ฉบับที่ 244 เจ้าตูบหวิดกระเพาะทะลุหลังพบเศษกระดูกในอาหารสุนัข

        ปัจจุบันตลาดอาหารสุนัขยังคงเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากผลิตภัณฑ์อาหารสุนัขรูปแบบต่างๆ ที่วางจำหน่ายกันหลายยี่ห้อ โดยมีกลยุทธ์ต่างๆ มาดึงดูดให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงได้เลือกซื้อ แต่ในหัวอกคนรักสุนัขแล้วย่อมคาดหวังถึงความปลอดภัยของอาหารเป็นสำคัญ  ดังนั้นข้อความ“คุณภาพระดับเดียวกับอาหารที่คนรับประทาน” บนผลิตภัณฑ์อาหารสุนัขยี่ห้อ Dr.DOG จึงน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คุณสุชาดาตัดสินใจซื้อมาให้เจ้าตูบที่บ้านกิน โดยไม่คาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น         วันหนึ่ง เมื่อได้เวลาให้อาหารสุนัข คุณสุชาดาหยิบถุงโครงไก่บดแช่แข็ง กลิ่นไก่ย่าง ตรา Dr.DOG มาตัดแล้วเทใส่ชามเตรียมไว้ แต่ยังไม่ทันได้เรียกสุนัขมากิน พลันสายตาไปสะดุดเข้ากับเศษกระดูกขนาด 1-1.5 เซนติเมตรจำนวนมากปะปนอยู่ในโครงไก่บดนั้น เมื่อหยิบขึ้นมาก็พบว่ามีลักษณะแข็งและคม คุณสุชาดาเกรงว่าถ้าให้เจ้าตูบกินเข้าไปน่าจะเป็นอันตราย มื้อนั้นจึงเตรียมอาหารอย่างอื่นให้แทน และเมื่อนำเศษกระดูกไปให้สัตวแพทย์ดู หมอบอกว่า “เศษกระดูกที่ปนมานี้ ถ้าสุนัขกินเข้าไปอาจแทงกระเพาะทะลุได้” คุณสุชาดาฟังแล้วก็โล่งใจที่ไม่ได้ให้สุนัขของตัวเองกิน แต่ก็เป็นห่วงว่าถ้าคนอื่นซื้ออาหารสุนัขยี่ห้อนี้ไปแล้วไม่ได้สังเกตดีๆ เผลอให้สุนัขกินเศษกระดูกที่ปนมานี้เข้าไป คงไม่ดีแน่ คุณสุชาดาจึงนำเรื่องนี้มาร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จึงซื้ออาหารสุนัขยี่ห้อนี้มาพิสูจน์ก็พบว่า ในถุงอาหารสัตว์มีเศษกระดูกปนอยู่จำนวนมากจริง จึงติดต่อไปยังผู้ประกอบการคือบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และขอให้ตรวจสอบเรื่องนี้ พร้อมกันนั้นก็ส่งหนังสืออีกฉบับถึงกรมปศุสัตว์ให้ดำเนินการตามกฎหมาย จากนั้นไม่นานทางผู้ประกอบการแจ้งกลับมาว่า ได้ระงับการจ่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจากศูนย์กระจายสินค้าและนำมาตรวจสอบแล้ว         ประมาณหนึ่งเดือน ทางกรมปศุสัตว์แจ้งว่า ได้ส่งทีมงานลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานผู้ผลิตและหารือกับตัวแทนบริษัทแล้ว ได้ข้อสรุปว่า บริษัทต้องเรียกคืนผลิตภัณฑ์โครงไก่บดแช่แข็ง กลิ่นไก่ย่าง ตรา Dr.DOG ที่ผลิตในล็อตเดียวกันกับที่ถูกร้องเรียน ( LOT N0. 63206 ผลิตวันที่ 24 กรกฎาคม 2563) กลับมาตรวจสอบ และให้กักผลิตภัณฑ์ลักษณะเดียวกันนี้ที่ยังไม่ได้จำหน่ายออกไปจากโรงงานอีกจำนวน 44,000 กิโลกรัมไว้ก่อน พร้อมทั้งแจ้งร้านค้าให้ชะลอการขายผลิตภัณฑ์นี้จนกว่าบริษัทจะตรวจสอบแล้วว่าปลอดภัย ซึ่งหากภายหลังตรวจพบว่าเป็นอันตรายต่อสัตว์ก็จะต้องเรียกคืน         ทั้งนี้ทางกรมปศุสัตว์ได้กำชับให้บริษัทฯ ตรวจสอบกระบวนการผลิตในโรงงานผลิตอาหารสัตว์อย่างละเอียด หากพบความเสี่ยงที่ทำให้มีอันตรายทางกายภาพหลุดรอดไปกับผลิตภัณฑ์ ให้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้อาหารสัตว์มีความปลอดภัยเหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 ถูกฟ้องเพราะอาหารสุนัข

หลายคนที่รักสัตว์เลี้ยง มักมีความกังวลเรื่องอาหารของสัตว์เหล่านั้น เพราะต่างต้องการให้สัตว์เลี้ยงได้รับอาหารที่ดีที่สุด เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์ แต่หากเผลอไปเลือกซื้ออาหารสัตว์ที่โฆษณาเกินจริง และส่งผลด้านลบต่อสัตว์เลี้ยงของเรา รวมทั้งลุกลามมาถึงเราด้วย จะมีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้างมาดูกัน คุณสมใจเลี้ยงสุนัขพันธุ์ชิวาวาและต้องการให้น้องหมาได้รับอาหารที่ดีที่สุด เธอจึงค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับยี่ห้ออาหารสัตว์ยอดนิยมที่ขายผ่านทางออนไลน์ และในที่สุดก็ได้พบกับอาหารเม็ดของน้องหมายี่ห้อหนึ่งที่มีผู้มาลงประกาศไว้ในกลุ่มของคนรักสุนัขในเฟซบุ๊ก โดยมีการโฆษณาว่าสุนัขกินได้ทุกเพศ ทุกวัย มีกลิ่นหอมจนคนแอบเอาไปกิน ซึ่งมีผู้ใช้งานหลายคนได้รีวิวสินค้าไว้ว่าคุณภาพดีจริง ทำให้คุณสมใจและเพื่อนๆ ตัดสินใจรวมกันสั่งซื้อจำนวน 15 กิโลกรัมในราคา 1,800 บาท ภายหลังได้รับสินค้า เธอพบว่าบรรจุภัณฑ์ของจริงไม่เหมือนในรูปที่ลงประกาศไว้ในเฟซบุ๊ก รวมทั้งการบรรจุอาหารยังใส่มาในถุงฟอยส์ธรรมดา ไม่มียี่ห้อ ไม่มีฉลาก รวมทั้งมีกลิ่นเหม็น มีรสเค็ม และวันหมดอายุเป็นเพียงกระดาษสติกเกอร์ติดที่ถุง นอกจากนี้เมื่อแกะถุงออกมาพบว่า ข้างในเป็นถุงพลาสติกมัดปากถุงเท่านั้น แต่เธอก็ได้แต่เก็บความสงสัยไว้ในใจและทดลองนำอาหารดังกล่าวให้สุนัขรับประทาน ซึ่งพบว่าน้องหมาไม่ยอมแตะอาหารดังกล่าวเลย แม้จะผสมกับอาหารเก่าให้รับประทาน น้องหมาก็เลือกเฉพาะอาหารเดิมและทิ้งอาหารเม็ดยี่ห้อใหม่ไว้ คุณสมใจจึงคิดว่าเป็นเพราะเปลี่ยนอาหารใหม่สุนัขจึงไม่ชิน เธอจึงใช้วิธีหักดิบให้อาหารใหม่เพียงอย่างเดียว แต่พบว่าเมื่อน้องหมากินเข้าไปแล้ว ไม่นานก็มีอาการอาเจียนและท้องเสีย คุณสมใจจึงลองเปลี่ยนกลับไปเป็นอาหารเม็ดยี่ห้อเดิมที่เคยให้ และพบว่าสุนัขของเธอกลับมามีอาการเป็นปกติเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสมใจจึงคิดว่าอาหารเม็ดยี่ห้อใหม่ที่เธอซื้อมา ต้องไม่มีความปลอดภัยและไม่ได้มาตรฐาน จึงไปโพสต์ระบายความรู้สึกไม่ประทับใจลงในเฟซบุ๊กของกลุ่มของคนรักสุนัขดังกล่าว ซึ่งภายหลังก็ได้มีหลายคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นด้านลบต่อสินค้าจำนวนมาก และเมื่อผู้ขายสินค้ามาเห็นข้อความดังกล่าวจึงทำให้เกิดการโต้เถียงกัน จนในที่สุดผู้ขายสินค้าก็ตัดสินใจนำข้อความดังกล่าวไปฟ้องหมิ่นประมาท และฟ้องร้องตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทำให้คุณสมใจส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ผู้ร้องต้องการให้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ช่วยตรวจสอบให้ว่าสินค้าดังกล่าวได้มาตรฐานจริงหรือไม่ หรือมีส่วนประกอบที่เป็นอันตรายอย่างไรบ้าง ซึ่งทางศูนย์ฯ ก็ได้แนะนำให้ผู้ร้องส่งรายละเอียดมาให้เพิ่มเติมได้แก่ ใบรับรองแพทย์ของสุนัข หลักฐานการซื้อขายสินค้าและตัวอย่างสินค้า เพื่อนำไปส่งทดสอบต่อไป ในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ผู้ร้องพบว่า บรรจุภัณฑ์ของจริงไม่ตรงกับในรูปที่โฆษณาไว้ ทางศูนย์ฯ ได้แนะนำให้ผู้ร้องส่งภาพถ่ายผลิตภัณฑ์จริงและรูปที่ใช้โฆษณาในเฟซบุ๊กมาให้เพิ่มเติม ซึ่งอาจเข้าข่ายการโฆษณาเกินจริงได้ นอกจากนี้การเลือกซื้ออาหารสัตว์ให้ปลอดภัยควรเลือกยี่ห้อที่มีฉลากแสดงรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ เช่น ชื่อสินค้า ส่วนผสม อายุการเก็บหรือชื่อผู้ผลิต เป็นต้นสำหรับกรณีที่ผู้ร้องถูกฟ้องหมิ่นประมาท และถูกฟ้องตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ศูนย์ฯ ได้แนะนำผู้ร้องว่าปัจจุบัน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560) ได้แก้ไขจากฉบับเดิมโดยได้ตัดความผิดฐานหมิ่นประมาทออกไป ดังนั้นหากข้อมูลที่ผู้ร้องได้โพสต์ไป สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริงก็ไม่ถือว่าผิด พ.ร.บ.คอมฯ ดังกล่าว ทั้งนี้หากใครที่ไม่ต้องการให้ถูกฟ้องร้องจาก พ.ร.บ.คอมฯ ก็สามารถป้องกันตนเองเบื้องต้นได้ด้วยการโพสต์ข้อความที่แสดงรายละเอียดของข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานพิสูจน์ได้เท่านั้น และหลีกเลี่ยงการแสดงความรู้สึกหรือความคิดเห็นด้านลบ เพราะอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการโต้เถียงและเสียเวลาในการฟ้องร้องคดีได้ 

อ่านเพิ่มเติม >