ฉบับที่ 274 การดูแล “ส้นเท้าแตก”

        ปัญหาผิวหนังที่หลายคนอาจมองข้ามไป คือ อาการส้นเท้าแตก ซึ่งแม้มันจะไม่ได้สร้างความเจ็บปวดอะไรมากมาย หรืออันตรายต่อสุขภาพ แต่มักสร้างความรำคาญแถมอาจทำให้เสียความมั่นใจในการโชว์เท้าสวยๆ ของตัวเอง        สาเหตุในการเกิด “ส้นเท้าแตก” อาจจะเกิดได้จากหลากหลายปัจจัย ส่วนใหญ่คือความเสี่ยงด้านพฤติกรรมต่างๆ  เช่น  การไม่สวมรองเท้าและเดินเท้าเปล่าบ่อยจนเกิดการเสียดสีมากๆ  อากาศที่แห้งหรือหนาวเย็นหากบริเวณส้นเท้าไม่ทาครีมก็ทำให้ขาดความชุ่มชื่นจนเท้าแตกได้ การใช้ผลิตภัณฑ์ไม่เหมาะสม บางคนอาจเกิดจากการอาบน้ำอุ่นเป็นประจำ หรือแพ้สารเคมี ส่วนสาเหตุที่อาจพบไม่บ่อย คือ เกิดจากอาการป่วยหรือโรคที่เป็นนั้นเอง         ทั้งนี้ เรื่องอายุที่มากขึ้นก็เช่นกัน เมื่อเรามีอายุมากขึ้นจะมีผิวแห้งกร้านกว่าวัยหนุ่มสาว บริเวณที่เสียดสีกับปัจจัยต่างๆ ข้างต้น จะยิ่งเร่งให้ส้นเท้าแตกง่ายขึ้น  แล้วเราควรจะดูแลส้นเท้าแตกของเราอย่างไร การดูแลส้นเท้าแตก        ·     เลือกทาครีมบำรุงบริเวณส้นเท้าที่ให้ความชุ่มชื้นเยอะๆ หรืออาจเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นกลุ่มให้ความชุ่มชื้น เช่น  ยูเรีย กลีเซอลีน สามารถทาและสวมถุงเท้าก่อนนอนได้เลย        ·     เรื่องการรักษาสุขอนามัยก็สำคัญ สามารถทำความสะอาดด้วยการแช่เท้าด้วยน้ำอุ่นแต่ไม่ควรเป็นน้ำที่ร้อนจนเกินไปเพราะจะทำให้เสียความชุ่มชื้นได้ ไม่ควรแช่นานจนเกินไป หลังจากนั้น สามารถนำหินมาขัดส้นเท้าเบาๆ ได้ เพื่อนำเซลล์ผิวที่ตายแล้วออก ทั้งนี้ ไม่ควรขัดแรงๆ อีกด้วย ควรขัดเบาๆ ก็พอ        ·     เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ไม่ทำร้ายผิว ไม่แห้งตึง  หรือเป็นกรดด่างเกินไป เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความอ่อนโยนหรือมีมอยเจอร์ไรเซอร์เป็นส่วนผสมยิ่งดี แนะนำให้อ่านฉลากส่วนผสมก่อนซื้อทุกครั้ง        ·     ในส่วนของคนที่ชอบถอดรองเท้า เดินเท้าเปล่า แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใส่รองเท้าทุกครั้ง ก่อนเดินไปที่พื้นเพื่อป้องกันการเสียดสี เปลี่ยนจากรองเท้าแตะเป็นรองเท้าหุ้มส้นได้ยิ่งดี แต่ก็ไม่ควรเป็นรองเท้าที่คับแน่นจนเกินไป        ·     การดื่มน้ำเป็นประจำวันละ 8 แก้ว ก็เป็นตัวช่วยจากภายในสู่ภายนอกได้         นอกจากนี้ อย่าลืมสังเกตตัวเองด้วยว่าปัญหาส้นเท้าแตกของตัวเองที่เกิดนั้น มาจากสาเหตุใด  แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤกรรม         อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่บางคนอาจจะเป็นมากถึงขนาดส้นเท้าแตกลาย หรือมีอาการเจ็บเป็นแผลลึก แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา และหากเป็นผลข้างเคียงมาจากโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ด้วยยิ่งต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาที่ถูกต้อง เพราะแพทย์จะเลือกทำการรักษาให้เหมาะสมกับอาการ อาจจะจ่ายยารับประทาน ยาทาผิวหรือต้องผ่าตัดเอาเนื้อตายออก เป็นต้น ข้อมูลจาก Hello คุณหมอ : วิธีแก้ส้นเท้าแตก และวิธีดูแลส้นเท้าไม่ให้แห้งแตกPobPad :  ส้นเท้าแตก สาเหตุและวิธีการรับมืออย่างเหมาะสม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 แก้ปัญหาเท้าเหม็น ส้นเท้าแตก อย่างถูกวิธี

  เป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปในทุกเพศทุกวัยในคนที่ต้องใส่รองเท้าหุ้มส้น ทำให้อับชื้นเพราะอากาศไม่สามารถถ่ายเทได้สะดวก น้ำเหงื่อที่คายออกมาจากผิวหนังจะส่งกลิ่นเหม็นได้อย่างรวดเร็วเมื่อระเหยออกไม่ได้ กลิ่นเหม็นนี้แน่นอนเกิดจากการหมักหมมของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราที่ฝ่าเท้าและรองเท้าหรือถุงเท้าที่อับชื้นทั้งวัน สาเหตุหนึ่งที่พบคือการเลือกใช้ถุงเท้าหรือรองเท้าที่ทำจากวัสดุที่หนาแน่นเกินไป ไม่สามารถระบายความชื้นได้ เช่น รองเท้าที่ทำด้วยพลาสติกหรือใยสังเคราะห์ไนล่อนที่ไม่มีรูระบายอากาศ หรือวัสดุที่ไม่มีคุณสมบัติดูดซับความชื้นได้ ทำให้ฝ่าเท้าชื้นตลอดเวลา รวมทั้งการสวมใส่ถุงเท้าและรองเท้าคับและแน่นเกินไป   การจัดการกับถุงเท้า 1 ถุงเท้า ควรเลือกซื้อถุงเท้าที่ดูดซับความชื้นได้ดี และระบายอากาศได้ดี 2 เลือกถุงเท้าที่ไม่คับจนเกินไป 3 เปลี่ยนถุงเท้าที่สะอาดทุกวัน เวลาซักต้องตากให้แห้งสนิท และถ้าซักด้วยน้ำร้อนได้ยิ่งดีเพื่อช่วยฆ่าเชื้อโรค 4 ควรพิจารณาใช้แป้งฝุ่นผสมยาต้านเชื้อจุลินทรีย์ โรยผิวเท้าและฝ่าเท้าก่อนสวมใส่ถุงเท้าเป็นครั้งคราวเมื่อพบกลิ่นเหม็น แป้งฝุ่นจะช่วยดูดซับความชื้นได้ดี ในขณะเดียวกันยาต้านเชื้อจุลินทรีย์จะช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราที่บริเวณฝ่าเท้าและถุงเท้าได้ อย่างไรก็ตามการใช้แป้งฝุ่นผสมยาต้านเชื้อจุลินทรีย์จะไม่ได้ผลหากไม่ยอมรักษาความสะอาดของเท้าและถุงเท้า   การจัดการกับรองเท้า 1 ตรวจสอบผ้าซับที่บุอยู่ภายในรองเท้า รองเท้าหนังมักจะมีผ้าใยสังเคราะห์เป็นไนล่อนบุภายในรองเท้า ซึ่งจะทำให้เท้าอับชื้นได้ง่าย ควรเลือกรองเท้าที่บุภายในด้วยหนังล้วน ซึ่งจะช่วยคายความชื้นได้ดีกว่า 2 เลือกรองเท้าชนิดที่สามารถซักล้าง/ทำความสะอาดได้ และควรทำความสะอาดทุกวัน วางรองเท้าไว้ในที่อากาศถ่ายเท ไม่ความเก็บในตู้รองเท้าที่ปิดมิดชิด ซึ่งเป็นการบ่มเพาะเชื้อโรคได้รวดเร็ว 3 ทุก 2-3 สัปดาห์ ควรทำความสะอาดภายในรองเท้าด้วยผ้าชุบแอลกอฮอล์หมาดๆ เพื่อฆ่าเชื้อโรค 4 ควรหลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าคู่เดิมทุกวัน ควรเปลี่ยนทุก 2 วัน เพื่อให้รองเท้าได้พักและระบายความอับชื้น   การจัดการกับเท้า 1 ตรวจสอบส้นเท้าว่าแห้งและแตกเป็นขุยหรือไม่ หนังหนาๆ ที่แห้งแตกเป็นขุยจะเป็นที่หมักหมมของเชื้อโรคได้ง่ายที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อชื้นแฉะ หากพบว่าส้นเท้าแห้งเป็นขุย อาจใช้ตะไบหรือหินสำหรับขัดส้นเท้าเพื่อขจัดหนังหนาๆ ให้บางลง หรืออาจใช้ครีมผสมตัวยาซาลิไซลิค แอซิด จากร้านขายยา ทาทุกวันเพื่อลอกหนังที่หนาและแตกออก 2 ล้างเท้าและแช่เท้าด้วยน้ำอุ่นครั้งละ 10-15 นาที หลังจากซับให้แห้งสนิท หากมีน้ำมันไพลหรือครีมผสมน้ำมันไพล ให้ทาบางๆ ให้ทั่วฝ่าเท้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามซอกนิ้วเท้า น้ำมันไพลมีสรรพคุณฆ่าเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้ดี นอกจากนั้นยังเป็นน้ำมันหล่อลื่นธรรมชาติ ช่วยให้ฝ่าเท้าไม่แห้งแตกอีกด้วย 3 หากพบอาการผิดปกติ เช่น คัน/แดง อาจใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทสเปรย์เท้า ซึ่งมีส่วนผสมของยาต้านเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งมีขายตามร้านขายยา สเปรย์ให้ทั่วตามซอกนิ้วเท้าหรือบริเวณที่มีปัญหา ควรใช้ยาต่อเนื่องจนกว่าอาการจะหายสนิท หากไม่ดีขึ้นหรือพบการติดเชื้อรุนแรง ควรไปพบแพทย์ผิวหนัง 4 สำหรับผู้ที่เท้ามีเหงื่อออกมาก ชื้นและแฉะ ลองใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทระงับเหงื่อ ซึ่งมีส่วนผสมของเกลืออลูมิเนียมคลอไรด์ ทาบริเวณฝ่าเท้าและซอกนิ้วเท้า ควรทำความสะอาดเท้าให้สะอาดและซับให้แห้งสนิทก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อ ควรใช้ตอนกลางคืนก่อนนอนและล้างออกตอนเช้า ควรใช้ต่อเนื่องอย่างน้อย 3-4 วัน และทุกสองสัปดาห์ แต่หากพบว่าฝ่าเท้ามีอาการอักเสบ คาดว่าน่าจะมีการติดเชื้อ ไม่แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อชนิดนี้ แต่ควรไปปรึกษาแพทย์แทน 5 ครีมบำรุงผิวเท้า คนที่ผิวเท้าแห้งและแตก เมื่อแก้ปัญหาได้แล้วจากข้อแนะนำข้างต้น ควรจะบำรุงผิวเท้าด้วยครีมบำรุงผิวเท้าอย่างสม่ำเสมอ ควรเลือกใช้ครีมบำรุงที่ข้นและเหนียว ไม่ต้องกลัวครีมเหนียวเหนอะหนะ เพราะครีมที่ยิ่งข้นและยิ่งเหนียวเหนอะหนะ จะให้ความชุ่มชื้นได้มากและปกป้องผิวได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่าเท้าที่ทั้งแห้งและแตกเป็นขุย หากบำรุงเป็นประจำ ฝ่าเท้าจะไม่กลับมาแห้งแตกอีก

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point