ฉบับที่ 154 “ รถเมล์..ทุกคนต้องขึ้นได้ทุกคัน ”

คุณสุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ 1 ในผู้นำเรื่องสิทธิของคนพิการแถวหน้าของเมืองไทย ประเด็นล่าสุด “ รถเมล์..ทุกคนต้องขึ้นได้ทุกคัน ” ที่มีภาพผู้ชายหลายๆ คน กำลังแบกคนพิการที่นั่ง Wheelchair ขึ้นบนรถเมล์ ปรากฏในหลายสื่อ  จนเป็นข่าวดัง เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา คุณสุภรธรรม หรือ อ.ตั๋น  เลขามูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เริ่มเล่าประวัติส่วนตัวให้เราฟังว่า “ผมพิการมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วก็เรียนโรงเรียนคนพิการ เป็นคนหนองคาย แต่เนื่องจากต่างจังหวัดมันไม่มีโรงเรียนคนพิการ ผมเลยต้องเข้ามาเรียนโรงเรียนคนพิการศรีสังวาลย์ที่ปากเกร็ด ตั้งแต่ ป.1จนจบ ม.3 จบแล้วผมก็ไม่ได้เรียนต่อภาคปกติ เพราะว่ามันไม่มีที่ให้ไป ก็ได้ไปเรียนภาคค่ำ สุดท้ายได้เรียนโปรแกรมเมอร์ที่อาชีวะพระมหาไถ่ ที่เป็นฝึกอาชีพเพื่อคนพิการโดยคณะพระมหาไถ่ เป็นการฝึกอาชีพเพื่อคนพิการรุ่นแรก ผมฝึกอาชีพที่นั้นพอจบก็ทำงานที่นั่นเลย เป็นครูที่นั่นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี   2530 ตอนนี้ก็ 26 ปีโดยประมาณที่อยู่ที่นั่น ตั้งแต่เป็นครูน้อย เป็นหัวหน้าแผนกคอมพิวเตอร์ เป็นครูใหญ่ แล้วก็มาทำจัดหางาน และทำมูลนิธิฯ มูลนิธิก็ดูแลภาพรวมของงานด้านคนพิการของคณะมหาไถ่ที่มีงานอยู่ที่พัทยา และหนองคาย ก็คลุกคลีงานด้านคนพิการตั้งแต่ต้น เพราะว่าคนที่ก่อตั้งคือบาทหลวง พอเราทำโรงเรียนเสร็จก็ถามว่า คือโรงเรียนนั้นต้องถือว่าประสบความสำเร็จนะ เพราะคนที่จบการศึกษาทุกคนต้องมีงานทำ เพราะฉะนั้นในวงการคนพิการถือว่าโอเค”   แรงบันดาลใจของอาจารย์ที่อยากเห็นการพัฒนาคืออะไร ก็เผชิญปัญหาด้วยตัวเอง ที่เราเห็นปัญหา คลุกคลีกับมันเราก็รู้สึกว่ามันน่าจะมีหนทางที่ดีกว่านี้ น่าจะมีโอกาสที่ดีกว่านี้บวกกับสภาพแวดล้อมมันหล่อหลอม สภาพแวดล้อมในครอบครัวก็ดี ที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ ที่อาชีวะพระมหาไถ่ สภาพแวดล้อมที่ไม่ให้เราคิดถึงตัวเราเอง ให้คิดถึงคนอื่น อย่างพ่อก็เป็นแบบอย่างของคนที่ทุ่มเทกับการทำงานเพื่อพัฒนางาน เพื่อช่วยเหลือคนอื่น อย่างการที่โรงเรียนของเราอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของสมเด็จย่า พระจริยวัตรของพระองค์ท่าน คำสอนของท่านมันถูกแทรกซึมเข้ามาในชีวิตโดยที่เราไม่รู้ตัวบวกกับสิ่งที่เราเห็นในความไม่เป็นธรรม แม้แต่เราอยู่ในโรงเรียนบางทีมันก็มีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น ซึ่งความไม่เป็นธรรมนั้นมันไม่ใช่เพราะใครอยากจะสร้างความไม่เป็นธรรม แต่มันเกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ หรือมันเป็นข้อจำกัด อย่างเช่น คนพิการก็จะมีคนที่นั่งรถเข็นเหมือนผม คนที่เดินได้ แน่นอนคนที่เดินได้ก็มีโอกาสมากกว่าคนที่นั่งรถเข็น เช่นถ้ามีกิจกรรม จะเอาให้ง่ายก็เอาคนที่เดินได้ไป ให้คนที่นั่งรถเข็นไว้ทีหลังอย่างนี้เป็นต้น ก็คือความไม่เป็นธรรม แต่ถ้าถามผมนั่งรถเข็นพอช่วยเหลือตัวเองได้กับอีกคนหนึ่งนั่งรถเข็นแต่ต้องมีคนช่วยเข็น ช่วยป้อนข้าว คนกลุ่มนั้นก็ยิ่งแย่กว่าเรา ถามว่าใครจะดูแล ใครจะเป็นปากเป็นเสียงให้กับเขา เพราะฉะนั้นถามว่าทำไมถึงทำ ก็เพราะสภาพแวดล้อม และสิ่งที่เราเห็นมากกว่า ปัจจุบันของประเทศไทยมีเส้นทางที่เอื้อให้คนพิการมากน้อยแค่ไหน ถ้าพูดถึงการคมนาคม คงต้องมองเรื่องของคนพิการเป็นกลุ่มๆ คนพิการตามสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติคนพิการทั้งหมดประมาณล้านแปดล้านเก้า แต่ที่มีบัตรคนพิการนั้นมีประมาณล้านสี่เกือบล้านห้า ครึ่งหนึ่งเป็นคนพิการด้านร่างกาย หมายความว่าใช้ Wheelchair แขนขาดขาขาด นอกนั้นก็จะเป็นคนพิการหูหนวกประมาณสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ ตาบอดประมาณ 12 – 15 เปอร์เซ็นต์และคนพิการอื่นๆ ในเรื่องการเดินทางนั้นที่ลำบากที่สุดคือคนที่พิการทางด้านร่างกาย เพราะว่าไม่สามารถใช้บริการสาธารณะได้โดยสะดวกโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ใช้ Wheelchair ต้องบอกว่าไม่สะดวกเลย จริงๆ ที่เห็นว่ามีหลายฝ่ายเริ่มให้ความสนใจคือปี 2538-2539 เป็นการให้ความสนใจเพราะถูกบังคับให้สนใจ ก็เมื่อกรุงเทพจะมีรถไฟลอยฟ้า ตอนนั้นมี 23 สถานี แต่ไม่มีการอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการเลย เราก็ได้ออกมารณรงค์ในเรื่องนี้ ในช่วงที่มีการณรงค์เราพบว่าสังคม และหน่วยงานอื่นก็ให้ความสนใจ ยกตัวอย่างเช่น ตอนนั้นทำรถลอยฟ้าก็ทำรถใต้ดินด้วย ทางใต้ดินก็สนใจ และตระหนักถึงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ แต่ถามว่าทำแล้วใช้งานได้จริงไหม ในเชิงระบบไม่สามารถใช้งานได้จริง อย่างเช่น รถไฟลอยฟ้ามีทั้งหมด 23 สถานี แต่มีลิฟต์สำหรับคนพิการแค่ 5 สถานี และ 5 สถานีนี้อย่างอ่อนนุชนั้นมีขาเดียว คือมีฝั่งเดียวปกติมันต้องมี 2 ฝั่งนะขาไปกับขากลับ ก็ยังไม่สมบูรณ์ หรือรถไฟใต้ดินอย่างที่บอกว่าสนใจ แต่เวลาทำจริงๆ นั้นก็เรียกว่าไม่สมบูรณ์ รถไฟฟ้าใต้ดินมีทั้งหมด 18 สถานี บางสถานีก็มี 2 มี 3 Exit มากสุดก็ 5 แต่รวมทั้ง 18 สถานีมีทั้งหมด 60 Exit มี Wheelchair ไปได้แค่ 31  Exit ยกตัวอย่างเช่น สถานีลาดพร้าวมี 4 ทางเข้าออก แต่ Wheelchair ไปได้แค่ทางเดียว เพราะฉะนั้นพูดถึงการใช้ระบบขนส่งรถไฟฟ้าใต้ดินในชีวิตประจำวัน มันเป็นไปไม่ได้ สมมติพักอาศัยอยู่ในฝั่งที่มีลิฟต์ เราก็ขึ้นลิฟต์ไปขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดินไปทำงาน ขากลับก็กลับมาไม่ได้ ขากลับต้องไปโบกแท็กซี่เพื่อจะฝ่าจราจรกลับรถไปอีกฝั่งหนึ่ง อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพ รถไฟลอยฟ้ายังมีปัญหา รถใต้ดินมีปัญหา ส่วนต่อขยายของ BTS อันนี้โอเค ส่วนต่อขยายทั้งหมดมีการติดตั้งลิฟต์ทั้ง 2 ฝั่ง แต่อาจมีปัญหาบ้างเรื่องของสภาพแวดล้อม เรื่องฟุตบาท ทางเท้า แต่ กทม.เองก็มีนโยบายที่จะติดตั้งลิฟต์ครบทุกสถานี บอกว่าจะทำครบตั้งแต่ปี 55 เราก็ตามแล้วตามอีกก็ยังไม่ครบ ทราบว่ากำลังดำเนินการ ส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าใต้ดินมีปัญหาอยู่บ้างบางสถานีที่ยังใช้คอนเซ็ปต์การออกแบบเหมือนเดิม เราก็พยายามเจรจา มีการปรับแก้ไปบ้างแต่ก็ยังไม่ครบถ้วน มี Airport Link (Airport Rail Link) ในเชิงระบบถือว่าโอเคแต่ว่าในการให้บริการนั้นยังมีปัญหา เช่น ระดับระหว่างแพลตฟอร์มมันห่างกันมาก มันอันตราย จะต้องมีระบบในการให้บริการที่เสริมเข้าไป อย่างมี Fiber เป็นสะพานเชื่อมระหว่างแพลตฟอร์มกับตัวรถเวลาคนพิการหรือคนที่ใช้ Wheelchair ไฟฟ้าใช้บริการจะต้องมีสะพานเชื่อมจะได้ไม่เกิดอันตราย เป็นต้น รถเมล์ไม่มีทาง ศูนย์เลย ใช้ไม่ได้ เรือก็ศูนย์ รถไฟระหว่างเมืองเพิ่งจะมีเป็นโบกี้นำร่อง แต่ให้บริการไม่ได้จริง เพราะว่าเป็นขบวนระหว่างกรุงเทพฯ – หนองคาย, กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ อยู่ในขบวนรถด่วนปรับอากาศชั้น 2 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูง ถ้าจะไปเลือกชั้น 3 หรือขบวนอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นไปตามเวลาอีกก็ยังไม่สะดวก แต่เนื่องจากช่วงนี้ตกรางบ่อย ก็รอให้หายตกรางก่อนแล้วค่อยว่ากัน (555) อันนี้รถไฟ  ยังมีปัญหา รถ บขส. ก็เป็นทางเลือกที่ดีอีกทางเลือกหนึ่งแต่ไม่มีระบบบริการ มีเพียงการช่วยด้วยความเป็นคนไทย ด้วยความมีมนุษยธรรม ก็มีการช่วยตามสมควร แต่โดยระบบแล้วนั้นยังไม่เอื้อทั้งระบบ เครื่องบินถือว่าดีที่สุดแต่มันแพงยกเว้น Low Cost นะ ก็ยังไม่สามารถจะเอื้ออำนวยความสะดวกได้ และเวลาจองตั๋วมีการถูกปฏิเสธ เวลาไปใช้บริการ ไปเช็คอินมีการถูกปฏิเสธให้ความช่วยเหลือถามว่าเส้นทางหรือการเดินทางของคนพิการไม่ว่าจะเป็นทางถนน ทางน้ำ ทางอากาศ ทางรางยังมีปัญหา คนพิการจึงเดินทางไปตามสภาพ คือเจอปัญหาอะไรก็แก้ไปตามสภาพ ไม่ได้ขึ้นเครื่องก็โวยวายไป ไปขึ้นรถไฟจำเป็นต้องคลานขึ้นก็คลานขึ้น มีเพื่อนอุ้มขึ้นก็อุ้มขึ้น เป็นแบบนี้ชีวิตก็ลำบาก เพราะฉะนั้นชีวิตที่ลำบากนั้นหลายๆ คนก็เลือกที่จะไม่ออกมาสู่สังคม ไม่สามารถออกไปทำงานได้ ไม่สามารถไปเรียนหนังสือได้ สุดท้ายก็ต้องกลับไปอยู่บ้านที่ชุมชน ที่ผ่านมารัฐมีนโยบายที่เอื้อประโยชน์ในเรื่องคมนาคมต่อคนพิการแค่ไหน ถามว่ารัฐบาลสนใจไหม ก็ดูเหมือนจะสนใจนะตั้งแต่ปี 38 มีคนเริ่มให้ความสนใจ หลังจากนั้นก็มีตั้งคณะกรรมการอะไรขึ้นมาต่างๆ นานา แต่ภาคปฏิบัติจริงๆ นั้นน้อยมากๆ มีเฉพาะการปรับปรุงพวกอาคาร สถานที่ของสถานีขนส่ง สถานีรถไฟ บขส. ปรับปรุงไปทำไมเดินทางไม่ได้ แต่ที่ต้องทำเพราะมันมีกฎหมายว่าด้วยเรื่องอาคาร สถานที่ อันนั้นก็ถูกไฟลท์บังคับตรงนั้น แต่ถามว่ารัฐบาลให้ความสนใจเป็นจริงเป็นจังไหม ไม่มีเลย เพิ่งมีสมัยรัฐบาลนี้  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่มีการทำรถไฟเป็นโบกี้นำร่อง ก็ทำเสร็จแล้ว ทดลองวิ่งแล้ว แต่ยังไม่ได้เดินรถเป็นประจำ พอท่านดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มาเป็นว่าการก็เลยเกิดโครงการนำร่องขึ้นมาเป็น “สะดวก ปลอดภัย คมนาคมยุคใหม่ ใส่ใจคนพิการ” แต่ที่มันเกิดดอกออกผลเยอะนั้นต้องยกให้เป็นเครดิตของเลขารัฐมนตรี คือท่านฐิติมา  ฉายแสง ที่ดำเนินเรื่องนี้ตามนโยบายของรัฐมนตรีอย่างจริงจัง แต่มันก็เป็นเพียงโครงการนำร่องนะ ระยะเวลาสั้นๆ โดยเลือกปรับปรุงบริการในเรื่อง 4 หมวด คือ รถทางบก คือทางถนน ไปปรับปรุง บขส. เลือกที่สถานีจตุจักรหรือว่าหมอชิต 2 และเลือก ขสมก. ไปปรับปรุงเขตการเดินรถที่ 8 ก็ปรับสภาพแวดล้อมภายใน อาคาร สถานที่ เอารถต้นแบบในแต่ละแบบนั้นมาดูว่าถ้ามีการใช้ปรับปรุงรถเมล์จะมีต้นแบบอะไรบ้าง ระบบทางน้ำก็ไปปรับปรุงท่าเรือสาทร ซึ่งเป็นท่าเรือท่องเที่ยวและจะมีการคุยกับผู้เดินเรือในการที่จะอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการ ทางอากาศเลือกสนามบินดอนเมืองเป็นโครงการนำร่อง ส่วนทางรางเลือกหัวลำโพงและรถไฟฟ้าใต้ดินที่สถานีลาดพร้าว ซึ่งโครงการนำร่องมันสะท้อนออกมาว่าการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทำอย่างไร ปัญหาอุปสรรคคืออะไร วิธีการให้บริการคนพิการในระบบขนส่งมวลชน บขส. เองก็มีนโยบายการปรับปรุงสถานีรถโดยสารอีก 8 แห่งทั่วประเทศและจะปรับปรุงบริการ คือวิธีการในการช่วยคนพิการ จริงๆ เราเสนอไปหลายอย่างนะ เช่น การจองตั๋ว การล็อกที่นั่งเอาไว้ให้คนพิการได้นั่งโดยไม่ต้องลากถูกันไปกลางรถ ท้ายรถ เพราะที่ผ่านมานั้นการจองตั๋วนั้นถ้าเราไม่ได้ที่นั่งด้านหน้า เวลาขึ้นไปจริงๆ เราก็ต้องไปขอผู้โดยสาร เขาก็ต้องย้ายให้ ซึ่งมันก็ได้ แต่ความรู้สึกเราก็ไม่ได้อยากเป็นภาระคนที่เขาชอบนั่งหน้าด้วยวิถีการเดินทางของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เขาก็จำเป็นต้องย้าย ซึ่งเวลาย้ายบางทีก็ย้ายไปไกล หรือถูกแยกกัน เขาจองมาเป็นคู่แต่เราไปคนเดียวก็ถูกแยกกันคนหนึ่งซึ่งมันเป็นปัญหา เลยเสนอว่ามันน่าจะมีระบบการจองตั๋ว การล็อกที่นั่ง สถานีสนามบินก็มีการขยายผลซึ่งก็มี สนามบินภูเก็ต เชียงใหม่ สงขลา นี่ก็ทำต่อเนื่องนะ มีการอบรมให้กับพนักงานการท่าให้กับแอร์เอเชีย   การรณรงค์เรื่องบริการรถเมล์ทำอย่างไรบ้าง เราตามตั้งแต่รัฐบาลมีนโยบายที่จะออกรถเมล์ใหม่ เราก็ตามตลอดว่ารถใหม่จะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการสามารถจะเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ทุกคัน ทุกคนต้องสามารถใช้ประโยชน์ได้ ไม่เอาสัดส่วน ไม่เอา 70 – 80 เปอร์เซ็นต์หรือแม้แต่ 50 เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ใช่ รถโดยสารในกรุงเทพฯนั้นมีประมาณ 16,000 คัน ของ ขสมก. ก็ประมาณเกือบ 4,000 คัน นอกนั้นจะเป็นรถร่วม รถตู้ ถ้าสมมติ ขสมก. บอกว่าเอาไปครึ่งหนึ่ง ครึ่งหนึ่งแสดงว่ามีไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของทั้งระบบ สมมติว่าเขาออกรถทุก 15 นาที คนพิการต้องรอ 150 นาทีรถคันต่อมาถึงจะมา เพราะฉะนั้นในชีวิตประจำวันมันใช้ไม่ได้ แล้ว ขสมก.เป็นบริการของรัฐฯ ถ้าบริการของรัฐไม่เริ่ม ไม่ทำ คุณจะไปบอกให้รถร่วมทำได้อย่างไร เลยต้องบอกว่า ขสมก.ต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้า 100 เปอร์เซ็นต์เมื่อไรค่อยเคลื่อนไปรถร่วม โอเคเราไม่แตะรถเก่า แต่รถใหม่ที่ออกมาคุณจะต้องให้ความสะดวกสำหรับคนพิการ เราก็ติดตามโดยการทำหนังสือ พบรัฐมนตรี เข้าพบ ผอ.ขสมก.ตามลำดับแล้วก็ทำงานเชื่อมโยงกับสมาคมคนพิการและหน่วยงานต่างที่เขาสนใจในประเด็นนี้ เพราะฉะนั้นการขับเคลื่อนนั้นเราไม่ได้ขับเคลื่อนในนามมหาไถ่หรือหน่วยใดหน่วยหนึ่ง แต่เราขับเคลื่อนร่วมกัน ใครที่มีอุดมการณ์ มีแนวทางตรงกัน เพราะบางคนบางหน่วยงานเขาก็ขับเคลื่อนโดยใช้นโยบาย ใช้งานวิชาการ ประเด็นสำคัญก็คือรถเมล์ทุกคนต้องขึ้นได้ทุกคัน เราก็เอาประเด็นนี้เป็นตัวชูโรง เราก็รณรงค์มา ซึ่ง ณ นาทีนี้ทั้งรัฐบาลและ ขสมก.นั้นยอมที่จะให้รถเมล์ทุกคัน ทุกคนสามารถขึ้นได้ แต่ยังไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ งานของเราจะจบก็ต่อเมื่อรถเมล์คันสุดท้ายตามโครงการนี้ออกสู่ท้องถนนอันนี้ถึงจะจบ จบโครงการนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจบแล้วเรื่องของรถเมล์ นั่นหมายความว่า Next Step เราจะทำอย่างไรกับรถร่วม เรื่องฟุตบาท ทางเท้า เรื่องโครงข่ายที่จะโยงใยกันต่อ ซึ่งเราต้องทำงานต่อในเรื่องเหล่านี้   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point