ฉบับที่ 141 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2555 ระวัง! “ทิ้นท์” ไม่ได้มาตรฐานทำปากพัง คงไม่ใช่เรื่องผิดถ้าสาวๆ จะรักสวยรักงาม เพราะใครๆ ก็อยากดูดี แต่เวลาจะแต่งหน้าทำผมทั้งทีเครื่องสำอางที่จะใช้ก็ต้องใส่ใจเลือกให้ดี เพราะถ้าใช้ของไม่ดีไม่มีคุณภาพไม่ผ่านมาตรฐาน ผลลัพธ์ไม่ใช่แค่แต่งออกมาแล้วไม่สวย แต่อาจต้องเจ็บป่วยด้วยโรคที่แถมมากับเครื่องสำอาง อย่างล่าสุดคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกมาเตือนถึงอันตรายของ “ทิ้นท์” เครื่องสำอางที่มีลักษณะเป็นเจลน้ำสีแดง ที่ใช้สำหรับทาบริเวณริมฝีปากเพื่อให้ริมฝีปากมีสีแดงอมชมพู ดูน่ารักสวยงาม ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มสาวๆ วัยรุ่น โดยส่วนใหญ่จะหาซื้อกันตามร้านค้าแผงลอยตามตลาดนัดทั่วไป ทาง อย. จึงเป็นห่วงผลิตภัณฑ์ที่วางขายตามท้องตลาดทั่วไปนั้น อาจเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน สีที่ใช้ในทิ้นท์อาจเป็นสีที่ห้ามใช้หรือมีส่วนผสมของสารอันตราย เช่น ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม ซึ่งเป็นโลหะหนัก หากสารเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากอาจมีผลทำให้รู้สึกระคายเคืองอย่างรุนแรง อาการคลื่นไส้อาเจียน ตาพร่ามัว หรือถ้าใครที่แพ้อย่างรุนแรงอาจมีอาการปวดแสบปวดร้อนที่ริมฝีปาก เกิดอาการคัน บวม แดง ผิวหนังลอกเป็นขุย   อย. จึงฝากเตือนสาวๆ ที่อยากใช้ทิ้นท์ช่วยเพิ่มสีสันให้ริมฝีปาก ต้องไม่ลืมอ่านฉลากบนผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจ ซึ่งเครื่องสำอางที่ได้รับมาตรฐานจะต้องแสดง ชื่อเครื่องสำอาง ชนิดของเครื่องสำอาง ชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง วิธีใช้เครื่องสำอาง ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ปริมาณสุทธิ วัน เดือน ปี ที่ผลิตและหมดอายุ ในกรณีที่เครื่องสำอางมีอายุการใช้น้อยกว่า 30 เดือน คำเตือน และที่สำคัญต้องแสดงเลขที่ใบรับแจ้งบนฉลากหรือกล่องผลิตภัณฑ์ -------------------------------------------------------------   เมื่อ “สารส้ม” ปนเปื้อนอลูมิเนียม “สารส้ม” ถือเป็นของคู่บ้านคนไทยเรามาอย่างยาวนาน หลายๆ ครอบครัวใช้สารส้มแกว่งในน้ำกินน้ำใช้เพื่อให้ตกตะกอน โดยเฉพาะในพื้นที่กันดารห่างไกลซึ่งระบบน้ำประปาน้ำสะอาดยังเข้าไม่ถึง แต่สารส้มแม้จะมีคุณประโยชน์ช่วยทำให้น้ำใสน่ากินน่าใช้แต่ก็ต้องรู้จักใช้อย่างพอดี เพราะล่าสุดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการสุ่มตรวจสารส้มพบว่ามีการปนเปื้อนของอะลูมิเนียมเกินกว่าที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 135 (พ.ศ.2534) เรื่อง น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท กำหนดให้มีอะลูมิเนียมได้ไม่เกิน 0.2 มิลลิกรัมต่อน้ำบริโภค 1 ลิตร แต่จากการที่กลุ่มงานพิษวิทยา ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 9 พิษณุโลก ได้เฝ้าระวังอะลูมิเนียมในน้ำบริโภคหลังจากเกิดอุทกภัยในเขตจังหวัดพิษณุโลก ได้แก่ อำเภอพรหมพิราม อำเภอบางกระทุ่ม อำเภอบางระกำ และอำเภอเมือง พบการปนเปื้อนของอะลูมิเนียมเข้มข้นถึง 0.06 – 0.42 มิลลิกรัมต่อลิตรถึง 7 ตัวอย่าง ซึ่งสาเหตุสำคัญของการปนเปื้อนอาจมาจากการเติมสารส้ม เพื่อทำให้น้ำใสแต่มิได้มีการควบคุมปริมาณให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย อะลูมิเนียมที่เข้าสู่ร่างกายบางส่วนจะถูกดูดซึมแพร่กระจายผ่านทางระบบเลือดไปยังปอด ตับ กระดูก และสมอง และถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะผ่านไต ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลกับการทำงานของไต และหากบริโภคน้ำที่มีปริมาณอะลูมิเนียมสูงเป็นเวลานานจะส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาท และเป็นสาเหตุของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งขณะนี้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งศึกษาถึงปริมาณและวิธีการใช้สารส้มที่เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้ -------------------------------------------------   “ปลาดุกย่าง” แชมป์ของย่างเสี่ยงมะเร็ง ใครที่ชอบทานอาหารปิ้งย่างฟังทางนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รายงานผลการสุ่มสำรวจการปนเปื้อนของสารเคมีในอาหารปิ้งย่าง โดยสารที่ตรวจวิเคราะห์เป็นกลุ่มสารก่อมะเร็ง เช่น สารเบนโซเอไพรีน เป็นสารประกอบในกลุ่มโพลีไซคลิก อะโรเมติก ไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นกลุ่มสารเคมีที่มีมากกว่า 100 ชนิด ที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์หรือการสลายทางเคมีของสารอินทรีย์โดยความร้อน แต่เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษเฉียบพลันต่ำ แม้จะมีการทดลองพบว่าสารนี้มีผลก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง แต่ยังไม่พบข้อมูลที่เพียงพอว่าจะทำให้ก่อมะเร็งในคน สำหรับตัวอย่างอาหารที่นำมาวิเคราะห์ได้แก่ ไก่ย่าง ปลาดุกย่าง และหมูปิ้ง โดยเก็บตัวอย่างจากตลาดสดใน กทม.42 แห่ง รวม 101 ตัวอย่าง ซึ่งพบการปนเปื้อนมากที่สุดในตัวอย่างปลาดุกย่าง เฉลี่ยพบการปนเปื้อนอยู่ที่ 0.5-3.2 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม จากทั้งหมด 36 ตัวอย่าง รองลงมาคือ หมูปิ้ง 30 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อน 0.3-1.3 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ตามด้วยไก่ย่าง 35 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนอยู่ที่ 0.5-0.7 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งปริมาณสารที่พบยังถือว่ามีค่าต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ประกาศในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ที่กำหนดไว้ 5 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม แต่เพื่อความปลอดภัยในการทานอาหารปิ้งย่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ฝากถึงผู้จำหน่ายอาหารปิ้งย่างไม่ควรใช้ไฟแรงและใช้เวลาในการปิ้งย่างนานเกินไป ควรตัดแต่งอาหารส่วนที่ไหม้เกรียมออก ส่วนผู้บริโภคก่อนรับประทานควรตัดส่วนที่ไหม้เกรียมออกไป หลีกเลี่ยงส่วนไหม้เกรียมมากๆ เพราะสัมผัสไฟโดยตรง เช่น หนังหรือชิ้นส่วนติดมัน ----------------------------------------------------- คุมเข้มโรงเรียนกวดวิชา ในยุคที่โรงเรียนกวดวิชาถูกประเมินค่าความสำคัญไม่ต่างจากการเรียนในโรงเรียนปกติทั่วไป ทำให้เราได้เห็นโรงเรียนกวดวิชาผุดขึ้นมากมายเป็นดอกเห็ด ซึ่งทำให้มีโรงเรียนกวดวิชาจำนวนมากที่ไม่ได้มาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการ และหลายแห่งใช้การโฆษณาเกินจริงเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จึงต้องออกมาทำหน้าที่ปกป้องผู้บริโภค เร่งจัดระเบียบโรงเรียนกวดวิชา จากการตรวจสอบของทาง สคบ. พบว่าปัจจุบันมีสถาบันกวดวิชาเปิดสอนทั่วประเทศมากกว่า 10,000 แห่ง ซึ่งผู้บริโภคจำนวนมากมักตัดสินใจเลือกใช้บริการโรงเรียนกวดวิชาจากชื่อเสียงและคำโฆษณา โดยไม่ได้มีการตรวจสอบข้อมูลอื่นๆ ที่สำคัญ สคบ. จึงฝากแนะนำนักเรียนและผู้ปกครองที่กำลังมองหาโรงเรียนกวดวิชาต้องไม่ลืมตรวจสอบข้อมูลสำคัญต่อไปนี้ 1.ต้องมีการขออนุญาตจากกระทรวงศึกษา 2.ต้องจัดห้องเรียนให้ครบกับหลักสูตรและรายวิชาตามที่ขออนุญาต 3.สถานที่ต้องไม่แออัด มีความกว้างขวางเพียงพอกับจำนวนนักเรียน คือประมาณ 1.50 เมตร ต่อนักเรียน 1 คน 4.ต้องมีสภาพแวดล้อมที่ถูกสุขอนามัย มีการดูแลรักษาความปลอดภัยที่ดี ไม่ต้องอยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรมที่อาจเกิดอันตรายใดๆ กับกิจกรรมต่างๆ โรงเรียน 5.ห้ามให้สถานที่ตั้งโรงเรียนเอกชนสามัญศึกษาเป็นสถานที่เปิดสอนกวดวิชา 6.ต้องจัดให้มีสื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอนและบริการอื่นๆ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนกำหนด และ 7.ผู้สอนต้องมีคุณสมบัติตามที่กระทรวงศึกษากำหนด ใครที่ได้รับความเสียหายจากการใช้บริการโรงเรียนกวดวิชาหรือพบเห็นโรงเรียนกวดวิชาที่มีการใช้คำโฆษณาอวดอ้างเกินจริง สามารถแจ้งข้อมูลไปได้ที่สายด่วน สคบ. 1166 --------------------------------------------------------------------------------------------   “กะปิ” มีสีมีเสี่ยง “กะปิ” ถือเป็นส่วนประกอบที่ทำให้อาหารไทยหลากหลายเมนูมีรสชาติอร่อยถูกปากถูกใจ แต่จากนี้ไปต้องระวังให้ดี เพราะกะปิธรรมดาๆ ก็อาจไม่ปลอดภัยกับสุขภาพของเรา เมื่อศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1 จ.ตรัง ได้นำเสนอผลการสุ่มตรวจตัวอย่างกะปิจากจังหวัดกระบี่ ตรัง ระนอง รวม 88 ตัวอย่าง พบว่ามีการใส่สีลงไปในกะปิถึง 52 ตัวอย่าง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นสีที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในอาหารถึง 49 ตัวอย่าง โดยพบสีที่เป็นอันตรายอย่าง สีโรดามีน บี ที่หากสะสมในร่างกาย อาจทำให้เกิดผื่นที่ผิวหนัง หน้าบวม อาเจียน และอาจส่งผลทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการชา อ่อนแรงคล้ายเป็นอัมพาต ตับ ไต และระบบทางเดินอาหาร นอกจากนี้ยังมีการตรวจในเรื่องของคุณภาพด้านจุลินทรีย์ ซึ่งไม่พบการปนเปื้อนเชื้อสเตปโตคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) แต่พบการปนเปื้อนเชื้อคลอสทริเดียม เพอร์ฟิงเจน (Clostridium perfringens) ร้อยละ 3.48 แต่อยู่ในระดับปลอดภัย เพราะฉะนั้นเวลาที่จะไปเลือกซื้อกะปิครั้งต่อไป อย่าลืมเลือกกะปิที่สีสันไม่ฉูดฉาด จะได้ปลอดภัยจากสารเคมี

อ่านเพิ่มเติม >