ฉบับที่ 121 14 ปี พรบ.องค์การอิสระฯ แท้งเรียบร้อย

วันนี้ผู้บริโภคอย่างเราๆ คงต้องยอมรับกันแล้วว่าวันนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะข้าวยากหมากแพงกันแล้ว สินค้าหลายตัวทยอยกันขึ้นราคาอย่างไม่มีทีท่าจะว่าจะหยุดยั้งเมื่อไร หลายคนต้องดำรงชีวิตยากลำบากขึ้น เมื่อสินค้าแพงแต่ค่าแรงเท่าเดิม ปัญหาสารพัดถาโถมเข้ามารุมเร้าผู้บริโภคอย่างเราๆ หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ คงทำได้แค่เซซัดตามกระแสไปวันๆ ทั้งปัญหามีเงินไม่พอซื้อสินค้า และมีเงินแต่หาซื้อสินค้าไม่ได้อันนี้น่าเจ็บใจเราเป็นประเทศเกษตรกรรมเป็นผู้ผลิตแต่ไม่มีสินค้าให้ซื้อ(กรณีสินค้าขาดตลาด) ปัญหาเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าเราไม่มีเจ้าภาพที่มีฝีมือแก้ปัญหานี้ จริงๆที่มีอยู่ในปัจจุบันก็เข้าตำรา ลิงแก้แห คือยิ่งแก้ยิ่งยุง สุดท้ายของคนทำงานผู้บริโภคก็หนีไม่พ้นอยากเห็นองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคมันเกิดซะที3 เดือนที่แล้ว พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเข้าสภาผู้แทนผ่านวาระที่ 1 ไปเรียบร้อย จนมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาหนึ่งคณะที่มีทั้งตัวแทนพรรคการเมืองและตัวแทนประชาชน ร่วมกันพิจารณา เสร็จสมบูรณ์ไปในต้นเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นพวกเราก็เฝ้ารอให้ พรบ.เข้าสภา พวกเราได้แจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่ากฎหมายจะเข้าสภาหลายครั้ง ทุกครั้งพวกเราก็จะไปนั่งรอ วันแล้ววันเล่ากฎหมายก็ไม่เข้า เพราะมีกฎหมายอื่นถูกเสนอแซงขึ้นพิจารณาก่อน โดยวิปรัฐบาล แต่พวกเราก็อดทนรอด้วยความหวังว่าน่าจะเข้าทันพวกเรารอจนประธานสภาจะปิดประชุม พวกเราถึงได้เคลื่อนออกจากรัฐสภา จนวันที่ 3 มีนาคม 2553 เรียกได้ว่าเป็นวันที่คนทำงานคุ้มครองผู้บริโภครอคอยก็ว่าได้ วันนั้นเป็นวันที่กฎหมายเราจ่อคิวเข้าเป็นฉบับแรกยังไงก็ต้องเข้าเอาช้างมาฉุดก็ไม่อยู่แล้วคราวนี้ ไชโย้.....เช้าพวกเราเดินเข้ารัฐสภาอย่างอิ่มเอมเต็มไปด้วยความหวังอันล้นเปี่ยม แต่พอเข้าไปหลังบรรลังก์เราได้เห็นท่าทีของรองนายกรัฐมนตรี ทั้งคุณองอาจ คล้ามไพบูลย์ คุณสาทิตย์ วงหนองเตย บวกนายกรัฐมนตรี เราก็รู้สึกทะแม่งๆ เพราะเท่าที่คุยคือวิปรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับกรณีงบบริหารจัดการที่กรรมาธิการเสียงข้างมากกำหนดไว้หัวละ 5 บาท แต่วิปและรัฐบาลมีความเห็นว่าควรเป็น 3 บาท และมีความพยายามที่จะหว่านล้อมให้พวกเราถอน พรบ.ออกจากการพิจารณาเพื่อเอาไปแก้ให้เหลือ 3 บาท ท่านผู้อ่านคิดดูนะเรารอวันนี้มา 14 ปี พอกฎหมายจะเข้าฝ่ายการเมืองมาขอให้ถอนออก เป็นท่าน ท่านคิดยังไง? อารมณ์นั้นบอกได้คำเดียวว่าอยากร้องให้ และไม่อยากมองหน้าบรรดานักการเมืองเลย.. สุดท้ายพวกเราไม่ยอมให้ถอน ยืนยันให้พิจารณาไป ผ่านก็ผ่านไม่ผ่านก็ไม่ผ่าน(ให้มันรู้แล้วรู้รอดไป)ฝ่ายการเมืองก็แสดงให้เราเห็นว่าเขาโกรธที่เราแข็งขืน กฎหมายก็เข้าสภาผ่านไปแค่ 4 วาระ ก็มีสส.พรรครัฐบาลเสนอให้ถอนพรบ.ออกไปพิจารณาใหม่ สุดท้ายสภาก็มีมติให้ถอนพวกเราภาคประชาชนก็ได้แต่นั่งมองเราทำอะไรไม่ได้เพราะคนที่ลงมติได้มีแต่ฝ่ายการเมือง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ก้าวสำคัญของงานผู้บริโภคไทย

  แม้จะพยายามใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังอย่างเต็มที่ แต่เราทุกคนคงยากที่จะหลีกเลี่ยงจากการถูกเอารัดเอาเปรียบได้ เนื่องด้วยอำนาจในการจัดการเกี่ยวกับวิถีการบริโภคนั้นไม่ได้อยู่ในมือของผู้บริโภค แต่ไปผูกพันกับระบบเศรษฐกิจ บรรษัทข้ามชาติ นักการเมืองและพ่อค้า คงมีก็แต่ผู้บริโภคที่แข็งแรงมากพอเท่านั้นที่จะมีโอกาสรอดได้ ซึ่งก็เป็นแค่คนส่วนน้อย ทุกวันนี้ประชาชนผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังต้องเผชิญกับปัญหาการละเมิดสิทธิอย่างไม่มีทีท่าว่าจะลดลง   ความฝันของผู้บริโภค   ความฝัน ความจริง ของดี ราคาไม่แพง ของห่วย ราคาแพง อาหารสะอาด ปลอดภัย อาหารปนเปื้อนสารพิษ สารเคมี ไปไหนมาไหนสะดวก บริการขนส่งสาธารณะได้มาตรฐาน ไปไหนไม่ค่อยมีทางเลือก ราคาไม่คุ้มบริการ ตลอดปีมีแต่อุบัติเหตุ ค่าน้ำ ไฟ โทรศัพท์ สมเหตุสมผล มีการบริหารจัดการที่ดี ราคาขึ้นไม่มีเหตุผล คนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้เรื่องโครงสร้างราคา   ความฝันกับความจริงมักจะสวนทางกัน ไม่ว่าผ่านมากี่ยุคสมัย ผู้บริโภคยังต้องดิ้นรนเพื่อให้รอดจากการถูกเอาเปรียบ   ทำไมงานคุ้มครองผู้บริโภคบ้านเราไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าหากมองว่า ทางออกของการดูแลผู้บริโภคคือ กฎหมาย ประเทศไทยก็มีกฎหมายที่เกี่ยวกับผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก แล้วทำไมผู้บริโภคจึงยังถูกเอาเปรียบ??? ก็เพราะกฎหมายมีข้อจำกัดที่ว่า ทำได้แค่ดูแลเฉพาะเรื่องที่กรอบกฎหมายของตนเองกำหนดไว้เท่านั้น โดยทุกกฎหมายเน้นการป้องกันที่ต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอาหาร ยา ที่ดิน ประกันชีวิต ฯลฯ ซึ่งเน้นควบคุมที่ผู้ประกอบการหรือต้นน้ำ ด้วยแนวคิดที่ว่าถ้าผู้ประกอบการดีเสียอย่าง ผู้บริโภคก็ปลอดภัย ซึ่งในความเป็นจริง ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะขีดความสามารถของหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลกฎหมาย ไม่อาจทำได้ถึงขนาดที่จะควบคุมผู้ประกอบการทุกรายและทุกสินค้าหรือบริการ เพราะโลกทุกวันนี้อยู่ในสภาพการผลิตที่ล้นเกิน และการบริโภคที่มากเกินไป ถามว่า แล้วมีกฎหมายที่เน้นที่ตัวผู้บริโภคไหม ก็มีอยู่ 1 ฉบับที่ระบุถึงสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค คือ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ที่มีสำนักงานหนึ่งเกิดขึ้นมาพร้อมกับ พ.ร.บ. นี้ คือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ.   ทว่า สคบ.ก็ขับเคลื่อนงานผู้บริโภคได้ไม่มาก เพราะถูกจำกัดบทบาทด้วยกฎหมายเช่นกัน กล่าวคือ สคบ.ดูแลงานคุ้มครองผู้บริโภคได้เฉพาะเรื่องที่ไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดของรัฐรับผิดชอบอยู่แล้ว เช่น เรื่องอาหาร ไม่ใช่บทบาทของ สคบ. แต่เป็นบทบาทของ อย. หรือเรื่องการเงินการธนาคารก็ไม่ใช่ สคบ. แต่เป็นบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น ดังนั้นที่หลายคนเข้าใจว่า สคบ.เป็นหน่วยงานกลางของงานคุ้มครองผู้บริโภคจึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง อีกทั้ง สคบ. ก็มิได้มีบทบาทหน้าที่ที่จะไปกำหนดนโยบายหรือมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศ นี่จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ว่า ทำไมงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคจึงมีข้อจำกัดอย่างมาก เมื่อหันกลับมามองที่ภาคประชาชน ก็ยิ่งพบสภาพการณ์ที่ย่ำแย่ ประชนชนทั่วไปยังเข้าใจในสิทธิผู้บริโภคน้อยเกินไป ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการเลือกซื้อเลือกใช้ อาจเรียกได้ว่า “มีภูมิคุ้มกันต่ำมาก” ทีเดียว ส่วนใหญ่ถูกชวนเชื่อให้ลุ่มหลงไปกับคำโฆษณา การประชาสัมพันธ์และการตลาดที่รุกรานเข้าไปในพื้นที่ทุกช่วงเวลาของชีวิต ทั้งในรายการข่าว ในละคร บนรถเมล์ ในโรงภาพยนตร์  ฯลฯ ยิ่งผนวกรวมกับความรู้สึกไม่อยากจะใช้สิทธิหรือร้องเรียน เพราะกลัวปัญหายืดเยื้อเรื้อรัง จนปล่อยเลยตามเลย ก็เลยกลายเป็นจุดอ่อนให้ผู้ประกอบการยิ่งได้ใจเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคมาตลอด  เพราะคนจ้องจะเอาเปรียบมีมากเกินไปและแข็งแรงเกินไป หรืออาจเป็นเพราะผู้บริโภคเราอ่อนแอเกินไป รู้น้อยเกินไป เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคก็มีมากมายหลากหลายเสียเหลือเกินตั้งแต่เรื่องเล็กอย่างกระดาษทิชชู จนถึงเรื่องระดับประเทศอย่างน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะฉะนั้นถ้าหวังให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค คอยไล่ตามแก้ปัญหา ย่อมไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสม ในระยะยาวถ้าหวังให้งานคุ้มครองผู้บริโภคเข้มแข็ง ก็ต้องส่งเสริมให้ผู้บริโภคเข้มแข็ง จนถึงขนาดมีอำนาจต่อรองกับภาคการผลิตได้ สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมให้ความคิดเห็นในกฎ ระเบียบต่างๆ ที่กระทบกับการบริโภคได้ ไม่เป็นเพียงหน่วยย่อยเล็กๆ ที่ถูกกระทำดังเช่นทุกวันนี้   หน่วยพิทักษ์ผู้บริโภคกับการเดินทาง 14 ปี อันที่จริงเรื่องราวที่กล่าวมาข้างต้น ยังคงวนเวียนเขียนได้ไม่เคยเก่า ราวกับเป็นเรื่องธรรมดาของประเทศนี้ แม้เหตุการณ์จะผ่านไปหลายสิบปี รัฐบาลเปลี่ยนไปหลายชุด ผู้บริโภคก็ยังเป็นเหยื่อไม่เคยเปลี่ยน ถึงอย่างไร โลกนี้ก็ไม่สิ้นไร้ซึ่งความหวัง เมื่อปี พ.ศ. 2540 รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ร่างโดยภาคประชาชนได้กล่าวถึงการคุ้มครองผู้บริโภคไว้ในมาตรา 57 โดยกำหนดไว้ว่า “ต้องมีองค์การอิสระ” ที่มีผู้แทนผู้บริโภคมาทำหน้าที่ให้ความเห็นในการตรากฎหมาย กฎและข้อบังคับต่างๆ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ด้วยความที่เป็นกลไกใหม่ “องค์การอิสระ” ทำให้เกิดข้อถกเถียงกันมากมาย โดยเฉพาะคำว่า “อิสระ” ว่าแค่ไหน อย่างไร รวมทั้งจุดอ่อนสำคัญที่ไม่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญให้แน่ชัดว่าต้องเกิดองค์การนี้ภายในระยะเวลากี่ปี สุดท้ายก็ตายจากไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญปี 2540   แต่เพราะปัญหาผู้บริโภคเป็นเรื่องของคนทุกคน คำว่า “คุ้มครองผู้บริโภค” และ “องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค” จึงกลับมาในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 อีกครั้ง โดยคราวนี้ขยับไปที่ มาตรา 61 โดยแก้ไขจุดอ่อนที่มีในคราวรัฐธรรมนูญ 2540 โดยองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคในมาตรา 61 แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่า ต้องการให้เป็นองค์กรที่เป็น “อิสระ” จากหน่วยงานของรัฐจริงๆ ไม่ใช่อยู่ในกำกับของรัฐ และนำบทเรียนเรื่องกรอบเวลามาปรับให้เป็นรูปธรรม โดยเขียนบทเร่งรัดกำหนดกรอบเวลาไว้ในมาตรา 303 ว่า รัฐบาลชุดแรกหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ประกาศใช้ ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว ต้องจัดทำกฎหมายองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคให้เสร็จและบังคับใช้ได้ภายใน 1 ปี ถ้าเหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง ปี 2554 นี้เราคงมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เกิดขึ้นแล้ว แต่หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ มีการเปลี่ยนรัฐบาลถึง 3 คณะใน 1 ปี เราถึงยังไม่มีองค์การอิสระฯ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเสียที   การขยับตัวของภาคประชาชน ในสมัยรัฐธรรมนูญ ปี 2540 องค์กรผู้บริโภคคึกคักกันพักใหญ่ เพราะเห็นทางรอดของผู้บริโภคไทย ที่รัฐธรรมนูญให้แนวทาง การกำเนิดขององค์กรใหม่ ที่จะมาทำหน้าที่ หน่วยพิทักษ์ผู้บริโภค ที่เป็นหน่วยงานกลางในเรื่องผู้บริโภคจริงๆ ไม่ใช่ตัวแทนเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หน่วยงานที่จะทำหน้าที่หลักในการคุ้มครองผู้บริโภค เฝ้าระวังและให้ความเห็นในกฎหมายหรือมาตรการใดๆ ที่จะส่งผลกระทบสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภค   สามปีแรก(2541 – 2543) เป็นงานเดินสายสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภคและหน่วยงานต่างๆ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวคิดเรื่อง ความเป็นอิสระ อำนาจ หน้าที่ ต่อมาก็มีการยกร่าง กฎหมายองค์การอิสระขึ้น และทำความเข้าใจกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ จนถึงช่วงท้ายๆ ของอายุรัฐธรรมนูญปี 2540 สามารถรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอกฎหมายได้ถึง 50,000 รายชื่อ แต่น่าเสียดาย ความหวังครั้งนั้นหายวับไปพร้อมกับเหตุรัฐประหาร 19 กันยายน 2549   แม้สิบปีจะยังไม่มีองค์การอิสระฯ เกิดขึ้น แต่ก็เหมือนกับได้เป็นการสร้างความพร้อม และปูพื้นฐานส่วนหนึ่งให้กับภาคประชาชน รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ เมื่อรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ถือกำเนิดขึ้นและบทบัญญัติที่เกี่ยวกับองค์การอิสระไม่ได้หายไป ภาคประชาชนก็เริ่มขยับตัวอีกครั้ง การผลักดันกฎหมายโดยภาคประชาชนการเข้าชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 10,000 คน เสนอ (ร่าง) พ.ร.บ. องค์การอิสระผู้บริโภค ฉบับประชาชน   15 มีนาคม 2551 เริ่มรณรงค์ครั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 50องค์กรภาคประชาชน ประกาศเจตนารมณ์ และรวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 รายชื่อ ในการเสนอกฎหมายองค์การอิสระผู้บริโภค และรณรงค์ในจังหวัดต่างๆ  19 กุมภาพันธ์ 2552 ยื่นรายชื่อ  12,208 ชื่อ ต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา   23 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2552 รัฐสภาตรวจสอบรายชื่อ กระบวนการตรวจสอบรายชื่อ ความถูกต้องสมบูรณ์ รวมจำนวนที่ตรวจสอบได้  11,700  รายชื่อ   4 มีนาคม 2552 รัฐสภาส่งข้อมูลให้ กกต. ตรวจสอบสิทธิ 1 เมษายน 2552กกต. ส่งรายชื่อไปให้กรมการปกครองเป็นผู้ตรวจสอบ กรมการปกครองทำการส่งรายชื่อไปปิดประกาศในพื้นที่เพื่อร้องคัดค้าน เป็นเวลา 20 วัน   พฤษภาคม 2552กกต. ส่งกลับรายชื่อที่รับรองมาที่รัฐสภา     26  พฤษภาคม  2552รัฐสภาแจ้งผลการตรวจสอบ สรุปว่ามีผู้เข้าชื่อครบ 10,000 ชื่อ   1 มิถุนายน 2522 ประธานรัฐสภาวินิจฉัยว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ส่งให้นายกรัฐมนตรีลงนามให้คำรับรอง   หลังนายกรัฐมนตรีรับรอง ภาคประชาชนได้รับหนังสือจากเลขาธิการประธานรัฐสภา จะพิจารณาบรรจุเข้าวาระการประชุมของรัฐสภา   5 ตุลาคม 2553สภาผู้แทนราษฎร รับหลักการของร่างกฎหมาย 7 ฉบับรวมทั้ง พ.ร.บ.องค์การอิสระฯ ฉบับประชาชน โดยตั้งกรรมาธิการ 54  คน เป็นกรรมาธิการภาคประชาชน 18 คน   27 มกราคม 2554 พิจารณาร่างกฎหมายแล้วเสร็จ พร้อมเสนอให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป   9 กุมภาพันธ์ 2554 บรรจุวาระร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค วาระที่ 2   20 เมษายน 2554(ร่าง)พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 3 วาระ 10 พฤษภาคม 2554  รัฐบาลประกาศยุบสภา การพิจารณากฎหมายของวุฒิสภาต้องหยุดชะงักไป เพื่อรอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ร่างกฎหมายฉบับนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี อีกครั้งหนึ่งภายใน 60 วันหลังการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง วุฒิสภาจึงจะสามารถพิจารณาร่างกฎหมายนี้ต่อไปได้   องค์การอิสระฯ ตามมาตรา 61 ทางออกระยะยาวที่อยู่ใกล้แค่เอื้อม หลังผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร์ทั้ง 3 วาระ และรอลุ้นระทึกว่า รัฐบาลใหม่จะสานฝันให้ผู้บริโภคได้ทันหรือไม่ เรามาดูบทบาทหน้าที่ขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคนี้กันสักหน่อย องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามร่างกฎหมายฉบับนี้ มีบทบาทสำคัญ  8 ประการ ได้แก่ 1. ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค 2. ตรวจสอบการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและรายงานไปยังหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ และอาจรายงานเรื่องดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา รวมทั้งเผยแพร่เรื่องดังกล่าวต่อสาธารณชน  ทั้งนี้ ให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบดังกล่าวรายงานผลการพิจารณาและการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการภายในระยะเวลาอันสมควร 3. ดำเนินการและสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นจริง หรือแจ้งหรือโฆษณาข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมเสียแก่สิทธิของผู้บริโภค ในการนี้จะระบุชื่อสินค้าหรือบริการ หรือชื่อของผู้ประกอบการด้วยก็ได้ 4. สนับสนุนการใช้สิทธิร้องเรียนของผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ประกอบการ และดำเนินการให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบการ 5. ดำเนินคดีต่อศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม โดยคณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งเลขาธิการหรือพนักงานขององค์การเพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดี รวมทั้งมีอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคที่ร้องขอได้ด้วย  ทั้งนี้ การฟ้องและดำเนินคดีดังกล่าว ให้ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง แต่ไม่รวมถึงความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นที่สุด  6. สนับสนุนและให้การช่วยเหลือแก่องค์กรผู้บริโภคในด้านต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรผู้บริโภคดังกล่าว ตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค  7. ส่งเสริมการศึกษาและการวิจัย  รวมทั้งจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรผู้บริโภคหรือประชาชนเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ  8. จัดให้มีการประชุมสมัชชาองค์กรผู้บริโภคอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งเพื่อประเมินการดำเนินงานขององค์การ และติดตามตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเสนอแนะแนวทางในการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภค   ถ้านับเวลาจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ก็เป็นเวลากว่าสี่ปีมาแล้ว แต่หากนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่มีการระบุให้จัดตั้งองค์การอิสระไว้ในมาตรา 57 ก็เป็นระยะเวลายาวนานถึง 14 ปี และหากรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพียงแค่ปล่อยให้เวลาผ่านเลยวันที่ 30 กันยายน 2554 การดำเนินการในการออกกฎหมายก็จะต้องเริ่มใหม่หมด นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของผู้บริโภค อีกทั้งความตั้งใจและการดำเนินการที่ผ่านมาของภาคประชาชนจะกลายเป็นศูนย์ ต่อจากนี้ไป เราคงต้องมาร่วมลุ้นระทึกกันอีกครั้ง ว่าองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จะกลับไปเริ่มต้นกันใหม่หรือดำเนินการต่อไปอย่างสง่าผ่าเผย ได้โปรดติดตาม

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point