ฉบับที่ 171 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนพฤษภาคม 2558 ห้ามแล้วเด็ดขาด!!! “เมโทมิล” ในยาฉีดแมลง อย. ปรับระดับการควบคุมวัตถุอันตราย “เมโทมิล” (methomyl) จากเดิมเป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 3 ไปเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์ป้องกันกําจัดแมลงที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุข ซึ่งผลจากการปรับระดับครั้งนี้ทำให้เมโทมิล เป็นสารที่ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง องค์การอนามัยโลกได้จัดให้สารเมโทมิลอยู่ในกลุ่ม สารกําจัดแมลงที่มีความเป็นพิษสูง เนื่องจากเป็นสารที่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยการดูดซึมผ่านทางผิวหนัง ทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร โดยเมโทมิลเป็นสารที่มีพิษเฉียบพลัน ลักษณะของผู้ที่ได้รับพิษจะมีอาการเหงื่อออก ปวดศีรษะ เพลีย วิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ตาพร่ามัว กล้ามเนื้อเกร็งและกระตุก ชัก โคม่า สูญเสียการควบคุมของกล้ามเนื้อหูรูด ความดันโลหิตต่ำ หัวใจทำงานผิดปกติ และอาจเสียชีวิตได้จากภาวะอัมพาตของกล้ามเนื้อในระบบทางเดินหายใจและการหดเกร็งของปอด   แม้ อย.จะปรับเมโทมิลในผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับกำจัดแมลงในบ้านเป็นสารอันตรายห้ามใช้เด็ดขาด แต่ในทางการเกษตร เมโทมิล ยังจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ซึ่งควบคุมโดยกรมวิชาการเกษตร ดังนั้นจึงยังอาจพบเห็นเมโทมิลวางขายตามร้านจำหน่ายสินค้าการเกษตรได้ แต่ก็ไม่ควรซื้อมาใช้สำหรับกำจัดแมลงในบ้านเด็ดขาด --------------------------------------------------------------   รีบลงทะเบียนซิม ก่อน 31 ก.ค. 58 ใครที่ใช้โทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินแล้วยังไม่ได้ลงทะเบียนซิม รีบไปทำลงทะเบียนซิมโดยด่วนภายในวันที่ 31 ก.ค. 2558 นี้ เพราะถ้าปล่อยให้พ้นกำหนดจะไม่สามารถใช้โทรออก ไม่สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ต และไม่สามารถส่งข้อความได้ ทำได้แค่รับสายโทรเข้าอย่างเดียวเท่านั้น การลงทะเบียนซิมเป็นการระบุตัวตนของผู้ใช้งานซิมนั้นๆ เพื่อจะช่วยป้องกันการนำซิมไปใช้ในการกระทำผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังช่วยในการรักษาสิทธิประโยชน์ ในการรักษาเบอร์ให้เป็นของเรา เมื่อเลิกใช้บริการก็สามารถขอเงินคงเหลือคืนได้ และสามารถเรียกร้องสิทธิต่างๆ เมื่อเกิดปัญหาในการใช้งาน สำหรับวิธีการตรวจสอบว่าซิมที่ใช้อยู่ลงทะเบียนแล้วหรือยัง ทำได้โดย กด *151# และโทรออก ฟรีทุกเครือข่าย ส่วนการลงทะเบียนเพียงแค่นำบัตรประชาชน หรือพาสปอร์ต หรือบัตรรายงานต่างด้าว ตัวจริง และโทรศัพท์มือถือพร้อมซิมไปลงทะเบียนได้ที่ศูนย์บริการเครือข่ายที่ท่านใช้งานอยู่ หรือจุดที่มีสัญลักษณ์ “2 แชะ แวะลงทะเบียนซิม” ---------------------------------------------   นั่งทำงานนานระวัง “หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม” หนุ่ม – สาววัยทำงานที่ต้องนั่งเก้าอี้ติดหน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ระวังเสี่ยงเป็นโรค “หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม” โดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกมาเตือนว่า การทำกิจกรรมซ้ำๆ เป็นเวลานานโดยไม่มีการเปลี่ยนอิริยาบถ รวมถึงการยกของหนัก หรือแม้แต่การสูบบุหรี่ ส่งผลทำให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณหมอนรองกระดูกน้อยลง การเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังทำให้เกิดการทรุดตัวของโครงสร้างกระดูกสันหลัง ร่างกายจะตอบสนองโดยการสร้างกระดูกงอกหรือหินปูนขึ้นมา เพื่อต้านการทรุดตัว ซึ่งอาจทำกระดูกสันหลังไปกดทับเส้นประสาท จะทำให้เกิดอาการปวดร้าวไปตามเส้นประสาท ปวดขา ชาขา นอกจากนี้ หากกระดูกสันหลังมีการทรุดตัวมากขึ้นจะทำให้เกิดกระดูกสันหลังคดหรือเคลื่อน สำหรับแนวทางป้องกันหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมหรือเกิดอาการกดทับเส้นประสาท ทำได้โดยหมั่นเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ อย่านั่งอยู่กับที่นานติดต่อกันเกิน 1 ชั่วโมง โดยเฉพาะวัยทำงานที่มักนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา ควรเปลี่ยนอิริยาบถ ด้วยการลุก ยืน เดิน มีการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบๆ หลัง และหน้าท้องให้แข็งแรงสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการยกของหนัก รวมทั้งงดการสูบบุรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้กระดูกพรุน และหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมเร็วขึ้น ------------------------------------------------------------------     จี้ สตง. ตรวจสอบ ปตท. ให้บุคคลที่สามใช้ท่อส่งก๊าซ นางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ และ นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และอดีตสมาชิกวุฒิสภา เข้าพบ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อให้ตรวจสอบ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กรณีเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติบนบกแก่บุคคลที่สาม ในระหว่างตรวจสอบการแบ่งแยกทรัพย์สินส่วนที่ปตท.ยังคืนให้แก่รัฐไม่ครบถ้วน ถือเป็นการนำท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในคำร้องไปทำสัญญากับบุคคลภายนอก ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับประเทศ เพราะอาจก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ หรือเสียประโยชน์ที่มีอยู่ในปัจจุบันและอาจเสียเปรียบในทางธุรกิจในอนาคตอีกหลายประการ บริษัท ปตท. ไม่ดำเนินการตามมติ ครม. วันที่ 18 ธันวาคม 2550 ในการแยกทรัพย์สินและโอนทรัพย์สินท่อก๊าซของปตท. จากปัญหาการตีมูลค่าทางบัญชี ณ วันที่ 30 กันยายน 2544 มูลค่า 46,000 ล้านบาท แต่เมื่อปตท.จ้างบริษัทเอกชนประเมินมูลค่าใหม่อีกครั้งปี 2551 จากการขยายอายุใช้งานของท่อส่งก๊าซ โดยเพิ่มอายุใช้งานขึ้นจากเดิมที่เคยประเมินไว้ที่ 25 ปีเป็น 40 ปี พบว่ามีมูลค่าท่อก๊าซสูงถึง 150,000 - 120,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ปตท.ยังขออนุมัติขึ้นค่าผ่านท่อ ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) อนุมัติให้ปตท.ขึ้นได้ 2 บาทต่อหน่วย ทำให้ปตท.มีรายได้เพิ่มขึ้นทันทีปีละ 2,000 ล้านบาททุกๆ ปี ส่งผลให้ประชาชนต้องซื้อก๊าซแพงขึ้น --------------------------------------------------   ถึงเวลาควบคุมราคาค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชน หลังจากที่เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ นำโดย นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายฯ นำรายชื่อประชาชน 33,000 ชื่อ เข้ายื่นต่อประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.คุ้มครองผู้บริโภค) เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมราคาโรงพยาบาลเอกชน เพื่อให้ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาโรงพยาบาลเอกชนคิดค่ารักษาพยาบาลสูงเกินจริง ปัญหากลไกราคายาที่ไม่มาตรฐานราคากลาง ปัญหาผู้ป่วยฉุกเฉินที่โดนเรียกเก็บค่าบริการก่อนการรักษา ทั้งนี้มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าราคายาและเวชภัณฑ์ตามโรงพยาบาลเอกชนสูงกว่าของโรงพยาบาลศูนย์ สังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขถึง 60-400 เท่า ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงได้เรียกประชุมเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วน โดยในการประชุมหารือมีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมการค้าภายใน, กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.), อย., แพทยสภา, สปสช., สภาเภสัชกรรม และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เบื้องต้นผลจากการหารือได้ข้อสรุปแนวทางแก้ปัญหาเป็น 3 ระยะ คือ 1. ระยะสั้น ให้รพ.เอกชน แสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล รวมถึงค่าบริการต่างๆ เช่น ค่าห้อง ค่าเครื่องมือ ค่าเตียง ฯลฯ ขึ้นเว็บไซต์ของโรงพยาบาลเอง รวมถึงส่งให้แก่ สบส. ด้วย เพื่อรวบรวมแล้วขึ้นเว็บไซต์ของ สธ. เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกรับบริการ ทั้งนี้สถานพยาบาลเอกชนที่ไม่ดำเนินการประกาศอัตราค่ารักษาพยาบาลมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หากแจ้งอัตราเป็นเท็จ เช่น ระบุรายการค่าใช้จ่ายที่ผู้ป่วยไม่ได้ใช้ ถือเป็นคดีอาญา มีโทษปรับ 40,000 บาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี 2. ระยะกลาง จะตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาราคา รพ.เอกชนแพง ซึ่งจะมาจากทุกภาคส่วน ยาถือเป็นสินค้าควบคุม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ของกระทรวงพาณิชย์ โดยจะมีการกำหนดให้ชัดเจนว่า ยาแต่ละหมวด แต่ละกลุ่ม ควรมีราคากลางเท่าไร โดยคำนวณจากต้นทุน และกำไรสูงสุดที่จะบวกเพิ่มต้องไม่เกินเท่าไร และ 3.ระยะยาว คณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นดังกล่าวจะพิจารณาค่ารักษาพยาบาลด้านอื่นๆ เช่น ค่าหัตถการ และจะประสานความร่วมมือกับ รพ.เอกชน ในการใช้ทรัพยากรบุคคลร่วมกับ รพ.รัฐ ในการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ยืนยันว่ามาตรการทุกระยะจะต้องมีการหารือกับ รพ.เอกชนก่อน

อ่านเพิ่มเติม >