ฉบับที่ 233 ขาลาย เพราะน้ำเหลืองไม่ดีจริงหรือ

        ผู้ใหญ่หลายคนมักทักเด็กน้อย หรือคนที่ขาเป็นแผลถลอกพุพอง มีน้ำเหลืองเยิ้ม หรือมีรอยแผลเป็นที่ลายพร้อยไปทั้งแขน ขาว่า เป็นโรคน้ำเหลืองไม่ดี ซึ่งก็งงกันไปว่า มันไม่ดียังไง เกิดจากอะไร เป็นกรรมพันธุ์หรือเปล่า เพราะอันที่จริงโรคน้ำเหลืองไม่ดีนั้น ไม่มี มีแต่สิ่งที่เรียกว่า ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง         บ้านเรานั้นอากาศร้อนชื้น มีแมลงรำคาญก็มาก ดิน น้ำ พงหญ้าชื้นแฉะ แมลงชุม เวลาที่ผิวหนังของเรา โดนแมลงต่างๆ กัด หรือระคายเคืองจากพืชบางชนิด หากมีอาการแพ้เกิดผื่นหรือตุ่มคัน บางคนเกาเบาๆ อาการก็ดีขึ้นหรือแค่ป้ายยาหม่องก็หาย แต่หลายคนคันมากก็เกามาก บางคนห้ามใจไม่อยู่เกากันจนเกิดแผลถลอกและติดเชื้อจนกลายเป็นตุ่มหนอง เมื่อแผลหายแล้วก็ยังเกิดเป็นรอยแผลเป็นทิ้งไว้ให้คิดถึงอีก อาการแบบนี้คนสมัยก่อนจะบอกว่า เป็นโรคน้ำเหลืองไม่ดี ต้องกินยานี้ ไม่กินอาหารนี้เพราะมันแสลงโรค รวมทั้งมีสื่อที่โฆษณาขายยาหรืออาหารเสริมหลายชนิดที่มักอวดอ้างสรรพคุณว่า กินแล้วช่วยให้หายจากโรคน้ำเหลืองไม่ดี มาขายในราคาแสนแพงอีกด้วย  สวยอย่างฉลาดคราวนี้จึงขอนำเสนอข้อมูลที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้เข้าใจผิดอีกต่อไป และเรียนรู้วิธีที่ถูกต้องในการรักษา            โรคน้ำเหลืองไม่ดี ไม่มีอยู่จริงในวงการแพทย์ ภาวะที่กล่าวข้างต้นเป็นเพียงแค่ ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง หรือโรคที่มีแผลเรื้อรังที่ขา แขน หรือผิวหนังของร่างกาย บางที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Impetigo ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคที่เรียที่ชื่อว่า Staphylococcus aureus และ Streptococcus pyogenes ที่สามารถเกิดขึ้นกับทุกคนได้ทั้งนั้น เพียงแค่การลุกลามและเรื้อรังของแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการดูแลและรักษาอาการนั้นมากน้อยแค่ไหน                    การรักษาความสะอาดสำคัญที่สุด        ภาวะนี้หากเกิดกับเด็ก จะดูแลยากหน่อย เพราะห้ามเด็กไม่ให้เกาเมื่อคันนั้นยาก บางทีหลับแล้วก็ยังเผลอเกาจนน้ำเหลืองเยิ้มกลายเป็นแผลติดเชื้อ ดังนั้นต้องเริ่มจากการป้องกัน กล่าวคือ ไม่ควรให้เด็กเล่นดิน ทราย หรือน้ำที่สกปรก ไม่เข้าพงหญ้าที่มีแมลง แต่หากสัมผัสกับสิ่งสกปรกเหล่านี้ต้องรีบล้างทำความสะอาดทันที และควรต้องตัดเล็บเด็กให้สั้นเสมอ เพื่อป้องกันเชื้อที่ซ่อนอยู่ในเล็บและการเกาจนเกิดบาดแผล         การรักษา หากเกิดตุ่มคัน ผื่นแพ้ บวม แดง ให้รีบล้างแผลให้สะอาด รักษาแผลโดยอาจฟอกด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น chlorhexide หรือทายาฆ่าเชื้อกลุ่ม cloxacillin dioxacillin หรือ Cephalexin แต่หากอาการรุนแรง แผลลุกลาม มีไข้ ต้องรีบไปพบแพทย์ ซึ่งอาจต้องใช้ยาฆ่าเชื้อแบบกินหรือฉีด และอาจต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล         ในผู้ใหญ่ก็คล้ายกัน ป้องกันก่อนดีที่สุด หากเกิดผื่นแพ้หรือตุ่มคัน ควรหายาทาบรรเทาอาการ หรือรับประทานยาแก้แพ้ สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาโรคนี้คือ การรักษาความสะอาด ตัดเล็บให้สั้น อาบน้ำล้างแผลให้สะอาด ไม่แกะ ไม่เกาแผล เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบที่แผล เพราะจะทำให้แผลหายช้า         เรื่องจริงของแผลติดเชื้อ        ·  ไม่มีของแสลง อาหารกินได้ทุกชนิด ไม่ต้องงด เนื้อ นม ไข่        ·  พ่นยา พ่นเหล้า พ่นสมุนไพร อาจจะยิ่งติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น        ·  ไม่มีอาหารเสริมเพื่อมารักษา ดีสุดกินอาหารครบ 5 หมู่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 นี่คือเหตุผลที่เราต้องใส่ใจต่อสวัสดิภาพของสัตว์ในฟาร์ม

        รู้ไหมว่ายิ่งเราปฏิบัติต่อสัตว์เลี้ยงในฟาร์มดีมากเท่าไร มนุษย์เราจะยิ่งปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น ในสถานการณ์ที่มนุษย์ต้องเผชิญความเสี่ยงจากเชื้อโรคที่ดื้อต่อยารักษา(เชื้อแบคทีเรียที่ทนต่อยาต้านจุลชีพ)  ซึ่งทำให้คนทั่วโลกเสียชีวิตถึง 700,000 รายในแต่ละปี และคาดว่าจะเพิ่มสูงถึง 10 ล้านคนต่อปี ในปี พ.ศ. 2593  หากเรายังป้องกันปัญหาการกระจายของเชื้อดื้อยาในสิ่งแวดล้อมไม่ได้ เนื่องจากมีการพบการตกค้างของยาปฏิชีวนะและเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในแหล่งน้ำรอบบริเวณฟาร์มอุตสาหกรรมทั่วโลก รวมถึงการตกค้างในเนื้อสัตว์จากฟาร์ม        ในปี พ.ศ. 2561 องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้ทำการสำรวจเนื้อหมูที่วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตจากประเทศออสเตรเลีย บราซิล สเปน และประเทศไทย  การสำรวจพบว่ามีเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ (Superbugs) ในผลิตภัณฑ์เนื้อหมูจาก 3 ใน 4 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ผลการทดสอบดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นว่าการเลี้ยงหมูในฟาร์มแบบอุตสาหกรรมที่ไม่ใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์ ส่งผลให้ต้องมีการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นกับหมู จนส่งผลให้เกิดวิกฤติแบคทีเรียดื้อยาปฎิชีวนะขึ้น ผลการทดสอบเชื้อดื้อยากรณีประเทศไทย        การทดสอบผลิตภัณฑ์เนื้อหมูที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตที่จัดทำขึ้นในปี พ.ศ. 2561 นี้ ก็เพื่อตรวจสอบหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในเนื้อหมูที่มีฤทธิ์ต่อต้านยาปฏิชีวนะในประเภทที่กำหนด เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างฟาร์มที่ขาดการดูแลสวัสดิภาพสัตว์กับการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น โดยมีการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์จาก 4 ประเทศ (ออสเตรเลีย บราซิล สเปน และไทย) เป็นการซื้อเนื้อหมูที่บรรจุอยู่ในแพ็คจากซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้ จะถูกเก็บอยู่ในความเย็นและส่งไปยังห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือสำหรับการตรวจสอบตัวอย่างผลิตภัณฑ์ประกอบไปด้วยหมูบด เนื้อหมูที่ผ่านการตัดขาย เป็นชิ้นและราคาปกติ         ผลการทดสอบของไทย จากจำนวนทั้งหมด 150 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนแบคทีเรีย อีโคไล มากกว่า 97% และซัลโมเนลล่า จำนวน 50% โดยตัวอย่างที่นำมาทดสอบนี้ มาจาก 2 ซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทยคือ เทสโก้ โลตัสและท็อปส์ มาร์เก็ต        •  97% ของเชื้ออีโคไล และ 93% ของเชื้อซาลโมเนลล่า ที่พบเป็นแบคทีเรียดื้อยาหลายขนาน        • มีการพบเชื้ออีโคไลที่มีฤทธิ์ต่อต้าน ESBL (จำนวน 10% ของอีไคไลที่พบ) โดยจัดเป็นเชื้ออีโคไลที่มีฤทธิ์ในการต่อต้านยาปฏิชีวนะจำพวกเซฟาโลสปอรินและแอมพิซิลิน โดยยาปฏิชีวนะในกลุ่มเซฟาโลสปอริน รุ่นที่ 3 ขึ้นไปถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความสำคัญสูงสุดต่อสุขภาพของคน        • พบเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะในกลุ่มที่มีความสำคัญต่อสุขภาพคนสูงสุด โดยพบในตัวอย่างที่นำมาจากเทสโก้ โลตัส พบแบคทีเรียที่มีฤทธิ์ต่อต้านยาแซโฟแท็กเซี่ยม 15% และแซฟโปดอกเซี่ยม 15% จากตัวอย่างทั้งหมดที่พบเชื้ออีโคไล นอกจากนั้นจากตัวอย่างที่พบอีไคไลและซัลโมเนลล่า ยังพบการดื้อยาต่อเจนต้าไมซิน (19%) เตรปโตไมซิน (96.8%) และแอมพิซิลลิน (100%)         • มีการพบเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่ออกฤทธิ์ต่อต้านยาปฏิชีวนะกลุ่มที่มีความสำคัญสูงสุดต่อสุขภาพของคน โดยตัวอย่างจากเทสโก้ โลตัส ที่พบเชื้ออีโคไลและซัลโมเนลล่านั้นมีการออกฤทธิ์ต่อต้านเตตร้าไซคลิน 96.7% และคลอแรมเฟนิคอล 61%        อนึ่งในการทดสอบนี้เราไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่า ผลการทดสอบเชื่อมโยงกับสุขภาวะของผู้บริโภคแบบเจาะจง แต่สำนักงานยายุโรป(European Medicines Agency) ได้ยืนยันว่าเชื้อแบคทีเรียดื้อยาสามารถถ่ายทอดสู่คนได้ทางห่วงโซ่อาหารและสามารถคงอยู่ได้ในลำไส้ของคน ดังนั้นจึงส่งผลให้เด็ก คนชราและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ รวมถึงเกิดการเจ็บป่วยจากอาหารเป็นพิษ ท้องร่วง ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะและการทำงานของตับล้มเหลว ฟาร์มอุตสาหกรรมและการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น        ปัจจุบันมีการใช้ยาปฏิชีวนะ 131,000 ตันต่อปีในฟาร์ม เพื่อเร่งการเจริญเติบโต ป้องกัน และรักษาโรคต่างๆ ในสัตว์ โดยจำนวน 3 ใน 4 ของยาปฏิชีวนะทั่วโลกถูกใช้กับสัตว์ในฟาร์ม        องค์การอนามัยโลก(WHO) ได้ประกาศถึงอันตรายของยาปฏิชีวนะ ที่มีผลต่อสุขภาพของคน โดยจัดให้เป็นลำดับสำคัญที่สุด และก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของคนอย่างรุนแรง ยาปฏิชีวนะที่ได้รับการ ประกาศเตือนนี้ รวมถึงยาปฏิชีวนะที่ใช้ในฟาร์มหมู ได้แก่ โคลิสติน ฟลูออโรควิโนโลน เซฟาโลสปอริน รุ่นที่ 3 และเอนโรโฟลซาซิน   ยาปฏิชีวนะเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มใช้รักษาอาการติดเชื้ออย่างรุนแรงในคน โดยองค์การอาหาร และการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้แนะนำว่าไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มดังกล่าวนี้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นการคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพในการรักษาการติดเชื้อในคนอย่างได้ผล        แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มนี้ อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานที่ชัดเจนที่บ่งชี้ว่า การใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นนี้ก่อให้เกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่พบในเนื้อสัตว์ ในฟาร์มตลอดจนในห่วงโซ่อาหาร เราพบว่าอุตสาหกรรมหมูมีการใช้ยาปฏิชีวนะมากกว่าฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ชนิดอื่นๆ เพื่อเร่งการเจริญเติบโตและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากวิธีการเลี้ยงที่ไม่ใส่ใจสวัสดิภาพ        ยาปฏิชีวนะประเภทแอมพิซิลลินและเตตราไซคลีนมักนำมาใช้กับลูกหมูในระหว่างขั้นตอนในการตัดหางหรือการตอน  ยาปฏิชีวนะถูกนำมาใช้บ่อยครั้งกับลูกหมูที่ถูกหย่านมเร็วจากแม่เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย และยังถูกใช้ผสมกับอาหารสัตว์ให้กับหมูขุนเพื่อลดความเครียด ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นเกินไปและการเปลี่ยนกลุ่มของหมู ยาปฏิชีวนะที่ถูกนำมาใช้นั้นอาจรวมถึง โคลิสตินแอมพิซิลลิน ฟลูออโรควิโนโลน เซฟาโลสปอริน รุ่นที่ 3 เอนโรโฟลซาซิน เจนต้าไมซิน ไทโลซิน เตตราไซคลีน ซัลฟาไดอะซิน เฟนิคอล และอื่นๆ แม้แต่แม่หมูก็จะได้รับยาปฏิชีวนะเป็นประจำเพื่อป้องกันการเสียชีวิต จากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ กีบเท้าช่องคลอด และบริเวณหลังเนื่องจากความเครียดและการบาดเจ็บที่เกิดจากการถูกกักขัง และมีสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ดี คุณสามารถช่วยให้ปัญหาเชื้อดื้อยาตกค้างในเนื้อสัตว์ลดลงได้        ลูกหมูต้องถูกพรากจากแม่ตั้งแต่ยังเล็ก ในขณะที่แม่หมูจะถูกใช้เสมือนเป็นเครื่องเพาะพันธุ์เท่านั้น โดยจะถูกขังอยู่ในกรงเหล็กที่ไม่ใหญ่ไปกว่าตู้เย็นขนาดมาตรฐาน ไม่สามารถแม้แต่จะหมุนตัวได้ และทำให้แม่หมูเกิดความเครียด ลูกหมูจะถูกตัดอวัยวะโดยไม่มีการลดความเจ็บปวด เช่นการตัดหาง กรอฟัน ขลิบหู และลูกหมูตัวส่วนใหญ่จะถูกจับตอน หมูจะถูกขังอยู่ในที่มืด คับแคบ และต้องนอนทับมูลของตัวเอง วิธีการในฟาร์มหมูที่โหดร้ายเหล่านี้ ส่งผลให้หมูเกิดความเครียด เชื้อโรคแพร่กระจาย และนำมาซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นจำนวนมหาศาลเพื่อรักษาชีวิตของสุกรโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น        องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้เรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วโลกช่วยกันยกระดับคุณภาพสุกรในฟาร์มโดยการคัดเลือกเนื้อหมูจากฟาร์มที่มีการดูแลสวัสดิภาพขั้นสูงเท่านั้นมาจำหน่าย นายโชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการฝ่ายแคมเปญสัตว์ในฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย เปิดเผยว่า “องค์กรฯ ได้ทดสอบผลิตภัณฑ์เนื้อหมูเพื่อสำรวจว่าอุตสาหกรรมฟาร์มหมูที่ไม่ใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์นั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะอย่างไร และเพื่อนำเสนอหลักฐานการค้นพบนี้ เรียกร้องให้   ซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทย แสดงความรับผิดชอบมากขึ้น โดยการประกาศคำมั่นสัญญาต่อสาธารณะในการจำหน่ายเนื้อหมูที่มาจากฟาร์มที่ใส่ใจสวัสดิภาพของหมูเท่านั้น”        นายโชคดี ยังได้ย้ำอย่างหนักแน่นว่า “เราต้องการยกเลิกการเลี้ยงแม่หมูแบบยืนซอง เพื่อให้หมูได้มีโอกาสเข้ากลุ่มสังคมภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และให้หมูได้มีโอกาสแสดงออกพฤติกรรมตามธรรมชาติได้ ซูเปอร์มาร์เก็ตควรกำหนดมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ให้สูงขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่าสัตว์จากฟาร์มผู้ผลิตนั้นจะมีความเครียดต่ำ และมีการใช้ยาปฏิชีวนะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น”        และผู้บริโภคเองสามารถช่วยกันเรียกร้องต่อซูเปอร์มาร์เก็ตให้แสดงจุดยืนด้วยการประกาศคำมั่นว่าจะจำหน่ายเนื้อหมูที่มาจากฟาร์มที่เลี้ยงหมูอย่างมีสวัสดิภาพที่ดีเท่านั้นด้วยเช่นกัน สนใจข้อมูลเพิ่มเติมwww.worldanimalprotection.or.th

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 สบู่ฆ่าแบคทีเรีย อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดี

เมื่อเร็วๆ นี้ สบู่ฆ่าแบคทีเรีย(Antibacterial Soap) ถูกนำมาถกเถียงอีกครั้งว่า มันช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยและช่วยให้ร่างกายสะอาดเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่? 17 ธ.ค.2557 สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐ (เอฟดีเอ) แถลงว่า กำลังศึกษาถึงผลกระทบทางสุขภาพต่อกรณีที่มีการใช้สบู่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียกันอย่างแพร่หลาย เพื่อหาข้อมูลยืนยันถึงความปลอดภัยเมื่อใช้ต่อเนื่องในระยะยาว โดยผู้ผลิตสบู่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าผลิตภัณฑ์ของตน ดีกว่าสบู่ธรรมดาทั่วไปในการป้องกันการเจ็บป่วยและเชื้อโรค อย่างไร หากพิสูจน์ไม่ได้ ต้องถอดไตรโคลซานออกจากส่วนประกอบของสบู่เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค คอลีน โรเจอร์ส หัวหน้าหน่วยจุลชีววิทยาที่เอฟดีเอ กล่าวว่า จากข้อมูลใหม่พบความเสี่ยงของการใช้ผลิตภัณฑ์เป็นเวลานาน การใช้สบู่ต้านเชื้อแบคทีเรียเป็นประจำทุกวันอาจไม่ให้ประโยชน์อีกแล้ว ผลวิจัยของเอฟดีเอยังพบว่าจากการศึกษาในห้องปฏิบัติการทดลองพบ เชื้อแบคทีเรียบวกกับสบู่ฆ่าเชื้อกลายเป็นแบคทีเรียกลายพันธุ์และมีฤทธิ์ดื้อยาเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ผู้ผลิตสินค้ามีเวลาจนถึงสิ้นปี 2557 เพื่อนำเสนอรายงานผลการทดลองทางคลินิกในผลิตภัณฑ์ของตน  และเอฟดีเอจะมีผลสรุปในปี 2559   ก่อนการแถลงของเอฟดีเอครั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีข่าวงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า ไตรโคลซาน ที่นำมาใช้เป็นสารต้านเชื้ออาจก่อให้เกิดความเสี่ยงหลายประการ เช่น กระตุ้นให้เกิดภาวะภูมิแพ้และอาการจมูกอักเสบจากภาวะภูมิแพ้ในเด็ก งานวิจัยของสถาบันวิจัยสาธารณสุขนอร์เวย์ พบความสัมพันธ์ของปริมาณไตรโคลซานที่ตรวจพบในปัสสาวะของเด็กอายุ 10 ปี กับระดับการหลั่งของสารตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันที่บ่งชี้ภาวะการเกิดภูมิแพ้ ซึ่งงานวิจัยในอดีตพบว่า 85% ของไตรโคลซานที่อยู่ในร่างกายได้มาจากการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดยเฉพาะยาสีฟัน แม้แต่ในลิปสติก หนังสือพิมพ์แทบลอยด์ชื่อดังของอังกฤษ เดลี่เมล์ก็ลงข่าวใหญ่โตว่าผู้หญิงที่ทาลิปสติกมากๆ อาจได้รับผลกระทบจากสารไตรโคลซานที่ออกฤทธิ์รบกวนระบบฮอร์โมน และอาจมีผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อที่ได้รับคำสั่งจากสมอง รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจด้วย โดยอ้างศาสตราจารย์ ไอแซ็ค เพสซาห์ นักวิจัยด้านโมเลกุล ที่ค้นพบในห้องทดลองว่า สารไตรโคซานสามารถลดอัตราการเต้นของหัวใจของหนู ภายในเวลา 20 นาที และมีหลักฐานที่ชัดเจนว่า อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ด้วย ศูนย์คุ้มครองโรคระบาด (The Centers for Disease Control) ของสหรัฐฯ ประมาณการว่า ประชากรร้อยละ 75 ของอเมริกามีไตรโคลซานสะสมอยู่ในร่างกาย ซึ่งสามารถตรวจพบได้ในปัสสาวะ เลือด และน้ำนม และจากการทดลองกับสัตว์ ไตรโคลซาน ส่งผลต่อฮอร์โมนในร่างกายไม่ต่างจาก Bisphenol-A (BPA) ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนเพศ (หรือเปลี่ยนเป็นเพศตรงข้าม) รวมไปถึงเป็นปัจจัยที่อาจสะสมจนกลายเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง กลับมาที่สบู่ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ชำระล้างใกล้ตัวและมีความเสี่ยงในการใช้ต่ำเพราะสัมผัสผิวไม่นาน แต่การนำสารไตรโคลซานมาใช้เพื่อเป็นสบู่ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย กลับจะยิ่งสร้างความเสี่ยงให้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากโดยธรรมชาติผิวของคนเรานั้นจะมีเชื้อจุลินทรีย์หลายชนิด ทั้งตัวดี ตัวร้าย(ก่อโรค) แต่สบู่ฆ่าเชื้อจะฆ่าจุลินทรีย์ทุกชนิด จุลินทรีย์ที่ดีซึ่งคอยปกป้องผิวเราก็พลอยโดนกำจัดไปด้วย ผิวหนังจึงเสียสมดุล ทำให้เกิดการแพ้และแห้งผากได้ง่าย   ไตรโคลซาน คืออะไร ย้อนหลังไปเกือบ 50 ปีที่ผู้คนในสังคมให้ความสำคัญกับเรื่องของความสะอาด ปราศจากเชื้อโรค สารเคมีนานาชนิดที่มุ่งหวังเพื่อการกำจัดเชื้อจึงถูกคิดค้นขึ้นและนำมาผสมลงไปในสินค้าอุปโภคต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งสารที่มีชื่อว่า ไตรโคลซาน(Triclosan) คือสารสังเคราะห์ ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ว่ามีประสิทธิภาพต้านเชื้อแบคทีเรียและปลอดภัยกับมนุษย์ จึงมีการนำมาใช้อย่างกว้างขวางทั่วโลก ไตรโคลซานถูกนำไปใช้ทั้งในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย สบู่ ครีมอาบน้ำ ยาสระผม โฟมล้างหน้า ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก ยาสีฟันแก้เหงือกอักเสบ ผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อ หรือเป็นสารกันเสียในอาหาร ยาและเครื่องสำอางหลายชนิด นอกจากนี้ยังพบในผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค เช่น ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม เครื่องครัว ของเล่น เครื่องนอน ถุงเท้า ถุงขยะ ของเล่นเด็ก ผ้าและผ้าพลาสติก การที่ทั่วโลกนิยมใช้สารไตรโคลซานอย่างกว้างขวางนี้เอง ทำให้นักวิชาการสิ่งแวดล้อมเป็นห่วงว่าทั้งในอากาศ น้ำเสีย อาจมีการปนเปื้อนสารดังกล่าวตกค้างสะสมได้ ส่วนนักวิชาการทางการแพทย์เป็นห่วงว่า การที่เราใช้สารต้านเชื้อจุลินทรีย์ชนิดนี้มากเกินไป จะก่อให้เกิดปัญหาทางการแพทย์ กล่าวคือ เชื้อโรคมีการพัฒนาสายพันธุ์และดื้อต่อยาปฏิชีวนะที่ใช้สำหรับรักษาโรคติดเชื้อรุนแรง และในอนาคตอาจหายาฆ่าเชื้อที่กลายพันธุ์เหล่านี้ได้ยากยิ่งขึ้น สมาคมการแพทย์แห่งอเมริกา (The American Medical Association) จึงแนะนำว่า ผู้บริโภคควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไตรโคลซานอย่างรอบคอบ เพราะข้อสมมุติฐานที่ว่า ไตรโคลซานอาจเป็นสาเหตุของโรคภัยและปัญหาสุขภาพได้ เริ่มมีน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ   สถานะทางกฎหมาย ผลิตภัณฑ์ที่มีสารฆ่าเชื้อในสหรัฐอเมริกาจัดเป็นยา และเป็นยาที่ขายได้โดยไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ (OTC) กรณีของในประเทศไทย ไตรโคลซาน เป็นวัตถุกันเสียที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ลำดับที่ 24 ส่วนไตรโคลคาร์บาน เป็นวัตถุกันเสียที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ลำดับที่ 22 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 47) พ.ศ.2550 เรื่อง กำหนดวัตถุกันเสียที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง นั่นหมายความว่าสบู่หรือครีมล้างมือหรือครีมอาบน้ำที่มีสารไตรโคลซานหรือไตรโคลคาร์บาน ถือว่าเป็นเครื่องสำอางตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535       //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point