ฉบับที่ 170 เกือบหยุดหายใจเพราะใบสั่งยาของแพทย์

เมื่อป่วยสิ่งที่คิดเป็นอันดับแรกคือไปหาหมอ  เพื่อให้หมอรักษาอาการป่วยให้ดีขึ้น  เช่นเดียวกับน้าสมัย(นามสมมุติ) อายุ 79 ปี ที่ป่วยหลายโรค ทั้งโรคหัวใจ  เบาหวาน  ความดัน  เรียกได้ว่าโรคมาเป็น ชุดๆ ตามอายุที่สูงขึ้น    น้าสมัยไปหาหมอ หมอก็เขียนใบสั่งยาให้ไปรับยาที่ห้องยา  โดยน้าสมัย ไม่รู้เลยว่าหมอสั่งยาอะไรมาให้กิน   เมื่อได้ยามาก็กินตามคำแนะนำของหมอทุกประการ   แม้มีอาการเหนื่อยง่ายมากขึ้น ก็ไม่ได้สงสัยอะไร  คิดว่าเป็นไปตามวัย  จนกระทั่งหมอโรคหัวใจนัดไปพบอีกครั้งที่โรงพยาบาล  จึงได้ทราบว่าหัวใจเต้นอ่อนมาก เพียง 20-30  ครั้งต่อนาที   หมอสั่งให้นอนโรงพยาบาลทันที  พร้อมบอกว่า เป็นภาวะอันตรายมาก  คนไข้พร้อมจะสิ้นลมได้ทุกเวลา โดยเฉพาะเวลานอนหลับลูกๆ ของน้าสมัย ทุกข์ใจกันมาก ต้องลางานมาดูแลพ่อ ต้องผลัดกันเฝ้าตลอดเวลา เพราะกลัวว่าพ่อจะนอนแล้วไม่ตื่น     แต่ไม่มีใครรู้ว่าสาเหตุที่ทำให้หัวใจเต้นอ่อนมากอะไร   จนกระทั่งหมอโรคหัวใจเรียกลูกๆ ของน้าสมัยเข้าไปพูดคุย  พร้อมแจ้งว่าที่หัวใจเต้นอ่อนสาเหตุเพราะ  ยารักษาความดันที่หมอสั่งให้กิน  ไปกดให้หัวใจเต้นช้าลง  บวกกับน้าสมัยอายุมาก ทำให้อาการเป็นมากขึ้น  หมอจะสั่งยาตัวใหม่ให้นะ เมื่อเปลี่ยนยาอาการของน้าสมัยดีขึ้นทันตาเห็น  สรุปว่าที่น้าสมัยเกือบตายเพราะยาที่หมอสั่งให้กินนั่นเอง สิ่งที่สงสัยคือ  คนไข้อายุเกือบ 80 ปี หมอจะสั่งยาให้ทำไมไม่ระมัดระวังมากกว่านี้   การสั่งยาผิดหรือยาแรงเกินไป  จากหมอที่รักษาก็อาจกลายเป็นฆาตกรได้ง่ายๆ เช่นกัน   เคสนี้ใช้สิทธิราชการ (ซึ่งมักได้ยามากกว่าสิทธิอื่นๆ) การจะเรียกร้องความเสียหายทำได้ทางเดียวคือ”ต้องฟ้อง”(ไม่เหมือนสิทธิในระบบหลักประกันที่มีกองทุนชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาล) ซึ่งส่วนใหญ่ก็ปล่อยเลยตามเลยไม่เรียกร้องอะไร   ที่เขียนเรื่องนี้เพราะต้องการให้ผู้บริโภคพึงระมัดระวัง  และสอบถามหมอมากขึ้น ”ก่อนรับยาต้องกล้าถาม” เพราะเมื่อเกิดอันตรายถึงชีวิต ก็ไม่อาจเยียวยาได้   ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยขอตัวท่านและคนใกล้ตัว โปรดระวังว่า  “ยา” มีคุณอนันต์ก็มีโทษมหันต์ เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >