ฉบับที่ 158 กระแสต่างแดน

กระแสต่างแดนฉบับนี้ขอนำเสนอบางส่วนจากการประชุมนานาชาติเรื่อง “การคุ้มครองผู้บริโภคในยุคดิจิตอล” เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส เชียงใหม่ ประเทศไทยเรานี่เอง งานนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมจากองค์กรที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคกว่า 200 คน จาก 32 ประเทศ (ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฟิจิ อินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน อัฟกานิสถาน เนปาล โอมาน อียิปต์ เยเมน ลิเบีย เลบานอน ซาอุดิอาระเบีย ซูดาน ซิมบับเว อัฟริกาใต้ อาร์เจนตินา ชิลี สโลเวเนีย อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา)   นาทีนี้ถ้าไม่พูดเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคทีวีดิจิตอลก็กลัวจะเชย เราจึงนำประเด็นที่วิทยากรจากต่างประเทศนำเสนอมาฝากกัน ... เริ่มจากเพื่อนบ้านใกล้เคียงในอาเซียนอย่างสิงคโปร์กันก่อนเลย     สิงคโปร์ ประเทศในภูมิภาคอาเซียนตกลงกันว่าจะเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิตอลให้หมดภายในปี 2020  สิงคโปร์ก็เริ่มเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ทีวีดิจิตอลตั้งแต่ปี 2013 แล้ว เขาใช้กล่องรับสัญญาณดิจิตอล มาตรฐาน DVB-T2 เหมือนบ้านเรา สนนราคาที่ขายกันอยู่ก็สูงตามค่าครองชีพ อยู่ที่ประมาณ 3,000 กว่าบาท ประเด็นที่น่าสนใจคือการให้ความช่วยเหลือกับครัวเรือนรายได้น้อย (ได้แก่ ครัวเรือนที่เป็นผู้เช่าอาศัยแฟลตขนาดไม่เกิน 2 ห้องนอน ครัวเรือนที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 1,900 เหรียญ ที่สำคัญต้องไม่เป็นสมาชิกเคเบิลทีวีหรือทีวีดาวเทียมอยู่ก่อน และคนที่อยู่ภายใต้โครงการความช่วยเหลืออื่นๆ จากรัฐ) รวมๆ แล้วมีผู้ที่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลืออยู่ประมาณ 170,000 ครอบครัว สมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์เล่าถึงประสบการณ์การเปลี่ยนผ่านฯ ว่ารัฐบาลได้ขอความเห็นจากสมาคมฯ รวมถึงข้อห่วงใยเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับครัวเรือนรายได้น้อย รวมถึงทำงานร่วมกับภาคธุรกิจโดยเรียกร้องให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงสิทธิผู้บริโภคด้วย สิงคโปร์เขามีการกำหนดหลักประกันว่าประชาชนต้องสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์ได้ โดยอาจมีการเรียกเก็บค่าบริการบ้างเล็กน้อย จึงไม่ต้องรับมือกับปัญหา “จอดำ” และตามสไตล์สิงคโปร์การโฆษณาในทีวีจะถูกกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด โฆษณาอกฟูรูฟิตคงจะหาดูได้ยากหน่อย   เกาหลีใต้ ขยับออกไปไกลอีกนิด ไปที่เกาหลีใต้กันบ้าง การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบดิจิตอลของเกาหลีใต้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2540 และเขามีการหยุดระบบอนาล็อคไปในเดือนธันวาคมปี 2555  โดยแผนการดำเนินงาน 4 ขั้นตอน เริ่มจากการรณรงค์ระดับชาติให้ผู้บริโภคได้รับรู้และเข้าใจเรื่องทีวีดิจิตอล  จากนั้นเริ่มทดลองปิดระบบอนาล็อค ในระหว่างปี 2553 - 2554  จากนั้นทำการตรวจสอบประเมินการปิดระบบอนาล็อค และขั้นตอนสุดท้ายคือการ ติดตามการดำเนินงานเรื่องการจัดสรรช่องใหม่ ตามความเห็นของผู้บริหารองค์กรผู้บริโภคแห่งเกาหลี การปิดระบบอนาล็อคนั้นถือว่าได้ผลดี และทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนผ่าน ตั้งแต่องค์กรผู้บริโภค บริษัทผู้ผลิตเครื่องรับโทรทัศน์ (ซัมซุงและแอลจี) และผู้ประกอบการโทรทัศน์ เป็นต้น บทเรียนจากการทำงานของเกาหลีฝากไว้ให้กับประเทศที่กำลังจะทำการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอลคือ 1. ในการเปลี่ยนผ่านนั้น จะต้องมีการให้ข้อมูลที่เพียงพอและให้การสนับสนุนช่วยเหลือผู้บริโภคในการใช้เทคโนโลยีใหม่(ผู้บริโภคเกาหลีสามารถรับกล่องสัญญาณโดยไม่มีค่าใช้จ่าย .. อิจฉาล่ะสิ) 2. ควรมีศูนย์ข้อมูลสำหรับผู้บริโภคที่มีความพร้อมในการรับเรื่องร้องเรียนที่จะเกิดขึ้น   อินเดีย ไปที่ประเทศที่ผู้คนจำนวนมากมองว่าโทรทัศน์เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต (ชนิดไม่มีหลังคาบ้านยังพออยู่ได้ แต่ไม่มีเคเบิลดูละครฉันไม่ยอมเด็ดขาด) ที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอลให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายนปีนี้  ตัวแทนจากฟอรั่มผู้บริโภคมุมไบเล่าให้เราฟังว่าปัจจุบัน อินเดียมีช่องโทรทัศน์ไม่ต่ำกว่า 900 ช่องและรายได้ของธุรกิจโทรทัศน์ในปี 2013 ก็สูงถึง 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2523 – 2532 อินเดียมีผู้ประกอบการโทรทัศน์เพียง 1 รายเท่านั้น องค์กรผู้บริโภคให้ความเห็นว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอลนี้เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ผู้บริโภคได้ประสบการณ์การรับชมรับฟังที่ดีขึ้น มีทางเลือกมากขึ้น และมีบริการเพิ่มมูลค่ามากขึ้นด้วย ในขณะที่ภาครัฐก็ได้ประโยชน์จากการเรียกเก็บค่าบริการอย่างโปร่งใสและมีรายได้เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ และผู้ประกอบการก็ได้รับผลกำไรจากการบริหารจัดการคลื่นความถี่ด้วยเช่นกัน แต่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการเปลี่ยนผ่าน สิ่งที่อินเดียต้องทำเป็นอย่างแรกคือการหลอมรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งหมด (ซึ่งขณะนี้ยังมีความลักลั่นกันอยู่) เพื่อรองรับปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ลืมบอกไปว่างานประชุมนานาชาติครั้งนี้ร่วมจัดโดย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International)   //

อ่านเพิ่มเติม >