ฉบับที่ 236 เผยผลสำรวจคนกทม 33.7 เปอร์เซ็นต์ เคยมีการตรวจสอบหมายเลข อย

        นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจของเครื่องหมายบนสลากสินค้า โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,121 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 1 - 7 ตุลาคม 2563 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง        ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องความรู้ความเข้าใจของเครื่องหมายบนสลากสินค้า เนื่องจากในปัจจุบันมีการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ประกอบกับการที่มีการขายสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ มาตรฐาน การตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์ของสินค้าที่จะต้องมีรายละเอียดประกอบด้วย ชื่อประเภทสินค้าชื่อผู้ผลิต ผู้สั่งหรือนำเข้า สถานประกอบการ วันเดือนปีที่ผลิต กรณีนำเข้าต้องระบุประเทศที่ผลิต ขนาดของสินค้า วิธีใช้ ข้อแนะนำในการใช้ คำเตือน และราคาสินค้าไว้บนฉลากหรือภาชนะหีบห่อที่บรรจุ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 การขายสินค้าที่ฉลากผลิตภัณฑ์ของสินค้าที่ไม่ถูกต้องและมีการปลอมแปลงมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในส่วนของการตรวจสอบนั้นสามารถตรวจสอบหมายเลข อย. ของสินค้าทาง www.fda.moph.go.th ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นช่องทางที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ และเครื่องหมายบนสลากสินค้านั้นมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าอย่างไร ผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องความรู้ความเข้าใจของเครื่องหมายบนสลากสินค้า โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้             กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบว่าฉลากผลิตภัณฑ์ของสินค้าจะต้องมีรายละเอียดประกอบด้วย ชื่อประเภทสินค้าชื่อผู้ผลิต ผู้สั่งหรือนำเข้า สถานประกอบการ วันเดือนปีที่ผลิต กรณีนำเข้าต้องระบุประเทศที่ผลิต ขนาดของสินค้า วิธีใช้ ข้อแนะนำในการใช้ คำเตือน และราคาสินค้าไว้บนฉลากหรือภาชนะหีบห่อที่บรรจุ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ร้อยละ 76 และทราบว่าฉลากผลิตภัณฑ์ของสินค้าถ้าไม่ถูกต้องและมีการปลอมแปลงมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ร้อยละ 55.8             เคยมีการค้นหาความหมายของตราสัญลักษณ์ต่างๆ ที่อยู่บนฉลากผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 50 ในส่วนของการเลือกซื้อสินค้าได้มีการตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์ของสินค้าในส่วนของผู้ผลิต ราคา วันผลิต วันหมดอายุ ร้อยละ 82.8 และทราบว่าเครื่องหมาย อย. ย่อมาจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 83.7             กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมาย อย. แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีความปลอดภัย ร้อยละ 81.5 ผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมาย อย. มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า ร้อยละ 74.9 และ จะไม่เลือกซื้อสินค้า หากพบสินค้าไม่มีเครื่องหมาย อย. บนฉลากผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 46.9             ไม่เคยมีการตรวจสอบหมายเลข อย. ของสินค้าทาง www.fda.moph.go.th ร้อยละ 46.6 ทราบว่า สามารถตรวจสอบหมายเลข อย. ของสินค้าทาง www.fda.moph.go.th  ร้อยละ 47.5 และทราบว่าผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร หมายเลข อย. จะมีตัวเลข 13 หลัก ร้อยละ 61.4            กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ทราบว่าความหมายของตัวเลขที่ระบุในหมายเลข อย. ร้อยละ 44.5 ทราบว่าผลิตภัณฑ์ประเภทผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จะมีเลขที่ใบรับแจ้งโดยมีตัวเลข 10 หลัก ร้อยละ 46 และไม่ทราบว่าผลิตภัณฑ์ประเภทยา ยา ทั้งยาแผนปัจจุบัน ยาแผนไทย หรือยาแผนโบราณ จะมีเลขทะเบียนตำรับยาแสดงบนฉลากเช่น ทะเบียนยาเลขที่ G XXX/XX ร้อยละ 40.5             ในส่วนของเครื่องหมาย มอก. ย่อมาจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ทราบว่าเครื่องหมาย มอก. ย่อมาจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร้อยละ 66.3 คิดว่าผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมาย มอก. แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีความปลอดภัย ร้อยละ 69.7 เครื่องหมาย มอก. บนฉลากผลิตภัณฑ์ มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า ร้อยละ 61.3 และหากพบสินค้าไม่มีเครื่องหมาย มอก. บนฉลากผลิตภัณฑ์ มีผลต่อการจะตัดสินใจซื้อ ร้อยละ 48.3

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 ขายหวยชุดเกินราคา

แม้รัฐบาล คสช. จะประกาศห้ามขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาที่กำหนด คือ คู่ละ 80 บาท แต่ผู้บริโภคบางส่วนก็ยังพบปัญหาราคาสลากกินแบ่งแพงอยู่ดี โดยพ่อค้าแม่ค้าหัวใสบางรายมีการจำหน่ายหวยชุด หรือสลากกินแบ่งที่มีตัวเลขเดียวกันจำนวน 5 -10 ใบ แล้วนำไปบวกราคาเพิ่มอีก 50 – 200 บาท ทำให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมพรเลือกซื้อหวยชุดจากห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ใน จ.อุบลราชธานี เมื่อสอบถามราคาก็พบว่าจำหน่ายอยู่ที่ชุดละ 450 บาท โดยมีสลากกินแบ่งทั้งหมด 5 ใบ ซึ่งเมื่อคิดราคาต่อฉบับแล้วอยู่ที่ 90 บาท เธอจึงลองไปดูร้านอื่น ก็พบว่าทุกร้านจำหน่ายสลากกินแบ่งชนิดดังกล่าวในราคาพอๆ กัน โดยราคาสลากในชุดจะมีตั้งแต่คู่ละหรือใบละ 90 -120 บาท ทำให้เธอเกิดข้อสงสัยว่าเหตุใดหวยชุดจึงต้องขายราคาสูงกว่าปกติ และเมื่อสอบถามคนขายก็ได้รับคำตอบแค่ว่า เจ้าอื่นก็ขายราคานี้กันทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้คุณสมพรจึงรู้สึกว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จึงร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาจากกรณีดังกล่าวถือว่าเป็นการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาที่กฎหมายกำหนด เพราะตามมาตรา 39 ของคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติที่ 11/2558 เรื่อง มาตรการแก้ไขที่เกิดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล กำหนดให้จำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคาคู่ละ 80 บาทเท่านั้น ซึ่งหากพบว่าผู้ใดเสนอขาย หรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาที่กำหนดต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศูนย์ฯ จึงช่วยผู้ร้องทำหนังสือไปยังผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายกับร้านค้าดังกล่าว ภายหลังกองสลากได้รับเรื่องก็ประสานงานให้กองสลากประจำพื้นที่อุบลราชธานีเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งได้แจ้งกลับมาว่าไม่พบการจำหน่ายสลากเกินราคาตามที่ผู้ร้องแจ้งมา อย่างไรก็ตามหากผู้ร้องพบเห็นการจำหน่ายสลากกินแบ่งเกินราคาอีก สามารถร้องเรียนโดยตรงได้ที่สำนักงานกองสลากในพื้นที่ๆ อาศัยอยู่ หรือโทรศัพท์ไปยังศูนย์รับแจ้งเรื่องร้องทุกข์เบอร์ 02-345-1466 และสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ สามารถเดินทางหรือส่งจดหมายไปร้องเรียนได้ที่ สำนักงานสลากินแบ่งรัฐบาล: 359 ถ.นนทบุรี ต.ท่าทราย อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี 11000 เบอร์โทรศัพท์ 02-528-8888 หรือโทรสาร 02-528-9228

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 ฉลากอาหารไม่มีเลข อย. 13 หลักถือว่าผิดกฎหมาย

เครื่องหมาย อย. เป็นสิ่งที่การันตีความปลอดภัยได้ระดับหนึ่ง เมื่อซื้ออาหารแปรรูปต่างๆ มารับประทาน แต่เครื่องหมาย อย. อย่างเดียวอาจไม่ถูกต้อง เพราะจำเป็นต้องมี เลขสารบบอาหารหรือเลขประจำตัวผลิตภัณฑ์อาหาร 13 หลักแสดงอยู่ภายในกรอบเครื่องหมาย อย. ด้วย จึงจะเรียกว่า ถูกต้องคุณสุจิตราซื้อนมปรุงแต่งพาสเจอร์ไรส์ยี่ห้อ อืมม!..มิลค์ (Umm!..Milk) รสกล้วยหอม ราคา 55 บาท จากห้างสรรพสินค้าเซ็นทัลลาดพร้าวกลับมารับประทานที่บ้าน แต่ได้สังเกตว่านมดังกล่าว แม้จะมีเครื่องหมาย อย.แต่ไม่มีเลขสารบบอาหาร เธอจึงสอบถามไปยังหน้าแฟนเพจเฟซบุ๊กของนมยี่ห้อดังกล่าวซึ่งชี้แจงกลับมาว่า “นมปรุงแต่ง 0% แล็กโทส รสกล้วยหอม เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของ อืมม!..มิลล์ ที่อยู่ในขั้นตอนการขอ อย. และสามารถจำหน่ายได้เนื่องจากจำหน่ายในจำนวนจำกัด โดยมีการส่งตรวจคุณภาพกับ อย. เสมอ”อย่างไรก็ตามคุณสุจิตรา ยังข้องใจในคำตอบของบริษัทฯ เธอจึงได้ส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพราะไม่แน่ใจว่านมดังกล่าวได้รับมาตรฐานและมีความปลอดภัยจริงหรือไม่ แนวทางการแก้ไขปัญหาหลังได้รับเรื่องร้องเรียนศูนย์ฯ จึงไปซื้อนมดังกล่าวจากห้างสรรพสินค้าทั่วไป เพื่อนำมาตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง ซึ่งพบว่ามีเพียงเครื่องหมาย อย. แต่ไม่มีเลขสารบบอาหารจริง จึงทำหนังสือสอบถามและขอให้มีการตรวจสอบไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่ง อย. ตอบกลับมากว่า ได้ขอความร่วมมือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ให้มีการตรวจสอบสถานที่ผลิตพร้อมเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ดังกล่าวส่งตรวจเพื่อวิเคราะห์คุณภาพ ซึ่งพบว่ามีคุณภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข แต่การแสดงอาหารดังกล่าวไม่ถูกต้อง ถือเป็นการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 367 พ.ศ.2557 เรื่องการแสดงฉลากอาหารในภาชนะบรรจุ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาจึงได้ดำเนินการปรับตามประกาศ (ไม่เกิน 30,000 บาท) เรียบร้อยแล้วทั้งนี้สำหรับอาหารใดๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ต้องมีฉลากอาหาร ก็ไม่ควรวางจำหน่ายก่อนได้รับเครื่องหมาย อย. เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังกระทบต่อความน่าเชื่อถือ และส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >