ฉบับที่ 142 เดอะ จีเอ็มโอ สไตรค์แบค (The GMO strikes back)

แล้วผลการลงคะแนนเสียงในสหรัฐอเมริกาก็ปรากฏออกมาว่า นอกจากโอบามาจะได้เป็นใหญ่ในประเทศมหาอำนาจต่อไปแล้ว จีเอ็มโอก็ยังไม่เคยสยบต่อใครเลย ดูได้จากการที่ proposition 37 ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่มีผู้พยายามเสนอให้อาหารที่มีองค์ประกอบเป็นจีเอ็มโอหรือสิ่งมีชีวิตที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมต้องแสดงฉลากให้ชัดเจน ต้องตกกระป๋องไปอย่างที่หลายคนคาดไว้ในลักษณะที่ว่า แข็งเท่าเหล็กเงินง้างได้ดั่งใจ ดังที่ได้เคยกล่าวไว้ใน ฉลาดซื้อ ฉบับที่ผ่านมาว่า การต่อสู้เพื่อไม่ให้การติดฉลากจีเอ็มโอผ่านสภาของรัฐแคลิฟอร์เนียนั้น มีการใช้เงินราว 45 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อทำรณรงค์ให้คนในรัฐนี้เชื่อใจว่า จีเอ็มโอไม่อันตราย การรณรงค์นี้เป็นไปตามกฎหมายของสหรัฐ จึงไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งดูแปลกดีเหมือนกันถ้าปรากฏการณ์ทำนองนี้มาเกิดขึ้นในบ้านเรา เมื่อวันที่ 29 สิงหา 2012 www.naturalnews.com นี้ได้แสดงโปสเตอร์ที่บอกให้ประชาชนอเมริกันรู้ว่า บริษัทใดบ้างที่มีส่วนในการลงขันเพื่อยับยั้งร่างกฎหมายนี้ ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่หรือทั้งหมดยังไม่ได้มาขายในบ้านเรา ขอให้ท่านผู้อ่านดูโปสเตอร์ที่ผู้เขียนได้นำมาจากอินเตอร์เน็ต แล้วแสดงให้ท่านผู้อ่านดูนี้ อาจไม่ชัดนัก ถ้าท่านผู้อ่านต้องการดูชัดๆ ท่านสามารถเข้าไปดูได้ที่ http://www.cornucopia.org/2012/09/california-proposition-37-your-right-to-know-what-is-in-your-food   ความจริงผลการลงคะแนนไม่รับกฎหมายติดฉลากจีเอ็มโอนี้ ก็ไม่ได้เกินความคาดหมายที่ผู้เขียนและผู้ที่มีความสงสัยในอาหารจีเอ็มโอคาดไว้แต่แรก ทั้งนี้เพราะธุรกิจอาหารจีเอ็มโอนั้นมหาศาลจนสามารถทำให้ผู้บริหารประเทศไม่ว่าระดับใดมีปัญหาได้ อีกทั้งหัวข้อข่าวที่พาดหัวข่าวในอินเตอร์เน็ตก็ออกมาในทำนองเดียวกันว่า “Proposition 37 appears to have failed in California, but GMO labeling awareness achieves victory” ซึ่งความหมายง่ายๆ ก็คือ ถึงแพ้ในการโหวต แต่ผู้ต่อต้านจีเอ็มโอก็ชนะในการสร้างกระแสให้ผู้บริโภคคำนึงว่า เวลาซื้ออาหารให้สำนึกว่า อาจมีจีเอ็มโอได้ เพราะไม่มีการติดฉลาก ดังนั้นในความพ่ายแพ้นั้น ก็เสมือนฝ่ายไม่ไว้ใจจีเอ็มโอ จะชนะ ที่ทำให้ผู้บริโภคทั่วไปเริ่มระแวงในอาหารที่ยังไม่ผ่านการประเมินความปลอดภัยอย่างที่หลายฝ่ายคิดว่าควรต้องทำ การประเมินความปลอดภัยของอาหารนั้นมีหลายระดับ ในกรณีที่เป็นสารเจือปนในอาหารนั้น กว่าจะได้ผ่านมาเข้าปากผู้บริโภคนั้น ต้องเข้าปากสัตว์ทดลองเป็นพันตัวขึ้นไป ทั้งสัตว์เล็กและสัตว์ใหญ่ จำนวนของสัตว์นั้นขึ้นกับว่าสารเคมีใหม่นั้น มีลักษณะทางเคมีและกายภาพน่าสงสัยแค่ไหน และมีการใช้ปริมาณเท่าใด ที่สำคัญการประเมินนั้นจะเริ่มจากการทดสอบในสัตว์ระยะสั้นแบบชั่วคราวไม่กี่วันถึงเป็นเดือน และแบบค้างยาวตลอดชาติของสัตว์นั้น จนได้ข้อมูลว่า ปริมาณเท่าใดของสารเคมีที่ศึกษาให้สัตว์กินทุกวันตลอดชีวิตแล้วสัตว์ไม่มีอาการอะไรเลย (ซึ่งรวมถึงมะเร็งและเนื้องอก) สารนั้นถึงจะถูกนำมาคำนวณว่าคนควรได้รับสักเท่าไร อีกทั้งยังมีการประเมินแบบถึงลูกหลานเพื่อดูศักยภาพการก่อพิษในตัวอ่อนและระบบสืบพันธุ์ด้วย   ส่วนอาหารที่มีความเป็นอาหารมากกว่า สารเจือปนในอาหาร เช่น อาหารที่มาทดแทนการใช้แป้ง ไขมัน หรืออื่นๆ เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ใช้เฉพาะผู้บริโภคบางกลุ่ม จะต้องการการทดลองในสัตว์ทดลองระดับหนึ่งเพื่อประกันว่าจะไม่เกิดปัญหาสุขภาพ จากนั้นจึงมีการศึกษาทดลองในอาสาสมัครที่มีการควบคุมการศึกษาโดยผู้ชำนาญการ ในการศึกษาอาหารประเภทนี้ จะมีลักษณะการออกแบบการทดลองเฉพาะ   ในขณะที่อาหารที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอนั้น การประเมินความปลอดภัยทำเพียงแค่มองๆ ดม  หรือวิเคราะห์ทางเคมีว่า มีอะไรเหมือนกับอาหารปรกติเท่านั้น แล้วก็บอกว่าปลอดภัย (substantial equivalence) แต่ไม่เคยลองนำอาหารมาสกัดหาสารซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการตัดแต่งพันธุกรรมที่อาจก่ออันตรายต่อสิ่งมีชีวิตมาศึกษาในสัตว์ทดลอง ทั้งนี้เพราะพืชหรือสัตว์ที่ถูกตัดแต่งพันธุกรรมแล้วนั้นถือว่า ได้กลายพันธุ์ไปแล้ว เพราะหน่วยพันธุกรรมสามารถสร้างสิ่งที่ไม่เคยสร้างได้ขึ้นมา   ที่สำคัญในทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพนั้น ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดปฏิเสธได้ว่า การทำงานของยีนใดยีนหนึ่งมีความสัมพันธ์กับอีกหลายยีน การที่ยีนหนึ่งทำงานจะมีผลกระทบให้อีกยีนทำงานหรือไม่ทำงานก็ได้ พูดไปพวกจงรักจีเอ็มโอก็จะบอกว่า เอาหลักฐานมาดูสิ   ในความเป็นจริงแล้ว วารสารวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติที่เป็นที่ยอมรับคือ Environment International ชุดที่ 37 ปีที่พิมพ์คือ  2011 หน้าที่ 734 ถึง หน้าที่ 742 ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับการประเมินความปลอดภัยของอาหารจีเอ็มโอที่น่าสนใจคือ บทความชื่อ A literature review on the safety assessment of genetically modified plants เขียนโดย José L. Domingo และ Jordi Giné Bordonaba ซึ่งเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยชื่อ Universitat Rovira i Virgili ประเทศสเปน   ในบทความดังกล่าวนั้นได้สรุปว่า แทบจะยังไม่พบปัญหาอะไรเลยในทางสุขภาพที่เกิดเนื่องจากพืชจีเอ็มโอเมื่อศึกษาในสัตว์ทดลองถ้างานวิจัยนั้นทำโดยนักวิจัยของบริษัทที่ผลิตจีเอ็มโอ (ข้อความที่กล่าวไว้คือ Nevertheless, it should be noted that most of these studies have been conducted by biotechnology companies responsible of commercializing these GM plants) และที่สำคัญซึ่งเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปคือ บริษัทที่ผลิตสินค้าจีเอ็มโอไม่ค่อยชอบให้ทุนนักวิจัยอิสระทำวิจัยในเรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารจีเอ็มโอเลย อาจเนื่องจากไม่สามารถรับประกันได้ว่าผลจะออกหัวหรือก้อย   ตัวอย่างเช่น งานวิจัยของ Séralini และคณะชื่อ Genetically modified crops safety assessments: present limits and possible improvements ซึ่งได้ทุนจาก the French Ministry of Research และ The Regional Council of Basse-Normandie ทำวิจัยแบบที่เรียกว่า meta-analysis (หรือเรียกเป็นภาษาไทยว่า การวิเคราะห์อภิมาน) และตีพิมพ์ใน Environmental Sciences Europe ชุดที่ 23 หน้า 1-10 ปี 2011 วารสารดังกล่าวเป็นวารสารวิชาการของ Springer Open Journal ซึ่ง Springer ไม่ใช่บริษัทที่กระจอก แต่เป็นบริษัทที่พิมพ์วารสารที่อยู่ในระดับน่าเชื่อถือของยุโรปทีเดียว การวิเคราะห์อภิมานนั้น เป็นการวิจัยเชิงปริมาณที่ใช้วิธีการทางสถิติมาสังเคราะห์งานวิจัยหลายๆ เรื่องที่ศึกษาปัญหาวิจัยเดียวกัน โดยใช้งานวิจัยแต่ละเรื่องเป็นหน่วยตัวอย่างของการวิเคราะห์ งานวิจัยแต่ละเรื่องนั้นจะถูกแปลงให้เป็นหน่วยมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้สามารถสรุปผลรวมเข้าด้วยกันได้ หรืออาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า การวิเคราะห์อภิมานเป็นการวิจัยงานวิจัย (Research of Research) โดยใช้วิธีการทางสถิติมาวิเคราะห์เพื่อหาข้อสรุปอย่างมีระบบจากงานวิจัยหลายๆ เรื่องที่ศึกษาปัญหาวิจัยเดียวกัน ต้องการทราบรายละเอียดเกี่ยวกับ meta-analysis สามารถไปอ่านได้ที่ http://rci2010.files.wordpress.com/2011/ 06/mata.pdf ข้อสรุปหนึ่งที่ Séralini และคณะกล่าวไว้คือ จากการที่หนู rat ได้กินข้าวโพด MON 863 (ซึ่งเป็นข้าวโพดจีเอ็มโอ) นาน 90 วัน แล้วดูเหมือนว่า ตับและไตจะมีปัญหาในระดับหนึ่ง ผู้ที่สนใจอ่านผลงานวิจัยนี้เชิญได้ที่ http://www.enveurope.com/content/pdf/2190-4715-23-10.pdf เพื่อจะได้ทราบว่า ผู้เขียนไม่ได้อ้างเรื่องนี้ขึ้นมาลอยๆ เพราะ ความจริงก็คือความจริง เพียงแต่ว่าเราจะเอาความจริงมาใช้ประโยชน์หรือไม่ ซึ่งขึ้นกับผู้กำกับการบริโภคอาหารที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมจะเอางานวิจัยลักษณะนี้มาใช้หรือไม่เท่านั้น   สำหรับผู้เขียนแล้วก็ยังนึกดีใจว่า รัฐบาลของเราไม่ว่าจะชุดไหนก็ตาม ยังคงไว้ซึ่งหลักการว่า ไม่รับจีเอ็มโอเพื่อให้ผลิตผลการเกษตรของเรา ยังขายได้ในประเทศที่ไม่ต้อนรับผลิตภัณฑ์ประเภทนี้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point