ฉบับที่ 234 ฟรีแลนซ์กับการผ่อนคอนโด

        อาชีพรับจ้างอิสระหรือที่เรียกภาษาปากว่า ฟรีแลนซ์ นั้นให้อิสระได้จริงเพราะไม่มีสังกัดหรือขึ้นตรงกับใคร รับทำงานเฉพาะกับคู่สัญญาจ้าง บริหารเวลาได้เอง แต่ขณะเดียวกันเมื่อต้องทำธุรกรรมทางการเงินกับสถาบันด้านการเงินจะค่อนข้างมีปัญหาเพราะรายได้ขึ้นอยู่กับการรับงานจ้าง ไม่ได้รับประจำเป็นเงินเดือน การตัดสินใจมีทรัพย์สินอย่างคอนโดมีเนียมซึ่งต้องใช้สินเชื่อ อาจไม่ผ่านการพิจารณา อย่างไรก็ดีฟรีแลนซ์บางท่านแม้ทราบดีถึงข้อจำกัดตรงนี้แต่บางครั้งก็ถูกโน้มน้าวให้ตัดสินใจพลาดได้ อย่างเช่นกรณีของคุณวิมล         คุณวิมลเป็นครูสอนโยคะ พักอาศัยอยู่แถวรามคำแหง วันหนึ่งในปลายปี 2560 เดินผ่านโครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดขายอยู่ในย่านรามคำแหงรู้สึกสนใจจึงแวะเข้าไปเพื่อสอบถามข้อมูลกับพนักงานขายของโครงการ หลังจากได้ฟังคำชักชวนต่างๆ ก็ค่อนข้างพอใจ จึงลองสอบถามเรื่องการขอสินเชื่อ เพราะตนเองนั้นทำงานเป็นฟรีแลนซ์พอจะทราบมาบ้างว่า การขอสินเชื่อไม่ง่าย         ถึงตรงนี้พนักงานขายแสดงข้อมูลกับคุณวิมลว่า ทางโครงการของเรามีระบบบัญชีที่สามารถติดต่อกับทางธนาคารต่างๆ ได้โดยตรง ถ้าตัดสินใจซื้อกับทางเรา “สินเชื่อผ่านแน่นอน” เมื่อเห็นท่าทางมั่นอกมั่นใจของพนักงานและการแสดงประวัติต่างๆ ประกอบกับชื่อเสียงของบริษัทที่เป็นเจ้าของโครงการคอนโดมิเนียมนี้ คุณวิมลจึงวางเงินจองเป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท ในวันที่ 10 ธันวาคม 2560 และจ่ายเงินอีก 50,000 บาทในวันทำสัญญา คือ วันที่ 25 ธันวาคม 2560 จากนั้นก็ผ่อนชำระเรื่อยมาเดือนละ 4,300 บาท จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563         เมื่อโครงการฯ เสร็จทางบริษัทติดต่อคุณวิมลให้เข้าไปตรวจสอบและโอนกรรมสิทธิ คุณวิมลได้ดำเนินการขอสินเชื่อกับธนาคารสี่แห่ง ซึ่งถูกปฏิเสธทั้งหมด เมื่อเป็นเช่นนี้คุณวิมลประเมินแล้วว่า ตนเองคงผ่อนไม่ครบแน่ จึงขอยกเลิกสัญญาและขอเงินจองและเงินดาวน์ที่ผ่อนไปคืน แต่ไม่แน่ใจว่าทำได้ไหมจึงปรึกษามา  แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ส่งตัวอย่างหนังสือยกเลิกสัญญาและขอเงินคืนให้ผู้ร้องใช้เป็นตัวอย่างในการทำหนังสือยกเลิกสัญญา เพื่อให้ทางโครงการฯ ตอบกลับมาว่าจะดำเนินการอย่างไร และพร้อมช่วยเรื่องเจรจาไกล่เกลี่ย หากตกลงกันไม่ได้         กรณีของคุณวิมลนี้ เข้าข้อกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 เรื่องเข้าทำสัญญา...มาตรา 378 เรื่องเงินมัดจำ...มาตรา 379 เรื่องลูกหนี้ให้สัญญาแก่เจ้าหนี้... และมาตรา 383 กรณีเบี้ยปรับสูงเกินควร         กล่าวคือ เงินจองหรือเงินมัดจำตามกฎหมาย หากผู้บริโภควางให้ผู้ประกอบการไว้แล้ว ต้องการยกเลิกสัญญาเงินส่วนนี้จะถูกริบ ยกเว้นว่าผู้ประกอบการเป็นฝ่ายผิดสัญญาเสียเองก็จะต้องคืนให้ผู้บริโภค ทั้งนี้ จะเข้าเงื่อนไขเป็น เงินจอง หรือ เงินมัดจำ หรือไม่ ยังขึ้นอยู่กับเจตนาของคู่กรณีด้วยว่าเจตนาของทั้งคู่ตั้งใจให้เป็นการชำระหนี้หรือกำหนดไว้ในสัญญาเลยว่าให้ถือเป็นเงินดาวน์ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องถือว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของค่าห้องชุดด้วย ส่วนเงินดาวน์ที่ผ่อนไปก่อนมีการโอนกรรมสิทธิ์ แต่หากผู้บริโภคต้องการยกเลิกสัญญา แล้วผู้ประกอบการริบเงินที่ชำระไปแล้วทั้งหมด เงินส่วนนั้นจะมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งถ้าเบี้ยปรับนี้สูงเกินส่วน สามารถฟ้องให้ศาลพิพากษาให้ลดลงเหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ จะริบทั้งหมดไม่ได้         กรณีของคุณวิมล หากตกลงไกล่เกลี่ยกับทางบริษัทฯ ไม่ได้ คุณวิมลต้องใช้การฟ้องคดีต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 144 องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค… อีกนิดเดียวจะเป็นจริง(?)

เคยได้ยินหรือมีประสบการณ์ประมาณนี้กันไหมครับ…   ทางด่วนขึ้นราคาจาก 55 บาท เป็น 85 บาท หรือรัฐวิสาหกิจขึ้นราคาพลังงาน เรากลับทำอะไรไม่ได้ ตรวจสอบความเป็นเหตุเป็นผลของการขึ้นราคาก็ไม่ค่อยได้   ฟรีทีวีจอดำก็ต้องปล่อยให้ดำต่อไป เว้นแต่ต้อง “ซื้อกล่อง” มาติด   ถอยรถป้ายแดง ต้องซ่อมแล้วซ่อมอีก หน่วยราชการก็ไร้น้ำยาที่จะช่วยเหลือ   หากรถโดยสารสาธารณะที่นั่งไปเกิดอุบัติเหตุ กลับต้องไปฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายกันเอง เพราะรถโดยสารเหล่านั้นไม่ได้ถูกบังคับจากหน่วยราชการที่กำกับดูแลให้ต้อง ซื้อประกันภัยชั้น 1 แถมบางคันก็เป็น “รถตู้เถื่อน”   อาหารที่กินเข้าไปจะมีผลต่อสุขภาพหรือไม่ ก็ยากที่จะทราบได้ เพราะข้อความในฉลากมักจะกำกวม อ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง   หรืออยากกินอาหารที่ปลอดการตัดต่อทางพันธุ กรรม (จีเอ็มโอ) หรือปลอดสารเคมีก็เลือกไม่ได้ เพราะไม่ได้มีระเบียบให้ผู้ผลิตต้องทำฉลากอาหารที่ชัดเจนเพื่อแจ้งผู้บริโภค …สถานการณ์ข้างต้นน่าจะคลี่คลายไปได้มากโข เพราะคาดกันว่าเดือนกุมภาพันธ์นี้ สภาจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการร่วมสองสภามาเรียบร้อยแล้ว   หากสภาผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว จะทำให้ประเทศไทยมี “องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และเป็นที่สองในอาเซียนรองจากสิงคโปร์   เอาเข้าจริงแล้ว การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีมานานกว่า 15 ปี นับจากรัฐธรรมนูญ 2540 (มาตรา 57) และรัฐธรรมนูญ 2550 (มาตรา 61) ซึ่งต่างก็บัญญัติให้มีการจัดตั้งองค์การอิสระขึ้น เพื่อตรวจสอบมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานต่างๆ เพื่อทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อเท็จจริง เข้าถึงการร้องเรียนที่เป็นธรรม และได้รับการเยียวยา   เหตุการณ์สำคัญที่ควรจารึกไว้ก็คือ ในที่สุดเมื่อ 6 ตุลาคม 2553 ที่ประชุม ส.ส.สมัยนายชัย ชิดชอบ มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งมี 7 ร่าง ทั้งร่างของ ครม. พรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน (ในขณะนั้น) และภาคประชาชน 11,230 คนที่ลงชื่อเสนอกฎหมาย   ระหว่างที่ร่างกฎหมายอยู่ที่การพิจารณาของ คณะกรรมาธิการวิสามัญวุฒิสภา รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภาเมื่อ 10 พฤษภาคม 2554 มีผลให้ร่างนี้ต้องตกไปโดยปริยาย แต่ ครม.ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีมติขอดึงร่างกฎหมายนี้กลับมาให้สภาพิจารณาต่อ โดยไม่ยอมปล่อยให้ตกไป   แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ และพรรคการเมืองต่างๆ ล้วนให้ความสำคัญต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งเป็นนิมิตหมายอันดีว่านักการเมืองในช่วงหลังๆ เริ่มให้ความสำคัญต่อสิทธิผู้บริโภค ซึ่งก็คือสิทธิของคนทุกคน   ทีนี้หากจะถามว่า ในเมื่อเรามีหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคอยู่แล้ว เช่น สำนักงานอาหารและยา (อย.) สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรมการค้าภายใน กรมการขนส่งทางบกฯลฯ แต่ทำไมจึงต้องมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นมาอีก คำตอบมีดังนี้ ประการแรก องค์การอิสระเป็นหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง ไม่ใช่หน่วยงานราชการที่ถูกกำกับโดยฝ่ายการเมือง (ที่บางทีอาจเกรงใจฝ่ายธุรกิจ) อีกทั้งกฎหมายองค์การอิสระบัญญัติให้รัฐจัดสรรเงินไม่น้อยกว่า 3 บาทต่อหัวประชากรต่อปี ให้องค์การอิสระฯใช้ไปทำงาน (เท่ากับ 3 บาท X 64 ล้านคน ตกราวๆ 192 ล้านบาท ขึ้นไปต่อปี) จึงทำให้มีเงินไปทำงานคุ้มครองผู้บริโภคได้ตามสมควร การกำหนดว่ารัฐต้องจัดสรรอย่างน้อย 3 บาทต่อหัว ถือว่าเป็นการเขียนกฎหมายที่ก้าวหน้ามาก เพราะหากเขียนว่า “ให้รัฐจัดสรรเงินให้อย่างพอเพียงทุกปี” ก็อาจทำให้รัฐจ่ายเท่าไรก็ได้ตาม “ดุลพินิจ” ซึ่งอาจมีผลต่อความเป็นอิสระขององค์การได้ นอกจากนี้ ที่มาของกรรมการ 15 คน ก็จะมาจากการคัดเลือกกันเองของผู้บริโภคและมาจากกรรมการสรรหา ซึ่งจะปลอดจากฝ่ายราชการและการเมือง จึงทำให้องค์การอิสระ มีอิสระกว่าหน่วยราชการอื่นๆ ที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคมาโดยตลอด   ประการที่สอง ความเป็นอิสระขององค์การทำให้ตรวจสอบหน่วยงานของรัฐได้เต็มที่ เช่น ตรวจสอบหน่วยราชการว่าทำไมจึงยังปล่อยให้มีแร่ใยหินอยู่ในสินค้า (เช่นกระเบื้องมุงหลังคา) ทั้งๆ ที่หลายๆ ประเทศมีคำสั่งห้ามไปแล้ว หรือตรวจสอบการขึ้นราคาทางด่วน หรือการปรับราคาพลังงาน ว่าเป็นการขึ้นราคาที่สมเหตุสมผลหรือไม่ หรือเป็นการขึ้นราคาที่ไม่โปร่งใส เป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์แก่คนบางกลุ่มบางพวก   ประการที่สาม องค์การอิสระมีอำนาจตามกฎหมายเปิดเผยรายชื่อสินค้าและบริการที่ทำให้ผู้ บริโภคเสียหาย เพื่อเตือนให้สาธารณะได้รับรู้ เช่น มีสมาชิกร้องเรียนหน่วยราชการตั้งแต่ปี 2552 ว่าฟิตเนสแห่งหนึ่งไม่ได้ให้บริการตามสัญญา แต่หน่วยราชการแห่งนั้นกลับไม่เคยเตือนประชาชน ทำให้มีผู้บริโภคไปสมัครเป็นสมาชิกรายใหม่ จนในที่สุดมีผู้เสียหายถึง 1.5 แสนคน ฯลฯ ซึ่งการออกมาเตือนจะช่วยยับยั้งการลุกลามของปัญหาได้   ประการที่สี่ องค์การอิสระจะทำงานแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว (one stop service) ว่ากันว่าหน่วยราชการที่ทำงานด้านอาหารปลอดภัยมีถึง 13 หน่วยงานใน 11 กระทรวง ดังนั้น หากผู้บริโภคมีความต้องการ เช่น ต้องการให้มีฉลากอาหารที่ระบุว่าอาหารนั้นมีจีเอ็มโอ หรือต้องการทำฉลากอาหารให้อ่านได้ง่ายขึ้น เช่น หากอาหารมีน้ำตาลมาก หรือมีโซเดียมมาก ก็จะติด “สีแดง” บนฉลากเพื่อเตือนผู้บริโภค หรือกรณีขวดนมเด็กที่มีส่วนผสมของพลาสติกที่เป็นสารก่อมะเร็ง หรือกรณีมีสารเคมีตกค้างในผักผลไม้เนื้อสัตว์ ฯลฯ องค์การอิสระฯก็จะมีความเห็นทางวิชาการเพื่อผลักดันหน่วยราชการต่างๆ ให้มีมาตรการบังคับฝ่ายธุรกิจให้ทำฉลากเตือนตามที่ผู้บริโภคต้องการ หากหน่วยราชการเหล่านั้นไม่ยอมทำตามความ เห็นขององค์การอิสระฯ ก็ต้องแถลงเหตุผลต่อประชาชนว่าทำไมจึงทำไม่ได้ เท่ากับทำให้หน่วยราชการอยู่ภายใต้อำนาจของประชาชน จะทำงานเช้าชามเย็นชาม หรือให้อำนาจเงินอยู่เหนือสาธารณะไม่ได้อีกต่อไป มิฉะนั้น หากเข้าสู่อาเซียนแล้วแต่งานคุ้มครองผู้บริโภคยัง “ประสานงา” และอ่อนแออย่างทุกวันนี้ ไทยก็จะกลายเป็นตลาดที่รองรับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพอย่างแน่นอน   ประการที่ห้า องค์การอิสระสามารถฟ้องคดีสาธารณะแทนผู้บริโภคได้ โดยร้องผ่านอัยการสูงสุด   เช่น ผู้บริโภคมีเงินเหลือในโทรศัพท์ 10 บาท แต่ถูกริบเพราะบัตรเติมเงินหมดอายุ ทั้งๆ ที่ระเบียบกำหนดไว้ว่าห้ามกำหนดวันหมดอายุ มิฉะนั้นจะต้องชดเชยให้ผู้บริโภค 5 เท่าของเงินที่ริบไป กรณีเช่นนี้ผู้บริโภคคงไม่อยากเสียเวลาไปฟ้องศาลเพื่อเรียกร้องเงิน 50 บาท (5 เท่าของ 10 บาท) แต่องค์การอิสระฯสามารถฟ้องคดีแทนผู้บริโภคทั้งหมดที่ถูกริบเงินได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ให้บริการต้องจ่ายเงินค่าปรับให้ผู้บริโภคทุกคน และคงไม่กล้าฝ่าฝืนระเบียบเรื่องห้ามกำหนดวันหมดอายุในบัตรเติมเงินอีก   ประการสุดท้าย สิ่งที่หน่วยราชการที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคไม่ค่อยทำ แต่องค์การอิสระมีหน้าที่ต้องทำ คือสร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภค เช่น ส่งเสริมการรวมตัวกันของผู้บริโภค ในลักษณะที่ฝ่ายธุรกิจทำมาก่อน อาทิ การรวมตัวเป็นหอการค้า สภาอุตสาหกรรม ฯลฯ ผู้บริโภคจะได้เข้มแข็ง สามารถถ่วงดุลกับเอกชนได้   ทั้งหมดทั้งปวงนี้ คาดว่าสภาจะมีการผ่านร่าง พ.ร.บ.ในต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ดังนั้น 15 ปีที่รอคอยกันมา จึงใกล้จะเป็นจริงแล้ว

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 121 14 ปี พรบ.องค์การอิสระฯ แท้งเรียบร้อย

วันนี้ผู้บริโภคอย่างเราๆ คงต้องยอมรับกันแล้วว่าวันนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะข้าวยากหมากแพงกันแล้ว สินค้าหลายตัวทยอยกันขึ้นราคาอย่างไม่มีทีท่าจะว่าจะหยุดยั้งเมื่อไร หลายคนต้องดำรงชีวิตยากลำบากขึ้น เมื่อสินค้าแพงแต่ค่าแรงเท่าเดิม ปัญหาสารพัดถาโถมเข้ามารุมเร้าผู้บริโภคอย่างเราๆ หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ คงทำได้แค่เซซัดตามกระแสไปวันๆ ทั้งปัญหามีเงินไม่พอซื้อสินค้า และมีเงินแต่หาซื้อสินค้าไม่ได้อันนี้น่าเจ็บใจเราเป็นประเทศเกษตรกรรมเป็นผู้ผลิตแต่ไม่มีสินค้าให้ซื้อ(กรณีสินค้าขาดตลาด) ปัญหาเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าเราไม่มีเจ้าภาพที่มีฝีมือแก้ปัญหานี้ จริงๆที่มีอยู่ในปัจจุบันก็เข้าตำรา ลิงแก้แห คือยิ่งแก้ยิ่งยุง สุดท้ายของคนทำงานผู้บริโภคก็หนีไม่พ้นอยากเห็นองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคมันเกิดซะที3 เดือนที่แล้ว พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเข้าสภาผู้แทนผ่านวาระที่ 1 ไปเรียบร้อย จนมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาหนึ่งคณะที่มีทั้งตัวแทนพรรคการเมืองและตัวแทนประชาชน ร่วมกันพิจารณา เสร็จสมบูรณ์ไปในต้นเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นพวกเราก็เฝ้ารอให้ พรบ.เข้าสภา พวกเราได้แจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่ากฎหมายจะเข้าสภาหลายครั้ง ทุกครั้งพวกเราก็จะไปนั่งรอ วันแล้ววันเล่ากฎหมายก็ไม่เข้า เพราะมีกฎหมายอื่นถูกเสนอแซงขึ้นพิจารณาก่อน โดยวิปรัฐบาล แต่พวกเราก็อดทนรอด้วยความหวังว่าน่าจะเข้าทันพวกเรารอจนประธานสภาจะปิดประชุม พวกเราถึงได้เคลื่อนออกจากรัฐสภา จนวันที่ 3 มีนาคม 2553 เรียกได้ว่าเป็นวันที่คนทำงานคุ้มครองผู้บริโภครอคอยก็ว่าได้ วันนั้นเป็นวันที่กฎหมายเราจ่อคิวเข้าเป็นฉบับแรกยังไงก็ต้องเข้าเอาช้างมาฉุดก็ไม่อยู่แล้วคราวนี้ ไชโย้.....เช้าพวกเราเดินเข้ารัฐสภาอย่างอิ่มเอมเต็มไปด้วยความหวังอันล้นเปี่ยม แต่พอเข้าไปหลังบรรลังก์เราได้เห็นท่าทีของรองนายกรัฐมนตรี ทั้งคุณองอาจ คล้ามไพบูลย์ คุณสาทิตย์ วงหนองเตย บวกนายกรัฐมนตรี เราก็รู้สึกทะแม่งๆ เพราะเท่าที่คุยคือวิปรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับกรณีงบบริหารจัดการที่กรรมาธิการเสียงข้างมากกำหนดไว้หัวละ 5 บาท แต่วิปและรัฐบาลมีความเห็นว่าควรเป็น 3 บาท และมีความพยายามที่จะหว่านล้อมให้พวกเราถอน พรบ.ออกจากการพิจารณาเพื่อเอาไปแก้ให้เหลือ 3 บาท ท่านผู้อ่านคิดดูนะเรารอวันนี้มา 14 ปี พอกฎหมายจะเข้าฝ่ายการเมืองมาขอให้ถอนออก เป็นท่าน ท่านคิดยังไง? อารมณ์นั้นบอกได้คำเดียวว่าอยากร้องให้ และไม่อยากมองหน้าบรรดานักการเมืองเลย.. สุดท้ายพวกเราไม่ยอมให้ถอน ยืนยันให้พิจารณาไป ผ่านก็ผ่านไม่ผ่านก็ไม่ผ่าน(ให้มันรู้แล้วรู้รอดไป)ฝ่ายการเมืองก็แสดงให้เราเห็นว่าเขาโกรธที่เราแข็งขืน กฎหมายก็เข้าสภาผ่านไปแค่ 4 วาระ ก็มีสส.พรรครัฐบาลเสนอให้ถอนพรบ.ออกไปพิจารณาใหม่ สุดท้ายสภาก็มีมติให้ถอนพวกเราภาคประชาชนก็ได้แต่นั่งมองเราทำอะไรไม่ได้เพราะคนที่ลงมติได้มีแต่ฝ่ายการเมือง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 110 สื่อวันนี้อิสระจริงหรือ?

วันนี้เราคงต้องยอมรับกันว่า สื่อมีอิทธิพลสูงสุดในภาวะสงครามสีของประเทศไทย ทั้งสื่อทีวี สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อไอที ซึ่งการส่งข่าวสารในปัจจุบันว่องไวปานสายฟ้าแลบก็ไม่ปาน ดังนั้นข่าวสารจึงหลั่งไหลไปทุกทิศทุกทางอย่างยากจะหยุดยั้ง คนไทยส่วนใหญ่หันมาสนใจข่าวสารบ้านเมืองมากขึ้น และที่สนใจมากขึ้นเพราะอยากรู้ว่าเรื่องราวจะเป็นไปอย่างไร จะรุนแรงมั้ยและจะจบอย่างไร นี่เป็นคำถามที่คนไทยทุกคนอยากรู้แต่ไม่มีใครตอบได้(แฮะๆ ผู้เขียนก็ตอบไม่ได้จ้ะ) และที่สำคัญคือสื่อยังสามารถโน้มน้าวให้เกิดความเชื่อไปทางใดทางหนึ่งได้โดยง่าย ยิ่งเป็นรายงงานข่าวที่มีการวิเคราะห์แง่มุมของเนื้อข่าวอย่างละเอียดด้วยแล้วจะได้รับความสนใจจากคอข่าวชาวไทยอย่างมาก ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อมีอิทธิพลมหาศาลในสังคมไทยจริงๆวันนี้คนไทยทุกคนรับรู้ว่าสื่อมีความเป็นอิสระเป็นอย่างมาก ขนาดบัญญัติความอิสระของสื่ออยู่ในรัฐธรรมนูญปี 50 เลยทีเดียวเชียว โดยคนไทยก็ชูจั๊กกะแร้เชียร์ ขอให้สื่อมีความอิสระจริงๆ เพราะคนไทยอยากเห็นข่าวสารที่ตรงไปตรงมาบนข้อเท็จจริง โดยไม่ต้องผ่านการปรุงแต่ง แต่เอาเข้าจริงก็อยากตั้งคำถามเหมือนกันว่าวันนี้สื่อเป็นอิสระจริงหรือ? อาจจะมีคำตอบว่าขนาดบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้วจะมาถามทำไม? ที่ต้องถามเพราะผู้เขียนมีข้อสงสัยในความอิสระของสื่อจริง ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อทีวี ที่สงสัยเพราะสื่อทั้งสองชนิดนี้ก็ยังผูกติดอยู่กับโฆษณา เพราะการมีโฆษณาคือการอยู่รอดของสื่อ หรือที่เรียกกันว่าผู้มีอุปการะคุณนั่นเอง และเมื่อสื่อยังต้องพึ่งโฆษณา โดยเฉพาะสื่อทีวีอาจจะมีบางรายการที่ได้รับความนิยมมากๆ บริษัทที่ซื้อโฆษณาก็มีบทบาทน้อยหน่อย แต่รายการกลางๆ ที่ต้องพึ่งโฆษณาเพื่อความอยู่รอดของรายการบริษัทที่ซื้อโฆษณา สามารถสั่งได้ว่าต้องการให้รายการนั้นๆ ออกมาในรูปแบบใด และที่สำคัญคือสื่อสิ่งพิมพ์(หนังสือพิมพ์)ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการปิโตรเลียมทุ่มซื้อโฆษณาในหลายฉบับ เรียกว่าคุมได้หมดก็ว่าได้ที่พูดได้อย่างนี้เพราะเคยมีประสบการณ์มาหลายครั้ง เพราะบางครั้งเราแถลงข่าวเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลในวงการปิโตรเลียมของไทยเพื่อให้คนไทยได้ร่วมรับรู้ ข่าวเหล่านั้นไม่เคยได้ปรากฎในสื่อทีวีและสื่อสิ่งพิมพ์เลย ถามนักข่าวไปก็ได้คำตอบมาว่าลงให้ไม่ได้เพราะจะกระทบบริษัทที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของสื่อแต่ละสำนัก (ไหนว่าสื่ออิสระไงทำไมไม่กล้าลงข่าวที่เป็นข้อเท็จจริงล่ะ ?) ยกตัวอย่างกรณีศาลตัดสินให้ปตท.คืนส่วนต่าง(ค่าวางท่อก๊าซ)คืนคลัง โดยให้สตง.ร่วมประเมินราคาท่อที่ปตท.ต้องคืน แต่ปตท.รีบร้อนคืนมาประมาณหมื่นหกพันล้านบาท ทั้งที่จริงสตง.ตรวจสอบแล้วพบว่าปตท.ต้องคืนส่วนต่างให้คลังเกือบแสนล้านบาท แต่ปตท.คืนหมื่นกว่าล้านแล้วบอกจบ เราในฐานะคนไทยก็ควรได้รับรู้เรื่องนี้บ้าง แต่สื่อไม่กล้าลงเพราะกลัวกระทบกับโฆษณา สิ่งที่เราทำได้คือเรารวมตัวกันไปยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้เร่งตรวจสอบและเรียกร้องให้ปตท.คืนเงินให้ครบตามจำนวนที่สตง.ตรวจพบไม่อย่างนั้นพวกจะฟ้องว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่เหมือนเดิมคือมีข่าวลงน้อยมาก ทีวีที่เราได้ออกมีช่องเดียวคือ ทีวีไทย ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์แทบหาไม่เจอเลย ที่เขียนมานี้ไม่ได้มีอคติกับสื่อ เพียงอยากจะแค่ถามว่า วันนี้สื่อมีอิสระแล้วจริงๆ หรือ?  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ก้าวสำคัญของงานผู้บริโภคไทย

  แม้จะพยายามใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังอย่างเต็มที่ แต่เราทุกคนคงยากที่จะหลีกเลี่ยงจากการถูกเอารัดเอาเปรียบได้ เนื่องด้วยอำนาจในการจัดการเกี่ยวกับวิถีการบริโภคนั้นไม่ได้อยู่ในมือของผู้บริโภค แต่ไปผูกพันกับระบบเศรษฐกิจ บรรษัทข้ามชาติ นักการเมืองและพ่อค้า คงมีก็แต่ผู้บริโภคที่แข็งแรงมากพอเท่านั้นที่จะมีโอกาสรอดได้ ซึ่งก็เป็นแค่คนส่วนน้อย ทุกวันนี้ประชาชนผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังต้องเผชิญกับปัญหาการละเมิดสิทธิอย่างไม่มีทีท่าว่าจะลดลง   ความฝันของผู้บริโภค   ความฝัน ความจริง ของดี ราคาไม่แพง ของห่วย ราคาแพง อาหารสะอาด ปลอดภัย อาหารปนเปื้อนสารพิษ สารเคมี ไปไหนมาไหนสะดวก บริการขนส่งสาธารณะได้มาตรฐาน ไปไหนไม่ค่อยมีทางเลือก ราคาไม่คุ้มบริการ ตลอดปีมีแต่อุบัติเหตุ ค่าน้ำ ไฟ โทรศัพท์ สมเหตุสมผล มีการบริหารจัดการที่ดี ราคาขึ้นไม่มีเหตุผล คนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้เรื่องโครงสร้างราคา   ความฝันกับความจริงมักจะสวนทางกัน ไม่ว่าผ่านมากี่ยุคสมัย ผู้บริโภคยังต้องดิ้นรนเพื่อให้รอดจากการถูกเอาเปรียบ   ทำไมงานคุ้มครองผู้บริโภคบ้านเราไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าหากมองว่า ทางออกของการดูแลผู้บริโภคคือ กฎหมาย ประเทศไทยก็มีกฎหมายที่เกี่ยวกับผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก แล้วทำไมผู้บริโภคจึงยังถูกเอาเปรียบ??? ก็เพราะกฎหมายมีข้อจำกัดที่ว่า ทำได้แค่ดูแลเฉพาะเรื่องที่กรอบกฎหมายของตนเองกำหนดไว้เท่านั้น โดยทุกกฎหมายเน้นการป้องกันที่ต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอาหาร ยา ที่ดิน ประกันชีวิต ฯลฯ ซึ่งเน้นควบคุมที่ผู้ประกอบการหรือต้นน้ำ ด้วยแนวคิดที่ว่าถ้าผู้ประกอบการดีเสียอย่าง ผู้บริโภคก็ปลอดภัย ซึ่งในความเป็นจริง ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะขีดความสามารถของหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลกฎหมาย ไม่อาจทำได้ถึงขนาดที่จะควบคุมผู้ประกอบการทุกรายและทุกสินค้าหรือบริการ เพราะโลกทุกวันนี้อยู่ในสภาพการผลิตที่ล้นเกิน และการบริโภคที่มากเกินไป ถามว่า แล้วมีกฎหมายที่เน้นที่ตัวผู้บริโภคไหม ก็มีอยู่ 1 ฉบับที่ระบุถึงสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค คือ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ที่มีสำนักงานหนึ่งเกิดขึ้นมาพร้อมกับ พ.ร.บ. นี้ คือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ.   ทว่า สคบ.ก็ขับเคลื่อนงานผู้บริโภคได้ไม่มาก เพราะถูกจำกัดบทบาทด้วยกฎหมายเช่นกัน กล่าวคือ สคบ.ดูแลงานคุ้มครองผู้บริโภคได้เฉพาะเรื่องที่ไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดของรัฐรับผิดชอบอยู่แล้ว เช่น เรื่องอาหาร ไม่ใช่บทบาทของ สคบ. แต่เป็นบทบาทของ อย. หรือเรื่องการเงินการธนาคารก็ไม่ใช่ สคบ. แต่เป็นบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น ดังนั้นที่หลายคนเข้าใจว่า สคบ.เป็นหน่วยงานกลางของงานคุ้มครองผู้บริโภคจึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง อีกทั้ง สคบ. ก็มิได้มีบทบาทหน้าที่ที่จะไปกำหนดนโยบายหรือมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศ นี่จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ว่า ทำไมงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคจึงมีข้อจำกัดอย่างมาก เมื่อหันกลับมามองที่ภาคประชาชน ก็ยิ่งพบสภาพการณ์ที่ย่ำแย่ ประชนชนทั่วไปยังเข้าใจในสิทธิผู้บริโภคน้อยเกินไป ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการเลือกซื้อเลือกใช้ อาจเรียกได้ว่า “มีภูมิคุ้มกันต่ำมาก” ทีเดียว ส่วนใหญ่ถูกชวนเชื่อให้ลุ่มหลงไปกับคำโฆษณา การประชาสัมพันธ์และการตลาดที่รุกรานเข้าไปในพื้นที่ทุกช่วงเวลาของชีวิต ทั้งในรายการข่าว ในละคร บนรถเมล์ ในโรงภาพยนตร์  ฯลฯ ยิ่งผนวกรวมกับความรู้สึกไม่อยากจะใช้สิทธิหรือร้องเรียน เพราะกลัวปัญหายืดเยื้อเรื้อรัง จนปล่อยเลยตามเลย ก็เลยกลายเป็นจุดอ่อนให้ผู้ประกอบการยิ่งได้ใจเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคมาตลอด  เพราะคนจ้องจะเอาเปรียบมีมากเกินไปและแข็งแรงเกินไป หรืออาจเป็นเพราะผู้บริโภคเราอ่อนแอเกินไป รู้น้อยเกินไป เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคก็มีมากมายหลากหลายเสียเหลือเกินตั้งแต่เรื่องเล็กอย่างกระดาษทิชชู จนถึงเรื่องระดับประเทศอย่างน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะฉะนั้นถ้าหวังให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค คอยไล่ตามแก้ปัญหา ย่อมไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสม ในระยะยาวถ้าหวังให้งานคุ้มครองผู้บริโภคเข้มแข็ง ก็ต้องส่งเสริมให้ผู้บริโภคเข้มแข็ง จนถึงขนาดมีอำนาจต่อรองกับภาคการผลิตได้ สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมให้ความคิดเห็นในกฎ ระเบียบต่างๆ ที่กระทบกับการบริโภคได้ ไม่เป็นเพียงหน่วยย่อยเล็กๆ ที่ถูกกระทำดังเช่นทุกวันนี้   หน่วยพิทักษ์ผู้บริโภคกับการเดินทาง 14 ปี อันที่จริงเรื่องราวที่กล่าวมาข้างต้น ยังคงวนเวียนเขียนได้ไม่เคยเก่า ราวกับเป็นเรื่องธรรมดาของประเทศนี้ แม้เหตุการณ์จะผ่านไปหลายสิบปี รัฐบาลเปลี่ยนไปหลายชุด ผู้บริโภคก็ยังเป็นเหยื่อไม่เคยเปลี่ยน ถึงอย่างไร โลกนี้ก็ไม่สิ้นไร้ซึ่งความหวัง เมื่อปี พ.ศ. 2540 รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ร่างโดยภาคประชาชนได้กล่าวถึงการคุ้มครองผู้บริโภคไว้ในมาตรา 57 โดยกำหนดไว้ว่า “ต้องมีองค์การอิสระ” ที่มีผู้แทนผู้บริโภคมาทำหน้าที่ให้ความเห็นในการตรากฎหมาย กฎและข้อบังคับต่างๆ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ด้วยความที่เป็นกลไกใหม่ “องค์การอิสระ” ทำให้เกิดข้อถกเถียงกันมากมาย โดยเฉพาะคำว่า “อิสระ” ว่าแค่ไหน อย่างไร รวมทั้งจุดอ่อนสำคัญที่ไม่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญให้แน่ชัดว่าต้องเกิดองค์การนี้ภายในระยะเวลากี่ปี สุดท้ายก็ตายจากไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญปี 2540   แต่เพราะปัญหาผู้บริโภคเป็นเรื่องของคนทุกคน คำว่า “คุ้มครองผู้บริโภค” และ “องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค” จึงกลับมาในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 อีกครั้ง โดยคราวนี้ขยับไปที่ มาตรา 61 โดยแก้ไขจุดอ่อนที่มีในคราวรัฐธรรมนูญ 2540 โดยองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคในมาตรา 61 แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่า ต้องการให้เป็นองค์กรที่เป็น “อิสระ” จากหน่วยงานของรัฐจริงๆ ไม่ใช่อยู่ในกำกับของรัฐ และนำบทเรียนเรื่องกรอบเวลามาปรับให้เป็นรูปธรรม โดยเขียนบทเร่งรัดกำหนดกรอบเวลาไว้ในมาตรา 303 ว่า รัฐบาลชุดแรกหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ประกาศใช้ ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว ต้องจัดทำกฎหมายองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคให้เสร็จและบังคับใช้ได้ภายใน 1 ปี ถ้าเหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง ปี 2554 นี้เราคงมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เกิดขึ้นแล้ว แต่หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ มีการเปลี่ยนรัฐบาลถึง 3 คณะใน 1 ปี เราถึงยังไม่มีองค์การอิสระฯ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเสียที   การขยับตัวของภาคประชาชน ในสมัยรัฐธรรมนูญ ปี 2540 องค์กรผู้บริโภคคึกคักกันพักใหญ่ เพราะเห็นทางรอดของผู้บริโภคไทย ที่รัฐธรรมนูญให้แนวทาง การกำเนิดขององค์กรใหม่ ที่จะมาทำหน้าที่ หน่วยพิทักษ์ผู้บริโภค ที่เป็นหน่วยงานกลางในเรื่องผู้บริโภคจริงๆ ไม่ใช่ตัวแทนเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หน่วยงานที่จะทำหน้าที่หลักในการคุ้มครองผู้บริโภค เฝ้าระวังและให้ความเห็นในกฎหมายหรือมาตรการใดๆ ที่จะส่งผลกระทบสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภค   สามปีแรก(2541 – 2543) เป็นงานเดินสายสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภคและหน่วยงานต่างๆ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวคิดเรื่อง ความเป็นอิสระ อำนาจ หน้าที่ ต่อมาก็มีการยกร่าง กฎหมายองค์การอิสระขึ้น และทำความเข้าใจกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ จนถึงช่วงท้ายๆ ของอายุรัฐธรรมนูญปี 2540 สามารถรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอกฎหมายได้ถึง 50,000 รายชื่อ แต่น่าเสียดาย ความหวังครั้งนั้นหายวับไปพร้อมกับเหตุรัฐประหาร 19 กันยายน 2549   แม้สิบปีจะยังไม่มีองค์การอิสระฯ เกิดขึ้น แต่ก็เหมือนกับได้เป็นการสร้างความพร้อม และปูพื้นฐานส่วนหนึ่งให้กับภาคประชาชน รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ เมื่อรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ถือกำเนิดขึ้นและบทบัญญัติที่เกี่ยวกับองค์การอิสระไม่ได้หายไป ภาคประชาชนก็เริ่มขยับตัวอีกครั้ง การผลักดันกฎหมายโดยภาคประชาชนการเข้าชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 10,000 คน เสนอ (ร่าง) พ.ร.บ. องค์การอิสระผู้บริโภค ฉบับประชาชน   15 มีนาคม 2551 เริ่มรณรงค์ครั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 50องค์กรภาคประชาชน ประกาศเจตนารมณ์ และรวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 รายชื่อ ในการเสนอกฎหมายองค์การอิสระผู้บริโภค และรณรงค์ในจังหวัดต่างๆ  19 กุมภาพันธ์ 2552 ยื่นรายชื่อ  12,208 ชื่อ ต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา   23 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2552 รัฐสภาตรวจสอบรายชื่อ กระบวนการตรวจสอบรายชื่อ ความถูกต้องสมบูรณ์ รวมจำนวนที่ตรวจสอบได้  11,700  รายชื่อ   4 มีนาคม 2552 รัฐสภาส่งข้อมูลให้ กกต. ตรวจสอบสิทธิ 1 เมษายน 2552กกต. ส่งรายชื่อไปให้กรมการปกครองเป็นผู้ตรวจสอบ กรมการปกครองทำการส่งรายชื่อไปปิดประกาศในพื้นที่เพื่อร้องคัดค้าน เป็นเวลา 20 วัน   พฤษภาคม 2552กกต. ส่งกลับรายชื่อที่รับรองมาที่รัฐสภา     26  พฤษภาคม  2552รัฐสภาแจ้งผลการตรวจสอบ สรุปว่ามีผู้เข้าชื่อครบ 10,000 ชื่อ   1 มิถุนายน 2522 ประธานรัฐสภาวินิจฉัยว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ส่งให้นายกรัฐมนตรีลงนามให้คำรับรอง   หลังนายกรัฐมนตรีรับรอง ภาคประชาชนได้รับหนังสือจากเลขาธิการประธานรัฐสภา จะพิจารณาบรรจุเข้าวาระการประชุมของรัฐสภา   5 ตุลาคม 2553สภาผู้แทนราษฎร รับหลักการของร่างกฎหมาย 7 ฉบับรวมทั้ง พ.ร.บ.องค์การอิสระฯ ฉบับประชาชน โดยตั้งกรรมาธิการ 54  คน เป็นกรรมาธิการภาคประชาชน 18 คน   27 มกราคม 2554 พิจารณาร่างกฎหมายแล้วเสร็จ พร้อมเสนอให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป   9 กุมภาพันธ์ 2554 บรรจุวาระร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค วาระที่ 2   20 เมษายน 2554(ร่าง)พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 3 วาระ 10 พฤษภาคม 2554  รัฐบาลประกาศยุบสภา การพิจารณากฎหมายของวุฒิสภาต้องหยุดชะงักไป เพื่อรอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ร่างกฎหมายฉบับนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี อีกครั้งหนึ่งภายใน 60 วันหลังการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง วุฒิสภาจึงจะสามารถพิจารณาร่างกฎหมายนี้ต่อไปได้   องค์การอิสระฯ ตามมาตรา 61 ทางออกระยะยาวที่อยู่ใกล้แค่เอื้อม หลังผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร์ทั้ง 3 วาระ และรอลุ้นระทึกว่า รัฐบาลใหม่จะสานฝันให้ผู้บริโภคได้ทันหรือไม่ เรามาดูบทบาทหน้าที่ขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคนี้กันสักหน่อย องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามร่างกฎหมายฉบับนี้ มีบทบาทสำคัญ  8 ประการ ได้แก่ 1. ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค 2. ตรวจสอบการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและรายงานไปยังหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ และอาจรายงานเรื่องดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา รวมทั้งเผยแพร่เรื่องดังกล่าวต่อสาธารณชน  ทั้งนี้ ให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบดังกล่าวรายงานผลการพิจารณาและการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการภายในระยะเวลาอันสมควร 3. ดำเนินการและสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นจริง หรือแจ้งหรือโฆษณาข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมเสียแก่สิทธิของผู้บริโภค ในการนี้จะระบุชื่อสินค้าหรือบริการ หรือชื่อของผู้ประกอบการด้วยก็ได้ 4. สนับสนุนการใช้สิทธิร้องเรียนของผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ประกอบการ และดำเนินการให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบการ 5. ดำเนินคดีต่อศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม โดยคณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งเลขาธิการหรือพนักงานขององค์การเพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดี รวมทั้งมีอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคที่ร้องขอได้ด้วย  ทั้งนี้ การฟ้องและดำเนินคดีดังกล่าว ให้ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง แต่ไม่รวมถึงความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นที่สุด  6. สนับสนุนและให้การช่วยเหลือแก่องค์กรผู้บริโภคในด้านต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรผู้บริโภคดังกล่าว ตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค  7. ส่งเสริมการศึกษาและการวิจัย  รวมทั้งจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรผู้บริโภคหรือประชาชนเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ  8. จัดให้มีการประชุมสมัชชาองค์กรผู้บริโภคอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งเพื่อประเมินการดำเนินงานขององค์การ และติดตามตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเสนอแนะแนวทางในการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภค   ถ้านับเวลาจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ก็เป็นเวลากว่าสี่ปีมาแล้ว แต่หากนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่มีการระบุให้จัดตั้งองค์การอิสระไว้ในมาตรา 57 ก็เป็นระยะเวลายาวนานถึง 14 ปี และหากรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพียงแค่ปล่อยให้เวลาผ่านเลยวันที่ 30 กันยายน 2554 การดำเนินการในการออกกฎหมายก็จะต้องเริ่มใหม่หมด นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของผู้บริโภค อีกทั้งความตั้งใจและการดำเนินการที่ผ่านมาของภาคประชาชนจะกลายเป็นศูนย์ ต่อจากนี้ไป เราคงต้องมาร่วมลุ้นระทึกกันอีกครั้ง ว่าองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จะกลับไปเริ่มต้นกันใหม่หรือดำเนินการต่อไปอย่างสง่าผ่าเผย ได้โปรดติดตาม

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point