ฉบับที่ 137 กาวติดเนื้อ(meat glue)

ในห้องปฏิบัติการของผู้เขียนมีนักวิจัยประจำอยู่สองคน คนหนึ่งไปเรียนต่อปริญญาเอกและกลับมาแล้วพร้อมลูกสองคน ในขณะที่อีกคนกำลังจะไปเรียนบ้าง ทั้งนี้เพราะสมัยนี้ใครไม่จบปริญญาเอกไม่สามารถเป็นผู้นำในการขอทุนวิจัยได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะว่า การศึกษาระดับปริญญาโทของเรานั้นมันด้อยเกินไปในสายตาผู้ให้ทุน จึงต้องมีหลักเกณฑ์สำคัญขั้นต้นว่า ต้องจบปริญญาเอกก่อนจึงขอทุนได้ จริงแล้วในฉบับนี้ผู้เขียนไม่ได้ตั้งใจคุยเรื่องการขอทุนวิจัยหรอก แต่ขอกล่าวอ้างถึงนักวิจัยคนที่สองที่ผู้เขียนดูแลว่า เมื่อสอบเรียนต่อได้แล้วก็มีการไปเลี้ยงฉลองกินสเต็กกับเพื่อนๆ ซึ่งก็ไม่น่าจะมีอะไร แต่ก็อาจมีอะไรได้ ขอให้ท่านผู้อ่านติดตามต่อไป   เวลาเราไปกินสเต็กหรืออาหารเนื้อสัตว์ตามร้านอาหารต่างๆ นั้น เราไม่เคยได้เข้าไปดูในครัวว่า เนื้อที่เอามาปรุงให้เรากินนั้นมีสภาพก่อนปรุงเสร็จอย่างไร ทุกคนคงคิดเอาเองว่า คงจะเป็นเนื้อที่ดี คุณภาพเป็นเลิศ ก็สเต็กจานนั้นมันออกจะแพงแบบว่าไม่อร่อยไม่ได้แล้วนี่ ปรากฏว่าเมื่อเดือนที่แล้ว ผู้เขียนได้พบข่าวในอินเตอร์เน็ตภายใต้หัวข้อว่า Is meat glue safe enough to eat? ซึ่งทำให้ผู้เขียนรู้สึกประหลาดใจเนื่องจากไม่เคยเรียนวิชาเกี่ยวกับการปรุงอาหารมาก่อน แม้เคยได้ยินคำว่า meat glue มาบ้างแต่ก็ไม่ได้สนใจอะไร ดังนั้นพอเห็นหัวข้อข่าวดังกล่าว จึงทำให้ต้องไปหา wikipedia ว่า meat glue คืออะไร ซึ่งปรากฏว่า เมื่อพิมพ์คำว่า meat glue ใน search engine ของ wikipedia ข้อมูลที่ได้กลายเป็นเรื่องของ ทรานซ์กลูตามิเนส (Transglutaminases) ซึ่ง wikipedia บอกว่า Redirected from Meat glue ทรานซ์กลูตามิเนส เป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่สร้างพันธะโควาเลนท์ระหว่างกลุ่มเอมีนอิสระที่อยู่ในสายโปรตีนหนึ่งกับกลุ่มแกมม่าคาร์บอกซาไมด์ที่อยู่บนอีกสายโปรตีนหนึ่ง การสร้างพันธะนี้แข็งแรงมากขนาด เอนไซม์ที่สามารถย่อยโปรตีนทั่วไปไม่สามารถย่อยพันธะที่สร้างขึ้นโดยทรานซ์กลูตามิเนสได้ (ข้อความนี้มาจาก wikipedia) แต่ก็มีการแย้งข้อมูลนี้หลังผู้เขียนเข้าไปอ่านเอกสารของผู้ผลิตเอนไซม์นี้ว่า การย่อยเนื้อสัตว์ที่ใช้ทรานซ์กลูตามิเนสนั้นไม่ต่างจากเนื้อสัตว์ทั่วไป ก็คงต้องฟังหูไว้หู หลายท่านที่ไม่ได้จบด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพอาจงง ก็จงงงต่อไปเถิดครับ ส่วนคนเรียนค่อนมาทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพหรือวิทยาศาสตร์ทางอาหารคงพอเข้าใจบ้าง ที่สำคัญเอนไซม์นี้พบได้ในกระบวนการแข็งตัวของเลือดสัตว์ชั้นสูง และเอนไซม์นี้มีบทบาทในอุตสาหกรรมอาหารเกี่ยวกับการเชื่อมเนื้อสัตว์ต่างชนิดเข้าด้วยกัน นานมาแล้วเอนไซม์นี้เคยสกัดได้จากเลือดสัตว์  ซึ่งทำให้มีราคาแพงมากเกินกว่าจะเอามาใช้ทางอุตสาหกรรมอาหาร จนในปี 1989 จึงมีบริษัทหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า เป็นตัวพ่อ ที่เชี่ยวมากในเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพ จึงสามารถผลิตเอนไซม์นี้โดยอาศัยแบคทีเรียที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในดินชื่อ Streptoverticillium mobaraense ดังนั้นราคาของเอนไซม์นี้จึงถูกลง จนสามารถนำไปใช้ในการผลิตอาหารเช่น แฮม และซูริมิซึ่งเมื่อนำไปแต้มสีต่อก็เป็นปูอัดได้ เอนไซม์ทรานซ์กลูตามิเนสนี้ เป็นสารชีวเคมีที่สามารถพบได้ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตทั่วไป ซึ่งปัจจุบันเป็นเอนไซม์ที่รู้จักกันดีของนักวิทยาศาสตร์ทางอาหาร ตลอดไปจนถึงพ่อครัวแม่ครัวในต่างประเทศ ผู้เขียนเข้าใจว่าป่านนี้พ่อครัวแม่ครัวในไทยคงรู้จักบ้างแล้ว ในทางการค้ามีการเอาเอนไซม์นี้ไปผสมกับองค์ประกอบอื่น จนได้สินค้าที่รู้จักกันในชื่อ meat glue หรือแปลง่ายๆ ว่า กาวติดเนื้อ   กาวติดเนื้อนี้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางชีวเคมีโดยแท้ เพราะสามารถทำให้ผู้ปรุงอาหารสามารถนำเอาเนื้อสัตว์ต่างชนิดชิ้นเล็กๆ มารวมกัน แล้วใช้กาวชนิดนี้โรยลงไป ขยำให้เข้ากัน จากนั้นก็ห่อด้วยแผ่นพลาสติกบางใสสำหรับห่ออาหารที่เรียกว่า wrap ให้แน่นๆ สักพักก็จะเป็นเนื้อสัตว์สายพันธุ์ใหม่ที่หาไม่พบในโลกนี้ เพราะคุณสามารถจะผสมเนื้อสัตว์อะไรก็ได้เข้าด้วยกัน ขอย้ำเน้นว่า เนื้อสัตว์อะไรก็ได้เข้าด้วยกัน เพื่อได้เนื้อสัตว์ที่มีรสชาติพิเศษระดับเกิดมาไม่เคยขย้ำทีเดียว   ในบทความโฆษณาของผู้ผลิตกาวนี้ได้บอกประโยชน์ของกาวติดเนื้อประการหนึ่งคือ reduce waste ซึ่งหมายถึง ลดปริมาณขยะซึ่งเกิดจากเศษเนื้อ ซึ่งคุณลักษณะนี้เจ้าด่างทั้งหลายคงไม่พึงประสงค์จะได้ยินแน่ นอกจากใช้กับเนื้อสัตว์แล้ว ยังสามารถทำให้ไข่แดงเข้มข้นขึ้น ทำให้แป้งขนมปังมีลักษณะสัมผัสที่หนึบขึ้น ไอศกรีมดูดีขึ้น ตลอดจนสามารถใช้ได้ดีกับเต้าหู้เพื่อให้ดูดีขึ้นกว่าเต้าหู้ที่ไม่ได้ใช้กาวนี้ เอนไซม์ที่ใช้ทำกาวติดเนื้อนี้ ได้รับการยอมรับในหลายประเทศให้มีสถานะภาพ GRAS (generally recognized as safe) ซึ่งเป็นสถานะภาพสำหรับสารเจือปนในอาหารที่มีการใช้มานานน้านนานจนนึกไม่ออกว่าเริ่มใช้แต่เมื่อใดในอาหาร ทำให้อนุมานว่า กินแล้วไม่เป็นพิษ กาวติดเนื้อนี้มีประโยชน์มากถ้าใช้อย่างซื่อสัตย์ เช่น การเอาเนื้อปลาชนิดเดียวกันมาเชื่อมเพื่อให้มีขนาดเหมาะสมในการนำไปทอด แต่แย่มากถ้าเนื้อที่เชื่อมกันเป็นเนื้อปลาและเนื้อสัตว์บก เพราะเนื้อสัตว์ต่างชนิดกันนั้นใช้เวลาในการทอดให้สุกต่างกัน ดังนั้นท่านอาจจะได้เนื้อที่ดิบผสมสุก หรือสุกผสมไหม้ได้ อย่างไรก็ดีบางครั้งก็สามารถนำไปใช้กับการเอาหนังไก่มาหุ้มเนื้อปลาก่อนทอด ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ทำให้เนื้อปลาไหม้ ที่น่าอนาถที่สุดคือ การนำเอาชิ้นเนื้อซึ่งได้จากการเลาะจากเนื้อชิ้นใหญ่ระหว่างการตัดแต่งเนื้อ (ซึ่งปรกติแล้วชิ้นเนื้อเล็กๆ นี้ควรจะจำหน่ายในราคาที่สุนัขชอบ) มารวมกันให้ดูกลายเป็นเนื้อชิ้นใหญ่ด้วยกาวติดเนื้อนี้แล้วขายในราคาเนื้อสำหรับทำสเต็ก ปรากฏการณ์แบบนี้ก็ยังไม่มีการยืนยันว่าเกิดในร้านอาหารเมืองไทยหรือไม่ ส่วนที่น่ากังวลสำหรับพี่น้องมุสลิมก็คือ ถ้ามีพ่อครัวใจบาปเอาเนื้อวัวผสมกับเนื้อสัตว์อื่นๆ ที่ขัดต่อข้อบัญญัติทางศาสนา เมื่อกินเข้าไป ถ้าไม่รู้ก็คงไม่เป็นไร แต่ถ้ารู้อะไรจะเกิดขึ้น ดังนั้นการนำกาวติดเนื้อมาใช้ในครัวของร้านอาหาร จึงเป็นเรื่องที่ต้องควบคุมกันว่า ไม่ก่อให้เกิดการหลอกลวงผู้บริโภคเกี่ยวกับข้อบัญญัติทางศาสนา ประเด็นว่าการใช้กาวติดเนื้อนั้นทำให้อาหารมีกลิ่นผิดปรกติหรือไม่นั้น ปรากฏว่ามีคนเคยทดลองแล้วเขียนข้อมูลในเน็ตว่า ถ้ามีการใช้ปริมาณสูงกับเนื้อที่นำไปปรุงภายใต้ระบบสูญญากาศในถุงพลาสติกชนิดพิเศษ ผู้บริโภคสามารถสัมผัสกับกลิ่นที่ต่างจากเนื้อสัตว์ที่ปรุงวิธีเดียวกันแต่ไม่ใช้กาว ผู้ทดลองศึกษาคิดว่า กลิ่นนั้นอาจเกิดเนื่องมาจากโปรตีนเคซีอีน (casein) ที่เป็นองค์ประกอบในกาวติดเนื้อหรือเนื่องจากก๊าซแอมโมเนียที่หลุดออกมาจากการปรุงอาหารเป็นเวลานาน ดังนั้นผู้ทดลองจึงแนะนำว่า อย่าใช้กาวมากเกินไป และจะให้ดีเจาะถุงให้เป็นรู เพื่อให้อะไรที่เกิดเป็นกลิ่นไม่พึงประสงค์หลุดออกไปได้ระหว่างการปรุง ในการเก็บรักษาผงกาวนี้ ผู้ประกอบการแนะนำว่า ผงกาวนี้สามารถเก็บได้นานถึง 18 เดือนที่อุณหภูมิ 21 องศาเซลเซียส หรือให้ดีแช่แข็งไปเลย ส่วนการพิสูจน์กาวว่ายังดีหรือไม่นั้น ทำได้โดยเอาผงกาวทากับเนื้อไก่บดแล้วขยำรวมกันแล้วดมดู ถ้ายังมีกลิ่นเป็นเนื้อไก่ แสดงว่าผงกาวมันเสื่อมไปแล้ว แต่ถ้ามีกลิ่นคล้าย wet dog หรือ หมาเปียกน้ำ แล้วไซร้ผงกาวยังดีอยู่ ใครไม่รู้จักกลิ่นนี้ คงต้องลองทำดู โดยสรุปงวดนี้หมาซวยไปหลายตัวแน่ สำหรับข้อมูลด้านความปลอดภัยที่บริษัทผู้ผลิตให้ไว้ในอินเตอร์เน็ตนั้น อ่านดูน่าจะไม่มีปัญหานัก เพราะกาวติดเนื้อนี้เมื่อโดนความร้อนก็จะหมดสภาพไป กลายเป็นโปรตีนธรรมดา ผู้ผลิตยืนยันว่าไม่ทำให้มือของผู้ปรุงอาหารติดกันแน่นอน และอาหารที่ใช้กาวติดเนื้อนี้ก็จะไม่มีกลิ่นผิดไปจากปรกติ ข้อควรระวังก็คือ กาวนั้นอยู่ในสภาพผง จึงอย่าหายใจเข้าไปเด็ดขาดและอย่าบังอาจกินเข้าไปโดยตรง เพราะอาจเกิดอะไรขึ้นก็ได้ เนื่องจากยังไม่มีการทดลองว่ามันจะก่ออันตรายหรือไม่ สิ่งที่ผู้บริโภคควรทราบก็คือ กาวติดเนื้อนี้ถ้ามองกันในมุมของนักวิทยาศาสตร์ทางอาหารแล้ว มันอยู่ในสถานะของ สารช่วยการผลิต หรือ processing aid ซึ่งคงยากที่จะตรวจพบได้หลังการผลิต ดังนั้นจึงไม่มีการติดฉลากบนอาหาร แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ คงไม่มีการบังคับให้ติดฉลากบอกด้วยซ้ำว่า เนื้อสัตว์ที่ติดกาวนั้นมีองค์ประกอบเป็นเนื้อจากสัตว์อะไรบ้าง เข้าใจว่าหน่วยงานที่ควรดูแลเรื่องนี้ คงต้องการให้ผู้บริโภคมีความรู้สึกเหมือน เต๋อ ฉันทวิทย์ ใน กวน มึน โฮ ที่ซาบซึ้งเมื่อได้กินเนื้อ man best friend กระมัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 สเต๊ก

คือเนื้อที่ถูกแล่ออกมาจากตัวสัตว์เป็นชิ้นใหญ่ๆ แล้วนำมาปรุงทั้งชิ้นจะโดยการย่างหรือทอดก็ได้ ในบางวัฒนธรรมสเต๊กถูกจัดลำดับให้เป็นอาหารที่แสดงถึงความร่ำรวย หรูหรา สเต๊ก(steak) เป็นอาหารจานเก่าแก่สุดอย่างหนึ่งของโลก อาจกล่าวได้ว่า สเต๊กเกิดขึ้นพร้อมกับที่มนุษย์รู้จักใช้ไฟเพื่อทำให้เนื้อสัตว์ที่ล่ามาได้สุก หากสืบประวัติศาสตร์ย้อนหลังไป ชนชาติที่ทำสเต๊กให้หน้าตาใกล้เคียงกับที่เรารับประทานในปัจจุบัน คือพวกนอร์ส หรือที่เราเรียกกันว่า ไวกิ้ง ชาวนอร์สเมื่อล่าสัตว์ได้จะไม่ได้เผาหรือย่างสัตว์ทั้งตัวหรือนำมาเสียบไม้ย่างไฟอย่างชนชาติอื่นที่ร่วมสมัยกัน แต่จะบรรจงแล่เนื้อสัตว์เป็นชิ้นหนาๆ แล้วนำมาย่างบนตะแกรงเหล็ก ไม่ก็อบในหม้อเหล็ก ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้เนื้อสุกทั่วกันทั้งชิ้นและได้รสชาติดีกว่า นับแต่นั้นสเต๊กก็แพร่หลายไปทั่วยุโรป พร้อมๆ กับการขยายอำนาจอิทธิพลของชาวไวกิ้ง อีกทั้งยังได้รับการต่อยอดให้มีขั้นตอนการปรุงการกินที่พิถีพิถันจนกลายเป็นอาหารจานหรู สำหรับสเต๊ก เนื้อที่นิยมมากที่สุดคือ เนื้อวัว ซึ่งจะมีชื่อเรียกเฉพาะสำหรับเนื้อบริเวณต่างๆ ที่ถูกแล่ออกมา เช่น ริบ-สเต็กหรือเนื้อติดซี่โครง เซอร์ลอยน์ (Sirloin)หรือเนื้อสันนอก เทนเดอร์ลอยน์ (Tenderloin)หรือเนื้อสันใน และมีศัพท์เฉพาะสำหรับการปรุงให้สุกในแต่ละระดับ เช่น แรร์ (rare) ที่เนื้อด้านในจะยังเหมือนไม่สุกและมีสีแดง จนถึง เวลล์ดัน (well done) ที่เนื้อจะสุกทั่วกันทั้งชิ้น ระดับความสุกที่ใช้เรียกกันนี้จะใช้กับสเต๊กเนื้อวัวเพียงอย่างเดียว สำหรับเนื้อหมูหรือปลาควรทำให้สุกทั่วกันทั้งชิ้น เพราะอาจมีเชื้อก่อโรคหรือพยาธิปนเปื้อนอยู่  

อ่านเพิ่มเติม >