ฉบับที่ 170 หน้าร้อนแล้ว ดื่มอะไรดี

ผู้ที่ชอบดื่มน้ำอัดลมสีดำอาจไม่สบายใจนัก เพราะมีนักข่าวชื่อ Rachef Arthur รายงานใน www.beveragedaily.com เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2015 ว่า อาจารย์ของมหาวิทยาลัยจอห์นฮอบกินในสหรัฐอเมริกาชื่อ Keeve Nachman ออกมาให้ข่าวถึงความเสี่ยงต่อการได้รับสารก่อมะเร็งของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจากการดื่มน้ำอัดลมสีดำ พร้อมตั้งความหวังว่าหน่วยงานรัฐควรลดความเสี่ยงโดยการพิจารณากฎหมายลดการที่ผู้บริโภคได้รับสาร 4-methylimidazole ในน้ำอัดลมที่ใช้สีคาราเมลชนิดที่ 3 และชนิดที่ 4 จากข่าวดังกล่าวทำให้บริษัทขายน้ำดำยี่ห้อหนึ่งรีบออกมาตอบโต้ว่า ข้อมูลดังกล่าวนั้นล้าสมัยแล้ว เป็นเรื่องเก่าที่มีการพูดถึงมานานและก็จบไปแล้ว น้ำอัดลมสีดำนั้นไม่ปาราชิกแน่ ทั้งนี้เพราะสินค้าของบริษัทนั้นได้มาตรฐานระดับโลกตลอดเวลา ในรายงานวิจัยเรื่อง Caramel Color in Soft Drinks and Exposure to 4-Methylimidazole: A Quantitative Risk Assessment ของ Tyler J. S. Smith และคณะ จากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอบกิน (มี Keeve Nachman ซึ่งเป็นผู้ให้ข่าวแก่สาธารณะข้างต้นร่วมเป็นผู้นิพนธ์ด้วย) ตีพิมพ์ในวารสารออนไลน์ชื่อ PLOS One  เมื่อวันที่ February 18, 2015  มีข้อมูลที่ได้จากการทำวิจัยว่า ผู้บริโภคในรัฐแคลิฟอร์เนียได้รับสารพิษ 4-methylimidazole นี้จากเครื่องดื่มน้ำดำในปริมาณซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเพราะพบว่า ประชาชนในรัฐดังกล่าวได้รับสารพิษนี้เกิน 29 ไมโครกรัมต่อวัน ซึ่งตามข้อบัญญัติของกฎหมายชื่อ California’s Proposition 65 law นั้น กำหนดว่าเครื่องดื่มที่ทำให้ประชาชนได้รับ 4-methylimidazole เกินกว่า 29 ไมโครกรัมต่อวัน (ซึ่งทำให้ความเสี่ยงของผู้บริโภคต่อการเป็นมะเร็งเกินกว่า 1 คนต่อ 100,000 คน) นั้นต้องติดฉลากเพื่อเตือนอันตราย เว็บของบริษัทขายสีคาราเมลเว็บหนึ่งกล่าวว่า สีคาราเมลนั้นเป็นสีที่ถูกใช้มากที่สุดในโลก เพราะเครื่องดื่มที่มีการดื่มมากที่สุดในโลกนั้นมีสีดำ จึงต้องใช้สีคาลาเมลแต่งสีให้น้ำนั้นดำตามมาตรฐานของสินค้านั้นๆ ตามข้อบัญญัติเกี่ยวกับสารเจือปนในอาหารของสหรัฐอเมริกานั้น สีคาราเมลเป็นของเหลวหรือของแข็งสีน้ำตาลเข้มซึ่งมักได้จากการให้ความร้อน(ที่ควบคุมอุณหภูมิได้)แก่น้ำเชื่อมทำจากน้ำตาลเด็กโตรส (อีกชื่อของกลูโคส)ที่ได้จากข้าวโพด แล้วได้คาราเมลที่อยู่ตัวและไม่เหนียวเกินไป ที่น่าสนใจคือ ในการผลิตนั้นยังมีการใช้ กรด ด่างหรือเกลือบางชนิดช่วยเร่งให้สารตั้งต้นเปลี่ยนเป็นสีคาราเมล สีคาราเมลถูกจัดให้เป็นสารเจือปนในอาหารที่ปลอดภัยมากในระดับ GRAS (generally recognized as safe) ทั้งนี้เพราะเป็นสารเจือปน 1 ใน 700 ชนิดที่ถูกจัดว่ามีความเป็นธรรมชาติ (เหมือนกับ คำแสด(annatto) เบต้าแคโรทีน และน้ำจากหัวบีท เป็นต้น) ที่ใช้กันมานานก่อนที่รัฐบัญญัติ U.S. Food Drug and Cosmetic Act มีผลในวันที่ 1 มกราคม 1958 ซึ่งหมายความว่า สารเหล่านี้ไม่ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบความเป็นพิษด้วยสัตว์ทดลอง เนื่องจากคนที่กินมันตั้งแต่ก่อนปี 1958 นั้นได้เป็นเสมือนเป็นสัตว์ทดลองไปเรียบร้อยแล้ว สีคาราเมลที่มีการขายเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารนั้นแบ่งเป็น 4 ชนิดคือ ชนิดที่ 1 (มีรหัสของอียูว่า E150a บนฉลากอาหาร) ได้จากการให้ความร้อนแก่คาร์โบไฮเดรตโดยอาจมีการใช้กรดหรือด่างที่มีการยอมให้ใช้ได้ในอาหารเป็นตัวช่วย แต่ไม่มีการใช้เกลือแอมโมเนียหรือเกลือซัลไฟต์ในการผลิต สีที่ได้นั้นมีประจุไฟฟ้าเป็นกลางหรือลบนิดหน่อย สีคาราเมลชนิดที่ 2 (มีรหัสเขียน E150b บนฉลากอาหาร) หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า caustic sulfite caramel ดูตามชื่อแล้วท่านผู้อ่านคงเดาได้ว่า ได้จากการให้ความร้อนแก่คาร์โบไฮเดรตโดยมีการเติมเกลือซัลไฟต์ลงไป สีที่ได้นั้นมีประจุไฟฟ้าเป็นลบ สีคาราเมลชนิดที่ 3 (มีรหัสเขียน E150c หรือ ammonia caramel colors) ได้จากการให้ความร้อนแก่คาร์โบไฮเดรตโดยผสมหรือไม่ผสมกรดหรือด่างลงไปแต่ที่ผสมแน่ๆ คือ เกลือแอมโมเนีย ได้สีคาราเมลที่มีประจุไฟฟ้าเป็นบวก สีคาราเมลชนิดที่ 4 (มีรหัสเขียนE150d หรือ sulfite ammonia caramel colors) จากชื่อของสีท่านผู้อ่านคงเดาได้ว่า ในการเตรียมนั้นมีการใช้ทั้งเกลือแอมโมเนียและเกลือซัลไฟต์ ทำให้ได้สีที่มีประจุไฟฟ้าเป็นลบ สีคาราเมลชนิดนี้แหละที่มีการผลิตให้ผู้บริโภคกินมากที่สุด เพราะเป็นสีที่มีความเสถียรที่สุดและหนืดน้อยที่สุด สิ่งที่เป็นปัญหาของสีคาราเมล ซึ่งรู้กันมานานพอควรแล้วคือ ในการผลิตสีชนิดที่ 3 และ 4 ซึ่งมีการใช้เกลือแอมโมเนียนั้น ก่อให้เกิดสารปนเปื้อนชนิดหนึ่งคือ 4-methylimidazole หน่วยงาน National Toxicology Program (NTP) ของสหรัฐอเมริกาได้จัดให้สาร 4-methylimidazole เป็น "possibly carcinogenic to humans" ซึ่งหมายความว่า มีข้อมูลการก่อมะเร็งแล้วในสัตว์ทดลอง แต่ยังขาดข้อมูลระบาดวิทยาในคน โดยผลการศึกษาในการประเมินความเป็นพิษของ 4-methylimidazole ในหนู rat ซึ่งใช้เวลา 2 ปีนั้น ยังสรุปไม่ได้ถึงอันตรายในการก่อมะเร็ง แต่ข้อมูลจากศึกษาในหนู mouse ซึ่งใช้เวลา 2 ปีเช่นกันนั้นพบว่า สารนี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดีมีนักวิทยาศาสตร์บางคนได้ตั้งประเด็นว่า ผลการศึกษานั้นไม่น่าเชื่อถือเพราะการประเมินความเสี่ยงของสารเจือปนในอาหารนั้น มักใช้ปริมาณสารมากเกินกว่าที่มนุษย์จะได้รับจริงเช่น เป็นพันเท่าขึ้นไปของปริมาณที่จะมีการใช้ในอาหาร การโต้แย้งในลักษณะนี้กลายเป็นความเคยชินแล้วสำหรับนักพิษวิทยา เพราะผู้โต้แย้ง (ซึ่งมักมีผลประโยชน์ทับซ้อน) มักทำเป็นลืมไปว่า จำนวนประชากรในโลกตอนนี้มีกว่า 7000 ล้านคน ในขณะที่การศึกษาความเป็นพิษของสารเคมีทั่วไปนั้นใช้หนูทดลอง(ซึ่งมีสุขภาพดีและกินดีอยู่ดี)เพียงพันกว่าตัวถึงสองพันตัว  เพื่อรับบทบาทเป็นตัวแทนของมนุษย์กลุ่มที่อ่อนแอที่สุดซึ่งไวต่อการเป็นมะเร็ง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้ปริมาณสารในปริมาณที่สูงมากเพื่อให้ได้เห็นศักยภาพความเป็นพิษของสาร ซึ่งถ้าผลการทดลองไม่พบความเป็นพิษก็จะทำให้สบายใจได้ว่า ประชากรทั้งแข็งแรงและอ่อนแอไม่ต้องเสี่ยงมากนักต่อการเป็นมะเร็งเนื่องจากกินสารที่ถูกทดสอบ สำหรับผลการศึกษาที่ Keeve Nachman แถลงข่าวนั้นเป็นผลจากการวิเคราะห์ความเข้มข้นของ 4-methylimidazole ในน้ำอัดลม และนำไปคำนวณความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในผู้บริโภค ซึ่งพบว่าความเสี่ยงสูงกว่าที่ยอมรับได้คือ คำนวณได้ว่า ในผู้บริโภคล้านคนมีมากกว่าหนึ่งคนที่จะเป็นมะเร็งเนื่องจากการบริโภคสินค้าดังกล่าว ท่านผู้อ่านสามารถตามไปดูบทความวิจัยชื่อดังกล่าวได้โดยอาศัยอากู๋เกิ้ลช่วยพาไป ข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตกล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้ออกมาสรุปผลจากงานวิจัยของ Tyler J. S. Smith และคณะว่า ความเสี่ยงที่คำนวณได้ว่าการดื่มน้ำอัดลมที่ถูกศึกษาแล้วจะเป็นมะเร็งนั้น ผู้บริโภคต้องดื่มน้ำอัดลมถึง 1,000 กระป๋องต่อวัน ถึงจะได้ 4-methylimidazole ถึงระดับที่ก่อปัญหาได้ (ซึ่งคงไม่มีคนบ้าคนไหนดื่มได้) ซึ่งการสรุปนี้ว่าไปก็ถูกในแง่การเอาใจผู้ประกอบการแต่ผิดในแง่ที่ อย.มะกันอาจลืมคิดไปว่า แม้ว่าพลโลกส่วนใหญ่จะมีร่างกายแข็งแรงกำจัดสารพิษทิ้งได้ไม่ยาก แต่ก็มีส่วนน้อยที่อาจมีระบบกำจัดสารพิษในร่างกายไม่ดีอยู่บ้าง ที่น่าสนใจคือ ในปี 2011 รัฐบัญญัติ California’s Safe Drinking Water and Toxic Enforcement Act (Proposition 65) ได้เพิ่มสาร 4-methylimidazole เป็นสารก่อมะเร็งในบัญชีสารก่อมะเร็งเรียบร้อยโรงเรียนมะกันไปแล้ว ซึ่งทำให้กลุ่มโรงงานผู้ผลิตน้ำอัดลมน้ำดำจำใจต้องประกาศว่า จะลดความเข้มข้นของ 4-methylimidazole ในผลิตภัณฑ์ของตน (ซึ่งน่าจะหมายความว่าใช้สีน้อยลง) ข้อมูลที่นำเสนอนี้ ไม่ได้หมายความว่าต้องการก่อความกังวลให้แก่ผู้นิยมบริโภคน้ำอัดลมสีดำของบ้านเรา ทั้งนี้เพราะผู้บริโภคคงไม่มีโอกาสทราบว่า สีคาราเมลที่ใช้ในเมืองไทยนั้นเป็นสีคาราเมลชนิดใด เมื่อไม่รู้และไม่มีทางรู้ก็อย่ากังวลไปเลย หาวิธีลดความเสี่ยงเอาเอง แบบว่าเมื่อผู้เขียนกระหายต้องการน้ำตาลหลังออกแรงก็ดื่มเฉพาะน้ำอัดลมชนิดน้ำใสเท่านั้น จึงทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายจากกลิ่นและรสสังเคราะห์เท่านั้น (ความรู้ด้านพิษวิทยาสอนให้รู้ว่า เมื่อมีอะไรเข้าปากเรา ความเสี่ยงย่อมเกิดขึ้นทั้งนั้น เพียงแต่ว่าเราจะยอมรับหรือไม่เท่านั้น)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point