ฉบับที่ 144 Consumer Justice Now!

  แน่นอนอยู่แล้ว ... คนสำคัญอย่างพวกเราก็ต้องมีวันสำคัญระดับสากลเป็นของตัวเองกับเขาเหมือนกัน วันที่ 15 มีนาคมของทุกปีคือวันสิทธิผู้บริโภคสากล (World Consumer Rights Day) ที่องค์กรผู้บริโภคจากทั่วโลกและสหพันธ์ผู้บริโภคสากล หรือ Consumers International ใช้เป็นโอกาสร่วมกันรณรงค์เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีขึ้น   ปีนี้เขาจัดใหญ่ สหพันธ์ผู้บริโภคสากลซึ่งมีสมาชิก 220 องค์กร จาก 115 ประเทศเขาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภค เรียกว่าถือโอกาสนี้เปิดโปงความเสียหายที่เกิดจากการขาดระบบการคุ้มครองผู้บริโภค หรือการคุ้มครองผู้บริโภคที่ยังไม่ดีพอ   เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคนั้นเป็นประเด็นระดับโลก (ที่มักถูกละเลยโดยรัฐบาลท้องถิ่น?) เสมอมา    สหประชาชาติเองก็กำลังปรับปรุงแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคที่เคยทำไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526  (ปรับปรุงครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2542) โดยมีเป้าหมายจะจัดทำให้เสร็จสิ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2557  สหพันธ์ฯ จึงถือโอกาสนี้ทำข้อเสนอต่อสหประชาชาติ เพื่อเป็นการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อสังคมในศตวรรษที่ 21 ที่ปลอดภัยและยุติธรรมขึ้น   ย้อนอดีต เป็นเวลา 10 ปีมาแล้วที่มีการจัดงานรณรงค์ในวันสิทธิผู้บริโภคสากล ประเด็นที่เคยรณรงค์ร่วมกันได้แก่ สิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม (GMOs) การทำการตลาดอย่างไร้จริยธรรม เช่นการโฆษณายา หรือโฆษณาอาหารขยะกับเด็ก ประเด็นร้อนแรงที่สุดในช่วง 3 ปีหลังเห็นจะเป็นเรื่องอื่นไปไม่ได้นอกจาก เรื่องบริการการเงินการธนาคาร มีตั้งแต่การเรียกร้องให้มีบริการที่เป็นธรรมขึ้น ค่าธรรมเนียมที่ถูกลง ไปจนถึงการเรียกร้องให้ธุรกิจธนาคารสร้างทางเลือกที่แท้จริงให้กับผู้บริโภค --------------------------------------------------------------------------------------   "Consumers by definition, include us all." - John F. Kennedy วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2505 นายจอห์น เอฟ เคเนดี้  ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในสมัยนั้น ได้เรียกร้องต่อสภาคองเกรสให้มีการยอมรับสิทธิพื้นฐาน 4 ประการของผู้บริโภค ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ สิทธิที่จะได้รับข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้อง สิทธิที่จะได้เลือก และสิทธิที่จะเรียกร้องความเป็นธรรม   “ผู้บริโภคก็คือเราทุกคน เราคือกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด ที่ส่งผลต่อและได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจทางเศรษฐกิจโดยภาคธุรกิจและภาครัฐ แต่แทบจะไม่มีใครถามความเห็นของเราเลย”   เฮเลน แมคคอลัม ผู้อำนวยการสหพันธ์ผู้บริโภคสากล “การคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีไม่ใช่แค่เรื่องของกฎหมาย มันยังสามารถสร้างความเป็นธรรม สร้างสังคมที่เท่าเทียมกันมากขึ้น และช่วยรักษาชีวิตของประชาชนได้ด้วย”   >>> 2015 ประเด็นที่สหพันธ์ฯ จะเคลื่อนไหวต่อไป ความมั่นคง ความปลอดภัยทางอาหาร และโภชนาการที่ดี บริการทางการเงินและการธนาคาร หนี้ ผู้บริโภคในยุคดิจิตัล เครือข่ายการสื่อสารที่ปลอดภัยไว้ใจได้ ในราคาที่เหมาะสม การใช้งานอันมีลิขสิทธิ์และการเข้าถึงความรู้   บ้านนี้เมืองนี้อยู่ยากขึ้นทุกวัน แล้วผู้บริโภคอย่างเราต้องทำตัวยังไง นายอันวาร์ ฟาซาล ประธานสหพันธ์ผู้บริโภคสากลในช่วงปี 1980 – 1989 ได้กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของผู้บริโภค 5 ประการไว้ดังนี้ Critical Awareness เราต้องตื่นตัวและตั้งข้อสงสัยเรื่องคุณภาพของสินค้าและบริการให้มากขึ้น >> จริงดิ? มีเครื่องดื่มที่ดื่มประจำแล้วทำให้เรียนเก่ง สอบติดคณะในฝัน? ทำไมรถเมล์ฟรีที่เขาเอาเงินภาษีเราไปจ่าย ถึงขับเร็ว ไม่จอดป้าย หรือจอดไม่ตรงป้าย ให้เราต้องวิ่งหน้ าตั้งด้วย (อย่าว่าแต่รถฟรีเลยนะ รถไม่ฟรีก็เหมือนกัน)   Involvement/Action เราต้องใช้สิทธิเพื่อให้ได้มา ซึ่งสินค้าหรือบริการที่เป็นธรรมในราคาที่เหมาะสม >> จ่ายค่าบริการอินเตอร์เน็ตรายเดือน แต่สัญญาณล่มไป 2 วัน เราขอไม่จ่าย 2 วันนั้นได้มั้ย? เขาคิดเราเป็นรายวันนี่นา เราเสียเงินซื้อตั๋วขึ้นรถไฟฟ้าแล้วยังไปเจอโฆษณาบนรถอีก อย่างนี้เขาน่าจะลดค่าโดยสารให้เราด้วยหรือเปล่า (โทรทัศน์ที่มีโฆษณา เขายังให้ดูฟรีเลย) Social responsibility เราต้องบริโภคอย่างรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการตระหนักถึงผลกระทบจากการกระทำของเราต่อสภาพเศรษฐกิจสังคมรอบตัวและต่อพลเมืองคนอื่นๆ >> เราต้องจับตาดู เดี๋ยวมีใครไปใช้แรงงานเด็กในประเทศด้อยพัฒนา แล้วมาแอ๊บขายสินค้าแบรนด์หรู ถ้ารู้แล้วจะได้ชวนกันบอยคอต   Ecological responsibility เราต้องตระหนักถึงผลกระทบจากทางเลือกของเราต่อสภาพแวดล้อม >> เราอาจจะไม่เลือกซื้อเฉพาะผักผลไม้ที่งดงามหมดจดอีกต่อไป เพราะรู้แล้วว่าการทำอย่างนั้นทำให้เกิด “ขยะสด” โดยไม่จำเป็น Solidarity เราต้องรวมตัวกันเพื่อให้เกิดพลังที่ยิ่งใหญ่พอที่จะทำให้รัฐบาลหรือผู้ประกอบการไม่อาจละเลยผลประโยชน์ของผู้บริโภคได้อีกต่อไป ... สามัคคีคือพลัง! >> เรามาร่วมกันติดตามตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ประกอบการ อย่างที่คุณกำลั งทำอยู่ ด้วยการเป็นสมาชิก “ฉลาดซื้อ” นี่ไง   โปรตุเกส:  เมื่อผู้บริโภคไม่ยอมถูกหลอกขายน้ำมันแพงอีกต่อไป Portugal Petrol Test … เล่าเรื่องทดสอบน้ำมัน ราคาถูก/แพง   ปลายปีที่แล้วมีชาวโปรตุเกส 42,200 คน ร่วมกันลงชื่อเรียกร้องให้กระทรวงเศรษฐกิจ เข้มงวดกับการกำกับดูแลธุรกิจพลังงานให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของคุณภาพและความโปร่งใสในการตั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากนี้ยังขอให้ประกาศห้ามการกล่าวอ้างสรรพคุณของสินค้าถ้ายังไม่ได้พิสูจน์ด้วย เรื่องนี้สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ DECO นิตยสารผู้บริโภคขององค์กรผู้บริโภค EDI แห่งโปรตุเกสได้ทำการทดสอบเพื่อพิสูจน์ว่า น้ำมันดีเซลแบบพรีเมี่ยมที่อ้างว่าเผาไหม้ได้สมบูรณ์กว่า ประหยัดพลังงานกว่า ทำให้รถวิ่งได้แรงขึ้น (และขายในราคาแพงกว่า) แตกต่างจากน้ำมันดีเซลธรรมดาๆ หรือไม่   เพื่อทดสอบน้ำมันพรีเมี่ยม 2 ยี่ห้อ ได้แก่ G-Force  และ Hi Energy  และน้ำมันธรรมดา 2 ยี่ห้อคือ  Jumbo และ Intermarche  นิตยสาร DECO ซื้อรถ Renault Clio ใหม่เอี่ยมมา 4 คัน จ้างนักขับรถมืออาชีพ 4 คน และเช่าสนามแข่งรถแห่งหนึ่งเป็นเวลา 1 เดือน   ทีมงานจะเติมน้ำมันยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งให้กับรถแต่ละคันเท่านั้น แต่จะมีนักขับมากกว่าหนึ่งคนมาทดลองขับรถแต่ละคันเป็นระยะทางรวม 12,000 กิโลเมตร โดยเส้นทางที่วิ่งก็มีทั้งช่วงที่ใช้ความเร็วได้ต่อเนื่องและช่วงที่ต้องขับๆ หยุดๆ เหมือนอยู่ในช่วงการจราจรติดขัด    ผลการทดสอบ (ซึ่งรวมถึงการถอดเครื่องยนต์ออกไปให้ห้องปฏิบัติการตรวจ) ปรากฏว่าไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องการสึกหรอของเครื่องยนต์ สมรรถนะของรถ ประสิทธิภาพการใช้น้ำมัน หรือการปล่อยมลพิษของรถทั้ง 4 คันที่เติมน้ำมันคนละยี่ห้อ   แล้วผู้บริโภคจะจ่ายแพงกว่าไปทำไม?   หมายเหตุ: นิตยสาร DECO เป็นนิตยสารเพื่อผู้บริโภคของโปรตุเกส ที่มีสมาชิก 400,000 คน   Consumer Justice Now! In Thailand ปัญหาด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ถูกมองข้าม ทั้งที่สังคมบ้านเราก็ดูเหมือนจะมุ่งมั่นเดินหน้าเข้าสู่สังคมบริโภคนิยมกันอย่างเต็มที่ ยิ่งบริโภคกันมากปัญหาจากการซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ ก็ย่อมมีมากตามไปด้วย แถมยิ่งพอเกิดปัญหาขึ้นแล้วจะเรียกร้องหาทางออกทางแก้ ก็เป็นเรื่องที่ยากแท้หยั่งถึง   แต่ก็ใช่ว่าผู้บริโภคไทยจะยอมทนอยู่กับปัญหา เพราะยังมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ออกมาปกป้องสิทธิของตัวเอง ลองมาดูกันว่าพลังของผู้บริโภคไทยสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรให้เกิดขึ้นบ้าง   พลังจากการรวมตัว ใครจะคาดคิดว่าสถานออกกำลังกายชื่อดังอย่าง “แคลิฟอร์เนียว้าว” ที่มีสาขาเปิดให้บริการเป็นจำนวนมากทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด มีสมาชิกสมัครใช้บริการรวมทุกสาขามากกว่า 150,000 คน วันหนึ่งจะประสบปัญหาด้านการเงินจนต้องปิดให้บริการ ซึ่งกลายเป็นปัญหาส่งตรงถึงผู้บริโภคที่สมัครเป็นสมาชิก ทั้งไม่ได้ใช้บริการตามที่สัญญา ราคาค่าสมัครสมาชิกนั้นก็สูงลิ่วตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลักแสน แถมที่น่าเจ็บใจยิ่งกว่าคือทั้งๆ ที่ไม่สามารถให้บริการได้ตามที่สัญญา แต่การหักเงินค่าสมาชิกที่จ่ายค่าผ่านบัตรเครดิตกลับยังคงดำเนินอยู่ต่อไป เรียกว่าบริการก็ไม่ได้ใช้ การช่วยเหลือชดเชยก็ไม่มี แต่ยังต้องมาเสียเงินซ้ำอีก มี่แหละคือความช้ำสุดๆ ที่ผู้ประกอบการใจร้ายทำกับผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเพื่อทำให้เกิดการรวมตัวของสมาชิกฟิตเนส แคลิฟอร์เนียว้าวที่ได้รับความเสียหาย เพื่อร่วมกันเป็นหนึ่งพลังที่ยิ่งใหญ่ในการปกป้องสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งมียอดผู้ร้องเรียนเข้ามายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคถึง 587 ราย รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท การรวมตัวกันของผู้เสียหายจากการใช้บริการฟิตเนส แคลิฟอร์เนียว้าว ครั้งนี้ได้ดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่การทำความเข้าใจร่วมกันถึงการรักษาสิทธิในฐานะผู้บริโภค แนวทางในการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิ ซึ่งมีทั้งการจัดเวทีเพื่อพูดคุยทำความเข้าใจทั้งกับผู้เสียหายและผู้บริโภคทั่วไปในเรื่องการขอยกเลิกสัญญาบริการฟิตเนส ซึ่ง สคบ. มีการกำหนดขอบังคับไว้ชัดเจน ก ารรวมกลุ่มผู้เสียหายเพื่อร่วมกันดำเนินการเอาผิดกับฟิตเนส แคลิฟอร์เนียว้าวตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการยื่นหนังสือกับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐนมตรี เพื่อขอให้ทำหน้าที่ฟ้องคดีแพ่งและอาญาแทนผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย การเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เพื่อดำเนินคดีอาญา และการเข้าพบอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อเสนอให้ดำเนินการเป็นคดีพิเศษ   แม้ว่าปัญหาจะยังไม่ถูกแก้ไขจนแล้วเสร็จ แต่การจับมือกันลุกขึ้นมาสู้ของเหล่าผู้เสียหายจากการใช้บริการฟิตเนส แคลิฟอร์เนียว้าวครั้งนี้ สร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างมากในเรื่องการรวมตัวกันรักษาสิทธิของผู้บริโภคในประเทศไทย ทำให้ผู้บริโภคทั่วไปเห็นความสำคัญในการรักษาสิทธิ และเป็นการส่งสัญญาณเตือนกับบรรดาผู้ประกอบการว่าต้องให้ความเคารพไม่คิดละเมิดสิทธิของผู้บริโภค   จอดำ ทำกันได้ จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อเรานั่งดูทีวีอยู่ดีๆ แต่กลับถูกละเมิดสิทธิแบบที่ไม่มีโอกาสเรียกร้อง   คำว่า “จอดำ” กลายเป็นคำที่ได้ยินบ่อยครั้งในช่วงการแข่งขันฟุตบอลยูโรเมื่อปี 2012 เมื่ออยู่ดีๆ โทรทัศน์ช่องฟรีทีวีอย่าง 3, 5, 7, 9 ของหลายๆ บ้านไม่สามารถรับชมการแข่งขันได้ทั้งๆ ที่กำลังมีการถ่ายทอดสด เนื่องจากปัญหาลิขสิทธิ์ เกิดเงื่อนไขที่ว่าต้องติดจานดาวเทียมหรือกล่องรับสัญญาณของเจ้านี้เท่านั้นถึงจะได้ดู ถ้าติดของอีกเจ้าก็หมดสิทธิ์ ทั้งๆ ที่ช่องที่กำลังถ่ายทอดคือช่องฟรีทีวี ซึ่งๆ ไม่ว่าใครก็ควรจะมีสิทธิที่ได้ชมขอแค่มีทีวีและอุปกรณ์รับสัญญาณ เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องตลกร้ายที่กลุ่มธุรกิจแข่งขันกันเรื่องผลประโยชน์โดยไม่สนใจในสิทธิของผู้บริโภค   เครือข่ายผู้บริโภคภาคประชาชนและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ออกมาเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งบริษัทผู้ถือลิขสิทธิ์ ผู้บริหารช่องฟรีทีวี และหน่วยงานที่มีหน้ากำกับดูแลอย่างสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อหาทางแก้ปัญหาทวงสิทธิของผู้บริโภคกลับคืนมา ซึ่งท้ายที่สุดได้มีการยืนฟ้องต่อศาลให้เข้ามาควบคลุมดูแล แต่แม้ว่าศาลจะยกคำร้องทำให้ฟรีทีวียังคงจอดำจนจบการแข่งขันฟุตบอลยูโร แต่การลุกขึ้นมารักษาสิทธิของผู้บริโภคโดยเครือข่ายผู้บริโภคภาคประชาชนและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในครั้งนี้ สร้างการตื่นตัวครั้งสำคัญในเรื่องของสิทธิในรับชมรายการถ่ายทอดสดโดยเฉพาะการแข่งขันกีฬาผ่านช่องฟรีทีวี ในยุคที่จานดาวเทียมและกล่องรับสัญญาณต่างๆ กำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ   การออกมาแสดงพลังผู้บริโภคโดยเครือข่ายผู้บริโภคภาคประชาชนและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเรื่องปัญหาจอดำ ทำให้ กสทช. ตื่นตัวทำงาน ด้วยการออกหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป หรือ MUST CARRY RULE ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2555 ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่จะช่วยปกป้องสิทธิของผู้บริโภคที่รับชมโทรทัศน์ช่องฟรีทีวีให้สามารถรับชมได้อย่างทั่วถึง ในเนื้อหาเดียวกัน  ไม่มีการเปลี่ยนแปลงผังรายการหรือเนื้อหารายการ ไม่ว่าจะเป็นการรับชมผ่านช่องทางใด ผ่านจานหรือกล่องรับสัญญาณยี่ห้ออะไรก็แล้วแต่ ช่องฟรีทีวีต้องไม่จอดำ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดเอาไว้ด้วยว่าการแข่งขันกีฬาระดับโลก 7 รายการ เช่น ซีเกมส์, เอเซียนเกมส์, โอลิมปิก ฯลฯ ต้องสามารถรับชมได้ผ่านช่องฟรีทีวี ห้ามจอดำ   ร้องเรียนสู่การเปลี่ยนแปลง บางครั้งหนึ่งเสียงเล็กๆ ของผู้บริโภค ที่มองเห็นปัญหาแล้วบอกต่อสู่สังคม ก็อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้เหมือนกัน   คนไทยเราให้ค่ากับ “รังนก” ว่าเป็นของดีมีประโยชน์ เป็นของมากคุณค่าราคาแพง เราถูกบอกให้เชื่อตามที่ผู้ผลิตโฆษณา แต่ในทางวิชาการไม่ได้เป็นแบบนั้น ถ้าใครจำได้ เมื่อไม่นานมานี้เคยมีผลิตภัณฑ์รังนกสำเร็จรูปพร้อมดื่มยี่ห้อหนึ่งใช้คำโฆษณาว่า “รังนกแท้ 100%” ซึ่ง คุณเธียร ลิ้มธนากุล ผู้ที่ทำงานด้านโฆษณา มีความสงสัยในคำโฆษณาดังกล่าวจึงได้ส่งเรื่องร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงการโฆษณารังนกแท้ 100% ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วก็พบว่าข้อความโฆษณาดังกล่าวสร้างความเข้าผิดให้กับผู้บริโภคอย่างชัดเจน เพราะในความเป็นจริงแล้ว รังนกสำเร็จรูปพร้อมดื่มที่วางขายอยู่ตามท้องตลาดทั่วไปมีรังนกเป็นส่วนประกอบอยู่เพียงแค่ 1% เท่านั้น   เครือข่ายผู้บริโภคและนักวิชาการด้านสื่อจึงเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งตามปกติ อย.ไม่อนุญาตให้โฆษณาโดยใช้คำว่า 100% อยู่แล้ว ผลก็คือจากนี้ไปห้ามไม่ให้ผลิตภัณฑ์รังนกสำเร็จรูปใช้คำว่า “รังนกแท้ 100%” อีก ต้องตัดคำว่า 100% ออกไป ถ้าหากพบการทำผิดไม่ใช่แค่รังนกแต่รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ ในลักษณะนี้จะต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย   เห็นมั้ยว่า เราทุกคนสามารถเป็นผู้บริโภคที่ช่วยกันเปลี่ยนแปลงสังคมของเราได้   ใช้กฎหมายเป็นผู้ช่วย ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ผู้บริโภคไทยก็สามารถต่อสู้คดีจากการถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการที่ไม่ประสงค์ดีได้อย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกสบายมากขึ้น ด้วยการใช้ “พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค” ที่จะช่วยเป็นเครื่องมือในการใช้อำนาจจากศาล แต่เดิมที่ผู้บริโภคแทบจะไม่มีศักยภาพมากพอที่จะต่อสู้กันในชั้นศาลกับผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้ในทางคดี หรือทุนทรัพย์ในการดำเนินการ สุดท้ายผู้บริโภคก็มักจะเป็นฝ่ายแพ้คดีหรือไม่ก็ถูกผู้ประกอบการกล่อมให้ยอมความแล้วรับค่าชดเชยที่ไม่สมเหตุสมผล การมีกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคนั้นมีข้อดีที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการให้ผู้บริโภคสามารถยื่นคำฟ้องได้ด้วยวาจา ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการฟ้องคดี สามารถให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคฟ้องคดีแทนได้ มีกระบวนการไกล่เกลี่ย และให้ภาระการพิสูจน์ถูกผิดเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการ ซึ่งก็มีผู้บริโภคจำนวนมากได้รับความเป็นธรรมจากกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค เช่น อ.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ที่ฟ้องสายการบินนกแอร์เรื่องการละเลยการดูแลมาตรการรักษาความปลอดภัย หรือกรณีของ คุณสุภาภรณ์ ว่องวีรวัฒนกุล ที่พบปัญหาอากาศเป็นพิษภายในรถรถยนต์โตโยต้า อินโนว่า ซึ่งสุดท้ายศาลคดีผู้บริโภคก็ให้คุณสุภาภรณ์ชนะคดีและให้บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทยชดเชยค่าเสียหาย   แม้ว่ากฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคจะยังคงมีปัญหาอยู่บ้าง แต่กฎหมายฉบับนี้ก็ถือเป็นหนึ่งในอาวุธชิ้นสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคได้ใช้ปกป้องพิทักษ์รักษาสิทธิของตัวเองได้อย่างเข้มแข็ง   Timeline การคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย 2522 – ประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค และจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)   2526 – เกิด คณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน (คปอส.) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนสาธารณประโยชน์ ทำงานด้านสาธารณสุข จุดเริ่มต้นก่อนที่จะเป็นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในปัจจุบัน 2540 – มีการกำหนดให้มีองค์การอิสระผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญไทยเป็นครั้งแรก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศเริ่มต้นผลักดันให้เกิดองค์การอิสระผู้บริโภค   2548 – ปรากฏการณ์ “ทุบรถทวงสิทธิ” เมื่อ น.ส.เดือนเพ็ญ ศิลาเกษ ใช้ค้อนทุบรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า ซีอาร์วี ต่อหน้าสื่อมวลชน หลังสุดทนเจอปัญหาสารพัดแต่กลับไม่ได้รับการดูแลการบริษัทผู้ขาย   2548 – ขบวนการผู้บริโภคและภาคประชาชนยุติการแปรรูป การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)   2550 – ผ่านมา 10 มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่องค์การอิสระผู้บริโภคก็ยังไม่เกิด มีการปรับเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จากมาตรา 57 ในรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นมาตรา 61 ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศยังคงผลักดันกฎหมายนี้อย่างตัวเนื่อง   2551 – เริ่มใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค   2556 – รัฐบาลยังไม่ยอมให้มี องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศก็ยังคงเดินหน้าผลักดันให้เกิดกฎหมายนี้ต่อไป //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point