ฉบับที่ 155 กระแสต่างแดน

โนอั่งเปา ปกติแล้วเทศกาลเต็ด (หรือตรุษจีน) เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนตั้งตารอ รอวันหยุดยาวและรอโบนัสจากเจ้านาย แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยจะคล่องตัว ปีนี้หลายคนคงจะผิดหวัง สาวโรงงานทำรองเท้ารายหนึ่งในจังหวัดไฮฟอง คาดการณ์ว่าปีนี้เธอคงได้โบนัสจากบริษัทไม่เกิน 300,000 ดอง(ประมาณ 500 บาท) แต่นั่นก็ยังดีกว่าโบนัสตอนปีใหม่ที่ได้แค่  10,000 ดอง(ประมาณ 15 บาท) ซึ่งเธอบอกว่าไม่พอซื้อเฝอ(ก๋วยเตี๋ยว) ชามหนึ่งด้วยซ้ำไป ในขณะที่หนุ่มโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ในเมืองฮานอยก็บอกว่าตรุษจีนปีนี้คงไม่สนุก แม้จะได้เงินโบนัสถึง 2,000,000 ดอง(ประมาณ 3,100 บาท) แต่เขาบอกว่าเงินแค่นี้ไม่พอซื้อของขวัญดีๆ ให้ญาติผู้ใหญ่ได้  เต็มที่เขาคงทำได้แค่จัดงานเลี้ยงเล็กๆ ในครอบครัว   ด้านนายจ้างก็กลุ้มใจไม่แพ้กัน ว่าจะหาเงินที่ไหนมาจ่ายโบนัสให้พนักงาน เจ้าของโรงเรียนกวดวิชาแห่งหนึ่งบอกว่าปี 2556 เป็นปีที่ฝืดเคืองมากสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ปีนี้เธอต้องกู้เงินคนอื่นมาจ่ายโบนัสให้พนักงาน แม้จะให้ได้คนละไม่มาก(ประมาณ 800 – 1,500 บาท แล้วแต่ระยะงาน) แต่เธอก็อยากตอบแทนความขยันขันแข็งของลูกน้อง และธุรกิจของเธอก็นับว่าโชคดีมากแล้วที่ยังไม่ล้มละลาย เธอบอกว่า 9 ใน 10 ของธุรกิจขนาดเล็กในเวียดนามกำลังประสบปัญหา ถ้าไปถามใครแล้วเขาตอบว่า “ก็สบายๆ ชิลๆ” แสดงว่าเขาพยายามพูดในทางที่ดีไว้ก่อนเพื่อรักษาหน้า ตัวเลขของทางการก็ช่วยยืนยันความเห็นของเธอ ในปี 2013 เขตโฮอันเกี่ยมมีผู้ประกอบการรายย่อย 546 ราย(จากทั้งหมด 4,000 ราย) ต้องปิดกิจการ สรรพากรเองก็เก็บภาษีได้เพียงร้อยละ 64 ของที่เคยเก็บได้ ไม่เป็นไร ปีนี้พลาดไปแล้ว ปีหน้าฟ้าใหม่ขอให้เฮงๆ กันกว่านี้ก็แล้วกันนะ     ใครช่างคิด? วันนี้ทุกคนสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ได้ด้วยตัวเองทางอินเตอร์เน็ต ขอแค่มีบัตรเครดิต ไม่ว่าจะเป็นการจองโรงแรม ซื้อตั๋วเครื่องบิน ซื้อบัตรคอนเสิร์ต ฯลฯ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยทิ้งกันไปไหนคือ “ค่าธรรมเนียมการดำเนินการ” (ที่เราดำเนินเอง *-*) ซึ่งยังไม่มีใครทราบว่ามันเป็นค่าอะไรบ้าง นอกจากค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเครดิตอย่างที่เคยรู้มา CHOICE องค์กรผู้บริโภคออสเตรเลียออกมาแฉว่า สายการบินเวอร์จิ้น เจ็ทสตาร์ และแควนตัส คิดค่าธรรมเนียมการจองผ่านบัตรเครดิตถึง 7.70 เหรียญ 8.50 เหรียญ และ 7 เหรียญต่อหัว สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ ทั้งๆ ที่ค่าดำเนินการอยู่ที่ร้อยละ 0.81 ของมูลค่าธุรกรรมเท่านั้น จึงเกิดคำถามว่าสายการบินเหล่านี้อ้างการเก็บ “ค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเครดิต” เพื่อเป็นช่องทางหารายได้หรือเปล่า ทั้งนี้เพราะธนาคารกลางของออสเตรเลียได้ออกมาตรการควบคุมการคิดค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเครดิตในการจ่ายค่าแท็กซี่และซื้อตั๋วเครื่องบินตั้งแต่มีนาคมปีที่แล้ว ผู้ประกอบการบัตรเครดิตก็สนับสนุนการกำหนดเพดานค่าธรรมเนียม เพราะรู้ดีว่าถ้าเก็บมากไป ผู้บริโภคก็จะไม่อยากใช้บัตร การสำรวจในเดือนกันยายนก็พบว่ามาสเตอร์การ์ดและวีซ่าคิดค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเฉลี่ยร้อยละ 0.80 ต่อรายการชำระเงินจริงๆ แล้วที่จ่ายกันไปมากกว่านั้น นี่ใครคิดกันเนี่ย??? คนจนงดเจ็บป่วย สิงคโปร์มีประชากร 5.4 ล้านคน รายได้เฉลี่ยต่อปีของประชากรอยู่ที่ 65,048 เหรียญ(1,677,000 บาท) และมีอัตราส่วนเศรษฐีต่อประชากรสูงที่สุดในโลก เมื่ออยู่ในเมืองที่มีค่าครองชีพแพงเป็นอันดับ 6 ของโลก คุณต้องมีรายได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 1,400 - 1600 เหรียญ (36,000 – 41,500 บาท) ถึงจะพออยู่ได้ ปีเตอร์ พนักงานรักษาความปลอดภัยในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งบนถนนออชาร์ด คือหนึ่งในตัวอย่างของคนรายได้น้อยในสิงคโปร์ที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้น เขามีรายได้เดือนละ 1,600 เหรียญ และมีหนี้ที่เกิดจากค่ารักษาภรรยาจากอาการข้อเท้าหักเมื่อสองปีก่อนอีก 20,000 เหรียญ(ประมาณ 515,500 บาท)  ในขณะที่ตัวเองก็เป็นต้อหิน ซึ่งการผ่าตัดรักษาต้องใช้เงินถึง 4,000 เหรียญ(ประมาณหนึ่งแสนบาท) ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่แพงขึ้นทำให้ร้อยละ 72 ของคนสิงคโปร์ เชื่อว่าตัวเองไม่มีเงินพอจะรักษาอาการเจ็บป่วยได้ ทั้งๆ ที่มีระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและเงินสมทบจากรัฐ เช่นในกรณีของปีเตอร์ เขาสามารถเบิกจากกองทุนได้แค่ 1,700 เหรียญเท่านั้น สถิติระหว่างปี 2002 ถึงปี 2011 ระบุว่ารัฐบาลสิงคโปร์ร่วมจ่ายไม่ถึงหนึ่งในสามของค่ารักษาพยาบาล ในขณะที่โดยเฉลี่ยแล้วรัฐบาลของประเทศที่พัฒนาจะร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลประมาณร้อยละ 60 ถึง 70 เฮ้อ .. จนน่ะไม่เท่าไหร่ แต่อย่าป่วยไข้ก็แล้วกัน     ยาดีต้องมีที่มา ไม่เพียงแต่คนไข้เท่านั้นที่ถูกบริษัทยาละเมิดสิทธิโดยไม่รู้ตัว แม้แต่นักวิจัยและแพทย์เองก็ไม่เคยได้รับทราบข้อมูลสำคัญๆ เกี่ยวกับการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกของยาบางตัว ก่อนที่จะนำไปใช้รักษาคนไข้ด้วยเช่นกัน งานสำรวจพบว่า ความเป็นไปได้ที่บริษัทจะลงพิมพ์ผลการวิจัยฉบับสมบูรณ์นั้นมีเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น และผลการทดลองที่ให้ผลเป็นบวกนั้นมีแนวโน้มจะได้รับการเผยแพร่ต่อสาธารณะมากกว่า บริษัทมักอ้างว่ามันเป็นความลับทางธุรกิจที่เปิดเผยไปแล้วจะทำให้เสียเปรียบคู่แข่ง จึงเลือกที่จะปกปิดข้อมูลไว้ แม้กระทั่งจากแพทย์ที่จะนำยาไปใช้รักษาคนไข้ บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษจึงออกมาเรียกร้องให้มีการเปิดเผยวิธีการและผลการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกของยาทุกตัวที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เพราะมันมีผลต่อการใช้งบประมาณของประเทศ ในปี 2013 กรมสุขภาพของอังกฤษใช้เงินไปถึง 424 ล้านปอนด์(22,700 ล้านบาท) ในการกักตุนยาทามิฟลูที่เชื่อกันว่าสามารถต้านไว้รัสไข้หวัดใหญ่  โดยที่แพทย์ก็ยังไม่สามารถฟันธงเรื่องผลการรักษาของมันได้ เพราะมีข้อมูลไม่เพียงพอ   เปิ้ลพร้อมเปลี่ยน คณะกรรมาธิการการแข่งขันและการคุ้มครองผู้บริโภคของออสเตรเลีย Australian Competition and Consumer Commission ยื่นคำขาดต่อแอ๊ปเปิ้ลให้ปรับเปลี่ยนนโยบายหลังการขายให้เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคบัดเดี๋ยวนี้ มิเช่นนั้นเรื่องจะถึงศาล คำขู่นี้ได้ผล แอ๊ปเปิ้ลขอสัญญาว่าจากนี้ต่อไปเขาจะอบรมพนักงานใหม่เรื่องสิทธิในการขอเปลี่ยนหรือซ่อมสินค้าตระกูลไอทั้งหลาย และหยิบเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์ที่ขายไปในรอบสองปีที่ผ่านมาขึ้นมาพิจารณาใหม่ และดูและให้ผู้บริโภคได้รับสิทธิตามที่ควรจะได้ ก่อนหน้านี้ ผู้บริโภคไม่รู้ตัวเลยว่าพวกเขาได้สิทธิการเรียกร้องต่ำกว่าที่ระบุไว้ตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่ของออสเตรเลีย สาวกไอโฟน ไอแพด และไอพอด เชื่อมั่นว่าตนเองได้รับสิทธิเต็มที่แล้วตามแอ๊ปเปิ้ลจัดให้ ด้วยระยะเวลารับประกันหนึ่งปี แต่ตามกฎหมายฉบับนี้ ผู้ขายต้องรับประกันคุณภาพสินค้า “ในระยะเวลาที่เหมาะสม” ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้เข้าข่ายเป็นคอมพิวเตอร์ จึงมีระยะประกัน 2 ปี และผู้ขายจะต้องรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ที่ขายในร้านทั้งหมดแม้จะไม่ใช่ของแอ๊ปเปิ้ลด้วย นอกจากนี้บริษัทยังรับปากว่าจะแจ้งสิทธิผู้บริโภคไว้ที่หน้าแรกของเว็บไซต์เป็นเวลาสองปี และมีจุดแจกเอกสารของคณะกรรมาธิการการแข่งขันฯ ในร้านทุกสาขาด้วย //

อ่านเพิ่มเติม >