ฉบับที่ 265 การจอดรถหน้าบ้านคนอื่น ผิดกฎหมายหรือไม่

        หลายคนมักมีปัญหาเจอคนชอบเอารถมาจอดขวางหน้าบ้านทำให้เข้าออกได้ไม่สะดวก แน่นอนว่าหลายคนอาจสงสัยว่า บริเวณหน้าบ้านถือเป็นพื้นที่ของเจ้าของบ้านหรือไม่ (ความเป็นจริงส่วนมากมักเป็นที่สาธารณะ) อย่างไรก็ตามการจอดรถในที่สาธารณะซึ่งเป็นบริเวณหน้าบ้านของคนอื่น ก็อาจทำให้เจ้าของบ้านเกิดปัญหามีความเดือดร้อนในการเข้าออกหรือไม่สามารถนำรถยนต์ของตนเองออกไปข้างนอกได้เช่นนี้ หลายคนจึงสงสัยว่ากฎหมายมีการคุ้มครองเจ้าของบ้านมากน้อยเพียงใด  มีบทลงโทษคนที่ชอบจอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่นไหม เรื่องนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 ระบุว่า “ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือ ให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท”        บทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น ระบุพฤติการณ์ของผู้ที่จะถือว่ากระทำความผิดต้องมีการกระทำในลักษณะ “รังแก” หรือ “ข่มเหง” หรือ คุกคาม หรือ ให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ”  ดังนั้นการจอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่นก็อาจไม่ใช่เป็นความผิดเสมอไป เนื่องจากหากมีการเรียกให้เจ้าของรถยนต์เอารถยนต์ที่จอดขวางออกไปเพื่อให้เจ้าของบ้านเข้าออกได้และมีการย้ายรถยนต์ออกไปก็จะไม่ถือว่าเป็นความผิด แต่ในทางกลับกันหากเมื่อเจ้าของบ้านได้ขอให้ขยับรถออกจากหน้าบ้าน แต่เจ้าของรถยนต์กลับเมินเฉยไม่สนใจและไม่ขยับรถออกไปหน้าบริเวณหน้าบ้านเช่นนี้ อาจเข้าข่ายกระทำความผิดในมาตรา 397 เพราะถือว่าเป็นการรังแกข่มเหงให้เจ้าของบ้านเกิดความเดือดร้อนรำคาญ   ซึ่งเรื่องนี้เคยมีการฟ้องร้องเป็นคดีสู่ศาลจนเกิดแนวคำพิพากษาเป็นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1908/2518 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1908/2518         จำเลยจอดรถขวางกั้นไม่ให้โจทก์ถอยรถออกไปจากซอยที่เกิดเหตุ เป็นเพียงขัดขวางไม่ให้โจทก์นำรถออกไปได้เท่านั้น ส่วนตัวโจทก์มีอิสระที่จะออกไปจากซอยได้ การกระทำของจำเลยยังไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 แต่เป็นการรังแกข่มเหงทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนรำคาญ แม้ซอยนั้นจะอยู่ในที่ดินของผู้มีชื่อซึ่งแบ่งให้ผู้อื่นเช่าปลูกบ้าน แต่ประชาชนก็ชอบที่จะเข้าออกไปติดต่อกับผู้ที่อยู่ในซอยนั้นได้ ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำในที่สาธารณสถาน จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397         นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายจราจร ที่กำหนดว่าผู้ขับขี่จะจอดรถก็ต้องระมัดระวัง ไม่ไปจอดในพื้นที่ที่อาจทำให้เกิดความเสียหายกับผู้อื่น ดังนั้น การจอดรถขวางทางเข้าออกบ้านคนอื่น จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 55 (6) ซึ่งบัญญัติว่า มาตรา 55 ห้ามมิให้ผู้ขับขี่หยุดรถ 1. ในช่องเดินรถ เว้นแต่หยุดชิดขอบทางด้านซ้ายของทางเดินรถในกรณีที่ไม่มีช่องเดินรถประจำทาง 2. บนทางเท้า 3. บนสะพานหรือในอุโมงค์ 4. ในทางร่วมทางแยก 5. ในเขตที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามหยุดรถ 6. ตรงปากทางเข้าออกของอาคารหรือทางเดินรถ 7. ในเขตปลอดภัย ซึ่งหากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท         อย่างไรก็ตามแม้การที่มีผู้อื่นมาจอดรถขวางหน้าบ้านของเราจะถือเป็นความผิดต่อกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้ทำให้เจ้าของบ้านเกิดสิทธิที่จะทำลายหรือทำให้รถยนต์ที่จอดขวางหน้าบ้านได้รับความเสียหาย อย่างเช่นในอดีตที่มีข่าวป้าทุบรถและถูกเจ้าของรถดำเนินคดีซึ่งในคดีดังกล่าวศาลก็ตัดสินว่าเป็นการกระทำผิดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ที่ระบุว่าผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ           ดังนั้นสำหรับเจ้าของรถหากมีความจำเป็นที่จะต้องจอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่นเพื่อทำธุระ ควรทิ้งเบอร์ติดต่อไว้ที่หน้ารถเผื่อมีกรณีฉุกเฉินหรือเจ้าของบ้านต้องการให้ขยับรถของจากหน้าบ้าน เจ้าของบ้านจะได้ติดต่อได้สะดวก ส่วนเจ้าของบ้านหากพบว่ามีรถจอดขวางหน้าบ้านก็ควรติดต่อเจ้าของรถแจ้งเตือนหรือบอกกล่าวให้รับทราบในกรณีเจอรถจอดขวางหน้าบ้านหรือติดป้ายประกาศห้ามจอดที่รั้วประตูบ้าน พร้อมระบุข้อความแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นให้กับรถที่ผ่านมาได้ทราบ และหากไม่ได้รับความร่วมมือในการย้ายรถออกก็ควรไปแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายอันเป็นการใช้สิทธิที่ชอบธรรมตามที่มีกฎหมายรับรองไว้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 202 ใช้สิ่งของวางกันที่ไม่ให้ผู้อื่นจอดรถหน้าบ้านที่เป็นทางสาธารณะ ทำได้หรือไม่

ในฉบับนี้ ผมก็มีเรื่องน่าสนใจ เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในที่ทางสาธารณะ ซึ่งบางครั้งอาจไปกระทบกับบ้านใกล้เรือนเคียง ที่เราจะพบเห็นกันบ่อยๆ จนเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันนั้น ส่วนใหญ่ก็คือเรื่องของที่จอดรถ  หลายคนมักใช้ที่หรือทางสาธารณะในการจอดรถหรือเป็นทางเข้าออก ซึ่งบางครั้งเราก็ต้องระมัดระวัง เพราะพื้นที่ดังกล่าวคือ “ทางสาธารณะ” ไม่ใช่พื้นที่ส่วนบุคคล ใครๆ ก็มีสิทธิมาใช้ได้ทั้งนั้น อย่างเช่นในคดีที่จะยกตัวอย่างนี้ เป็นเรื่องที่จำเลยเอากระถางต้นไม้มาวางหน้าบ้านตนเอง ในระยะแนวร่นอาคาร 1 เมตร แล้วจอดรถบนทางสาธารณะ ทำให้คนอื่นได้รับความเดือดร้อน เพราะไม่สามารถจอดรถในถนนส่วนที่เหลือได้ ศาลจึงมองว่าการกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิเกินส่วน ทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8293/2559คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8293/2559การใช้ถนนสาธารณะเป็นที่จอดรถ หากไม่มีข้อห้ามตามกฎหมายเป็นอย่างอื่น เจ้าของที่ดินที่มีอาคารติดกับถนนสาธารณะ ก็อาจใช้ทางสาธารณะเป็นที่จอดรถของตนได้ แต่จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นหลักก่อน โดยต้องเว้นทางสำหรับรถยนต์ให้เข้าออกได้เป็นลำดับแรก แล้วเจ้าของอาคารทั้งสองฝั่งถนนรวมถึงบุคคลทั่วไปจึงจะมีสิทธิใช้ทางส่วนที่เหลือเป็นที่จอดรถบนหลักของความเสมอภาค โดยไม่จำต้องคำนึงว่าใครจะเป็นผู้มาใช้สิทธิจอดรถก่อนหลังกัน การที่จำเลยทั้งสี่ใช้พื้นที่ถนนสาธารณะ ซึ่งมีความกว้างเพียง 4 เมตร จอดรถของตนทั้งคันในลักษณะหวงกันการใช้ประโยชน์ของผู้อื่น ทั้ง ๆ ที่ควรจะใช้แนวร่นอาคาร 1 เมตร ที่อยู่ติดกับถนนสาธารณะดังกล่าวของตนประกอบการจอดรถด้วย แต่กลับใช้เป็นที่วางกระถางต้นไม้ ซึ่งมิใช่เหตุจำเป็นที่จะใช้แนวร่นอาคารเพื่อการนั้น ย่อมเป็นการกระทำที่เกินสิทธิของตนและคำนึงถึงประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงสิทธิในการใช้ทางสาธารณประโยชน์ของผู้อื่นที่มีอยู่ร่วมกัน เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเกินควร ไม่สามารถใช้พื้นที่ถนนส่วนที่เหลือในการจอดรถของตนได้ จึงรับฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่ เป็นการใช้สิทธิ ซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นอันมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 421 และถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิขอบังคับให้จำเลยทั้งสี่จอดรถในแนวร่นอาคารอันเป็นแดนกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสี่ได้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 624/2544บริษัท ม. จัดสรรพื้นคอนกรีตบนที่ว่างด้านหน้าอาคารของโจทก์และจำเลย รวมตลอดถึงด้านหน้าที่ดินที่จัดสรรทุกแปลงเป็นทางสำหรับให้บุคคลที่ซื้อบ้านที่บริษัท ม. ได้จัดสรรขายใช้เข้าออกสู่ถนนพหลโยธินได้ การที่จำเลยให้พนักงานของจำเลยและลูกค้าที่มาติดต่อกับจำเลยใช้และนำกระถางต้นไม้วางบนพื้นที่ไปจนถึงทางเท้าริมถนนพหลโยธินเป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจใช้พื้นที่เข้าออกได้ แม้เป็นการชั่วคราวแต่ก็เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่ให้เกิดเสียหายแก่โจทก์อันเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 421 และยังเป็นการใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรตามมาตรา 1337 อีกด้วย โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไปได้ดังนั้นกล่าวโดยสรุปคือ “ทางสาธารณะ” เป็นพื้นที่ที่ให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน และเป็นพื้นที่ซึ่งมีไว้เพื่อวัตถุประสงค์ในการทำประโยชน์สาธารณะ เมื่อเราจะใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวก็ต้องคิดให้รอบคอบว่าจะทำให้ผู้อื่นที่จะใช้พื้นที่นั้นเกิดความเดือดร้อนหรือไม่ อย่างในตัวอย่างข้างต้นนี้ เอากระถางต้นไม้มาวาง ทำให้คนอื่นจอดรถหน้าบ้านตนเองไม่ได้ เขาเดือดร้อนก็มาฟ้องศาลให้รื้อ หรือย้ายกระถางและให้จอดรถในพื้นที่แนวร่นอาคารซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลได้ 

อ่านเพิ่มเติม >