ฉบับที่ 103 จองรถไม่ได้รถ ต้องได้เงินจองคืน

เรียน ผู้จัดการ บริษัท พระนครออโต้เซลล์เรื่อง ขอเงินค่าจองรถป้ายแดงคืนจากที่ได้ตกลงกันกับทางบริษัทไปแล้วนั้นว่าดิฉันจะรับเงื่อนไขจากบริษัท คือรับเงินคืนจำนวน 3,000 บาท จากที่ได้จองทั้งสิ้นเป็นเงิน 5,000 บาท โดยในการรับเงื่อนไขระบุในเอกสารการจองว่า ให้โอนเงิน 1,000 บาท เข้าบัญชีเลขที่ 688-000000-0 อีก 2,000 บาททางบริษัทยืนยันว่าจะจ่ายเป็นเช็คและแฟกซ์หน้าเช็คที่สั่งจ่ายเข้าบัญชีภายในวันที่ตกลงกัน แต่หลังจากนั้นดิฉันได้รอแฟกซ์แต่ก็ไม่มีแฟกซ์หน้าเช็คกลับมาดิฉันจึงอยากเรียนมา จริง ๆ แล้ว ดิฉันเช็คดูแล้วว่าทางบริษัท ผิดนัด ซ้ำแล้วซ้ำอีก นับตั้งแต่วันจองจนหาบริษัทไฟแนนซ์ให้ไม่ได้ และพยายามทำให้เรื่องยืดเยื้อและล่าช้า การกระทำดังกล่าวทำให้ดิฉันอดคิดไม่ได้ว่า ทางบริษัทจะริบเงินจองทั้งหมดจริง...นี่เป็นส่วนหนึ่งของจดหมายที่คุณกฤชญากรส่งถึงบริษัทขายรถยนต์แห่งหนึ่งเพื่อทวงถามเงินจองที่ได้จ่ายไปจำนวน 5,000 บาท แต่บริษัทรถอ้างว่าคุณกฤชญากรติดเครดิตบูโร ไฟแนนซ์ไม่อนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อให้สักราย และได้เสนอเปลี่ยนรถที่จะขายให้เป็นคันใหม่ คุณกฤชญากรเห็นว่าไม่ได้รถตามที่ต้องการไว้แต่แรก จึงบอกเลิกสัญญาการจองและขอเงินค่าจองรถคืน แต่เกือบร้อยทั้งร้อยล่ะครับที่จะเจอการโยกโย้ โยกเย้ ประวิงเวลา เตะถ่วงไปเรื่อย ๆ ไม่คลายเงินจองออกมาง่าย ๆ จนผู้จองรถโดยส่วนใหญ่จำต้องทิ้งเงินจองไป ที่ผ่านมา ธุรกิจกินเงินจองรถนี่บรรดาเต้นท์รถเบิกบานมาก เพียงแค่ลงทุนค่าโฆษณาผ่านหนังสือขายฝากรถยนต์ แจ้งโฆษณาว่ามีรถทุกรุ่น ทุกเฉดสี ไม่ว่าใหม่หรือเก่า ก็สามารถหาให้ได้ แถมราคาย่อมเยากว่าศูนย์ตัวแทนของบริษัทผู้ผลิตเป็นหมื่น แค่นี้ก็มีลูกค้ามาถวายเงินจองให้ตรึม พอลูกค้ามาติดต่อก็บอกว่าหารถให้ได้แน่ ไฟแนนซ์ก็ผ่านแน่ ๆ ขอแค่วางเงินจองไว้ 5,000 บาท พอถึงจังหวะที่จะกินเงินจองกับลูกค้าก็จะมีสูตรตายตัวในทำนองว่า ลูกค้าปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับเครดิตบูโร เลยไม่สามารถจัดไฟแนนซ์ให้ได้ เมื่อลูกค้าเป็นคนผิดสัญญาการจองเอง ดังนั้นจึงต้องถูกยึดเงินจอง ลูกค้ากลับไปดูสัญญาก็เห็นเป็นจริงเช่นนั้นเสียด้วยแต่เขียนซะตัวเล็กกระจ้อยร่อย ท้ายสุดต้องยอมเสียเงินไป เรื่องทำนองนี้เคยนำลงในฉลาดซื้อมาครั้งสองครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้มีข้อกฎหมายเด็ดสะระตี่ไว้ให้ผู้บริโภคใช้เรียกเงินจองคืนได้แบบสมบูรณ์แบบครับแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยท่วงทำนองการประกอบธุรกิจที่ทุจริตของบรรดาเต้นท์รถทั้งหลายทำให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคนิ่งเฉยไม่ได้ ในที่สุดจึงได้ใช้แผนเผด็จศึกที่ได้ผลมาแล้วกับหลายๆ ธุรกิจ คือการประกาศให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา หลายคนยังไม่รู้จักเพราะประกาศฉบับนี้เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2551 นี่เอง ถือเป็นประกาศควบคุมสัญญาล่าสุดที่ สคบ. มีออกมาประกาศฉบับนี้ใช้ควบคุมการประกอบกิจการขายรถยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจนำเอารถยนต์ออกขายโดยให้ผู้บริโภคทำการจองซื้อ และผู้ประกอบธุรกิจได้รับเงินหรือรับสิ่งใดไว้เป็นมัดจำ และให้คำมั่นว่าจะส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคตามเวลาที่กำหนดในสัญญาทีนี้ในเรื่องของการซื้อขายรถยนต์ที่มีการจอง ประกาศฉบับนี้ได้เขียนข้อสัญญาที่ควบคุมไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อผู้ประกอบธุรกิจไปปรับเปลี่ยนราคารถยนต์ที่จองไว้สูงขึ้น หรือไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มียี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ตรงตามที่กำหนดในสัญญา หรือ ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามที่กำหนดในสัญญานอกจากนี้ยังมีการควบคุมสัญญาที่สำคัญอีกข้อหนึ่งว่า หากมีข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับทราบว่า ผู้บริโภคต้องขอสินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์ และผู้บริโภคไม่ได้รับสินเชื่อตามที่ขอภายในกำหนดเวลาการส่งมอบรถยนต์ ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญากันได้ผลของการบอกเลิกสัญญากันตามเงื่อนไขที่ได้ว่ามา คือ ผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินหรือสิ่งใดที่รับไว้เป็นมัดจำทั้งหมดแก่ผู้บริโภคภายใน 15 วันแม้ผู้ประกอบธุรกิจอาจจะหัวหมออ้างว่า สัญญาที่ทำกับผู้บริโภคไม่มีข้อสัญญาเหล่านี้ แต่ไม่สามารถจะใช้ยกเป็นเหตุในการไม่ยอมคืนเงินจองเงินมัดจำให้กับผู้บริโภคได้ครับ เนื่องจาก ตามหลักกฎหมายควบคุมสัญญาของ สคบ. นั้นมีหลักการสำคัญคือ หากสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำขึ้นไม่มีข้อสัญญาตามที่ สคบ. ได้กำหนดไว้ กฎหมายจะถือว่าสัญญาของผู้ประกอบธุรกิจมีข้อสัญญาที่ สคบ. กำหนดไว้อยู่ด้วยแล้ว และหากสัญญาข้อใดของผู้ประกอบธุรกิจที่เขียนแล้วไปฝ่า ไปฝืนข้อสัญญาที่ สคบ. ได้กำหนดไว้ กฎหมายควบคุมสัญญาจะถือว่าไม่มีข้อสัญญานั้นปรากฏอยู่ในข้อสัญญาของผู้ประกอบธุรกิจ พูดง่ายๆ คือ ข้อสัญญาใดที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคจะเอามาบังคับใช้กันไม่ได้หลักการนี้จึงเป็นที่มาของคำว่า “ธุรกิจที่ควบคุมสัญญา” ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญานั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >