ฉบับที่ 142 บอแรกซ์ในหมูบด

หมูเป็นอาหารที่คนนิยมรับประทานกันมาก จนมีคำกล่าวประมาณว่า “หมูทำอะไรก็อร่อย” คนไทยบริโภคเนื้อหมูเกือบล้านตัน/ปี (ปี 2553 คนไทยบริโภคเนื้อหมูปริมาณ 930,000 ตัน)  หมูเมื่อถูกชำแหละแล้ว ว่ากันว่า รับประทานได้ทุกส่วน แต่ที่กินกันบ่อยก็แน่นอนว่าต้องเป็นเนื้อ ไม่ว่าจะส่วนสะโพก ขา หลัง หรือคอ แล้วแต่ว่าผู้บริโภคจะเลือกไปประกอบอาหารอะไร และไม่ว่าจะที่เขียงหมูในตลาดหรือชั้นวางเนื้อหมูในร้านค้าปลีกทันสมัย เขาก็มีเนื้อหมูในเลือกซื้อหากันได้หลายประเภท ที่นิยมมากประเภทหนึ่งก็คือ “หมูบด” หรือ “หมูสับ” ที่นำไปทำอาหารได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น...แกงจืด ลูกชิ้น ลาบ ไข่เจียวหมูสับ ฯลฯ   ซึ่งสมัยก่อนอาจต้องออกแรงเล็กน้อยเพื่อสับเนื้อหมูให้ละเอียด แต่เดี๋ยวนี้ก็ไม่ต้องยุ่งยากเสียเวลานั่งสับแล้ว เพราะเขามีชนิดสับให้แล้ววางพร้อมรอขาย คุณพ่อครัวแม่ครัวทั้งหลายไม่ต้องไปเสียเวลาสับ บด เองอีกให้ยุ่งยาก แต่ก็อีกนั่นแหละอะไรที่มันดูสำเร็จรูปบางทีมันก็มีภัยแฝงมาด้วย เนื้อสัตว์โดยธรรมชาตินั้นจะเน่าเสียได้ง่ายเพราะมีความชื้นสูงเหมาะแก่การขยายอาณาจักรของเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหลาย ผู้ขายที่ไม่รับผิดชอบบางส่วนจึงมักนำสารเคมีที่อันตรายมาช่วยให้เนื้อหมูคงสภาพสด ไม่เน่าเสียง่าย และที่พบมากเป็นปัญหาระดับประเทศก็คือ การใช้สารบอแรกซ์ในเนื้อหมู โดยเฉพาะหมูบด เพราะไม่เพียงแต่ช่วยไม่ให้เน่าไวแล้ว ยังแถมคุณสมบัติทำให้เนื้อหมูเด้ง กรอบ อีกด้วย   ฉลาดซื้อทดสอบ ฉลาดซื้อเราก็ชอบหมูเช่นกัน เลยกระจายกำลังคนไปช้อปหมูบดมาจากตลาดสด 5 แห่ง โมเดิร์นเทรด 3 แห่ง และหมูพะยี่ห้อดัง 2 เจ้า ส่งตรวจหาสารบอแรกซ์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปรากฏว่า ยังพบมีการใช้สารบอแรกซ์กับหมูบด อยู่ 1 แห่ง ที่ตลาดสดยิ่งเจริญ เจ้าของตลาดและหน่วยงานรัฐลงไปตรวจสอบด้วยนะครับ   ผลการทดสอบหาสารบอแรกซ์ในหมูบด สถานที่เก็บตัวอย่าง สารบอแรกซ์ (มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ตลาดสำโรง ไม่พบ ตลาดพระประแดง ไม่พบ ตลาด อ.ต.ก. ไม่พบ ตลาดบางบอน ไม่พบ กระถินหมูบด ตลาดยิ่งเจริญ 10,524 ฟู้ดแลนด์ ไม่พบ เทสโก้ ไม่พบ ท็อปส์ ไม่พบ หมูบด ซีพี เฟรชมาร์ท ไม่พบ หมูบด ยี่ห้อ เอส เพียว ไม่พบ   เก็บตัวอย่างช่วงเดือนตุลาคม 2555 ผลการวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น    Borax  บอแรกซ์ บอแรกซ์ (Borax, Anhydrous borax (Na2B4O7) Borax pentahydrate (Na2B4O7·5H2O) Borax decahydrate (Na2B4O7·10H2O))  เป็นสารเคมี ที่มีลักษณะเป็นผงสีขาว ไม่มีกลิ่น มีรสขมเล็กน้อย  มีชื่ออื่นๆ อีก เช่น น้ำประสานทอง สารข้าวตอก ผงกันบูด เพ่งแซ เม่งแซ ผงเนื้อนิ่ม บอแรกซ์ เป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรม เช่น ทำแก้วเพื่อทำให้ทนความร้อน เป็นสารประสานในการเชื่อมทอง และเป็นสารยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราในแป้งทาตัว เป็นต้น มีการนำบอแรกซ์มาใช้ผิดโดยนำมาผสมใน อาหาร  เพื่อให้อาหารมีความหยุ่นกรอบ คงตัวได้นาน ไม่บูดเสียง่าย อาหารที่มักพบว่ามีสารบอแรกซ์ ได้แก่ หมูบด ลูกชิ้น ทอดมัน หมูสด เนื้อสด ไส้กรอก ผลไม้ดอง ทับทิมกรอบ ลอดช่อง เป็นต้น   -------------------------------------------------------------------------------------------------   การใช้บอแรกซ์ในอาหาร เป็นอันตรายในอาหาร (food hazard)  ประเภทอันตรายทางเคมี (chemical hazard) เป็นสารเคมีห้ามใช้ในอาหาร (prohibit substances) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 151(พ.ศ. 2536) เรื่องวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร   ------------------------------------------------------------------------------------------------- หมูอาบน้ำ เนื้อหมูที่พบว่ามีการใช้สารบอแรกซ์มากที่สุดคือหมูบด เนื่องจากการบดหมูจะทำให้มีการผิวสัมผัสของเชื้อโรคเข้าไปในเนื้อหมูมากขึ้น ทำให้หมูบดเน่าเสียได้ง่าย จึงมีการใช้บอแรกซ์ใส่ปนในหมูบด ส่วนเนื้อหมูชิ้นจะมีการนำไปชุบน้ำยาบอแรกซ์ โดยจะมีภาษาเรียกของผู้ที่จำหน่ายสุกรว่า “หมูอาบน้ำ” ดังนั้นจะมีบอแรกซ์ติดอยู่ที่ผิว ข้อปฏิบัติสำหรับผู้บริโภคทั่วไปคือเมื่อซื้อหมูมาก่อนที่จะนำไปปรุงอาหารให้ล้างหลายๆ ครั้ง นอกจากจะลดหรือขจัดสารอออกไปได้แล้วยังเป็นการลดความสกปรกที่ติดอยู่บนเนื้อหมูลงไปด้วย ถ้าเป็นหมูบดคงจะไม่สามารถล้างได้เราควรจะหลีกเลี่ยงโดยการนำมาบดเองจะดีกว่า

อ่านเพิ่มเติม >