ฉบับที่ 156 กระแสต่างแดน

พลาดจนได้ ห้างอิเกียสาขาซามาร่า ในรัสเซียกลับมาเป็นข่าวอีกครั้งหลังจากเปิดดำเนินการเมื่อสามปีก่อน ซึ่งกว่าจะเปิดได้ก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ นานาจนเปิดห้างได้ล่าช้ากว่าแผนไปถึง 4 ปี เหตุที่แผนต้องสะดุดไปถึง 8 ครั้งนั้น รวมถึงการที่ห้างยังสร้างอาคารไม่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัยของรัสเซีย ซึ่งกำหนดให้อาคารต้องแข็งแรงขนาดต้านทานพายุเฮอริเคนได้ด้วย ที่สำคัญ บริษัทไม่มีนโยบายจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชาให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ และถึงขั้นเคยไล่เจ้าหน้าที่ระดับบริหารออกไปสองราย เพราะจับได้ว่าติดสินบนเจ้าหน้าที่รัสเซียด้วย แต่ที่เปิดได้ในที่สุดเพราะบริษัทใช้ไม้ตายด้วยการยื่นคำขาดว่าถ้าเปิดสาขาซามาร่าไม่ได้ ก็จะระงับแผนการลงทุนทั้งหมดในรัสเซีย (ปัจจุบันธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านสัญชาติสวีดิช มีสาขาในรัสเซียถึง 14 แห่ง จากทั้งหมด 338 สาขาทั่วโลก)   ปีนี้ อิเกีย ซามาร่า เป็นข่าวอีกครั้งเพราะโดนข้อหาขายต้นไม้ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบโดยด่านกักกันพืชของเมือง และถูกปรับเป็นเงิน 1,900 เหรียญ ซึ่งต้นไม้จำนวน 20,000 ต้นที่สต็อคไว้ขายนี้ก็ถูกส่งมาจากสาขาในเมืองมอสโควและเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กนั่นเอง ยิ้มสองมาตรฐาน เดนมาร์กใช้ระบบแสดงผลการตรวจสอบสุขอนามัยของร้านขายอาหาร ด้วยสไมลี่ย์ หรือ “หน้ายิ้ม” ที่เรารู้จักกัน โดยแสดงเป็น 4 หน้า ตั้งแต่ หน้าเบะ (โดนปรับ โดนแจ้งข้อหา หรือถูกถอนใบอนุญาต) หน้าบึ้ง (ถูกห้ามขายชั่วคราว) หน้าอมยิ้ม (เกือบดีแล้ว ปรับปรุงเพียงเล็กน้อย) ไปจนถึงหน้ายิ้มแฉ่ง (ผ่านฉลุย ไม่มีข้อติ) รายงานหน้ายิ้มซึ่งเป็นผลจากการเข้าตรวจโดยไม่แจ้งล่วงหน้า(ปีละ 1 ถึง 3 ครั้ง) ที่ว่านี้จะถูกแสดงไว้ที่หน้าร้านให้ผู้บริโภคมองสามารถเห็นได้ชัดเจน เดนมาร์กใช้ระบบนี้ดูแลเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารมา 13 ปีแล้ว ทั้งกับร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายของชำ ร้านขายขนมอบ รถเข็นขายอาหาร โรงอาหาร ครัวโรงพยาบาล และบ้านพักคนชรา เมื่อ 6 ปีที่ผ่านมาเขาเพิ่มหน้ายิ้มแฉ่งติดโบว์ หรือ “อิลิทสไมลี่ย์” ให้กับร้านที่ได้หน้ายิ้มแฉ่ง 4 ครั้งติดต่อกันด้วย แต่วันนี้ อย. ของเดนมาร์กมีแผนที่จะยกเลิกเจ้าอิลิทสไมลี่ย์ เพราะมันทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าร้านที่ได้สัญลักษณ์นี้สะอาดถูกสุขอนามัยกว่าร้านที่ได้รับหน้ายิ้มแฉ่งเฉยๆ นั่นเอง   จิตตกระหว่างทาง ระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทางไปทำงานในแต่ละวันนั้น มีผลกระทบต่อระดับความสุข และความกังวลของมนุษย์เงินเดือนมิใช่น้อย นี่เป็นผลจากการสำรวจที่สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษทำกับประชากร 60,000 คน เพื่อต้องการเปรียบเทียบสภาพจิตใจของคนที่เดินทางไปทำงานกับคนที่ทำงานอยู่กับบ้าน ในภาพรวมเขาพบว่า “การเดินทาง” นั้นส่งผลในทางลบอย่างเห็นได้ชัดต่อความรู้สึกพึงพอใจในชีวิต และการเห็นคุณค่าในงานที่ทำ นอกจากนี้มันยังมีผลต่อระดับความสุขและความวิตกกังวลด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่ใช้เวลาเดินทางระหว่าง 60 ถึง 90 นาที ต่อเที่ยว และจะยิ่งหนักหนามากขึ้นในกรณีของผู้ที่เดินทางด้วยรถประจำทางหรือแท็กซี่(อย่างหลังนี่เป็นเพราะนั่งนานแล้วจ่ายมากด้วยหรือเปล่าผลสำรวจเขาไม่ได้บอก) คุณอาจจะนึกว่าการขี่จักรยานไปทำงานน่าจะเป็นทางออก  ... แต่ไม่ใช่ เพราะเขาพบว่าระยะเวลาที่ใช้ยังคงส่งผลในทางตรงข้ามต่อผู้ขับขี่จักรยานอยู่ดี ยิ่งปั่นนาน ความสุขก็จะยิ่งน้อยลง(เขาไม่ได้บอกว่าเป็นเพราะเหนื่อยหรือเปล่า) โธ่ ผู้คนของเขายังจิตตกได้ขนาดนี้ทั้งๆ ที่ระบบการขนส่งออกจะก้าวหน้า ถ้าสำนักงานสถิติแห่งชาติบ้านเราทำบ้างสงสัยต้องประกาศให้ทุกคนทำงานอยู่บ้านแน่นอน   อ้วนแล้วหล่อ สำหรับหนุ่มๆ ชาวกัมพูชาแล้ว ถ้าอยากจะดูมีเสน่ห์ก็ขอบอกว่าต้องอวบนิดๆ ช่างเข้าทางกับพฤติกรรมการบริโภคของคนสมัยนี้ที่นิยมรับประทานขนมหวาน น้ำอัดลมและ อาหารขยะมากขึ้นเสียเหลือเกิน ในภาพรวมแล้ว กัมพูชามีสถิติคนเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่นานประเทศเพื่อนบ้านของเราเพิ่งจะได้รับตำแหน่งประเทศที่มีพฤติกรรมการกินที่ส่งเสริมสุขภาพที่สุดในโลกจากองค์การออกซ์แฟม งานวิจัยที่ทำในปี 2010 พบว่าร้อยละ 15.5 ของประชากรกัมพูชามีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน จะว่าไปแล้วกัมพูชาก็ไม่ต่างจากอีกหลายประเทศในโลกที่มีทั้งประชากรที่อดอยากและประชากรที่น้ำหนักเกิน อีกหนึ่ง ภาพสะท้อนว่าระบบอาหารของโลกเราช่างไร้สมดุล และทุกวันนี้จำนวนคนเป็นโรคอ้วนในประเทศกำลังพัฒนาแซงหน้าประเทศพัฒนาแล้วไปถึง 2 เท่าตัว ข่าวจากพนมเปญโพสต์ระบุว่าคนกัมพูชาอวบขึ้น เพราะรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เมื่อผู้คนนิยมเข้ามาทำงานในเมืองกันมากขึ้น วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่เคยต้องลงแรงกับการทำการเกษตรก็เริ่มได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่น้อยลง นอกจากนี้สถิติการนำเข้าขนมหวานสำเร็จรูปและน้ำอัดลมเพิ่มขึ้นหลายเท่าระหว่างปี 2003 ถึง 2008 โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศไทย และร้านอาหารแบบตะวันตกอย่างร้านเบอร์เกอร์จากอเมริกาก็เริ่มมาเปิดกิจการกันมากขึ้นเช่นกัน หยุดตรวจ? งานวิจัยจากแคนาดา ซึ่งเก็บข้อมูลจากผู้หญิง 90,000 คนในช่วงเวลา 25 ปี ระบุว่าอัตราการตายจากมะเร็งเต้านมไม่แตกต่างกันระหว่างผู้หญิงที่เข้ารับการตรวจแมมโมแกรมและผู้หญิงที่ไม่ได้รับการตรวจ นอกจากนี้เขาพบว่าการตรวจอาจส่งผลในทางลบ เพราะ 1 ใน 5 ของมะเร็งที่ตรวจพบโดยแมมโมแกรมและได้รับการรักษาไปแล้วนั้นไม่ได้มีอันตรายและไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ทำคีโม หรือฉายรังสีเลยด้วยซ้ำ แม้จะเป็นที่รู้กันว่ามะเร็งบางชนิดเติบโตช้ามาก หรือไม่โตเลย และไม่จำเป็นต้องรักษา บางชนิดหดหายไปเองได้ด้วย แต่เมื่อมีการตรวจพบเราจะไม่มีทางทราบได้ว่ามันอันตรายหรือไม่ แพทย์จึงต้องทำการรักษาทุกกรณีเพื่อเป็นการปลอดภัยไว้ก่อน ณ ปัจจุบัน สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศเดียวที่เปลี่ยนนโยบายการตรวจแมมโมแกรม โดย Swiss Medical Board ประกาศว่าจะไม่มีการเพิ่มสถานพยาบาลที่จัดการตรวจแมมโมแกรมอีก (ปัจจุบันนี้มี 10 เขต จากทั้งหมด 26 เขต) ส่วนโรงพยาบาลที่มีอยู่แล้วก็กำลังจะยกเลิกในอีกไม่ช้า ทั้งนี้เพราะเห็นว่าแมมโมแกรมไม่ได้ลดอัตราการตายจากมะเร็งเต้านม แต่สร้างความวิตกกังวลที่นำไปสู่การรักษาที่ไม่จำเป็น สถาบันมะเร็งแห่งอเมริกา ซึ่งออกมายืนยันว่าการตรวจดังกล่าวสามารถลดอัตราการตายจากมะเร็งเต้านมได้ถึงร้อยละ 15 สำหรับผู้หญิงในวัย 40 ปี และร้อยละ 20% สำหรับผู้หญิงที่สูงวัยกว่า ก็ประกาศว่าจะพิจารณาปรับเปลี่ยนข้อแนะนำการตรวจแมมโมแกรมสำหรับปีนี้ด้วย   //

อ่านเพิ่มเติม >