ฉบับที่ 146 กระแสต่างแดน

  ชื่อนี้ไม่ได้มีไว้ขาย ฮ่องกงออกกฎหมายห้ามไม่ให้บริษัทที่มีข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ให้หรือขายข้อมูลดังกล่าวกับบริษัทขายตรงโดยไม่ขออนุญาต เรื่องนี้มีที่มาจากการร้องเรียนโดยลูกค้าบัตรสมาร์ทการ์ด Octopus ที่เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในการจ่ายค่าโดยสารและชำระค่าสินค้า/บริการต่างๆ ข่าวบอกว่าลูกค้าแต่ละคนได้รับการติดต่อเฉลี่ยคนละ 1.7 ครั้งจากบริษัทที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัทออคโทพุส โฮลดิ้งส์ ซึ่งออกมายอมรับว่าได้ขายข้อมูลของลูกค้า 1.9 ล้านคน ไปในราคา 44 ล้านเหรียญฮ่องกง (ประมาณ 166 ล้านบาท) ลูกค้าบัตร “ปลาหมึก” (ร้อยละ 95 ของคนอายุระหว่าง 16 – 65 ปี) และลูกค้าบริษัทบัตรเครดิตหรือธุรกิจอื่นๆ อีกมากมาย ต่างก็สรรเสริญระเบียบใหม่ เพราะจะได้ไม่ต้องรับโทรศัพท์เสนอขายสินค้าให้หงุดหงิดใจ กฎหมายว่าด้วยความเป็นส่วนตัวฉบับปรับปรุงนี้ กำหนดบทลงโทษสำหรับการให้ข้อมูลส่วนตัวของลูกค้ากับบุคคลอื่นโดยไม่ขออนุญาตไว้ที่ 1 ล้านเหรียญ และจำคุก 5 ปี ที่สำคัญ แม้ลูกค้าจะเคยอนุญาตให้บริษัทนำข้อมูลของตัวเองไปใช้ได้ แต่ถ้าเบื่อการถูกโทรหาขึ้นมาเมื่อไร ก็สามารถยกเลิกได้เลย   เนื้อพึ่งป่าข่าวดีสำหรับชาวโลก อัตราการทำลายผืนป่าอะเมซอนลดลงอย่างมากหลังจากรัฐบาลบราซิลได้เฝ้าระวังและปราบปรามอย่างจริงจังในช่วง 24 ปีที่ผ่านมารัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมบอกว่าปีที่แล้วมีการทำลายป่าน้อยที่สุดนับตั้งแต่เริ่มโครงการมา ตัวอย่างเช่น การทำลายป่าในรัฐมาตู โกรสซู ลดลงร้อยละ 31 ในขณะที่ในรัฐปาราลดลงถึงร้อยละ 44แต่บราซิลก็ยังสูญเสียพื้นที่ป่าฝนเมืองร้อนไปประมาณ 4,600 ตารางกิโลเมตรในปี 2012 เพราะในรัฐที่ยังไม่เข้มงวดนั้น การทำลายป่ายังคงมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นในรัฐอาเกร มีการทำลายป่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10  รัฐอามาโซนัส ร้อยละ 29 และรัฐโตกันตินส์ ร้อยละ 33สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดการทำลายป่าคือการลักลอบนำไม้ไปขาย การเกิดไฟป่า และการเพิ่มพื้นที่การเกษตร เช่นการปลูกถั่วเหลืองและการทำปศุสัตว์เรื่องนี้ถ้าถามองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างกรีนพีซ เขายืนยันว่าสิ่งที่ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่ามากที่สุดคือการทำปศุสัตว์นั่นเอง และหลายคนก็เห็นด้วยจึงทำให้เกิดกระบวนการ “เลือกกินเนื้อ” เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมขึ้นบรรดาซูเปอร์มาร์เกตต่างๆ ในบราซิลขานรับแนวทางใหม่นี้ ด้วยการร่วมมือกันไม่รับเนื้อสัตว์จากไร่ปศุสัตว์ที่อยู่ในเขตป่าฝนมาขาย ร้านเล็กๆ ก็กำลังจะทำเช่นเดียวกันและนั่นหมายความว่าต่อไปนี้เนื้อสัตว์ต่างๆ จะต้องมีการติดฉลากระบุที่มาเพื่อให้ผู้บริโภคที่ไม่ต้องการส่งเสริมการทำลายป่า สามารถเลือกได้ด้วย  ก่อนซื้อยาต้องกล้าถามการสำรวจราคายาโดยองค์กรผู้บริโภคของไอร์แลนด์ ได้ข้อสรุปว่าถ้าผู้ป่วยหรือญาติ “เดินดูให้ทั่ว” ก่อนตัดสินใจซื้อยา พวกเขาจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้เท่าตัวเชียวนะผู้บริโภคไอร์แลนด์ซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านยารักษาโรคคนละประมาณ 30 ถึง 50 ยูโร ต่อเดือน ยังไม่ค่อยตระหนักในเรื่องนี้ผลสำรวจร้านยา 45 แห่ง ทั้งที่เป็นแฟรนไชส์และเป็นร้านทั่วไป ระบุว่าโดยเฉลี่ยแล้วยาตัวเดียวกันอาจมีราคาขายต่างกันได้มากกว่าร้อยละ 10 ขึ้นอยู่กับร้านที่ซื้อ ยาตัวที่พบว่าราคาต่างกันมากที่สุดนั้นต่างกันถึงร้อยละ 199ตัวอย่างเช่น ยาสำหรับรักษาฝีในกระเพาะอาหารมีราคาตั้งแต่ 22 – 49 ยูโร (830 – 1,850 บาท) และนี่เป็นราคาในเมืองวอเตอร์ฟอร์ดเท่านั้นเมืองที่ยามีราคาแพงที่สุดคือดับลิน ส่วนเมืองที่ขายยาถูกที่สุดได้แก่เมืองกัลเวย์ที่สาธารณรัฐไอร์แลนด์นั้น ประชาชนเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายค่ายาและค่ารักษาพยาบาลเองในกรณีที่ค่าใช้จ่ายไม่เกิน 144 ยูโร (ประมาณ 5,400 บาท) แต่ส่วนที่เกินจากนั้นรัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบ   ไม่ซื้อก็จ่ายมา ใช่ว่าทุกคนจะได้ประโยชน์จากความรุ่งเรืองของการค้าอิเล็กทรอนิกส์ ผู้คนเดี๋ยวนี้สามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ทได้ทุกที่ทุกเวลาและสามารถสั่งซื้อสินค้าให้มาส่งถึงบ้านโดยไม่ต้องลุกไปไหน ติดอยู่เรื่องเดียวคือเราอยากจะจับต้องสินค้าตัวเป็นๆ ที่เราเห็นในจอภาพก่อนตัดสินใจ ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยใช้วิธีไปเดินดูจริงของในห้าง แล้วค่อยกลับบ้านมาสั่งจากหน้าจอเพราะมั่นใจว่ามันถูกกว่า ทำให้ยอดขายของร้านออฟไลน์ทั้งหลายตกลงไปไม่น้อย บางร้านเลยใช้วิธีแก้เผ็ดพวกที่ “เข้ามาดู” อย่างเดียว ด้วยการเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าชมคนละ 5 เหรียญ (150 บาท) เสียเลย นี่เป็นตัวอย่างจากร้าน Celiac Supplies ร้านจำหน่ายอาหารสำหรับคนที่แพ้กลูเตน  ในเมืองบริสเบน ออสเตรเลีย (แต่ถ้าคุณซื้อของในร้านด้วย ก็ไม่ต้องเสีย 5 เหรียญนะ) การซื้อของออนไลน์ของชาวออสซี่นับว่าไม่น้อยเลยทีเดียว ข่าวระบุว่ายอดใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 2,108 เหรียญ (64,500 บาท) ต่อปี และร้อยละ 73 ของคนในกลุ่มอายุ 35 – 44 ใช้บริการนี้ ร้อยละ 69 ของคนในกลุ่มอายุ 25 – 34 ก็นิยมบริการนี้ แม้แต่ในกลุ่มที่อายุ 65 ปีขึ้นไป ก็ยังมีถึงร้อยละ 40 ที่ช็อปออนไลน์ โดยสิ่งที่นิยมมากที่สุดได้แก่การซื้อทัวร์ จองที่พัก รองลงมาได้แก่ซีดี/ดีวีดีเพื่อความบันเทิง ตามด้วยเสื้อผ้า และเครื่องประดับ     ต่างคนต่างมอง ผู้อยู่อาศัยอพาร์ทเมนท์หรู Haeundae Hyundai I’Park จำนวน 13 คนร่วมกันฟ้องบริษัทก่อสร้างฮุนได ดีเวลลอปเมนท์ โทษฐานที่มาสร้างโรงแรมบดบังทิวทัศน์อันงดงามที่พวกเขาเคยได้เห็น แถมยังทำให้พวกเขารู้สึกถูกคุกคามความเป็นส่วนตัวด้วย วิวที่หายไปนั้นเป็นเพราะการสร้างตึกโรงแรมปาร์ค ไฮแอท ปูซาน ในพื้นที่ฝั่งตรงข้ามที่ห่างจากอพาร์เมนท์ของพวกเขาประมาณ 20 เมตร นอกจากโรงแรมจะบังวิวแล้ว เขาบอกว่าแขกของโรงแรมยังสามารถมองเข้ามาเห็นห้องนอน ห้องนั่งเล่นหรือแม้แต่ห้องน้ำของพวกเขาได้สบายๆ เรียกว่าจะเปลี่ยนเสื้อ ถอดผ้า ก็ต้องคอยระแวงระวังเพราะอาจมีคนจ้องอยู่ ส่วนคนในอพาร์ทเมนท์ก็สามารถมองกลับไปเห็น “ความเป็นไป” ในโรงแรมได้ชัดเจนเช่นกัน บางห้องถึงกับติดป้ายบนหน้าต่างตัวเองทำนองว่า “กรุณาอย่าฟีทเจอริ่งกัน” ฉันเห็นนะ คนกลุ่มนี้ตัดสินใจไปฟ้องศาลหลังจากไม่มีเสียงตอบรับจากเจ้าของอพาร์ทเมนท์ ซึ่งพวกเขามองว่าไม่มีความรับผิดชอบและทอดทิ้งลูกค้าทันทีที่ขายห้องได้ พนักงานบริษัทอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์จะออกนาม บอกว่าคนเหล่านี้ไม่น่าจะมาร้องเรียนเรื่องความเป็นส่วนตัวหรือการสูญเสียวิว เพราะพวกเขารู้ดีอยู่แล้วตั้งแต่ตอนที่มาซื้ออพาร์ทเมนท์ว่าเจ้าของโครงการมีแผนจะสร้างโรงแรม แถมยังบอกว่าที่ออกมาบ่นกันตอนนี้คงเพราะหาเงินมาผ่อนห้องไม่ทัน แถมจะขายก็ไม่ได้ราคาอย่างที่ตั้งใจด้วย ก็ ... นะ ต่างคนต่างมองไปก่อนแล้วกัน //

อ่านเพิ่มเติม >