ฉบับที่ 116 ซื้อบ้าน...ใครก็อยากได้ในสิ่งที่สัญญาว่าจะมี

  “ถามว่าพอใจไหม ก็ไม่ค่อยพอใจ เพราะจริงๆ เราไม่ได้อยากได้เงิน เราซื้อบ้านเราก็อยากได้ในสิ่งที่เราอยากได้ อยากได้ที่เขาสัญญาว่าจะมีคลับเฮาส์ มีลู่วิ่ง มีสวน อยากได้พวกนี้ อยากได้สระว่ายน้ำ เราไม่อยากได้เงิน…” อภิภพ พึ่งชาญชัยกุล หนึ่งในลูกบ้าน ที่ฟ้องโครงการหมู่บ้านจัดสรรชื่อดัง ให้สัมภาษณ์กับฉลาดซื้อ หลังมีคำพิพากษาว่าให้ทางโครงการบ้านจัดสรรสร้างคลับเฮ้าส์ สระว่ายน้ำและรั้วด้านหน้าโครงการ รวมถึงให้จ่ายค่าเสียหายให้เขาและลูกบ้านที่ร่วมกันฟ้องอีกเดือนละ 30,000 บาท นับตั้งแต่วันที่เขายื่นฟ้อง จนกว่าทางโครงการจะสร้างคลับเฮ้าส์เสร็จ ฉลาดซื้อขอยกย่องให้เป็นสุดยอดคนพิทักษ์สิทธิอีกหนึ่งคนค่ะ เราจะพาคุณไปคุยกับ อภิภพ  พึ่งชาญชัยกุล กันค่ะ  ไปดูว่าเขาและลูกบ้านมีวิธีการพิทักษ์สิทธิตัวเองจากการไม่สร้างคลับเฮ้าส์ของโครงการหมู่บ้านจัดสรรอย่างไร   บ้านหลังแรกในชีวิต“บ้านหลังนี้คุณแม่ซื้อให้หวังให้เป็นเรือนหอครับ ก่อนซื้อเราก็ดูหมดทุกอย่างแล้วตามข้อแนะนำการซื้อบ้าน ทั้งโครงการที่น่าเชื่อถือ ดูทำเล ไป-มาสะดวก เพราะผมทำงานอยู่สมุทรสงครามและบ้านก็อยู่ไม่ไกลเกินไป สุขุมวิท 77 (อ่อนนุช) – กับบางประกง ขนาดเอาเพื่อนที่เป็นสถาปนิกมาช่วยดูโครงสร้างบ้านดีไหม ทุกอย่างดีหมด บ้านก็สร้างเสร็จแล้วนะตอนที่เราซื้อ เหลือแค่ตกแต่งเหลือแต่คลับเฮาส์ยังสร้างไม่เสร็จ เขาก็พาไปดูนะว่าที่เขากันไว้แล้ว มีแบบแล้ว กำลังจะลงมือ ก็ดูหมดทุกอย่าง แต่ก็โดนเข้าจนได้”อภิภพ หวังที่จะซื้อบ้าน เพื่อครอบครัว เมื่อมีลูกก็อยากให้ลูกได้วิ่งเล่น แทนที่จะอยู่บนคอนโดเหมือนตอนที่เขายังไม่ซื้อบ้าน เขาจึงตัดสินใจซื้อบ้านกับโครงการบ้านจัดสรรชื่อดังแถวอ่อนนุชในปี 2549 ในราคา 15 ล้านบาท โดยทางโครงการโฆษณาไว้ว่าจะมีคลับเฮาส์ สระว่ายน้ำ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ อีก รวมทั้งมีการรักษาความปลอดภัยที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้คุณอภิภพ และครอบครัวตัดสินใจซื้อบ้านที่นี่ ทั้งที่เขาก็ตระเวนดูมาหลายโครงการแล้ว แต่ที่โครงการนี้ตรงใจเขาที่สุด หลังจากอยู่ไปสักระยะ เขาและครอบครัวก็เฝ้ารอคลับเฮาส์ที่ทางโครงการโฆษณาไว้ แต่เฝ้ารอ รอ และรอ ก็ไม่มีวี่แววว่าจะสร้างแต่อย่างใด เขาจึงรวมตัวกับลูกบ้านเรียกร้องสิทธิของตัวเอง เพราะส่วนตัวแล้วเขาก็เป็นผู้ที่รักษาสิทธิตัวเองอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว อีกทั้งยังเรียนกฎหมายมาเป็นทุน  หลักฐานต่างๆ ผมเก็บไว้หมดเลยนะ ทั้งโบรชัวร์แนะนำโครงการ ใบเสร็จทุกอย่าง ป้ายโฆษณาโครงการ ตอนที่เขาย้ายสำนักงานออกไป ผมก็ไปยืนที่หน้าสำนักงานบอกกับคนขนของว่า ‘น้องอะไรที่ไม่เอาพี่ขอนะ’ ฟ้องอย่างไรให้ได้ผล แรกๆ เราก็ปรึกษากัน แล้วก็คุยกับทนายว่าจะฟ้อง แล้วพอทนายเขาดู ก็บอกว่าค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงนะถ้าจะยื่นฟ้อง คือในหมู่บ้านผมมีโครงการโปรเจ็คหน้า 48 หลัง แต่ว่าเขาขายได้ประมาณ 20 หลัง แล้วเขาหยุดขาย พอหยุดขายปุ๊บ อะไรก็ไม่ทำทุกอย่างเลย  ขนาดฝาท่อยังไม่ปิดเลย เขาหยุดแล้วย้ายสำนักงานขายออกไปเลย(ทั้งที่จริงๆ เป็นธุรกิจขนาดใหญ่มากด้วย) เรากับเพื่อนบ้านก็เลยเริ่มคุยกัน เราเริ่มคุยกับทางโครงการมา 2 ปี ก่อนยื่นฟ้องคดีนี้ พอเข้าไปคุยกับทางโครงการ เขาก็จะผัดวันประกันพรุ่ง  เดี๋ยวส่งคนโน้นมาคุย พอไปคุยใหม่ก็ส่งอีกคนมาคุย เปลี่ยนคนมาตลอดระยะ 2 ปี จึงไม่ความคืบหน้าอะไร ก็ทำเรื่องร้องเรียนไปที่ สคบ. (สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) แต่พอถึงเวลาไกล่เกลี่ยก็ไม่สามารถจัดการทางโครงการได้ เพราะตัวแทนโครงการ เขาไม่มา สคบ.เขาก็ทำอะไรให้ไม่ได้ สคบ.จะทำเรื่องเสนอกรรมการดูว่าจะฟ้องคดีให้เราได้ไหม เราก็ถามว่าต้องรอนานแค่ไหน เขาก็ตอบไม่ได้ แล้วตอนนั้น มีกฎหมายผู้บริโภคใช้แล้ว(พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค 2551 ประกาศใช้เมื่อ 23 ส.ค.2551)  ผมกับเพื่อนบ้านอีก 5 หลัง ก็เลยยื่นฟ้องไปเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2552 จริงๆ ตอนฟ้องไปเราก็คิดว่าคงใช้เวลานาน แต่มันก็ไม่รู้จะทำยังไงแล้ว เพราะเขาไม่คุย เราก็เลยฟ้อง ทีนี้เราฟ้องเราก็ฟ้องทั้งบริษัทที่เป็นเจ้าของโครงการ เขาก็มีพูดนะว่าเขาจะฟ้องกลับ ฟ้องหมิ่นประมาทเรา ฟ้องว่าเราฟ้องเท็จ เขาก็มีพูดเหมือนกัน แต่สุดท้ายเขาก็ไม่ได้ทำ แล้วเรื่องของเราก็เป็นข่าวนะ เขาไปยื่นฟ้องนักข่าวที่เขียนข่าวของเราแทนก่อนยื่นฟ้องเราก็หาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับโครงการเองด้วยนะครับ ว่าถ้าทางโครงการจะสร้างคลับเฮาส์จะต้องใช้เงินเท่าไร ก็ให้สถาปนิกช่วยตรวจประเมินราคาคลับเฮ้าส์ กับโครงการบ้านจัดสรรชื่อเดียวกันนี่ละที่เขาสร้างเสร็จแล้ว ว่าเขาใช้งบสร้างไปเท่าไร ซึ่งประเมินออกมาแล้วก็ไม่เท่าไรนะครับ ค่าก่อสร้างประมาณ 13,800,000 บาท ค่าติดดวงไฟและค่าสร้างรั้วอีก 500,000 บาท แต่เขาไม่สร้างให้เรา เราก็เลยยื่นฟ้องโครงการว่าผิดสัญญา เรายื่นฟ้องไป 25 เปอร์เซ็นต์จากราคาบ้านและที่ดิน รวมดอกเบี้ยอีก 7 เปอร์เซ็นต์ พอเรายื่นฟ้องคดีเขาบอกกับเราว่า ‘เพื่อเป็นการแสดงความจริงใจให้เราถอนฟ้อง แล้วค่อยมาคุยกัน เราก็บอกว่าทำไมไม่กลับกันล่ะ คุณทำอะไรก่อนสิแล้วเราจะถอนฟ้องให้‘ แต่เราไม่ถอนฟ้อง เพราะดูสิทธิแล้ว ถอนฟ้องแล้วเราฟ้องอีกไม่ได้ มันจะกลายเป็นฟ้องซ้ำฟ้องซ้อน มันทำไม่ได้ เราก็ต้องรักษาสิทธิเอาไว้ก่อน เดี๋ยวถ้าเราถอนฟ้องแล้วคุณไม่ทำ ไม่สร้าง จะทำยังไง ก็จบล่ะสิทีนี้ หลักฐานต่างๆ ผมเก็บไว้หมดเลยนะ ทั้งโบรชัวร์แนะนำโครงการ ใบเสร็จทุกอย่าง ป้ายโฆษณาโครงการ ตอนที่เขาย้ายสำนักงานออกไป ผมก็ไปยืนที่หน้าสำนักงานบอกกับคนขนของว่า ‘น้องอะไรที่ไม่เอาพี่ขอนะ’ ผมก็เก็บไว้ทุกอย่าง ทำไมที่ต้องเก็บนะเหรอครับ เพราะว่ามันมีผลทางกฎหมายเราสามารถใช้อ้างอิงได้ เมื่อมันมีปัญหาเกิดขึ้น เพราะว่าพวกนี้ถ้าตีความตามกฎหมายก็คือถือเป็นส่วนหนึ่งของคำเสนอขาย เพราะฉะนั้นมันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ถึงแม้ตอนที่เราทำสัญญา เขาอ้างในสัญญาซื้อ – ขาย นะว่าเขาไม่ได้ระบุเรื่องพวกสาธารณูปโภคพวกนี้ไว้เลย แต่เราก็อ้างว่าคุณมีในโบรชัวร์ไว้แบบนี้ก็ถือเป็นสัญญาเสนอขาย คนทั่วไปบางทีไม่เก็บนะ แต่ผมเก็บ อยากบอกคนอื่นๆ ว่าเก็บไว้เถอะครับ สักวันหนึ่งจะมีประโยชน์ คดีของผมกับลูกบ้านอีก 5 คนถือว่าเร็วนะครับคือพอไต่สวนมูลฟ้อง ศาลท่านก็ถามว่าพอจะตกลงกันได้ไหม ทางโน้นเขาก็รีบบอกว่าตกลงได้ มันก็ไปเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ย ซึ่งก็เหมือนเดิม มันก็เหมือนตอนที่เราไปคุยกับบริษัทเขาเมื่อสองปีที่ผ่านมา เสียเวลาไกล่เกลี่ยไปประมาณ 6-7 เดือน เพราะนัดทีหนึ่งก็นัดห่างกันสองเดือนหรือเดือนครึ่งบ้างประมาณนี้ สุดท้ายพอกลับมาเข้ากระบวนการน่าจะใช้เวลาไม่นาน แค่นัดหรือสองนัดก็จบ ไม่นานก็มีคำพิพากษาออกมา ซึ่งพิพากษาออกมาว่าให้สร้างคลับเฮาส์ให้เรา  พร้อมจ่ายค่าเสียหายให้เราเดือนละ 30,000 ต่อบ้าน จนกว่าจะสร้างเสร็จคลับเฮาส์เสร็จ หรือจนกว่าจะครบ 25% ของราคาบ้านของแต่ละหลัง ซึ่งผมมองว่าท่านตัดสินให้ดีมากเลย   เงิน ไม่ใช่ประเด็น ถามว่าพอใจไหม ก็ไม่ค่อยพอใจ เพราะจริงๆ เราไม่ได้อยากได้เงิน เราซื้อบ้านเราก็อยากได้ในสิ่งที่เราอยากได้ อยากได้ที่เขาสัญญาว่าจะมีคลับเฮาส์ มีลู่วิ่ง มีสวน อยากได้พวกนี้ อยากได้สระว่ายน้ำ เราไม่อยากได้เงิน เพียงแต่ศาลท่านก็บอกว่าคุณฟ้อง คุณก็ต้องให้ในสิ่งที่ศาลให้ได้ ซึ่งที่เราเรียกไปคือมูลค่าบ้าน 25% ของราคาบ้าน เพื่อนบ้านอีก 9 หลังก็เตรียมจะยื่นฟ้อง ซึ่งถ้าผลการพิพากษาออกมาแบบเดียวกัน รวมแล้วก็เกือบ 60-70 ล้าน กับการที่โครงการสร้างคลับเฮาส์ให้พวกเรา มันน่าจะง่ายกว่าการต้องมาเสียเงินก้อนนี้ให้พวกเรานะ ผมว่า คือถ้าโครงการไม่โฆษณาว่ามีคลับเฮ้าส์ เราไปดูโครงการอื่นที่มันถูกกว่านี้ หรือแม้กระทั่งโครงการอื่นที่เขามี เขาก็อาจจะถูกกว่านี้ แต่ที่เราเลือกโครงการนี้มันเพราะหลายๆอย่าง เราซื้อของอย่างหนึ่งไม่ใช่เป็นเพราะคุณสมบัติข้อเดียว มันต้องดูคุณสมบัติหลายอย่างร่วมกัน ทั้งทำเล ตรงนี้ทำเลดี บ้านแพงแต่ถือว่าทำเลดี ถ้าในอนาคตเราขายมันก็คงได้ราคาดี ในตอนนี้มีคนในหมู่บ้านเขาบอกขายนะ ไม่มีคนซื้อ เพราะมาถึงมาดูสภาพแล้วจะซื้อลงได้ยังไง ราคาก็ตก ขายถูกยังไม่มีคนเอาเพราะมันไม่น่าอยู่แล้ว ตอนนี้อยู่ในช่วงที่รออยู่ครับ รอว่าหลังหนึ่งเดือนหลังจากคำพิพากษา ทางโครงการ จะอุทธรณ์หรือเปล่า ถ้าอุทธรณ์ก็จะต้องสู้กันต่อ ที่ลุกขึ้นมาสู้ก็เพราะว่าดีกว่าอยู่เปล่าๆ อย่างที่เห็นป้ายติดข้างนอกว่า ร้องทุกข์หนึ่งครั้ง ดีกว่าบ่นพันครั้ง ไม่อย่างนั้นก็บ่นกันไปแบบนี้ ตอนนี้เพื่อนบ้านรู้จักกันหมดทุกคนดีไปอย่างครับ   กฎหมายผู้บริโภคช่วยได้เยอะ ถ้าหากไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย ส่วนตัวผมยอมรับครับว่าก็ต้องคงยากนะ  แต่กฎหมายตัวนี้อ่านง่ายนะครับ คือกฎหมายเขาเขียนไว้ให้อ่านง่ายพอสมควร และดีอีกอย่างก็คือว่าเจ้าพนักงานคดีที่ศาลเขาช่วยเราเยอะ อะไรที่เราเข้าใจผิดเขาก็อธิบายให้ฟังว่าเราทำได้ อะไรไม่ได้ ในตอนนี้ในแง่ของผู้บริโภค ผมว่าอาจจะเป็นคุณูปการไม่กี่อย่างของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มีออกกฎหมายตัวนี้ออกมามองว่ามันทำให้คุณภาพชีวิตเราสูงขึ้น  ผู้ประกอบการจะทำอะไรออกมาขายก็ต้องคิดดีๆ นะ แม้กระทั่งประเด็นหลักๆ ผมมองว่าในส่วนของผู้จัดจำหน่าย จริงๆ ผู้ผลิตทุกคนอยากทำสินค้ามีคุณภาพ แต่เราก็ถูกบีบจากผู้จัดจำหน่าย ห้างอยากซื้อของถูก เพราะตอนนี้ พ.ร.บ.ความรับผิดกับสินค้าไม่ปลอดภัย เอาผิดทั้งหมด ผู้จัดจำหน่ายก็ต้องรับผิดชอบ ผู้ผลิต ผู้โฆษณา ทุกคนต้องร่วมรับผิดชอบกันหมด ผมว่าถ้ามันทำให้มีของที่มีคุณภาพอยู่ในตลาดมากขึ้น คดีพวกนี้มันก็จะน้อยลง มันก็จะฟ้องในเรื่องใหญ่ๆ จริงๆ เรื่องจิ๊บๆจ้อยๆ มันก็ไม่ควรจะมาขึ้นศาล

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point