ฉบับที่ 169 ประกาศ “ไม่รับผิดชอบในการสูญหายของทรัพย์สิน” มีผลตามกฎหมายหรือไม่ ?

สวัสดีครับ ผู้อ่านทุกท่าน  วันนี้เราจะมาว่ากันถึงเรื่อง ป้ายต่างๆ ที่ชอบมีติดตามโรงแรม หรือตามที่จอดรถ ว่า “ ไม่รับผิดชอบในการสูญหายของทรัพย์สิน “ เคยสงสัยกันไหมครับว่าป้ายพวกนี้ มีผลทางกฎหมายมากน้อยเพียงใด อย่างแรกที่เรารู้กันคือป้ายพวกนี้ คนที่ทำขึ้นมักจะเป็นทางเจ้าของโรงแรม หรือ ห้างร้านต่างๆ ที่เราเข้าไปใช้บริการ เวลาเราไปใช้บริการพักในโรงแรมต่างๆ บ่อยครั้งต้องเดินทางไปหลายที่จึงต้องมีกระเป๋าเดินทาง เสื้อผ้า และทรัพย์สินอีกมากมาย ที่ต้องใช้ติดตัวในการเดินทาง แน่นอนว่า เราต้องนำสิ่งของ สัมภาระต่างๆ เหล่านี้ เก็บไว้ในห้องพัก หรือต้องนำรถยนต์มาจอดไว้ในโรงแรม ระหว่างที่เราเข้าพักหรือเราต้องเดินทางออกไปข้างนอก ในความเข้าใจของผู้บริโภคที่เข้าใช้บริการโรงแรม ย่อมเข้าใจว่า  หน้าที่ของโรงแรมไม่ใช่เป็นเพียงเปิดห้องพักเพื่อหลับนอนชั่วคราวเท่านั้น แต่ควรช่วยดูแลรักษาทรัพย์สินให้แก่ผู้เข้าพักด้วย   แต่หลายโรงแรมก็มักชอบติดป้ายประกาศ เพื่อยกเว้นความรับผิดของตนเอง ในทำนองว่า “ไม่รับผิดชอบในการสูญหายของทรัพย์สิน” เช่นนี้ ผู้บริโภคที่ใช้บริการจะได้รับความคุ้มครองอีกหรือไม่ ในเรื่องนี้ได้มีการโต้เถียงกันจนเป็นคดีขึ้นสู่ศาล เป็นคดีที่ ผู้บริโภคไปใช้บริการในโรงแรมแห่งหนึ่งแล้วได้จอดรถไว้ที่ลานจอดรถของโรงแรม มีการล็อครถอย่างดี แต่เมื่อเสร็จธุระในโรงแรม กลับมาปรากฎว่ารถหายไป จึงฟ้องร้องโรงแรมให้รับผิดชอบ ซึ่งศาลได้ตัดสินไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7790/2544 ลานจอดรถเป็นของจำเลยจัดให้ผู้มาพักโรงแรมของจำเลยได้จอดรถ น. ซึ่งเป็นคนเดินทางจึงมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะนำรถยนต์เข้าไปจอดภายในบริเวณลานจอดรถดังกล่าว ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย ส่วนที่จำเลยปิดประกาศไม่รับผิดชอบหากเกิดการสูญหายของทรัพย์สิน ก็ไม่ปรากฏว่า น. ได้ตกลงด้วยโดยชัดแจ้งในการยกเว้นความรับผิดตามประกาศดังกล่าว กรณีนี้จึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 677 และในการจอดรถ น. ได้ปิดล็อกประตูรถทุกบานแล้วเพราะเป็นระบบเซ็นทรัลล็อก ย่อมถือได้ว่า น. มิได้ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถยนต์สูญหาย กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นความรับผิดตามมาตรา 675 วรรคสาม รถยนต์เป็นเพียงทรัพย์สินธรรมดาทั่ว ๆ ไป เท่านั้น ถึงแม้ราคาจะค่อนข้างสูงก็ตาม ยังถือไม่ได้ว่ามีลักษณะเป็นของมีค่าตามมาตรา 675 วรรคสอง น. ไม่จำต้องแจ้งฝากรถยนต์ไว้ต่อจำเลย จากคำพิพากษาฏีกานี้ ทำให้เราเห็นว่า  ป้ายประกาศของทางโรงแรม ที่มีข้อความยกเว้นความรับผิด กรณีทรัพย์สินสูญหายนั้น ไม่มีผลใช้บังคับ เพราะเป็นป้ายที่ทางโรงแรมเป็นผู้กำหนดไว้เพียงฝ่ายเดียว ทางผู้บริโภคที่เข้าใช้บริการ เขาไม่ได้ตกลงยินยอมด้วย เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 677 ที่บัญญัติว่า “ถ้ามีคำแจ้งความปิดไว้ในโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่ อื่นทำนองเช่นว่านี้ เป็นข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของเจ้าสำนักไซร้ท่านว่าความนั้นเป็นโมฆะ เว้นแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัยจะได้ตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดดั่งว่านั้น” อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตอีกนิดว่า ถ้าเป็นทรัพย์สิน ของมีค่า ผู้เข้าพักต้องแจ้งให้ทางโรงแรมทราบและฝากไว้กับทางโรงแรม   โดยศาลมองว่า รถยนต์ เป็นเพียงทรัพย์สินที่มีราคาค่อนข้างสูงจริง แต่ยังไม่ถือว่าเป็นของมีค่า ซึ่งทรัพย์สินที่มีค่าในที่นี้ คือ เงินทองตรา ธนบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า อัญมณี หรือของมีค่าอื่นๆ หากแขกพักอาศัยหรือคนเดินทางนำเข้ามาในโรงแรมแล้วเก็บรักษาไว้เองและเกิดการสูญหายหรือเสียหายไปเจ้าสำนักโรงแรมจำกัดความรับผิดไว้เพียง 5,000 บาท ทั้งนี้แม้ว่าของมีค่านั้นจะมีราคาเกินกว่า  5,000 บาทก็ตาม แต่หากสิ่งของมีค่ามีราคาไม่ถึง 5,000 บาท เจ้าของสำนักย่อมรับผิดตามแต่เพียงราคาของสิ่งนั้น มิใช่รับผิด 5,000 บาท     แต่อย่างไรก็ตาม มิใช่ว่าเจ้าของโรงแรมจะต้องรับผิดไปเสียทุกกรณี  เพราะหากความสูญหายนั้น เกิดจากเหตุสุดวิสัย หรือสภาพของทรัพย์สินนั้นเอง อันเกิดจากคนเดินทาง เจ้าของทรัพย์สินหรือบริวารที่พามาด้วย เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 675 ที่บัญญัติว่า “เจ้าสำนักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใดๆ แม้ถึงว่าความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด ความรับผิดนี้ ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา ธนบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้าอัญมณี หรือของมีค่าอื่นๆ ให้จำกัดไว้เพียงห้าพันบาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสำนักและได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง แต่เจ้าสำนักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลาย อันเกิด แต่เหตุสุดวิสัยหรือแต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้นหรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเองหรือบริวารของเขาหรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ” กรณีนี้ หากผู้บริโภคเห็นป้ายแล้วไม่เกิดความสงสัย เชื่อตามข้อความดังกล่าว ก็จะไม่กล้าเรียกร้องให้โรงแรมรับผิด  ดังนั้นผู้บริโภคต้องมีความเท่าทันในเรื่องเหล่านี้ เพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากการซื้อสินค้าและบริการ  

อ่านเพิ่มเติม >