ฉบับที่ 181 เจ็บป่วยฉุกเฉิน ยังคงต้องสำรองจ่าย

แม้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะมีนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน” ที่ให้ผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารับการรักษา ในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทุกแห่งโดยไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้า ซึ่งประกาศไปเมื่อปี 2555 แต่ก็ยังเกิดปัญหาผู้ป่วยฉุกเฉินบางราย ไม่สามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้ ดังกรณีของผู้ร้องรายนี้สามีของผู้ร้องเป็นโรคหัวใจ ซึ่งขณะที่กำลังเดินทางอยู่บนสถานีรถไฟฟ้าก็เกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลัน ทำให้หมดสติ ต่อมาจึงได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยกู้ชีพ นำส่งไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดในขณะนั้นคือ โรงพยาบาลพระราม 9 แต่ภายหลังเข้ารับการรักษา สามีของเธอก็ได้เสียชีวิตลง อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ไม่ได้จบแค่นั้น เมื่อทางโรงพยาบาลให้วางเงินมัดจำนวนเกือบ 80,000 บาท เป็นค่ารักษาพยาบาล แม้ผู้ร้องจะแจ้งว่าขอใช้สิทธิผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่ก็ได้รับคำตอบว่าให้เบิกคืนได้ที่กองทุนฉุกเฉิน เธอจึงต้องระดมหาเงินจำนวนดังกล่าวมาให้กับโรงพยาบาล ภายหลังจ่ายเงินเรียบร้อย เธอจึงไปติดต่อเบิกเงินคืนจาก สปสช. ซึ่งได้คืนประมาณ 19,000 บาท ส่วนที่เหลือกองทุนแจ้งว่า ต้องไปทำเรื่องขอความอนุเคราะห์เบิกกับที่โรงพยาบาลดังกล่าวแทน ดังนั้นเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ผู้ร้องจึงขอความช่วยเหลือมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องต้องการทราบว่าจะได้รับเงินที่จ่ายไปแล้วคืนหรือไม่ ศูนย์ฯ จึงช่วยทำหนังสือประสานงานไปยัง สปสช. และโรงพยาบาลดังกล่าว โดยอ้างตามสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินตามนโยบายรัฐบาล ภายหลังทางโรงพยาบาลยินยอมที่จะไม่เรียกเก็บเงิน พร้อมคืนเงินส่วนต่างทั้งหมดให้ ดังนั้นแนวทางสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินรายอื่นๆ ที่ไม่ต้องการเสียเงินเมื่อเข้ารับการรักษา มีดังนี้1. หากเลือกโรงพยาบาลได้ควรเป็นของรัฐ เพราะเจรจาต่อรองได้ง่ายกว่าเมื่อเกิดปัญหา2. ยื่นบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ป่วย (ถ้ามี) พร้อมแจ้งการขอใช้สิทธิฉุกเฉินกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ซึ่งสำหรับการวินิจฉัยว่าเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือไม่ แพทย์จะพิจาณาตามข้อบ่งชี้ ดังนี้ - โรคหรืออาการของโรคที่มีลักษณะรุนแรงอันอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายต่อผู้อื่น- โรคหรืออาการของโรคที่มีลักษณะรุนแรง ต้องรักษาเป็นการเร่งด่วน- โรคที่ต้องผ่าตัดด่วน หากปล่อยไว้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต- โรคหรือลักษณะอาการของโรคที่คณะกรรมการกำหนด- ความดันโลหิต ชีพจร อาการของโรค การวินิจฉัยโรค แนวทางการรักษาและความเร่งด่วน ในการรักษารวมทั้งคำนึงถึงการรับรู้ของผู้รับบริการที่มีต่อการป่วยด้วย3. หากโรงพยาบาลเรียกเก็บเงิน ต้องยืนยันการใช้สิทธิฉุกเฉิน โดยอ้างสิทธิตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งหากเจรจาตกลงกันไม่ได้ ควรแจ้งเรื่องที่สายด่วน สปสช. (โทรฟรี) 1330 4. เมื่อแพทย์แจ้งว่าผู้ป่วยพ้นวิกฤตและสามารถเคลื่อนย้ายได้แล้ว ให้ประสานโรงพยาบาลตามสิทธิเพื่อย้ายผู้ป่วยเข้ารับการรักษาต่อเนื่องอ้างอิงข้อมูล: สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ http://www.nhso.go.th/FrontEnd/page-forpeople_useuc.aspx#b และ http://indyconsumers.org/main/index.php/information/handbook/health-service-157/168-571028016  

อ่านเพิ่มเติม >