ฉบับที่ 253 ลูกตาย พ่อทำสัญญายอมกับคนทำละเมิดแล้ว แม่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายได้อีกหรือไม่

        อย่างที่ทุกท่านทราบว่าความสัมพันธ์ของคนที่ยินยอมตกลงจดทะเบียนสมรสเป็นสามีภรรยากัน อยู่กินเป็นครอบครัวเดียวกัน กฎหมายไทยกำหนดสิทธิและหน้าที่ของสามีภรรยาที่ต้องรับผิดรับชอบร่วมกัน ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ก็เป็นสินสมรส  แต่ในบางเรื่องกฎหมายก็ให้ความคุ้มครองแต่ละคนไว้เป็นการเฉพาะ เช่นในกรณีที่มีคนทำละเมิดให้บุตรถึงแก่ความตาย เช่นนี้ตามกฎหมายให้สิทธิผู้เป็นบิดาและมารดาสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้  ซึ่งค่าเสียหายส่วนนี้ก็รวมถึง “ค่าขาดไร้อุปการะ” ที่กฎหมายกำหนดให้เป็นค่าสินไหมทดแทนกรณีที่ผู้ที่มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องอุปการะเลี้ยงดูต่อกัน ได้แก่ บิดามารดาต้องเลี้ยงดูบุตร และบุตรก็มีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูบิดามารดา การที่มีคนมาทำละเมิดทำให้บุตรตาย ทำให้บิดามารดาขาดคนอุปการะเลี้ยงดู เช่นนี้ ศาลก็ให้ผู้เป็นบิดามารดาเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้จากคนทำละเมิดต่อบุตรของตนได้  อย่างไรก็ดี ก็เกิดประเด็นน่าสนใจว่า หากบิดาได้ไปฟ้องคดีเอง โดยมารดาไม่รู้ แล้วบิดาก็ไปตกลงทำบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความแล้ว และมีข้อตกลงจะไม่ติดใจฟ้องร้องกันอีก เช่นนี้จะมีผลอย่างไร          เรื่องนี้ได้มีคดีเกิดขึ้นจริง และไปถึงศาลฏีกา จนที่สุดศาลฏีกาก็ได้มีคำพิพากษาวางแนวตัดสินคุ้มครองมารดามีสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหาย รวมถึงค่าขาดไร้อุปการะนี้ด้วย เพราะศาลเห็นว่า สิทธิในการเรียก “ค่าขาดไร้อุปการะ” เป็นสิทธิเฉพาะตัวของแต่ละคน มิใช่เป็นสิทธิร่วมกันที่กฎหมายกำหนดให้บิดาหรือมารดาคนหนึ่งคนใดสามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้เพียงคนเดียว         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20920/2556         สิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะของ ส. และของโจทก์ซึ่งเป็นบิดาและมารดาของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคท้าย ถือเป็นสิทธิเฉพาะตัว มิใช่เป็นสิทธิร่วมกันที่กฎหมายกำหนดให้บิดาหรือมารดาคนหนึ่งคนใดสามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้เพียงคนเดียว เมื่อโจทก์มิได้มอบอำนาจให้ ส. ทำแทนโจทก์ การที่ ส. บิดาผู้ตาย ทำบันทึกข้อตกลงกับ ท. พนักงานขับรถของจำเลยจากการที่ ท. ทำละเมิดต่อผู้ตายและต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าจะไม่นำคดีไปฟ้องร้องไม่ว่าทางแพ่งหรือทางอาญา อันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 มีผลทำให้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจาก ท. และจำเลย ระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 จึงไม่ผูกพันโจทก์ สิทธิของโจทก์จึงไม่ระงับสิ้นไป โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยได้         นอกจากนี้  “ค่าขาดไร้อุปการะ” เป็นสิทธิตามกฎหมาย โดยไม่ต้องพิจารณาว่า ในความเป็นจริงบุตรนั้นได้เลี้ยงดูบิดามารดาจริงหรือไม่  ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5553/2562         ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1563 บัญญัติไว้ว่า บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา การที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดเป็นเหตุให้บุตรของโจทก์ทั้งสองตาย ถือว่าโจทก์ทั้งสองขาดไร้อุปการะตามกฎหมายจากบุตร โจทก์ทั้งสองจึงชอบที่จะได้รับค่าขาดไร้อุปการะทั้งในปัจจุบันและความหวังในอนาคตโดยผลแห่งกฎหมาย โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าขณะเกิดเหตุหรือในอนาคตผู้ตายจะได้อุปการะโจทก์ทั้งสองจริงหรือไม่ และเป็นจำนวนเท่าใด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 อกเกือบหักแอบรักคุณสามี : เพราะผู้หญิง...แซ่บจริงไม่มโน

        ว่ากันว่า เบื้องหลังความสำเร็จของบุรุษเพศมักมีเงาของผู้หญิงคอยผลักดันและต่อสู้อยู่ข้างหลังเสมอ และด้วยตรรกะดังกล่าวนี้ ละครโทรทัศน์อย่าง “อกเกือบหักแอบรักคุณสามี” ที่ดูผิวเผินเหมือนจะเป็นเรื่องเล่ากุ๊กกิ๊กโรแมนติกหวานแหวว แต่ลึกลงไปกว่านั้น ละครได้ให้คำตอบที่น่าขบคิดว่า ผู้หญิงผู้ชายได้จัดวางความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างกันและกันไว้เช่นไร         โครงเรื่องของละครเริ่มต้นด้วยเสียงก้องในห้วงความคิดของ “เมย” หรือ “นทีริน” นางเอกของเรื่อง ที่สะท้อนทัศนะอันลุ่มลึกแห่งปรัชญาเหตุผลนิยมที่ก่อตัวมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ว่า “ทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ไม่ใช่เหตุบังเอิญ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมีเหตุผลของมันเสมอ”          เพราะฉะนั้น การที่เมยได้มาประสบพบเจอกับพระเอกหนุ่ม “เธียร” หรือ “เธียรวัฒน์” เธอได้ตกหลุมรักเขาตั้งแต่เป็นน้องรหัสสมัยเรียนมัธยม ได้เข้ามาอาศัยอยู่เป็น “น้องสาวนอกไส้” ในบ้านของพี่เธียร จนถึงมีความจำเป็นที่ทั้งคู่ต้องลงเอยได้แต่งงานกันกันนั้น ก็หาใช่ด้วย “เหตุบังเอิญ” ในชีวิตไม่ แต่เป็นเพราะด้วย “เหตุผล” บางอย่างที่เข้ามากำหนดความเป็นไปในชีวิตของชายหนุ่มหญิงสาวต่างหาก         หากคิดตามหลักพุทธศาสนา เหตุผลที่คนสองคนได้มาพบกันและตกลงแต่งงานเป็นสามีภรรยากัน ก็มักมาจากเงื่อนไขเรื่องกรรมที่ทำร่วมกันมาแต่ปางก่อน แต่ทว่าละครหาได้ยืนยันในเหตุแห่งกรรมไม่ หากแต่ใช้คำอธิบายเหตุผลจากการจัดวางความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเพศมาเป็นแกนหลักมากกว่า         ในสนามรบระหว่างเพศหญิงชายนั้น โดยปกติแล้ว ตัวละครหนุ่มหล่อเลือกได้ มีการศึกษาดี ฐานะร่ำรวย และเลิศเลอเพอร์เฟ็คแบบเธียรวัฒน์ ที่คอยถอดเสื้อโชว์ซิกซ์แพ็คเพื่อ “คืนกำไร” ให้แก่ผู้ชมอยู่เนืองๆ นั้น มักถูกวาดให้เป็นตัวแทนของ “ชายในฝัน” ที่สตรีทั้งหลายมุ่งมาดหมายตาให้มาเป็น “สามีในจินตนาการ”        และเพราะเป็น “สามีในฝัน” เยี่ยงนี้เอง บุรุษเพศที่สมบูรณ์แบบก็มักจะมีอหังการบางอย่างซึ่งเชื่อว่า ตนคือผู้มีอำนาจคุมเกมความสัมพันธ์กับผู้หญิงทั้งมวลให้ “อกเกือบหักที่มาแอบรักเขา” ได้ ยิ่งเมื่อเธียรวัฒน์ดำเนินอาชีพเป็นสถาปนิกด้วยแล้ว เขาจึงเชื่อมั่นว่า นทีรินก็คงไม่ต่างจากผู้หญิงคนหนึ่งที่สามารถกำกับควบคุมชะตาชีวิตได้ เฉกเช่นการจับวางสรรพสิ่งที่อยู่ในงานสถาปนิกออกแบบของเขานั่นเอง         กระนั้นก็ดี ท่ามกลางม่านควันแห่งอคติที่บังตาบุรุษเพศอย่างเธียรวัฒน์อยู่นั้น ละครกลับเผยให้เห็นว่า อีกด้านหนึ่งในเกมแห่งความสัมพันธ์ระหว่างเพศ ผู้หญิงเองก็หาใช่จะจำนนสมยอมเสมอไป หากแต่มีสถานะเป็นผู้เดินเกมได้ ทั้งๆ ที่เล่นอยู่บนหมากกระดานเดียวกัน        สำหรับพระเอกหนุ่มแล้ว อย่างน้อยก็มีผู้หญิงสามคนที่เข้ามาร่วมเดินหมากบนกระดาน แถมเป็นกระดานเกมที่เธอๆ เหล่านี้ให้บทเรียนกับเธียรวัฒน์ได้อย่าง “ดุเด็ดเผ็ดแซ่บจริงไม่มโน” กันเลยทีเดียว         “ศจี” มารดาของเธียรวัฒน์ ก็คือ ผู้หญิงคนแรกที่สาธิตให้เห็นการวางกลเกมในการจัดการบุตรชายให้อยู่หมัด เมื่อเธียรวัฒน์พลั้งเผลอไปมีสัมพันธ์ลับๆ กับ “ญาดา” ภรรยาของ “พลเดช” นักการเมืองผู้มีอิทธิพล จนเขาถูกขู่อาฆาตจะฆ่าให้ตาย คุณศจีจึงเลือกใช้อำนาจบังคับให้บุตรชายของตนแต่งงานเสียกับเมย         ด้วยสถานะของสตรีผู้ให้กำเนิด อำนาจของคุณศจีสามารถบังคับให้เธียรวัฒน์จดทะเบียนสมรสกับเมย ผู้หญิงที่เขาไม่เคยคิดจะผาดตามองในฐานะคนรักมาก่อน แม้พระเอกหนุ่มแอบซ้อนกลวางแผนที่จะหย่าขาดกับเมยในภายหลัง แต่ความชาญฉลาดเท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของบุตรชาย คุณศจีก็จัดการกับเขาได้ทุกครั้ง         ผู้หญิงคนถัดมาก็คือ ญาดา ผู้ที่เธียรวัฒน์แอบไปมีความสัมพันธ์ด้วย ที่ผ่านมาญาดาเองก็ถูกสามีอย่างพลเดชมองว่า เธอเป็นประหนึ่ง “วัตถุสิ่งของ” มากกว่าจะเป็น “มนุษย์” เพศหญิงที่มีชีวิตเลือดเนื้อ ฉากที่พลเดชกระทำทารุณเหนือทั้งร่างกายและจิตใจของญาดา ก็ส่อให้เห็นทัศนะของผู้ชายบางคนที่เชื่อว่า หลังวันแต่งงาน ผู้หญิงก็มีสถานะเป็นเพียงทรัพย์สินภายใต้ปกครองของเขาเท่านั้น         ด้วยเหตุฉะนี้ การที่ญาดาพยายามเอาชนะเกมพิชิตหัวใจของเธียรวัฒน์ ก็มีนัยแห่ง “สงครามตัวแทน” ที่ผู้หญิงอยากจะกำชัยเหนือบุรุษเพศ แบบเดียวกับที่เธอรำพึงกับตนเองเมื่อเข้าสู่สนามประลองระหว่างเพศว่า “พี่เลือกเล่นเกมนี้แล้ว ยังไงพี่ก็ต้องชนะ และพนันได้เลยว่า ยังไงเธียรก็ต้องแพ้พี่...”        และที่น่าสนใจ เมื่อถึงฉากท้ายของเรื่องที่พลเดชถูก “ปริวัตถ์” พี่ชายของเธียรวัฒน์ ซ้อนแผนตัดปีกตัดหางและสั่งสอนจนปางตาย ญาดาก็เลือกจะใช้สูตร “how to ทิ้ง” เขาไปแบบไร้เยื่อใยไมตรี พร้อมกับเสียงประกาศอิสรภาพของสตรีปรากฏในห้วงคำนึงที่ก้องขึ้นมาว่า “ในวันที่ฉันไม่เหลือใคร คนที่คอยกอดปลอบฉันก็คือตัวฉันเอง ตอนนี้สิ่งที่ฉันทำได้เพียงอย่างเดียวก็คือ กลับมารักตัวเองอีกครั้ง...”         ส่วนผู้หญิงคนสุดท้ายที่มาร่วมปะทะต่อกรอำนาจกับเธียรวัฒน์ก็คือ นางเอกอย่างเมย แม้เธียรวัฒน์จะรู้จักเมยมานับสิบปี และเชื่อมั่นตลอดว่า เขาสามารถกำกับชีวิตเมยไว้ได้เบ็ดเสร็จสมบูรณ์ แบบเดียวกับที่เขาชอบสั่งให้เมยทำนั่นทำนี่ แต่ทว่า อีกด้านของความสัมพันธ์ระหว่างพระเอกนางเอก เรากลับเห็นถึงกลยุทธ์ทางอำนาจของเมยที่จะพิชิตหัวใจชายหนุ่มที่เธอหลงรักตั้งแต่แรกเจอ          ในฉากแรกๆ เมยอาจจะดูเป็นเพียงผู้หญิงเปิ่นๆ ที่ไม่เข้าตากรรมการ แต่พลันที่เธอสวมบทบาทเป็นแฮคเกอร์เล่นล่อเอาเถิดหลอกเธียรวัฒน์จนเสียศูนย์บนโลกไซเบอร์สเปซ สถาปนิกหนุ่มที่เคยมองว่า ตนควบคุมบงการหญิงสาวได้ ก็ถึงกับเปรยขึ้นมาว่า “คนที่เราคิดว่ารู้จักมาทั้งชีวิต อาจจะเป็นคนที่เราไม่รู้จักเค้าเลย...”         ยิ่งเมื่อเหตุการณ์ดำเนินไป และทั้งคู่ได้โคจรมาเจอกันที่ไซต์งานเมืองทวาย เมยก็ถือโอกาส “ประกาศเจตนารมณ์จีบพี่เธียร” ในทุกวิถีทาง ตั้งแต่จำลองฉากโรแมนติกท่องเที่ยวทัวร์รอบพม่า แต่งกลอนเกี้ยวพาชมโฉมสามีหนุ่ม ไปจนถึงใช้สายตาลวนลามให้ชายหนุ่มได้กลายเป็น “วัตถุทางเพศแห่งการจ้องมอง”         ที่สำคัญ การเฉลยความจริงท้ายเรื่องว่า หากนิยายโรมานซ์ทั่วไป ต้องเป็นพระเอกที่ปกป้องชีวิตนางเอกผู้อ่อนแอ แต่ในชีวิตคู่ของเมย กลับเป็นนางเอกต่างหากที่ลุกขึ้นมาเสียสละชีวิตเพื่อปกป้องพระเอกหนุ่มครั้งแล้วครั้งเล่าได้ไม่แตกต่างกันเลย         อย่างไรก็ดี แม้เรื่องเล่าแบบโรมานซ์มักจะลงเอยฉากจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งกันถ้วนหน้า แต่กว่าที่เรื่องเล่าจะดำเนินมาถึงบทสรุปอันสุขสมอารมณ์หมายเช่นนี้ ยุทธการจัดการกับ “สามีในฝัน” อย่างเธียรวัฒน์ คงไม่ใช่เกิดขึ้นบน “เหตุบังเอิญ” แต่ทั้งหมดทั้งมวลล้วนมาจาก “เหตุผล” ที่ผู้หญิงขอมีส่วนร่วมจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างเพศ ซึ่งหาใช่การอ้างสิทธิ์ว่าเป็นอำนาจของผู้ชายแต่เพียงเพศเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 เมียเก่าอยากปลดกระดูก

การทำสัญญาค้ำประกันให้กับคนอื่น ตรงกับคำโบราณที่ว่า “เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง มีแต่เอากระดูกมาแขวนคอ” แม้ว่าคนที่เราค้ำประกันให้นั้นจะเป็นสามีหรือภรรยากันก็ตามคุณวรินบอกว่าได้ไปค้ำประกันรถยนต์ให้กับสามี โดยสามีไปทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์มาจากบริษัทไฟแนนซ์แห่งหนึ่ง แต่บุญวาสนาของสามีภรรยาคู่นี้นั้นแสนสั้นนัก หลังเช่าซื้อรถคันนี้ไม่ถึงปีคุณวรินได้หย่าขาดแยกทางจากสามี เหตุเพราะฝ่ายชายไปมีภรรยาใหม่“ตอนนี้สามีดิฉันยังส่งรถคันนี้อยู่ตลอดค่ะ แต่ที่กังวลก็คือเขาจะส่งไปได้ตลอดหรือเปล่าไม่รู้ เพราะยังเหลือค่างวดอีกตั้ง 5 ปีกว่าจะครบ”คุณวรินเธอปรึกษาว่า ตอนนี้ไม่อยากจะเป็นคนค้ำประกันรถยนต์ให้อดีตสามีอีกต่อไป เพราะไม่ได้มีความผูกพันกันเหมือนแต่ก่อน จะมีวิธีไหนบ้างที่จะยกเลิกการค้ำประกันรถยนต์ของอดีตสามีได้แนวทางแก้ไขปัญหาสัญญาค้ำประกัน คือการที่ไปทำสัญญากับเจ้าหนี้ว่าถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะชำระหนี้นั้นแทน ดังนั้นเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิดแทนได้ สัญญาค้ำประกัน ถ้าผู้ค้ำประกันไม่ต้องการรับผิดอะไร หรือต้องการจำกัดขอบเขตความรับผิดไว้เพียงใด ต้องระบุในสัญญาให้ชัดเจน เมื่อจำกัดความรับผิดไว้แล้วก็รับผิดเท่าที่จำกัดไว้ แต่สัญญาค้ำประกันส่วนใหญ่เป็นสัญญาสำเร็จรูป ซึ่งจะให้ผู้ค้ำประกันรับผิดเสมือนลูกหนี้ร่วมเมื่อลูกหนี้ผิดสัญญาต่อเจ้าหนี้ ไม่ชำระเงินหรือค่าเสียหายมากน้อยเพียงใด ผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิดจนสิ้นเชิงเช่นเดียวกับลูกหนี้ทุกอย่าง ไม่มีสิทธิเกี่ยงการยกเลิกหรือสิ้นสุดสัญญาค้ำประกันนั้นกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิในการให้ผู้ค้ำประกันบอกเลิกสัญญาเองได้ทันที ยกเว้นกรณีที่ผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตาย หรือศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด หรือเป็นบุคคลล้มละลาย หรือเป็นคนไร้ความสามารถ หรือเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ หากจะถอนค้ำประกันหรือเปลี่ยนตัวผู้ค้ำประกันคงต้องคุยกับอดีตสามีในฐานะลูกหนี้โดยตรงว่าจะขอเปลี่ยนคนค้ำประกันใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นภรรยาใหม่ก็ได้ เมื่อตกลงกันได้แล้วถึงจะพากันไปเจรจาตกลงกับไฟแนนซ์หรือเจ้าหนี้ว่าจะยินยอมตกลงด้วยหรือไม่ ซึ่งบริษัทไฟแนนซ์อาจมีสองทางเลือกคือยินยอมที่จะเปลี่ยนสัญญาให้ หรือที่พบโดยมากคือให้บุคคลที่เพิ่มเข้ามาทำสัญญาค้ำประกันพ่วงต่อท้ายไปอีกคนหนึ่งเลย ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ช่วยกันกดดัน ควบคุมลูกหนี้ให้ชำระหนี้ต่อไปตามสัญญานั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 สามีตีตรา: อย่างนี้ต้องตีตรวน!!!

เชื่อหรือไม่ว่า ภาพสังคมที่เราเห็นหรือรับรู้ว่าดำเนินไปอย่างราบรื่นเป็นปกตินั้น แท้จริงแล้ว คลื่นใต้น้ำที่อยู่ก้นบึ้งของสังคมดังกล่าว กลับเป็นสนามรบที่คุกรุ่นอยู่อย่างต่อเนื่องไม่สิ้นไม่สุด สงครามคลื่นใต้น้ำที่เป็นรูปธรรมอันเข้มข้นที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่ม อันได้แก่ "กลุ่มคนที่มี" (หรือบางครั้งเรียกว่าพวก "the have") กับ "กลุ่มคนที่ไม่มี" (หรือที่รู้จักกันว่าเป็นพวก "the have-not") โดยความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองกลุ่มนี้ก็ยากจะปรองดองและประสานผลประโยชน์กันได้จริงๆ ไม่แตกต่างจากความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงสองคน ที่เริ่มต้นจาก "ความเป็นเพื่อนรัก" แต่สุดท้ายก็ "หักเหลี่ยมโหดเสียยิ่งกว่าโหด" อีก ผู้หญิงคนแรกซึ่งเป็นตัวแทนของ "กลุ่มคนที่มี" ก็คือ "กะรัต" หรือ "กั้ง" คุณหนูไฮโซที่เจ้าอารมณ์ชอบเกรี้ยวกราดกับผู้คนรอบตัวไปเรื่อย ซึ่งเหตุผลด้านหนึ่งก็คงเป็นเพราะเธอเกิดในครอบครัวที่มี กะรัตจึงมีทุกอย่างเพียบพร้อมติดตัวมาแต่กำเนิด ตั้งแต่มีรูปสวยรวยทรัพย์ มีฐานะทางสังคมเศรษฐกิจ ไปจนถึงมีสามีมาคนแล้วคนเล่า กับผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่เป็นตัวแทนของ "กลุ่มคนที่ไม่มี" อย่าง "สายน้ำผึ้ง" เมื่อชีวิตต้องเกิดมาในครอบครัวที่ไม่มีพ่อแม่และไม่มีทุนอันใดติดตัวมา สายน้ำผึ้งจึงไม่มีในทุกๆ ด้าน แม้แต่ลูกป่วยเข้าโรงพยาบาล เธอก็ยังหาพ่อให้ลูกไม่ได้ และไม่มีเงินจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลแม้เพียงอัฐเดียว   เมื่อผู้หญิงที่มีทุกอย่างโคจรมาพบเป็นเพื่อนกับผู้หญิงที่ไม่มีอะไรสักอย่าง ความขัดแย้งจึงเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ที่กะรัตได้ครอบครอง "ภูเบศร์" ชายคนรักของสายน้ำผึ้งไป โดยที่สายน้ำผึ้งก็ซ้อนแผนที่จะช่วงชิงชายผู้นั้นกลับมาพร้อมกับมีลูกของเขาที่อยู่ในครรภ์ จนนำไปสู่ความแตกหักร้าวฉานระหว่างเพื่อนรักทั้งสองคน จนเมื่อกะรัตได้พบรักครั้งใหม่ และได้จดทะเบียนตีตราสมรสกับผู้ชายดีๆ อย่าง "หม่อมหลวงพิศุทธิ์" สายน้ำผึ้งที่พบว่ากลุ่มคนที่มีอย่างกะรัต ก็ดูจะยิ่งมีทุกอย่างอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นไม่สุด เธอจึงเริ่มวางแผนที่ซับซ้อนขึ้นในการช่วงชิงสามีที่ตีตราเอาไว้แล้วของอดีตเพื่อนรักให้มาเป็นพ่อของลูกชายเธอ เมื่อเป็นคนที่ไม่มีอะไรติดตัวมาแต่กำเนิด ผู้หญิงอย่างสายน้ำผึ้งจึงต้องหาสิ่งทดแทนด้วยการใช้มันสมองอันชาญฉลาด และอ่านเกมฝ่ายตรงข้ามให้ขาด เพื่อหาทาง "กำจัดจุดอ่อน" ของกะรัตนั้นเสีย ในกลุ่มของคนที่มีนั้น แม้จะมีชื่อเสียง เกียรติยศ เงินทอง และอื่นๆ อีกมากมาย แต่สายน้ำผึ้งก็พบว่า สิ่งเดียวที่ผู้หญิงอย่างกะรัตกลับไม่มีเอาเสียเลยก็คือ "ความไว้วางใจ" อันเป็นปัญหาที่มีมาตั้งแต่รุ่นแม่อย่าง "คุณนายพวงหยก" ที่ไม่เคยไว้ใจในตัวผู้เป็นสามีอย่าง "กฤช" จนสืบต่อมาที่รุ่นลูกสาว แบบที่กะรัตเองก็ไม่เคยจะไว้ใจผู้ชายคนใดที่เข้ามาในชีวิตคู่ของเธอเลย เมื่อความไว้วางใจไม่มีอยู่ในคนกลุ่มนี้ ด้านหนึ่งกะรัตจึงต้องทำทุกอย่างที่จะสร้างความไว้ใจเทียมๆ ขึ้นมา ตั้งแต่การออกอาการเกรี้ยวกราดทุกครั้งที่มีข่าวลือเกี่ยวกับพิศุทธิ์และสายน้ำผึ้ง หรือพยายามจะมีลูกเป็น "โซ่ทองคล้องแทนความไว้ใจ" ไปจนถึงการใช้ความสัมพันธ์เชิงกฎหมายด้วยการตีตราจดทะเบียนสมรส เพื่อยืนยันว่าเธอกับพิศุทธิ์นั้นรักกันจริงๆ สำหรับกลุ่มคนที่มีทุกอย่างนั้น กฎหมายก็คือสถาบันที่คนกลุ่มนี้สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของ "ความไว้วางใจ" (ที่มักไม่มี) ระหว่างกัน แต่เพราะทุกวันนี้กฎหมายเองก็มิได้ศักดิ์สิทธิ์เท่าใดนัก แบบเดียวกับที่ในโลกความจริงก็มีการฉีกกฎหมายหลายๆ มาตรากันเป็นว่าเล่น ความไว้ใจซึ่งมาจากทะเบียนสมรสเยี่ยงนี้จึง "กลายเป็นฝุ่น" ไปในที่สุด เพราะมันไม่ใช่ของจริง หากแต่เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาแทนความรักและความจริงใจระหว่างคนสองคนต่างหาก เพราะ "จุดอ่อนคือความไว้ใจ" นี่เอง สายน้ำผึ้งก็เลยปั่นหัวเล่นกับความไว้วางใจของกะรัต เพื่อพิสูจน์ว่าสายสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนที่มีทุกอย่าง มีความเข้มแข็งหรือเปราะบางกันเพียงไร และกะรัตจะเชื่อคำเป่าหูของสายน้ำผึ้งหรือเชื่อคำพูดจากปากของ "สามีตีตรา" อย่างพิศุทธิ์กันแน่??? ก็เหมือนกับที่ "เนื้อแพร" มารดาของพิศุทธิ์ได้พูดเตือนสติกะรัตอยู่ครั้งหนึ่งว่า "แค่เขาจี้จุดอ่อนว่าคนอย่างคุณมันไม่มีค่าพอให้ใครมารักจริง คุณก็ดิ้นจนไม่มีสติไตร่ตรองว่าอะไรเป็นของจริงอะไรเป็นภาพลวงตา... แต่ที่น่าเศร้าที่สุดคือ คุณเชื่อทุกเรื่องที่สายน้ำผึ้งเป่าหู แต่คุณไม่เชื่อพิศุทธิ์เลย..." และที่น่าฉงนและขบขันอยู่ในทีก็คือ ในขณะที่กะรัตเป็นผู้ซึ่งไม่เคยมีสติสตังที่จะไว้วางใจในตัวสามีเลย แต่กับสาวใช้อย่าง "นวล" (ซึ่งด้านหนึ่งพื้นเพก็คงมาจากกลุ่มคนที่ไม่มีเช่นกัน) กลับเป็นผู้ที่ดูเชื่อมั่นในตัวของพิศุทธิ์ และคอยเตือนสติของเจ้านายอย่างกะรัตให้เห็นว่าเนื้อแท้ของพิศุทธิ์นั้นหาใช่เป็นแบบที่สายน้ำผึ้งใส่ไคล้หรือเป่าหูแต่อย่างใด แต่ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้น ในสมรภูมิระหว่างกลุ่มคนที่มีและคนที่ไม่แบบนี้ ดูเหมือนว่าสายตาของผู้ดูผู้ชมทุกคนในสังคมจะโอนเอียงเข้าข้างไปทางกลุ่มคนที่มีกันเสียมากกว่า เพราะแม้สายน้ำผึ้งจะยืนยันอยู่ตลอดว่า การที่เธอต้องแย่งผู้ชายอย่างภูเบศร์หรือพิศุทธิ์มาจากเพื่อนรัก ไปจนถึงสร้างความแตกแยกให้กับ "กันตา" น้องสาวของกะรัตกับคู่หมั้นหมายอย่าง "ศิวา" ก็เนื่องเพราะต้องการเรียกร้อง "ความยุติธรรม" ให้กับชีวิตที่ไม่เคยมีอะไรเลยสำหรับคนอย่างเธอ แต่ตัวละครอื่นๆ รวมไปถึง "รสสุคนธ์" น้าสาวของเธอกลับให้นิยามต่างออกไปว่า สายน้ำผึ้งเป็นพวกช่าง "มโน" และมีแต่ความ "อิจฉาริษยา" หาใช่เรื่องของการทวงความยุติธรรมแต่อย่างใดไม่ และความอิจฉาริษยาคนที่มีนั่นเอง ท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นเพลิงที่เผาผลาญทำลายให้จิตใจของสายน้ำผึ้งมอดไหม้ลงไป ไม่ว่าความอิจฉาหรือการทวงคืนความยุติธรรมจะเป็นคำตอบจริงๆ ของสายน้ำผึ้ง แต่ตราบใดที่ความขัดแย้งระหว่างคนที่มีกับคนที่ไม่มียังคงดำเนินต่อไปแบบนี้ ความปรองดองกันในสังคมก็คงจะเกิดขึ้นได้ยากยิ่งนัก และในทำนองเดียวกัน หากกลุ่มคนที่มีและมีในทุกๆ ด้าน แต่ขาดซึ่งความไว้วางใจให้กันและกันแม้แต่กับคนใกล้ชิดใกล้ตัวแล้ว สามีที่ "ตีตรา" ของกะรัต ก็คงสู้สามีที่ล่ามโซ่และ "ตีตรวน" เอาไว้ไม่ได้เลย   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point