ฉบับที่ 209 สัมปทานหัวใจ : ในการถือครองกรรมสิทธิ์...ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม

แค่ได้ยินชื่อละครโทรทัศน์ว่า “สัมปทานหัวใจ” ผู้เขียนก็รู้สึกสนเท่ห์ใจยิ่งว่า เมื่อก่อนเวลากล่าวถึงคำว่า “สัมปทาน” เราก็มักจะนึกถึงการที่บุคคลหนึ่งได้สิทธิ์เข้าไปถือครองความเป็นเจ้าของสินทรัพย์สาธารณะบางอย่าง เช่น สัมปทานที่ดิน สัมปทานเหมืองแร่ ฯลฯ แต่เกิดอะไรขึ้นที่ทุกวันนี้แม้แต่กรรมสิทธิ์ของ “หัวใจ” ก็ยังต้องมีการช่วงชิงเข้าไปยึดมาเป็น “สัมปทาน” ส่วนบุคคลกันด้วย?กับข้อสงสัยดังกล่าวนี้ คงต้องให้นางเอกคุณแม่ลูกหนึ่งอย่าง “รัตตวัลย์” มาขานไขคำตอบ ผ่านช่วงชีวิตที่ต้องยืนอยู่บน “ทางสองแพร่ง” ระหว่าง “ปารเมศ” ผู้เป็นสามีที่หวังสมบัติและสามารถวางแผนสั่งฆ่าภรรยาได้ กับ “นาบุญ” พระเอกหนุ่มใหญ่เจ้าของสัมปทานรังนกบนเกาะ ที่ได้ช่วยชีวิตของเธอเอาไว้จุดเริ่มต้นของเรื่องมาจากการที่รัตตวัลย์กับเด็กน้อย “มันปู” บุตรชาย ต้องหนีการตามฆ่าตามใบสั่งของสามี จนพลัดมาติดอยู่บนเกาะถ้ำ ซึ่งนาบุญหรือที่ใครต่อใครเรียกกันว่า “นายหัว” เป็นผู้ถือครองสัมปทานการทำรังนกบนเกาะดังกล่าวแม้ในช่วงแรกของเรื่อง จะเริ่มต้นขึ้นด้วยฉากที่ตัวละครนายหัวและรัตตวัลย์ต่างฝ่ายต่างก็มีความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน แต่หลังจากง้อกันไป งอนกันมา รวมทั้งเชือดเฉือนวาจาคารมกันเป็นระยะๆ ความขัดแย้งไม่ลงรอยก็ค่อยๆ คลี่คลายเป็นความเข้าใจ และแน่นอนว่า ตามสูตรของละครก็ต้องให้พระเอกเจ้าของสัมปทานรังนกได้เข้าไปพิชิตถือครองเป็นเจ้าของ “สัมปทานหัวใจ” ของรัตตวัลย์ในท้ายที่สุด ภายใต้การต่อสู้เพื่อช่วงชิง “สัมปทานหัวใจ” ของรัตตวัลย์นี่เอง มีฉากหลังที่สะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้และการปรับตัวของกลุ่มทุนในระบบสังคมเศรษฐกิจยุคนี้ โดยมีคู่ชกหลักก็คือปารเมศและนาบุญ ที่ทั้งเฉือนคมทางธุรกิจและห้ำหั่นกันในเชิงความรักในส่วนของปารเมศนั้น แม้จะเล่นบทบาทเป็นสามีของรัตตวัลย์และเป็นบิดาของน้องมันปู แต่จริงๆ แล้ว เขาก็คือตัวแทนของกลุ่มทุนทางเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ที่ถูกสร้างให้เป็น “สีดำ” และยังแถม “ดำดีสีไม่ตก” ชนิดที่ว่าเป็นด้านมืดของการขูดเลือดขูดเนื้อเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนได้ โดยไม่คำนึงถึงจริยธรรมความดีใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “สุรา นารี พาชี กีฬาบัตร” ปารเมศก็ดูจะเข้าไปข้องเกี่ยวพัวพันกับธุรกิจใต้ดินเหล่านี้แทบทั้งสิ้น แม้จะมีรัตตวัลย์เป็นภรรยาตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่เขาก็ยังมีหญิงอื่นอยู่ข้างกาย และที่สำคัญ เมื่อเป็นหนี้พนันก้อนโต ปารเมศก็พร้อมจะจัดส่ง “พิลาสลักษณ์” ผู้หญิงข้างกายของเขาเพื่อขายเข้าสู่ธุรกิจค้ากามของกลุ่มทุนข้ามชาติอย่าง “มิสเตอร์ลี” หรือแม้แต่ร่วมมือกับชู้รักอย่าง “ทักษิณา” จ้างวานคนมาสั่งฆ่ารัตตวัลย์ เพื่อหวังจะฮุบเอาทรัพย์สมบัติภรรยามาเป็นของตน ตัวแทนของกลุ่มธุรกิจแบบเดียวกับปารเมศนี้ จึงเป็นตัวอย่างของระบอบทุน “สีดำ” ที่ขยายตัวออกไปไม่สิ้นไม่สุด โดยไม่คำนึงว่าการเติบโตดังกล่าวจะต้องแลกด้วยความสูญเสียของใคร หรือจะเอารัดเอาเปรียบผลประโยชน์ของคนกลุ่มอื่นหรือไม่ อย่างไร ตรงข้ามกับกรณีของนายหัวนาบุญพระเอกหนุ่มเจ้าของสัมปทานรังนกบนเกาะถ้ำ แม้จะมีเป้าหมายบนผลประโยชน์ที่เกิดจากการขูดรีดผู้อื่นเพื่อขยายทุนของตนไม่แตกต่างจากปารเมศ แต่ภาพลักษณ์ของเขาก็ถูกออกแบบไว้ให้มีหน้าตาเป็นประหนึ่งกลุ่มทุนรุ่นใหม่ ที่ดูดีมีอารยะกว่ากลุ่มทุน “สีดำ” ในแบบดั้งเดิมภายใต้ความหมายของคำว่า “สัมปทาน” นั้น อันที่จริงแล้วก็คือ การที่ระบอบทุนได้เข้าไป “ผูกขาด” และถือครองเอาผลประโยชน์ของสาธารณะให้กลายมาเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล แต่การยึดครองดังกล่าวก็ได้รับการ “ฟอกขาว” มาเป็นอย่างดี จนดูชอบธรรมหรือแม้แต่อ้างอิงได้ตามระเบียบกฎหมายที่เขียนไว้ด้วยเหตุฉะนี้เอง ในด้านหนึ่ง การเข้าไปครอบครองเป็นเจ้าของสัมปทานรังนก ก็ไม่ต่างอะไรไปจากการที่กลุ่มทุนได้เข้าไปเบียดบังปัจจัยการผลิตของบรรดาชีวิตนกนางแอ่นตัวน้อยๆ ทั้งหลาย ที่กำลังก่อร่างสร้างรังอยู่ แล้วนายทุนก็พรากเอาผลผลิตรังนกดังกล่าวมาเป็นผลประโยชน์ส่วนบุคคลแต่อีกด้านหนึ่ง เพราะเข้าใจตรรกะของการขูดรีดเอารัดเอาเปรียบหยาดเหงื่อและชีวิตของสัตว์โลก (และรวมไปถึงชีวิตของชนชั้นแรงงานและคนในกลุ่มสังคมอื่นๆ) นาบุญผู้ที่แม้จะเป็นกลุ่มทุนเศรษฐกิจขนาดใหญ่ แต่ก็ผ่านการขัดสีฉวีวรรณให้กลายเป็นกลุ่มทุนซึ่งยอมรับได้ หรือเป็นกลุ่มทุน “สีขาว” ซึ่งดูไม่มีพิษมีภัยแต่มีความชอบธรรมที่จะดำรงอยู่ต่อไปในสังคมไม่ว่าจะเป็นการรู้จักดูแลเอาใจใส่ชีวิตความเป็นอยู่ของลูกน้องหรือแรงงานในสังกัดแบบเคียงบ่าเคียงไหล่ หรือเป็นกลุ่มทุนที่ห่างไกลสุราและยาเสพติด แต่สามารถเป็นนายหัวผู้ดื่มนมเย็นได้อย่างไม่ขัดเขิน ไปจนถึงการเป็นตัวแทนของผู้แข็งแรงและถอดเสื้อโชว์ซิกซ์แพ็คอยู่เนืองๆ แต่ลึกๆ นาบุญก็เป็นหนุ่มใหญ่ที่พร้อมจะเอื้ออาทรแก่ “เด็ก สตรี และคนชรา”และที่สำคัญ คู่ขนานไปกับภาพลักษณ์การเป็นหนุ่มใหญ่ผู้อ่อนโยน นาบุญยังเป็นตัวแทนของกลุ่มทุนที่แม้จะขูดรีดเอารัดเอาเปรียบ แต่ก็เป็นการเอาเปรียบที่ยึดโยงอยู่บนหลักการแห่ง “ความรับผิดชอบต่อสังคม”ป้ายประกาศกฎของเกาะถ้ำที่ปักข้อความว่า “ห้ามทำร้ายนก ห้ามเก็บไข่นก ห้ามผิดลูกผิดเมียผู้อื่น ห้ามตัดต้นไม้ทุกชนิด ห้ามจับแมลงทุกชนิด ห้ามใช้ยาฆ่าแมลง ห้ามฆ่าสัตว์บนเกาะยกเว้นสัตว์ร้าย ห้ามกินรังนก ห้ามทิ้งขยะเรี่ยราด ให้ใช้น้ำจืดและใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด...” และอีกสารพันข้อบังคับที่จารึกเอาไว้นั้น แม้จะอ่านดูแล้วน่าขำขัน แต่ก็สื่อสารเป็นนัยถึงจุดยืนของกลุ่มทุนรุ่นใหม่แบบนี้ได้เป็นอย่างดีกล่าวกันว่า นับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ระบอบทุนนิยมได้เกิดการปรับตัวกันขนานใหญ่ โฉมหน้าใหม่ของนายทุนไม่ได้เน้นการขูดรีดจนชีวิตแรงงานสิ้นเนื้อประดาตัว แต่เพื่อจะรักษาเส้นเลือดใหญ่ให้ระบอบดำรงอยู่ได้โดยชอบธรรม หลักการอ้างถึง “ความรับผิดชอบต่อสังคม” จึงถูกพัฒนาขึ้นมาคล้ายๆ กับสัมปทานรังนกของนายหัวนาบุญที่ผูกขาดการถือครองทรัพยากรธรรมชาติบนเกาะถ้ำนั้น แม้จะมีเป้าหมายเพื่อธุรกิจเป็นตัวแปรต้น แต่ก็ต้องพ่วงไว้ด้วยแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การตลาดเพื่อสังคม การพัฒนาที่เน้นเรื่องความยั่งยืน ไปจนถึงการประยุกต์หลักธรรมาภิบาลต่างๆ มาใช้ ความรู้สึกของผู้คนที่จะยินยอมพร้อมใจและอยู่ใต้อาณัติของระบอบทุนดังกล่าวก็จะมีแนวโน้มจีรังยั่งยืนยิ่งขึ้นและด้วยตัวเลือกแบบ “ทางสองแพร่ง” ระหว่างปารเมศกับนาบุญเช่นนี้เอง คำตอบสุดท้ายที่รัตตวัลย์เลือกมอบ “สัมปทานหัวใจ” ให้แก่นายหัวนาบุญ จึงเป็นภาพสะท้อนการเปลี่ยนผ่านการครอบครองสิทธิ์ ซึ่งต้องถูกกำกับไว้ด้วยหลักแห่ง “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ที่ทุกวันนี้ไม่เพียงแต่รังนกนางแอ่นบนเกาะเท่านั้น แม้แต่เรื่องของ “หัวใจ” ก็ต้องมอบ “สัมปทาน” เพื่อถือครองบนหลักการดังกล่าวไม่แตกต่างกัน

อ่านเพิ่มเติม >