชดเชยเมื่อประสบอุบัติเหตุ ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุจากรถโดยสารทุกคนจะได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งจะการคุ้มครองเบื้องต้นในส่วนของการจ่ายเงินค่าชดเชย ทั้งค่ารักษาพยาบาล เงินชดเชยกรณีเสียชีวิตและพิการทุพพลภาพ รายละเอียดสิทธิเงินค่าชดเชยเบื้องต้นตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มีดังนี้ กรณีความเสียหายที่ได้รับ วงเงินคุ้มครอง บาดเจ็บ เบิกค่ารักษาตามจริงได้ไม่เกิน 15,000 บาท เสียชีวิต 35,000 บาท บาดเจ็บแล้วต่อมาเสียชีวิต เบิกรวมกันไม่เกิน 50,000 บาท   นอกจากนี้ผู้ประสบภัยยังสามารถเรียกร้องขอรับค่าสินไหนทดแทน หลังจากมีการพิสูจน์ความถูกผิดแล้ว ซึ่งบริษัทเจ้าของรถโดยสารที่เป็นฝ่ายผิดต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ประสบภัย โดยมีเกณฑ์การจ่ายดังนี้ กรณีความเสียหายที่ได้รับ วงเงินคุ้มครอง บาดเจ็บ เบิกค่ารักษาตามจริงได้ไม่เกิน 50,000 บาท เสียชีวิต 200,000 บาท ทุพพลภาพ หรือ สูญเสียอวัยวะ 200,000 บาท   ทั้งนี้ ทางบริษัทที่เป็นฝ่ายผิดยังต้องรับผิดชอบในส่วนของค่าชดเชยรายวัน วันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน ในกรณีที่ผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถโดยสารต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล   การฟ้องคดีรถโดยสาร หากไม่ได้รับการชดเชยจากผู้ประกอบการ การเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของรถที่ประสบอุบัติเหตุนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย มีหลายตัวอย่างหลายกรณีที่ผู้เสียหายถูกปัดความรับผิดชอบจากบริษัทผู้ประกอบการ ผู้เสียหายจึงต้องเลือกใช้วิธีการฟ้องร้องเป็นคดีความพึ่งอำนาจของศาล ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมาย “วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551” ที่ช่วยให้การฟ้องร้องคดีในศาลของผู้บริโภคเป็นไปด้วยความสะดวกสบายง่ายดายมากขึ้น การใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค - สามารถขอแบบฟอร์มได้ที่ศาล โดยแจ้งข้อเท็จจริงให้กับเจ้าหน้าที่ศาล ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ศาลจะช่วยเขียนคำฟ้องให้ - ผู้ร้องสามารถเขียนเองได้ (สามารถโหลดแบบฟอร์มได้จาก www.consumerthai.org ) แล้วนำไปยื่นที่ศาล - การเลือกศาลที่เหมาะสม เลือกตามมูลค่าทุนความเสียหาย • กรณีต่ำกว่า 3 แสน ฟ้องศาลแขวง • กรณีสูงกว่า 3 แสน ฟ้องศาลแพ่ง หรือศาลจังหวัด ทุกจังหวัด -----------------------------------------------------------------------------------   รู้ไว้ก่อนไปเที่ยวสงกรานต์ สำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง ได้สรุปข้อมูลอุบัติเหตุบนทางหลวงช่วงเทศกาลสงกรานต์เมื่อปี 2556 ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน  มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นรวมทั้งหมด 966 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 202 ราย บาดเจ็บอีก 1,209 ราย ซึ่งตัวเลขของจำนวนอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ ล้วนเพิ่มขึ้นจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปี 2555 โดยตัวเลขอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นถึง 22.59% จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 5.76% ขณะที่จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บเพิ่มขึ้นถึง 32.13% ทั้งๆ ตัวเลขการเดินทางของผู้คนในช่วงเวลาดังกล่าวเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 3% เท่านั้น   3 เส้นทางที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2556 1.ทางหลวงหมายเลข 3395 วัฒนานคร – โคคลาน (กม.60+870 – กม.115+139) จำนวนอุบัติเหตุ 12 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บสาหัส 6 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 10 ราย ถนนมีลักษณะเป็นทาง 2 ช่องจราจร และมีปริมาณจราจรโดยเฉลี่ยประมาณ 11,400 คันต่อวัน อยู่ในความรับผิดชอบของแขวงการทางสระแก้ว บริเวณที่เกิดเหตุ ส่วนใหญ่เป็นทางตรง สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ เกิดจากการขับรถเร็วและแซงรถอย่างผิดกฎหมาย ทำให้ เกิดการเฉี่ยวชนกัน   2. ทางหลวงหมายเลข 4 คลองบางดินสอ – นาเหนือ (กม.854+553 – กม.879+558, กม.884+598 – กม.915+493) จำนวนอุบัติเหตุ 11 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บสาหัส 2 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 7 ราย ถนนมีลักษณะเป็นทาง 4 ช่องจราจร และมีปริมาณจราจรโดยเฉลี่ยประมาณ 17,700 คันต่อวัน อยู่ในความรับผิดชอบของสานักงานบำรุงทางพังงา บริเวณที่เกิดเหตุ โดยส่วนใหญ่เป็นทางโค้ง สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ เกิดจากการขับรถเร็ว   3. ทางหลวงหมายเลข 35 นาโคก – แพรกหนามแดง (กม.53+875 – กม.82+833) จำนวนอุบัติเหตุ 10 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บสาหัส 1 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 35 ราย ถนนมีลักษณะเป็นทาง 4 ช่องจราจร และมีปริมาณจราจรโดยเฉลี่ยประมาณ 110,300 คันต่อวัน อยู่ในความรับผิดชอบของสานักงานบำรุงทางสมุทรสงครามและราชบุรี บริเวณที่เกิดเหตุ โดยส่วนใหญ่เป็นทางตรง สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ เกิดจากการขับรถเร็ว ทำให้เกิดการเฉี่ยวชนกัน  

อ่านเพิ่มเติม >