ฉบับที่ 145 ความจำเป็นของเสาหนวดกุ้ง ก้างปลา สำหรับการรับสัญญาณโทรทัศน์แบบดิจิตอล

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ โดยปรกติการเลือกซื้ออุปกรณ์รับสัญญาณนั้น ถ้าอยู่ในบริเวณที่มีสัญญาณแรง เช่นในเขตกรุงเทพมหานคร ก็ใช้อุปกรณ์แบบ Inner Antenna ได้ แต่ถ้าอยู่ในบริเวณที่สัญญาณอ่อนก็ต้องใช้อุปกรณ์แบบ Outer Antenna แต่ถ้าใครมีหนวดกุ้ง ก้างปลาอยู่แล้วก็ไม่ต้องตกใจว่าจะต้องเปลี่ยนนะครับ เพราะอุปกรณ์รับสัญญาณนั้น ยังสามารถใช้ต่อไปได้   สัญญาณแบบอนาลอก เป็นสัญญาณโทรทัศน์ที่จะหมดยุคภายใน 4-5 ปีนี้ เนื่องจากประเทศไทยเราจะก้าวเข้ามาสู่ยุคโทรทัศน์แบบดิจิตอล ซึ่งผู้บริโภคที่มีความรู้ในเรื่องเทคนิคอย่างค่อนข้างจำกัดนั้น สมควรที่จะต้องหาความรู้พื้นฐาน ตลอดจนการเตรียมการในการที่จะรับสัญญาณแบบใหม่นี้ ซึ่งความรู้พื้นฐานที่ผู้บริโภคควรมีไว้กับตัวนั้น ผมนำมาจากความรู้ขององค์กรผู้บริโภคภาคเอกชนของเยอรมนี (Stiftung Warentest) มานำเสนอแด่เพื่อนสมาชิก องค์กรนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นรายปี แต่รายได้หลักขององค์กรนี้จะมาจากสมาชิกที่สมัครรับวารสาร ทำหน้าที่เหมือนกับหนังสือฉลาดซื้อของเรานี่แหละครับ   การทดสอบแต่ละครั้งจะทดสอบสินค้าเชิงคุณภาพ และเปรียบเทียบเทียบความคุ้มค่าที่เรียกว่า cost effectiveness ในการเลือกซื้อเลือกจ่ายแต่ละครั้งคนเยอรมัน จะมีข้อมูลรอบด้าน ครบถ้วน สำหรับผู้บริโภคที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเป็นผู้กำหนดตลาดที่มีการแข่งขันตัวจริงเสียงจริง เป็นองค์กรที่ช่วยราษฎร์ เสริมรัฐ และผมหวังว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิประชาชนขั้นพื้นฐานจะให้การสนับสนุนองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่กำลังค้างอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ให้กฎหมายนี้ผ่านมาได้ และทำหน้าที่ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของบริโภคเฉกเช่นกัน   บทความในวันนี้ มีวัตถุประสงค์ในการแนะนำผู้บริโภคในการเลือกชมรายการโทรทัศน์ผ่านอุปกรณ์สัญญาณภาคพื้นดิน (Digital Video Broadcasting: Terrestrial DVB-T)   การรับสัญญาณโทรทัศน์ในยุคดิจิตอลนั้นหากเป็นการรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ก็ต้องมีอุปกรณ์รับสัญญาณเช่นเดียวกับการรับสัญญาณแบบอนาลอกคือ เสาก้างปลา (Outer Antenna) (ดูรูปที่ 1)   สำหรับรับสัญญาณภายนอกอาคาร และเสาหนวดกุ้งที่เรียกว่า (Inner Antenna) (ดูรูปที่ 2)   ปัจจุบันเทคโนโลยีของอุปกรณ์รับสัญญาณทั้งสองแบบได้พัฒนาการไปจนรูปร่างลักษณะจะไม่เหมือนกับหนวดกุ้ง ก้างปลาในอดีตแล้วครับ โดยปรกติการเลือกซื้ออุปกรณ์รับสัญญาณนั้น ถ้าอยู่ในบริเวณที่มีสัญญาณแรง เช่นในเขตกรุงเทพมหานคร ก็ใช้อุปกรณ์แบบ Inner Antenna ได้ แต่ถ้าอยู่ในบริเวณที่สัญญาณอ่อนก็ต้องใช้อุปกรณ์แบบ Outer Antenna แต่ถ้าใครมีหนวดกุ้ง ก้างปลาอยู่แล้วก็ไม่ต้องตกใจว่าจะต้องเปลี่ยนนะครับ เพราะอุปกรณ์รับสัญญาณนั้น ยังสามารถใช้ต่อไปได้ แต่ถ้าใครต้องการเปลี่ยนเพราะ เราใช้อุปกรณ์ดังกล่าวมานานแล้วคุณภาพในการรับสัญญาณเริ่มจะลดลงก็ลองหันมาดู อุปกรณ์ใหม่ๆ ดังกล่าวได้เช่นกัน   ความจำเป็นในการติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณแบบ เสาหนวดกุ้งก้างปลายังคงมีอยู่ ในเยอรมนีเองการรับสัญญาณผ่านเสาสัญญาณแบบนี้ ถือได้ว่ามีสัดส่วนสูงที่สุดสูงกว่ารับสัญญาณผ่านจานดาวเทียม หรือผ่านเคเบิล ถ้าพิจารณาจากการส่งสัญญาณโทรทัศน์แบบภาคพื้นดินของช่องฟรีทีวีในเยอรมนีแล้ว จะเห็นว่าครอบคลุมพื้นที่ มากกว่า 95 % (รูปที่ 3) การติดตั้งจานดาวเทียมในเยอรมนีนั้นไม่ได้ติดตั้งกันง่ายๆ เหมือนบ้านเรา ส่วนใหญ่ต้องขออนุญาตทั้งจากรัฐและเจ้าของอาคารก่อน เพราะจานดาวเทียมนั้น ถ้าติดตั้งโดยไม่ควบคุมจะเป็นมลพิษอย่างหนึ่ง เรียกว่ามลพิษทางทัศนียภาพ ที่กำลังเกิดขึ้นและกำลังจะมีแนวโน้มที่รุนแรงขึ้นในเมืองหลวงของเรา (เราจะเห็นจานดาวเทียมที่มีสีต่างๆ ผุดขึ้นเหมือนกับเชื้อรา ตามตึก อาคารต่างๆ ซึ่งเป็นภาพที่ไม่งามตาเลย)   สำหรับประเทศไทยนั้นก็ยังมีความจำเป็นเช่นกันสำหรับการรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดิน หากเราดูปรากฎการณ์จอดำ เมื่อปีผ่านมา และคาดว่าก็อาจประสบปัญหาจอดำอีก แต่ถ้าเราสามารถรับสัญญาณโทรทัศน์ผ่านหนวดกุ้ง ก้างปลาได้ ก็จะไม่เจอกับปัญหาจอดำ ตอนนี้ในขั้นตอนการประมูลช่องโทรทัศน์ดิจิตัล กสทช. สามารถออกกฎเกณฑ์ให้ช่องสถานีฟรีทีวี หรือช่องสถานีสาธารณะทั้งหลาย ต้องสามารถส่งสัญญาณให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศเหมือนที่เยอรมนี ก็จะสามารถลดปัญหาได้ระดับหนึ่งเช่นกัน คาดว่าปัญหาจอดำและปัญหาพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณ (White Spot) ก็จะไม่เกิดเช่นกันครับ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point