ฉบับที่ 128 รถไฟไทยกับสิทธิของผู้โดยสาร

  ทุกคนมีสิทธิฉบับนี้พาคุณนั่งรถไฟไปย้อนรำลึกเหตุการณ์อุบัติเหตุ รถไฟตกราง โดยขบวนรถด่วนที่ 84 ตรัง – กรุงเทพ ตกรางที่สถานีเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 มีผู้เสียชีวิต 7 ราย และบาดเจ็บ 88 ราย นับเป็นเหตุการณ์ที่ทุกคนไม่คาดฝัน และไม่น่าจะเกิดขึ้น   สาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สรส.ร.ฟ.ท.) ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการรถไฟไทยมากว่า 29 ปี จะช่วยไขปริศนาที่ว่า ทำไมรถไฟไทยทำไมถึงไม่พัฒนา และควรจะยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยกันอย่างไร   รถไฟไทยทำไมไม่พัฒนา ในภูมิภาคเอเชีย ประเทศไทยเรามีรถไฟใช้เป็นประเทศแรกและเป็นรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการด้านการโดยสารและสินค้าตามพระราชบัญญัติการรถไฟฯ พ.ศ. 2494 แต่ปัจจุบันลองไปดูประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียก็จะเห็นว่าไทยเราล้าหลังที่สุดในขบวนการพัฒนา ต่อประเด็นนี้สาวิทย์ มองว่า  ผมก็คิดว่าในสถานการณ์แบบนี้ภาคส่วนต่างๆ จำเป็นต้องหันมาดู โดยเฉพาะรัฐบาล เพราะที่ผ่านมา 115 ปี รถไฟไทยนั้น ก็อย่างที่เห็นว่าสภาพรถเก่า(มาก)  ขาดการเหลียวแล ทั้งเรื่องงบประมาณและนโยบายของรัฐบาล อันนี้ก็เป็นปัญหาอุปสรรคในการพัฒนารถไฟ ทั้งที่รถไฟต้องทำหน้าที่บริการขนส่งสาธารณะที่สำคัญของประเทศ ต้องสร้างความมั่นใจแก่ผู้โดยสารว่า จะถึงที่หมายปลายทางอย่างปลอดภัย และต้องมีหัวรถจักรที่ลากจูงขบวนรถที่มีสภาพที่สมบูรณ์ 100 % ถ้าดูจากกรณีการเกิดอุบัติเหตุที่สถานีเขาเต่า สาเหตุที่หนึ่งก็คือเรื่องบุคลากร คือคนขับรถไฟ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญ  ปัจจุบันเราขาดแคลนมากๆ เพราะมีมติ ครม.ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค. 41 กำหนดว่าพนักงานรถไฟที่เกษียณออกไปให้รับใหม่ไม่เกิน 5 % ของผู้เกษียณอายุ ซึ่งในปีหนึ่งๆ มีคนเกษียณประมาณ 300 – 400 คน นั่นก็เท่ากับว่าปีหนึ่งเรารับคนได้แค่ 20 คนเท่านั้นเอง ทำให้บุคลากรน้อยลง แต่ความต้องการของพี่น้องประชาชนก็ยังคงมีอยู่มาก ก็เลยจำเป็นที่จะต้องทำงานในชั่วโมงที่ยาวนาน แล้วก็ไม่มีวันหยุด นั่นก็เป็นด้านหนึ่งที่ทำให้พนักงานทั้งคู่ของขบวนที่ 84 ตอนนั้น วูบหลับไป เราพบว่าใน 1 เดือน พนักงานขับรถได้พักผ่อนแค่วันเดียว  สาเหตุที่สองก็คือเรื่องอุปกรณ์ความปลอดภัย ซึ่งถือว่าสำคัญมาก สหภาพฯ หยิบขึ้นมารณรงค์กันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในห้องบังคับจะมีระบบความปลอดภัยป้องกันพนักงานหลับหรือหมดสติ เรียกว่าระบบ Vigilance   ซึ่งระบบนี้จะทำงานตลอดเวลาจะอยู่ที่เท้าของพนักงาน และต้องใช้เท้าเหยียบทุกๆ 8 วินาที ถ้าไม่เหยียบก็จะส่งเสียงสัญญาณเตือน ถ้าหากไม่มีการตอบโต้ต่อสัญญาณเตือนภายใน 120 วินาที ระบบความปลอดภัยก็จะเริ่มลดกำลังไฟลงที่เรียกว่าระบบ Deadman ระบบห้ามล้อก็จะทำงานและขบวนรถก็จะหยุดในที่สุด แต่ระบบความปลอดภัยของรถไฟขบวนที่ 84 ปี 2552 มันใช้การไม่ได้  อีกสาเหตุหนึ่งก็คือซีนยางของประตูห้องเครื่องกับห้องคนขับมันรั่ว ก็เป็นไปได้ที่ควันไอเสียเข้ามาแล้วทำให้พนักงานดมควันเข้าไปแล้วหมดสติ   ทางออกเรื่องการพัฒนาความปลอดภัยสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟ ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อการรถไฟ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต รวมทั้งปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของการรถไฟ โดยการรถไฟต้องเร่งจัดซ่อมอุปกรณ์ต่างๆ บนรถจักร รถพ่วง ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ก่อนนำรถออกไปวิ่งและต้องมีระบบ Vigilance และ Deadman ที่ใช้งานได้ เพราะถ้ายังปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป แนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุแบบนี้ก็จะเกิดขึ้นอีก และไม่เกิดผลดีกับใครเลยไม่ว่าจะเป็นการรถไฟที่จะต้องสูญเสียทรัพย์สิน ซึ่งเกิดจากภาษีอากรของพี่น้องประชาชน แต่ที่สำคัญมากไปกว่านั้นก็คือ เราไม่ต้องการให้ประชาชนต้องไปสุ่มเสี่ยงกับการเดินรถที่ไม่ปลอดภัย เหมือนการเกิดอุบัติเหตุที่สถานีรถไฟเขาเต่าอีก ซึ่งถือเป็นอุบัติเหตุร้ายแรงในช่วง 30 ปีของการรถไฟเลยทีเดียว อีกทางหนึ่งในการพัฒนาความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค ได้แก่ ผู้โดยสารควรได้รับความคุ้มครองในการเดินทาง มีระดับมาตรฐานความปลอดภัย คุ้มครองชีวิตและทรัพย์สิน รัฐบาลควรกำหนดนโยบายให้การรถไฟจัดตั้งสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการรถไฟขึ้นมา โดยมีบทบาทในการกำกับดูแลมาตรฐานการบริการสาธารณะ  และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการความปลอดภัยของการรถไฟด้วย   จริงๆ แล้วการขนส่งทางราง เป็นการขนส่งที่ปลอดภัยสูงสุด ถ้าหากเราสนับสนุนกันจริงจัง และส่งเสริมให้เกิดการขนส่งกันทางรางในแง่เศรษฐกิจเราจะสูญเสียน้อยที่สุด   การเยียวยา ค่าชดเชยที่ไม่ตายตัวด้วยหลักเกณฑ์การเสียชีวิตการบาดเจ็บ เราเองไม่ต้องการให้เกิดขึ้นและมองว่าการชดเชยเยียวยาเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะการชดเชยไม่ว่าจำนวนเท่าไรมันก็ไม่เพียงพอสำหรับความสูญเสียที่ต้องเสียไป เพราะว่าชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งมันชดใช้ด้วยเงินแค่ สองสามแสนบาท ไม่ได้ มันไม่สามารถที่จะไปทดแทนชีวิตคนได้หรอก เพราะว่าถ้าเขามีชีวิตอยู่ ก็มีโอกาสที่จะเอื้อชีวิตให้กับครอบครัว  ต่อชุมชนเยอะแยะมากมาย  ในแง่ของจำนวนเงินบางครั้งมันอาจจะช่วยเยียวยาช่วยเหลือได้บางส่วนก็จริง แต่การชดเชยเยียวยา ไม่ควรไปมองแค่การกำหนดตามหลักเกณฑ์ ระเบียบ แต่ควรดูว่า อายุ ครอบครัว ฐานะ กับสิ่งที่เขาจะมีจะได้ถ้ามีชีวิตอยู่เขาสามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้ครอบครัวสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ ไม่ใช่มองว่าตามระเบียบ ตามเกณฑ์กำหนดไว้แค่นี้ ก็ชดเชยแค่นี้ ผมว่าเรื่องแบบนี้ไม่ถูกต้อง บ้านเราเรื่องความปลอดภัยเหมือนเป็นเรื่องที่ห่างไกลและเบาบางมาก ในขณะที่บ้านเราทุ่มงบประมาณเรื่องความปลอดภัยจำนวนมาก อย่างการให้สวมหมวกนิรภัย มีการรณรงค์ “คมนาคมปลอดภัย สังคมไทยเป็นสุข” มันก็ถือเป็นการดีนะที่มีการรณรงค์และให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัย แต่ถึงอย่างไรเทศกาลทีไรก็มีคนตาย คนบาดเจ็บไม่ต่ำกว่าพันราย ซึ่งนั่นเป็นโจทย์สำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาช่วยกันในการกำหนดมาตรการ โดยเฉพาะเรื่องการขนส่งทางราง ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นการขนส่งที่ปลอดภัยสูงสุด ถ้าหากเราสนับสนุนกันจริงจัง และส่งเสริมให้เกิดการขนส่งกันทางรางในแง่เศรษฐกิจเราจะสูญเสียน้อยที่สุด  การขนส่งบ้านเราถือว่าน่ากลัวนะ อย่างการใช้รถตู้ขนส่งผู้โดยสารระหว่างจังหวัดจะมีคนขับรถเพียงแค่คนเดียวอย่างกรุงเทพฯ -หัวหิน หรือ กรุงเทพฯ  – นครสวรรค์ แล้ววิ่งทำรอบกัน แล้วรถตู้เหล่านั้นก็ออกแบบใช่ว่าจะแน่นหนา พอเกิดอุบัติเหตุทีไรก็เกิดความสูญเสียที่ไม่คาดฝัน แทนที่จะนำเงินจำนวนนั้นมาพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะให้มันดีกว่าที่เป็นอยู่   องค์การอิสระผู้บริโภคจะมีประโยชน์ไหมต่อการพัฒนารถไฟไทยองค์การอิสระฯ ปัจจุบันมีหลายองค์กรนะ ผมคิดว่าต้องทำให้เกิดได้จริง ในแง่ของความเป็นอิสระ และเห็นด้วยในเชิงหลักการ แต่ก็ยังเป็นกังวลว่า ทำอย่างไรจะไม่ถูกครอบงำ จะไม่ถูกแทรกแซง แล้วประชาชนจะมีอิสระในการบริหารจัดการได้อย่างไร  และองค์การอิสระฯ นี้จะมีอำนาจได้อย่างไร  อย่างเช่น อุบัติเหตุที่เขาเต่า เราจะมีอำนาจบังคับการรถไฟได้อย่างไรว่า รถที่ไม่มีความปลอดภัยไม่ให้นำมาวิ่งรับส่งประชาชน ซึ่งอำนาจตรงนี้เรา(องค์การอิสระฯ)ต้องสามารถกำหนดได้ เมื่อตอนที่ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดอุบัติเหตุครั้งนั้นยื่นฟ้องศาลแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายและขอให้ศาลออกคำสั่งไม่ให้การรถไฟนำรถไม่ปลอดภัยออกมาวิ่งให้บริการกับผู้โดยสาร ศาลท่านบอกว่าในชั้นศาลแพ่งศาลไม่มีอำนาจในการบังคับได้  เพราะฉะนั้นองค์การอิสระฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้นต้องมีอำนาจในการสั่งการด้วยเพราะเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น  ไม่งั้นก็จะเหมือนองค์การอิสระอื่นๆ ที่ให้ความเห็น แต่ไม่มีอำนาจในการบังคับและสั่งการ  อีกอย่างคือ ต้องมีอำนาจในการบริหารจัดการโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน และไม่มีอำนาจอะไรมาแทรกแซง ที่สำคัญคือต้องวางโครงสร้างดีๆ และต้องสร้างกระบวนการรับรู้ให้กับประชาชนด้วยจะได้เคลื่อนไปพร้อมๆ กัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point