ฉบับที่ 167 เมื่อคดีสิ้นสุดแล้ว จำเลยไม่จ่ายก็ต้องยึด(ทรัพย์)

ความสูญเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุรถโดยสารยังมีให้เห็นกันไม่หยุดหย่อน แต่ละเหตุการณ์มีทั้งคนเจ็บคนตาย หลายเรื่องเมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้วก็เงียบไป เพราะอาจจะตกลงกันได้ หรือไม่ติดใจเอาความ แต่อีกหลายเรื่องก็ต้องฟ้องคดีกัน บางคดีต้องใช้เวลานาน ถึงชนะแล้วก็ยังไม่ได้เงินชดเชยเยียวยาก็มี และกรณีนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากของผู้ประสบเหตุที่นอกจากจะต้องสูญเสียคนที่รัก คนที่สำคัญของครอบครัวไปแล้ว กระบวนการยุติธรรม การชดเชยเยียวยาก็ล่าช้า ไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ที่เสียหายเลย...จากกรณีที่ นางสาวภัทราพร ได้โดยสารรถร่วม บขส. ปรับอากาศ ชั้น 2 (ป.2) คันหมายเลขทะเบียน 10-6539 นครราชสีมา เส้นทางสายนครราชสีมา-อุดรธานี-ขอนแก่น-ศรีเชียงใหม่ ที่นายทองใบ ศรีโนรักษ์ เป็นผู้ขับขี่ เพื่อเดินทางไปสมัครงานหลังเรียนจบ แล้วรถเกิดอุบัติเหตุ ยางล้อหลังข้างซ้ายระเบิด ผู้ขับขี่ไม่สามารถบังคับรถให้ทรงตัวอยู่ได้ ทำให้รถเสียหลักตกลงไปในร่องกลางถนน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันที 5 ศพ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากหลังเกิดเหตุ ญาติผู้เสียชีวิตได้เข้าเจรจาไกล่เกลี่ยค่าสินไหมทดแทนจากตัวแทนบริษัท แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ มีการท้าทายถ้าอยากได้มากกว่านี้ให้ไปฟ้องเอา...คดีจึงต้องไปว่ากันที่ศาล โดยนางปุ่น ชุ่มพระ ได้มาขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในการช่วยเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้ และมูลนิธิฯ ได้จัดหาทีมกฎหมายเข้าช่วยเหลือทางคดี โดยฤกษ์ดีวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555  ได้เข้ายื่นฟ้องนายทองใบ ศรีโนรักษ์ ผู้ขับขี่ ,  บริษัท ประหยัดทัวร์, นายอุบล เมโฆ เจ้าของรถ, บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด เป็นคดีผู้บริโภค ฐานผิดสัญญารับ-ส่งคนโดยสาร เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 7,342,249 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเกิดเหตุ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คดีนี้ศาลใช้เวลาพิจารณาคดี 7 เดือน และในวันที่ 26 กันยายน 2555 ศาลชั้นต้นมีพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมชดเชยเงิน 1,370,540 บาท ให้กับนางปุ่น ชุ่มพระ มารดาผู้เสียชีวิต เนื่องจากนายทองใบ ผู้ขับขี่ให้การรับสารภาพในคดีอาญา และถูกพิพากษาว่าขับรถโดยประมาท ต้องรับผิดชอบความเสียหายในทางแพ่งด้วย อีกทั้งพฤติการณ์ของจำเลยขับรถด้วยความประมาท ปราศจากความระมัดระวังด้วยความเร็วสูง เสียหลักออกไปนอกเส้นทางเดินรถ จนไม่สามารถบังคับรถได้ ทำให้รถเสียหลักพลิกคว่ำตะแคงซ้ายอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ตายเสียชีวิตในทันที และเหตุที่เกิดขึ้นไม่ถือว่าเป็นความผิดของผู้ตาย เพราะจำเลยย่อมรู้ว่าสภาพรถไม่ปลอดภัย ควรดูแลรักษาอุปกรณ์ ส่วนควบ ให้อยู่ในสภาพปกติก่อนนำออกใช้ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นความผิดของจำเลยที่ 1, 3 และ 4 ต้องร่วมรับผิดชอบ (ส่วนจำเลยที่ 5 บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด ได้จ่ายค่าสินไหมในระหว่างพิจารณาคดีจนครบตามกรมธรรม์แล้ว จึงมีคำสั่งให้ถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 5 ได้)ผลของคดีเหมือนจะจบลงด้วยดี หากฝ่ายจำเลยยอมรับคำตัดสินของศาล แต่กรณีนี้ไม่ใช่ นายทองใบ ศรีโนรักษ์ จำเลยที่ 1  ผู้ขับขี่ และ บริษัท ขนส่ง จำกัด จำเลยที่ 2 ผู้ให้สัมปทานรถร่วม ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลอุทธรณ์เวลาผ่านไปอีก 22 เดือน นับแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โดยในวันที่ 18 กรกฎาคม 2556 ศาลอุทธรณ์ก็มีคำพิพากษายืนข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้น แต่แก้ในส่วนของค่าเสียหายให้ จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 1,150,540  บาท ของต้นเงินจำนวน 140,540 บาท นับแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาทแทนโจทก์ด้วย ทั้งนี้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้ยื่นขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกา จึงทำให้คดีนี้ถึงที่สุดตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 49 บัญญัติไว้ว่า “ การพิจารณาพิพากษาคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ทั้งนี้ตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาภายใต้การบังคับมาตรา 52 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคและศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคให้เป็นที่สุด ”อ่านกันถึงตรงนี้แล้ว หลายคนคงคิดว่าจำเลยคงยอมจะจ่ายเงินตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์อย่างแน่นอน โดยโจทก์ไม่ต้องรออีกต่อไป แต่ผ่านไปอีก 17 เดือน ฝ่ายจำเลยก็นิ่งเงียบไม่ยอมจ่าย แม้โจทก์จะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อออกคำบังคับและออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ฝ่ายจำเลยก็ยังเงียบกริบเหมือนไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้นดังนั้นในวันที่ 17  พฤศจิกายน 2557 นางปุ่น ชุ่มพระ จึงต้องตัดใจยื่นเรื่องตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีต่อกรมบังคับคดี เพื่อดำเนินการยึดทรัพย์ของจำเลย ชดใช้หนี้ตามคำพิพากษาในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2557  โดยในวันดังกล่าวนางปุ่น ชุ่มพระ พร้อมเจ้าพนักงานบังคับคดี ได้เข้ายึดทรัพย์ บริษัท ขนส่ง จำกัด จำเลยที่ 4 ในคดี เพื่อรับการชำระหนี้จำนวน 1,190,066 บาท ซึ่งบริษัท ขนส่ง จำกัด ก็ยินยอมชำระหนี้เป็นเช็คเงินสดของธนาคารกรุงไทยให้แต่โดยดี แม้จะใช้เวลานานไปบ้างในขั้นตอนการออกเช็คก็ตามนับเป็นการสิ้นสุดคดีความและการรอคอยการจ่ายค่าสินไหม รวมเวลานับแต่เกิดเหตุจนคดีสิ้นสุดได้รับการชำระค่าเสียหายเป็นเวลา 45 เดือน ซึ่งกรณีนี้สะท้อนให้เห็นได้ถึงความล้มเหลวของกระบวนการชดเชยเยียวยาต่อผู้บริโภคที่เสียหาย ที่ต้องรอการพิสูจน์ถูกผิดและใช้เวลานาน โดยจำเลยที่เป็นหน่วยงานรัฐจะไม่ยอมจ่ายค่าเสียหายเลย หากคดีไม่ถึงที่สิ้นสุด รวมถึงความอ่อนแอของขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมและการบังคับคดี เนื่องจากจำเลยยังมีช่องทางเพื่อประวิงเวลาการชดใช้ค่าเสียหายได้มารดาของ นางสาวภัทราพร กล่าวว่า “ดีใจที่เรื่องนี้จบซะที แม้ว่าวันนี้จะไม่ได้ชีวิตลูกสาวกลับคืนมา ซึ่งไม่มีอะไรชดใช้ได้ก็ตาม แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อเกิดเหตุในลักษณะทำนองนี้ นอกจากคนขับแล้ว ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมกันรับผิดชอบด้วย อยากขอให้เป็นบทเรียนให้ทุกฝ่ายระมัดระวัง โดยเฉพาะเจ้าของรถก่อนจะออกจากสถานีก็ควรตรวจสอบรถโดยสารให้มีสภาพพร้อมใช้งาน เพราะชีวิตของผู้โดยสารฝากไว้ที่คุณแล้ว ดิฉันมีลูกแค่คนเดียว ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังทำใจไม่ได้เพราะลูกคือความหวังของชีวิต”  

อ่านเพิ่มเติม >