ฉบับที่ 111 สงสัยครีมหมอจุฬา ใช้แล้วเสี่ยง

เรียน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคใน net ลงข้อความครีมหมอจุฬาในกระปุกใสของจริงจะไม่มีสติ๊กเกอร์ติดด้านบน จะมีเพียงด้านข้างซึ่งรูปดอกไม้จะมีสีอ่อนกว่า และตัวหนังสือความเข้มก็จะอ่อนกว่าค่ะ ช่วยตรวจสอบให้ด้วยค่ะว่าแบบไหนจริงแบบไหนปลอม หรือว่าปลอมทั้งคู่ และช่วยตรวจสอบเกี่ยวกับครีมหมอจุฬาว่าของแท้เป็นยังไง สรรพคุณดีจริงอย่างที่โฆษณาไหม ใช้แล้วมีผลข้างเคียงยังไง มีแหล่งผลิตที่แน่ชัดไหม ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับ อย.หรือเปล่าคะ แล้วถ้ามีครีมของหมอจุฬาที่เป็นของจริง สามารถติดต่อหรือสั่งซื้อได้ยังไงถึงจะไม่โดนหลอกและได้ของจริงผู้บริโภคจากชลบุรีท่านหนึ่ง ได้เขียนจดหมายฉบับนี้มาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หลังจากที่เคยซื้อผลิตภัณฑ์หน้าขาว ครีมสมุนไพรตราหมอจุฬา จากร้านขายเครื่องสำอางแถวบ้าน ซึ่งเป็นครีมข้นสีครีม ไม่มีกลิ่น มีฉลากแสดงประเภทสินค้า วิธีใช้ และสรรพคุณสินค้า แต่ไม่ได้ระบุเลขทะเบียนอาหารและยา จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เลยมีความสงสัยว่า ครีมที่ซื้อมาจากร้านขายเครื่องสำอางกับครีมที่โฆษณาทางอินเตอร์เน็ตนั้น ตัวไหนคือของจริง ตัวไหนคือของปลอม หรือว่าปลอมกันทั้งคู่ แนวทางแก้ไขปัญหาเราได้ส่งหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ได้รับคำตอบกลับมาในเวลาอันรวดเร็ว จึงขอกระจายข่าวให้กับผู้ที่จะซื้อหรือกำลังใช้ครีมเครื่องสำอางยี่ห้อหมอจุฬาได้รับทราบโดยทั่วกันอย. ชี้แจงถึงเครื่องสำอางที่เราได้รับจากผู้ร้องเรียนและส่งไปให้ อย. ตรวจสอบนี้ พบว่าการแสดงฉลากภาษาไทยไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด คือ ไม่มีชื่อเครื่องสำอาง ส่วนประกอบ วันเดือนปีที่ผลิต ครั้งที่ผลิต ที่ตั้งของผู้ผลิต และเนื้อครีม(ที่ผู้ร้องส่งมาให้ตรวจสอบนั้น)ที่อยู่ในตลับมีปริมาณน้อยมาก จึงไม่สามารถส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือทดสอบโดยชุดทดสอบเบื้องต้นได้อย่างไรก็ดี อย. ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เครื่องสำอางดังกล่าวมีลักษณะใกล้เคียงกับเครื่องสำอางที่ อย. เคยประกาศผลการตรวจวิเคราะห์ให้ประชาชนทราบแล้ว คือ ครีมรักษาสิว-ฝ้าหน้าขาวสมุนไพรเกรด A 100% ระบุผลิตโดย ศูนย์วิจัยหมอจุฬา ไม่ระบุที่ตั้งผู้ผลิต วันที่ผลิต เลขที่ผลิต ตรวจพบสารห้ามใช้ปรอทแอมโมเนีย และครีมหน้าขาว(สูตรเข้มข้น) ระบุผลิตโดยศูนย์วิจัยหมอจุฬา ไม่ระบุที่ตั้งผู้ผลิต วันที่ผลิต เลขที่ผลิต ตรวจพบสารห้ามใช้ ปรอทแอมโมเนีย ซึ่งการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ได้ คือ อาจทำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ ผิวบางลง เกิดพิษสะสมของสารปรอท ทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ และไตอักเสบ“ผลิตภัณฑ์นี้จึงจัดเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ ซึ่งกฎหมายกำหนดโทษสำหรับผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้นำเข้าเพื่อขาย และผู้ขาย ให้จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”ท้ายสุด อย. ให้ข้อแนะนำว่า ผู้บริโภคควรเลือกซื้อเครื่องสำอางด้วยความระมัดระวัง จากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน ฉลากภาษาไทยมีข้อความบังคับครบถ้วน คือ ชื่อและประเภทผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบสำคัญ วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งแหล่งผลิต วันเดือนปีที่ผลิต ปริมาณสุทธิ ส่วนร้านค้าที่ซื้อเครื่องสำอางเพื่อมาจำหน่าย จะต้องซื้อจากผู้มีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ และมีหลักฐานการซื้อขายที่ระบุชื่อและที่ตั้งของผู้ขายอย่างชัดเจนดังนั้น เครื่องสำอางไหนๆ หากขาดรายละเอียดที่ อย.ว่ามา ก็ไม่ต้องถามหรอกครับว่า ของไหนปลอม ของไหนจริง เพราะทั้งหมดล้วนเป็นเครื่องสำอางเสี่ยงภัยทั้งนั้น “หยุดซื้อ หยุดใช้” เป็นดีที่สุดครับ

อ่านเพิ่มเติม >