ฉบับที่ 106 บทเรียนของพวกหากินกับหนี้เสีย

“ผมสงสัยว่าคดีหนี้ของผมจะขาดอายุความไปแล้ว อยากให้มูลนิธิฯ ช่วยดูให้หน่อยครับ”บ่ายแก่ ๆ ของวันที่ 6 ตุลาคม 2552 คุณเสน่ห์ เดินเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพร้อมสำเนาคำฟ้องคดีผู้บริโภค ที่คุณเสน่ห์ตกเป็นจำเลยฐานผิดสัญญากู้ยืมเงินที่เอามาจากบริษัท อีซี่บาย จำกัด(มหาชน)และถูกเรียกให้ชำระหนี้เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 82,000 กว่าบาท แต่ชื่อโจทก์ที่ยื่นฟ้องกลับเป็นชื่อบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด ที่ซื้อหนี้เสียมาจากบริษัทอีซี่บาย“ศาลนัดผมเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2552 ตอนแรกผมตั้งใจว่าจะแถลงด้วยวาจาว่าคดีของผมนั้นโจทก์ฟ้องขาดอายุความแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ของศาลแนะนำให้ผมเขียนคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรจะดีกว่า ผมจึงได้ขอให้ศาลเลื่อนพิจารณาไปอีกสักนัดเพื่อติดต่อหาทนายช่วยเขียนคำให้การเพราะผมไม่รู้ว่าจะเขียนอย่างไร ศาลจึงได้นัดพิจารณาคดีอีกครั้งเป็นวันที่ 15 ตุลาคม 2552 ซึ่งครั้งนี้ผมจะต้องมีคำให้การของจำเลยไปยื่นต่อศาลครับ ไม่อย่างนั้นผมถูกพิพากษาให้ต้องชำระหนี้ก้อนนี้แน่”“ถามหน่อยเถอะครับ...ว่าทำไมคุณถึงไม่ชำระหนี้เขาต่อและทำไมคิดว่าคดีนั้นขาดอายุความไปแล้ว?” เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนถาม “ผมกู้เงิน 1 แสนบาทจากอีซี่บายมาเมื่อปี 2544 ผมก็ชำระหนี้เรื่อยมาตลอดร่วม 2 ปี เป็นเงินร่วมแสนกว่าบาทแต่หนี้ในบัญชีมันไม่หมดสักที ดอกเบี้ยมันแพงมาก ตอนนั้นก็ลำบากมากเลยต้องหยุดจ่ายหนี้ไป จำได้ว่าผมจ่ายหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2546 แต่ในคำฟ้องแจ้งว่าผมไม่ชำระหนี้เงินกู้มาตั้งแต่งวดวันที่ 2 มิถุนายน 2546 เขามาฟ้องผมวันที่ 8 มิถุนายน 2552 นี่เอง ก่อนหน้านี้ผมได้เคยโทรมาปรึกษากับทางมูลนิธิฯ แล้วทราบว่า สัญญาสินเชื่อส่วนบุคคลอายุความที่จะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ต้องทำกันภายใน 5 ปีใช่ไหมครับ”“ใช่ครับต้องฟ้องร้องกันภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญา แต่ต้องขอดูรายละเอียดในคำฟ้องก่อนนะครับว่าจะช่วยเหลือได้อย่างไร”แนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อพิจารณาในรายละเอียดคำฟ้องพบข้อมูลที่น่าสนใจมากสำหรับผู้ที่เป็นลูกค้าหรือลูกหนี้อีซี่บายดังนี้ครับ1. เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2551 บริษัท อีซี่บาย จำกัด(มหาชน) ได้ดำเนินการขายบัญชีหนี้เสียในกลุ่มสินเชื่อเงินสดให้กับบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด โดยมีจำนวนบัญชีลูกหนี้รวมกันทั้งสิ้น 17,170 ราย มูลหนี้รวมกันทั้งสิ้น 471 ล้านบาทเศษ โดยคิดค่าตอบแทนที่บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็สฯ จ่ายเพื่อซื้อหนี้เสียจากอีซี่บายก้อนนี้เป็นเงินเพียง 20 ล้านบาทเศษเท่านั้น หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 4.25 ของมูลหนี้ทั้งหมด2. ผลจากการซื้อขายหนี้เสียดังกล่าวทำให้บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็สฯ ได้มาซึ่งทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับหนี้ทั้งหมดตลอดจนการรับชำระหนี้แทนอีซี่บาย พูดง่ายๆ คือจ่ายเพียงแค่ร้อยละ 4.25 แต่ได้สิทธิเรียกร้องจากลูกหนี้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ แถมดอกเบี้ยอีกต่างหาก3. อัตราดอกเบี้ยที่อีซี่บายทำกับผู้บริโภครายนี้ซึ่งทำในช่วงปี 2544 นั้น จะคิดเป็นค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินในอัตราร้อยละ 2.0 บาทต่อเดือนหรือร้อยละ 24 บาทต่อปี และยังคิดดอกเบี้ยอีกในอัตราร้อยละ 0.50 บาทต่อเดือนหรือร้อยละ 6 ต่อปีอีก จึงเท่ากับว่าผู้บริโภคต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 30 บาทต่อปี ซึ่งในขณะนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่ได้เข้าไปกำกับการเรียกเก็บดอกเบี้ยของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารทั้งหลาย การเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวจึงเป็นการเรียกเก็บดอกเบี้ยที่ผิดกฎหมาย4. สัญญากู้ยืมเงินที่เรียกว่าประเภทสินเชื่อส่วนบุคคลนั้น มีข้อตกลงว่าผู้บริโภคจะใช้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนให้กับเจ้าหนี้โดยผ่อนชำระเป็นรายเดือนเป็นงวดๆ ดังนั้น การฟ้องเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระดอกเบี้ยพร้อมเงินต้นตามสัญญากู้ยืมเงิน จึงถือได้ว่าเป็นการเรียกเอาดอกเบี้ยพร้อมต้นเงินเพื่อผ่อนต้นทุนคืนเป็นงวด ๆ ซึ่งมีกำหนดอายุความไว้ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/32(2) ในคำฟ้องระบุว่าฝ่ายผู้บริโภคไม่ชำระหนี้เงินกู้มาตั้งแต่งวดวันที่ 2 มิถุนายน 2546 สิทธิเรียกร้องของฝ่ายเจ้าหนี้จึงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2546 แต่โจทก์มาฟ้องวันที่ 8 มิถุนายน 2552 เกินกว่า 5 ปีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความครับ คือต้องฟ้องก่อนวันที่ 3 มิถุนายน 2551 เท่านั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดตามที่กล่าวมาเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยคำแนะนำของหัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาจึงได้ช่วยเหลือผู้บริโภคโดยการร่างคำให้การจำเลยเพื่อให้ผู้บริโภคเป็นผู้ไปยื่นต่อศาลในวันนัด โดยได้ให้การใน 2 ประเด็นหลักคือ เรื่องการเรียกเก็บดอกเบี้ยที่ผิดกฎหมายและเรื่องคดีขาดอายุความ ซึ่งท้ายสุดศาลได้พิพากษายกฟ้องโจทก์เป็นที่เรียบร้อย ทำให้ผู้บริโภครายนี้พอที่จะลืมตาอ้าปากได้บ้างเนื่องจากอีซี่บายมีการขายหนี้เสียออกไปร่วมสองหมื่นราย และอาจมีหลายรายที่เจ้าหนี้เสียสิทธิในการเรียกร้องแล้วเนื่องจากขาดอายุความ แต่หากลูกหนี้ไม่ได้ยื่นคำให้การสู้คดีอย่างถูกต้อง ศาลจะพิพากษาให้ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ต่อไป ดังนั้นหากใครมีข้อสงสัยในประเด็นนี้รีบติดต่อมาที่มูลนิธิฯ โดยทันที

อ่านเพิ่มเติม >