ฉบับที่ 120 คู่บู๊ – คู่บุ๋น ความสุขสาธารณะ

  จะเป็นอย่างไรถ้า “งานสาธารณสุข” ที่ถูกนิยามให้เป็นศาสตร์และศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการดูแลและจัดการสุขภาพของชุมชน ถูกผันนิยามมาเป็น “ความสุขสาธารณะของคนในชุมชน” ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอพาคุณมารู้จักกับคู่บู๊ – คู่บุ๋นที่เปลี่ยน “งานสาธารณสุข ให้กลายเป็นความสุขสาธารณะ” เรื่องที่ดูยุ่งยากจึงกลายเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ชาวอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เข้ามามีส่วนร่วมกับงาน “สร้างความสุขสาธารณะ” ของคุณเกษร วงศ์มณี หรือหมอน้อย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอหล่มสัก และคู่ชีวิตของเธอนายแพทย์พงศ์พิชญ์ วงศ์มณี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหล่มสัก ที่เปลี่ยนสถานีอนามัย 31 แห่ง ให้เป็นโรงพยาบาลตำบล   “งานสาธารณสุขอำเภอก็จะทำหน้าที่ดูแลแลระบบการจัดการสุขภาพในระดับสถานีอนามัย ซึ่งที่เราทำอยู่ก็คือการพยายามพัฒนาสถานีอนามัยที่ให้ชาวบ้านมาเป็นเจ้าของ ไม่ให้เขามองว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐซึ่งจะเป็นการรวมศูนย์ ซึ่งการไปหาหมอของชาวบ้านแต่ละครั้งต้องใช้เวลามาก บางคนมาตั้งแต่เช้า ตี 3 ตี 4 เพื่อมาหาหมอกว่าจะกลับบ้านก็เย็นแล้ว ไหนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาหาหมออีก จุดนี้ถือว่าเป็นงานที่ท้าทายมากในการทำงานว่าเราจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมและจะทำอย่างไรที่ไม่ให้ระบบการรักษาพยาบาลกระจุกตัวที่ส่วนกลาง ซึ่งถ้าเราจัดการแบบให้ชาวบ้านมามีส่วนร่วมเราจะกระจายได้ทั้งหมด” หมอน้อยบอกเล่าถึงจุดเริ่มของแนวคิด   และจากแนวคิดและปรัชญาที่เชื่อว่า 'บ้าน' เป็นสถานที่ที่มีระบบการดูแลสุขภาพแบบพึ่งพาตนเองได้ดีที่สุด เพราะครอบคลุมทั้ง กาย ใจ สังคม จิตวิญญาณความเชื่อ และวัฒนธรรมประเพณี จึงใช้กลยุทธ์ 'ใกล้บ้าน ใกล้ใจ' ในรูปของโรงพยาบาลตำบล เปิดประตูให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการสุขภาพ ภายใต้ 3 ประสานหลัก คือ ชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข องค์กรท้องถิ่นนั่นเองระบบสาธารณสุข จึงค่อยๆกลายเป็นความสุขสาธารณะ   โรงพยาบาลของเรา  "แนวคิดเรื่องโรงพยาบาล ชุมชนเกิดขึ้นโดย ชุมชนต้องร่วมกันลงขันคนละ 2 บาทต่อเดือน หรือ 24 บาทต่อปี ถ้ามีประชากรในชุมชนจำนวน 10,000 คน ก็จะได้เงินสมทบจำนวน 240,000 บาท และองค์การบริหารส่วนตำบลในฐานะผู้มีบทบาทในระบบสุขภาพของประชาชน ก็ร่วมลงขันด้วย และโรงพยาบาล (CUP) ในฐานะผู้บริหารเงินต่อหัวประชากร ได้จัดสรรงบจากรัฐบาลมาร่วมสมทบทุน กองทุนสุขภาพจึงมีงบประมาณปีละ 700,000 บาท เพื่อใช้ในการบริหารจัดการโดยคณะกรรมการกองทุนสุขภาพ ที่ถูกคัดเลือกจากประชาชนและท้องถิ่นทุกหมู่บ้านในตำบล"  น.พ.พงศ์พิชญ์ บอกถึงที่มาของกองทุนโรงพยาบาล ซึ่งเขาบอกว่า “เงินน่ะมี เพียงแต่ว่าเราจะมีวิธีนำเงินมาใช้และบริหารอย่างไร” การระดมทุนจากการ “ลงขันคนละ 2 บาท” ทำให้ปัจจุบันมีเงินหมุนเวียนในการจัดการกองทุนถึง 37 ล้านบาท และเงินตรงนี้เองที่เป็นทุนส่งคนในชุมชนเรียนพยาบาลถึง 38 คนทีเดียว ครั้นเมื่อเรียนจบแล้วก็กลับมาเป็นทำงานที่บ้านเกิด เหมือนหมอน้อยนั่นเอง   ปัจจุบันศักยภาพของโรงพยาบาลตำบลสามารถรักษาโรคที่เกินกำลังของสถานีอนามัย ปกติจะรับได้ อาทิเช่น โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ, โรคเกี่ยวกับข้อ เอ็นเข่า กล้ามเนื้อ, โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร, โรคเบาหวาน ความดัน หรือแม้กระทั่งโรคทางจิตเวช และทันตกรรม โดยมีพยาบาล และทันตสาธารณสุข 'ทุน 2 บาท' ประจำโรงพยาบาลตำบลนั้นๆ เป็นผู้ดูแล   “ในแต่ละปีเราก็จะมีการนำเสนอข้อมูลว่าปีนี้เราทำอะไรไปบ้างในแต่ละตำบล แต่ละหมู่บ้าน ค่ารักษาพยาบาลเท่าไร ได้เงินจากชาวบ้านมาลงขันจำนวนเท่าไร แล้วเราทำอะไรบ้าง ปีหน้าเราจะทำอะไร นอกจากจะให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของแล้วพี่ยังสร้างวัฒนธรรมในการทำงานใหม่ของสาธารณสุข เราจะคืนข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล แล้วก็สังเคราะห์ข้อมูล แล้วก็สร้างพยาบาลให้กับภาคประชาชน และสร้างให้เกิดการจัดการระบบ จากตอนแรกเรามีพยาบาลแค่ 2 คน ตอนนี้เรามีพยาบาลถึง 77 คน เป็นพยาบาลเวชปฏิบัติทั้งหมด ซึ่งเรารอจากส่วนกลางไม่ได้ ถึงแม้จะส่งมาก็จะลงที่อำเภอทั้งหมด ถ้าเราไม่คิดอะไรใหม่ๆ เราก็ไม่มีทางนำพยาบาลมาสู่ตำบลได้”   'กองทุน 2 บาท' ยังมีการต่อยอดในเรื่องเครื่องมือทางทันตกรรม หน่วยกู้ชีพประจำตำบลกรณีมีเหตุฉุกเฉิน ศูนย์ไกล่เกลี่ยชุมชน หรือแม้กระทั่งการสามารถปรึกษาหมอผ่านระบบ Telemedicine ที่ถือเป็นไฮไลต์ของเครือข่ายโรงพยาบาลตำบล ด้วยโปรแกรมการติดต่อพูดคุยที่เรียกว่า Skype (โปรแกรมโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต) ซึ่งใช้ในการติดตามและประสานงานกับสถานีอนามัยทุกแห่งจำนวน 31 แห่งเลยทีเดียว   คนของเรา“นอกจากการให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของระบบสุขภาพและการมีส่วนขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นแล้ว เราก็ใช้ชาวบ้านไปดูผู้ป่วย เรื่องง่ายๆ ที่ไม่ต้องถือมือหมอเราก็รักษากันเองได้ แต่เราต้องพัฒนาคนก่อน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเราต้องรักษาคนได้ตามขั้นตอน 1 2 3 เราก็อบรมกันไป หรืออย่างพยาบาลวิชาชีพเมื่อเราอยากได้เราก็ต้องสร้างต้องพัฒนาคนในชุมชนจากคนไม่จบปริญญาตรี แล้วส่งไปเรียนปริญญาตรี สามารถไปเรียนพยาบาลและเป็นพยาบาลเฉพาะทางได้   แค่นั้นยังไม่พอเราต้องคิดต่อด้วยว่าเราจะให้คนของเราอยู่ในระบบได้อย่างไรด้วย ซึ่งเราต้องมีงบจ้างพยาบาลไว้ที่โรงพยาบาลของเราด้วย ต้องหาวิถีที่จะทำให้เขาจบมาแล้วอยู่กับเราอย่างอยู่ รพ.เอกชนได้เดือนละ 15,000 บาท แต่อยู่กับเราเขาได้แค่ 8,000 บาท เราก็ต้องหากองทุนมาเติมให้กับเขาให้ได้ก็ใช้กองทุนโรงพยาบาล 2 บาทนี่ละเติมให้เด็กของเรา ถ้าเราคิดเป็นระบบและลงมือทำเราก็ทำได้”   การทำงานกับคนหมู่มากเช่นนี้แน่นอนจิตสำนึกต้องมาก่อน ซึ่งเธอบอกว่าเธอปลุกจิตสำนึกตั้งแต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไล่มาถึงผู้นำชุมชน และไล่มาถึงภาคประชาชน   “ในแต่ละเดือนเราจะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขวางแผนจัดอบรมแต่ละเรื่องเลยว่าจะทำเรื่องอะไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้ทำมาตรฐานงานของเราในแต่ละชุมชน ส่วนชาวบ้านข้างนอกเราก็จะคิดแผนว่าเราจะให้พยาบาลอบรมชาวบ้านให้เข้าใจเรื่องการดูแลสุขภาพ ดูแลคนไข้ที่เป็นเบาหวานและความดันอย่างไร ซึ่งเราจะจับกลุ่มที่เป็นคนไข้ ญาติคนไข้ และคนที่ดูแลคนเจ็บป่วย แล้วค่อยขยายเป็นอาสาสมัคร ซึ่งเรามีทั้ง อาสาสมัครเฉพาะทางหลักสูตรการอบรมเราก็คิดกันเอง โดยระดมจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จากชาวบ้าน ต้องสร้างหลักสูตรอาสาสมัครมาตรฐานขึ้น อาสาสมัครเฉพาะทางก็คือเขาต้องเก่งเฉพาะเรื่องอย่างเรื่องอนามัยแม่และเด็ก อนามัยสิ่งแวดล้อม แต่ละปีก็จัดอบรมกันไปและต้องทำงานกันอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเรามีอาสาสมัคร 3,000 คน นัด 3 เดือน 6 เดือน คุยกันนำเสนอผลงานด้วย” ชุมชนของเรา นอกจากจะมองในเรื่องของการสร้างสุขภาพแล้ว เธอยังมองรวมทั้งชุมชนโดยการสร้างอาสาสมัครคุ้มครองผู้บริโภค และเรื่องของสุขาภิบาลบ้าน “บ้านถือเป็นปัจจัยสำคัญนะคะ บ้านอาสาสมัครจึงต้องเป็นตัวอย่างก่อนเลย อย่างบางหมู่บ้านเขาจัดประกวดนางงามกัน เราก็ต้องลงไปดูกันถึงบ้านทีเดียว สวยอย่างเดียวไม่ได้บ้านต้องสะอาดด้วย มีผลต่อคะแนนการประกวด หรือที่เขาโฆษณาน้ำดื่มอย่างน้ำมังคุด เราจะมีอาสาสมัครที่อัดเสียงส่งไปที่จังหวัดเลย ให้ทางจังหวัดมาตรวจสอบและดูแล จากทั้งหมด 251 หมู่บ้านเราก็มีการอบรมอาสาสมัครให้จัดมีการเช็คโฆษณาเหล่านี้ นอกจากนี้เราก็จัด “สื่อลอยลม” จัดรายการเสียงตามสายตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น ก็มีทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและประชาชนร่วมจัดรายการเกี่ยวกับผู้บริโภคอยากให้เขาเข้าใจว่าเราก็เลือกได้ไม่ใช่รับอย่างเดียว และผลักดันให้เป็นช่องทางการร้องเรียน หรือบางทีก็เปิดให้ชาวบ้านโหวตว่าร้านค้าร้านไหน อร่อย สะอาด ร้านไหนถูกโหวตเข้ามาเราก็ลงไปดู ถ้าสะอาดจริงเราก็จะประกาศโฆษณาให้ พร้อมมีใบประกาศให้ด้วยว่าผ่านการตรวจสอบจากสาธารณสุขและได้รับการโหวตให้เป็นร้านยอดนิยม คนที่เข้าโครงการนี้เยอะนะ เหมือนเขาแข่งกันทำดี” อีกโครงการดีๆ ที่หมอน้อยนำเสนอ   เรามีแต่ได้ถ้าเราทำ กว่า 10 ปีที่เธอสนุกกับงาน โดยมีคุณหมอพงศ์พิชญ์ ผู้เป็นทั้งสมองและกำลังใจสำคัญในการทำงาน เธอบอกว่าที่ร่วมมือกันทำตั้งแต่ปี 2544 นั้นเธอสนุกที่ได้ทำ และเธอก็ไม่ได้เสียอะไร เหนื่อยก็พักและถือเป็นโอกาสดีที่ได้ทำงานนี้   “ทำมานี่ก็ไม่เห็นว่าจะจนอะไร เหนื่อยก็พัก ได้รู้จักคนเพิ่มตั้งเยอะ สนุกกับทุกเรื่องที่ทำ พี่คิดว่ามันต้องได้อะไรบ้างแต่จะน้อยหรือมากก็อีกเรื่อง พี่คิดบวกไง คิดว่าเดี๋ยวมันก็สำเร็จ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป ไม่ได้คิดว่ามันจะทำไม่ได้ อะไรก็ตามมันมีทั้ง “ในดีมีเสีย ในเสียมีดี” เพราะฉะนั้นเราต้องจับให้ได้ว่า ’ในเสียนั้นเราต้องมีดีอยู่ให้ได้’ ไม่ได้ท้อถอยกับสิ่งที่ทำอยู่ เพราะเราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ถ้ามองว่าเพี่อตัวเองก็คือ “ฉันมีความสุข” เพราะ “ฉันอยากทำ” เวลาที่เราทำความดีไม่เห็นจำเป็นจะต้องปิดทองหน้าพระ หลังพระ หรือก้นพระ พี่ก็จะมองว่า “ปิดทองไส้พระ” ก็ไม่เห็นเป็นไรเลย” หลักการทำความดีของหมอน้อยที่ทำให้เธอมีเรี่ยวแรงในการทำงานเพื่อมวลชนต่อไป  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point