ฉบับที่ 224 น้องหมาห้องเช่าข้างๆ เสียงดังทำอะไรได้บ้าง

โดยทั่วไป คอนโดมิเนียมหรืออพาร์ตเม้นท์ จะมีกฎระเบียบห้ามเลี้ยงสัตว์ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและเพื่อป้องกันเรื่องเดือดร้อนรำคาญ เนื่องจากลักษณะของห้องที่เรียงรายติดต่อกัน   ดังนั้นผู้อยู่อาศัยจึงไม่ควรละเมิดกฎเกณฑ์ แต่หากห้องข้างเคียงทำผิดกฎ การแจ้งให้ผู้ดูแลอาคารหรือส่วนกลางของคอนโดดำเนินการ ก็เป็นสิ่งที่กระทำได้        อย่างไรก็ตามในความเป็นจริง หลายคนแม้รู้สึกถูกรบกวนด้วยการเลี้ยงสัตว์ของเพื่อนห้องข้างๆ หรือชั้นเดียวกัน แต่ไม่อยากมีปัญหาที่เกิดจากการฟ้อง เพราะต้องอาศัยอยู่ด้วยกันอีกนาน คงอยากได้คำตอบว่า สามารถทำอย่างไรได้บ้าง        เช่นเดียวกับคุณธรณี อยู่อพาร์ตเม้นท์ในซอยแห่งหนึ่งมาได้เกือบสามปีแล้ว จนเมื่อประมาณต้นปี 2562 มีเพื่อนหรือผู้เช่าห้องข้างเคียงใหม่ นำสุนัขมาเลี้ยงไว้ในห้องเช่าด้วย โดยเจ้าของอพาร์ตเม้นท์ก็รู้เห็น ปัญหาคือ เวลาผู้เช่าห้องนั้นไปทำงาน สุนัขจะเห่าเสียงดังเวลาที่มีคนเดินผ่านหน้าห้อง ทำให้คุณธรณีเดือดร้อน รำคาญเนื่องจากเขาอยู่อาศัยในห้องเกือบตลอดเวลา เคยแจ้งผู้ดูแลอาคารก็ไม่สามารถจัดการปัญหาได้ การไปแจ้งตำรวจผู้ร้องหรือคุณธรณีก็ไม่อยากมีปัญหากับผู้เช่าใหม่ เพราะห้องอยู่ติดกัน “ผมจะทำอะไรได้บ้าง”  แนวทางแก้ไขปัญหา          1.ควรแจ้งให้เจ้าของอพาร์ตเม้นท์หรือผู้ดูแลอาคารจัดการปัญหา โดยขอคำตอบว่า จะดำเนินการได้เมื่อไร อย่างไร เนื่องจากอพาร์ตเม้นท์เป็นสิทธิของเจ้าของว่าจะมีกฎเกณฑ์เรื่องให้เลี้ยงหรือห้ามเลี้ยงสัตว์หรือไม่  และต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เช่าห้องทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน          2.ผู้ร้องอาจแจ้งเหตุเสียงดังต่อหน่วยงานท้องถิ่น เช่น เทศบาล เพื่อขอให้เข้ามาตรวจสอบเนื่องจากเหตุรำคาญ เช่น กลิ่น เสียง ฯลฯ โดยทำเป็นหนังสือแจ้งต่อเทศบาลได้ เมื่อมีการแจ้งเหตุเจ้าหน้าที่จะดำเนินการเข้ามาตรวจพื้นที่และแก้ไขปัญหา ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535           3.กรณีที่พักอาศัยในเขตกรุงเทพฯ ควรทำหนังสือร้องเรียนต่อสำนักงานเขต เพื่อให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ. 2548 ข้อ 16 (3) มีหลักว่า ในการเลี้ยงสุนัข เจ้าของสุนัขต้องควบคุมดูแลสุนัขมิให้ก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ เช่น ก่อให้เกิดเสียงดังติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 อพาร์ตเม้นท์อมเงินประกัน

คุณเจนรวี เป็นนักศึกษาของสถาบันราชภัฏจันทรเกษม ปีสุดท้าย เข้าทำสัญญาขอเช่าห้องพักกับเอกอาทิตย์อพาร์ตเม้นท์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2551และสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 1 มีนาคม 2552ก็เหมือนกับนักศึกษาที่กำลังเดินหาหอพักทั่วไปล่ะครับไม่ค่อยได้อ่านสัญญากันหรอก เห็นมีห้องว่างให้เช่า ราคาห้องไม่แพงพอสู้ไหว ทิศทางลม ทำเล ความสะดวกปลอดภัยเหมาะสม มีเงินค่าเช่าห้องล่วงหน้าพร้อมเงินประกันก็คิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไรตกลงเซ็นสัญญาไป มันก็แค่เรื่องเช่าห้องพัก ...“ก็เห็นว่าเป็นสัญญาเช่าแค่ปีเดียวค่ะ กะว่าจะเช่าแค่นั้น พอครบปีเราเรียนจบรับปริญญาพอดี พอถึงตอนนั้นก็ไปขอคืนห้อง เอาเงินประกันคืนคงไม่มีอะไรวุ่นวาย วางเงินประกันไว้ 5,000 บาทค่ะ” คุณเจนรวีให้ข้อมูล ล่วงมาถึงเดือนกันยายน 2551 อพาร์ตเม้นท์แห่งนี้ได้ติดตั้งเคเบิลทีวีบริการให้กับผู้เช่าพักอาศัย โดยจะคิดค่าบริการเพิ่มจากค่าห้องอีกเดือนละ 200 บาท และได้จัดโปรโมชั่นให้ชมฟรี 4 เดือนแรกก่อนคิดค่าบริการจริง ๆ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป แต่หากผู้เช่าห้องรายใดมาทำการต่อสัญญาใหม่เพื่อยืนยันการเช่าพักอาศัยต่อ ทางอาร์ตเม้นท์จะยกเว้นค่าบริการเคเบิ้ลให้ตลอดอายุสัญญาฉบับใหม่รวมระยะเวลา 1 ปีคุณเจนระวีเล่าว่าตอนที่ผู้ดูแลอพาร์ตเม้นท์มาแจ้งรายละเอียดของโปรโมชั่นนี้ ตอนนั้นกำลังวุ่นอยู่กับการขยำขยี้เสื้อผ้าอยู่หลังห้องพอดี“เขาบอกว่าให้เอาสัญญาเช่าห้องมาให้เขา แล้วจะได้ส่วนลดค่าเคเบิ้ลทีวีเดือนละ 200 บาท เราอยากได้ก็เลยส่งสัญญาให้เขาไป หายไปสักอาทิตย์หนึ่งเขาก็เอาสัญญามาคืนให้ตอนนั้นจำไม่ได้ค่ะว่าเราได้เซ็นลายมือชื่ออะไรเพิ่มเติมไปหรือเปล่า และไม่ได้เอะใจหรอกค่ะว่ามีการแก้ไขวันเริ่มสัญญาเช่าห้องกันใหม่ ตอนที่รับสัญญาคืนเขาก็มาตอนที่เรากำลังซักผ้าอยู่พอดี” พอถึงเดือนกุมภาพันธ์จึงได้ไปติดต่อขอคืนห้องล่วงหน้าก่อนหมดสัญญาและขอคืนเงินประกันจำนวน 5,000 บาท แต่ทางอพาร์ตเม้นท์แจ้งว่าจะไม่คืนเงินประกันให้เนื่องจากคุณเจนรวีแจ้งการย้ายออกผิดเงื่อนไขเนื่องจากพักอาศัยยังไม่ครบ 12 เดือน“เราก็เถียงเขาใหญ่เลยค่ะว่าเราอยู่มาตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว จะออกในเดือนมีนาคมปีนี้ทำไมถึงไม่ครบ 12 เดือน แต่พอเขาให้เราเอาสัญญาขึ้นมาดูก็ตกใจค่ะ เพราะสัญญาที่เราถือไว้มันถูกแก้ไขวันเริ่มสัญญาใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม 2552 ซึ่งก็มีลายเซ็นของเราลงไว้เรียบร้อยเลย ตอนที่เราอยากได้เคเบิ้ลฟรี”คุณเจนรวีพยายามเจรจาต่อรองต่างๆ นานาแต่ท้ายที่สุดทางอพาร์ทเมนท์ยืนกระต่ายขาเดียว ให้คุณเจนรวีจ่ายค่าห้องและค่าใช้จ่ายที่ค้างอยู่ ส่วนเงินประกันขอยึด เมื่อไม่มีทางออกสุดท้ายจึงต้องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนวทางแก้ไขปัญหาสาระสำคัญของสัญญาที่อพาร์ทเม้นท์ทำกับคุณเจนรวีและใช้เป็นเหตุในการริบเงินมัดจำได้กำหนดไว้ว่า ระยะเวลาการเช่าต้องไม่น้อยกว่า 12 เดือน ถ้าผู้เช่าบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด ผู้ให้เช่าสามารถริบเงินที่ชำระไว้ทั้งหมด โดยผู้เช่าไม่มีสิทธิโต้แย้งหรือเรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้น ในส่วนของเงินค่าประกันห้องนั้นได้กำหนดว่า เงินค่าประกันห้องที่เหลือจากการหักค่าทำความเสียหายแล้ว จะคืนให้หลังจากที่ผู้เช่าได้ย้ายออกจากหอพักเป็นเวลา 30 วัน ....ซึ่งสัญญาลักษณะนี้หอพัก หรืออพาร์ทเม้นท์หลายแห่งได้ถ่ายแบบใช้เป็นเงื่อนไขเพื่องับเงินมัดจำค่าห้องของเด็กนักศึกษาจำนวนมากแต่เรื่องนี้มีทางออกครับ เนื่องจากคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ประกาศให้ธุรกิจการให้เช่าที่อยู่อาศัยที่เรียกเงินประกันเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550ดังนั้นสัญญาที่คุณเจนรวีทำใหม่กับอพาร์ตเม้นท์เมื่อ 1 มกราคม 2552 จึงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของประกาศฉบับนี้ด้วย โดยในส่วนของเงินประกันตามประกาศฉบับนี้ สัญญาการเช่าที่พักอาศัยทุกฉบับจะต้องมีข้อความว่า ผู้เช่ามีสิทธิได้รับคืนเงินประกันทันทีเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาเช่าที่อยู่อาศัยหรือเมื่อสัญญาเช่าที่อยู่อาศัยเลิกกัน เว้นแต่กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจประสงค์จะตรวจสอบความเสียหายที่ผู้เช่าต้องรับผิดชอบ หากผู้เช่ามิได้ทำความเสียหาย ให้ผู้เช่ามีสิทธิได้รับคืนเงินประกันภายใน 7 วัน โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจรับภาระค่าใช้จ่ายในการนำส่งคืนเงินประกันนั้น ตามที่ผู้เช่าแจ้งให้ทราบ ดังนั้นจึงถือว่าสัญญาที่เอารัดเอาเปรียบผู้เช่าของอพาร์ตเม้นท์ในกรณีนี้จึงขัดต่อประกาศดังกล่าวและถือว่าไม่มีข้อความส่วนนี้ในสัญญา ดังนั้นผู้ให้เช่าห้องพักต้องคืนเงินค่ามัดจำให้กับผู้บริโภคโดยไม่มีเงื่อนไขครับ  

อ่านเพิ่มเติม >