ฉบับที่ 127 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องเกิดเดี๋ยวนี้

  ทุกคนมีสิทธิขอเกาะกระแสเรื่องเด่นฉบับนี้ พาทุกท่านไปพูดคุยกับ น.พ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถึงแนวทางการทำงานคุ้มครองกันค่ะ พร้อมทั้งเลียบเคียงถามถึงองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจะเกิดในรัฐบาลนี้หรือไม่  นโยบายการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐบาลที่ถือว่าเร่งด่วนคือเรื่องอะไร   เรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำจริงๆ ตอนนี้ก็คือการสร้างเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคให้กว้างขึ้น บุคลากรเรามี 200 คน งบประมาณ 190 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค การสร้างเครือข่ายในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคน่าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่า   เครือข่ายการทำงานปัจจุบันก็มีเครือข่ายผู้บริโภคที่ทำงานกันด้วยใจ ถึงแม้จะมีหน่วยงานรัฐที่ตั้งขึ้นดูแลผู้บริโภคในระดับจังหวัด ในระดับอำเภอแล้วก็ตาม เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและทำงานคุ้มครองผู้บริโภคได้มากขึ้นต้องมีการประสานกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ที่ทำงานภายใต้กฎหมายและอาจจะมีงบประมาณบางส่วนช่วยสนับสนุนในการทำงานลงไป เราเพิ่มคนไม่ได้ การขยายเครือข่ายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคก็น่าจะเป็นไปได้   ส่วนที่สองก็คือการสร้างทีมเฉพาะกิจด้านการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นมา เพื่อหนุนเสริมทีมงานของ สคบ. อย่างทีมตำรวจหน่วยสืบสวนสอบสวน การร่วมเผยแพร่ข่าวกับสื่อมวลชน เพราะการเผยแพร่ข่าวก็ถือเป็นการปรามคนที่กำลังจะทำความผิด และประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครู้ช่องทางการใช้สิทธิของตัวเองด้วย   อีกส่วนที่สำคัญก็คือการพัฒนาระบบเอกสารเป็นระบบของเทคโนโลยีสาระสนเทศที่สามารถค้นข้อมูลได้ง่าย เพราะคนเราน้อยจะได้ทำงานได้เร็วขึ้น  องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจะเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ไหม ต้องบอกว่าองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นกฎหมายของประชาชน และกฎหมายก็เข้าถึงชั้นวุฒิสภาแล้ว ไม่ต้องย้อนกลับไปพิจารณาที่สภาผู้แทน ก็จะให้วุฒิสภาประชุมต่อเลย ถ้าหากมีการแก้ไขนิดหน่อยก็ผ่านเป็นกฎหมายออกมาได้เลย แต่ถ้ามีการแก้ไขมากก็ย้อนไปที่สภาผู้แทน แต่กฎหมายตัวนี้พิจารณาแน่นอน  ฝากถึงประชาชนเรื่องการใช้สิทธิผู้บริโภค อยากให้ประชาชนรู้สิทธิและตระหนักถึงการใช้สิทธิของตัวเองในการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ เมื่อถูกละเมิด เมื่อใช้แล้วไม่เกิดผลก็ประสานงานร้องเรียนมาที่หน่วยงานเพื่อให้เกิดการแก้ไข ถ้าหากว่าเป็นไปได้จะเกิดเครือข่ายภาคประชาชนในการคุ้มครองสิทธิก็จะเป็นการดีมาก เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองกับผู้ประกอบการทั้งเรื่องราคา เรื่องคุณภาพ ราคาแพงเกินไป คุณภาพไม่ได้มาตรฐานเราก็ไม่ซื้อ ดูสิว่าผู้ประกอบการจะอยู่ได้อย่างไร จริงไหม มันก็จะเป็นกลไกการตลาดที่ผู้บริโภคสามารถกำหนดคุณภาพสินค้าได้เลยนะ ******************************************** ผู้บริโภคต้องมีองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคสุภาภรณ์ ว่องวีรวัฒนกุล เพื่อให้เห็นภาพของปัญหาผู้บริโภคที่ต้องติดอาวุธทางความคิดและทางปัญหาให้กับตัวเอง อย่างสุภาภรณ์ ว่องวีรวัฒนกุล หญิงผู้ซึ่งกล้าฟ้องศาลเรียกความยุติธรรมจากบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากแดนปลาดิบ เธอยื่นฟ้องบริษัท โตโยต้า ธนบุรี จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 , บริษัท โตโยต้า ทีบีเอ็น จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 และ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศ ไทย จำกัด ที่ 3 ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจ ยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2553 เรียกค่าเสียหาย 5 ล้านบาท -----------------------------------------------------------------------------------------------สุภาภรณ์ซื้อรถยนต์โตโยต้า รุ่นอินโนว่า เมื่อปี 2547 เพื่อขับรับส่งลูกๆ 3 คนไปโรงเรียน แต่หลังจากใช้รถได้ไม่นาน เธอรู้สึกว่า มีกลิ่นคล้ายกลิ่นจากท่อไอเสียเข้ามาในห้องโดยสาร จึงได้แจ้งกับพนักงานขายของบริษัท โตโยต้า ธนบุรี จำกัด ก็ได้รับคำชี้แจงว่าเป็นเรื่องปกติของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งเธอไม่เคยใช้รถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ดีเซลจึงไม่ทราบมาก่อนว่าเป็นเรื่อง ปกติหรือไม่ จึงใช้รถยนต์ต่อไป ต่อมาเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2549   เธอใช้รถยนต์คันดังกล่าวครบระยะ 50,000 กิโลเมตร จึงได้นำรถยนต์คันดังกล่าวเข้าตรวจเช็คกับศูนย์บริการซ่อมรถยนต์บริษัท โตโยต้า ทีบีเอ็น จำกัด พร้อมแจ้งกับพนักงานว่า มีกลิ่นควันคล้ายกลิ่นท่อไอเสียเข้ามาในห้องโดยสาร แต่แล้วก็ได้รับคำตอบเช่นเดียวกับพนักงานขายว่า เป็นเรื่องปกติของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล พร้อมทั้งแนะนำให้ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ เธอจึงทำตามคำแนะนำ แต่กลิ่นก็ยังไม่หายไป และเริ่มมีคราบเขม่าเข้ามาในห้องโดยสาร   วันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2550 เธอจึงนำรถยนต์คันดังกล่าวเข้าตรวจเช็คกับศูนย์บริการของบริษัท โตโยต้า ทีบีเอ็น จำกัด และได้ให้เจ้าหน้าที่เทคนิคของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศ ไทย จำกัด มาตรวจสอบโดยให้เธอทิ้งรถยนต์ไว้ เมื่อครบกำหนดรับรถพนักงานได้แก้ไขให้โดยเปลี่ยนช่องลมบังโคลน ซ้าย – ขวา และบอกกับเธอว่าสามารถนำรถไปใช้ได้อย่างสบายใจ แต่กลิ่นและคราบเขม่าดังกล่าวก็ยังไม่หายไป   วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2550 เธอจึงนำรถยนต์เข้าตรวจเช็คกับศูนย์ฯ บริษัท โตโยต้า ทีบีเอ็น จำกัด อีกครั้งหนึ่ง ภายหลังตรวจเช็คแล้ว ผู้จัดการศูนย์ฯ บอกกับเธอว่าไม่เป็นไร เป็นธรรมดาของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล เมื่อได้รับคำยืนยันว่า ‘เป็นธรรมดาของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล’ มาตลอด เธอเชื่อตามที่ผู้จัดการศูนย์ฯ บริษัทโตโยต้า ทีบีเอ็น จำกัด บอกว่า กลิ่นควันคล้ายท่อไอเสียดังกล่าวเป็นธรรมดาของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล จึงทนใช้รถยนต์เรื่อยมา และในวันที่ 7 กันยายน พ.ศ.2552 เริ่มมีคราบเขม่าสีดำเข้ามาในห้องโดยสารเป็นจำนวนมาก สุภาภรณ์จึงนำรถเข้าตรวจสอบที่ศูนย์ฯของบริษัทโตโยต้าทีบีเอ็น จำกัด อีกครั้งพบว่า มีคราบเขม่าสีดำเข้ามาในห้องโดยสารจำนวนมากจริง พนักงานของบริษัทโตโยต้าทีบีเอ็น จำกัด จึงได้ถ่ายรูปแล้วแล้วส่งเรื่องไปยังบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศ ไทย จำกัด โดยปกปิดไม่ให้เธอรู้ เธอจึงเริ่มเอะใจว่าต้องมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น   วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2552 จึงได้มีการตรวจรถยนต์คันดังกล่าวร่วมกันระหว่าง ตัวแทนบริษัทบริษัท โตโยต้า ฯ เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสุภาภรณ์ ทดสอบโดยขับรถยนต์รอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ประมาณ 1 ชั่วโมง โดยตรวจสอบรถยนต์ 2 คันเปรียบเทียบพร้อมๆ กันคือรถยนต์คันของสุภาภรณ์ กับรถยนต์ยี่ห้อ...ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า ผลปรากฏว่า พบค่าก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในห้องโดยสารรถยนต์คันของสุภาภรณ์สูงถึง 16 พีพีเอ็ม ส่วนรถยนต์ยี่ห้อ... ตรวจไม่พบก๊าซดังกล่าว   เธอถึงบางอ้อถึงอาการผิดปกติของร่างกายทั้งในเรื่องระบบทางเดินหายใจ มีภาวะการหายใจลำบาก เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบบ่อยครั้ง มึนศีรษะ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น มีอาการคล้ายจะเป็นลม แสบตา คันจมูก มีอาการคล้ายหัวใจเต้นผิดจังหวะมา จากก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์นี่เอง   เธอจึงหยุดใช้รถคันเจ้าปัญหาตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2552 เป็นต้นมา!!! และถามการชดเชยจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศ ไทย จำกัด ซึ่งทางบริษัทฯ เสนอที่จะซ่อมรถให้เธอ แต่ตลอดระยะเวลา 5 ปี ของการใช้บริการได้พิสูจน์บางอย่างให้สุภาภรณ์เห็นแล้วว่าไม่มีอะไรดีขึ้น เธอยื่นข้อเสนอที่จะขอเปลี่ยนรถคืนรถยนต์ แต่ทางบริษัทฯ ปฏิเสธข้อเรียกร้องและให้ทำตามที่บริษัทฯ เสนอจะดีกว่า  ‘ถึงแม้ว่าจะไปร้องเรียนก็ไม่ระคายผิวบริษัทแม้แต่น้อย’  “ยอมรับว่าผิดหวังนะเราเชื่อในความเป็นโตโยต้ามาตลอด ซ่อมก็ซ่อมที่ศูนย์ของโตโยต้า ไม่เคยไปซ่อมที่อู่ไหนเลย แต่ดูเขาทำกับเราสิ”  หลังจากนั้นได้ร้องเรียนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 แต่บริษัทฯ ก็ยังไม่ยอมชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น สุดท้ายเธอจึงยื่นฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภคเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2553 เรียกค่าเสียหาย 5 ล้านบาท และศาลได้พิพากษา วันที่ 25 พ.ค. 2554 ให้จำเลยที่ 1 คือบริษัท โตโยต้า ธนบุรี และ จำเลยที่ 3 คือบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศ ไทย เปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ รุ่นเดียวกับสุภาภรณ์ หรือไม่ก็ซื้อรถยนต์คันที่มีปัญหาคืน ในราคา 759,850 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5 ต่อปี และบริษัทฯทั้งสองให้ร่วมจ่ายค่าเสียหายอีก 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2552 -----------------------------------------------------------------------------------------------------  เราบริสุทธิ์ใจ “เรายื่นฟ้องก็เพื่อจะสร้างบรรทัดฐานให้เกิดขึ้นกับสังคม พี่ว่ามันถึงเวลาแล้วนะที่ผู้บริโภคจะต้องมีองค์การอะไรสักอย่างขึ้นมาคุ้มครองให้ความช่วยเหลือผู้บริโภค ถึงแม้จะมีหน่วยงานอย่าง สคบ. แต่ก็มีข้อจำกัดบางอย่าง ในเรื่องกระบวนการให้ความช่วยเหลือ  ที่ทำมามันก็เหนื่อยนะที่ต้องสู้กับบริษัทใหญ่ แต่เราอยากจะบอกกับทุกคนเรื่องความถูกต้องและในการที่เราจะไปสู้กับบริษัทใหญ่อันดับแรกเราต้องบริสุทธิ์ใจก่อน แล้วก็ต้องคิดความเสียหายตามจริง ไม่ใช่คิดจะไปเอาเปรียบเขา ไม่ใช่คิดเอาแต่ได้ เรามองไปที่ความถูกต้อง ความเชื่อใจในบริษัทของเขา และเราทำตามมาตรฐานของเขามาโดยตลอด ทั้งการดูแล การประกันภัย พยายามทำตามมาตรฐานทุกอย่างเท่าที่ทำได้ น้ำมันเครื่องแม้แต่หยดเดียวก็ไม่เคยไปทำที่อื่น มีอะไรก็ใช้บริการศูนย์ของบริษัทฯ โดยตลอด แล้วพอมีความผิดพลาดเขากลับไม่รับผิดชอบ ไม่ได้ละมันต้องมีมาตรฐานความรับผิดชอบ รถยนต์ก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญนะ การเรียกร้องให้ผู้ประกอบการออกเยียวยาแล้วต้องไปทุบรถให้เป็นข่าวอยู่บ่อยๆ ทุกครั้งๆ แล้วถึงจะออกมารับผิดชอบ มันก็ไม่ใช่หน้าที่ของพวกเราใช่ไหม ก็ยอมรับว่าบ้านเรามีการพัฒนาอะไรหลายๆ อย่าง การเรียกร้องทางกฎหมายก็น่าจะเป็นทางออกในการสร้างบรรทัดฐานในการเยียวยาได้ ไม่ใช่ต้องทุบรถตลอดเวลาจริงไหม”  การใช้สิทธิต้องแลกกับระยะเวลา ‘ถึงแม้ว่าจะไปร้องเรียนก็ไม่ระคายผิวบริษัทแม้แต่น้อย’ ถ้อยคำจากตัวแทนบริษัทกลายเป็นคำที่สร้างพลังให้สุภาภรณ์สู้สุดใจที่จะสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้บริษัทยักษ์ใหญ่ต้องรับผิดชอบ มันก็จริงอย่างที่เขาพูดนะ เพราะเวลาเราใช้สิทธิ เราต้องวุ่นทุกอย่างทั้งเอกสาร ทั้งเวลา ที่ต้องแลก ถามว่า 1 ปีที่ฟ้องศาลไปคุ้มไหม มันเทียบกันไม่ได้ แต่มันเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้บริษัทฯ ต้องรับผิดชอบ ก็ไม่เข้าใจนะว่าทำไมบริษัทฯ ไม่ยอมรับความผิดพลาด ในต่างประเทศพอรถยนต์เกิดปัญหาเขาเรียกคืนรถยนต์เป็น "ล้านคัน" แล้วบริษัทฯ นั้นก็ยังขายรถรุ่นอื่นๆ ได้ กลับเป็นผลดีเสียอีกในการสร้างความเชื่อถือให้กับบริษัทฯ ว่ามีความรับผิดชอบ ผู้บริโภคก็จะบอกต่อๆ กันเอง โดยที่บริษัทฯ ไม่ต้องเสียค่าประชาสัมพันธ์แม้แต่บาทเดียวจริงไหม เราเดินถือเงินล้านบาทไปให้บริษัทฯ เพราะเราเชื่อและไว้ใจในบริษัทฯ แล้วจริงไหม เพราะฉะนั้นเมื่อสินค้าเกิดปัญหาผู้ประกอบการก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ  อยากให้ทุกคนใช้สิทธินะคะแต่เราต้องมีความบริสุทธิ์นะ และอดทนในการใช้สิทธิเพราะต้องแลกด้วยระยะเวลา แต่สุดท้ายผลที่ออกมาจะช่วยสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้ผู้ประกอบการและสังคมเห็นความเปลี่ยนแปลง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point