ฉบับที่ 117 GNH ความสุขมวลรวม เราสร้างได้

ฯพณฯ เลียนโป ดร.คินซัง ดอร์จิ อดีตนายกรัฐมนตรีภูฏาน ผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรีภูฏาน  ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "Sustainable Development through Gross National Happiness" ในงาน Thailand Sustainable Development Symposium 2010 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2553 ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ แนวคิดเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness หรือ GNH) เป็นการมองการพัฒนาประเทศที่ไม่ได้เน้นตัวเลขในการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เน้นมุมมองเรื่อง “ความสุข” ที่แท้จริงของสังคมเป็นหลักโดยเน้นตามหลักพุทธศาสนา ฉลาดซื้อขอนำ “สกู๊ปพิเศษ” ว่าด้วยเรื่องของความสุขนี้มาบอกค่ะ ความคิด GNH นั้นคำนึงถึงความเป็นองค์รวมด้วยการพิจารณามิติทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับมิติ อื่นๆได้แก่ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และการปกครองที่ดี โดยมีหลัก 4 ประการดังนี้ ซึ่งถือเป็นหลักนโยบายและแผนพัฒนาประเทศระยะยาว ของประเทศภูฏาน ซึ่งประกอบด้วยการสร้างสมดุลระหว่างความเจริญด้านวัตถุและความเจริญด้านจิตใจ ในขณะเดียวกันก็ไม่ปฏิเสธความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี   หลัก 4 ประการของ ความสุขมวลรวม (1) การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืนและเสมอภาค ตามแนว "ทางสายกลาง" (sustainable economic development) ไม่เร่งพัฒนาทางเศรษฐกิจด้วยทุนทางนิเวศและสังคมในระยะสั้น หากจัดสมดุลระหว่างตัวเลข พฤติกรรมการบริโภคและคุณค่าด้านจิตใจไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืนและเสมอภาค บนพื้นฐานของสังคมที่เคารพประชาชนและวัฒนธรรมของตนเอง (2) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ (conservation of the environment) ให้หลักประกันที่ว่า การพัฒนาใดๆ ไม่ว่าจะมาจากรัฐบาล หรือภาคเอกชน หรือประเพณีท้องถิ่น หรือจากปัจเจกบุคคล จะต้องไม่ทำลายความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ด้วยตระหนักว่าทรัพยากรธรรมชาติอาจหมดลงได้ในวันหนึ่ง เราทุกคนจำเป็นจะต้องบำรุงเลี้ยงและปกป้องโลกในฐานะ “บ้านของเราทุกคน” (3) การรักษาและส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม (promotion of national culture) เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในยุคปัจจุบัน เพราะคุณค่าของมนุษย์ เช่น ความเมตตากรุณา ความมีน้ำใจ ความอ่อนโยน ความเสียสละ ความอ่อนน้อมถ่อมตน การรู้จักให้อภัย การรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของตนเอง เป็นต้น กำลังถูกกัดกร่อนจากโลภจริตหรือความโลภ อันเนื่องมาจากลัทธิบริโภคนิยมที่กำลังครอบงำโลกในขณะนี้ อันที่จริงแล้วคุณค่ามนุษย์ดังกล่าว เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้สังคมมีความหมาย มีความเอื้ออาทรต่อกัน และทำให้สังคมสามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ (4) การส่งเสริมการปกครองที่ดี หรือ "ธรรมาภิบาล" (Good Governance) เป็นเงื่อนไขสำคัญเช่นกันในการนำพาประชาชนไปสู่ "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" ประเทศทั้งหลายในโลกจะโดยเต็มใจหรือไม่ก็ตาม กำลังถูกแรงกดดันทั้งจากประชาชนท้องถิ่นและชุมชนระหว่างประเทศ ให้เข้าสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยหรือ "ธรรมาภิบาล" จากหลักการ 4 ประการที่กล่าวมาข้างต้น  ประเทศภูฐานซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแนวคิดนี้  อันมีพระราชาธิบดีองค์ที่สี่ พระเจ้า Jigme Wangchuck ทรงเป็นผู้นำวิสัยทัศน์ กล่าวในวันเสด็จขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 2515 ว่า “Gross National Happiness is more important than Gross National Product.”  (ความสุขของประชาชนสำคัญกว่าผลผลิตรวมของประชาชาติ)  (ความสุขมวลรวมประชาชาติ GNH ของ ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสิทธิ สถาบันการบริหารและจิตวิทยา)ฯพณฯ เลียนโป ดร.คินซัง ดอร์จิ อดีตนายกรัฐมนตรีภูฏาน กล่าวว่าสิ่งที่ประเทศภูฐานได้พยายามดำเนินโยบายการพัฒนาประเทศมาตลอดเพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิด GNH ที่เห็นได้ชัดนั่นก็คือ 1. นโยบายการท่องเที่ยวที่ไม่เน้นปริมาณแต่คำนึงถึงคุณภาพ  โดยจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเพื่อป้องกันการไหล่บ่าของวัฒนธรรมบริโภคนิยม  วัฒนธรรมที่มากับนักท่องเที่ยวยังอาจจะก่อให้เกิดการเปรียบเทียบและสร้าง ความรู้สึกด้อยต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น  โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่อาจจะได้รับอิทธิพลและนำมาเป็นแบบอย่าง  รวมทั้งแรงกดดันที่ต้องการเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวด้วยการเร่งสร้างโรงแรม และสาธารณูปโภครองรับกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น  ก็อาจจะส่งผลต่อความไม่สมดุลทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพราะการกระตุ้นให้มี นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศตลอดทั้งปีก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ   เพราะผลกระทบทางสังคมวัฒนธรรมดังที่กล่าวมา  (GNH ความสุขมวลรวมประชาชาติ โดย วัลลภา แวนวิลเลียนส์วาร์ด) 2. จำกัดการใช้ป่าไม้เพื่อการพาณิชย์  แต่ให้เป็นไปเพื่อการใช้สอยของครัวเรือนได้ หากแต่มีการควบคุม ปัจจุบันประเทศภูฐานมีกฎหมายป่าชุมชน เพื่อการดูแลรักษาป่าไม้  ซึ่งยังมีอยู่ถึง 70 % ของพื้นที่ประเทศ 3. เมื่อปีที่แล้ว ประเทศภูฏานได้เริ่มดำเนินการปฏิรูปการศึกษา และรัฐบาลถือเป็นนโยบายให้นำแนวคิดเรื่อง GNH บรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่หลักสูตรการศึกษาชั้นประถมวัยจนถึงระดับ อุดมศึกษา  มีการจัดการอบรมครูทั่วประเทศเรื่องความเข้าใจในแนวคิดเกี่ยวกับ GNH   และการทำโครงการเชิงปฏิบัติการของโรงเรียนเพื่อให้เป็นไปตามแนวทาง GNH เช่นโครงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม  การกำจัดขยะด้วยวิธีการทางชีวภาพ 4. ประเทศภูฏานกำหนดเป็นมาตรการห้ามมิให้ผู้ค้า ร้านค้า และตลาดใช้ถุงพลาสติก 5. ประเทศภูฏานประกาศเป็นประเทศเกษตรอินทรีย์ โดยควบคุมการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรทุกชนิด ปัจจุบันพื้นที่ทางการเกษตรส่วนใหญ่ใช้วิธีการเกษตรแบบดั้งเดิมที่มีส่วน ประกอบของการปลูกพืชทางการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ร่วมกันไป เช่น วัว และจามรีในพื้นที่สูง มูลสัตว์เหล่านี้จะเป็นปุ๋ยสำหรับพืชที่ปลูก 6. ด้านการสาธารณสุข แม้จะยังเป็นสาธารณสุขขั้นต้น ยังขาดแคลนเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ แต่รัฐก็ถือเป็นภาระหน้าที่ที่จัดการดูแลรักษาพยาบาลให้ฟรี ถึงแม้จะยังไม่มีตัวชี้วัดความสุขที่ชัดเจน แต่สิ่งที่ประเทศภูฏานคำนึงถึงก็คือ การวัดระดับความสุขขั้นพื้นฐานได้ ทั้งคุณภาพของโภชนาการการมีอาหารที่ดีกิน  การมีที่อยู่อาศัย การศึกษา สุขภาพที่ดีที่ต้องนอนวันละไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง ทำงาน 7 ชั่วโมง เวลาที่เหลือคือการให้สังคม  เป็นกิจกรรมที่ทำเพื่อความสุข ไม่ได้เน้นที่เงินทอง เช่นไปเลี้ยงเด็ก อยู่กับครอบครัว และซึ่งจะส่งผลทำให้เรามีชีวิตชุมชนที่ดี (อ้างแล้ว 2)   GNH vs GDP กระแส GNH  มีการเคลื่อนไหวเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติสู่กระบวนทัศน์ใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งได้ดำเนินการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ 7 ครั้ง  เพื่อพัฒนาหัวข้อการวิจัยระหว่างเดือนสิงหาคม 2551 – เดือนกุมภาพันธ์ 2553  ได้นำแนวคิด GNH มาศึกษาและพิจารณาร่วมกับแนวคิดที่มุ่งสร้างความสมดุล เช่น เศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ  หรือความคิดเรื่องความเป็นอยู่ที่ดี เป็นที่น่ายินดีที่มีหลายความเคลื่อนไหวเกิดขึ้น  โดยพยายามนำเสนอเรื่องการพัฒนาทางเลือกที่ตั้งอยู่บนกระบวนทัศน์ใหม่  ที่พ้นจากวิธีคิดแบบเอา GDP เป็นตัวตั้งเท่านั้น และเกิดการทบทวนทิศทางการพัฒนาประเทศและสังคม รวมทั้งการใช้ชีวิตของเรา  การนำเสนอวิธีคิดอย่างนี้อาจส่งผลต่อวิถีการผลิตและการตลาด  ระบบเศรษฐกิจอย่างใหม่นี้ควรมีพื้นฐานของของการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติแบบที่มนุษย์ไม่ใช่ผู้ควบคุมธรรมชาติ  การอยู่ร่วมกันของคนในสังคมแบบเอื้อเฟื้อแบ่งปัน ไม่ใช่การแข่งขัน (อ้างแล้ว 2) ในประเทศไทย แม้ว่าหน่วยงานรัฐที่มีส่วนในด้านนโยบายจะผลิตตัวชี้วัดที่มากกว่า GDP แต่โดยภาพรวมประเทศก็ยังถูกขับเคลื่อนด้วยการพัฒนาที่เร่งตัวเลขและการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แต่แนวคิดที่พยายามถ่วงดุลหรือปรับแนวทางการพัฒนาให้คำนึงถึงความ ยั่งยืนมากขึ้น  มีชุมชนบางแห่งได้ดำเนินการไปบ้างแล้วด้วยความตระหนักถึงผลกระทบ ของกระแสบริโภคนิยม  จึงร่วมกันหาหนทางป้องกันจนนำมาสู่การปรับเปลี่ยนและให้ความสนใจในแนวทางการ พัฒนาแบบพึ่งตนเอง  การให้ความสำคัญกับเรื่องความสุขที่แท้และความพอเพียง ถึงเวลาแล้วที่ GNH จะถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง ข้อมูลอ้างอิงจาก 1 ความสุขมวลรวมประชาชาติ GNH ของ ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสิทธิ สถาบันการบริหารและจิตวิทยา 2 GNH ความสุขมวลรวมประชาชาติ โดย วัลลภา แวนวิลเลียนส์วาร์ด  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point