ฉบับที่ 164 อาวุโส สูงวัย ไม่โอเค

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิด เช่น วิตามิน เกลือแร่ นั้นมีประโยชน์ต่อผู้ที่อยู่ในภาวะขาดสารอาหาร แต่สำหรับผู้ที่บริโภคอาหารได้สมบูรณ์ครบห้าหมู่(ซึ่งมักสูงวัยแล้ว) และมีสุขภาพปรกติ มักให้เหตุผลการกินผลิตภัณฑ์เหล่านี้ว่า น่าจะช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย เช่น มะเร็ง ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ซึ่งโดยสรุปแล้วทำให้เข้าใจว่า ทำให้ตายช้าลง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในภาพรวมแล้ว ทำกำไรมหาศาลให้กับผู้ประกอบการ มูลค่าของยอดขายสินค้านี้ในสหรัฐอเมริกา (ค.ศ. 2014) ไม่ต่ำกว่าสองหมื่นล้านเหรียญดอลลาร์ ส่วนในเมืองไทยนั้นอย่าไปพูดถึงเลย เพราะมันมากพอที่มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งหนึ่งของไทยต้องเปิดหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาผลิตกำลังพลคนขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารออกไปให้บริการแก่สังคมคนหวังตายช้าหรือได้อะไรทางลัด เมื่อ 13 สิงหาคม 2014 ผู้เขียนได้อ่านรายงานข่าวเรื่อง Should We Take a Multivitamin? จากเว็บ www.care2.com ซึ่งกล่าวว่า หนึ่งในสามของชาวอเมริกันนิยมกินวิตามินรวมเป็นประจำ(ข้อมูลเดียวกันนี้ก็พบได้ในสหราชอาณาจักร) ทั้งที่มีคำถามว่า มันได้ประโยชน์ มีอันตราย หรือเสียเงินฟรี เนื่องจากมีผู้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับสุขภาพของสตรีสูงวัยในรัฐไอโอวาว่า การใช้วิตามินรวม(multivitamin) และแร่ธาตุบางชนิดในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น ก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตเร็วกว่าปรกติ ตัวรายงานนั้นชื่อว่า Dietary Supplements and Mortality Rate in Older Women ตีพิมพ์ใน Archives of Internal Medicine ฉบับประจำวันที่ 10 เดือนตุลาคม 2011   งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาทางระบาดวิทยานาน 19 ปี มีการสัมภาษณ์โดยใช้แบบสอบถามกับ สว.สตรี 38,772 ท่านของรัฐไอโอวาที่มีอายุเฉลี่ย 61.6 ปี (ในปี ค.ศ. 1986) และสัมภาษณ์ซ้ำอีกในปี 1997 และ 2004 และได้สรุปผลว่า การบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ซึ่งรวมถึงวิตามินเช่น กรดโฟลิก เหล็กและทองแดง ฯ ของผู้บริโภคในวัยเกษียณซึ่งหวังจะมีสุขภาพดีในทางลัด กลับเพิ่มความเสี่ยงของการเสียชีวิตในสว.สตรี ข้อมูลการศึกษานั้นกล่าวว่า ปี 1986 นั้นร้อยละ 62.7 ของผู้ตอบแบบสอบถามยอมรับว่ากินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างน้อย 1 ชนิด และเพิ่มเป็นร้อยละ 75.1 ในปี 1997 (ปีนี้เหลืออาสาสมัคร 29,230) และ 85.1 ในปี 2004  (ปีสุดท้ายนี้เหลืออาสาสมัคร 20,844 คน) ตามลำดับ สรุปแล้วมีอาสาสมัครหายไปสวรรค์ 15,594 คน คิดเป็นร้อยละของ 40.2% จากนั้นในปี 2004 ก็ได้มีการศึกษาเพิ่มเติมโดยใช้อาสาสมัครชุดเก่า 19,124 คน ไปจบการศึกษาจริงในปี 2008 โดยเหลือผู้รอดตาย 16,690 คน แสดงว่าในช่วงปี 1986 ถึง 2004 คนอเมริกันกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นักวิจัยประเมินว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารส่วนใหญ่ไม่ได้มีผลอะไรที่เกี่ยวกับความตายของ สว.หญิง ยกเว้นกลุ่มวิตามินรวมและแร่ธาตุเช่น วิตามินบี 6 กรดโฟลิก วิตามินบี 12 เหล็ก แมกนีเซียม สังกะสีและทองแดง นั้นที่มีความสัมพันธ์กับการไปสู่สัมปรายภพของผู้ถูกศึกษาเร็วขึ้น มีประเด็นที่ทำให้ใจชื้นหน่อยคือ ในการศึกษาพบว่า การเสริมแคลเซียมน่าจะช่วยให้ตายช้ากว่าปรกติหน่อยหนึ่ง ความจริงในประเด็นของโฟเลต วิตามินบี 6 วิตามิน บี 12 ซึ่งสามสหายนี้เป็นความหวังทางการแพทย์ว่า ควรจะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะผิดปรกติของหัวใจได้ โดยเป็นวิตามินที่ช่วยลดปริมาณโฮโมซีสตีอีน (homocystein ซึ่งเป็นดัชนีของความเสี่ยงของโรคหัวใจ) ได้จริง แต่ปรากฏว่าความเสี่ยงต่อภาวะผิดปรกติของหัวใจไม่ได้ลดอย่างที่หวัง ผู้ทำวิจัยได้ยกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ แร่ธาตุที่ดูเหมือนยิ่งเสริมจะยิ่งทำให้ตายเร็วคือ เหล็ก ผู้ทำวิจัยไม่ได้ให้เหตุผลว่าทำไม  แต่จากข้อมูลพื้นฐานด้านพิษวิทยาของเหล็กแล้วพบว่า เหล็กที่อยู่ในสภาวะอิสระในร่างกายเรา (ซึ่งผู้สูงอายุแล้วอาจสร้างโปรตีนเฟอไรติน (ferritin) มาจับกับอะตอมเหล็กน้อยลง) ถ้ามีมากเกินไปจะเป็นปัจจัยในการเพิ่มปริมาณอนุมูลอิสระให้สูงขึ้นตามหลักการทางเคมีที่เรียกว่า Fenton Reaction ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อหลายโรค ในกลุ่มประชาชนที่สูงอายุนี้ นอกจากการกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแล้ว ยังมีอีกประเด็นที่น่าพะวงคือ การกินอาหารสำเร็จรูปที่พยายามเติมสารอาหารบางประเภทลงไป เพื่อให้มีคุณค่าโภชนาการสูงเท่าอาหารก่อนปรุง แต่ก็มีที่เลยเถิดไปถึงการเติมแบบ “จัดหนัก” โดยผู้บริโภคไม่ได้รับรู้จากรสสัมผัส และแม้จะมีการติดฉลากโภชนาการ ผู้บริโภคก็มักไม่ได้อ่าน หรือถึงอ่านก็อาจไม่เข้าใจนัก สิ่งที่นักพิษวิทยาด้านโภชนาการกังวลคือ ปรกติสารอาหารอะไรที่ต้องใช้ในปริมาณสูงกว่าปรกตินั้น มักต้องมีการทำวิจัยอย่างลึกซึ้งถึงผลที่อาจเกิดขึ้น เช่น กรณีของโฟเลตและกรดโฟลิค ซึ่งจากชื่อนั้นดูว่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ในความจริงเป็นคนละเรื่อง Dr. Donald Abrams อาจารย์แพทย์มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแห่งเมืองซานฟรานซิสโก ได้กล่าวในคลิปของ YouTube (www.youtube.com/watch?v=zeZFcIbwCZg) ว่า เมื่อพูดถึงโฟเลตนั้น เราหมายถึงสารนั้นอยู่ในผักใบเขียวและอาหารอื่นๆ ส่วนกรดโฟลิคนั้นแสดงว่ามันเป็นสารสังเคราะห์ ซึ่งสามารถกินเกินได้ไม่ยาก ที่สำคัญก็คือ อาหารสำเร็จรูปที่มีการเติมอะไรต่อมิอะไรมากเกินไปนั้น ไม่เคยต้องถูกทดสอบว่า การเติมสารอาหารปริมาณสูงกว่าความต้องการนั้นมีอันตรายอย่างใดต่อผู้บริโภค เพราะมักเข้าใจกันง่าย ๆ ว่าสารอาหารนั้นไม่ควรมีโทษ ท่านผู้อ่านควรทราบว่า โฟเลต ซึ่งมนุษย์กินจากอาหารสารธรรมชาตินั้นอยู่ในรูปที่เชื่อมต่ออยู่กับสายโพลีกลูตาเมต ซึ่งมีขนาดใหญ่เล็กขึ้นกับชนิดแหล่งอาหาร สายโพลีกลูตาเมตนี้ถูกแยกออกที่ผิวของผนังลำไส้เล็กด้วยระบบเอนไซม์จำเพาะ เหลือเป็นโฟเลตโมโนกลูตาเมต (มีกลูตาเมตติดอยู่ 1 โมเลกุล) ที่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นจะเห็นว่า การนำเอาโพลีกลูตาเมตออกจากโฟเลตนั้นเป็นจุดกำหนด ปริมาณโฟเลตที่ร่างกายจะได้ใช้ (ซึ่งมีตัวเลขประมาณร้อยละ 25-50 ที่กินเข้าไป) ในทางตรงกันข้ามถ้าเป็นกรดโฟลิก การดูดซึมจะเป็นเกือบร้อยละ 100 เพราะกรดโฟลิกนั้นถูกสังเคราะห์ในรูปที่ไม่มีสายโพลีกลูตาเมตเชื่อมไว้ ท่านผู้สนใจอ่านข้อมูลนี้ได้จาก http://www.fao.org/docrep/004/y2809e/y2809e0a.htm ซึ่งองค์กรแห่งสหประชาตินี้ก็แสดงความกังวลอยู่เช่นกัน เป็นธรรมดาของชาวโลก งานวิจัยใดมีผู้สนใจมากก็มักมีผู้โต้แย้งอยู่เสมอ เช่น กล่าวว่าเป็นเพียงผลจากการเฝ้าสังเกตกลุ่มคนกลุ่มเดียว โดยไม่ได้ทำการศึกษาที่มีการแบ่งกลุ่มการทดลองที่ได้กินผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร(คือวิตามินรวมและแร่ธาตุ) และกลุ่มควบคุมซึ่งได้ยาหลอกเพื่อเปรียบเทียบว่ากลุ่มไหนอายุยืนกว่ากัน  ทำให้ยังสรุปไม่ได้ว่ากลุ่มที่ถูกศึกษานั้นกินวิตามินเพราะป่วยอยู่แล้วจึงตายเร็ว อย่างไรก็ดีได้มีงานวิจัยจริงๆ เรื่องหนึ่งชื่อ Multivitamins in the Prevention of Cardiovascular Disease in Men ซึ่งอยู่ในโครงการ Harvard Physicians’ Study II ในช่วงปี พ.ศ. 1997-2011 (และตีพิมพ์ใน JAMA. 2012; 308(17): 1751-1760)  ซึ่งมีการวางแผนวิจัยด้านระบาดวิทยาที่เป็นการศึกษาในแพทย์เพศชายแบบ randomized double blind ซึ่งหมายความว่า การศึกษานี้มีอาสาสมัครจำนวนนับ 14,641 คนที่ถูกเฝ้าสังเกตโดยไม่รู้ว่าตนได้รับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มวิตามินรวม (7,317 คน ซึ่ง ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2011 เหลือมีชีวิต 5,924 คน ตาย 1,345 คน หายไป 48 คน) หรือยาหลอก (7,324 คน ซึ่ง ณ.วันที่ 1 มิถุนายน 2011 เหลือมีชีวิต 5,855 คน ตาย 1,412 คน หายไป 57 คน) จากเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ป้อนยา ซึ่งเจ้าหน้าที่เองก็ไม่รู้ว่ายาที่ป้อนเป็นวิตามินรวมหรือยาหลอก (สรุปคือ ทั้งคนป้อนยาและคนรับยาต่างไม่รู้ว่าสิ่งที่ผ่านจากมือเข้าปากนั้นคืออะไร คนที่รู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้นคือ กลุ่มคนที่รับผิดชอบโครงการเท่านั้น) ได้สรุปผลว่า การเสริมวิตามินนั้นไม่ได้มีผลอะไรต่อการที่อาสาสมัครจะหัวใจวาย สมองขาดเลือด หรือตายด้วยอาการอื่น แต่มีแนวโน้มได้ของแถมติดไม้ติดมือบ้างคือ อาการแผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ บ้างท้องผูก บ้างท้องเสีย คลื่นไส้ หมดแรง ง่วงเหงาหาวนอน ผิวหนังเปลี่ยนสี และอาการปวดหัวไมเกรน ดังนั้นถ้าท่านผู้อ่านอยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่าเป็น สว. โดยธรรมชาติ ไม่ได้มีใครเลือกตั้งหรือแต่งตั้งแล้ว การจะกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก็อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ด้วยความตระหนักว่า ทำไมตนเองจึงกิน แต่ถ้าถามตัวเองแล้วไม่ได้คำตอบว่ากินไปทำไม ก็ย้อนกลับขึ้นไปอ่านบทความนี้อีกที น่าจะดีเหมือนกันนะครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 186 กระแสต่างแดน

ผู้อาวุโสไม่โอเค    จำนวนประชากรผู้สูงอายุในปักกิ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รถเมล์ในตัวเมืองต่างก็แน่นขนัดไปด้วยประชากรสูงวัยทางการจีนระบุว่าร้อยละ 23 ของประชากรปักกิ่งมีอายุมากกว่า 60 ปี และร้อยละ 80 ของคนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในใจกลางเมือง รัฐจึงต้องเตรียมแผนรองรับเทรนด์นี้โดยด่วน เพราะนครหลวงแห่งนี้จะมีคนอายุ 60 ปีเพิ่มขึ้นวันละ 500 คน และมีคนอายุ 80 ปีเพิ่มขึ้นวันละ 120 คน ว่าแล้วก็เคาะออกมาเป็นแผนชักชวนคนกลุ่มนี้ให้ย้ายไปพำนักที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในเมืองเทียนจิน และเหอเป่ย ด้วยโปรโมชั่นทั้งลดทั้งแถม อีกทั้งการอำนวยความสะดวกสารพัด แต่แผนนี้ไม่เข้าตาผู้สูงอายุสักเท่าไร ใครจะอยากทิ้งปักกิ่งที่มีทั้งรถเมล์ฟรี สวนสาธารณะสำหรับออกกำลังกายและพบปะเพื่อนฝูง แถมด้วยโรงพยาบาลดีๆ ไปอยู่ที่อื่นกันล่ะ ไม่ประกันก็คุ้มครอง    ชายสิงคโปร์คนหนึ่งซื้อรถเล็กซัส ไฮบริด GS 450 มือสองมาในราคา 138,000 เหรียญ(ประมาณ 3.5 ล้านบาท) ซึ่งเป็นราคาที่ทางร้านลดให้จาก 139,800 เหรียญ เพราะเขาไม่ต้องการ “การขยายประกัน”สองเดือนต่อมาปัญหาเริ่มเกิด ผู้ซื้อติดต่อทางร้านเพื่อแจ้งความผิดปกติของแบตเตอรี่ไฮบริด จานดิสเบรกหน้าและยางทั้งสี่ล้อ แต่ทางร้านไม่รับผิดชอบโดยอ้างว่าเขาไม่ได้ซื้อประกัน เขาจึงนำรถไปซ่อมเองและเสียค่าใช้จ่ายไป 8,500 เหรียญ(2 แสนกว่าบาท) แต่ตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของสิงคโปร์ เขายังคงสามารถร้องเรียนได้แม้รถคันนี้จะเป็นสินค้ามือสองที่ไม่มีประกันเพิ่มศาลตัดสินให้ผู้ขายจ่ายค่าซ่อมแซมแบตเตอรี่ไฮบริดแก่ชายผู้นี้เป็นเงิน 4,500 เหรียญ เพราะผู้ขายไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าแบตเตอรี่ดังกล่าวไม่มีความบกพร่องก่อนจะถึงมือผู้ซื้อ ส่วนค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนยางและจานเบรกไม่เข้าข่ายได้รับการชดเชยเพราะเป็นวัสดุสึกหรอที่ต้องมีการเปลี่ยนเป็นระยะอยู่แล้ว ได้เวลาตุ๊ก มิเตอร์    สามล้อพ่วงมอเตอร์ไซค์บนท้องถนนพนมเปญต้องหลีกทางให้กับ “ตุ๊กๆ มิเตอร์” - ผู้เล่นหน้าใหม่สำหรับผู้โดยสารที่เพลียกับการต่อรองราคา รถตุ๊กๆ สีเหลืองภายใต้แบรนด์อีซี่โก จะเป็นทางเลือกใหม่ที่คิดค่าโดยสารตามระยะทาง(ไม่ใช่เวลา)  เริ่มต้นที่ 25 บาทสำหรับระยะทาง 1 กิโลเมตรแรก และค่อยๆ เพิ่มขึ้น 3 บาท สำหรับทุกๆ 300 เมตรต่อจากนั้น เจ้าของกิจการอีซี่โกบอกว่าราคานี้สู้กับผู้ประกอบการรถประเภทอื่นได้สบาย เพราะรถของเขาใช้ก๊าซ LPG ที่ราคาถูกกว่าเบนซินหรือดีเซล คนขับยังสามารถเลือกได้ว่าจะเป็นพนักงานขับรถของบริษัทกินเงินเดือน 7,000 – 10,000 ตามความขยัน หรือจะเช่ารถไปขับด้วยค่าเช่า 250 บาท/วัน ก็ได้วิน-วินกันทุกฝ่าย ยกเว้นสมาคมผู้ประกอบการรถตุ๊กๆ พ่วงแบบเดิมที่มีสมาชิกอยู่ 6,000 คันนั่นหละ  ร้องเพราะมีเรื่อง    ปีนี้ผู้คนในรัฐนิวเซาท์เวลส์มีเรื่องร้องเรียนมากเป็นประวัติการณ์ ก็อย่างว่านะ ผู้บริโภคเขามีช่องทางที่สะดวกในการร้องเรียน แถมยังมีความเชื่อมั่นว่าร้องเรียนแล้วจะได้ผลด้วย ปีงบประมาณ 2558 -2559 มีกรณีร้องเรียนถึง 51,221 กรณีปัญหาผู้บริโภคอันดับหนึ่งคือเรื่องที่อยู่อาศัย (4,548 กรณี) ตามด้วยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (3,300 กรณี) รถมือสอง (2,773 กรณี) การรับเหมาสร้างบ้าน (2,536 กรณี) เฟอร์นิเจอร์ (2,339 กรณี) เป็นต้น อีก 5 เรื่องที่ติดอันดับท็อปเท็นคือ เสื้อผ้า/รองเท้า/เครื่องประดับ รถยนต์ บริการท่องเที่ยว อู่ซ่อมรถ และการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ยังไม่จบแค่นั้น ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนแห่งนี้แจ้งว่า ต่อไปนี้จะเปิดเผยข้อมูลให้ผู้บริโภคทราบว่าผู้ประกอบการเจ้าไหนถูกร้องเรียนเกิน 9 ครั้งในรอบหนึ่งเดือนด้วย  ความผอม “เสมือน”    แพทย์ประจำคลินิกลดน้ำหนักแห่งหนึ่งในออสเตรเลียอยู่ในระหว่างถูกสวบสวน และถูกสั่งห้ามจ่าย “ยาลดน้ำหนัก” ที่ไม่มีผลในการทำให้น้ำหนักลดแต่อย่างใดคนไข้รายหนึ่งบอกว่าเธอจ่ายไป 2,500 เหรียญ(ประมาณ 66,000 บาท) เพื่อบริการที่อ้างว่าสามารถช่วยให้เธอลงน้ำหนักได้ 15 กิโลกรัมภายใน 10 สัปดาห์ แต่ทั้งๆ ที่กินยาโดยสม่ำเสมอและควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด น้ำหนักเธอกลับหายไปเพียงแค่ 2 กิโลกรัม การตรวจสอบพบว่า ยาที่คลินิกนี้จ่ายไม่ได้มีสรรพคุณโดยตรงในการลดน้ำหนัก ไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมนที่อ้างว่าสามารถกดความอยากอาหารหรือเพิ่มการเผาผลาญของร่างกาย ยารักษาเบาหวานเมทฟอร์มิน หรือแม้แต่สารสกัดจากกาแฟและส้มแขกและยาพวกนี้ส่งถึงบ้านเธอก่อนที่เธอจะส่งผลการตรวจร่างกายให้กับทางคลินิกด้วยซ้ำ สรุปว่าผู้บริหาร “สถาบันลดน้ำหนัก” นี้ คงต้องเลิกกิจการอีกครั้ง หลังจากที่ปิดกิจการคลินิกรักษาโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศไปเมื่อห้าปีก่อนเพราะมีเรื่องร้องเรียนถึง 200 กรณี    

อ่านเพิ่มเติม >