ฉบับที่ 122 รถไปไม่ถึงหมอชิต ทำไมไม่บอก

 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนวันเข้าพรรษาของปี 2553 หนึ่งวัน คือตรงกับวันที่ 26 กรกฎาคม 2553เวลาประมาณ 23.30 น. คุณเทพรักษ์ บุญรักษา ได้เดินทางโดยรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท นครชัยแอร์ จำกัด จากขอนแก่นเพื่อเข้ามาทำธุระในกรุงเทพมหานคร โดยตั้งใจว่าจะลงรถที่สถานีขนส่งสายเหนือหมอชิต(ใหม่) ระหว่างเดินทางคุณเทพรักษ์บอกว่าการบริการไม่มีปัญหาอะไร แต่ปัญหามาเกิดเอาเมื่อรถเกือบถึงปลายทางอยู่รอมร่อรถได้เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ และเข้าจอดที่ศูนย์บริการของบริษัทนครชัยแอร์ ถ.กำแพงเพชร 2 ในเวลา 05.40 น. มีผู้โดยสารบางส่วนลงที่สถานีแห่งนี้ ส่วนที่เหลือยังนั่งอยู่ในรถโดยสารเพื่อจะเดินทางเข้าสถานีขนส่งสายเหนือหมอชิตคุณเทพรักษ์เล่าว่า ตนเข้าใจว่ารถโดยสารที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดทุกคันจะต้องเข้าไปส่งผู้โดยสารที่หมอชิตด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้โดยสารที่ต้องอาศัยรถโดยสารประจำทาง ขสมก.หรือรถร่วมที่มีท่ารถจอดอยู่ในหมอชิตหลายสิบสาย เพื่อเดินทางต่อในเขตกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียง โดยไม่ต้องเสียค่าแท็กซี่ที่มีราคาแพงกว่าหลายสิบเท่าตัว“ผมรออยู่ได้สักพักรถก็ไม่เคลื่อนออกไปไหน แต่มีพนักงานประจำรถมาบอกผู้โดยสารว่า รถจะไม่เข้าไปที่สถานีขนส่งหมอชิต ทำให้ผมแปลกใจมาก เพราะไม่มีการแจ้งข้อมูลนี้มาก่อนออกเดินทางเลย จึงถามเหตุผลกับพนักงานประจำรถว่าทำไมรถไม่เข้าหมอชิต พนักงานประจำรถบอกว่า เป็นช่วงเทศกาลรถติดมากจึงไม่เข้าหมอชิต” “การไม่บอกข้อมูลเรื่องนี้ให้ผู้โดยสารทราบ ผมเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมากในการตัดสินใจที่จะใช้บริการรถโดยสารเที่ยวนี้หรือไม่ ผมจึงเดินลงจากรถเข้าไปในศูนย์บริการของบริษัทฯ และหยิบกระดาษขึ้นมาเขียนข้อความร้องเรียนกับบริษัทนครชัยแอร์ว่าพนักงานบริการประจำรถไม่ได้แจ้งข้อมูลล่วงหน้ากับผู้โดยสารว่ารถโดยสารจะไม่เข้าไปที่สถานีหมอชิต ทำให้ตนเสียค่ารถโดยสารเพิ่ม และติดต่องานล่าช้า แล้วจึงส่งลงกล่องรับความคิดเห็นจากผู้ใช้บริการต่อหน้าพนักงานของบริษัท”เมื่อทำเรื่องร้องเรียนเสร็จ คุณเทพรักษ์ก็ต้องเรียกแท็กซี่เพื่อไปทำธุระของตนต่อโดยไม่คาดหวังอะไรมากนักกับการส่งเรื่องร้องเรียนไปแต่ปรากฏว่าในสายวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ของบริษัทนครชัยแอร์ได้ติดต่อกลับมาเพื่อขอโทษและยอมรับในข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการมอบตั๋วเดินทางชั้นไฮคลาสให้ฟรีหนึ่งที่นั่ง โดยให้สิทธิแก่คุณเทพรักษ์ที่จะเลือกเดินทางไปที่ไหนก็ได้ที่บริษัทนครชัยแอร์มีเส้นทางบริการอยู่ “การร้องเรียนครั้งนี้แสดงว่า ผู้บริโภคยังมีสิทธิมีเสียงในการร้องเรียนอยู่ในสังคมไทย และยังมีผู้ประกอบการที่ดีที่ยังรับฟังเสียงเล็กๆ ของผู้บริโภคอยู่” คุณเทพรักษ์กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ ข้อแนะนำเพิ่มเติม บทเรียนเรื่องนี้ เป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า “ร้องทุกข์หนึ่งครั้ง ดีกว่าบ่นพันครั้ง” อย่างแน่นอนครับ น่าเสียดายสำหรับผู้โดยสารท่านอื่นที่เกิดเหตุการณ์เดียวกันไม่ได้ใช้สิทธิร้องเรียนเหมือนคุณเทพรักษ์ พึงระลึกไว้เสมอว่าเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิขึ้น ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย เราควรร้องเรียนโดยตรงต่อผู้ประกอบธุรกิจโดยทันที การร้องเรียนด้วยวาจาอาจทำให้เราสะดวกและได้ระบายอารมณ์ แต่มันไม่ค่อยมีผลในการเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ดังนั้น การร้องเรียนที่ดีจะต้องมีเป้าหมายไม่ใช่เพียงแค่การระบายอารมณ์ครับ แต่ควรจะเรียกร้องให้ผู้ประกอบธุรกิจเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเราด้วย โดยให้เขียนข้อร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษรไป แล้วแจ้งว่าเราได้รับความเสียแค่ไหนอย่างไรและขอให้เยียวยาความเสียหายแก่เราเป็นจำนวนเท่าไหร่ด้วยวิธีการใดก็ระบุให้ชัดเจน แต่ถ้าไม่แน่ใจก็เขียนไปว่าขอให้พิจารณาเยียวยาความเสียหายให้แก่เราตามสมควรครับ ถ้าเก็บสำเนาข้อร้องเรียนนี้ได้ก็จะเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องต่อไปได้อย่างชัดเจนที่สุดครับ

อ่านเพิ่มเติม >