ฉบับที่ 114 คิดอย่างคนรุ่นใหม่ ในแบบของ "เปอร์ - สุวิกรม อัมระนันทน์”

  คิดอย่างคนรุ่นใหม่ ในแบบของ "เปอร์ - สุวิกรม อัมระนันทน์” หลายคน คงพอคุ้นหน้าคุ้นตาหนุ่มคนนี้ จากผลงานภาพยนตร์เรียลิตี้เรื่อง “Final Score ไฟนอล สกอร์ 365 วัน-ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์" "เปอร์ - สุวิกรม อัมระนันทน์” คือหนึ่งในคนบันเทิงรุ่นใหม่ที่น่าจับตา จากผลงานหลากหลายในวงการบันเทิง ทั้ง นักแสดง ดีเจที่ 104.5 แฟต เรดิโอ และพิธีกรรายการ “ดิ ไอดอล คนบันดาลใจ” ทางโมเดิร์น ไนน์ ทีวี  แฟน “ฉลาดซื้อ” ที่ชื่นชอบ หรืออาจยังไม่รู้จัก และอยากรู้จักหนุ่มคนนี้ ลองมาฟังความคิด การใช้ชีวิต การทำงาน มุมมองเรื่องสื่อ และแนวคิดเรื่องการบริโภคของพิธีกรรุ่นใหม่คนนี้กัน   เริ่มต้นเข้ามาทำงานในวงการบันเทิงได้อย่างไร? หลังจากได้เล่นภาพยนตร์เรื่อง Final Score ก็ทำให้คนเริ่มรู้จักผมมากขึ้น ซึ่งก็ทำให้มีวิทยุคลื่นหนึ่งติดต่อมาว่าอยากให้ผมไปเป็นดีเจ แต่เผอิญว่าในใจผมอยากจะ ไปทำกับคลื่นวิทยุอีกคลื่นหนึ่ง ซึ่งก็คือ 104.5 แฟต เรดิโอ ผมก็เลยขอร้องให้พี่พีอาร์ของบริษัท GTH ที่รู้จักกันตอนทำ Final Score ให้ช่วยติดต่อมาทาง แฟต เรดิโอ ว่าผมอยากมาเป็นดีเจที่นี้ ทาง แฟต เรดิโอ ก็เลยให้ทำเทปเดโมจัดรายการไปให้ลองฟัง ทาง Managing Director ของทาง แฟต เรดิโอ ซึ่งก็คือ พี่เต็ด ยุทธนา บุญอ้อม ด้วยความที่เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกันที่สวนกุหลาบ และตัวพี่เต็ดเองก็เป็นคนที่ชอบให้โอกาสน้องๆ สุดท้ายก็เลยจับพลัดจับผลูได้มาเป็นดีเจที่ แฟต เรดิโอ หลังจากนั้นก็เริ่มได้โอกาสไปทำรายการอีกหลายๆ รายการ ซึ่งก็เป็นการต่อยอดการทำงานไปเรื่อยๆ   ช่วยเล่าวิธีการทำงานในฐานะพิธีกรให้ฟังหน่อย? ผมจะเปรียบตัวเองเป็นผู้ชมคนหนึ่ง คือจะดึงความรู้สึกตอนที่เราเป็นคนดู เวลาที่ดูรายการสัมภาษณ์ต่างๆ บางครั้งเรามักจะมีคำถามในใจ ที่บางครั้งพิธีกรไม่ได้ถามแขกรับเชิญที่มาออกรายการ เราก็จะจดจำคำถามพวกนั้นไว้ ซึ่งผมเชื่อว่าหลายๆ คนเวลาดูรายการทีวีก็จะจินตนาการตามแล้วก็มักจะมีเสียงตอบโต้กับทีวี เชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้าง หรืออาจจะมีคำ ถามว่า อาจจะมีด่าบ้าง ชมบ้าง พอเรามาได้มาเป็นพิธีกรเอง เราก็จะเอาความรู้สึกที่เราเคยได้รับเวลาดูทีวีทั้งจากตัวเองและคนรอบๆ ข้าง  มาแปลเป็นคำถามที่เราคิดว่าหลายๆ คนอยากรู้แต่ยังไม่เคยถูกถาม มาถามแขกรับเชิญ   มีเสียงตอบรับเรื่องการทำงานของเรายังไงบ้าง? เรื่องเสียงตอบรับที่มีต่อการทำงาน ปกติผมจะไม่ค่อยได้เช็คจากคนรอบข้างมากนัก แต่สำหรับตัวผมเองก็รู้สึกว่ายังไม่ค่อยพอใจสักเท่าไหร่ เพราะทุกครั้งที่กลับมานั่งดูรายการก็ยังรู้สึกไม่ค่อยชอบ รู้สึกว่ายังไม่ค่อยสมบูรณ์ ซึ่งเป็นแบบนี้ทุกครั้ง คือยังไม่มีเทปไหนที่ดูแล้วไม่อยากกลับไปแก้ไขอะไรเลย ซึ่งจุดที่อยากกลับไปแก้ไขก็อาจแตกต่างกันไปคนละจุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตัวคำถาม ที่บางครั้งก็มารู้สึกทีหลังว่าทำไมวันนั้นเราไม่ถามแบบนี้ หรือแม้แต่วิธีการถามกับคำถามแบบนี้เราน่าจะถามอีกแบบแทนที่จะถามแบบนี้ คือตัวผมจะให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียด แม้แต่เรื่องการนั่งสัมภาษณ์ เทปนี้เผลอนั่งกระดิกขา นั่งสั่นหัว นั่งคุยกับกับกล้อง ผมจะให้รายละเอียดกับทุกๆ รายละเอียด ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ผู้ชมอาจจะดูไม่ออกหรืออาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผมทำให้มันเกิดขึ้นเพราะไม่ทันสังเกต   ดูเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับรายละเอียดในการทำงานค่อนข้างมาก? เพราะมันเป็น “งาน”  เป็นสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบ ต้องทำให้ดี รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่คนดูไม่ทันสังเกต แต่มันส่งผลลึกๆ ไปถึงเขาเวลาที่กำลังดูเราสัมภาษณ์แขกรับเชิญ อย่างถ้าผมนั่งกระดิกขาระหว่างผมสัมภาษณ์ คนดูรายการอยู่สมาธิก็อาจจะหลุดจากเรื่องที่ผมสัมภาษณ์มาสนใจที่เท้าผม ว่าเฮ้ย! ไอ้นี่มันนั่งกระดิกขา ดนดูเขาก็ตกหล่นประเด็นเรื่องที่ผมอยากนำเสนอ มันเป็นการสังเกตเล็กๆ น้อยๆ ที่บางครั้งคนดูไม่รู้แต่มันมีผล ซึ่งหน้าที่ของผมก็คือการนำเสนอในสิ่งที่ผมตั้งใจสื่อไปถึงผู้ชมให้สมบูรณ์แบบเต็ม 100% ที่สุด   มุมมองที่มีต่อสื่อในยุคปัจจุบัน? ผมคิดว่า สื่อ ก็เหมือนกับทุกอย่างบนโลกนี้ คือมันก็มีทั้งดีและไม่ดี ไม่ว่าเราจะหยิบเรื่องอะไรขึ้นมาพูด รูปธรรม นามธรรม สิ่งของ คน หรืออะไรก็ตาม ทุกอย่างมีทั้งแง่ดีและไม่ดีเหมือนกันหมด ถามว่าในวันนี้มีสื่อที่ไม่ดีมั้ย มันก็อาจจะมี มีสื่อที่สร้างสรรค์สังคมมั้ย มี มองเปรียบเทียบอย่างเรื่องอาหาร ก็มีทั้งอาหารที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ หรือถ้ามองให้ลึกลงไปอีกของบางอย่างที่มองว่าดีก็อาจจะมีแง่ที่ไม่ดีปนอยู่ หรือของบางอย่างที่ดูว่าไม่ดีก็อาจมีสิ่งที่ดีอยู่บ้างเหมือนกัน ผมเองไม่เคยคิดขนาดว่าอยากจะให้สื่อพัฒนาไปทางไหน หรือคิดไปไกลว่าอยากจะให้สื่อเป็นไปในทิศทางไหน เพราะว่าก็ไม่ได้เป็นนายกสมาคมสื่อหรืออะไรแบบนั้น แต่สำหรับผม ไม่ว่าจะเป็นงานด้านสื่อหรือสิ่งต่างๆ ที่ผมจะทำ ยกตัวอย่างถ้าเป็นรายการทีวี อย่างแรกเลยคือจะต้องเป็นประโยชน์ต่อตัวผม คือผมก็ต้องได้ความรู้ ความบันเทิง ความสนุก อย่างที่สองคือ สิ่งต่างๆ ที่ผมรู้สึก มันต้องส่งกลับไปหาคุณผู้ชมทางบ้านด้วย ทั้งความรู้ ความสนุก คนดูต้องได้เท่าๆ กับเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมยึดถือมาตลอดเวลาที่ผมทำงานในฐานะสื่อ เพราะถือว่าเป็นการไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน ถ้าถามว่ารายการทีวีอยู่ได้อย่างไร แน่นอนว่ามาจากการขายสปอนเซอร์ ขายโฆษณา แต่สปอนเซอร์จะขายได้อย่างไรถ้าไม่มีคนดู สุดท้ายแล้วรายการจะอยู่ได้จริงๆ ก็คือต้องมีคนดู ไม่ใช่ว่ารายการอยู่ได้ด้วยสปอนเซอร์อย่างเดียว ถ้ารายการไม่มีคนดูสปอนเซอร์ก็ไม่ซื้อ เพราะฉะนั้นการที่จะต้องพึ่งอยู่กับผู้บริโภคที่เป็นคนดู จะหวังให้เขามาดูโดยที่เราไม่ได้มอบอะไรให้กับเขาก็เป็นเหมือนการเอาเปรียบกันมากกว่า บางคนอาจจะใช้ความบันเทิงมอบให้กับคนดู เพราะคนดูชอบความบันเทิง ขณะที่ก็มีคนดูอีกกลุ่มที่ชอบสาระ บางรายการก็จะเน้นมอบสาระให้กับคนดู ซึ่งก็แล้วแต่ช่องทางที่ผู้ผลิตรายการจะเลือกมอบให้กับคนดู แต่ผมเชื่อทั้งสองอย่างต้องปนอยู่ด้วยกันทั้งสาระและบันเทิงจึงจะทำให้รายการหนึ่งนั้นๆ ประสบความเร็จมีคนดูติดตาม  ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่ อยากรู้ว่ามีมุมมองเรื่องผู้บริโภคยังไงบ้าง? ผมเชื่อว่าทุกคนให้ความสำคัญกับการที่จะควักสตางค์เพื่อแลกกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แน่นอนเวลาที่เราจะเสียสตางค์สักบาท สักร้อยหนึ่งหรือพันหนึ่ง เราก็ต้องคำนวณก่อนแล้วว่าไอ้ของที่เราจะซื้อนั้นมีความจำเป็นต่อเรามากน้อยเพียงใด เราถึงต้องยอมเสียเงินจำนวนนั้นไปเพื่อแลกกับมันมา ซึ่งคนแต่ละคนก็ให้ความสำคัญไม่เท่ากัน นั่นก็เป็นเพราะเรื่องของปัจจัยสภาพทางการเงินด้วยส่วนหนึ่ง คือถ้าของมันไม่คุ้มที่จะเสียเงินไปผมเชื่อว่าถึงจะรวยแค่ไหนเขาก็ไม่ซื้ออยู่ดี ทีวียี่ห้อ เอ ถูกมากแต่โคตรห่วย ก็อาจจะมีคนที่เขาพอมีปัจจัยที่ซื้อจะได้ด้วยราคาถูกก็อาจจะเลือกซื้อเพราะเขามีตัวเลือกเดียว แต่คนที่เขามีตัวเลือกมากกว่านั้น แพงกว่านิดนึงแต่ดีกว่ากันเยอะ เขาอาจจะยอมเสียตังค์มากกว่าเพื่อซื้อสินค้าตัวนั้นก็ได้ อย่างถ้าจะซื้อโทรศัพท์สักเครื่องหนึ่ง เราก็ต้องศึกษาก่อนแล้วว่าโทรศัพท์แต่ละยี่ห้อมีอะไรดีไม่ดีบ้าง ถ้ามีงบเท่านี้จะซื้อรุ่นไหนดี มันต้องมีการเปรียบเทียบ ผมเชื่อว่าทุกคนสนใจ   คิดว่าสื่อมีอิทธิพลกับผู้บริโภคมากน้อยแค่ไหน? สื่อถือว่ามีบทบาทต่อชีวิตของคนทั่วไปอย่างมาก วันๆ หนึ่งถ้าเราไม่ได้ออกไปไหน ไม่ได้ออกไปนอกบ้าน หรือไปสำรวจโลก สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เรารับรู้เรื่องราวต่างๆ ได้ก็น่าจะเป็นสื่อทางโทรทัศน์ ซึ่งจริงเท็จเราไม่รู้ เวลาคนเราจะเรียนรู้เรื่องราวอะไรต่างๆ เรามักจะเรียนรู้ผ่านทางคนบอกเล่า ผ่านจากประสบการณ์ที่ตัวเองได้สัมผัสเอง คือไปลองทำจริงๆ ว่ามันส่งผลยังไงต่อตัวเรา เราจะได้เรียนรู้ ซึ่งสื่อเองก็มีบทบาทในอีกทางหนึ่งในการบอกเล่าประสบการณ์หรือเล่าเรื่องต่างๆ แต่เรื่องราวที่นำเสนอมักจะเป็นเพียงบางแง่มุมหนึ่งเท่านั้น เพราะฉะนั้นเวลาที่เสพสื่อต่างๆ เราควรเชื่อแค่ครึ่งเดียว แล้วลองวิเคราะห์หรือถ้าเป็นไปได้ลองไปศึกษาหาความจริงด้วยตัวเอง คือคนมักจะมีความเชื่อตามสื่อ เช่น ถามว่าทำไมเราถึงกลัวผี กลัวเอเลี่ยน กลัวนู้นนี่นั้น เพราะเราดูจากสื่อ เราก็เลยจินตนาการตามสื่อว่าผีเป็นอย่างนี้นะ เอเลี่ยนรูปร่างหน้าตาอย่างนี้นะ ซึ่งหน้าตาเป็นแบบไหนเราก็ไม่เคยเห็น หรือมีอยู่จริงหรือเปล่าเราก็ไม่รู้  แต่เพราะเราได้เห็นในสื่อเราก็เลยคิดเอาว่ามันมีอยู่มีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้   แล้วเคยเจอปัญหาเรื่องการใช้สินค้าหรือบริการอะไรหรือเปล่า? ผมไม่เคยรู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ เพราะว่าถ้าเรารู้ตัวเราว่าเราต้องการอะไรแล้วเลือกใช้ให้เป็น ได้คิดได้ไตร่ตรองก่อนจะจ่ายสตางค์ ผมว่าก็น่าจะช่วยให้เราไม่ต้องเสี่ยงกับการถูกเอารัดเอาเปรียบเราต้องรู้ถึงจุดประสงค์ในการที่เราจะเสพสิ่งของ เสพสื่อ เพื่อที่จะไม่ให้สิ่งเหล่านั้นมาครอบงำเรา ยกตัวอย่าง โทรศัพท์มือถือ ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อให้เป็นเครื่องมือเทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสาร สำหรับคนห่างไกลกันแต่ต้องการจะติดต่อสื่อสารกัน ซึ่งก็ช่วยให้เราสะดวกสบายมากขึ้น นั้นคือหน้าที่ของโทรศัพท์มือถือ แต่บางครั้งโทรศัพท์ก็สามารถใช้ส่งข้อความหากัน หรือคุยกันผ่านข้อความหรือการแชท ส่งเสียง ส่งรูปภาพ ออนไลน์หากันได้ตลอด ซึ่งหลายคนอยู่กับโทรศัพท์มือถือมากเกินไป จนดูเกินความจำเป็น ชีวิตของคนเราไม่จำเป็นต้องสื่อสารกันตลอดเวลามากขนาดนั้น บางครั้งการที่เราสื่อสารกันตลอดเวลาผ่านทางแชทหรือมือถือ ผมรู้สึกว่าจะทำให้มนุษย์เราใกล้กันเกินไป เป็นการลดพื้นที่ส่วนตัวลง คือผมไม่ได้จะบอกว่ามันไม่ดี แต่เราต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากมันให้เป็น ถ้าใช้ไม่เป็นก็จะกลายเป็นโทษ   วางอนาคตของตัวเองไว้ยังไง? อนาคต ก็ไม่ได้วางอะไรไว้ ปล่อยให้มันเป็นเรื่องของอนาคตไป สำหรับผมเพียงแค่ทำหน้าที่ของทุกวันนี้ให้ดี แก้ไขทุกสิ่งทุกอย่างที่ยังคิดว่ามันไม่ดีให้มันดีขึ้นไปเรื่อยๆ ทุกวันมีเรื่องให้แก้มีปัญหาใหม่ๆ มาทุกวัน ก็ต้องเรียนรู้ในการแก้ปัญหามันไปเรื่อยๆ แล้วมันก็จะเป็นการพัฒนาศักยภาพของตัวเราเอง   --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point