ฉบับที่ 266 ความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2566

พบจุลินทรีย์เกินมาตรฐาน ใน “ก๋วยเตี๋ยวเรือสำเร็จรูป”        สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดผลทดสอบก๋วยเตี๋ยวเรือสำเร็จรูปร่วมกับทางสาธารณสุข จ.นนทบุรี พบตัวอย่างอาหารบรรจุถุงพลาสติกสีแดงฉลากระบุว่า “เลอรส” เครื่องหมายการค้าจดทะเบียน ก๋วยเตี๋ยวเรือเส้นเล็ก โดยเลขสารบบอาหาร 12-2-01765-6-0002 วันผลิต 01/02/23 และวันหมดอายุ 01/05/23 พบจุลินทรีย์เกิดโรค Bacillus cereus  6,600 CFU/กรัม ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 416) พ.ศ. 2563 พ.ร.บ. พ.ศ.2522 ได้กำหนดให้ Bacillus cereus ในเครื่องปรุง ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้น ได้ไม่เกิน 1,000 CFU/กรัม ถือว่าเป็นอาหารผิดมาตรฐาน ต่อมาทางบริษัทก๋วยเตี๋ยวเรือเลอรสได้ออกมาชี้แจงผ่านทางเฟซบุ๊กว่า “ก๋วยเตี๋ยวเรือกึ่งสำเร็จรูป เส้นเล็ก”ดังกล่าวได้มีการให้ทาง อย. อายัดล็อตดังกล่าวแล้วและไม่นำออกมาจำหน่ายอีก หิ้วผลไม้เข้าไทย มีโทษปรับ 2 หมื่น-คุก 1 ปี        กรมวิชาการเกษตร แจ้งถึงการนำเข้าผลไม้สดเข้ามายังประเทศไทย ระบุหากไม่สำแดงใบรับรองสุขอนามัยพืชผ่านเข้ามายังประเทศไทยในทุกช่องทางจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ.2507 (และแก้ไขเพิ่มเติมมีโทษทั้งจำและปรับ)         อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า ขอแจ้งเตือนถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับเข้าประเทศให้ระวังการกระทำดังกล่าว ซึ่งอาจจะไม่ได้มีเจตนากระทำผิดเพราะหากมีการตรวจพบจะถูกดำเนินการตามกฎหมายมีโทษทั้งจำและปรับและสินค้าจะทำการยึดเพื่อไปทำลายตามกฎหมายกักพืช ที่ผ่านมาพบว่า นักท่องเที่ยวมักจะซื้อตามคำแนะนำของไกด์นำเที่ยว จึงฝากให้ประชาชนระมัดระวังเพื่อไม่ต้องเสียเงินกับสินค้ากลุ่มนี้และฝ่าฝืนจะมีความผิดต้องระวางโทษตามมาตรา 21 จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เตือนซื้อตั๋วรถไฟนอกระบบ เสี่ยงถูกโกง         นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้แจ้งเตือนให้ประชาชนระมัดระวังกลุ่มมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบต่างๆ โดยมีการนำตั๋วรถไฟปลอมมาจำหน่ายหรือมีการเปิดรับจองตั๋ว การให้โค้ดจองหรือการซื้อขายตั๋วโดยสารนอกระบบ ซึ่งจะทำให้เสียทั้งทรัพย์และเวลา โดยไม่สามารถเดินทางได้จริง ที่ผ่านม พบว่ามีประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อแล้ว เมื่อตรวจสอบเบื้องต้นผู้โดยสารได้ซื้อตั๋วมาทางเฟซบุ๊ก  ดังนั้นการรถไฟฯ จึงขอเตือนให้ทุกคนระวังการซื้อตั๋วจากคนภายนอกหรือสื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่ใช่ของการรถไฟฯ โดยตรง เพราะอาจเป็นตั๋วที่ปลอมแปลงขึ้นมา และระวังอย่าหลงเชื่อบุคคลที่แอบอ้างเป็นพนักงานการรถไฟฯ และนำตั๋วไปขายต่อเพราะถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย เปิดสถิติอุบัติเหตุบนถนนคร่าชีวิต "ผู้สูงวัย"         เปิดสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนไตรมาสแรกไทย พบ กทม.เกิดเหตุสูงที่สุด ช่วงเวลาก่อน 6 โมงเช้า เหตุคนต้องรีบออกจากบ้านเดินทางไปทำงาน ขณะที่ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ผู้สูงอายุเสียชีวิตจากท้องถนนเกือบหมื่น บาดเจ็บร่วม 2 แสน         ไทยพีบีเอสออนไลน์เปิดสถิติจาก ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนระบุว่า ในรอบ 5 ปี (พ.ศ.2560-2564 ) ที่ผ่านมา มีผู้ประสบภัยในช่วงอายุมากกว่า 60 ปี ร้อยละ 9.43 จากจำนวนประชากรทั้งหมดที่เสียชีวิต 44,810 คนและบาดเจ็บ 1,945,345 คน เมื่อพิจารณาเฉพาะสัดส่วนผู้ประสบภัยที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป พบว่าในช่วง 5 ปี เสียชีวิต 7,526 คน บาดเจ็บ 179,978 คน ส่วนใหญ่เป็นคนขับยานพาหนะนั้นๆ สูงถึงร้อยละ 7.71 รองลงมาคือผู้โดยสารร้อยละ 1.22 และบุคคลอื่นๆ ร้อยละ 0.5         ข้อมูลจากกลุ่มพัฒนานโยบายและสารสนเทศการบาดเจ็บจราจร กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค เรื่อง "คนเดินเท้าเสียชีวิตในประเทศไทย" ช่วง 1 ม.ค. - 2 เม.ย. 2566 พบผู้เสียชีวิตสูงถึง 60 คน พาหนะที่ชนมากที่สุดคือรถยนต์และรถกระบะ โดยช่วงเวลาเกิดเหตุมากที่สุดคือ 03.00-05.59 น. เพราะเป็นช่วงเวลาที่คนพลุกพล่านทั้งเพื่อให้ทันเวลาเข้างานในช่วงเช้า รวมถึงเป็นช่วงเวลาที่คนเดินเท้าเดินทางไปขึ้นรถเมล์หรือรถสาธารณะหรือออกไปซื้อของที่ตลาดหรือไปออกกำลังกายในตอนเช้า ทำให้ผู้เดินเท้าอาจขาดการประเมินความเสี่ยงและคาดการณ์อุบัติเหตุ ไม่ระมัดระวังในการเดินข้ามถนนหรือเดินในบริเวณที่ไม่ได้จัดให้คนเดินเท้าใช้ในการสัญจร ไม่ว่าจะเป็นทางแยก ทางข้าม หรือทางม้าลาย จึงทำให้ถูกพาหนะที่วิ่งบนถนนชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกระตุ้นรัฐให้ความสำคัญการโดยสารรถสาธารณะปลอดภัย         11 เมษายน พ.ศ.2566  นางนฤมล เมฆบริสุทธ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ กล่าวว่า จากประเด็นข่าวเผยแพร่ถึงเหตุการณ์ที่เจ้าของบริษัททัวร์บังคับให้คนขับรถ ขับรถไป-กลับ ระหว่าง ชัยภูมิ-กรุงเทพฯ เป็นจำนวน 3 รอบติดกันโดยไม่ได้พักนั้น น่ากังวลว่า ในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์นี้ ที่จะมีผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะเดินทางกลับต่างจังหวัดจำนวนมากอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนนจนเกิดอันตรายทั้งผู้โดยสารและรถที่อยู่บนท้องถนน ซึ่งเป็นปัญหาที่ร้ายแรงเพราะสร้างผลกระทบไม่ใช่แค่ผู้ประสบเหตุแต่กระทบไปถึงครอบครัวที่ต้องสูญเสียบุคคลสำคัญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องมีมาตรการการลงโทษกับผู้ประกอบการเพื่อมิให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ เนื่องจากในช่วงเทศกาลหรือวันหยุดยาวทั้งในช่วงสงกรานต์ และรวมไปถึงช่วงเดือนพฤษภาคม อาจจะมีการฉวยโอกาสกระทำแบบเดิมเพราะเป็นช่วงที่ผู้บริโภคมีความต้องการใช้บริการรถโดยสารในการเดินทาง รวมถึงกรณี รถผี รถเถื่อน หรือรถที่ไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการขนส่งแต่ผู้ประกอบการนำมาใช้ในการให้บริการกับผู้บริโภค         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและจริงจัง ในการตรวจจับรถที่ผิดกฎหมายเพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดปัญหาและเสนอให้ผู้ประกอบการรถโดยสาร เพิ่มจำนวนรถและกำลังคนขับเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 ระวังผู้สูงวัยอายุจะสั้นจากผลิตภัณฑ์กตัญญู

ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ผมมีโอกาสไปร่วมงานรดน้ำขอพรผู้สูงวัยหลายแห่ง  ทำให้มีโอกาสพูดคุยกับผู้สูงวัยหลายท่าน  สิ่งหนึ่งที่ผู้สูงวัยมักจะถามบ่อยๆ ก็คือเรื่องปัญหาสุขภาพ และการใช้ยาต่างๆ  ทำให้ทราบว่า นอกเหนือจากยาที่ต้องทานประจำแล้ว หลายท่านยังรับประทานผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกมากมาย บางชนิดเป็นผลิตภัณฑ์ราคาแพงจากต่างประเทศด้วยซ้ำ เมื่อคุยไปคุยมาจึงทราบว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ล้วนส่งมาจากลูกหลานของท่านที่ไปทำงานในที่ห่างไกล ท่านบอกว่าลูกหลานมักจะซื้อผลิตภัณฑ์แปลกๆ ส่งมาให้ ทีแรกท่านเองก็ไม่อยากจะกิน  แต่ขัดลูกหลานไม่ได้ ยอมรับว่าเวลาทานมันก็มีความสุขที่ลูกๆ หลานๆ ยังไม่ลืม ยังกตัญญู คอยดูแลอยู่เสมอๆ ผมมีโอกาสตามไปดูที่บ้าน  เลยได้เห็นผลิตภัณฑ์มากมายหลายชนิดจริงดังที่ท่านเล่า  ท่านบอกว่าระยะหลังๆนี้ความดันโลหิตของท่านคุมไม่ค่อยอยู่ ไม่ยอมลดลง  พอสอบถามว่าทานอะไรเพิ่มหรือเปล่า ท่านก็บอกว่ามีแค่โสมชนิดแคปซูลอย่างเดียว  ผมพลิกดูฉลากพบว่าขึ้นทะเบียนเป็นยา มีคำเตือนในผู้ป่วยบางโรค เช่น โรคความดันโลหิต  ซึ่งในแง่ข้อมูลทางวิชาการเขาก็แนะนำในผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงต้องระมัดระวังอยู่แล้ว เพราะอาจทำให้ความดันโลหิตของบางคนสูงขึ้นได้ ผู้สูงอายุอีกราย นำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาให้ ดู  จากฉลากแสดงส่วนประกอบเป็นพวกแร่ธาติและวิตามินชนิดต่างๆ  ฉลากมีรายละเอียดการได้รับอนุญาตถูกต้องครบถ้วน  ท่านเล่าว่าลูกชายไปทำงานที่กรุงเทพ ซื้อมาให้ ราคาขวดละหลายร้อยบาท ลูกชายสั่งให้ทานร่างกายจะได้แข็งแรง ท่านก็เลยทานเป็นประจำ วันละ 2-3 ครั้ง ผมถามท่านว่าทานแล้วมีอาการอะไรมั๊ย ท่านบอกว่าก็ปกติดีนี่  เสียแต่ว่าช่วงนี้คุมน้ำตาลไม่ค่อยอยู่  ผมถึงนึกขึ้นได้ รีบอ่านฉลาก  พบว่าผลิตภัณฑ์ชนิดนี้มีส่วนผสมของน้ำเชื่อมค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยที่ระดับน้ำตาลในเลือดของท่านจึงสูงขึ้น ส่วนอีกรายท่านมีอาการปวดข้อเข่า ท่านเล่าว่าในอดีตท่านเคยซื้อยาผงสมุนไพรไทยที่ฉลากเป็นรูปรากไม้สีเขียวมารับประทาน ต่อมามีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาตรวจสอบยาให้  พบว่ามีสารสเตียรอยด์ ก็เลยหยุดรับประทาน หันไปรับประทานยาที่หมอโรงพยาบาลจ่ายแทน  แต่หลังๆ ก็มีคนรู้จักมาขายให้อีก เป็นยาสมุนไพรไทยเหมือนเดิม ฉลากก็คล้ายเดิม เพียงแต่ฉลากรูปรากไม้เป็นสีน้ำเงิน  คนขายบอกว่าสีนี้ไม่มีสารสเตียรอยด์ ท่านลองกินก็ได้ผล หายปวดเข่า ก็เลยทานมาเรื่อยๆพอยาหมดก็ฝากเขาซื้อ  บางครั้งก็ได้อีกชนิดที่ราคาแพงกว่า เป็นยาสมุนไพรไทยเหมือนเดิม แต่ฉลากเป็นรูปรากไม้สีส้ม  ท่านเลยเอายามาให้ผมลองตรวจสอบ  ผลปรากฏว่าทั้งชนิดที่ฉลากเป็นรูปรากไม้สีน้ำเงิน และรากไม้สีส้ม ต่างก็พบสารสเตียรอยด์ทั้งหมด ฟังเรื่องของผู้สูวัยแต่ละท่านก็อดเป็นห่วงไม่ได้ สังคมไทยกำลังเข้าสู่ยุคผู้สูงวัย แต่ผู้สูงวัยหลายท่านยังต้องเสี่ยงจากการบริโภคผลิตภัณฑ์อันตราย ที่สำคัญมันเป็นความเสี่ยงที่ท่านไม่ได้หามาเอง แต่เป็นความเสี่ยงที่มาพร้อมๆกับความกตัญญูจากลูกหลาน  ทราบอย่างนี้แล้ว ลูกหลานท่านใดจะดูแลบิดามารดา ก็ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ให้รอบคอบก่อนนะครับ ถ้าไม่จำเป็นหรือไม่แน่ใจ อย่าให้ท่านรับประทานเลย เพราะอาจทำร้ายท่านโดย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2558“Eco Sticker” คู่มือคนซื้อรถยนต์ตั้งแต่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป รถยนต์ที่ผลิตขึ้นใหม่ทุกคันทั้งนำเข้าและผลิตเองในประเทศจะต้องติด “Eco Sticker” หรือป้ายแสดงข้อมูลรถยนต์ตามมาตรฐานสากล เพื่อให้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนซื้อรถยนต์ ข้อมูลที่แสดงอยู่บน Eco Sticker  จะบอกข้อมูลอัตราการใช้น้ำมันว่า มีปริมาณมากน้อยเพียงใด เรื่องของความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การสร้างมลพิษ และมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยโดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานการเบรก ซึ่งอิงกับเกณฑ์ระดับสากล Eco Sticker จะควบคุมดูแลโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงการคลัง เชื่อว่าการออกข้อกำหนดให้รถยนต์รุนใหม่ๆ ที่จะวางจำหน่ายในประเทศทุกคันต้องติดป้าย Eco Sticker จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้บริโภคในการมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ไว้สำหรับเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์สักคัน ส่วนทางฝั่งผู้ผลิตรถยนต์ก็จะพัฒนารถของตัวเองให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ผลิตรถยนต์ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะต่อไปเชื่อว่านอกจากเรื่องสมรรถนะและความปลอดภัยแล้ว เรื่องของการประหยัดพลังงานและไม่ทำลายสภาพแวดล้อมจะเป็นอีกองค์ประกอบสำคัญที่ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลก่อนตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์สักคัน “คีนัว” - “เมล็ดเชีย” คุณค่าทางอาหารเท่าธัญพืชไทยเพราะเดี๋ยวนี้คนไทยเรารักสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินที่หลายๆ คนให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เรียกว่ามีอะไรใหม่ๆ มาที่เขาว่ากินแล้วดีต่อสุขภาพเป็นต้องหามาลองเพราะอยากจะมีสุขภาพดีอย่างที่เขาโฆษณาล่าสุดก็เกิดกระแสการบริโภค “คีนัว” และ “เมล็ดเชีย” ธัญพืชที่ว่ากันว่านำเข้ามากจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศแถบอเมริกาใต้ ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารหลายอย่าง ทั้ง โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ แม้จะฟังดูคุณค่าทางอาหารสูง แต่ว่าราคาที่ขายก็สูงด้วยเช่นกัน ซึ่ง ผศ.อาณดี นิติธรรมยง อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาเตือนคนไทยว่าอย่าตื่นตัวกับ ข้าวคีนัว และ เมล็ดเชีย มากกันจนเกินไป เพราะจริงๆ แล้วธัญพืชของไทยเราก็มีคุณค่าทางอาหารไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็น ลูกเดือย ถั่วแดง งา ข้าวไรซ์เบอรี่ ฯลฯ เพียงแต่หลายคนมองข้ามเพราะอาจจะมองว่าเป็นของที่อยู่ใกล้ตัวหาทานได้ทั่วไป ที่สำคัญคือราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับข้าวคีนัว และ เมล็ดเชีย ใครที่พอมีทุนทรัพย์อยากจะหามารับประทานก็ตามความสะดวก แต่ยังไงการทานอาหารให้ได้ประโยชน์สูงสุดก็คือการรับประทานอาหารให้หลากหลายครบทั้ง 5 หมู่ ลาขาด SMS กวนใจหลังจากที่ปล่อยให้บรรดา SMS ขายของ ชิงโชค ดูดวง เป็นปัญหากวนใจคนใช้โทรศัพท์มือถือมานานแสนนาน ในที่สุด กสทช. ก็ได้ฤกษ์ออกประกาศห้ามผู้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือทุกค่ายส่งข้อความโฆษณาที่สร้างความรำคาญหรือทำให้ต้องเสียค่าบริการเพิ่มกับผู้ใช้มือถือ นอกจากที่เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้บริการโดยข้อห้ามดังกล่าวถูกกำหนดไว้ในประกาศของ กสทช. เรื่อง “การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควรหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พ.ศ. 2558” ซึ่งในประกาศฉบับนี้ยังมีข้อกำหนดอื่นๆ ที่ห้ามไม่ให้ค่ายผู้ให้บริการมือถือเอาเปรียบผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น ห้ามโฆษณาเกินจริง ห้ามกำหนดเงื่อนไขในการคิดค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม จำกัดโอกาสการเลือกใช้บริการ ฯลฯ ซึ่งหากค่ายผู้บริการมือถือไม่ทำตามประกาศฉบับนี้จะมีโทษปรับทางปกครองสูงสุดถึง 5 ล้านบาท แล้วถ้ายังไม่ทำการแก้ไขก็จะมีโทษปรับอีกสูงสุดวันละ 1 แสนบาทโทลล์เวย์ต้องลดราคา หลังศาลบอกสัญญาไม่เป็นธรรมศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้มติที่ประชุมของคณะรัฐมนตรีปี 2549 และ 2550 ที่เห็นชอบให้แก้ไขสัญญาสัมปทานทางหลวง อนุญาตให้ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด เก็บค่าผ่านทางเพิ่มพร้อมทั้งขยายอายุสัมปทานเพิ่มอีก 27 ปี เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นธรรมและเอาเปรียบผู้บริโภค สร้างภาระให้กับประชาชน เพราะในสัญญาเอื้อให้ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด สามารถกำหนดราคาล่วง หน้า และขึ้นราคาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต จากมติดังกล่าวของศาลปกครองกลาง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาล ดำเนินการออกคำสั่งบังคับให้ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด กลับไปใช้อัตราค่าผ่านทางเดิมก่อนแก้ไขสัญญา ที่ปรับเพิ่มขึ้นมา 5 – 15 บาท และให้เรียกเงินคืนเงินจากบริษัทที่สร้างภาระเกินสมควรกับผู้บริโภคจากการเรียกเก็บค่าผ่านทางเพิ่มจากมติที่ไม่ชอบดังกล่าวจำนวน  4 พันล้านบาท พร้อมขอให้รัฐบาลอย่าอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลาง เพราะศาลได้พิจารณาแล้วว่าการทำสัญญาระหว่างภาครัฐกับเอกชนครั้งนี้ เป็นสัญญาที่ทำให้ประเทศชาติเสียผลประโยชน์และสร้างภาระอย่างมากให้กับประชาชนสั่งถอดโฆษณา “ประกันสุขภาพสูงวัย” ทำผู้บริโภคเข้าใจผิดศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน ถึงความไม่ตรงไปตรงมาของการประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งมีการโฆษณาเชิญชวนให้ซื้อประกันผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางทีวีเป็นจำนวนมาก ในโฆษณาจะให้ข้อมูลแค่ว่าสมัครได้โดยไม่ต้องตรวจสุขภาพ จ่ายเบี้ยประกันเฉลี่ยวันละไม่กี่บาท ได้ผลตอบแทนจากวงเงินประกันสูง แต่กลับพบปัญหาเมื่อไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยจากการรักษาพยาบาล เนื่องจากบริษัทประกันอ้างว่า ผู้เอาประกันเป็นโรคร้ายแรงมาก่อนจะสมัครซื้อประกัน แถมยังมีการยกเลิกสัญญาประกันตามมาด้วย เพราะบริษัทประกันอ้างว่าผู้ซื้อประกันปกปิดข้อมูล ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างชัดเจน หลังจากที่เรื่องดังกล่าวถูกเผยแพร่ไปยังสื่อต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคตื่นตัวกับปัญหานี้เป็นอย่างมาก ทำให้สมาคมประกันชีวิตไทย ต้องออกมาประกาศให้บริษัทประกันชีวิตทุกบริษัทถอดโฆษณาขายประกันสำหรับผู้สูงอายุออกทั้งหมด แล้วให้ไปทำการปรับปรุงและเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงข้อความในโฆษณาให้มีความชัดเจน โดยต้องมีการแจ้งให้ผู้จะซื้อประกันทราบด้วยว่า ถ้าเกิดกรณีผู้ประกันเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 2 ปีแรก บริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัยพร้อมเงินเพิ่ม 2-5 เปอร์เซ็นต์ให้กับผู้เอาประกัน แต่ถ้าผ่านพ้นไปหลัง 2 ปีแล้วจะได้รับเงินคืนทั้งหมดตามทุนประกันที่ทำไว้กับบริษัทประกันชีวิต และต้องแจ้งเงื่อนไขในการทำประกันที่ว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพนั้นมีเงื่อนไขอื่นแฝงอยู่หรือไม่ เช่นไม่จ่ายชดเชยกับโรคร้ายแรงบางโรคหรือมีเงื่อนไขในการจ่าย เพื่อไม่ให้เป็นปัญหากับผู้บริโภคในภายหลัง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 อาวุโส สูงวัย ไม่โอเค

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิด เช่น วิตามิน เกลือแร่ นั้นมีประโยชน์ต่อผู้ที่อยู่ในภาวะขาดสารอาหาร แต่สำหรับผู้ที่บริโภคอาหารได้สมบูรณ์ครบห้าหมู่(ซึ่งมักสูงวัยแล้ว) และมีสุขภาพปรกติ มักให้เหตุผลการกินผลิตภัณฑ์เหล่านี้ว่า น่าจะช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย เช่น มะเร็ง ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ซึ่งโดยสรุปแล้วทำให้เข้าใจว่า ทำให้ตายช้าลง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในภาพรวมแล้ว ทำกำไรมหาศาลให้กับผู้ประกอบการ มูลค่าของยอดขายสินค้านี้ในสหรัฐอเมริกา (ค.ศ. 2014) ไม่ต่ำกว่าสองหมื่นล้านเหรียญดอลลาร์ ส่วนในเมืองไทยนั้นอย่าไปพูดถึงเลย เพราะมันมากพอที่มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งหนึ่งของไทยต้องเปิดหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาผลิตกำลังพลคนขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารออกไปให้บริการแก่สังคมคนหวังตายช้าหรือได้อะไรทางลัด เมื่อ 13 สิงหาคม 2014 ผู้เขียนได้อ่านรายงานข่าวเรื่อง Should We Take a Multivitamin? จากเว็บ www.care2.com ซึ่งกล่าวว่า หนึ่งในสามของชาวอเมริกันนิยมกินวิตามินรวมเป็นประจำ(ข้อมูลเดียวกันนี้ก็พบได้ในสหราชอาณาจักร) ทั้งที่มีคำถามว่า มันได้ประโยชน์ มีอันตราย หรือเสียเงินฟรี เนื่องจากมีผู้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับสุขภาพของสตรีสูงวัยในรัฐไอโอวาว่า การใช้วิตามินรวม(multivitamin) และแร่ธาตุบางชนิดในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น ก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตเร็วกว่าปรกติ ตัวรายงานนั้นชื่อว่า Dietary Supplements and Mortality Rate in Older Women ตีพิมพ์ใน Archives of Internal Medicine ฉบับประจำวันที่ 10 เดือนตุลาคม 2011   งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาทางระบาดวิทยานาน 19 ปี มีการสัมภาษณ์โดยใช้แบบสอบถามกับ สว.สตรี 38,772 ท่านของรัฐไอโอวาที่มีอายุเฉลี่ย 61.6 ปี (ในปี ค.ศ. 1986) และสัมภาษณ์ซ้ำอีกในปี 1997 และ 2004 และได้สรุปผลว่า การบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ซึ่งรวมถึงวิตามินเช่น กรดโฟลิก เหล็กและทองแดง ฯ ของผู้บริโภคในวัยเกษียณซึ่งหวังจะมีสุขภาพดีในทางลัด กลับเพิ่มความเสี่ยงของการเสียชีวิตในสว.สตรี ข้อมูลการศึกษานั้นกล่าวว่า ปี 1986 นั้นร้อยละ 62.7 ของผู้ตอบแบบสอบถามยอมรับว่ากินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างน้อย 1 ชนิด และเพิ่มเป็นร้อยละ 75.1 ในปี 1997 (ปีนี้เหลืออาสาสมัคร 29,230) และ 85.1 ในปี 2004  (ปีสุดท้ายนี้เหลืออาสาสมัคร 20,844 คน) ตามลำดับ สรุปแล้วมีอาสาสมัครหายไปสวรรค์ 15,594 คน คิดเป็นร้อยละของ 40.2% จากนั้นในปี 2004 ก็ได้มีการศึกษาเพิ่มเติมโดยใช้อาสาสมัครชุดเก่า 19,124 คน ไปจบการศึกษาจริงในปี 2008 โดยเหลือผู้รอดตาย 16,690 คน แสดงว่าในช่วงปี 1986 ถึง 2004 คนอเมริกันกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นักวิจัยประเมินว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารส่วนใหญ่ไม่ได้มีผลอะไรที่เกี่ยวกับความตายของ สว.หญิง ยกเว้นกลุ่มวิตามินรวมและแร่ธาตุเช่น วิตามินบี 6 กรดโฟลิก วิตามินบี 12 เหล็ก แมกนีเซียม สังกะสีและทองแดง นั้นที่มีความสัมพันธ์กับการไปสู่สัมปรายภพของผู้ถูกศึกษาเร็วขึ้น มีประเด็นที่ทำให้ใจชื้นหน่อยคือ ในการศึกษาพบว่า การเสริมแคลเซียมน่าจะช่วยให้ตายช้ากว่าปรกติหน่อยหนึ่ง ความจริงในประเด็นของโฟเลต วิตามินบี 6 วิตามิน บี 12 ซึ่งสามสหายนี้เป็นความหวังทางการแพทย์ว่า ควรจะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะผิดปรกติของหัวใจได้ โดยเป็นวิตามินที่ช่วยลดปริมาณโฮโมซีสตีอีน (homocystein ซึ่งเป็นดัชนีของความเสี่ยงของโรคหัวใจ) ได้จริง แต่ปรากฏว่าความเสี่ยงต่อภาวะผิดปรกติของหัวใจไม่ได้ลดอย่างที่หวัง ผู้ทำวิจัยได้ยกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ แร่ธาตุที่ดูเหมือนยิ่งเสริมจะยิ่งทำให้ตายเร็วคือ เหล็ก ผู้ทำวิจัยไม่ได้ให้เหตุผลว่าทำไม  แต่จากข้อมูลพื้นฐานด้านพิษวิทยาของเหล็กแล้วพบว่า เหล็กที่อยู่ในสภาวะอิสระในร่างกายเรา (ซึ่งผู้สูงอายุแล้วอาจสร้างโปรตีนเฟอไรติน (ferritin) มาจับกับอะตอมเหล็กน้อยลง) ถ้ามีมากเกินไปจะเป็นปัจจัยในการเพิ่มปริมาณอนุมูลอิสระให้สูงขึ้นตามหลักการทางเคมีที่เรียกว่า Fenton Reaction ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อหลายโรค ในกลุ่มประชาชนที่สูงอายุนี้ นอกจากการกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแล้ว ยังมีอีกประเด็นที่น่าพะวงคือ การกินอาหารสำเร็จรูปที่พยายามเติมสารอาหารบางประเภทลงไป เพื่อให้มีคุณค่าโภชนาการสูงเท่าอาหารก่อนปรุง แต่ก็มีที่เลยเถิดไปถึงการเติมแบบ “จัดหนัก” โดยผู้บริโภคไม่ได้รับรู้จากรสสัมผัส และแม้จะมีการติดฉลากโภชนาการ ผู้บริโภคก็มักไม่ได้อ่าน หรือถึงอ่านก็อาจไม่เข้าใจนัก สิ่งที่นักพิษวิทยาด้านโภชนาการกังวลคือ ปรกติสารอาหารอะไรที่ต้องใช้ในปริมาณสูงกว่าปรกตินั้น มักต้องมีการทำวิจัยอย่างลึกซึ้งถึงผลที่อาจเกิดขึ้น เช่น กรณีของโฟเลตและกรดโฟลิค ซึ่งจากชื่อนั้นดูว่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ในความจริงเป็นคนละเรื่อง Dr. Donald Abrams อาจารย์แพทย์มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแห่งเมืองซานฟรานซิสโก ได้กล่าวในคลิปของ YouTube (www.youtube.com/watch?v=zeZFcIbwCZg) ว่า เมื่อพูดถึงโฟเลตนั้น เราหมายถึงสารนั้นอยู่ในผักใบเขียวและอาหารอื่นๆ ส่วนกรดโฟลิคนั้นแสดงว่ามันเป็นสารสังเคราะห์ ซึ่งสามารถกินเกินได้ไม่ยาก ที่สำคัญก็คือ อาหารสำเร็จรูปที่มีการเติมอะไรต่อมิอะไรมากเกินไปนั้น ไม่เคยต้องถูกทดสอบว่า การเติมสารอาหารปริมาณสูงกว่าความต้องการนั้นมีอันตรายอย่างใดต่อผู้บริโภค เพราะมักเข้าใจกันง่าย ๆ ว่าสารอาหารนั้นไม่ควรมีโทษ ท่านผู้อ่านควรทราบว่า โฟเลต ซึ่งมนุษย์กินจากอาหารสารธรรมชาตินั้นอยู่ในรูปที่เชื่อมต่ออยู่กับสายโพลีกลูตาเมต ซึ่งมีขนาดใหญ่เล็กขึ้นกับชนิดแหล่งอาหาร สายโพลีกลูตาเมตนี้ถูกแยกออกที่ผิวของผนังลำไส้เล็กด้วยระบบเอนไซม์จำเพาะ เหลือเป็นโฟเลตโมโนกลูตาเมต (มีกลูตาเมตติดอยู่ 1 โมเลกุล) ที่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นจะเห็นว่า การนำเอาโพลีกลูตาเมตออกจากโฟเลตนั้นเป็นจุดกำหนด ปริมาณโฟเลตที่ร่างกายจะได้ใช้ (ซึ่งมีตัวเลขประมาณร้อยละ 25-50 ที่กินเข้าไป) ในทางตรงกันข้ามถ้าเป็นกรดโฟลิก การดูดซึมจะเป็นเกือบร้อยละ 100 เพราะกรดโฟลิกนั้นถูกสังเคราะห์ในรูปที่ไม่มีสายโพลีกลูตาเมตเชื่อมไว้ ท่านผู้สนใจอ่านข้อมูลนี้ได้จาก http://www.fao.org/docrep/004/y2809e/y2809e0a.htm ซึ่งองค์กรแห่งสหประชาตินี้ก็แสดงความกังวลอยู่เช่นกัน เป็นธรรมดาของชาวโลก งานวิจัยใดมีผู้สนใจมากก็มักมีผู้โต้แย้งอยู่เสมอ เช่น กล่าวว่าเป็นเพียงผลจากการเฝ้าสังเกตกลุ่มคนกลุ่มเดียว โดยไม่ได้ทำการศึกษาที่มีการแบ่งกลุ่มการทดลองที่ได้กินผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร(คือวิตามินรวมและแร่ธาตุ) และกลุ่มควบคุมซึ่งได้ยาหลอกเพื่อเปรียบเทียบว่ากลุ่มไหนอายุยืนกว่ากัน  ทำให้ยังสรุปไม่ได้ว่ากลุ่มที่ถูกศึกษานั้นกินวิตามินเพราะป่วยอยู่แล้วจึงตายเร็ว อย่างไรก็ดีได้มีงานวิจัยจริงๆ เรื่องหนึ่งชื่อ Multivitamins in the Prevention of Cardiovascular Disease in Men ซึ่งอยู่ในโครงการ Harvard Physicians’ Study II ในช่วงปี พ.ศ. 1997-2011 (และตีพิมพ์ใน JAMA. 2012; 308(17): 1751-1760)  ซึ่งมีการวางแผนวิจัยด้านระบาดวิทยาที่เป็นการศึกษาในแพทย์เพศชายแบบ randomized double blind ซึ่งหมายความว่า การศึกษานี้มีอาสาสมัครจำนวนนับ 14,641 คนที่ถูกเฝ้าสังเกตโดยไม่รู้ว่าตนได้รับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มวิตามินรวม (7,317 คน ซึ่ง ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2011 เหลือมีชีวิต 5,924 คน ตาย 1,345 คน หายไป 48 คน) หรือยาหลอก (7,324 คน ซึ่ง ณ.วันที่ 1 มิถุนายน 2011 เหลือมีชีวิต 5,855 คน ตาย 1,412 คน หายไป 57 คน) จากเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ป้อนยา ซึ่งเจ้าหน้าที่เองก็ไม่รู้ว่ายาที่ป้อนเป็นวิตามินรวมหรือยาหลอก (สรุปคือ ทั้งคนป้อนยาและคนรับยาต่างไม่รู้ว่าสิ่งที่ผ่านจากมือเข้าปากนั้นคืออะไร คนที่รู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้นคือ กลุ่มคนที่รับผิดชอบโครงการเท่านั้น) ได้สรุปผลว่า การเสริมวิตามินนั้นไม่ได้มีผลอะไรต่อการที่อาสาสมัครจะหัวใจวาย สมองขาดเลือด หรือตายด้วยอาการอื่น แต่มีแนวโน้มได้ของแถมติดไม้ติดมือบ้างคือ อาการแผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ บ้างท้องผูก บ้างท้องเสีย คลื่นไส้ หมดแรง ง่วงเหงาหาวนอน ผิวหนังเปลี่ยนสี และอาการปวดหัวไมเกรน ดังนั้นถ้าท่านผู้อ่านอยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่าเป็น สว. โดยธรรมชาติ ไม่ได้มีใครเลือกตั้งหรือแต่งตั้งแล้ว การจะกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก็อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ด้วยความตระหนักว่า ทำไมตนเองจึงกิน แต่ถ้าถามตัวเองแล้วไม่ได้คำตอบว่ากินไปทำไม ก็ย้อนกลับขึ้นไปอ่านบทความนี้อีกที น่าจะดีเหมือนกันนะครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 124 วิธีเลือกเครื่องสำอางสำหรับผู้สูงวัย

  ผิวหนังของผู้สูงวัย มักจะแห้ง มีริ้วรอย ความชุ่มชื้นน้อย ผิงหนังมักจะบาง เพราะเซลล์ผิวหนังมีการเจริญเติบโตลดน้อยลง และมักจะซีดลง อันเนื่องมาจากการสร้างเม็ดสีของผิวหนังทำงานลดลง และบ่อยครั้งที่พบว่าสีผิวมักจะไม่สม่ำเสมอ   คำแนะนำในการเลือกใช้เครื่องสำอาง1) เริ่มต้นจากพื้นฐานสิ่งสำคัญสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสำหรับผิวหนังผู้สูงวัยคือ ต้องมีองค์ประกอบของสารมอยส์เจอร์หรือสารให้ความชุ่มชื้นผิวในปริมาณสูง และควรจะใช้ควบคู่กับครีมกันแดดด้วยทุกครั้ง สารมอยส์เจอร์สำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังโดยทันที จำเป็นต้องบำรุงผิวหน้าเป็นลำดับแรก ผิวหนังบริเวณรอบดวงตามักจะแห้งมากกว่าส่วนอื่น ริ้วรอยรอบดวงตาจะเป็นเครื่องชี้บ่งถึงความชราของผิวหนังเจ้าของ ครีมบำรุงผิวรอบดวงตาจะมีองค์ประกอบที่ปกป้องผิวหนังรอบตาได้ดีกว่าผิวหน้าทั่วไป มักจะมีองค์ประกอบที่มีมอยส์เจอร์สูงกว่าและมีสารอีมูเลียน (Emollients) ที่มันกว่าเพื่อเคลือบปกป้องไม่ให้ผิวหนังสูญเสียความชุ่มชื้นนั่นเอง ทุกครั้งที่อาบน้ำล้างหน้า แนะนำให้บำรุงด้วยครีมมอยส์เจอร์รอบผิวหน้าและดวงตาทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนนอน แนะนำให้ทาครีมบำรุงทุกครั้ง   ภายหลังจากบำรุงผิวหน้าและรอบดวงตาด้วยมอยส์เจอร์แล้ว ควรปกป้องผิวหน้าด้วยครีมกันแดดให้ทั่วผิวหน้าก่อนที่จะแต่งแต้มด้วยครีมรองพื้น ครีมกันแดดจะประกอบไปด้วยสารกรองรังสียูวีเอและยูวีบี       รังสียูวีเอจะสามารถทะลุผิวหนังชั้นล่างได้ ทำให้ผิวหนังคนเราเหี่ยวย่นก่อนวัยอันควร ส่วนรังสียูวีบีมีผลทำให้ผิวหนังไหม้เกรียมและดำคล้ำ ในวัยสูงอายุจึงแนะนำให้ทาครีมกันแดดก่อนออกจากบ้านในระหว่างวัน เพื่อปกป้องผิวหนังไม่ให้ถูกทำลายจากรังสีดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นปัจจัยเร่งให้ผิวหนังเหี่ยวย่นเร็วก่อนวัย   2) การเลือกครีมรองพื้น ครีมรองพื้นมีองค์ประกอบของแป้งที่เป็นเม็ดสีละเอียด ทำหน้าที่เคลือบผิวหน้าเพื่อช่วยให้ผิวหน้าแลดูเนียนละเอียด ช่วยปกปิดริ้วรอยและแผลเป็นหรือหลุมลึกของสิวได้ดี การเลือกชนิดของครีมรองพื้น แนะนำให้เลือกผลิตภัณฑ์ชนิดครีมหรือโลชั่นชนิดน้ำมัน ไม่ควรเลือกผลิตภัณฑ์ชนิดที่เป็นน้ำ เพราะเมืองไทยอากาศร้อนชื้น เวลาเหงื่อออก จะทำให้รองพื้นชนิดน้ำแตก ดูคล้ายผิวหน้าแตกลาย ไม่น่าดู และหมดสวย ควรเลือกสีที่ใกล้เคียงกับสีผิวหน้าของเรามากที่สุด ที่สำคัญคือควรทารองพื้นเพียงบางเบาและเกลี่ยให้ทั่วใบหน้า ไม่ควรทาหนา เพราะจะยิ่งไปเน้นริ้วรอยให้เห็นชัดเจนมากขึ้น   3) การแต่งแต้มแก้มให้เป็นสีชมพู ผิวหน้าวัยสูงอายุมักจะแลดูซีดเซียว แห้ง และไม่สดใส ดังนั้นการเติมสีสันให้ผิวแก้มเป็นสีชมพู จะช่วยได้มาก เพิ่มชีวิตชีวา แนะนำให้เลือกผลิตภัณฑ์ชนิดที่เป็นครีมเพราะมีองค์ประกอบของอีมูเลียน (Emollients) หรือน้ำมันบำรุงผิวอีกด้วย ช่วยให้ผิวแก้มชุ่มชื้นและติดทนนานมากขึ้น อย่าลืมว่าควรเลือกสีให้บางเบาเพื่อให้แลดูเป็นธรรมชาติ   4) การเลือกสีอายเชโด้ควรเลือกสีอายเชโด้ให้เข้ากับบุคลิกของเจ้าของ แต่ที่สำคัญคือบางเบา เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่แต่งเป็นงิ้ว เพราะจะค้านกับวัยและแลดูแก่กว่าวัยทันที ก่อนทาสีอายเชโด้ แนะนำให้ใช้ครีมรองพื้นเฉพาะของเปลือกตาป้ายบางๆ นอกจากจะบำรุงให้ชุ่มชื้นแล้ว ยังช่วยให้สีอายเชโด้ติดทนนานได้ตลอดวันอีกด้วย   5) การเลือกลิปสติก ผิวหนังริมฝีปากของผู้สูงอายุ มักจะแห้งและบางครั้งมีหนังลอก การทาลิปสติกมักไม่ค่อยติดหรือหลุดลอกได้ง่าย วิธีแก้ปัญหา ควรหมั่นบำรุงผิวริมฝีปากด้วยครีมบำรุงผิวให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอไม่เว้นแม้แต่เวลาหลับ สารมอยส์เจอร์ในครีมบำรุงจะช่วยให้ริมฝีปากชุ่มชื้น ทำให้ริมฝีปากไม่แห้งและไม่มีหนังลอก ลิปสติกที่ทาไว้จะติดโดยไม่หลุดลอกง่าย สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้เมื่อทาลิปสติก แนะนำให้เลือกผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากน้ำหอม เนื่องจากน้ำหอมมีองค์ประกอบของน้ำมันหอมระเหยมากมาย ที่อาจทำให้เกิดการแพ้ได้ในคนที่มีผิวบอบบางและแพ้สารเคมีง่าย การใช้ลิปสติกไม่ควรใช้นานเกิน 1-2 ปี เพราะองค์ประกอบในลิปสติกส่วนใหญ่เป็นไขมัน เมื่อเก็บไว้นานจะเหม็นหืน หากมีกลิ่นหืน ควรทิ้งทันทีโดยไม่ต้องเสียดาย เพราะถ้าใช้ต่อ จะทำให้แพ้และริมฝีปากลอกได้ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ผู้หญิงควรจำไว้คือ ลิปสติคส์ควรใช้เฉพาะคน ไม่ควรแบ่งเพื่อนใช้หรือใช้ร่วมกับคนอื่น เพราะอาจปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์จากคนหนึ่งสู่อีกคนได้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 186 ดูแลผู้สูงวัย ใช้ยาปลอดภัย และเป็นสุข

ผมมีโอกาสไปร่วมฟังการนำเสนอผลงานวิชาการของ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลในจังหวัด น้องพยาบาลได้เล่าประสบการณ์ที่พบปัญหาของผู้สูงวัยเกี่ยวกับการใช้ยามากมาย เช่น เมื่อแพทย์จ่ายยาขับปัสสาวะเพื่อใช้ในการรักษาโรคความดันให้กับคุณยายท่านหนึ่ง คุณยายกลับไม่ยอมรับประทาน อ้างว่าตนเองก็ปัสสาวะได้เป็นปกติ ทำไมจะต้องทานยาขับปัสสาวะอีก  หรือแพทย์สั่งจ่ายยาให้คุณป้ารายหนึ่งรับประทานครั้งละครึ่งเม็ด เจ้าหน้าที่ก็เข้าใจว่าแกรับประทานยาตามที่ให้จนครบ เพราะยาหมดตามเวลา แต่มารู้ภายหลังว่าแกหักเม็ดยาไม่เป็น เลยใช้มีดสับ หลังๆ ขี้เกียจสับ เลยกินทีละเม็ดวันเว้นวัน เมื่อครบกำหนดยาก็หมดพอดีนี่เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น เพราะจากประสบการณ์ของน้องๆ เภสัชกรที่ได้ลงเยี่ยมบ้านผู้ป่วยร่วมกับทีมสุขภาพ ก็มักจะมาเล่าให้ฟังเสมอๆ ว่า ผู้ป่วยสูงวัยหลายราย ไม่ได้รับประทานแต่ยา แต่ยังรับประทานผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกด้วย จนได้รับผลข้างเคียงอันตรายหลายรายเช่นกัน  ดังนั้นในขณะที่สังคมเรากำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมของผู้สูงวัย การเตรียมเฝ้าระวังและป้องกันความเสี่ยงจากการใช้ยาและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของผู้สูงวัย จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่พวกเราต้องหันมาใส่ใจอย่างละเอียดมากขึ้น ทั้งเจ้าหน้าที่ ผู้สูงวัย และญาติพี่น้องหรือผู้ดูแลทีมเจ้าหน้าที่ ต้องใส่ใจในการพิจารณาสั่งจ่ายยาให้เหมาะสม ควรเลือกยาที่สะดวกในการใช้ของผู้สูงวัย เมื่อจะส่งมอบยาก็ต้องแนะนำข้อมูลต่างๆ ให้ละเอียด สื่อสารให้ผู้สูงวัยหรือผู้ที่มีหน้าที่ดูแลผู้สูงวัยเข้าใจอย่างดี ข้อความบนฉลากควรเป็นภาษาที่เข้าใจได้ง่าย เขียนด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่เท่าที่ผู้ป่วยหรือผู้ดูแล จะสามารถอ่านได้สะดวก ตัวผู้ป่วยเอง หากสงสัยหรือไม่มั่นใจ ก็ต้องถามให้หมดสิ้นความสงสัย หากเกรงว่าจะลืมหรือจำไม่ได้ ก็ควรจดบันทึกเพิ่มเติม หรือเขียนกำกับไว้ที่ซองยาหรือฉลากยา  ญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วย ต้องพยายามสังเกตให้ดีว่าผู้ป่วย รับประทานยาตรงตามที่ได้รับคำแนะนำมาหรือไม่ และหมั่นสังเกตอาการของผู้ป่วยด้วยว่ามีอาการผิดปกติหรือเปล่า หากมีอาการผิดปกติ ควรสอบถามผู้ป่วยให้ละเอียด เช่น เกิดอาการเมื่อไร  ผู้ป่วยได้รับประทานผลิตภัณฑ์อื่นๆ ร่วมด้วยหรือเปล่าและที่สำคัญทั้งผู้ป่วยและญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วย ไม่ควรซื้อผลิตภัณฑ์อื่นๆ ตามคำโฆษณา เพราะผู้ป่วยสูงวัยที่มีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรังต่างๆ  มักเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะถูกชักชวนให้ซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากผู้ขาย หรือถูกชวนไปตรวจสุขภาพฟรีๆ แล้วโน้มน้าวให้ซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดต่างๆ มาใช้  สุดท้ายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ บางทีกลับทำให้อาการป่วยเพิ่มมากขึ้นหรืออาจทำให้ได้รับอันตรายเพราะมีข้อมูลมากมายที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบว่า ผลิตภัณฑ์ที่โอ้อวดสรรพคุณเหล่านี้ มักมีสารปนเปื้อนอันตราย เช่น เครื่องดื่มสมุนไพรแก้ปวดเมื่อยที่ผสมสารสเตียรอยด์ ผลิตภัณฑ์บำรุงตับไตไส้พุง บำรุงตา บำรุงหัวใจ ดังนั้นหากไม่แน่ใจ ขอให้สอบถามเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านก่อนตัดสินใจนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 165 สูงวัยอาจถูกหลอก?

ปัจจุบันนี้ นอกจากเทคโนโลยีจะทันสมัยเพิ่มมากขึ้นแล้ว กลุ่มผู้สูงวัยก็เป็นพลเมืองอีกกลุ่มที่จะเพิ่มมากขึ้นไปด้วย หน่วยงานต่างๆ หลายแห่งหันมาให้ความสนใจกับกลุ่มผู้สูงวัยมากขึ้น มีการสนับสนุนการรวมตัวหรือจัดกิจกรรมต่างๆ ให้กลุ่มผู้สูงวัย  โดยบางทีก็ไม่รู้ว่าอาจจะตกเป็นเครื่องมือของคน(ไม่หวังดี) บางกลุ่ม ผู้เขียนได้รับแจ้งข่าวพร้อมภาพจากพลเมืองดีว่า เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ได้ไปเยี่ยมกลุ่มชมรมผู้สูงอายุที่จัดกิจกรรมในพื้นที่แห่งหนึ่ง แต่เมื่อไปถึงกลับพบว่าครั้งนี้มันแปลกไป ไม่ได้หมายถึงผู้สูงวัยท่านจะกลับมาเป็นวัยหนุ่มสาวหรอกนะครับ หากแต่พบว่า มีกลุ่มบุคคลแจ้งว่าตนเองมาจากมูลนิธิแห่งหนึ่ง มาตรวจแนะนำสุขภาพให้ผู้สูงวัย แหม..เริ่มต้นด้วยจิตอันเป็นกุศลอย่างนี้ไม่ว่าวัยไหนๆ คงระทวยไปตามๆ กัน การตรวจก็ง่ายๆ ครับ มีอุปกรณ์เครื่องมือชิ้นเล็กๆ หนีบนิ้ว แล้วมีสายต่อไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะแสดงผลหน้าจอออกมาเป็นกราฟ เห็นอุปกรณ์ทันสมัยไฮเทคขนาดนี้แล้ว ยิ่งบุคคลผู้ตรวจ ซึ่งเป็นเพศชายดูมีบุคลิกดี ทะมัดทะแมง ทรงภูมิ ดูมีการศึกษา แถมอธิบายกราฟให้คุณตาคุณยายฟังเป็นฉากๆ เจอกับตาตนเองขนาดนี้แล้ว ผู้สูงวัยทั้งหลายต่างก็อ้าปากค้างกันไปเลย ทยอยมาต่อคิวกันตรวจกันใหญ่ แต่โลกนี้คงไม่มีอะไรฟรีๆ ดังนั้นถึงจะมาในนามมูลนิธิก็เถอะ บริการฟรีๆ จะมีที่ไหน ถัดไปอีกโต๊ะจะมีกลุ่มพนักงานหญิงมาพร้อมกับผลิตภัณฑ์สินค้ามากมาย อย่าเพิ่งดีใจ เขาไม่ได้มาแจกฟรีนะครับ เอามาจำหน่ายครับ มีขายเป็นชุด เช่น ชุดสมอง-หัวใจ-ไต-กระดูก ชุดละ 6 ขวด ราคา 3,000 บาท แต่ถ้าคุณตาคุณยายเงินน้อยก็ยินดีขายแยกขวดนะครับ มีหลายผลิตภัณฑ์ ราคาประมาณขวดละห้าร้อยถึงหกร้อยบาท ถึงราคาจะสูง แต่คุณตาคุณยายเห็นทั้งกราฟจากจอคอมพิวเตอร์ แถมมีคนแนะนำกระหน่ำโรคให้หวั่นไหวหัวใจขนาดนี้แล้ว คุณตาคุณยายบางคนก็ยอมควักกระเป๋าจ่าย หมดเงินไปตามๆ กัน ฟังเรื่องราวแล้วก็ละเหี่ยใจ แทนที่จะเคารพดูแลผู้สูงวัย กลับมาหลอกลวงท่านให้เสียเงินเสียทองไปอีก ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เท่าที่ดูจากรูปก็เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่วางขายทั่วๆ ไป คุณภาพสรรพคุณก็ไม่ได้สูงตามราคา พลเมืองดีท่านนี้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทางผู้ขายจะตระเวนไปเรื่อยๆ ตามสถานที่ประชุมกลุ่มหรือชมรมผู้สูงวัยทั้งหลาย  ไม่รู้ว่าจะวนเวียนไปแถวไหนอีก หากใครพบเห็น ขอให้รีบแจ้งกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้เลยนะครับ ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้สูงวัยในพื้นที่ หากเจอใครมาติดต่อขอให้บริการผู้สูงวัยในลักษณะนี้ ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคเช่นกัน จะได้มาตรวจสอบและป้องกันการให้ข้อมูลบิดเบือนได้ทัน ก่อนที่คุณตาคุณยายทั้งหลายอาจจะตกเป็นเหยื่อได้นะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 กระแสต่างแดน

รับประกันความเหนียว ในครึ่งแรกของปี 2013 ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร ที่คนอังกฤษร้องเรียนบ่อยที่สุดคือเรื่องที่เกี่ยวกับ “การประกันเงินกู้” ธนาคารและบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่อังกฤษนิยมขายบริการเงินกู้พ่วงกับการประกัน ด้วยเงื่อนไขว่าจะรับผิดชอบจ่ายหนี้ให้ในกรณีที่ผู้กู้ไม่สามารถทำงานได้ แต่เมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยกลับไม่ได้รับความช่วยเหลืออะไร เพราะบรรดาข้อยกเว้นยุบยิบที่แนบท้ายมาในกรมธรรม์นั่นเอง ผู้ตรวจการด้านการเงินการธนาคารของอังกฤษบอกว่า ในบรรดาเรื่องร้องเรียน 327,000 เรื่องที่ส่งเข้ามา มีถึงร้อย 86 ที่เป็นกรณีธนาคารเบี้ยวเงินชดเชย หรือไม่ก็ถ่วงเวลาให้ผู้เอาประกันต้องรอโดยไม่จำเป็น   รายงานดังกล่าวระบุว่า 1 ใน 3 เป็นการร้องเรียนพฤติกรรมของสถาบันการเงินในกลุ่ม Lloyds Banking Group โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารแห่งสกอตแลนด์ ที่มีคนร้องเรียนมากกว่า 58,000 ราย และที่ถูกร้องเรียนมากเป็นอันดับสองได้แก่ บาร์เคลย์ ด้วยเรื่องร้องเรียนกว่า 44,000 เรื่อง ผู้ตรวจการฯ พบว่าบริษัทเหล่านี้ตั้งเงินสำรองสำหรับการประกันเหล่านี้ไว้ถึง 18,000 ล้านปอนด์ แต่ก็ยังปฏิเสธการให้เงินชดเชยกับผู้เอาประกันแม้ในกรณีที่สมควรจ่าย และที่สำคัญ 1 ใน 3 ของกรณีขอรับการชดเชยที่ถูกปฏิเสธไปนั้น เมื่อตรวจสอบดูแล้วพบว่าเข้าข่ายการได้รับเงินชดเชยด้วย ยังดีตรงที่ในการยื่นเรื่องกับผู้ตรวจการนั้น เขากำหนดให้ธนาคาร/บริษัทที่ขายประกัน เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย 550 ปอนด์ต่อเรื่องร้องเรียน ไม่ว่าเรื่องนั้นจะได้รับผลการพิจารณาว่าธนาคาร/บริษัทต้องรับผิดชอบหรือไม่ ค่อยยังชั่ว ... นึกว่าต้องซื้อประกันเพื่อความมั่นใจว่าประกันเงินกู้ที่ซื้อไว้จะจ่ายค่าชดเชยให้เราอีกด้วยนะนี่   ถูกไป..ไม่กล้าซื้อ ในห้างเมโทรของเวียดนาม ส้มนำเข้าจากออสเตรเลียขายในราคาเพียงกิโลกรัมละ 50,999 ดอง(75 บาท) แอปเปิ้ลจากอเมริกาก็กิโลกรัมละ 44,900 ดอง(66 บาท) เท่านั้น แต่กลับไม่เป็นที่นิยมเพราะผู้บริโภคไม่แน่ใจว่ามันมาจากไหนกันแน่ เป็นที่รู้กันทั้งประเทศว่าเวียดนามมีกฎระเบียบการนำเข้าผลไม้ที่เข้มงวด ซึ่งกำหนดให้มีการตรวจสอบเพื่อหาแมลง โรคระบาด หรือสารเคมีตกค้างต่างๆ ราคาผลไม้นำเข้าที่นั่นจึงค่อนข้างแพง กระทรวงการเกษตรและการพัฒนาชนบท ยืนยันว่าปัจจุบันผลไม้ที่นำเข้าจากประเทศตะวันตกนั้นมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่เห็นขายกันอยู่ตามท้องถนนส่วนใหญ่เป็นการลักลอบนำเข้า ที่สำคัญข่าวเขาบอกว่า เป็นเรื่องยากที่จะค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของผลไม้นำเข้า เพราะแม้แต่สมาคมผักและผลไม้แห่งเวียดนามเองก็แสดงข้อมูลเกี่ยวกับผลไม้ส่งออกเท่านั้น ถ้าอยากรู้ก็ต้องอาศัยข้อมูลจากภายนอก แอปเปิ้ลส่วนใหญ่ที่ขายในเวียดนามมาจากจีน โดยอ้างอิงตัวเลขของจีนที่ระบุว่ามูลค่าการส่งออกแอปเปิ้ลมาเวียดนามในระหว่างปี 2008 -2010 อยู่ที่ 53 ล้านเหรียญ ในขณะที่ตัวเลขจากอเมริกามีเพียง 8 ล้านเหรียญเท่านั้น   แบรนด์นั้นสำคัญแต่ ... การสำรวจความเห็นของคน 134,000 คน ทั่วโลก โดย Havas Media Group พบว่า ผู้บริโภคไม่รู้สึกอาลัยอาวรณ์นัก ถ้าร้อยละ 73 ของแบรนด์ต่างๆ ที่มีอยู่นั้นจะหายไปจากโลกนี้ และพวกเขาเชื่อว่ามีเพียง 1 ใน 5 ของแบรนด์เหล่านี้เท่านั้นที่ทำให้คุณภาพชีวิตผู้บริโภคดีขึ้นจริงๆ ถ้าเจาะดูเฉพาะคนยุโรป จะเห็นว่าค่อนข้างโหดทีเดียว พวกเขาเชื่อว่ามีเพียงร้อยละ 5 ของแบรนด์เท่านั้นที่ทำให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้น และก็ไม่แคร์แม้ว่าร้อยละ 93 ของแบรนด์ที่มีอยู่จะหายไป มีเพียง 1 ใน 5 ของคนยุโรปและ 1 ใน 4 ของคนอเมริกันเท่านั้น ที่เชื่อว่าแบรนด์เหล่านี้สื่อสารกับตนเองด้วยความจริงใจเวลาที่ให้คำมั่นสัญญาหรือประกาศเจตนารมณ์ใดก็ตาม เจ้าของแบรนด์อาจจะอยากทบทวนการใช้งบประมาณหลายพันล้านปอนด์ที่ทุ่มเทให้กับการสร้างแบรนด์ แล้วหันมาเน้นความรับผิดชอบต่อสังคมแทน เพราะตัวเลขจากตลาดหุ้นยืนยันว่าบริษัทที่แสดงบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมได้ชัดเจน จะมีผลประกอบการที่สูงกว่าด้วย ที่น่าสนใจคือผู้บริโภคเชื่อว่าแบรนด์สามารถมีบทบาทในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตและเพิ่มสุขภาวะของพวกเขา  คนยุโรปและอเมริกากว่าครึ่งก็เห็นด้วย แต่ในปัจจุบันแบรนด์เหล่านี้ยังไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังดังกล่าวได้   เหมือนเดิม .. โซเดียมด้วย ด้วยกระแสกดดันให้ลด ละ เลิก อาหารที่มีไขมัน เกลือหรือน้ำตาลสูง ทำให้เราคิดไปว่าบรรดา ร้านอาหารจานด่วนรายใหญ่ๆ เขาคงจะปรับเปลี่ยนเมนูให้เป็นมิตรต่อสุขภาพมากขึ้น ... หรือเปล่า? งานสำรวจที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Journal of the Academy of Nutrition and Diabetes เปิดเผยว่า ปริมาณแคลอรี่และโซเดียมในอาหารจานหลักของร้านฟาสต์ฟู้ดในอเมริกาในปี 2011 ก็ไม่ได้ลดลงจากปี 2010 แต่อย่างใด ข้อมูลดังกล่าวเป็นผลจากสำรวจอาหารจากหลัก 26,000 เมนู ในร้านจานด่วน 213 สาขาทั่วอเมริกา ในปี 2010 ค่าเฉลี่ยของพลังงานที่ได้จากอาหารจานหลัก 1 จานในร้านเหล่านี้อยู่ที่ 670 แคลอรี่ และยังคงเท่ากับค่าในปี 2011 ที่ร้านอาหารเริ่มแสดงข้อมูลโภชนาการของอาหารเมนูต่างๆ แล้ว และแม้จะมีการลดปริมาณแคลอรี่ลงเล็กน้อยในเมนูทั่วไป กลับไม่มีการลดปริมาณแคลอรี่ในเมนูสำหรับเด็ก ส่วนปริมาณโซเดียมโดยเฉลี่ยก็ลดลงเพียง 15 มิลลิกรัมต่อเมนูเท่านั้น ผู้วิจัยยังพบด้วยว่า แม้ร้านเหล่านี้จะปรับเปลี่ยนเมนูอยู่เป็นประจำ แต่ทุกครั้งที่มีการเพิ่มเมนูเพื่อสุขภาพก็จะมีการใส่เมนูตามใจปากเข้ามาด้วย การสำรวจนี้ฟันธงว่า ผู้ประกอบการยังไม่ได้ปรับปรุงโภชนาการของอาหารในร้านให้ดีขึ้น  มาตรการที่กำหนดให้แสดงข้อมูลโภชนาการเพียงอย่างเดียวจึงน่าจะยังไม่เพียงพอที่จะทำให้คนอเมริกามีนิสัยการกินที่ดีขึ้น     พร้อมรับคนสูงวัย การสูงวัยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับประชากรทุกคนอยู่ตลอดเวลา เรามาดูกันว่าประเทศไหนพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุกว่ากัน การสำรวจ Global AgeWatch Index 2013 ที่ทำใน 91 ประเทศ ซึ่งครอบคลุมร้อยละ 89 ของจำนวนประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ได้จัดอันดับให้สวีเดนเป็นประเทศที่ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตและสุขภาวะดีที่สุด แม้จะไม่ได้เป็นที่หนึ่งในแต่ละด้านที่ทำการสำรวจ ซึ่งได้แก่ 1) ความมั่นคงทางรายได้  2) สุขภาพ  3) การจ้างงาน/การศึกษา และ 4) สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต  แต่สวีเดนซึ่งมีประชากรวัย 60 ขึ้นไปประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด 9.5 ล้านคน ก็ติดอยู่ในอันดับท็อปเท็นของทุกด้าน ในด้านรายได้ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีที่มีรายได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของรายได้เฉลี่ยของประชากรนั้นมีเพียงแค่ร้อยละ 9 และคนสวีเดนยังมีอายุคาดหลังวัย 60 ไปอีก 24 ปี อีกทั้งเขายังพบว่ามีประชากรในวัย 50 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 95.6 ที่รู้สึกว่าชีวิตยังมีความหมาย และผู้ที่มีอายุระหว่าง 55 – 64 ปีที่ยังมีงานทำอยู่ก็มีมากกว่าร้อยละ 70 ด้วย ตำแหน่งประเทศที่ผู้สูงอายุมีรายได้ดีที่สุดนั้นเป็นของลักเซมเบิร์ก ด้านสวิตเซอร์แลนด์ได้ครองตำแหน่งประเทศที่ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีที่สุด ส่วนนอร์เวย์รั้งตำแหน่งประเทศที่มีอัตราการจ้างงานผู้สูงอายุสูงที่สุด ในขณะที่ผู้สูงวัยชาวเนเธอร์แลนด์คือกลุ่มคนที่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตได้โดยอิสระมากที่สุด และหากคุณสงสัย ... ประเทศไทยก็ไม่ขี้เหร่ เข้าอันดับที่ 42 ซึ่งเป็นอันดับที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน (งานนี้เขาไม่ได้สำรวจที่สิงคโปร์) และเราได้อันดับที่ 8 ในเรื่องของสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุด้วย เพราะมีถึงร้อยละ 89 ที่รู้สึกว่าตนเองสามารถติดต่อเพื่อนหรือญาติได้ในกรณีที่มีปัญหา และมีมากกว่าร้อยละ 80 ที่รู้สึกว่ายังสามารถเดินไปไหนมาไหนในเมืองได้โดยไม่ต้องกลัวอันตราย   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 กระแสต่างแดน

เรื่องคับอกของผู้สูงวัย ปีนี้เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลญี่ปุ่นจัดพิมพ์สมุดปกขาวว่าด้วยสถานการณ์ผู้บริโภค แต่นั่นยังไม่ใช่ไฮไลท์ของข่าวนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะได้รับเรื่องร้องเรียนน้อยลงถึงร้อยละ 20.4 ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (เหลือ 836,662 กรณี) แต่ปรากฏว่าจำนวนเรื่องร้องเรียนจากผู้สูงอายุกลับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 34.7 (มีถึง 207,513 กรณี) ถ้ามองโดยรวมแล้ว ร้อยละ 56 ของผู้ร้องเรียนเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ซึ่งได้รับความเดือดร้อนรำคาญจาก ผู้ที่โทรศัพท์มาชักชวนให้ซื้อสินค้า/บริการ ตามด้วยการได้รับสินค้าสุขภาพบ่อยครั้งทั้งๆ ที่ไม่ได้สั่งซื้อ แต่ที่เจ็บปวดที่สุดคือการถูกหลอกลวงโดยคนที่อาสาจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อสินค้าหรือบริการนั่นเอง ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข แล้วยังต้องเสียเงินให้ใครไปอีกก็ไม่รู้     ผิดที่แม่ เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2006 หนูน้อยเอมม่าวัย 3 ขวบชาวอังกฤษ ได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังและตับ เมื่อรถที่คุณแม่ของเธอเป็นคนขับถูกรถอีกคันชน ขณะเกิดเหตุเอมม่านั่งอยู่บนเบาะรองนั่งสำหรับเด็ก ชนิดไม่มีพนักพิง แม้ว่ารถของคู่กรณีจะเป็นฝ่ายผิด แต่บริษัทประกันของเขาโต้แย้งว่าแม่ของเด็กควรมีส่วนร่วมจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกด้วย เพราะเป็นความประมาทเลินเล่อของเธอที่ให้ลูกนั่งเบาะเสริม ทั้งๆ ที่ในร ถก็มีเบาะชนิดที่เหมาะสมกับลูกอยู่ด้วย เดือนเมษายนปี 2012 ศาลชั้นต้นตัดสินว่าลูอิส แม่ของเอมม่า มีส่วนทำให้ลูกได้รับบาดเจ็บจากการให้ลูกนั่งบนเบาะผิดประเภท และต้องร่วมจ่าย 1 ใน 4 ของค่าชดเชย ลูอิสขออุทธรณ์ แต่ศาลก็ยังยืนยันคำพิพากษาเดิม ศาลให้ความเห็นว่าแม้ลูอิสเป็นแม่ที่ยอดเยี่ยม แต่ก็เธอไม่ควรนำเบาะเสริมชนิดดังกล่าวมาใช้ และอาการบาดเจ็บของเอมม่าจะไม่รุนแรงขนาดนี้ถ้าเธอเลือกใช้เบาะชนิดที่มีพนักพิงและเข็มขัด ซึ่งเธอก็มีอยู่ในรถ ที่สำคัญ เมื่อพิจารณาคู่มือการใช้เบาะเสริมแล้วพบว่า เอมม่ามีน้ำหนักที่เหมาะสมกับการใช้เบาะดังกล่าว (เธอหนัก 15 กิโลกรัม) แต่เอมม่ายังขาดส่วนสูงไป 8 เซนติเมตร และยังอายุไม่ถึง 4 ขวบตามที่คู่มือแจ้งไว้     กินเนื้อเมื่อโอกาสเหมาะ คณะกรรมาธิการด้านอาหารของรัฐสภาอังกฤษเขาบอกว่าอังกฤษเป็นอีกประเทศที่อาจต้องเผชิญกับภาวะอาหารขาดแคลนในเวลาอันใกล้นี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลรีบดำเนินการเพิ่ม “ความมั่นคงทางอาหาร” โดยด่วน คณะกรรมาธิการมีข้อเสนอให้รัฐบาลรีบออกนโยบายลดอาหารเหลือทิ้ง(อังกฤษก็เหมือนที่อื่นๆ ในโลก ที่กิน 7 ส่วน ทิ้ง 3 ส่วน) รวมถึงมาตรการลดความผันผวนของราคาอาหาร และรณรงค์ให้ชาวเมืองผู้ดีเลิกรับประทานเนื้อสัตว์เป็นอาหารหลัก เรียกว่าต้องเป็นโอกาสพิเศษจริงๆ ถึงจะมีเนื้อสัตว์ขึ้นโต๊ะ และเขาขอให้เป็นเนื้อจากปศุสัตว์ที่เลี้ยงในทุ่งหญ้าเท่านั้น เรามาช่วยกันลุ้นว่าปฏิบัติการกู้กระเพาะจะเกิดขึ้นได้ทันเวลาหรือไม่ อังกฤษเคยมีประสบการณ์เรื่องวิกฤตราคาอาหารมาแล้วสองครั้งเมื่อปี  2008 และ 2011 เพราะความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และการผลิตเชื้อเพลิงจากพืชที่ทำให้ต้องแบ่งเนื้อที่ทางการปลูกพืชอาหารไปปลูกพืชพลังงานแทน ปัจจุบันโลกเรามีประชากร 7,100 ล้านคน ในจำนวนนี้มีประมาณ 1,000 ล้านคนที่ยังอดอยาก และมีเด็กเสียชีวิตจากภาวะทุพโภชนาการถึงปีละ 2.3 ล้านคน     ตลาดนัดแต้มเขียว มีข่าวมาฝากคนที่ชอบเดินตลาดนัดของเก่า ถ้ามีเวลาอย่าลืมแวะไปที่เม็กซิโกซิตี้ เพราะที่นั่นเขามีโครงการของเก่าแลกผักสด ตลาดนี้ไม่ต้องพกเงินไป แต่ให้คุณเก็บรวบรวมกล่องนม ขวดพลาสติก หนังสือพิมพ์เก่า หรือกระดาษลังที่ไม่ใช้แล้วไปแทน จากนั้นนำของที่ว่านี้ไปเปลี่ยนเป็นแต้ม(เขาเรียกมันว่า Green Points) แล้วนำแต้มที่คุณสะสมได้ไปซื้อผัก ผลไม้ออกานิกกลับบ้านไปทำกับข้าว เทศบาลเมืองเม็กซิโกซิตี้ ที่มีประชากร 20 ล้านคน บอกว่าเป้าหมายหลักของโครงการคือการทำให้ชาวเมืองแยกขยะก่อนทิ้ง ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการส่งต่อไปยังโรงงานรีไซเคิลด้วย ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างก็ถูกใจตลาดนี้ ผู้ซื้อได้ของดีราคาถูกกลับบ้าน แถมยังได้เคลียร์บ้านช่องให้สะอาดเอี่ยม ส่วนผู้ขายก็ยินดีเพราะได้เงินก้อนจากขายเหมาพืชผลให้เทศบาลนั่นเอง     แพชชั่นนิสตา แชมป์บริโภคผลิตภัณฑ์เพื่ออนามัยส่วนบุคคล (สบู่ แชมพู ครีมนวดผม ยาสีฟัน โลชั่นทาผิว โรลออน โคโลจน์ น้ำยาบ้วนปาก) ในการสำรวจล่าสุดได้แก่ สาวฟิลิปปินส์ การสำรวจโดยบริษัท NBC Universal International Television และ “นักรบรองเท้าส้นสูง” พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว สาวตากาล็อกใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถึง 9 แบรนด์ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่สาวๆ ในอีก 4 ประเทศที่เขาไปทำการสำรวจ (มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฮ่องกง) ใช้เพียง 6 ผลิตภัณฑ์เท่านั้น เขาสอบถามผู้หญิงอายุระหว่าง 20 ถึง 44 ปี จำนวน 600 คนจากแต่ละประเทศ พวกเธอมีที่พักอาศัยในเขตเมืองและดูเคเบิลทีวีเป็นประจำ 1 ใน 3 ของสาวฟิลิปปินส์ บอกว่าพวกเธออยู่ในกลุ่ม แพชชั่นนิสตา Passionista หรือสาวที่พึ่งพาตนเอง ทำตามความฝัน และสนุกกับปัจจุบัน ในขณะที่มีเพียง 1 ใน 4 ของ สาวๆ ที่อื่นเท่านั้นที่จัดตัวเองเข้ากลุ่มนี้ กลุ่มที่เล็กลงมาหน่อยคือ โซเชียลไซเดอร์ (Socialcider) ที่หมายถึงผู้หญิงที่ชอบเข้าสังคม ใช้โซเชียลเน็ทเวิร์คเป็นประจำ มองโลกในแง่ดีและพอใจกับชีวิต โดยเฉลี่ยแล้วสาวฟิลิปปินส์มีเพื่อนบนเฟสบุ้ค 523 คน (สาวอาเซียนโดยรวม มีเพื่อนเฟสบุ้ค 389 คน) ผู้สำรวจบอกว่าวิถีชีวิตทั้งแบบ แพชชั่นนิสตา และโซเชียลไซเดอร์ เป็นปัจจัยที่ทำให้สาวๆ เหล่านี้ใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ค่อนข้างมาก ไม่รู้จะตีความว่าพวกเธอสะอาดเนี้ยบที่สุด หรือว่าพวกเธอมีโอกาสได้รับสารเคมีมากที่สุดนะนี่   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 ‘ประกันสูงวัย’ ประกันเพื่อใคร ?

ดังที่รู้กันอยู่แล้ว สังคมไทยกำลังเผชิญแรงกดดันจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มันหมายถึงกำลังแรงงานที่จะลดน้อยลงซึ่งส่งผลต่อผลิตภาพของประเทศ ภาระในทางสังคมและงบประมาณด้านสวัสดิการที่ต้องเพิ่มขึ้น กรณีตัวอย่างความวิตกที่เห็นชัดก็เช่นกองทุนประกันสังคมที่เริ่มจ่ายเงินบำนาญให้แก่ผู้ประกันตนวัยเกษียณที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปีและจะทำให้เงินกองทุนฯ หมดลงอย่างรวดเร็ว ทว่า ในทุกวิกฤตมักมาพร้อมกับโอกาสใหม่ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจค้นหาได้อย่างเชี่ยวชาญ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุถูกเรียกใหม่ว่าเป็น Silver Ages อันหมายถึงกำลังซื้อจำนวนมหาศาลที่จะตามมา ประกันชีวิตเป็นหนึ่งในบรรดาธุรกิจที่จับกลุ่มผู้สูงอายุอย่างเห็นได้ชัด เพราะมองเห็นว่าค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลมีแต่จะสูงขึ้นตามวัยที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงของโรคต่างๆ ที่มาพร้อมกับสังขารที่โรยรา มันจึงตอบโจทย์ได้ตรงเป้า ตรงใจผู้สูงอายุที่ไม่ต้องการเป็นภาระลูกหลานและช่วยผ่อนเบาค่ารักษาพยาบาล     แต่แล้วปัญหาการเอาเปรียบผู้บริโภคก็เกิดขึ้น เมื่อบริษัทประกันชีวิตบางแห่งใช้แต้มคูทางตัวอักษร กฎระเบียบ และความไม่รู้ของผู้บริโภคเป็นเครื่องมือเอาเปรียบ ถึงกระนั้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวหาใช่เพียงการเอาเปรียบผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว สิ่งที่ซุกซ่อนภายใต้พื้นผิวคือความไม่เข้าใจในสิทธิสวัสดิการสาธารณะสุขของประชาชน   ธุรกิจประกันสูงวัยบูม ยอดเบี้ยเกือบ 3 พันล้าน    ว่ากันตามหลักการเงินส่วนบุคคล (Personal Finance) การทำประกันชีวิตและประกันภัยจัดเป็นการปกป้องความมั่งคั่ง (Wealth Protection) ที่ควรมี มันเป็นการประกันความเสี่ยงและการมีหลักประกันต่อเหตุไม่คาดคิดซึ่งจะกระทบต่อรายได้และทรัพย์สินของบุคคล เมื่อมองในมุมนี้ การทำประกันจัดเป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อลดความเสี่ยงในชีวิต ยิ่งเมื่อความรู้ด้านการเงินแพร่หลายมากขึ้น การทำประกันจึงเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว     ในกลุ่มผู้สูงอายุที่มักมีปัญหาสุขภาพและต้องการทิ้งทรัพย์สมบัติไว้ให้ลูกหลานหลังตนเองจากไป ถ้อยคำโฆษณาว่า ‘ไม่ต้องเป็นภาระลูกหลาน’ เป็นถ้อยคำที่จี้ตรงจุดพอดี ผสมโรงกับคำว่า ‘ไม่ต้องตรวจสุขภาพ’ เข้าไปด้วยยิ่งเป็นเหตุให้ประกันสูงวัยได้รับความนิยม     ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2558 จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบกิจการประกันภัยหรือ คปภ. ระบุว่า กรมธรรม์ประกันชีวิตสำหรับผู้สูงอายุที่ขายตรงผ่านโทรทัศน์มีจำนวน 207,519 กรมธรรม์ คิดเป็นเบี้ยประกันสะสม 2,305.82 ล้านบาท ส่วนกรมธรรม์ที่ขายผ่านตัวแทนมีจำนวน 74,754 กรมธรรม์ มีเบี้ยประกันสะสม 838.37 ล้านบาท     และดังที่รับทราบผ่านสื่อต่างๆ ว่าเกิดการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคจำนวนมากจนทาง คปภ. ต้องลงมาจัดการ กลยุทธ์การเอาเปรียบผู้บริโภค    กลยุทธ์การโฆษณาประกันสูงวัย ที่มีการนำเสนอด้วยการใช้ดาราที่มีวัยที่อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 50-70 ปี พูดถึงเรื่องราวที่ประทับใจหรือสะเทือนใจถูกถ่ายทอดออกมาเพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการทำประกันชีวิต ท้ายที่สุดคือการเลือกทำประกันชีวิตกับบริษัทประกันที่ออกโฆษณาผ่านทางโทรทัศน์ด้วยการโทรศัพท์เข้าไปแสดงความจำนงในการทำประกัน        ต้องยอมรับว่า การเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่รู้ของผู้บริโภคเอง เนื่องจากการทำประกันชีวิตมักมีรายละเอียดมากและเป็นภาษากฎหมาย ซึ่งตีความไม่ง่าย ค่อนข้างเข้าใจยาก  ผู้บริโภคส่วนใหญ่เมื่ออ่านไม่เข้าใจ จึงมักไม่อ่านเนื้อหาในกรมธรรม์  อีกทั้งยังแยกไม่ออกระหว่างการทำประกันชีวิตที่เมื่อจ่ายครบตามสัญญาจะได้รับเงินคืนกับการทำประกันสุขภาพที่ไม่ได้เงินคืน นี้เป็นปัญหาที่พบเห็นบ่อย     อีกด้านหนึ่ง บริษัทประกันก็อาศัยช่องว่างของการไม่รู้ การบอกความจริงเพียงบางส่วน  การบอกวงเงินขั้นต่ำเช่น เพียงวันละ ... บาท  และเสนอผลประโยชน์ที่เป็นตัวเลข เพื่อเชิญชวนให้ผู้บริโภคทำประกันผ่านช่องทางสื่อโฆษณา ยกตัวอย่าง การทำประกันชีวิต ที่ไม่ต้องตรวจสุขภาพซึ่งเป็นกรณีที่พบบ่อย กล่าวคือเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิตภายหลังจากทำประกันไม่นาน ทางบริษัทดำเนินการตรวจสอบประวัติสุขภาพของผู้เอาประกันและพบว่าผู้เอาประกันมีความเจ็บป่วยจากโรคที่ไม่รับประกันอยู่ก่อนทำประกัน   และกล่าวหาว่าผู้เอาประกันปกปิดความจริง จึงปฏิเสธการจ่ายเงิน     ช่องโหว่อยู่ตรงที่การไม่ต้องตรวจสุขภาพเป็นคนละเรื่องกับการแถลงสุขภาพ หมายความว่าถึงแม้การทำประกันนั้น ขณะทำประกันจะไม่ต้องตรวจสุขภาพ แต่หากผู้เอาประกันมีภาวะเสี่ยงหรือมีการรักษาโรคใดอยู่ก่อนก็ต้องให้ข้อมูลด้านสุขภาพของตนแก่ทางบริษัทประกันทราบ ซึ่งเมื่อทางบริษัททราบแล้วย่อมมีสิทธิปฏิเสธไม่รับทำประกันหรือหากบริษัทยอมรับทำประกันแต่ใช้วิธีคิดเบี้ยประกันที่สูงกว่าเดิมก็ได้  เพราะหากไม่แถลงข้อมูลสุขภาพที่เป็นจริง  เมื่อบริษัททราบว่าผู้เอาประกันปกปิด จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้บริษัทบอกเลิกสัญญาได้     การแข่งขันกันของธุรกิจประกันชีวิตที่หันมาทำตลาดผ่านสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ มีหลายรายรูปแบบความคุ้มครอง ตามรูปแบบที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่มีตัวแทนไปนำเสนอรูปแบบกรมธรรม์ประเภทต่างๆ มาเป็นวิธีการเรียกลูกค้าให้เดินเข้ามาทำประกันโดยไม่ต้องผ่านตัวแทน เรียกกันว่าเป็น Direct Marketing   แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ การโฆษณาขายประกัน ที่บอกแต่เพียงเบอร์โทรศัพท์ และคำว่า “ไม่ต้องตรวจสุขภาพและตอบคำถามสุขภาพ ทำได้ง่าย ๆ เบี้ยประกันเริ่มต้นเพียงวันละ ... บาท”   โดยไม่บอกกล่าวว่าเรื่องการต้องแถลงสุขภาพของผู้ซื้อประกันด้วยหรือไม่  จึงทำให้ผู้บริโภคที่ไม่มีความรู้ตรงนี้กลายเป็นเหยื่อ     อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดกรณีที่ว่า ผู้เอาประกันไม่รู้ว่าตนเป็นโรคอะไรอยู่ก่อนการทำประกัน เนื่องจากไม่เคยตรวจสุขภาพเลย ซึ่งก็เกิดคำถามว่า กรณีเช่นนี้ผู้เอาประกันจะมีความผิดหรือไม่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเรียกร้องให้บอกข้อมูลให้ครบถ้วน    นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า  หากในโฆษณาระบุว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องแถลงสุขภาพ ถ้อยคำเหล่านี้ก็ควรปรากฏในใบคำขอหรือกรมธรรม์ด้วย   เนื่องจากคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย( คปภ.) ได้มีประกาศเรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางสื่อโฆษณา ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต พ.ศ. 2556 ข้อ 5 (5) ว่า “ในการโฆษณาที่ระบุว่า “ไม่ต้องตรวจสุขภาพ”  จะต้องมีการระบุให้ชัดเจนด้วยว่าต้องแถลงเกี่ยวกับสุขภาพในใบคำขอเอาประกันภัยหรือไม่ หากมีการแถลงเกี่ยวกับสุขภาพ ต้องระบุเพิ่มด้วยว่า การแถลงสุขภาพเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการพิจารณารับประกันภัยหรือพิจารณาจ่ายเงินตามสัญญาประกันภัย” ซึ่ง จากการตรวจสอบพบว่ายังไม่มีการระบุไว้   “  ขอให้บริษัทประกันแก้ไขโฆษณาให้มีความชัดเจนมากขึ้น เช่น ข้อความที่ไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ    เงื่อนไขการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ควรแจ้งในโฆษณาด้วย โดยเฉพาะข้อกำหนดที่ว่า หากเสียชีวิตภายใน 2 ปีแรก ผู้เอาประกันจะได้รับเงินเบี้ยประกันพร้อมดอกเบี้ยอีก 2-5% หลังจาก สองปีไปแล้ว จึงจะได้รับเงินตามทุนประกัน   หรือถ้าต้องแถลงสุขภาพก็ต้องบอกไว้ในโฆษณา แต่ปัจจุบันไม่มีการบอกกล่าว แค่ให้โทรศัพท์ไป ส่วนรายละเอียดต่างๆ เป็นหน้าที่ของตัวแทนบริษัท  ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าตัวแทนชี้แจง สาระสำคัญของการทำประกันครบถ้วนหรือไม่” วิธีการหนึ่งที่พบเห็นบ่อยเช่นกัน คือการโฆษณาขายประกันที่บอกจำนวนเบี้ยประกันต่อวันที่น้อยที่สุดที่ผู้บริโภคต้องเสีย และบอกจำนวนทุนประกันที่มากที่สุดที่ผู้บริโภคจะได้รับ เช่น  โฆษณาประกันโดย   “ใช้ข้อความ เบี้ยประกันเริ่มต้นเพียงวันละ 7 บาท คุ้มครองชีวิตสูงสุดถึง 200,000 บาท”  มีข้อความตัวเล็กๆ อ่านว่า ภายใต้หลักเกณฑ์การพิจารณารับประกันของบริษัท ชวนให้ตั้งคำถามว่าโฆษณาลักษณะนี้เป็นการโฆษณาเกินจริงหรือหลอกลวงให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดหรือไม่  อาจจะเข้าข่ายโฆษณาจูงใจอันเป็นเท็จหรือเกินความจริงเกี่ยวกับบริษัทหรือธุรกิจประกันชีวิตของบริษัท ตามมาตรา 33 (14) พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 ซึ่งความผิดจากกรณีนี้มีโทษปรับ 5 แสนบาท หากกระทำผิดต่อเนื่องปรับอีกวันละ สองหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ อีกวิธีหนึ่งที่ใช้ประโยชน์จากการที่ผู้บริโภคไม่รู้สาระสำคัญของสัญญาคือการโน้มน้าวให้ผู้บริโภคซื้อประกันหลายฉบับ  เช่น แนะนำให้ผู้เอาประกันซื้อทั้งประกันชีวิตและประกันสุขภาพหลายฉบับ  โดยมิได้ชี้แจงข้อมูลว่าการทำประกันชีวิตจะได้เงินคืนเมื่อมีชีวิตอยู่ครบกำหนดสัญญาและได้รับเงินประกันทุกกรมธรรม์ที่ทำ  แต่การทำประกันสุขภาพเป็นการทำเพื่อให้ผู้เอาประกันใช้สิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาล  ดังนั้นหลักฐานการเบิกค่ารักษาพยาบาลต้องใช้ฉบับจริงไม่สามารถเบิกซ้ำซ้อนได้  หากมีการทำหลายสัญญาอาจไม่เป็นประโยชน์กับผู้ร้อง    เป็นต้น     ----------------------------------------------------------------------------------------------------------- แบบประกันสำหรับผู้สูงวัยเป็นแบบประกันชีวิตที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะ มีลักษณะสำคัญ ดังนี้    1.ผู้เอาประกันจะต้องมีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งอาจมีการกำหนดอายุสูงสุดของผู้เอาประกันไว้ไม่เกิน 70-75 ปี    2.ให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตเป็นหลัก    3.บางแบบประกันชีวิตสามารถซื้อสัญญาเพิ่มเติมได้ ยกตัวอย่างเช่น3.1 สัญญาเพิ่มเติมอุบัติเหตุ ที่ให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุหรือเบิกค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ3.2 สัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ ที่ให้ความคุ้มครองกรณีเจ็บป่วยด้วยปัญหาสุขภาพหรือโรคร้ายแรง หรืออาจเป็นในลักษณะการจ่ายค่าชดเชยรายวันกรณีพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แล้วแต่กรณีตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิต    4.สามารถซื้อได้ภายใต้หลักเกณฑ์การพิจารณารับประกันชีวิตของบริษัทแล้วแต่กรณี ได้แก่ ต้องตรวจสุขภาพ หรือไม่ต้องตรวจสุขภาพแต่ต้องตอบคำถามสุขภาพ หรือทั้งไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ    5.แบบประกันชีวิตที่ไม่ตรวจสุขภาพ จะมีเงื่อนไขว่าหากเสียชีวิตใน 2 ปีแรกของการทำประกันชีวิต บริษัทจะจ่ายเงินเท่ากับเบี้ยประกันภัยที่รับมาแล้ว บวกผลตอบแทนให้ในอัตรา 2-5 เปอร์เซ็นต์ แล้วแต่บริษัท เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นโรคใดๆ มาก่อนทำประกันชีวิต และหากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตในปีที่ 3 เป็นต้นไป ก็จะได้รับเงินเต็มตามจำนวนเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในสัญญา    (ข้อมูลจากนิตยสารการเงินการธนาคาร ฉบับที่ 402 ประจำเดือนตุลาคม 2558)ห้ามตายภายใน 2 ปี    นางจิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ระบุ ที่ผ่านมาพบว่าผู้บริโภคไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ดังที่บริษัทประกัน ชีวิตเคยโฆษณาไว้ผ่านสื่อ   โดยเฉพาะประเด็น บริษัทประกันภัยกำหนดเงื่อนไขในสัญญาว่า กรณีผู้เอาประกันเสียชีวิตในช่วง 2 ปีแรก ให้คืนเบี้ยประกันภัยพร้อมเงินเพิ่มร้อยละ 2-5 ให้กับผู้รับผลประโยชน์ตามสัญญา แต่ถ้าเสียชีวิตในปีที่ 3 เป็นต้นไปจะได้รับเงินคืนทั้งหมด ตามทุนประกัน เงื่อนไขดังกล่าวถือว่าเอาเปรียบผู้บริโภค อันที่จริงแล้ว หากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตหลังจาก 30 วัน นับแต่ทำสัญญาประกันชีวิต ซึ่งบริษัทน่าจะได้ตรวจสอบตัวผู้เอาประกันภัยแล้ว  ผู้เอาประกันก็ควรมีสิทธิได้รับเงินคืนทั้งหมดตามทุนประกันที่ทำไว้กับบริษัทประกันชีวิต       ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุ ข้ออ้างเรื่องไม่ตรวจสุขภาพทำให้เกิดการทำประกันชีวิตสูงวัยมากขึ้น เห็นได้จากสถิติการทำประกันประเภทนี้ที่เพิ่มขึ้นจากเดิมมาก นั่นทำให้ความเสี่ยงของบริษัทประกันลดลง ดังนั้นเมื่อจำนวนผู้ทำประกันเพิ่มขึ้นย่อมลดความเสี่ยงต่อบริษัทประกันภัยและบริษัทประกันมีโอกาสในการบอกเลิกสัญญาประกันภายใน 30 วัน ก็ควรให้การคุ้มครองผู้บริโภคหลัง 30 วัน ทันทีหากเสียชีวิต เพราะแม้แต่การทำฌาปณกิจสงเคราะห์ก็ให้ความคุ้มครองหลัง 6 เดือน     คำแนะนำก่อนทำประกัน-คปภ. ต้องทำงานเชิงรุก    ด้านสมาคมประกันชีวิตไทยมีข้อแนะนำในการเลือกซื้อประกันสูงวัย (อันที่จริงน่าจะใช้ได้กับประกันแบบอื่นด้วย) ให้พิจารณาเบื้องต้น ดังนี้    1.ความคุ้มครองและผลประโยชน์ตรงความต้องการหรือไม่    2.ศึกษาข้อจำกัดของผลิตภัณฑ์นั้นให้เข้าใจ    3.ระยะเวลาในการคุ้มครองและระยะเวลาในการจ่ายเบี้ยประกันภัย    4.ค่าเบี้ยประกันภัยเหมาะสมกับกำลังซื้อหรือไม่    5.แบบประกันมีข้อจำกัดหรือข้อยกเว้นอะไรบ้าง    6.สอบถามเจ้าหน้าที่ให้ละเอียดและขอเบอร์ติดต่อไว้    7.เมื่อได้รับเล่มกรมธรรม์แล้วให้ศึกษาและทำความเข้าใจ หากพบว่าไม่ตรงกับความต้องการสามารถขอยกเลิกได้ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับเล่มกรมธรรม์ในกรณีซื้อทางโทรศัพท์ หรือ 15 วัน กรณีซื้อผ่านตัวแทน     ขณะที่คำแนะนำของสมาคมประกันชีวิตไทยมุ่งไปที่ผู้บริโภค ในส่วนของนฤมลก็มีข้อเสนอที่มุ่งไปยังบริษัทประกันและผู้กำกับดูแลอย่าง คปภ. ว่า ควรมีการสรุปสาระสำคัญที่เข้าใจง่ายไว้ด้านหน้าของสมุดกรมธรรม์ เช่น กรมธรรม์ฉบับนี้คุ้มครองอะไรและยกเว้นอะไร ซึ่งขณะนี้มีบางบริษัทเท่านั้นที่มีการสรุปในลักษณะนี้ ต้องระบุการไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องแถลงสุขภาพไว้ในสมุดกรมธรรม์ กำกับดูแลการโฆษณาตามสื่อต่างๆ ไม่ให้สร้างความเข้าใจผิดแก่ผู้บริโภค และ คปภ. จะต้องทำงานเชิงรุกและให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่าที่เป็นอยู่ -----------------------------------------------------------------------------------------------------------“การตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพมีผลต่อราคาของระบบสุขภาพทั้งระบบ”    การทำประกันต้องแยกแยะระหว่างประกันชีวิตกับประกันสุขภาพที่มีลักษณะแตกต่างกัน เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการจ่ายคืนเบี้ยประกัน เมื่อพิจารณาการประกันสุขภาพ พบว่ามีเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเพราะสังคมเริ่มเห็นความสำคัญของการมีหลักประกันและเห็นตัวอย่างของค่ารักษาพยาบาลราคาแพงของโรงพยาบาลเอกชน     ประเด็นนี้ชวนให้เกิดคำถามว่า แล้วระบบสวัสดิการสุขภาพที่มีอยู่ไม่ครอบคลุมการรักษาหรือ? หรือว่าคุณภาพไม่ดี? นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มีข้อมูลและมุมมองน่าสนใจต่อเรื่องนี้     นิมิตร์ กล่าวว่า ความเฟื่องฟูของธุรกิจประกันสุขภาพ ส่วนหนึ่งมาจากความไม่มั่นใจในระบบสวัสดิการสุขภาพของรัฐตามสิทธิที่แต่ละคนมี อีกทั้งการบริการของโรงพยาบาลรัฐที่ด้อยกว่าโรงพยาบาลเอกชน ดังนั้น ผู้ที่มีกำลังซื้อจึงเลือกซื้อประกันสุขภาพเพื่อใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนแทน     ในมิติด้านคุณภาพการรักษา นิมิตร์ อธิบายว่าความจริงแล้ว หลักประกันสุขภาพหรือ 30 บาทรักษาทุกโรคมีระบบการรักษาที่มีคุณภาพดีเพียงพอที่จะดูแลปัญหาสุขภาพของคนได้ โดยร้อยละ 90 ของโรงพยาบาลที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพเป็นโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งมีขีดความสามารถในการดูแลรักษาไล่เรียงกันไป ตั้งแต่ระดับตำบลถึงจังหวัด เป็นหน่วยบริการที่มีบุคลากรทางการแพทย์ครบทุกสาขาวิชาชีพ มีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพียงพอ และถ้าเกิดขีดความสามารถก็มีการส่งต่อไปรับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีขีดความสามารถที่สูงขึ้นไปได้     แต่เนื่องจากเป็นบริการที่ดูแลคนจำนวนมากจึงเกิดความไม่สะดวกสบาย ความแออัด ซึ่งเมื่อนำประเด็นนี้ไปเทียบกับโรงพยาบาลเอกชนจึงทำให้ดูด้อยกว่า เพราะการบริการเป็นสิ่งที่มองเห็นแรกสุด นำไปสู่ทัศนคติว่าโรงพยาบาลเอกชนน่าจะมีคุณภาพการรักษาดีกว่า ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงโรงพยาบาลเอกชนไม่ได้มีคุณภาพการรักษาดีกว่าโรงพยาบาลของรัฐ แพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลเอกชนก็เป็นแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐ แต่ไปทำนอกเวลา หรือลาออกไปจากโรงพยาบาลรัฐ     “เพราะโรงพยาบาลรัฐให้บริการคนจำนวนมาก ความแออัดมากกว่า คนที่มีกำลังพอจะเลือกก็จะเลือกความสะดวก ไม่ต้องจ่ายเวลา แต่คนส่วนใหญ่ไม่มีกำลังซื้อก็ต้องจ่ายเวลาของตนออกไป นี่คือเหตุที่ทำให้ธุรกิจประกันสุขภาพขายได้”     ประเด็นหนึ่งที่ประชาชนยังไม่ค่อยทราบคือสิทธิการรักษาที่ครอบคลุม ทั้งหลักประกันสุขภาพและประกันสังคม โดยทั่วไปแล้วครอบคลุมการรักษาพยาบาลตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม ยกเว้นประกันสังคมที่อาจต้องจ่ายเพิ่มบางส่วน เนื่องจากมีเพดานค่ารักษา     ในกรณีฉุกเฉินจากการเจ็บป่วย ถ้าไปโรงพยาบาลตามสิทธิ์ประกันสังคม ผู้ป่วยไม่ต้องจ่ายค่ารักษา แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลที่ไม่ได้ประกันตนไว้ต้องสำรองค่าใช้จ่าย แล้วนำไปเบิกภายหลัง ถ้าต้องนอนในโรงพยาบาลก็ต้องแจ้งกลับมาที่หน่วยบริการของตนเองภายใน 72 ชั่วโมง ระบบจึงจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ ขณะที่หลักประกันสุขภาพค่อนข้างสะดวกกว่า ถ้าเข้าโรงพยาบาลของรัฐระบบจะเชื่อมข้อมูลเองโดยอัตโนมัติ ผู้ป่วยไม่ต้องสำรองจ่าย เว้นเสียแต่จะไปเข้าโรงพยาบาลที่อยู่นอกระบบหลักประกัน ซึ่งหมายถึงโรงพยาบาลเอกชน กรณีนี้หากค่ารักษาพยาบาลเกินเพดานที่กำหนด ผู้ป่วยต้องจ่ายส่วนที่เกิน     นิมิตร์ ยอมรับว่ายังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่สร้างความไม่สะดวกและบริการที่ไม่เป็นมิตรนักสำหรับประชาชนผู้ใช้บริการอยู่ โดยเฉพาะกับสิทธิประกันสังคม แต่โดยภาพรวมแล้วถือว่ามีคุณภาพเพียงพอสำหรับดูแลคนทั้งประเทศ     ดังนั้น ในมุมมองของนิมิตร์ การซื้อประกันสุขภาพหรือประกันอุบัติเหตุจึงไม่มีความจำเป็น ในทางตรงกันข้าม การซื้อประกันสุขภาพอาจมีผลทำให้ราคาค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนเห็นอุปสงค์ ก่อให้เกิดการดึงแพทย์ออกจากระบบรัฐด้วยค่าตอบแทนที่สูงกว่า ขณะที่ภาครัฐเองก็ต้องพยายามรักษาบุคลากรของตนด้วยการเพิ่มค่าตอบแทน สุดท้ายแล้วจะดึงให้ค่ารักษาพยาบาลทั้งระบบสูงขึ้น     “การตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพมีผลต่อราคาของระบบสุขภาพทั้งระบบ สิ่งที่เราซื้อไปสร้างดีมานด์และราคาที่ลวงตา ทั้งที่จริงค่ารักษาพยาบาลไม่ควรแพงขนาดนี้”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 167 ธุรกิจสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ

จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ประเทศไทยเราได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ตัวชี้วัดก็คือ จำนวนประชากรสูงวัย(อายุ 60 ปีขึ้น) ณ ปัจจุบันมีมากกว่า 9 ล้านคน ซึ่งเกิน 10% ตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ ที่ระบุว่า ประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกิน 10% หรืออายุ 65 ปี ขึ้นไปเกิน 7% ถือว่าประเทศนั้นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สิ่งที่ตามมากับตัวเลขอายุที่มากขึ้น คือ ความเสื่อมถอยของร่างกาย ทั้งหูตาที่ฝ้าฟาง ข้อ กระดูกที่เปราะบาง ความกระฉับกระเฉงลดลง ไม่อาจเคลื่อนไหวได้ตามใจนึก อีกทั้งความเสื่อมถอยของร่างกายทำให้เป็นโรคได้ง่ายโดยเฉพาะกลุ่มโรคติดเชื้อ และถ้ายิ่งใช้ชีวิตแบบไม่ค่อยระวังตัว โรคเรื้อรังในกลุ่มหัวใจ เส้นเลือด ก็กลายเป็นโรคประจำตัวที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการทุพพลภาพหรือพิการได้มากที่สุด ระดับผู้สูงอายุไทยอาจแบ่งได้เป็นสามระดับ คือ กลุ่มสูงอายุวัยต้น 60-79 ปี วัยปลาย 80-99 ปี และกลุ่มอายุเกิน 100 ปีขึ้นไป  ซึ่งในช่วงวัยต้นร่างกายยังไม่เสื่อมถอยมาก ประกอบกับความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ ทำให้ยังสามารถทำงานได้ เป็นประโยชน์ทั้งกับครอบครัวและชุมชน แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ต้องเข้าสู่ระยะพักผ่อน งานการต่างๆ ที่เคยทำได้ ก็อาจไม่สามารถทำได้อีกและต้องการผู้ช่วยเหลือดูแลในบางกิจกรรม เช่น  การเดินทาง  การใช้ขนส่งสาธารณะ การใช้โทรศัพท์ การเข้าใช้ห้องสุขา การอาบน้ำ การประกอบอาหาร เป็นต้น และเมื่อเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงมากที่สุด คือ ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ ต้องนอนติดเตียง ภาระทั้งหมดก็จะตกมาที่ผู้ดูแล ซึ่งสังคมไทยแต่เดิมมาก็ฝากไว้กับลูกหลาน หรือญาติพี่น้อง แต่สถานการณ์ปัจจุบันคือ ผู้สูงอายุส่วนหนึ่งไม่มีลูก ต้องอยู่ตามลำพัง และถึงแม้จะมีลูก พวกเขาเหล่านั้นก็มีภาระที่มากมายรอบด้าน อาจทั้งในฐานะของพ่อแม่ที่ต้องเลี้ยงดูลูกของตน ตลอดจนภาระในการทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ถ้าผู้สูงอายุต้องเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงไม่ว่าจะมากหรือน้อย ใครจะเป็นผู้ดูแล?   สถานบริการดูแลผู้สูงอายุ จำนวนผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลไม่ว่าจะระดับมากหรือระดับน้อย ที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ส่งผลให้มีความต้องการการดูแลในสถานบริการเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แต่ปรากฏว่าภาครัฐยังไม่มีการจัดให้มีบริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุกลุ่มนี้อย่างชัดเจน มีเพียงสถานสงเคราะห์คนชรา(บ้านพักคนชรา) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่ออุปการะผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาทุกข์ยากเดือดร้อนไม่มีผู้ดูแลหรือไม่ก็ไร้ที่อยู่อาศัยเท่านั้น ขณะที่สถานบริการดูแลผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ของภาคเอกชน ทั้งที่อยู่ในโรงพยาบาล หรือจดทะเบียนเป็นสถานพยาบาลสำหรับผู้ป่วยสูงอายุ หรือที่เราเรียกว่า เนอร์สซิ่งโฮม (Nursing Home) จะมีราคาค่าใช้จ่ายที่สูง และยังพบปัญหาในเรื่องของมาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุที่ยังไม่มีมาตรฐานชัดเจนโดยตรง ตลอดจนอุปกรณ์การดูแลและสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่ไม่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เช่นเรื่องแสงสว่าง พื้นผิวห้อง ทางลาด จำนวนผู้ดูแลที่ไม่พอต่อจำนวนผู้สูงอายุ เป็นต้น เนื่องจากยังไม่มีบริการการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวในภาครัฐ  มีแต่การบริการโดยภาคเอกชน   แต่ด้วยการจดทะเบียนของสถานพยาบาลเอกชนของไทยนั้นมีหลายลักษณะมาก ทำให้เราไม่สามารถทราบจำนวนสถานบริการผู้สูงอายุที่แน่ชัดได้ อีกทั้งในการประกอบธุรกิจสถานดูแลผู้สูงอายุ ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนเป็นสถานพยาบาลก็ได้ แค่จดทะเบียนการค้าเท่านั้นก็สามารถดำเนินธุรกิจนี้ได้แล้ว ธุรกิจสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ ธุรกิจสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ อาจหมายถึง สถานบริการที่ไม่ใช่โรงพยาบาล แต่มีการให้บริการที่พำนัก บริการยาแก่ผู้สูงอายุที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเป็นประจำ โดยทั่วไปจะครอบคลุม การให้บริการที่พักค้างคืน บริการอาหารการดูแลความสะอาดเสื้อผ้าและที่พัก ตลอดจนความสะอาดของร่างกาย พร้อมทั้งติดตามดูแลสุขภาพเบื้องต้นอย่างใกล้ชิด แต่ไม่ได้ให้การรักษาพยาบาล หากมีความเจ็บป่วยจะบริการนำส่งต่อแผนกคนไข้ของโรงพยาบาลใกล้เคียงเพื่อรับการรักษาพยาบาลต่อไป โดยอาจมีบริการเสริมอื่นๆ ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุได้มีกิจกรรมพิเศษ ที่ช่วยส่งเสริมให้ดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพทั้งร่างกายและจิตใจ แต่ถ้าการให้บริการเน้นการดูแลเพื่อการฟื้นฟูสภาพสำหรับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพาและทุพพลภาพช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และต้องการบริการพยาบาลและยาเป็นประจำ จะจัดเป็น “สถานพยาบาล” ตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2547 และเป็นไปตามกฎกระทรวงว่าด้วยการประกอบกิจการสถานพยาบาล พ.ศ. 2545 อย่างไรก็ตามสถานการณ์ปัจจุบัน คือ การให้บริการในธุรกิจนี้จะมีลักษณะของการผสมผสาน  โดยที่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาลแม้จะให้บริการในลักษณะของการบริบาลผู้สูงอายุก็ตาม และสถานบริการดูแลผู้สูงอายุหลายแห่งแม้แต่จดทะเบียนการค้าก็ยังไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้อง ประเภทของการให้บริการ การบริการในสถานดูแลผู้สูงอายุในกลุ่มที่ไม่เน้นเรื่องการฟื้นฟูบำบัด ซึ่งผู้รับบริการส่วนใหญ่ไม่มีภาวะพึ่งพิง หรือพึ่งพิงไม่มาก ยังพอสามารถช่วยตัวเองได้ ส่วนใหญ่จะครอบคลุมการบริการหลักและมีการให้บริการเสริมเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและดึงดูดใจลูกค้า ดังนี้   บริการหลัก บริการเสริม Ø บริการดูแลผู้สูงอายุด้านความเป็นอยู่ทั่วไป Ø บริการที่พักค้างคืน Ø บริการอาหาร 3 มื้อ และอาหารว่าง 2 มื้อ Ø ดูแลทำความสะอาดของร่างกาย Ø ดูแลทำความสะอาดเสื้อผ้า Ø ติดตามดูแลสุขภาพเบื้องต้นแต่ไม่ได้ให้การรักษาพยาบาล หากมีความเจ็บป่วย Ø จะบริการนำส่งต่อแผนกคนไข้ของโรงพยาบาลใกล้เคียง Ø กิจกรรมกายภาพบำบัดเบื้องต้น Ø กิจกรรมสันทนาการต่างๆ และกิจกรรมตามวัฒนธรรมประเพณี Ø บริการรถรับ-ส่งจากบ้าน Ø นำส่งผู้สูงอายุตามแพทย์นัด Ø ทัศนศึกษา Ø บริการด้านจิตใจ เช่น การจัดกิจกรรมทางศาสนา Ø บำบัดในรูปแบบพิเศษต่างๆ เช่น วารีบำบัด Ø บริการด้านความรู้ข่าวสารใหม่และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ Ø การบรรยายจากวิทยากรรับเชิญต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลในการดำเนินชีวิต Ø การบริการประสานงานกับองค์กรอื่นๆ เช่น การให้คำปรึกษาทางกฎหมาย และการฌาปนกิจ   สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงสูง เช่น เป็นผู้ป่วยอัมพาต ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ หรือผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องหรือพักฟื้นจากการเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ลักษณะการให้บริการของสถานดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้จะอยู่ในข่าย เนอร์สซิ่งโฮม ซึ่งบริการที่จัดให้ได้แก่ บริการบำบัดทางการแพทย์ เช่น บริการยา การตรวจวัดอุณหภูมิ ความดันโลหิต บริการให้อาหารทางสายยาง ดูดเสมหะ บริการกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสภาพ การป้องกันแผลกดทับ ฯลฯ แต่ดังที่ได้กล่าวไป ส่วนใหญ่การให้บริการของสถานดูแลผู้สูงอายุในปัจจุบันจะมีลักษณะผสมผสาน จึงจำเป็นต้องเลือกให้เหมาะสมกับความต้องการในการเข้ารับบริการ   ค่าใช้จ่ายไม่ธรรมดา ผู้ที่เลือกใช้บริการในสถานดูแลผู้สูงอายุ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นลูกหลานของผู้สูงอายุ บางทีผู้สูงอายุก็เป็นผู้เลือกใช้บริการสถานดูแลเหล่านี้ด้วยตนเอง ซึ่งแน่นอนว่าจำเป็นต้องมีความสามารถในการจ่ายพอสมควร ปกติราคาจะขึ้นอยู่กับบริการที่นำเสนอ ค่าบริการมีทั้งแบบรายวันและรายเดือน รวมทั้งเงินค้ำประกันหรือค่าประกันแรกเข้า(ส่วนนี้จะคืนเมื่อบอกเลิกใช้บริการ)   ในลักษณะรายวันค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 800-1000 บาท ส่วนรายเดือนประมาณ 10,000-25,000 บาท ทั้งนี้สถานบริการบางแห่ง ยังมีค่าบริการเสริมอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากค่าบริการปกติ เช่น การเฝ้าไข้เฉพาะบุคคล ค่ายานพาหนะรับส่งโดยกะทันหัน ค่ายาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ซึ่งโดยรวมแล้วอาจสูงถึง 30,000 บาท/เดือน จากการสำรวจหากเป็นสถานบริการดูแลผู้สูงอายุในโรงพยาบาลจะมีค่าใช้จ่ายสูงที่สุด เพราะได้รวมค่าแพทย์และพยาบาลเข้าไว้ด้วย ค่าใช้จ่ายตกอยู่ที่ประมาณเดือนละ 30,000-50,000 บาท และจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการบางท่านให้ความเห็นว่า การเรียกเก็บค่าบริการสูง ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันปัญหาการทิ้งผู้สูงอายุไว้กับสถานดูแล   มาตรฐานควบคุมและการคุ้มครองด้านบริการ กรณีสถานดูแลผู้สูงอายุในส่วนของเอกชน ยังไม่มีมาตรฐานกำกับที่ชัดเจน เว้นแต่ที่จดทะเบียนเป็นสถานพยาบาลสำหรับดูแลผู้สูงอายุ ตามกฎหมายสถานพยาบาล ที่มีกองการประกอบโรคศิลปะเป็นผู้กำกับดูแล นอกจากนี้ต้องบอกว่า ไม่มีองค์กรกำกับดูแลโดยตรง ทั้งในส่วนมาตรฐานการให้บริการ การกำกับดูแลและการขึ้นทะเบียน ดังนั้นหากเกิดปัญหาจากการใช้บริการ คงต้องดำเนินการร้องเรียนในเรื่องสัญญากับทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ถ้าสถานบริการดูแลผู้สูงอายุได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกองการประกอบโรคศิลปะ ก็สามารถร้องเรียนได้โดยตรง หรืออาจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้โดยใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค   การเลือกสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ สถานดูแลผู้สูงอายุที่ดำเนินการโดยภาคเอกชนนั้นมีค่าใช้จ่ายสูง ควรจัดให้เป็นทางเลือกหนึ่ง เพราะในการดูแลผู้สูงอายุ หากเป็นไปได้ การดูแลโดยคนในครอบครัวย่อมดีที่สุด แต่หากบางครั้งมีความจำเป็น เช่น ผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับการดูแลตลอด 24 ชั่วโมง อาจพิจารณาเลือกจ้างผู้ดูแลพิเศษประจำบ้าน ซึ่งท่านสามารถดูแลต่อได้เมื่อผู้ดูแลกลับไป อีกทั้งผู้สูงอายุก็ได้อยู่ในบ้าน ซึ่งสร้างความอบอุ่นใจได้มากกว่า การเลือกสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ ควรพิจารณาเรื่องทำเลที่ตั้ง ซึ่งควรจะใกล้บ้านและสะดวกในการเดินทาง สิ่งแวดล้อมรอบอาคารที่ให้บริการควรมีความสงบไม่พลุกพล่าน ไม่มีมลภาวะที่เป็นพิษ อีกทั้งควรพิจารณาในส่วนของอุปกรณ์เช่น เตียงนอน เครื่องมือแพทย์ การรักษาความสะอาดของสถานที่ ลักษณะทางกายภาพบางอย่างที่อาจไม่เหมาะกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ เช่น บันไดลาดชันเกินไป ประตูแคบไป ห้องน้ำสุขภาพภัณฑ์ต่างๆ   ควรได้รับการออกแบบให้เหมาะกับผู้สูงอายุ  ส่วนเรื่องราคาค่าบริการให้พิจารณาเปรียบเทียบกับการบริการที่จะได้รับ และระมัดระวังเรื่องค่าบริการเสริม ที่ไม่รวมอยู่ในค่าบริการปกติ และที่สำคัญอีกประการคือ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ควรเป็นผู้ที่ผ่านการอบรมเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนสอนหลักสูตรดังกล่าวหลายแห่ง และควรมีจำนวนที่เหมาะสมกับผู้ใช้บริการ เพื่อให้สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึงอย่างมีคุณภาพ   แม้ว่าผู้สูงอายุจะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่เหมือนในอดีต แต่ก็ถือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีส่วนในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นควรช่วยกันเรียกร้องและผลักดันให้รัฐได้เข้ามามีส่วนในการดำเนินงาน สถานดูแลผู้สูงอายุระยะยาวที่เป็นของรัฐ หรือหน่วยงานของชุมชน หรือในรูปแบบที่เหมาะสม ได้มาตรฐานและเป็นธรรมโดยถือเป็นสวัสดิการที่รัฐพึงมอบให้กับประชาชนกลุ่มสูงวัยที่ได้มีส่วนร่วมสร้างสังคมมา   ไทยสู่ยุค “คนชราเต็มเมือง” จี้รัฐกันเงินก้อนโตไว้ดูแล หมอแนะผู้สูงวัยตุนเงิน “3 ล้านบาท” ไว้รักษา 2 โรคยอดฮิต! ผู้จัดการออนไลน์ 6 กุมภาพันธ์ 2556 ประเทศไทยใกล้เข้าสู่ภาวะคนชราเต็มเมือง แพทย์ชี้โรคหัวใจ-มะเร็ง ผลาญงบดูแลสุขภาพผู้สูงอายุอ่วม แนะว่าที่ “คนแก่” ต้องเตรียมเงินค่ารักษาตัวโรคละ 1.5 ล้านบาท พร้อมเตรียมใจรับสภาพปัญหาขาดแคลนผู้ดูแลระดับวิกฤต “สิ่งที่รัฐบาลจะต้องรีบทำก็คือการส่งเสริมให้ประชาชนปรับเปลี่ยน วิถีชีวิตไปสู่แนวทางที่จะไม่เป็นโรคอย่างจริงจัง ซึ่งทำได้หลายระดับ ไม่เพียงแต่ให้ความรู้ในรูปแบบของข้อมูลเฉยๆ แต่รวมไปถึงการส่งเสริมทางสังคม เช่น จัดถนนหนทางให้คนขี่จักรยานได้โดยไม่มีรถมาชน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนออกกำลังกายระหว่างเดินทางไปทำงาน เพราะตอนนี้โอกาสที่คนไทยจะได้ออกกำลังกายแทบจะเหลืออยู่อย่างเดียวคือ การเดินทางไปทำงาน” นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ แพทย์หัวหน้าศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลพญาไท 2 แสดงทัศนะต่อบทบาทเชิงรุกที่รัฐบาลควรทำในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของ ประเทศไทย ซึ่งเริ่มต้นมาระยะหนึ่งแล้ว โดยข้อมูลของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยแล้ว   อีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” เมื่อมีสัดส่วนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มสูงถึงร้อยละ 14 และต่อจากนั้นอีกไม่เกิน 10 ปี ไทยจะเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” ในปี พ.ศ. 2575 เมื่อประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ประชากร 1 ใน 5 จะมีอายุสูงกว่า 65 ปี และประชากรครึ่งหนึ่งในประเทศไทยจะมีอายุสูงกว่า 43 ปี! อาจจะช้าเกินไปด้วยซ้ำที่ประเทศไทยเพิ่งมาตั้งคำถามกันว่า จะเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้างเมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคผู้สูงวัยเต็มอัตรา ? นพ.สันต์กล่าวต่อว่า ทุกวันนี้แม้แต่ชาวไร่ชาวนาก็ไม่ได้ออกแรง ส่งผลให้ชาวไร่ชาวนามีอัตราการเป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่งเป็นโรคของคนไม่ออกแรง สูงพอๆ กับคนที่อยู่ในเมือง เพราะชาวไร่ชาวนาในปัจจุบันกลายเป็นผู้จัดการท้องนาที่ไม่ต้องออกแรงเหมือนเดิม กิจกรรมการเกี่ยวข้าวไถนาล้วนแต่เป็นหน้าที่ของรถเกี่ยวรถไถที่ถูกจ้างมาแทน ที่แรงคน “ทำอย่างไรจะให้คนได้เดินทางไปทำงานพร้อมกับออกกำลังกายไปในตัว เป็นเรื่องที่ต้องทำในระดับรัฐบาล โดยอาจจะตั้งต้นด้วยเมืองเล็กๆ นำร่องขึ้นมาสักเมือง กำหนดถนนสำหรับคนเดินและขี่จักรยานโดยเฉพาะ แล้วค่อยๆ ขยายออกไป ในที่สุดคนก็จะได้ออกกำลังกาย เพราะอย่างไรเขาก็ต้องเดินทางไปทำงานอยู่แล้ว ทุกวันนี้บางคนเขาก็อยากเดินหรือขี่จักรยานไปทำงาน แต่ทำไม่ได้ เพราะกลัวถูกรถชน” ดังนั้นรัฐต้องส่งเสริมให้คนเริ่มรักษาสุขภาพตนเองตั้งแต่วันนี้ เพราะเมื่ออายุมากขึ้นคนจะเสี่ยงต่อ 3 กลุ่มโรควัยชราต่อไปนี้ 1. กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคกลุ่มหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง จากข้อมูลปัจจุบันคนไทยราว 55% มีปัจจัยเสี่ยงของโรคเหล่านี้ ทำให้คนไทยเกินครึ่งเสียชีวิตจากโรคกลุ่มนี้ 2. โรคสมองเสื่อม ซึ่งมากับคนอายุยืน 3. โรคซึมเศร้า ซึ่งตามมากับภาวะสมองเสื่อมและโรคเรื้อรัง และนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า “3 โรคนี้จะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตของประเทศไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมคนชรา โดยเฉพาะ 2 โรคที่ค่ารักษาพยาบาลแพงกว่าเพื่อนคือ โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง เพราะทางการแพทย์ยังไม่รู้วิธีรักษา จึงต้องรักษาที่ปลายเหตุ ส่งผลให้เป็นกลุ่มโรคที่กินเงินมากที่สุด โดยสังเกตได้จากการลงทุนของโรงพยาบาลภาคเอกชนที่จะเน้นลงทุนในกลุ่มนี้ เพราะสามารถเก็บเงินได้มาก” นพ.สันต์บอกอีกว่า ต้นทุนค่ารักษาพยาบาล 2 โรคแพงในโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลรัฐไม่ต่างกันมากนัก ซึ่งค่ารักษาพยาบาลขั้นต้นของโรคมะเร็งในโรงพยาบาลเอกชนจะตกอยู่ที่ประมาณ 600,000 บาท ไม่นับรวมต้นทุนการดูแลเมื่อคนไข้ทุพพลภาพหรือเป็นผู้ป่วยเรื้อรังระยะสุด ท้าย ซึ่งในทางการแพทย์อาจจะหยุดให้การรักษา เมื่อถึงจุดที่รักษาแล้วคุณภาพชีวิตไม่ดีขึ้น ขณะที่ต้นทุนการรักษาโรคหัวใจ เฉพาะค่ารักษาขั้นต้นในโรงพยาบาลเอกชน จะมี 2 ชนิด คือ ชนิดที่จบลงโดยไม่ต้องผ่าตัด ค่ารักษาอยู่ที่ประมาณ 400,000 บาท และชนิดที่ต้องจบลงด้วยการผ่าตัดมีค่ารักษาประมาณ 800,000 บาท “นี่เป็นค่ารักษาขั้นต้นที่ยังไม่ได้นับรวมความยืดเยื้อเรื้อรังและ ค่าเสียโอกาสที่ทำงานไม่ได้ ดังนั้น ถัวเฉลี่ยแล้วโรค 2 กลุ่มนี้จะมีต้นทุนการรักษาขั้นต้น 6-8 แสนบาทต่อคนต่อโรคโดยประมาณ ไม่นับรวมภาวะทุพพลภาพที่เกี่ยวเนื่องจากโรค และการรักษาในฐานะผู้ป่วยที่สิ้นหวังระยะสุดท้าย ซึ่งการรักษาลุกลามจนเสียชีวิตก็ไม่น่าจะถูกกว่าการรักษาขั้นต้น โดยอาจจะมีค่าใช้จ่ายที่พอๆ กัน หรือมากกว่า ดังนั้นโดยประมาณแล้วจะต้องใช้เงินต่อโรค 1,500,000 บาทต่อการดูแลผู้ป่วย 1 คน” ในขณะที่โรคสมองเสื่อมกับโรคซึมเศร้า มีต้นทุนการรักษาไม่แพง แต่ต้นทุนที่แพงไม่แพ้กันคือต้นทุนในแง่ของคุณภาพชีวิต เพราะคนที่เป็น 2 โรคนี้ชีวิตจะไม่มีคุณภาพ ยิ่งไปกว่านั้นคือจะไปมีต้นทุนที่ผู้ดูแล ซึ่งโครงสร้างสังคมไทยในช่วง 10 ปีต่อจากนี้ยังมีผู้ดูแลเป็นคนในครอบครัวอยู่ แต่หลังจาก 10 ปีข้างหน้าไปแล้ว ยังไม่มีหลักฐานว่าใครจะเป็นผู้ดูแลคนชราเป็นที่คาดการณ์ว่าผู้ที่จะต้องทำหน้าที่ดูแลคงจะเป็นภาระของสังคม นั่นหมายความว่ารัฐอาจจะต้องจัดตั้ง Nursing Home ขึ้นมาดูแลคนสูงอายุที่ไม่มีใครเอา เพราะลูกไม่พอเลี้ยงดู จากขนาดครอบครัวที่เล็กลง และผู้สูงอายุส่วนหนึ่งไม่มีลูกหลาน เพราะฉะนั้นถึงจุดหนึ่งโรคในกลุ่มโรคชราเรื้อรังจะต้องตกเป็นภาระของสังคม โดยเริ่มต้นตั้งแต่เดี๋ยวนี้เป็นต้นไป

อ่านเพิ่มเติม >