ฉบับที่ 118 ปลอดภัยปีใหม่ เตือนภัยผู้อ่าน

ช่วงเทศกาลปีใหม่ ผู้อ่านหลายท่านคงได้ของขวัญกันบ้างแล้ว โอกาสนี้เภสัชกรจนๆ อย่างกระผมไม่รู้จะหาอะไรมามอบเป็นของขวัญให้ผู้อ่านได้ทั่วถึง เลยถือโอกาสมอบข้อมูลเตือนภัยแบบรวมมิตร แด่ผู้อ่านทุกท่านเพื่อความปลอดภัย จะได้ไม่ต้องเสี่ยงอันตรายครับ กาแฟลดความอ้วนจากจีน ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้เป็นกาแฟที่ซัดเซพเนจรมาจากจีน แต่อย่าไปสงสารครับ เพราะมันลักลอบนำเข้ามาโดยไม่ได้ขออนุญาต อย. แถมยังมีข้อความภาษาไทยท้าทายกฎหมาย โดยระบุโต้งๆ บอกว่าเผาไขมัน 26 วัน สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานีพบ จึงส่งตรวจวิเคราะห์เบื้องต้น ปรากฏว่า ผสมซาลบูทามีน ซึ่งเป็นยาอันตราย (ตัวที่เคยเป็นข่าวว่านักเรียน ม.6 จากนนทบุรีเสียชีวิต ภายหลังจากการรับประทานผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนที่ผสมสารตัวนี้มาแล้วไง จำได้หรือเปล่าครับ) แว่วว่ากำลังขายดิบขายดีแถวๆ ตลาดกิมหยงและโรงเกลือ   ยาแผนโบราณแต่ดันแถมสเตียรอยด์ พนักงานโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งยืนทำงานต่อเนื่องตลอดทั้งวัน ได้ซื้อมารับประทานแก้อาการปวดตาม ข้อเข่าและขา โดยรับประทานติดต่อกันมานานแล้ว ระยะหลังๆ เพื่อนร่วมงานชักสังเกตเห็นว่าไฉนเพื่อนเรามีราศีจับแบบแปลกๆ ผิดปกติ คือ หน้าเริ่มบวม และร่างกายอ่อนแอ เจ็บป่วยบ่อยๆ จึงส่งยามาให้ สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตรวจสอบ ผลพบว่า ยานี้มีเลขทะเบียนยาถูกต้อง แต่ฉลากและบรรจุภัณฑ์กลับไม่ถูกต้อง และเมื่อใช้ชุดทดสอบเบื้องต้นของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจ กลับพบว่ามีสเตียรอยด์ผสมอยู่ ข่าวว่ายาดังกล่าวมีขายทางวิทยุชุมชนบางสถานีและขายตรงจากตัวแทนจำหน่าย ทำให้ยากต่อการตรวจสอบ   สมุนไพรไทย ก็ดันใส่สเตียรอยด์ ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ ไม่มีเลขทะเบียนยานะครับ (แสดงว่าไม่ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้อง) แต่กลับมีตัวแทนจำหน่าย โดยมักจะเร่ไปเสนอขายตามร้านค้าในชุมชนและร้านขายยา สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาใช้ชุดทดสอบเบื้องต้นตรวจสอบ ก็พบว่ามีสเตียรอยด์ผสมอยู่เช่นกัน       ยาน้ำสามัญประจำบ้านแผนโบราณก็บริการสารสเตียรอยด์ ผลิตภัณฑ์นี้มาเป็นข่าวดังเพราะมีคุณครูท่านหนึ่งซึ่งป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ ได้ซื้อมาจากเพื่อนครูด้วยกัน (ที่เป็นตัวแทนจำหน่าย) ยาชนิดนี้กำลังเป็นที่นิยมในหมู่ข้าราชการครูและครอบครัว ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อคุณครูท่านนี้รับประทานแล้วอาการภูมิแพ้หาย จึงเริ่มสงสัยว่าปลอดภัยหรือไม่ เลยส่งต่อมายังสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้ตรวจสอบ ผลปรากฎว่าฉลากมีเลขทะเบียนยาถูกต้อง แต่เมื่อใช้ชุดทดสอบเบื้องต้นของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจ กลับพบว่ามีสเตียรอยด์ผสมอยู่ อีกแล้ว   วิธีการขายของผลิตภัณฑ์ 3 ชนิดหลังนี้จะคล้ายๆ กัน คือจะขออนุญาตเลขทะเบียนยาอย่างถูกต้อง แต่เวลาขายอาจจะทำผลิตภัณฑ์อีกรูปแบบหนึ่ง ช่องทางที่ขายส่วนใหญ่จะมีตัวแทนขายเพื่อเจาะลึกเข้าไปในชุมชน บางส่วนขายผ่านทางวิทยุชุมชน พอตรวจเจอก็อ้างว่าเป็นของปลอม ยังไงถ้าใครเจอช่วยแจ้งสาธารณสุขจังหวัดด้วยนะครับ ถือว่าเป็นของขวัญแด่ผู้บริโภคท่านอื่นๆ ร่วมกันด้วยครับ สวัสดีปีใหม่ ปลอดภัยนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >